คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 420

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4,810 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5439/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิด: การประเมินส่วนได้ส่วนเสียของผู้เสียหายและผู้กระทำละเมิดเพื่อกำหนดความรับผิด
เมื่อพิจารณาพฤติการณ์ของโจทก์และจำเลยที่เจ้าหน้าที่ของแต่ละฝ่ายกระทำไปนั้น การกระทำของเจ้าหน้าที่จำเลยเป็นเพียงก่อให้เกิดบัญชีเงินฝากที่ไม่ถูกต้องด้วยความประมาทเลินเล่อ แต่การสั่งจ่ายเงินจากบัญชีเงินฝากที่ถูกต้องของโจทก์เข้ามาบัญชีเงินฝากที่ไม่ถูกต้องดังกล่าว ทำให้ ธ. สามารถเบิกถอนเงินออกจากบัญชีไปเกิดความเสียหายตามที่โจทก์ฟ้องนั้น เกิดจากความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่ของโจทก์ผู้มีอำนาจสั่งจ่ายที่ไม่ตรวจสอบให้ถูกต้อง และโจทก์ไม่มีการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่ของโจทก์ เป็นเหตุให้มีการกระทำทุจริตของ ธ. ได้ อันถือว่าทำละเมิดต่อโจทก์ที่ร้ายแรงกว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่เป็นเพียงการเปิดบัญชีเงินฝากโดยไม่ตรวจสอบให้ถูกต้อง ทำให้มีบัญชีเงินฝากที่ไม่ถูกต้องขึ้น แล้วใช้บัญชีเงินฝากดังกล่าวเรียกเก็บเงินจากการสั่งจ่ายโดยเจ้าหน้าที่ของโจทก์จากบัญชีเงินฝากที่ถูกต้องและหมุนเวียนการใช้บัญชีเงินฝากดังกล่าวสร้างความเสียหายแก่โจทก์เป็นเวลาหลายปีได้ ดังนั้นโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่าจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 วรรคหนึ่ง และมาตรา 438 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5396/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ธนาคารต้องรับผิดต่อความเสียหายจากเช็คปลอม แม้โจทก์ประมาทเลินเล่อในการตรวจสอบ
ก. กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์เก็บรักษาสมุดเช็คไว้ในตู้เซฟภายในห้องทำงาน บางครั้งจะให้ ศ. พนักงานการเงินและบัญชีกรอกรายละเอียดในเช็คที่จะสั่งจ่าย ส. ซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์ลักเช็คพิพาททั้งสิบเจ็ดฉบับไปกรอกข้อความและปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย หาก ก. ตรวจสอบก็จะทราบว่าลายมือที่ต้นขั้วเช็คเป็นของ ส. ไม่ใช่ลายมือของ ศ. โจทก์จึงมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย จำเลยประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ การจ่ายเงินตามเช็คเป็นงานที่เกิดขึ้นเป็นประจำ พนักงานจำเลยย่อมมีความชำนาญในการตรวจสอบลายมือชื่อในเช็คกับตัวอย่างลายมือชื่อที่จำเลยมีอยู่ว่าเป็นลายมือชื่อของผู้สั่งจ่ายจริงหรือไม่ เมื่อลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายปลอมในเช็คแตกต่างกับลายมือชื่อที่โจทก์ให้ไว้แก่จำเลย การที่พนักงานของจำเลยจ่ายเงินตามเช็คถึงสิบเจ็ดฉบับจึงเป็นการขาดความระมัดระวังเท่าที่สมควรจะต้องใช้ในกิจการเช่นจำเลย จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์
โจทก์มีคำขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนรายการลงบัญชีเงินฝากของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเช็คทั้งสิบเจ็ดฉบับ รวมเป็นเงิน 1,707,975.05 บาท พร้อมดอกเบี้ย เท่ากับเป็นการขอให้บังคับจำเลยคืนเงินตามเช็ค รวมจำนวน 1,707,975.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ เมื่อโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย การกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์มากน้อยเพียงใด ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 223 วรรคหนึ่ง, 438 และ 442 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน จำนวน 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5378/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดการหมู่บ้าน: คณะกรรมการมีอำนาจพิจารณาเลือกผู้รับเหมาได้เอง หากโปร่งใสและไม่เสียหาย
โจทก์ทั้งสิบเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านพร้อมที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร พ. ส่วนจำเลยทั้งเจ็ดได้รับเลือกให้เป็นคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ. หมู่บ้านจัดสรร พ. มีบ้านอยู่ในพื้นที่จำนวนมากถึง 312 หลัง นับว่าเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ที่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรซึ่งมีเพียงจำเลยทั้งเจ็ดเป็นคณะกรรมการ ไม่อาจดูแลกิจการหลากหลายของหมู่บ้านให้ทั่วถึงได้ ประกอบกับจำเลยแต่ละคนต่างประกอบอาชีพ มีหน้าที่การงานของตนเอง การจัดหานักบริหารมืออาชีพมาทำหน้าที่ช่วยเหลือดูแลกิจการของหมู่บ้านจัดสรร จึงมีความจำเป็น คดีปรากฏว่านิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ. ได้ว่าจ้างบริษัท ค. ทำหน้าที่บริหารจัดการกิจการรวมถึงการดูแลบำรุงรักษาซ่อมแซมสาธารณูปโภคและบริหารสาธารณะต่าง ๆ ของหมู่บ้านจัดสรรให้เป็นไปตามมาตรฐานและสามารถรองรับการใช้ประโยชน์ของสมาชิก แม้สัญญาว่าจ้างดังกล่าวสิ้นสุดลง แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีคู่สัญญาฝ่ายใดบอกเลิกสัญญา จึงต้องถือว่านิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ. ได้ว่าจ้างบริษัท ค. บริหารจัดการกิจการของหมู่บ้านจัดสรรต่อไป ก่อนการว่าจ้างผู้รับเหมาให้ซ่อมแซมถนนและฝาท่อระบายน้ำของหมู่บ้าน ปรากฏว่าผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการของบริษัท ค. ได้รับมอบหมายจากนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ. ให้ติดต่อจัดหาผู้รับเหมาสามรายที่เคยร่วมงานกันและมีผลงานดีไว้ใจได้เสนอราคาค่าซ่อมให้จำเลยทั้งเจ็ดพิจารณา จำเลยทั้งเจ็ดลงมติเลือกบริษัท จ. ซึ่งเสนอราคาต่ำสุดเป็นผู้รับจ้างดำเนินงาน แต่เมื่อทางนำสืบโจทก์ทั้งสิบไม่ปรากฏว่าผู้รับเหมาทั้งสามรายที่บริษัท ค. หามาเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน เป็นพรรคพวกกัน เอื้อเฟื้อประโยชน์กัน ฮั้วประมูลกัน ร่วมกันเสนอราคาค่าก่อสร้างในลักษณะสมยอมราคา หรือมีส่วนได้เสียโดยตรงหรืออ้อมของจำเลยทั้งเจ็ด จึงน่าเชื่อว่าจำเลยทั้งเจ็ดลงมติคัดเลือกบริษัท จ. ด้วยความโปร่งใสและตรงไปตรงมาตามข้อมูลและใบเสนอราคาที่ฝ่ายบริหารจัดการของบริษัท ค. นำเสนอ ส่วนที่โจทก์ทั้งสิบอ้างว่าจำเลยทั้งเจ็ดตกลงว่าจ้างบริษัท จ. โดยไม่มีการประเมินราคากลางก่อนทำสัญญาดังที่หน่วยงานภาครัฐถือปฏิบัตินั้น เห็นว่า การกำหนดราคากลางงานก่อสร้างเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีที่วางหลักเกณฑ์ให้ใช้เฉพาะหน่วยงานภาครัฐ ไม่อาจนำมาใช้กับภาคเอกชนได้ และตามข้อบังคับนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ. ก็มิได้ระบุให้ต้องมีการประเมินราคากลางก่อน การที่จำเลยทั้งเจ็ดลงมติคัดเลือกบริษัท จ. โดยไม่มีการประเมินราคากลางจึงไม่เป็นการกระทำที่ส่อพิรุธขาดความรอบคอบ หรือฝ่าฝืนต่อข้อบังคับของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ. ทั้งการดำเนินกิจการของจำเลยทั้งเจ็ดอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของที่ประชุมใหญ่สมาชิกของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร หากจำเลยทั้งเจ็ดดำเนินกิจการของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ. ด้วยความประมาทเลินเล่อ ไม่ชอบมาพากล หรือไม่คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของสมาชิก สมาชิกก็มีสิทธิที่จะเข้าชื่อร้องขอให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อซักฟอกคณะกรรมการ หรือไม่ลงคะแนนเสียงเลือกกรรมการชุดเดิมให้กลับมาทำหน้าที่อีกได้ แต่หลังจากการซ่อมแซมแล้วเสร็จ มีการนัดประชุมใหญ่สามัญเพื่อเลือกคณะกรรมการนิติบุคคลชุดใหม่ ปรากฏว่าสมาชิกส่วนใหญ่ได้ลงคะแนนเลือกจำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ให้กลับมาเป็นคณะกรรมการ อันแสดงว่าสมาชิกส่วนใหญ่ให้การยอมรับและไว้วางใจในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละโดยไม่หวังผลตอบแทนของจำเลยทั้งเจ็ด ข้อนำสืบของโจทก์ทั้งสิบไม่มีพยานบ่งชี้ให้ฟังได้ว่าจำเลยทั้งเจ็ดลงมติคัดเลือกบริษัท จ. ให้ดำเนินงานซ่อมแซมถนนและฝาท่อระบายน้ำในวงเงินสูงกว่าความเป็นจริงด้วยความประมาทเลินเล่อ การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดจึงไม่เป็นการกระทำละเมิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ. ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันรับผิดชำระเงินนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ. นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5374/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเจ้าของรวม-ภาระจำยอม-การทุบทำลายสาธารณูปโภคในที่ดินจัดสรร-อำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายและบังคับซ่อมแซม
เมื่อพิเคราะห์ถึงแผนผังโครงการจัดสรรในส่วนของโจทก์ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ แม้โจทก์จะสร้างกำแพงคอนกรีตเฉพาะส่วนทางด้านทิศเหนือและทิศใต้ทางด้านหลังอาคารพาณิชย์ โดยไม่ได้สร้างกำแพงคอนกรีตในส่วนทางด้านทิศตะวันตกและทิศตะวันออกเหมือนโครงการจัดสรรเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย แต่เป็นเพราะโจทก์ทำถนนภายในโครงการเชื่อมต่อกับทางสาธารณะทางด้านทิศตะวันตกและทิศตะวันออก โจทก์ประสงค์จะให้บุคคลทุกคนรวมทั้งจำเลยใช้ทางเข้าออกโครงการตามทางที่โจทก์กำหนดเท่านั้น มิใช่เข้าออกทุกทิศทางตามอำเภอใจ ทั้งนี้ เพื่อสะดวกต่อการรักษาความปลอดภัยโดยโจทก์ได้จัดให้มียามรักษาความปลอดภัยและติดตั้งกล้องวงจรปิดในจุดที่เป็นทางเข้าออก ดังนั้น หากโจทก์สร้างกำแพงคอนกรีตด้านหลังอาคารพาณิชย์เพียงเพื่อแสดงเป็นแนวเขตที่ดินโครงการดังที่จำเลยกล่าวอ้าง โจทก์ก็ไม่จำต้องสร้างให้สูงถึง 3 เมตร ซึ่งทำให้โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มอีกจำนวนมาก กำแพงคอนกรีตสูง 3 เมตร ที่โจทก์ก่อสร้างนอกจากจะบอกแนวเขตที่ดินโครงการจัดสรรของโจทก์แล้ว ยังมีสภาพเพื่อป้องกันทั้งบุคคลภายนอกและบุคคลที่อาศัยอยู่ในอาคารพาณิชย์จำต้องเข้าออกตามทางที่โจทก์กำหนดเพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยให้แก่บุคคลทุกคนที่อาศัยอยู่ในโครงการจัดสรรและบุคคลทั่วไปที่เข้ามาค้าขายหรือติดต่อ กำแพงคอนกรีตจึงเป็นสิ่งอำนวยประโยชน์ที่โจทก์ได้จัดให้มีขึ้นเพื่อให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรใช้ประโยชน์ร่วมกัน จึงเป็นสาธารณูปโภคตามความหมายของ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 4 และ 43 โดยไม่จำต้องระบุไว้ในคำขออนุญาตทำการจัดสรรที่ดินเสมอไป ทั้งพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดินมิได้บังคับหรือจำกัดไว้ว่า สิ่งที่เป็นสาธารณูปโภคต้องเป็นสิ่งระบุไว้ในคำขออนุญาตทำการจัดสรรที่ดินหรือเอกสารการอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินเท่านั้น
แม้กำแพงคอนกรีตในส่วนที่อยู่ในโฉนดที่ดินของจำเลยย่อมเป็นส่วนควบของที่ดินจำเลย แต่อย่างไรก็ตามเหตุที่โจทก์สร้างกำแพงคอนกรีตลงในที่ดินจัดสรรส่วนที่คาดหมายว่าเป็นส่วนที่จะต้องแบ่งแยกเป็นแปลงย่อยเพื่อปลูกสร้างอาคารพาณิชย์จัดสรรขายแก่ผู้ซื้อทั่วไปอันมีผลทำให้กำแพงคอนกรีตที่สร้างไว้ต้องกระจายไปอยู่บนที่ดินที่แบ่งแยกและแบ่งขายแก่ผู้ซื้อทุกแปลง ก็เพราะโจทก์ไม่อาจแบ่งแยกที่ดินเฉพาะส่วนที่มีกำแพงคอนกรีตปลูกสร้างอยู่นั้นออกเป็นที่ดินแปลงย่อย เนื่องจากเป็นการแบ่งแยกที่ดินออกเป็นแนวตะเข็บหรือมีเศษเป็นเสี้ยว เป็นการต้องห้ามตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2535 ข้อ 15 ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ออกตามความในข้อ 7 (1) และข้อ 9 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะโจทก์ดำเนินการจัดสรรที่ดินและก่อสร้างกำแพงคอนกรีตในปี 2540 โดยที่กำแพงคอนกรีตนี้มีสภาพเป็นสาธารณูปโภคดังที่วินิจฉัยไว้ข้างต้นที่จะต้องตกติดไปกับที่ดินจัดสรรตลอดไป การที่จำเลยทุบทำลายกำแพงคอนกรีตดังกล่าว ถือว่าเป็นการทำให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกแก่เจ้าของที่ดินแปลงอื่นในโครงการจัดสรรของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของสามยทรัพย์ โจทก์ในฐานะเจ้าของรวมและในฐานะผู้มีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดินในการบำรุงรักษากำแพงคอนกรีตแทนเจ้าของสามยทรัพย์ทั้งปวง ย่อมมีอำนาจฟ้องได้
โจทก์ในฐานะผู้จัดสรรที่ดินซึ่งมีหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณูปโภคให้คงสภาพดังเช่นเดิม ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 43 วรรคหนึ่ง และในฐานะเจ้าของที่ดินแปลงอื่นซึ่งเป็นสามยทรัพย์ฟ้องจำเลยให้ก่อสร้างกำแพงคอนกรีตให้คืนสภาพเดิม ไม่ได้ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากการถูกทำละเมิด จึงไม่จำต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันรู้ถึงการทำละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
แม้การทุบทำลายกำแพงคอนกรีตซึ่งเป็นสาธารณูปโภค จะเป็นการทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเกี่ยวกับทรัพยสิทธิ ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 แต่โจทก์ก็ยังมีสิทธิขอบังคับให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของภารยทรัพย์กระทำการอย่างใดที่ทำให้ประโยชน์หรือความสะดวกแห่งภารยทรัพย์กลับคืนมา โจทก์จึงขอบังคับให้จำเลยซ่อมหรือสร้างกำแพงคอนกรีตให้กลับคืนสภาพเดิมได้และหากจำเลยไม่ได้ดำเนินการ ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาหรือมีคำสั่งให้โจทก์ว่าจ้างบุคคลภายนอกซ่อมหรือสร้างกำแพงคอนกรีตแทน โดยให้จำเลยเสียค่าใช้จ่ายได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3988/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเลิกกันโดยปริยายเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ผู้รับโอนไม่มีสิทธิเรียกร้องต่อลูกหนี้
คดีนี้ โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าว่าจ้างตามใบแจ้งหนี้ที่จำเลยที่ 1 มีต่อจำเลยที่ 5 แก่โจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องระบุว่า จำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์เป็นผู้เรียกเก็บหนี้จากลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 คือจำเลยที่ 5 หากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ผู้รับโอนภายในกำหนด สัญญานี้เป็นอันยกเลิกโดยปริยายทันที เมื่อปรากฏว่าถึงกำหนดชำระงานที่จำเลยที่ 1 ทำให้แก่จำเลยที่ 5 ชำรุดบกพร่อง ต้องแก้ไขความชำรุดบกพร่อง จำเลยที่ 5 จึงไม่ได้ชำระเงินในวันที่ครบกำหนดตามใบวางบิล จึงถือว่าสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงถูกยกเลิกไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะบังคับตามสิทธิเรียกร้องแก่จำเลยที่ 5 และเมื่อภายหลังจำเลยที่ 1 แก้ไขความชำรุดบกพร่องของงานแล้ว จำเลยที่ 5 ชำระเงินแก่จำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ ทั้งการที่สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเลิกกันโดยปริยายดังกล่าว มิได้เกิดจากการผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3958/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การผิดสัญญาจ้างและละเมิดจากการไม่ฟ้องล้มละลาย, อายุความคดีล้มละลาย, และความรับผิดของผู้ค้ำประกัน
การที่โจทก์มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ฟ้องคดีล้มละลาย บ. แต่จำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการ กลับรายงานเท็จต่อโจทก์ ทำให้โจทก์หลงเชื่อว่ามีการฟ้องคดีล้มละลาย บ. แล้ว เป็นการกระทำผิดสัญญาจ้างและละเมิดต่อโจทก์ หากจำเลยที่ 1 ดำเนินการฟ้อง บ. ภายในอายุความ แม้ปรากฏว่า บ. ไม่มีทรัพย์สินใดให้บังคับคดีในคดีแพ่งก็ตาม แต่ในคดีล้มละลายมีกระบวนการพิจารณาแตกต่างไปจากการบังคับคดีแพ่งทั่วไป เพราะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจหน้าที่ในการที่จะไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยให้ลูกหนี้แสดงรายการหรือรายละเอียดของทรัพย์สินที่มีอยู่รวมทั้งสิทธิต่างๆ ในการที่จะได้มาซึ่งเงินและทรัพย์สินจากบุคคลภายนอกรวมทั้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สามารถใช้สิทธิในการตรวจสอบสินทรัพย์ของ บ. ได้ จึงอาจทำให้โจทก์มีโอกาสที่จะได้รับชำระหนี้ การที่จำเลยที่ 1 ไม่ฟ้องคดีล้มละลาย บ. จึงเป็นผลโดยตรงที่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
ศาลแขวงเชียงใหม่พิพากษาให้ บ. ใช้เงินแก่โจทก์เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2543 การนำมูลหนี้ตามคำพิพากษามาฟ้องขอให้ บ. เป็นบุคคลล้มละลาย อันเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องอันตั้งหลักฐานขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 นับแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2543 อันเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตามมาตรา 193/12 แต่โจทก์กลับปล่อยระยะเวลาไว้นาน จึงมีมติให้ฟ้องคดีล้มละลายเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2553 ซึ่งเหลือเวลาอีกประมาณ 2 เดือนเศษ คดีจะขาดอายุความ ย่อมถือว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วย ดังนั้นหนี้อันต้องใช้สินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้น ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญคือความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงใด ดังที่บัญญัติไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 223 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 442
จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวด้วย แต่ทั้งนี้ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10 และประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551 ส่วนจำเลยที่ 3 เข้าทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหรือกระทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนเข้าทำสัญญาค้ำประกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2908/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศูนย์การค้ามีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยรถลูกค้า การฟ้องละเมิดและการแบ่งความรับผิดชอบของบริษัทรักษาความปลอดภัย
จ. ผู้เอาประกันภัย เช่าซื้อรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้มาจากธนาคาร ธ. หากรถยนต์สูญหายไปโจทก์จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ธนาคาร ธ. เจ้าของกรรมสิทธิ์และเป็นผู้รับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย ส่วนเหตุที่กรมธรรม์ประกันภัยไม่ได้ระบุชื่อผู้รับผลประโยชน์ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายรับประกันภัยของโจทก์หลงลืมระบุชื่อผู้รับผลประโยชน์ และยังคงยืนยันว่าผู้รับผลประโยชน์คือธนาคาร ธ. ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์กับ จ. มีข้อโต้แย้งกันในเรื่องที่โจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ธนาคาร ธ. จึงฟังได้ว่า จ. ยินยอมให้โจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ธนาคาร ธ. โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาฟ้องเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจประเภทศูนย์การค้าโดยแบ่งพื้นที่ภายในศูนย์การค้าให้บุคคลอื่นเช่าเพื่อทำการค้า และจัดให้มีพื้นที่จอดรถเพื่อความสะดวกของผู้เช่าพื้นที่และลูกค้าที่มาใช้บริการ แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้เป็นผู้จำหน่ายสินค้าหรือให้บริการต่างๆ ให้แก่ลูกค้าที่เข้ามาซื้อสินค้าหรือใช้บริการภายในศูนย์การค้าของจำเลยที่ 1 โดยตรง แต่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ประกอบกิจการเช่นว่าย่อมต้องให้ความสำคัญในด้านบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาคารและการใช้สถานที่ศูนย์การค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการในเรื่องของที่จอดรถซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญข้อหนึ่งในการตัดสินใจของลูกค้าว่าจะเข้าไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการต่างๆภายในศูนย์การค้าของจำเลยที่ 1 ซึ่งปัจจัยข้อนี้มีผลโดยตรงต่อจำนวนลูกค้าที่จะเข้ามาซื้อสินค้าหรือใช้บริการภายในศูนย์การค้าของจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้แจกบัตรจอดรถ ไม่เรียกเก็บค่าบริการจอดรถ บุคคลทั่วไปที่ไม่ได้ซื้อสินค้าหรือใช้บริการภายในศูนย์การค้าของจำเลยที่ 1 ก็สามารถนำรถเข้าจอดได้ ไม่ต้องฝากกุญแจรถไว้กับพนักงานของจำเลยที่ 1 หรือพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 แต่เมื่อที่จอดรถเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการประกอบกิจการศูนย์การค้าของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของอาคารสถานที่เป็นผู้ประกอบกิจการศูนย์การค้าขนาดใหญ่จึงต้องคำนึงถึงและมีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยรถของลูกค้าที่มาซื้อสินค้าหรือใช้บริการตามสมควร มิใช่ปล่อยให้ลูกค้าผู้มาใช้บริการต้องเป็นฝ่ายระมัดระวังหรือเสี่ยงภัยเอาเองในระหว่างที่ซื้อสินค้าหรือใช้บริการต่างๆ ภายในศูนย์การค้าของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ดูแลรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 แต่ไม่ได้ว่าจ้างให้ดูแลรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินของผู้เช่าพื้นที่และลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการภายในศูนย์การค้า บริเวณทางเข้าและทางออกลานจอดรถไม่มีการมอบและคืนบัตรจอดรถ ไม่มีพนักงานรักษาความปลอดภัยประจำอยู่ คงมีแต่เพียงกล้องวงจรปิดติดตั้งไว้เพื่อบันทึกภาพรถเข้าและออก ซึ่งเห็นได้ว่าไม่สามารถป้องกัน ระงับ หรือยับยั้งการโจรกรรมรถยนต์ได้ เช่นนี้จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ปล่อยปละละเลย งดเว้น ไม่สอดส่อง ตรวจตรา ดูแลรักษาความปลอดภัยบริเวณลานจอดรถตามหน้าที่ตามสมควร เป็นเหตุให้รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ซึ่งจอดอยู่ในลานจอดรถศูนย์การค้าของจำเลยที่ 1 สูญหายไป อันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้เอาประกันภัย
สำหรับจำเลยที่ 2 ได้ความตามสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัย ข้อ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ทำการรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ณ อาคารศูนย์การค้า ซ. แต่สัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยและเอกสารแนบท้ายหาได้ระบุให้พนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ต้องดูแลรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินตลอดจนรถยนต์ของลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการภายในศูนย์การค้าของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใดไม่ แม้ลักษณะการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 จะทำให้เข้าใจได้ว่ามีการดูแลรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินรวมถึงรถยนต์ของลูกค้าด้วย แต่ความเข้าใจของลูกค้าหรือผู้มาใช้บริการเช่นว่าไม่มีผลเป็นการก่อให้เกิดหน้าที่แก่จำเลยที่ 2 เกินไปกว่าที่ระบุไว้ในสัญญา จึงยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาว่าจ้างดูแลรักษาความปลอดภัยโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยสูญหายไป จำเลยที่ 2 จึงหาจำต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2581/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดจากการประมาทเลินเล่อของตัวการและตัวแทนในการขายทอดตลาด การร่วมรับผิดในค่าเสียหาย
จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 4 ให้ดำเนินการชั้นบังคับคดียึดทรัพย์สินของโจทก์ออกขายทอดตลาด และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำหนังสือถึงโจทก์ขอให้ชำระหนี้ โดยจำเลยที่ 4 มิได้โต้แย้งคัดค้านหรือนำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเท็จจริงยังปรากฏจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ว่า ก่อนวันนัดขายทอดตลาดนัดแรก จำเลยที่ 1 รับแจ้งว่า พ. บุตรของโจทก์ประสงค์จะชำระหนี้ของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 4 และมีการให้โจทก์ทำหนังสือขอให้พิจารณาอนุมัติคำขอประนอมหนี้ ให้โจทก์ลงลายมือชื่อ เพื่อนำเสนอต่อผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 4 พิจารณาเห็นสมควรที่จะอนุมัติตามคำขอของโจทก์หรือไม่ พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นข้อบ่งชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 4 ว่า จำเลยที่ 4 เชิดจำเลยที่ 1 ออกแสดงเป็นตัวแทนของตนหรือจำเลยที่ 4 รู้แล้วยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 4 ในการมีนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 821 จำเลยที่ 4 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้เป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของตน
เมื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 4 ได้รับหนังสือขอประนอมหนี้ของโจทก์ และให้โจทก์ผ่อนชำระหนี้ตามคำขอประนอมหนี้แก่จำเลยที่ 4 เรื่อยมา แต่มิได้มีการส่งคำขอประนอมหนี้ของโจทก์แก่จำเลยที่ 4 เพื่อพิจารณา และไม่ได้ดำเนินการให้มีการงดการขายทอดตลาดตามที่ได้มีการขอประนอมหนี้ เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ จนเกิดความเสียหายแก่โจทก์ ย่อมเป็นการประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 4 ที่ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สิน อันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 4 ในฐานะตัวการต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดแก่โจทก์ในผลแห่งละเมิด ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 1 และที่ 4 จึงต้องร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้นแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2416/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดร่วมกันของจำเลยในคดีละเมิด และการหักเงินค่าสินไหมทดแทนที่ชำระแล้ว
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176 บัญญัติถึงผลการถอนฟ้องว่า โจทก์อาจนำฟ้องมายื่นใหม่ได้ แสดงว่าการถอนฟ้องไม่ได้ทำให้หนี้ระงับ จึงไม่ใช่การปลดหนี้ อันเป็นเรื่องความระงับแห่งหนี้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างคนต่างทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์สามารถแยกออกจากกันได้ซึ่งต่างคนต่างต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสมควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดที่ตนกระทำ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าความเสียหายตามฟ้องเกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 เท่านั้น มิได้เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 การที่โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 1 จึงไม่ทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 หลุดพ้นจากความรับผิดต่อโจทก์
สำหรับจำเลยที่ 3 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 ต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 2 ลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้าง ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความวินาศภัยตามเงื่อนไขที่กำหนดในกรมธรรม์ประกันภัย ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ที่มีต่อโจทก์ จึงเป็นความรับผิดในหนี้จำนวนเดียวกันอันจะแบ่งกันชำระมิได้ ต้องร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 301 จำเลยที่ 4 ชำระเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ตามวงเงินในกรมธรรม์ประกันภัยแล้วส่วนหนึ่ง จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงได้รับประโยชน์ในส่วนนี้ ไม่ต้องรับผิด ในค่าเสียหายส่วนที่โจทก์ได้รับจากจำเลยที่ 4 ไปแล้วอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1808/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปกปิดข้อเท็จจริงในการซื้อขายที่ดินและการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค
การที่จำเลยใช้กลฉ้อฉลในการทำสัญญาด้วยการปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกเวนคืน เป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคทั้งสองซึ่งประสงค์จะซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัย โดยการไม่ได้ให้คำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าที่จำเลยขายแก่ผู้บริโภคทั้งสอง อันเป็นการโฆษณาที่ใช้ข้อความไม่เป็นธรรมโดยก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้า และตัดโอกาสของผู้บริโภคที่จะใช้ข้อมูลดังกล่าวตัดสินใจที่จะเข้าทำสัญญากับจำเลย ดังนั้นผู้บริโภคทั้งสองจึงไม่ได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญาซื้อขายอันเป็นโมฆียะนี้ เป็นกรณีจำเลยละเมิดสิทธิของผู้บริโภคทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ที่มีมาตรา 4 ประกอบมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 รับรองไว้
จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าติดตั้งโทรศัพท์ ค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์ ค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้าและน้ำประปา ค่าธรรมเนียมสัญญาจำนอง อากรสัญญากู้และนิติกรรม และค่าประกันอัคคีภัย ซึ่งเป็นค่าเสียหายโดยตรงที่เกี่ยวเนื่องกับการที่จำเลยใช้กลฉ้อฉลในการปกปิดข้อเท็จจริง ซึ่งผู้บริโภคทั้งสองซื้อบ้านเพื่อการอยู่อาศัย สำหรับส่วนต่างราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การที่จำเลยใช้กลฉ้อฉลในการทำสัญญาโดยปกปิดข้อเท็จจริง โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยได้และศาลมีอำนาจคิดคำนวณให้ได้ตามพฤติการณ์แห่งคดี
of 481