คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ม. 4

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 168 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1939/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำสั่งศาล: ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีอำนาจพิจารณารับหรือไม่รับอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น และคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ถือเป็นที่สุด
เมื่อศาลชั้นต้นปฏิเสธไม่ยอมรับอุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์อาจอุทธรณ์เป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลนั้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้ ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาคำร้องนั้นแล้วมีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นหรือมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ คำสั่งนี้ให้เป็นที่สุดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 198 ทวิ วรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยทำนองว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์ส่งสำเนาคำฟ้องและสำเนาคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องให้แก่ พ. จะไม่ชอบก็เป็นเพียงเหตุผลที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 หยิบยกขึ้นวินิจฉัยเพื่อจะรับอุทธรณ์ของโจทก์หรือไม่เท่านั้น และผลที่สุดศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ คำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงเป็นที่สุด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20484/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการบังคับคดีตามสัญญาประกัน: การเปลี่ยนจากอัยการเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหลังแก้กฎหมาย
แม้ขณะที่ผู้คัดค้านผิดสัญญาประกัน พนักงานอัยการมีอำนาจและหน้าที่ดำเนินคดีในการบังคับให้เป็นไปตามสัญญาประกัน ตาม พ.ร.บ.พนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11 (8) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นก็ตาม แต่เมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมความใน ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคสอง โดยวางหลักเกณฑ์ว่า หัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับหนี้ตามสัญญาประกัน และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2547 ดังนี้ อำนาจและหน้าที่ดำเนินคดีในการบังคับให้เป็นไปตามสัญญาประกันจึงเป็นอำนาจและหน้าที่ของผู้ร้องนับแต่วันดังกล่าวด้วย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้เพิกถอนหมายบังคับคดีเฉพาะผู้คัดค้าน รวมถึงการดำเนินการบังคับคดีแก่ผู้คัดค้านตามหมายบังคับคดี ผู้ที่มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงตกแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับหนี้ตามสัญญาประกัน มิใช่โจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11959/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความชอบด้วยกฎหมายของฟ้อง, แบบพิมพ์ฟ้อง, และอำนาจฟ้องในคดีเช็ค - การจับกุมและการแจ้งข้อหา
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยออกเช็คธนาคาร ก. สาขาย่อยเซ็นทรัลปิ่นเกล้า รวม 2 ฉบับ เพื่อชำระหนี้เงินกู้ ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ต่อมาธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ทั้งนี้จำเลยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ฟ้องโจทก์จึงได้บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 ส่วนที่ว่าหนี้เงินกู้ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของจำเลยและวันที่ลงในเช็คพิพาท จำเลยมีเงินในบัญชีหรือไม่ เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้
แม้การยื่นหรือส่งคำคู่ความต้องทำตามแบบพิมพ์ที่จัดไว้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 67 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 และโจทก์ยื่นฟ้องโดยมิได้ใช้กระดาษแบบพิมพ์ฟ้อง แบบ อ.ก. 20 ก็ตาม แต่ก็ไม่ทำให้ฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบถึงขนาดที่จะรับไว้พิจารณาไม่ได้
การจับบุคคลใดจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาล หรือผู้นั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับได้โดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งศาลดังที่บัญญัติไว้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 จำเลยมาปรากฏตัวต่อหน้าพนักงานสอบสวนและพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาแก่จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกจับเพราะยังไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาล และไม่เข้าข้อยกเว้นตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยยังไม่ถูกจับ จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 7 และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ที่โจทก์ต้องฟ้องจำเลยภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่จำเลยถูกจับ หรือต้องผัดฟ้อง หรือได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีจากอัยการสูงสุด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10471/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงชื่อในคำฟ้องอาญา: โจทก์ต้องลงชื่อด้วยตนเอง หรือทนายความลงชื่อแทนไม่ได้
การที่โจทก์ทั้งสองมิได้ลงชื่อในคำฟ้องคดีอาญา แต่ให้ทนายโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ลงชื่อในฐานะโจทก์ทั้งสอง จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (7) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7836/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายกับผลประโยชน์ส่วนต่าง: ไม่เข้าข่ายยักยอก
จำเลยรับเครื่องประดับจากโจทก์ไปจำหน่าย โดยจำเลยสั่งจ่ายเช็คระบุจำนวนเงินตามมูลค่าเครื่องประดับนั้น ๆ ให้โจทก์ยึดถือไว้ เมื่อจำเลยนำเงินค่าเครื่องประดับมาชำระ โจทก์จะคืนเช็คให้จำเลย พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุให้เชื่อได้ว่า ราคาที่โจทก์กำหนดตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องนั้น แท้จริงแล้วคือราคาที่จำเลยจะต้องออกเช็คให้โจทก์ยึดถือไว้ ดังนั้น ผลประโยชน์ตอบแทนที่จำเลยจะได้รับจากการทำธุรกิจเช่นนี้กับโจทก์ก็คือ ส่วนต่างของราคาเครื่องประดับที่จำเลยขายให้แก่ลูกค้ากับราคาที่โจทก์กำหนดโดยจำเลยต้องออกเช็คให้โจทก์ยึดถือไว้นั่นเอง กรณีจึงมิใช่จำเลยได้รับมอบหมายให้รับเครื่องประดับไว้ในฐานะตัวแทนโจทก์ หากแต่จำเลยครอบครองโดยอาศัยอำนาจแห่งสัญญาที่โจทก์กับจำเลยมีนิติสัมพันธ์ต่อกัน เมื่อจำเลยไม่ส่งเงินที่ขายได้หรือไม่ส่งคืนเครื่องประดับที่ยังขายไม่ได้ให้โจทก์ ก็เป็นเรื่องผิดสัญญาในทางแพ่ง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานยักยอก แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ลงโทษไม่ได้
ปัญหาว่าจำเลยกระทำผิดหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาสามารถหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6630/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลแขวงไม่มีอำนาจพิจารณาคดีแพ่งเกิน 300,000 บาท แม้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 362 และมีคำขอในส่วนแพ่งซึ่งมีทุนทรัพย์ที่พิพาทเกินกว่า 300,000 บาท ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงย่อมไม่มีอำนาจรับคดีส่วนแพ่งไว้พิจารณา ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีส่วนแพ่งจึงเป็นการไม่ชอบและไม่ก่อสิทธิให้จำเลยอุทธรณ์ฎีกาได้ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงไม่ชอบเช่นกัน ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6428/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่อนุญาตอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงและการพิจารณาผู้มีอำนาจรับรองอุทธรณ์ตามกฎหมายเฉพาะ
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ทวิ ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 ได้บัญญัติถึงผู้ที่จะอนุญาตหรือรับรองให้อุทธรณ์ในคดีซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 22 ไว้โดยเฉพาะแล้วว่าเป็นผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลแขวง หรืออธิบดีกรมอัยการหรือพนักงานอัยการซึ่งอธิบดีกรมอัยการได้มอบหมายเท่านั้น กรณีจึงไม่อาจนำ ป.วิ.พ. มาตรา 230 วรรคสาม ที่กำหนดให้ผู้อุทธรณ์ยื่นคำร้องต่อศาลถึงอธิบดีผู้พิพากษาหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคเพื่อมีคำสั่งยืนตามหรือกลับคำสั่งของศาลที่ไม่รับอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 มาใช้บังคับโดยอนุโลมได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5559/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีฉ้อโกง: ผู้เสียหายคือใคร และศาลฎีกาสามารถรับฟังข้อเท็จจริงใหม่จากพยานหลักฐานได้
คดีนี้จำเลยที่ 1 ยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2553 ต่อมาวันที่ 20 พฤศจิกายน 2555 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 ในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งจำเลยที่ 1 อาจฎีกาเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 224 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 แม้ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ทราบ ซึ่งเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้ไขเล็กน้อยและยังคงให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 จำเลยที่ 1ฎีกาในข้อที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้อง เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 4 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ และเมื่อฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามที่วินิจฉัยมาแล้ว จึงไม่เป็นการจำเป็นที่ศาลฎีกาจะสั่งให้ส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้นเพื่อแจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ทราบ
แม้ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 222 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ฟังข้อเท็จจริงว่า ป. เป็นผู้เสียหายคดีนี้ก็ตาม แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยังฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 1 ชักชวน ป. กรรมการผู้จัดการบริษัท ป. ให้ลงทุนซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารเรือ กองการบินทหารเรือ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยบอกว่าจะได้รับผลตอบแทนเป็นเงินอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือนของเงินที่นำไปลงทุน ต่อมา ป. สั่งจ่ายเช็คของบริษัท ป. ให้แก่จำเลยที่ 1 ไป 16 ฉบับ รวมเป็นเงิน 11,537,000 บาท และได้รับเงินจากจำเลยที่ 1 คืนมารวม 3,132,000 บาท ดังนี้การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ฟังข้อเท็จจริงว่า ป. เป็นผู้เสียหาย จึงขัดกับข้อเท็จจริงเรื่องพฤติการณ์ในการกระทำความผิดที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับฟังเป็นยุติอันเป็นการผิดไปจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลฎีกาสามารถฟังข้อเท็จจริงใหม่แทนข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับฟังมาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (3) (ก) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ได้ความจากคำเบิกความของ ป. ว่า เมื่อเดือนกรกฎาคม 2546 จำเลยทั้งสองไปหา ป. ที่สถานีบริการน้ำมันของบริษัทโจทก์ร่วม ชักชวนให้เอาเงินไปลงทุนซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารเรือ ที่กองการบินทหารเรือ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งจะได้รับผลตอบแทนเป็นเงินอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือนของเงินที่นำไปลงทุน หลังจากนั้น ป. ได้สั่งจ่ายเช็คซึ่งเป็นเช็คของโจทก์ร่วมให้จำเลยทั้งสองรวม 16 ฉบับ เพื่อนำไปร่วมลงทุนซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารเรือ โดยมีการหักค่าตอบแทนไว้ก่อน ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็เบิกความเจือสมว่า ได้ชักชวน ป. ให้ลงทุนซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารเรือ โดย ป. สั่งจ่ายเช็คของโจทก์ร่วมให้จำเลยที่ 1 เป็นเงินลงทุน เมื่อได้รับเช็คดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 ก็จะนำไปเรียกเก็บเงิน เห็นว่า ป. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ร่วม การที่จำเลยที่ 1 ไปหลอกลวง ป. จน ป. หลงเชื่อและสั่งจ่ายเช็คของโจทก์ร่วมให้จำเลยที่ 1 ไป เท่ากับเป็นการหลอกลวงโจทก์ร่วมด้วยเพราะการไปหลอกลวงนิติบุคคลย่อมต้องหลอกลวงผู้แทนนิติบุคคล ทั้งจำเลยที่ 1 ย่อมไม่สนใจว่าจะหลอกลวง ป. ในฐานะส่วนตัวหรือในฐานะผู้ทำการแทนโจทก์ร่วม ขอให้ได้รับเงินมาจากการหลอกลวงเท่านั้น และจำเลยที่ 1 ได้เงินมาจากการนำเช็คของโจทก์ร่วมทุกฉบับไปเรียกเก็บเงิน เงินที่จำเลยที่ 1 รับไปย่อมเป็นเงินของโจทก์ร่วมทั้งสิ้น พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวย่อมถือได้ว่าเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหลอกลวงโจทก์ร่วมด้วย โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหาย เมื่อได้ความจากคำเบิกความของพันตำรวจตรี ต. พนักงานสอบสวน ประกอบรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.5 ว่า ป. กรรมการผู้จัดการของบริษัท ป. มาแจ้งความร้องทุกข์และมอบคดีให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง โดยกล่าวหาว่าบุคคลทั้งสองร่วมกันฉ้อโกง โดย ป. ได้ลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราของบริษัท ป. ไว้ในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าว ดังนี้ ป. จึงร้องทุกข์ในฐานะผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ป. อันเป็นการกระทำแทนบริษัท ป. การร้องทุกข์จึงชอบด้วยกฎหมาย พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหาย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของโจทก์ร่วม และยกคำขอให้จำเลยที่ 1 คืนเงิน 8,405,000 บาท จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์ร่วมจะไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขเสียได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 421/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีฉ้อโกงแรงงาน: การแจ้งข้อหาไม่ถือเป็นการจับกุม และองค์ประกอบความผิดครบถ้วน
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 ซึ่งนำมาปรับใช้แก่คดีนี้โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 นั้น การจับบุคคลใดจะกระทำมิได้เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือผู้นั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับได้โดยไม่มีหมายจับตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ การที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 ซึ่งนำมาปรับใช้แก่คดีนี้โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกจับเพราะยังไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาล และไม่เข้าข้อยกเว้นตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยยังไม่ถูกจับ จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 7 และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 ที่โจทก์ต้องฟ้องจำเลยภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่จำเลยถูกจับหรือต้องผัดฟ้อง หรือได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีจากอัยการสูงสุด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
คดีนี้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนทราบเรื่องความผิดและรู้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2547 ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนจึงเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม 2547 ถึงวันที่ 1 กันยายน 2547 โดยผู้เสียหายแต่ละคนต่างให้การในรายละเอียดกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดโดยมีเจตนาให้จำเลยได้รับโทษ ซึ่งพนักงานสอบสวนบันทึกไว้ ลงวันเดือนปี และลายมือชื่อพนักงานสอบสวนผู้บันทึกกับลายมือชื่อผู้เสียหายแต่ละคนในฐานะผู้ร้องทุกข์ จึงเป็นคำร้องทุกข์ที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) และ 123 วรรคสาม และกรณีที่มีการกระทำความผิดต่อผู้เสียหายหลายคนไม่มีกฎหมายบังคับให้ผู้เสียหายทุกคนต้องมาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนพร้อมกัน เพียงแต่ผู้เสียหายแต่ละคนต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเท่านั้น เมื่อคดีนี้ผู้เสียหายแต่ละคนร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด จึงฟังได้ว่า คดีนี้มีผู้เสียหายตั้งแต่สิบคนขึ้นไปครบองค์ประกอบความผิดใน ป.อ. มาตรา 344 และการที่จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนให้ประกอบการงาน คือ สร้างภาพยนตร์ให้จำเลย โดยเจตนาจะไม่ใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้าง จนผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนหลงเชื่อและมีการทำงานที่เกี่ยวข้องไปบางส่วน แม้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนยังสร้างภาพยนตร์ไม่แล้วเสร็จและจำเลยยังไม่ได้รับผลประโยชน์จากการสร้างภาพยนตร์นั้น การกระทำของจำเลยก็ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 344 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18034/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิ่มโทษจำคุกโดยศาลอุทธรณ์เกินอำนาจตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
คดีนี้โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยแต่ละกระทงเพียงปรับสถานเดียวยังคลาดเคลื่อนนั้น เป็นการอุทธรณ์ว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้เพิ่มเติมโทษจำเลยโดยชัดแจ้ง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 4 เดือน โดยไม่ปรับนั้นย่อมถือว่าเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 จึงเป็นการพิพากษาที่ไม่ชอบและถือว่าไม่มีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ที่ให้ลงโทษจำคุกจำเลย ไม่ก่อให้เกิดสิทธิฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
of 17