พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4,810 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13972/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิหักกลบลบหนี้หลังบอกเลิกสัญญา - การชำระหนี้หลังเลิกสัญญาโดยชอบ
แม้จำเลยจะมีหนังสือบอกเลิกสัญญากู้ยืมเงินและบอกกล่าวบังคับจำนองแก่โจทก์ทั้งสองแล้วก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ทั้งสองยังไม่ได้ชำระหนี้ให้แก่จำเลยจนครบจำนวนให้เสร็จสิ้น จำเลยย่อมมีสิทธิหักเงินเดือนและเงินโบนัสของโจทก์ที่ 2 ภายหลังจากเลิกสัญญาจำนวน 79,194.50 บาท เพื่อชำระหนี้ตามข้อตกลงที่โจทก์ที่ 2 ให้ไว้แก่จำเลยแต่เดิมได้เพราะเป็นสิทธิโดยชอบและโจทก์ที่ 2 ยังค้างชำระหนี้เงินกู้แก่จำเลยอีกเป็นจำนวนมาก อีกทั้งเมื่อโจทก์ที่ 2 และจำเลยต่างเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ซึ่งกันและกัน จำเลยย่อมมีสิทธิหักกลบลบหนี้ระหว่างกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 ได้ด้วย การหักเงินของจำเลยจึงเป็นไปโดยสุจริตไม่ทำให้โจทก์ที่ 2 ได้รับความเสียหาย จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 2 โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกเงินจำนวน 79,194.50 บาท คืนจากจำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12449/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความรับผิดของนายจ้างต่อละเมิดของลูกจ้าง กรณีการนำบัตรเครดิตของผู้อื่นไปใช้
จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และรับว่าเมื่อเกิดกรณีไปรษณีย์ภัณฑ์ที่โจทก์ฝากส่งสูญหาย จำเลยที่ 2 ได้ตั้งกรรมการสอบสวนและได้ความจากการสอบสวนว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่นำจ่ายไปรษณีย์ภัณฑ์ของโจทก์และนำบัตรเครดิตที่อยู่ในไปรษณีย์ภัณฑ์ดังกล่าวของโจทก์ไปใช้ตามที่โจทก์ฟ้องจริง โดยจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพไว้ต่อคณะกรรมการของจำเลยที่ 2 กรณีจึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ในทางการที่จ้างและจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดด้วยในฐานะนายจ้าง ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาอ้างว่า จำเลยที่ 2 มีไปรษณียนิเทศ พ.ศ.2544 ซึ่งออกตามพ.ร.บ ไปรษณีย์ พ.ศ.2477 กำหนดขอบเขตความรับผิดกรณีไปรษณีย์ภัณฑ์สูญหายไว้และไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามที่โจทก์ฟ้องนั้น เป็นกรณีการสูญหายตามปกติ มิใช่กรณีการกระทำละเมิดของลูกจ้าง จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจยกข้ออ้างดังกล่าวขึ้นอ้าง เพื่อปฏิเสธความรับผิดได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11486/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิรับเงินชดเชยจากผลกระทบเขื่อนเป็นมรดกได้ การปลอมเอกสารทำให้ทายาทเสียหายมีสิทธิเรียกร้องค่าชดใช้
แม้ขณะที่ ก. ถึงแก่ความตายเมื่อปี 2540 ก. ยังไม่มีสิทธิได้รับจัดที่ดินและการชดเชยเพราะคณะรัฐมนตรีเพิ่งมีมติให้ผู้ที่ถูกน้ำท่วมอันเป็นผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสิรินธรได้รับสิทธิเช่นว่านั้น เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 สิทธิได้รับจัดที่ดินและการชดเชยตามมติคณะรัฐมนตรีจึงมิใช่ทรัพย์สินที่ ก. มีอยู่ในขณะถึงแก่ความตายและมิใช่เป็นมรดกของ ก. ผู้ตายก็ตาม แต่ ป.พ.พ. บรรพ 6 ลักษณะมรดก เป็นบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งในอันที่จะใช้บังคับแก่สิทธิได้รับจัดที่ดินและการชดเชย ดังนั้น สิทธิได้รับจัดที่ดินและการชดเชยของ ก. จึงควรตกทอดได้แก่ทายาทของ ก. เสมือนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดก เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยกับพวกร่วมกันปลอมคำขอสละมรดกสิทธิการได้รับจัดที่ดินและการชดเชยตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 และใช้เอกสารปลอมดังกล่าว จนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมทั้งสามซึ่งเป็นบุตรของ ก. ไม่ได้รับเงินชดเชยตามมติคณะรัฐมนตรี ดังนี้ โจทก์ร่วมทั้งสามซึ่งเป็นทายาทของ ก. จึงได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยกับพวกแล้ว โจทก์ร่วมทั้งสามจึงมีสิทธิขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ซึ่งได้แก่การคืนทรัพย์สินอันโจทก์ร่วมทั้งสามต้องเสียไปจากการกระทำความผิดของจำเลยกับพวกอันเป็นการกระทำละเมิดหรือใช้ราคาทรัพย์ รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11437/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความฟ้องค่าเสียหายจากความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ: พิจารณาจากเจตนาในคำฟ้อง
การที่โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายตามมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 จะใช้อายุความเรื่องละเมิดหรือใช้อายุความทั่วไปนั้น ต้องพิจารณาจากการบรรยายในคำฟ้องของโจทก์เพื่อให้เห็นเจตนาว่าโจทก์นำคดีมาฟ้องโดยอ้างอิงหรืออาศัยสิทธิตามกฎหมายใดเป็นหลัก ซึ่งโดยปกติแล้วไม่ว่าจะเป็นการฟ้องโดยอาศัยมูลละเมิดโดยตรง หรือฟ้องโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มีหลักสำคัญอยู่ที่การทำให้เกิดความเสียหายเช่นเดียวกัน กรณีที่โจทก์ฟ้องโดยอาศัยมูลละเมิด มักจะต้องบรรยายในคำฟ้องให้เห็นว่า จำเลยจงใจกระทำการใด ๆ หรือเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 420 แต่เมื่อพิจารณาจากถ้อยคำในคำฟ้องคดีนี้แล้วไม่ปรากฏแจ้งชัดว่าโจทก์ได้ใช้ถ้อยคำที่จะแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีเจตนาฟ้องโดยอาศัยสิทธิในมูลละเมิดโดยตรงแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม คำฟ้องของโจทก์บรรยายโดยกล่าวในตอนต้นให้เห็นว่าโจทก์มีอำนาจหน้าที่ในการอนุรักษ์ สงวน คุ้มครอง ฟื้นฟู ดูแลรักษา ส่งเสริมและทำนุบำรุงทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชในเขตที่รับผิดชอบมีอำนาจดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับรวมทั้ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ด้วย ต่อมาจึงบรรยายโดยใช้ถ้อยคำว่าการกระทำของจำเลยโดยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครอง ทำประโยชน์ ก่อสร้าง แผ้วถางป่า โดยตัดฟัน โค่น เลื่อย ชักลากไม้ในป่า อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติ ซึ่งโจทก์เป็นผู้ดูแลอยู่ ทั้งในตอนท้ายโจทก์ก็บรรยายในคำฟ้องแจ้งชัดว่า การกระทำของจำเลยนั้นทำให้เกิดความเสียหาย โดยโจทก์ขอเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย โดยกำหนดจากหลักเกณฑ์ความเสียหายในทางแพ่งตามมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ซึ่งบทบัญญัติในมาตรา 97 ดังกล่าวระบุในทำนองว่า ผู้ที่กระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการทำลายหรือทำให้เสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นของรัฐหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐตามมูลค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่เสียไป การบรรยายในคำฟ้องดังกล่าวจึงไม่ใช่การบรรยายฟ้องในเรื่องละเมิดโดยตรงเท่านั้น แต่ยังเป็นการบรรยายในคำฟ้องให้เห็นว่าโจทก์ต้องการให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายในทางแพ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ด้วย ซึ่งการเรียกร้องค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 นั้น ไม่ได้มีบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 คือ 10 ปี เมื่อจำเลยกระทำความผิดตั้งแต่เดือนมกราคม 2542 โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2551 จึงยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10256/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การซื้อขายฝากที่ดิน: ผลของการพิสูจน์ไม่ได้ว่าการซื้อขายเป็นการฉ้อฉล ทำให้สัญญาเป็นโมฆะ และการละเมิดสิทธิเจ้าของ
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทกับโจทก์ โดยไม่ไถ่ถอนคืนภายในกำหนด โจทก์ให้จำเลยทำนาในที่ดินพิพาทต่อมา ภายหลังโจทก์แจ้งให้จำเลยออกไปแต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยทำสัญญาขายฝากที่ดินแก่ บ. จำเลยไม่รู้จักโจทก์และไม่มีเจตนาขายฝากที่ดินให้แก่โจทก์ การขายฝากเป็นการกระทำโดยฉ้อฉลถึงขนาดต่อจำเลย ทำให้นิติกรรมการขายฝากเป็นโมฆะทั้งหมด โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามกฎหมาย ดังนี้ คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยขายฝากที่ดินแปลงพิพาทให้แก่โจทก์หรือไม่ ส่วนประเด็นที่ว่าการขายฝากเป็นการกระทำโดยการฉ้อฉลต่อจำเลย อันจะทำให้การขายฝากตกเป็นโมฆะทั้งหมด จำเลยมิได้ให้การว่า ใครเป็นคนทำการฉ้อฉลและจำเลยถูกกลฉ้อฉลอย่างไร จึงทำให้การขายฝากตกเป็นโมฆะ คำให้การของจำเลยจึงเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง และไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทว่าการขายฝากเป็นการกระทำโดยฉ้อฉลต่อจำเลยหรือไม่ ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่าการขายฝากระหว่างโจทก์กับจำเลยกรณีไม่มีการฉ้อฉลต่อจำเลย การขายฝากจึงเป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์ เมื่อจำเลยอยู่ในที่ดินแปลงพิพาทโดยไม่มีสิทธิจึงต้องเป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์มีสิทธิขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8058/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา: การนับอายุความเมื่อฟ้องคดีแพ่งก่อนคำพิพากษาคดีอาญา และการพิสูจน์ความรับผิดทางละเมิด
คดีนี้ ได้มีการยื่นฟ้องจำเลยก่อนที่ศาลชั้นต้นในคดีอาญาจะมีคำพิพากษายกฟ้อง อายุความคดีนี้จึงต้องเป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคสอง ซึ่งมีความหมายว่า อายุความฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งมาตรา 51 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้มีกำหนดเวลาดังที่บัญญัติไว้ในเรื่องอายุความฟ้องคดีอาญาตาม ป.อ. มาตรา 95 (1) ถึง (5) แล้วแต่กรณีนั้น เป็นอันสะดุดหยุดลง เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลงแล้ว จึงให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น ซึ่งในกรณีนี้อายุความจะเริ่มนับใหม่เมื่อศาลในคดีอาญามีคำพิพากษาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคสามหรือวรรคสี่ แล้วแต่กรณี แต่ทั้งวรรคสามและวรรคสี่ดังกล่าวจะต้องเป็นกรณีที่ศาลในคดีอาญามีคำพิพากษาเด็ดขาดไปก่อนที่จะมีการฟ้องคดีแพ่ง ดังนั้น ในกรณีของคดีนี้ จึงต้องเป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคสอง เท่านั้น ไม่ใช่กรณีของวรรคสี่ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ในคดีอาญาดังกล่าวศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงให้เป็นที่แน่นอนสำหรับให้คดีนี้จำต้องถือตาม ดังนั้น จึงต้องฟังข้อเท็จจริงในคดีนี้กันต่อไปให้เป็นที่ยุติ ยังไม่สามารถสรุปข้อเท็จจริงได้ว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้ก่อเหตุตามที่จำเลยฎีกาโต้แย้ง
แม้จะเห็นได้ในตัวว่าแก๊ปวงและดอกไม้เพลิงที่จำเลยมีอยู่ในครอบครองในขณะนั้น เป็นทรัพย์อันอาจเกิดอันตรายได้โดยสภาพตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 437 ก็ตาม แต่ก็มิได้หมายความว่าเหตุการณ์ทุกกรณีจะต้องเกิดจากสภาพหรือลักษณะของตัวทรัพย์นั้นเองเป็นเหตุเสมอไป เพราะการกระทำของบุคคลต่อทรัพย์ที่มีลักษณะเช่นนี้ ก็อาจสามารถเป็นเหตุก่อให้เกิดผลเช่นที่เกิดในคดีนี้ได้ เหตุนี้ ความรับผิดของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องจึงต้องปรับบทตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์
ในคดีอาญาดังกล่าวศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงให้เป็นที่แน่นอนสำหรับให้คดีนี้จำต้องถือตาม ดังนั้น จึงต้องฟังข้อเท็จจริงในคดีนี้กันต่อไปให้เป็นที่ยุติ ยังไม่สามารถสรุปข้อเท็จจริงได้ว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้ก่อเหตุตามที่จำเลยฎีกาโต้แย้ง
แม้จะเห็นได้ในตัวว่าแก๊ปวงและดอกไม้เพลิงที่จำเลยมีอยู่ในครอบครองในขณะนั้น เป็นทรัพย์อันอาจเกิดอันตรายได้โดยสภาพตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 437 ก็ตาม แต่ก็มิได้หมายความว่าเหตุการณ์ทุกกรณีจะต้องเกิดจากสภาพหรือลักษณะของตัวทรัพย์นั้นเองเป็นเหตุเสมอไป เพราะการกระทำของบุคคลต่อทรัพย์ที่มีลักษณะเช่นนี้ ก็อาจสามารถเป็นเหตุก่อให้เกิดผลเช่นที่เกิดในคดีนี้ได้ เหตุนี้ ความรับผิดของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องจึงต้องปรับบทตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7941/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความประมาทเลินเล่อในการขับรถ รถฉุกเฉิน ผู้ขับรถมีหน้าที่ระมัดระวังและชะลอความเร็วเพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ
คดีนี้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสืบว่า ระหว่างจำเลยที่ 1 ขับรถตู้คันเกิดเหตุนำ จ. จากโรงพยาบาลตาลสุมไปส่งโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จำเลยที่ 1 เปิดสัญญาณไฟวับวาบ ไซเรน และไฟกะพริบตลอดทาง โจทก์ไม่นำสืบโต้แย้งข้อเท็จจริงดังกล่าว เพียงแต่อ้างว่าโจทก์ได้รับสัญญาณไฟจราจรสีเขียว จึงขับรถเข้าไปในสี่แยกที่เกิดเหตุ กรณีจึงเชื่อว่า ขณะที่จำเลยที่ 1 ขับรถตู้มาถึงสี่แยกที่เกิดเหตุได้ใช้สัญญาณไฟวับวาบ ไซเรน และเปิดไฟกะพริบ ซึ่งสัญญาณดังกล่าวอยู่ในวิสัยที่โจทก์จะรับรู้และเข้าใจได้ว่าเป็นรถฉุกเฉิน และผู้ที่ขับรถฉุกเฉินจะต้องขับรถด้วยความเร่งรีบ ทั้งโจทก์เองก็อ้างว่าเพิ่งออกจากบ้านซึ่งอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 100 เมตร กำลังจะไปสนามกีฬาซึ่งอยู่ห่างออกไป 1 กิโลเมตร ก็ควรที่จะชะลอความเร็วรถลงเพื่อเปิดโอกาสให้รถที่มีเหตุจำเป็นฉุกเฉินผ่านไปก่อน การที่โจทก์ไม่ชะลอความเร็วรถลงหรือหยุดรถจนเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนกับรถยนต์ตู้คันเกิดเหตุที่เป็นรถฉุกเฉิน ซึ่งลักษณะการชนตามภาพเป็นลักษณะที่รถยนต์ของโจทก์พุ่งเข้าชนรถตู้ แสดงให้เห็นว่าโจทก์มีส่วนขับรถด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังเช่นกัน ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงเกิดจากโจทก์เป็นผู้ก่อด้วยไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าจำเลยที่ 1
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7471/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความรับผิดของห้างสรรพสินค้าต่อการโจรกรรมรถในลานจอดรถ และสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายของบริษัทประกันภัย
จำเลยเป็นห้างสรรพสินค้าขายปลีกและขายส่งสินค้าอุปโภคและบริโภค ย่อมต้องให้ความสำคัญด้านบริการต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการเกี่ยวกับสถานที่จอดรถซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของลูกค้าที่จะเข้าไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการอื่น ๆ หรือไม่ แม้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 8 (9), 34 บัญญัติให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของอาคารต้องจัดให้มีพื้นที่จอดรถเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การจราจร แต่จำเลยยังต้องคำนึงและมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของลูกค้าทั้งในชีวิตและทรัพย์สิน มิใช่ปล่อยให้ลูกค้าระมัดระวังหรือเสี่ยงภัยเอาเอง การที่จำเลยเคยจัดให้มีการแจกบัตรสำหรับรถของลูกค้าที่เข้ามาในห้างซึ่งเป็นวิธีการที่ค่อนข้างรัดกุม เพราะหากไม่มีบัตรผ่าน กรณีจะนำรถยนต์ออกไปจะต้องถูกตรวจสอบโดยพนักงานของจำเลย แต่ขณะเกิดเหตุกลับยกเลิกวิธีการดังกล่าวเสียโดยใช้กล้องวรจรปิดแทน เป็นเหตุให้คนร้ายสามารถเข้าออกลานจอดรถห้างฯ ของจำเลยและโจรกรรมรถได้โดยง่ายยิ่งขึ้น แม้จำเลยจะปิดประกาศว่าจะไม่รับผิดชอบต่อการสูญหายหรือเสียหายใด ๆ รวมทั้งการที่ลูกค้าก็ทราบถึงการยกเลิกการแจกบัตรจอดรถ แต่ยังนำรถเข้ามาจอดก็ตาม ก็เป็นเรื่องข้อกำหนดของจำเลยแต่ฝ่ายเดียวไม่มีผลเป็นการยกเว้นความรับผิดในการทำละเมิดของจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7294/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การยินยอมเข้าเสี่ยงภัยกับการใช้ความรุนแรงเกินกว่าที่ยินยอม การกระทำละเมิดและการรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย
ข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ก่อเหตุท้าชกต่อยขึ้นก่อน เมื่อ ว. เข้าร่วมในการท้าทายและเกิดชกต่อยต่อสู้กัน จึงเท่ากับทั้งสองฝ่ายยินยอมเข้าเสี่ยงภัยจากการทะเลาะวิวาทนั้น ซึ่งหากเหตุการณ์ดำเนินไปเพียงเท่านี้ การกระทำของทั้งสองฝ่ายย่อมไม่ก่อให้เกิดความรับผิดฐานละเมิด แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ใช้มีดดาบเป็นอาวุธทำร้ายโจทก์ที่ 1 กรณีจึงต้องถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกินเลยไปกว่าที่โจทก์ที่ 1 ได้สมัครใจเข้าเสี่ยงภัยกับ ว. เหตุนี้การที่จำเลยที่ 1 ทำร้ายร่างกายโจทก์ที่ 1 ด้วยอาวุธมีดดาบให้ได้รับอันตรายแก่กาย จึงเป็นการกระทำโดยผิดกฎหมาย ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6976/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิในการโต้แย้งคำสั่งอายัดเงินและการใช้สิทธิโดยสุจริต ไม่ถือเป็นการทำละเมิด
แม้โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของบริษัท พ. และโจทก์บังคับคดีโดยขออายัดเงินฝากที่บริษัท พ. ฝากไว้กับจำเลย แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตาม โดยอ้างว่าบริษัท พ. เป็นลูกหนี้จำเลยกับโอนสิทธิในเงินฝากให้แก่จำเลยและจำนำเงินฝากไว้แก่จำเลยด้วย แต่การที่จำเลยปฏิเสธไม่ส่งเงินที่ศาลมีคำสั่งอายัดโดยให้เหตุผลว่า บริษัท พ. เป็นลูกหนี้จำเลยกับโอนสิทธิในเงินฝากให้แก่จำเลย ทั้งยังจำนำเงินฝากไว้แก่จำเลยด้วย เป็นการใช้สิทธิปฏิเสธหรือโต้แย้งคำสั่งอายัดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 312 วรรคหนึ่ง การปฏิเสธของจำเลยจะฟังได้หรือไม่ ย่อมเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นในคดีที่ได้มีคำสั่งอายัดเป็นผู้ไต่สวนและวินิจฉัย หากการปฏิเสธของจำเลยฟังไม่ได้ ศาลในคดีดังกล่าวก็ต้องมีคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งอายัด หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม เจ้าพนักงานบังคับคดีอาจร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีแก่จำเลย และดำเนินการไปเสมือนหนึ่งว่าจำเลยเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา อันเป็นขั้นตอนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 312 วรรคสอง แต่มิได้หมายความว่าหากศาลชั้นต้นไต่สวนและวินิจฉัยเป็นประการใดแล้วให้เป็นที่สุด ดังนั้น การที่จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งอายัด จึงเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย ทั้งข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในคดีที่ศาลมีคำสั่งอายัดเงิน จำเลยวางหลักประกันจนเป็นที่พอใจแก่ศาลและศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ทุเลาการบังคับตามคำพิพากษาแล้ว โจทก์จึงไม่อาจกล่าวอ้างได้ว่า การอุทธรณ์คำสั่งศาลที่ให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งอายัดเป็นการอุทธรณ์เพื่อประวิงคดีไม่ให้โจทก์ได้รับเงินตามคำพิพากษา การที่จำเลยใช้สิทธิโต้แย้งคำสั่งอายัดของศาลโดยการปฏิเสธไม่ยอมส่งเงินที่ศาลมีคำสั่งอายัดให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีหรือการอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นเป็นการใช้สิทธิดำเนินกระบวนพิจารณาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะเกิดเสียหายแก่โจทก์ ไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์