คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 1307

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 169 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 227/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินกองทุนหมู่บ้านฯ เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ห้ามยึดบังคับคดี
จำเลยเป็นกองทุนหมู่บ้านตามมาตรา 3 ประกอบมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. 2547 โดยการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านต้องจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นภายใต้พระราชบัญญัติดังกล่าว หรือกองทุนหมู่บ้านที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ว่าด้วยการจัดตั้งและการบริหารกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำเลยมิได้เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตาม ป.พ.พ. จึงมิใช่นิติบุคคลเอกชน แต่เป็นนิติบุคคลมหาชนที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ตามมาตรา 5 วรรคสอง (1) เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการลงทุนเพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ เพิ่มรายได้ และลดรายจ่าย หรือสำหรับส่งเสริมและพัฒนาไปสู่การสร้างสวัสดิภาพและสวัสดิการ หรือประโยชน์ส่วนรวมอื่นให้แก่ประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชนเมือง (2) เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเร่งด่วนสำหรับประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชนเมือง (3) รับฝากเงินจากสมาชิกและจัดหาทุนจากแหล่งเงินทุนอื่น เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ (4)... (5)... ทั้งการดำเนินการของกองทุนหมู่บ้านต้องเป็นไปตามระเบียบหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติกำหนด และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีผู้รักษาการตามมาตรา 29 กองทุนหมู่บ้านมีเงินและทรัพย์สินในการดำเนินการตามมาตรา 6 ได้แก่ (1) เงินที่คณะกรรมการกองทุนและชุมชนเมืองแห่งชาติจัดสรรให้ (2) เงินอุดหนุนจากรัฐบาล (3) เงินที่สมาชิกนำมาลงหุ้นหรือฝากไว้กับกองทุน (4) เงินหรือทรัพย์สินอื่นที่กองทุนหมู่บ้านได้รับบริจาคโดยปราศจากเงื่อนไขหรือข้อผูกพันใด ๆ (5) ดอกผล รายได้หรือผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุนหมู่บ้าน ทั้งนี้ มาตรา 11 บัญญัติให้เป็นหน่วยงานของรัฐ และมีวัตถุประสงค์ตาม มาตรา 11 วรรคสอง โดยมาตรา 12 บัญญัติให้ทุนและทรัพย์สินในการดำเนินกิจการของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติประกอบไปด้วย (1) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับโอนมาตามมาตรา 31 ซึ่งโอนมาจากกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.ฎ.จัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2544 มีฐานะเป็นองค์การมหาชน กองทุนหมู่บ้านและชุมชนแห่งชาติตามมาตรา 11 และกองทุนหมู่บ้านจำเลยที่จัดตั้งขึ้นตามมาตรา 5 จึงเป็นหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐประเภทหนึ่ง ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อจัดทำภารกิจของรัฐในการสร้างศักยภาพและความเข็มแข็งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนและองค์กรชุมชนในหมู่บ้านและชุมชนเมือง โดยไม่ได้มุ่งหวังผลกำไรตอบแทน โดยเงินทุนและทรัพย์สินในการดำเนินการส่วนหนึ่งเป็นเงินอุดหนุนจากงบประมาณของรัฐ ซึ่งเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน หรือแม้จะมีเงินบริจาคเข้ามาด้วย เงินบริจาคดังกล่าวต้องไม่มีเงื่อนไขหรือข้อผูกพัน เนื่องจากเป็นการบริจาคเพื่อมาช่วยเหลือการจัดทำบริการสาธารณะของรัฐ หรือแม้จะมีทรัพย์สินในส่วนที่เป็นรายได้ เช่นดอกผลหรือประโยชน์อย่างอื่น แต่เมื่อตัวกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติเป็นหน่วยงานของรัฐ ทรัพย์สินที่เป็นรายได้ของกองทุนย่อมเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน การที่มาตรา 14 บัญญัติว่า กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ ก็เพียงเพื่อไม่ให้ต้องนำรายได้ส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ เพื่อความคล่องตัวทางการเงิน อันเป็นการยกเว้นหลักทั่วไปตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 ดังนั้น เงินฝากในบัญชีเลขที่ 05067074XXXX เป็นเงินที่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติจัดสรรให้จำเลยเพื่อเป็นเงินอุดหนุน จึงเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่ไม่อาจยึดหรืออายัดได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1307 และไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 301 (5) ส่วนเงินฝากในบัญชีเลขที่ 05067074XXXX เป็นเงินที่สมาชิกของจำเลยนำมาลงหุ้นและฝากเพื่อการออมตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านเพื่อสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนและองค์กรชุมชนในหมู่บ้าน อันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะของรัฐ โดยจำเลยมิได้มีเจตนารมณ์ในการรับฝากเงินเพื่อหากำไรในทางธุรกิจหรือพาณิชยกรรม เงินจำนวนดังกล่าวที่ฝากไว้กับผู้คัดค้านในบัญชีของจำเลย จึงเป็นเงินของสมาชิก มิใช่เงินของจำเลยที่จะยึดหรืออายัดเพื่อบังคับคดีชำระหนี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 303 และมาตรา 316

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5518/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายัดทรัพย์ในคดีฟอกเงิน: มาตรการทางแพ่งมีผลเหนือกว่าการบังคับคดีสามัญ
มาตรการทางแพ่งตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มุ่งป้องปรามมิให้มีการนำทรัพย์สินที่ได้มาหรือเกี่ยวกับการกระทำความผิดไปใช้สนับสนุนการก่ออาชญากรรมต่อไป จึงมิใช่การดำเนินคดีแพ่งโดยทั่วไป แม้ตามมาตรา 56 และ 59 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จะบัญญัติให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินและการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินในหมวด 6 ให้นำ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ก็ต้องเป็นกรณีที่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ไม่ได้มีบทบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ และสามารถนำมาปรับใช้ได้เท่าที่ไม่ขัดกับหลักการแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติเกี่ยวกับการยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราวไว้เป็นการเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำบทบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองชั่วคราว ตาม ป.วิ.พ. มาปรับใช้กับการยึดหรืออายัดทรัพย์สินชั่วคราวในคดีฟอกเงินได้
แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีจะแจ้งอายัดสิทธิเรียกร้องบัญชีเงินฝากของจำเลยไว้ก่อนที่ศาลชั้นต้นในคดีฟอกเงินจะมีคำสั่งให้ทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดินก็ตาม แต่หากเจ้าหนี้สามัญมีสิทธิยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่ศาลมีคำสั่งอายัดไว้ชั่วคราวได้ อาจทำให้ทรัพย์สินดังกล่าวไม่มีอยู่ จนไม่มีเหตุที่จะไต่สวนและมีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน และหากต่อมาศาลในคดีฟอกเงินมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของจำเลยรวมถึงสิทธิเรียกร้องเป็นเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยตกเป็นของแผ่นดิน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเป็นต้นไป ห้ามมิให้ยึดหรืออายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยดังกล่าวเพื่อการบังคับคดีไม่ว่าด้วยเหตุใดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1307 หากโจทก์เห็นว่าตนเป็นผู้มีสิทธิในเงินตามบัญชีเงินฝากของจำเลย โจทก์ต้องไปดำเนินการในคดีฟอกเงินตามมาตรา 53 ซึ่งบัญญัติถึงขั้นตอนในการดำเนินการไว้เป็นการเฉพาะแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในหนี้สามัญ ไม่อาจดำเนินการบังคับคดีเพื่อให้มีผลถึงการดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีฟอกเงินได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4227/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายัดทรัพย์สินในคดีฟอกเงิน: เจ้าหนี้สามัญบังคับคดีขัดต่อกฎหมายเฉพาะ
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นมาตรการทางกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และกำหนดมาตรการทางแพ่งในการยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ไม่ใช่เป็นการดำเนินคดีแพ่งทั่วไป แม้มาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้การดำเนินการทางศาลตามหมวดนี้ให้ยื่นต่อศาลแพ่งและให้นำป.วิ.พ. มาบังคับใช้โดยอนุโลม ก็ต้องเป็นกรณีที่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ไม่ได้มีบทบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ และสามารถนำมาปรับใช้ได้เพียงเท่าที่ไม่ขัดกับหลักการแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้บัญญัติเกี่ยวกับการยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราวมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากคดีแพ่งไว้เป็นการเฉพาะแล้ว แม้ว่าหนังสือแจ้งอายัดสิทธิเรียกร้องจะเป็นการอายัดไว้ก่อนที่ศาลแพ่งจะมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินก็ตาม แต่หากให้เจ้าหนี้สามัญยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่ศาลมีคำสั่งอายัดทรัพย์สินของจำเลยไว้ชั่วคราว ตามมาตรา 55 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ได้ อาจทำให้ทรัพย์สินดังกล่าวไม่มีอยู่จนไม่มีมีเหตุที่จะทำการไต่สวนและมีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และหากต่อมาศาลแพ่งมีคำสั่งให้ทรัพย์สินซึ่งรวมถึงสิทธิเรียกร้องเป็นเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยตกเป็นของแผ่นดินจะมีผลทางกฎหมายโดยนับแต่วันที่ศาลแพ่งมีคำสั่งให้ทรัพย์สินซึ่งรวมถึงสิทธิเรียกร้องเป็นเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยตกเป็นของแผ่นดินเป็นต้นไป โจทก์ย่อมไม่อาจยึดเพื่อการบังคับคดี ไม่ว่าด้วยเหตุใดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1307 กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. ซึ่งเป็นการดำเนินคดีแพ่งทั่วไปมาปรับใช้กับการยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราวในคดีฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 อันเป็นกฎหมายที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากคดีแพ่งโดยทั่วไปได้ และหากต่อมาศาลแพ่งมีคำสั่งให้สิทธิเรียกร้องเป็นเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยตกเป็นของแผ่นดินแล้ว แต่โจทก์เห็นว่าตนเป็นผู้มีสิทธิในเงินตามบัญชีเงินฝากของจำเลยโดยเป็นเจ้าของ ผู้รับโอนหรือผู้รับประโยชน์ โจทก์ต้องไปดำเนินการในคดีฟอกเงินดังกล่าวตามมาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ซึ่งมีบทบัญญัติเกี่ยวกับกระบวนการและขั้นตอนในการดำเนินการเป็นการเฉพาะแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในหนี้สามัญไม่อาจดำเนินการบังคับคดีในคดีนี้เพื่อให้มีผลถึงการดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีฟอกเงินดังกล่าวได้ โจทก์จึงไม่อาจขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านปฏิบัติตามคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยส่งเงินที่อายัดตามคำพิพากษาไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4223/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีขัดแย้งกับคดีฟอกเงิน: ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ไม่อาจบังคับคดีได้
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นมาตรการทางกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและเป็นมาตรการทางแพ่งในการยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ไม่ใช่เป็นการดำเนินคดีแพ่งทั่วไป แม้มาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้การดำเนินการตามหมวด 6 ให้นำ ป.วิ.พ. มาบังคับใช้โดยอนุโลม แต่ต้องเป็นกรณีที่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ไม่ได้มีบทบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ และนำมาปรับใช้ได้เพียงเท่าที่ไม่ขัดกับหลักการแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้บัญญัติวิธีการร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินชั่วคราวไว้เป็นการเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำบทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. ซึ่งเป็นการดำเนินคดีแพ่งทั่วไปมาปรับใช้กับการคุ้มครองชั่วคราวในคดีฟอกเงินได้ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือแจ้งอายัดสิทธิเรียกร้องในขณะที่ศาลแพ่งมีคำสั่งอายัดทรัพย์สินของจำเลยไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นก่อนแล้ว ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ต้องส่งเงินตามสิทธิเรียกร้องให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี และยังปรากฏว่าต่อมาศาลแพ่งมีคำสั่งให้ทรัพย์สินซึ่งรวมถึงสิทธิเรียกร้องเป็นเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยตกเป็นของแผ่นดิน ดังนั้น นับแต่วันที่ศาลแพ่งมีคำสั่งให้ทรัพย์สินซึ่งรวมถึงสิทธิเรียกร้องเป็นเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยตกเป็นของแผ่นดินเป็นต้นไป โจทก์ย่อมไม่อาจยึดเพื่อการบังคับคดี ไม่ว่าด้วยเหตุใดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1307 หากโจทก์เห็นว่า ตนเป็นผู้มีสิทธิในเงินตามบัญชีเงินฝากของจำเลยโดยเป็นเจ้าของ ผู้รับโอนหรือผู้รับประโยชน์ โจทก์ต้องไปดำเนินการในคดีฟอกเงินดังกล่าวตามมาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ซึ่งมีบทบัญญัติเกี่ยวกับกระบวนการและขั้นตอนในการดำเนินการเป็นการเฉพาะแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในหนี้สามัญไม่อาจดำเนินการบังคับคดีในคดีนี้เพื่อให้มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีฟอกเงินดังกล่าวได้ โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้ศาลสั่งให้ผู้คัดค้านที่ 1 ส่งเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5969/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หน่วยงานราชการไม่อยู่ในอำนาจศาลล้มละลาย และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
การฟ้องคดีล้มละลายมิใช่เป็นการฟ้องเพื่อบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ดังเช่นคดีแพ่งทั่วไป แต่เป็นการฟ้องเพื่อดำเนินการเข้าจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย ทั้งนี้เพื่อที่จะนำเงินที่ได้จากการจัดการทรัพย์สินนั้นมาแบ่งชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ ดังนั้น กระบวนพิจารณาคดีล้มละลายจึงเป็นกระบวนการที่จะต้องดำเนินการรวบรวมและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ แล้วนำมาจัดสรรแบ่งชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ของลูกหนี้ จำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นหน่วยงานราชการของรัฐ ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ถือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ย่อมไม่อาจยึดเพื่อการบังคับคดีไม่ว่าด้วยเหตุใด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1307 จึงเป็นทรัพย์สินที่ตามกฎหมายไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ทั้งจำเลยที่ 1 ยังมีอำนาจหน้าที่ตามที่ พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 กำหนดไว้ และการจะได้รับชำระหนี้ของส่วนราชการนั้น โจทก์ย่อมสามารถกระทำได้โดยวิธีการอื่น เช่น การเบิกจ่ายเงินจากงบประมาณแผ่นดิน เป็นต้น นอกจากการฟ้องขอให้หน่วยงานราชการของรัฐตกเป็นบุคคลล้มละลายซึ่งไม่อาจกระทำได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ล้มละลาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10340-10378/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีกับหน่วยงานของรัฐ: สิทธิเรียกร้องขององค์การของรัฐไม่อยู่ในข้อยกเว้นการบังคับคดี
แม้การขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 275 และมาตรา 276 กับการร้องขอต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ทำการยึดทรัพย์หรืออายัดเงินหรือสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นกระบวนการคนละขั้นตอนกันก็ตาม แต่หากศาลเห็นว่าทรัพย์สินหรือเงินหรือสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามมาตรา 285 และมาตรา 286 ศาลย่อมมีอำนาจปฏิเสธไม่ออกหมายบังคับคดีแก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา จำเลยที่ 2 จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 จึงไม่เป็นส่วนราชการ แต่มีฐานะเป็นองค์การของรัฐที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยมาตรา 68 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 มีรายได้จากเงินผลประโยชน์ต่าง ๆ จากการลงทุนและการจัดหาผลประโยชน์ กับมีรายได้จากผลประโยชน์จากการจัดการทรัพย์สินและการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 2 รวมอยู่ด้วย และมาตรา 68 วรรคสอง บัญญัติว่า รายได้ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ ทั้งพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติให้ทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี สิทธิเรียกร้องที่จำเลยที่ 2 มีต่อบุคคลภายนอกจึงไม่ใช่ทรัพย์สินของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1307 ที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 285 (4) ศาลแรงงานกลางต้องออกหมายบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 2 ที่มีต่อบุคคลภายนอกให้แก่โจทก์ทั้งสามสิบเจ็ด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16132/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยึดทรัพย์สินที่ตกเป็นของแผ่นดินแล้ว ผู้ยึดต้องรับผิดชอบค่าธรรมเนียม แม้ศาลจะเพิกถอนการขายทอดตลาด
โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2552 แต่ได้ความว่าที่ดินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินแล้วตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2549 ตามคำสั่งศาลแพ่งซึ่งโจทก์เองก็ทราบดี เพราะเข้าเป็นคู่ความในคดีนั้นด้วยในฐานะผู้คัดค้าน แม้คดีดังกล่าวจะยังไม่ถึงที่สุด แต่ตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาศาลสูงเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น คำสั่งนั้นย่อมมีผลอยู่ การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์สินที่มิใช่ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมเป็นการไม่ชอบ ทั้งทรัพย์สินของแผ่นดินย่อมไม่อาจยึดเพื่อการบังคับคดีไม่ว่าด้วยเหตุใดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1307 เมื่อต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาด โจทก์ก็มิได้โต้แย้งคัดค้านจนคำสั่งดังกล่าวถึงที่สุด โจทก์จึงเป็นผู้ดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนที่นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดพิพาทมาแล้วไม่มีการขาย ต้องเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคหนึ่ง ประกอบตาราง 5 ข้อ 3 ท้าย ป.วิ.พ. บทบัญญัติในมาตรา 161 วรรคหนึ่ง ให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดเสียค่าฤชาธรรมเนียมได้ โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดี จึงสมควรให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีกรณียึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขาย
ส่วนที่โจทก์อ้างว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดมิได้เพิกถอนการยึด โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมถอนการยึดตามคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดี เห็นว่า เมื่อโจทก์เป็นผู้นำยึดทรัพย์สินและเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดตามขั้นตอนแล้ว แต่ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดนั้นย่อมเท่ากับทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดมาไม่มีการขาย ความรับผิดของผู้ดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนนี้ที่จะต้องชำระค่าธรรมเนียมจึงเกิดขึ้นแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7685/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยึดทรัพย์ที่ไม่ใช่ของเจ้าหนี้: ฎีกานอกประเด็นและไม่เป็นสาระต่อคดี
ผู้ร้องร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดโดยอ้างว่าเป็นของผู้ร้อง เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าผู้ร้องไม่ใช่เจ้าของต้นยางพาราที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดมาบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ การที่ผู้ร้องฎีกาว่า ต้นยางพาราพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์สินของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จึงต้องถูกห้ามยึดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1307 ประกอบ พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 25 จึงเป็นฎีกานอกคำร้องและนอกประเด็น ทั้งไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3320/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยึดทรัพย์สินของแผ่นดิน: เงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินไม่อยู่ในอำนาจบังคับคดี
การอายัดเป็นการที่ศาลมีคำสั่งห้ามลูกหนี้ตามคำพิพากษาให้งดเว้นการจำหน่ายสิทธิเรียกร้องและห้ามบุคคลภายนอกมิให้ชำระเงินหรือส่งมอบสิ่งของให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่ให้ชำระหรือส่งมอบแก่เจ้าพนักงานบังคับคดี แม้โจทก์จะใช้คำว่า อายัด ผิดพลาดก็ไม่ถือเป็นสาระสำคัญ ศาลย่อมพิจารณาจากลักษณะอันแท้จริงตามกฎหมายของกรณีนั้นๆ ว่าที่ถูกต้องแล้วเป็นการยึดหรืออายัด
โจทก์ชำระเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มาตรา 43 ซึ่งเป็นการชำระเงินค่าภาษีอากรตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 39 เงินจำนวนดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินซึ่งต้องห้ามมิให้ยึดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1307 ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ตามกฎหมายย่อมไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 285 (4) ซึ่งนำมาใช้บังคับแก่วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาด้วยโดยอนุโลมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 259 โจทก์จึงไม่อาจยื่นคำร้องขอให้ยึดเงินดังกล่าวก่อนพิพากษาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 254 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 292-339/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีกับองค์การของรัฐ: รายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายยังไม่เป็นของแผ่นดิน
จำเลยที่ 1 เป็นองค์การของรัฐบาลจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ พ.ศ. 2496 แม้ตามมาตรา 8 จะกำหนดให้กระทรวงคมนาคมโอนกิจการ สิทธิ หน้าที่ ทรัพย์สิน และหนี้สิน ซึ่งเกิดจากการดำเนินกิจการขององค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ ซึ่งสังกัดอยู่ในกระทรวงคมนาคม ตลอดจนพนักงานขององค์การดังกล่าว ก่อนวันพระราชกฤษฎีกานี้บังคับให้แก่จำเลยที่ 1 ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว และตามมาตรา 9 บัญญัติว่า "ให้กำหนดทุนของ ร.ส.พ. เป็นจำนวนเงินห้าสิบล้านบาท โดยรัฐบาลจ่ายให้เป็นทุนประเดิมสิบล้านบาท และจ่ายเพิ่มเติมเป็นคราว ๆ ตามจำนวนที่รัฐบาลเห็นสมควร" ซึ่งเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 มีทุนห้าสิบล้านบาทโดยทุนทั้งหมดรัฐบาลเป็นผู้จ่ายให้ และทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 บางส่วนได้รับโอนจากกระทรวงคมนาคม แต่ตามมาตรา 11 ก็กำหนดให้รายได้ที่จำเลยที่ 1 ได้รับจากการดำเนินกิจการให้ตกเป็นของจำเลยที่ 1 สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ส่วนตามมาตรา 12 กำหนดให้เมื่อหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้แล้วรายได้ของจำเลยที่ 1 เหลือเท่าใด จึงให้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐ แสดงให้เห็นว่ารายได้ของจำเลยที่ 1 ก่อนหักค่าใช้จ่ายยังไม่เป็นของแผ่นดินอันจะยึดไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1307 กรณีเช่นนี้ ศาลแรงงานย่อมออกหมายบังคับคดีเพื่อยึดอายัดทรัพย์จำเลยที่ 1 ในส่วนดังกล่าวได้
of 17