คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ม. 4

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 168 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1703/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยก่อนส่งสำนวนให้ศาลอุทธรณ์เป็นสิทธิของจำเลย การไม่ปฏิบัติตามทำให้การพิจารณาคดีไม่ชอบ
การที่เจ้าหน้าที่ส่งหมายนำสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ไปส่งให้แก่จำเลย ณ ภูมิลำเนาของจำเลยตรงตามฟ้อง แล้วเจ้าหน้าที่รายงานผลการส่งหมายว่า ส่งไม่ได้เพราะไม่พบภูมิลำเนา ค้นหาบริเวณใกล้เคียง และสอบถามผู้พักอาศัยบริเวณดังกล่าว ไม่มีผู้ใดพบบ้านเลขที่ซึ่งฟ้องระบุเป็นภูมิลำเนาจำเลย แต่กลับปรากฏข้อเท็จจริงในสำนวนตามรายงานผลการส่งหมายให้แก่จำเลยในครั้งก่อนๆ ว่า เจ้าหน้าที่เคยนำหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องไปส่งให้แก่จำเลย 2 ครั้ง และส่งหมายเรียกคดีอาญาให้แก่จำเลยอีก 1 ครั้งได้โดยวิธีปิดหมายที่ภูมิลำเนาเดียวกันนี้ และในการไต่สวนมูลฟ้องจำเลยได้แต่งตั้งทนายความเข้ามาด้วย แสดงว่าที่เจ้าหน้าที่ส่งหมายนำสำเนาอุทธรณ์ไปส่งให้แก่จำเลยในครั้งนี้แล้วรายงานว่าไม่พบภูมิลำเนา อาจเป็นเพราะเสาะหาไม่ทั่วถึง จึงถือไม่ได้ว่าการส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยไม่ได้เป็นเพราะหาตัวจำเลยไม่พบ หรือจำเลยหลบหนีหรือจำเลยจงใจไม่รับสำเนาอุทธรณ์ อันศาลชั้นต้นจะต้องรีบส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 1 เพื่อพิจารณาพิพากษาต่อไป ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 201 แต่เป็นกรณีที่ยังไม่มีการส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยแก้ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 200 ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยไม่ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยแก้ก่อน ย่อมทำให้จำเลยเสียสิทธิตามกฎหมายในการทำคำแก้อุทธรณ์ และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาคดีโดยมิได้มีการนำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยแก้ก่อน จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 200 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาคดีอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ต้องย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นดำเนินการในเรื่องส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยแก้ก่อน แล้วส่งสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5212/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่ชอบเมื่อเนื้อหาเป็นการโต้แย้งคำวินิจฉัยศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ซ้ำ โดยมิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ข้อความในฎีกาของโจทก์ล้วนมีเนื้อหาเป็นการโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นทั้งสิ้นโดยคัดลอกจากข้อความในอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหมด ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยในปัญหาเดียวกันไว้แล้ว ฎีกาของโจทก์มิได้กล่าวอ้างว่าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงตอนใดไม่ถูกต้องอย่างไรและไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เพราะเหตุใด ทั้งๆ ที่เหตุผลในคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นต่างกับเหตุผลในคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ แม้โจทก์จะมีคำขอท้ายฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิจารณาและพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ และมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้องของโจทก์ต่อไปด้วย ก็ไม่อาจถือเป็นคำคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไปได้ ฎีกาของโจทก์จึงเป็นฎีกาที่มิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาที่ไม่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4841/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับสารภาพที่ไม่ชัดเจนฐานความผิด ทำให้ศาลไม่สามารถลงโทษตามฟ้องได้ จำเป็นต้องมีการสืบพยานเพื่อพิสูจน์ฐานความผิด
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยประกอบกิจการให้บริการฉายหรือให้เช่าเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ โดยได้ประโยชน์ตอบแทนด้วยการคิดค่าบริการ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนและมิได้รับยกเว้นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ฯ มาตรา 6 วรรคหนึ่ง และ 20 วรรคสอง ซึ่งเป็นคนละฐานความผิดและมีบทกำหนดโทษแตกต่างกัน ตามคำฟ้องแสดงว่าโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยในข้อหาใดข้อหาหนึ่งเพียงข้อหาเดียว การที่จำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อหาจึงเป็นคำรับสารภาพที่ไม่สามารถรับฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดในข้อหาใด โจทก์ต้องนำพยานเข้าสืบเพื่อให้ได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดฐานใด เพื่อศาลจะได้นำข้อเท็จจริงที่ได้ความมาปรับบทลงโทษได้ แต่โจทก์มิได้นำสืบ ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยไม่ได้
การที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามข้อบังคับและตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ ตามมาตรา 19 วรรคสอง และมาตรา 19 วรรคสี่ ครบถ้วนแล้ว เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพโจทก์ก็หาจำต้องสืบพยานแต่อย่างใดไม่ ฎีกาของโจทก์มิได้มีข้อความโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ว่าเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบเพราะเหตุใด ฎีกาของโจทก์จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายที่มิได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ. ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดฯ มาตรา 3 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 4 และ ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4116/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากผู้พิพากษาลงนามไม่ถูกต้อง ทำให้ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 30,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 7 เดือน แต่มีผู้พิพากษาลงนามในคำพิพากษาเพียงคนเดียว เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (5) ทั้งนี้เพราะผู้พิพากษาคนเดียวจะพิพากษาลงโทษจำคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งโทษจำคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วยบทกฎหมายข้างต้นซึ่งมีผลทำให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ. จัดจั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 890/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม ห้ามฎีกาในประเด็นที่รับสารภาพในชั้นศาล และการใช้ดุลพินิจลงโทษคดีพนัน
โจทก์บรรยายฟ้องโดยระบุไว้ชัดเจนว่าจำเลยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ และยอดเงินทุนหมุนเวียน 4,480,100 บาท เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการเล่นพนันและเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด และเมื่อศาลชั้นต้นสอบคำให้การ จำเลยได้ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น การที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ เพราะมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6327/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิจำเลยในการได้รับการแต่งตั้งทนายความ – กระบวนการสอบถามก่อนพิจารณา – ความไม่ชอบของกระบวนพิจารณา
คดีนี้เป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุก จึงเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะต้องสอบถามจำเลยก่อนเริ่มพิจารณาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายความ ก็ให้ศาลชั้นต้นตั้งทนายความให้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคสอง ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดฯ มาตรา 3 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ให้ความคุ้มครองแก่จำเลยในการพิจารณาคดีของศาล เมื่อไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้ดำเนินการสอบถามจำเลยในเรื่องดังกล่าวในวันสอบคำให้การของจำเลย แม้จำเลยจะแต่งตั้งทนายความเข้ามาในคดีในวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาก็ตาม แต่ก็เป็นการแต่งตั้งทนายความหลังจากศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยแล้ว จึงเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาอันเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ โดยให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2), มาตรา 225 ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดฯ มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5260/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิจำเลยในการได้รับการแต่งตั้งทนายความในคดีอาญา หากจำเลยไม่มีและต้องการทนายความ ศาลต้องดำเนินการตามกฎหมาย
ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงฯ มาตรา 4 และ ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่ให้ความคุ้มครองแก่จำเลยในการพิจารณาคดีของศาลคดีนี้เป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุก เมื่อจำเลยไม่มีและแถลงต้องการทนายความ จึงเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่ต้องตั้งทนายความให้ก่อนเริ่มพิจารณา การที่ศาลชั้นต้นดำเนินคดีไปโดยจำเลยไม่มีทนายความแล้วพิพากษาลงโทษจำเลย จึงเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาอันเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยแม้จำเลยไม่ได้ยกขึ้นอุทธรณ์หรือฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้โดยให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3873/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหลังศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้น และผลของคำอนุญาตฎีกาจากผู้พิพากษาศาลชั้นต้น
คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษกักขังแทนโทษจำคุก เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 มิได้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ตรี ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และในกรณีนี้ ป.วิ.อ. มาตรา 221 มิได้บัญญัติให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ คำอนุญาตให้ฎีกาของผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงไม่มีผลทำให้จำเลยมีสิทธิฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6389/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่ชอบด้วยกฎหมายเมื่อโต้เถียงข้อเท็จจริงที่รับสารภาพแล้ว และยกข้อเท็จจริงใหม่ในชั้นฎีกา
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ทำร้ายร่างกายซึ่งกัน โดยจำเลยที่ 1 ใช้ไม้กระบองเป็นอาวุธตีทำร้ายจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 2 ใช้ขวดสุราเป็นอาวุธตีทำร้ายจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้จำเลยทั้งสองได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ดังฟ้องของโจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295 จำคุก 2 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 จะมาโต้เถียงในชั้นฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนากระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดหาได้ไม่ เพราะเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพแล้ว ทั้งยังเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นอ้างใหม่ในชั้นฎีกาซึ่งเป็นปัญหาที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ. ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3616/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องยักยอกทรัพย์: ฟ้องไม่เคลือบคลุมหากบรรยายรายละเอียดการกระทำได้ชัดเจน แม้ไม่ระบุวันเวลาที่แน่นอน
ฟ้องโจทก์บรรยายถึงการกระทำของจำเลยว่า จำเลยได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ เมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2539 ถึงเดือนตุลาคม 2540 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัดทั้งเวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกัน ได้ร่วมกันยักยอกเงินของบริษัท พ. โดยร่วมกันเบิกถอนเงินของบริษัทจากธนาคาร ก. หลายครั้งหลายคราวแล้วเบียดบังเอาเงินที่ถอนดังกล่าวไปเป็นของตนเองหรือพวกของจำเลยรวมเป็นเงินประมาณ 100,000,000 บาท โดยเจตนาทุจริตอันเป็นการบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีว่าวันเวลาที่จำเลยกระทำผิดเป็นช่วงวัน เวลาใดและจำนวนเงินที่อ้างว่าจำเลยได้ร่วมกันเบียดบังยักยอกไปหลายครั้งในระหว่างวันเวลาที่โจทก์ได้ระบุไว้ในคำฟ้องนั้นรวมเป็นเงินเท่าใดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงพ.ศ. 2499 มาตรา 4 แล้ว กรณีหาจำต้องระบุวันเวลาให้แน่นอนไม่ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
of 17