คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 420

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4,810 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16001/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งความร้องทุกข์โดยสุจริตตามสิทธิ ย่อมไม่เป็นละเมิด แม้จะมีการฟ้องคดีอาญา
มูลคดีเดียวกันนี้ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด เคยฟ้องจำเลยทั้งสองกับพวกเป็นจำเลยในคดีอาญาข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ มีโจทก์ในคดีนี้ได้เข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา โดยคดีอาญาคดีถึงที่สุด ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า พฤติการณ์ของโจทก์ร่วม ทำให้จำเลยที่ 1 เข้าใจว่าโจทก์ร่วมถอนเงินที่วางประกันไว้ไปใช้ประโยชน์อื่น นอกจากข้อตกลงอันเป็นความผิดอาญา จำเลยที่ 1 จึงแจ้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงแก่พนักงานสอบสวน อันเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ
ดังนั้น คดีนี้จึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าวว่า จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิตามกฎหมาย ไม่ได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนจึงไม่มีความผิดและมีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ที่ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญาต่อโจทก์ ไม่มีความผิดตามไปด้วย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16000/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดจากการขุดวางท่อประปา: ผู้รับเหมาไม่ประมาทหากโจทก์มิได้ระบุแนวสายเคเบิลชัดเจน
การที่พยานโจทก์เพียงแจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบหลังเกิดเหตุครั้งแรกว่ามีสายเคเบิลใยแก้วนำแสงของโจทก์ติดตั้งอยู่แต่ไม่มีความชัดเจนว่าฝังอยู่จุดใดบ้าง ประกอบกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ผู้รับเหมาช่วงซึ่งดำเนินการวางท่อประปามาแล้วประมาณ 50 กิโลเมตร ขุดไม่โดนสายเคเบิลของโจทก์เลย เหลือระยะทางที่จะต้องวางท่อประปาอีกประมาณ 135 กิโลเมตร ซึ่งห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ยังคงขุดเพื่อวางท่อประปาต่อไปตามแนวเขตที่ได้รับอนุญาตโดยปฏิบัติเหมือนกับ 50 กิโลเมตรแรก จึงฟังได้ว่าฝ่ายจำเลยมิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อ แม้จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่สายเคเบิลของโจทก์ก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15496/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของหน่วยงานรัฐต่อละเมิดของเจ้าหน้าที่: การเดินทางไปเบิกความถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่
จ่าสิบตำรวจ ว. เป็นข้าราชการตำรวจ ในสังกัดของจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ การที่จ่าสิบตำรวจ ว. เดินทางไปเบิกความเป็นพยานต่อศาลในการไต่สวนการตายตามหมายเรียกพยานบุคคลของศาล ย่อมเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่และเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เนื่องจากเห็นสมควรกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดทางละเมิดในการปฏิบัติงานในหน้าที่เฉพาะเมื่อเป็นการจงใจกระทำเพื่อการเฉพาะตัว หรือจงใจให้เกิดความเสียหาย หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น เมื่ออุบัติเหตุจราจรที่เกิดขึ้นในระหว่างที่จ่าสิบตำรวจ ว. เดินทางไปเป็นพยานศาลเป็นการกระทำโดยประมาทธรรมดา จ่าสิบตำรวจ ว. จึงไม่ต้องรับผิดเป็นการเฉพาะตัว โจทก์เป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15067/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดจากผลตรวจสุขภาพคลาดเคลื่อน และประเด็นอายุความฟ้องร้อง
แม้อาการป่วยของโจทก์จะเกิดขึ้นจากความผิดปกติในร่างกายของโจทก์เอง โดยจำเลยทั้งสองมิได้เป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้นหรือกระทำการใด ๆ ให้โจทก์เกิดโรคมะเร็งก็ตาม แต่การแจ้งผลการตรวจผิดพลาดทำให้อาการโรคมะเร็งไตของโจทก์ลุกลามแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ อีกโดยตามใบมรณบัตรยังระบุว่าโรคมะเร็งของโจทก์ลุกลามแพร่กระจายไปยังสมองเป็นเหตุให้โจทก์ถึงแก่ความตายในที่สุด ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในประเด็นที่ว่าจำเลยทั้งสองมิได้ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น
อายุความฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น อายุความจะเริ่มนับต่อเมื่อผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน เมื่อโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 แจ้งผลการตรวจสุขภาพประจำปีผิดพลาดไปจากความจริงเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2550 ซึ่งเมื่อนับถึงวันฟ้องคืนวันที่ 26 มิถุนายน 2551 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์สำหรับจำเลยทั้งสองเป็นเงิน 1,687,592 บาท ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เป็นเงิน 33,751 บาท แต่จำเลยทั้งสองชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาเพียงคนละ 32,711 บาท จึงชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ขาดไปคนละ 1,040 บาท ส่วนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาสำหรับจำเลยทั้งสองเป็นเงิน 315,000 บาท ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเป็นเงิน 6,300 บาท และจำเลยทั้งสองเสียถูกต้องครบถ้วน แต่เนื่องจากคดีนี้จำเลยทั้งสองเป็นจำเลยร่วมในคดีที่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ และจำเลยทั้งสองต่างได้ยื่นอุทธรณ์และยื่นฎีกาแยกกัน โดยต่างได้เสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และฎีกาดังกล่าวซึ่งค่าขึ้นศาลเช่นว่านั้น เมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนสูงกว่าที่จำเลยทั้งสองต้องชำระในกรณียื่นอุทธรณ์และยื่นฎีการ่วมกัน กรณีจึงต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 150 วรรคห้า ที่ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาจะต้องมีคำสั่งคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่จำเลยทั้งสองตามส่วนของค่าชั้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาที่แต่ละคนได้ชำระเกินไป เมื่อศาลอุทธรณ์มิได้สั่งคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่จำเลยทั้งสอง ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไข้ให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14931/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ธนาคารมีความรับผิดต่อทรัพย์สินลูกค้าสูญหายจากความประมาทเลินเล่อในการเก็บรักษาตู้นิรภัย
จำเลยที่ 1 ให้โจทก์เช่าตู้นิรภัยเพื่อเก็บรักษาทรัพย์สินโดยมีจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 เป็นพนักงานมีหน้าที่ในการเก็บรักษารหัสและกุญแจห้องมั่นคง การที่จำเลยที่ 2 เก็บสำเนารหัสและวิธีการเปิดห้องมั่นคงไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงาน จำเลยที่ 4 เก็บกุญแจห้องมั่นคงไว้ในตู้นิรภัยเล็ก และจำเลยที่ 5 เก็บกุญแจห้องมั่นคงอีกดอกหนึ่งไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานอันเป็นการผิดระเบียบของจำเลยที่ 1 จนเป็นเหตุให้คนร้ายรื้อค้นพบและนำไปใช้เปิดห้องมั่นคงแล้วลักทรัพย์ของโจทก์ที่เก็บไว้ในตู้นิรภัยไปจึงต้องถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ในการเก็บรักษารหัสและกุญแจห้องมั่นคงอันเป็นผลโดยตรงต่อเกิดเหตุลักทรัพย์ของโจทก์ มิใช่เป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจป้องกันได้ การที่จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ประมาทเลินเล่อในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 อีกโสตหนึ่งด้วย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 3 โดยมิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม ศาลอุทธรณ์มิได้แก้ไข ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14700/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกค่าเสียหายจากความผิดฐานทำลายทรัพยากรธรรมชาติ: ใช้บทบัญญัติ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ อายุความ 10 ปี
โจทก์บรรยายฟ้องมีใจความว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 และ ย. ซึ่งถึงแก่ความตายแล้ว และเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 9 เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 10 และที่ 11 ได้บังอาจร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ ก่นสร้าง แผ้วถางป่า โดยตัด ฟัน โค่น เลื่อย ชักลากไม้ในป่าภายในเขตอุทยานแห่งชาติ จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นของรัฐ อันเป็นการทำให้เป็นอันตราย และทำให้เสื่อมสภาพซึ่งไม้ภายในเขตอุทยานแห่งชาติโดยผิดกฎหมาย และร่วมกันยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าดังกล่าว ตลอดทั้งได้ปลูกพืชไร่ในท้องที่ดังกล่าวคิดเป็นเนื้อที่รวมทั้งสิ้น 1,330 ไร่ ถือได้ว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้อง โดยเรียกร้องให้จำเลยกับพวกร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 97 ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำหรือละเว้นการกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการทำลาย หรือทำให้สูญหาย หรือความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นของรัฐหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลายสูญหายหรือเสียหายไปนั้น" ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ มิใช่การฟ้องขอให้จำเลยกับพวกร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อโจทก์ในมูลละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 จึงไม่อยู่ในบังคับอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์จึงอยู่ในบังคับอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12798/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้จัดการสถานีบริการน้ำมันต่อความเสียหายจากทุจริตของพนักงาน
จำเลยที่ 2 ได้รับคำสั่งแต่งตั้งจากโจทก์ให้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการสถานีบริการน้ำมันเพื่อสวัสดิการข้าราชการศูนย์กลางสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2537 เมื่อการปฏิบัติงานสวัสดิการภายในดังกล่าวตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ.2530 ข้อ 13 ให้ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการ แม้จะไม่ได้มีค่าตอบแทนพิเศษและไม่มีคำสั่ง ระเบียบ หรือข้อบังคับ กำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการไว้แต่หน้าที่ผู้จัดการโดยทั่วไปย่อมจะต้องดูแลรับผิดชอบการปฏิบัติงานของพนักงานหรือลูกจ้างในสถานีบริการน้ำมันนั้นให้เป็นไปโดยถูกต้องเรียบร้อย รวมทั้งเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาในการบริหารจัดการตามสมควรแก่กรณี แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้เสนอรายงานที่ตนเองพบข้อสงสัยไปตามลำดับชั้นเพื่อให้มีการจัดการแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับความไม่สุจริตของพนักงานขาย ทั้งได้ความจากจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 มิได้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานขายหรือเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีแต่อย่างใด พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 2 นำสืบมาไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12017/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากรถหายในโครงการ เพราะไม่มีหน้าที่ตามสัญญาหรือกฎหมายดูแลทรัพย์สินผู้เช่า
จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการที่เกิดเหตุที่รถซึ่งโจทก์รับประกันภัยสูญหายจะต้องรับผิดก็ต่อเมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 4 ประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สิน อันเป็นการทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ที่ว่าทำต่อบุคคลอื่น หมายถึง ทำหรือการกระทำต่อสิทธิของบุคคลอื่น ซึ่งรวมถึงการงดเว้นไม่กระทำกรณีมีหน้าที่ต้องกระทำด้วย โดยหน้าที่ดังกล่าวรวมถึงหน้าที่ตามสัญญา หน้าที่เกิดจากความสัมพันธ์และหน้าที่ตามกฎหมาย สำหรับหน้าที่ตามสัญญาไม่ปรากฏว่ามีสัญญาระหว่างฝ่ายโจทก์กับฝ่ายจำเลย สำหรับตามสัญญาจ้างเหมาดูแลรักษาความปลอดภัยเป็นสัญญาระหว่างจำเลยที่ 4 กับฝ่ายจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบริษัทรักษาความปลอดภัยเป็นการจ้างให้ดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 4 เท่านั้น ไม่ได้จ้างให้ดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้พักอาศัยหรือผู้เช่าห้องพักในโครงการด้วยแต่อย่างใด จำเลยที่ 4 จึงไม่มีหน้าที่ตามสัญญาที่จะต้องดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้เช่าห้องในโครงการ ส่วนหน้าที่เกิดจากความสัมพันธ์ก็ได้ความว่าทางปฏิบัติจำเลยที่ 4 ไม่ได้จัดให้มีการตรวจรถที่แล่นเข้าออกโครงการ ไม่ได้จัดให้มีการแลกบัตรหรือแจกบัตรแก่ผู้ขับรถเข้าออกโครงการ อันอาจทำให้เห็นเป็นปริยายถึงพฤติกรรมของจำเลยที่ 4 ว่าจำเลยที่ 4 มีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้เช่าห้องในโครงการ สำหรับหน้าที่ตามกฎหมายคือ ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 4 เช่าทรัพย์ มาตรา 546 ถึงมาตรา 551 ก็ไม่ได้บัญญัติให้จำเลยที่ 4 ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายอันเกิดแก่ทรัพย์สินของผู้เช่า ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 4 ไม่มีหน้าที่ดังกล่าว ย่อมไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 4 ผู้ให้เช่า ประมาทเลินเล่อทำต่อผู้เช่าห้องในโครงการโดยผิดกฎหมายให้ผู้เช่าเสียหายแก่รถที่โจทก์รับประกันภัยอันจะเป็นการทำละเมิด จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เช่ารวมทั้งโจทก์ผู้รับประกันภัย โจทก์ไม่อาจรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาฟ้องจำเลยที่ 4 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10570/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของห้างสรรพสินค้าต่อการโจรกรรมรถในลานจอด – ไม่มีภาระหน้าที่หากเจ้าของรถประมาท
ผู้ได้รับอนุญาตให้นำรถเข้ามาจอดจะต้องหาสถานที่จอดเอง เก็บกุญแจรถไว้เอง และจะต้องดูแลรถกับทรัพย์สินภายในรถเอง ทั้งนี้ จำเลยไม่ได้เรียกเก็บค่าบริการในการนำรถเข้าจอด ดังนั้นความครอบครองในรถยังคงอยู่กับเจ้าของรถหรือผู้ที่นำรถเข้ามาจอด จำเลยจึงไม่ใช่ผู้รับฝากรถและไม่ได้รับประโยชน์อันเนื่องจากการที่มีผู้นำรถเข้าไปจอดในห้างสรรพสินค้าที่เกิดเหตุแต่อย่างใด เพียงแต่ได้รับประโยชน์จากผลกำไรที่ได้จากการจำหน่ายสินค้าและการบริการซึ่งเป็นปกติทางการค้าเท่านั้น
พนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยร่วมไม่ได้กระทำประมาทปราศจากความระมัดระวังปล่อยให้คนร้ายลักรถกระบะคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ออกไปโดยไม่ตรวจสอบบัตรอนุญาตจอดรถให้ถูกต้อง และจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่ได้ระมัดระวังดูแลรักษาความปลอดภัยสำหรับรถที่มีผู้นำมาจอดในห้างสรรพสินค้าของจำเลยตามสมควรแล้ว การที่รถสูญหายมิใช่เป็นผลโดยตรงจากการกระทำหรือละเว้นกระทำของจำเลยและจำเลยร่วม ดังนั้นจำเลยและจำเลยร่วม จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8932/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาเรื่องค่าเสียหายคดีข่มขืน: การยินยอมของผู้เสียหายไม่มีผลทางกฎหมาย และประเด็นการฎีกาที่ต้องห้าม
พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 183 บัญญัติว่า "คดีที่ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้ฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นไปยังศาลฎีกาได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความเหมือนคดีธรรมดา เว้นแต่กรณีที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามมาตรา 180" นอกจากนี้ มาตรา 6 ยังบัญญัติให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่การพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวกรณีไม่มีบทบัญญัติไว้โดยเฉพาะ ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาคดีส่วนแพ่ง ปัญหาว่าคดีของโจทก์ร่วมต้องห้ามฎีกาหรือไม่จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงเว้นแต่ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลอุทธรณ์ได้มีความเห็นแย้งหรือผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นก็ดี ศาลอุทธรณ์ก็ดีได้รับรองไว้หรือรับรองในเวลาตรวจฎีกาว่า มีเหตุสมควรที่จะฎีกาได้..." การที่โจทก์ร่วมฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายจึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริงและทุนทรัพย์ไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง แต่เมื่อผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงพอแปลได้ว่ารับรองให้โจทก์ร่วมฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นนั่นเอง ฎีกาของโจทก์ร่วมจึงไม่ต้องห้ามฎีกา
ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก บัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ยินยอมเป็นความผิด" แสดงว่า กฎหมายมุ่งคุ้มครองเด็กอายุน้อยเป็นกรณีพิเศษโดยไม่ให้ความสำคัญแก่ความยินยอมของเด็ก ดังนั้น แม้ผู้เสียหายที่ 3 ยินยอมมีเพศสัมพันธ์กับจำเลย การกระทำของจำเลยก็ยังเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมาย จึงยังคงเป็นการละเมิดต่อผู้เสียหายที่ 3 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 โจทก์ร่วมในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เสียหายที่ 3 ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ได้
of 481