คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 575

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,490 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13163/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นิติสัมพันธ์สัญญาจ้างแรงงาน: การพิสูจน์ความสัมพันธ์ภายใต้การบังคับบัญชาและระเบียบข้อบังคับของนายจ้าง
นิติสัมพันธ์ที่จะเป็นสัญญาจ้างแรงงานนั้นเป็นไปตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 575 และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 คือ นายจ้างว่าจ้างอีกฝ่ายหนึ่งเป็นลูกจ้างเพื่อทำการงานให้ นายจ้างมีอำนาจบังคับบัญชาให้ลูกจ้างต้องปฏิบัติตามคำสั่งและระเบียบข้อบังคับในการทำงาน เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์มีความรับผิดชอบในหน้าที่การงานอะไรเป็นกิจจะลักษณะ ไม่ต้องเข้าทำงานทุกวัน ย่อมแสดงว่าโจทก์มิได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้บริหารของบริษัทจำเลย นอกจาก อ. ซึ่งเป็นบิดาโจทก์เท่านั้น โจทก์จึงไม่มีนิติสัมพันธ์เป็นลูกจ้างของจำเลย เพราะไม่ได้ทำงานให้จำเลยและไม่ได้อยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและการบังคับบัญชาตามสายงานปกติของจำเลย การที่โจทก์เข้ามาทำงานในบริษัทจำเลยก็เพื่อช่วยเหลืองานของบิดาเท่านั้นย่อมเป็นความสัมพันธ์ส่วนบุคคล และไม่ถือว่า อ. จ้างโจทก์แทนจำเลยโดยชอบ จึงไม่ผูกพันจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลแยกต่างหาก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12429/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิลูกจ้างได้รับค่าจ้างและเงินทดรองจ่าย แม้ลาออกและไม่ส่งมอบข้อมูล นายจ้างไม่มีสิทธิยึดหน่วง
ค่าจ้างและเงินทดรองจ่ายที่จำเลยค้างจ่ายแก่โจทก์เป็นเพียงหนี้ที่นายจ้างจะต้องจ่ายแก่ลูกจ้าง ไม่ใช่ทรัพย์สินของลูกจ้างที่นายจ้างครองอยู่ ทั้งค่าจ้างและเงินทดรองจ่ายกับข้ออ้างเรื่องความเสียหายจากการที่โจทก์ไม่ส่งมอบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์กับเอกสารการทำงานของสถานที่ก่อสร้าง 13 แห่ง เมื่อโจทก์ลาออกจากงานนั้นไม่เกี่ยวข้องกัน ค่าจ้างและเงินทดรองจ่ายดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินของโจทก์ที่จำเลยครองอยู่โดยมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่จำเลยเกี่ยวด้วยทรัพย์สินนั้น ดังนั้นจำเลยไม่มีสิทธิยึดหน่วงค่าจ้างและเงินทดรองจ่ายตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างและเงินทดรองจ่ายแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11269/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีแรงงาน: สัญญาจ้าง, การผ่อนชำระหนี้, และการย้อนสำนวนเพื่อพิจารณาความรับผิด
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแรงงานกลางเป็นคดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน หาใช่เป็นคดีละเมิดอย่างเดียวไม่ เพราะโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างลูกจ้างมีข้อผูกพันตามสัญญาจ้างแรงงานต่อกัน นอกจากจำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว ยังฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วย และตามหนังสือรับรองและค้ำประกัน ข้อ 2 ก็ระบุว่า "หากปรากฏว่าระหว่างที่จำเลยที่ 1 ทำงานได้ทำความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดให้แก่โจทก์ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นโดยเจตนาหรือประมาท จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดในความเสียหายนั้นๆ และยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามจำนวนที่เสียหายไปนั้นทั้งสิ้น รวมทั้งความเสียหายทั้งปวง ซึ่งโจทก์ต้องรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 ด้วย โดยไม่จำกัดวงเงิน และให้ถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นลูกหนี้ร่วม..." ข้อผูกพันของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์จึงหมายถึงจำเลยที่ 2 ค้ำประกันความรับผิดของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจ้างแรงงานด้วย สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มูลละเมิดระหว่างจำเลยที่ 1 และโจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงานเกิดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2544 จำเลยที่ 1 ได้ผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์เดือนละ 1,350 บาท ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2546 ถึงวันที่ 15 กันยายน 2548 อันเป็นการผ่อนชำระหนี้ขณะยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 10 ปี จึงมีผลทำให้อายุความในส่วนนี้สะดุดหยุดลงและเริ่มนับใหม่ถัดจากวันผ่อนชำระหนี้โจทก์ครั้งสุดท้ายคือเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2548 ทั้งการที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดวันที่ 6 กันยายน 2550 ยังไม่พ้น 10 ปี นับจากวันที่ 17 ธันวาคม 2544 คดีโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสองจึงไม่ขาดอายุความ
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 เป็นฟ้องเคลือบคลุมนั้น โจทก์มิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การแก้ฟ้องแย้ง และมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1306/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของลูกจ้างต่อจำเลยจากทุจริตจัดซื้อและประมาทเลินเล่อ ลดหักจากค่าชดใช้ที่จำเลยได้รับจากคู่สัญญา
คดีนี้จำเลยฟ้องแย้งให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายฐานละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงานในฐานมูลละเมิดอันเกิดแต่นายจ้างกับลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน ส่วนคดีหมายเลขแดงที่ 2093/2558 ของศาลจังหวัดอุบลราชธานี จำเลยได้เป็นโจทก์ฟ้อง บ. และ ก. ในมูลเหตุเรื่องผิดสัญญาซื้อขายปุ๋ย ในคดีดังกล่าวแม้จะเป็นมูลมาจากเรื่องซื้อขายปุ๋ยพิพาทเดียวกันกับคดีนี้ แต่เป็นการกำหนดค่าเสียหายให้ผู้ถูกฟ้องในแต่ละคดีต้องรับผิด จึงไม่ขัดต่อกฎหมาย แต่อย่างไรก็ดีการที่ศาลจังหวัดอุบลราชธานีมีคำพิพากษาให้ บ. และ ก. รับผิดต่อจำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวเนื่องจากผิดสัญญาซื้อขายปุ๋ยโดยให้คืนเงินค่าซื้อปุ๋ยเป็นเงินจำนวน 3,147,950 บาท แก่จำเลยนั้น ก็เป็นมูลกรณีสืบเนื่องมาจากการที่โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยเป็นเหตุให้เสียหายแก่จำเลยอย่างร้ายแรงและประมาทเลินเล่อในหน้าที่เป็นเหตุให้เสียหายแก่จำเลยอย่างร้ายแรง อันเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานและละเมิดต่อจำเลย ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยในฐานะที่โจทก์เป็นผู้จัดการของจำเลยที่เป็นผู้จัดซื้อปุ๋ยตามสัญญาซื้อขายปุ๋ยดังกล่าวเองและให้คณะกรรมการดำเนินการของจำเลยสั่งจ่ายเงินให้แก่ บ. และ ก. เป็นเงินจำนวน 5,050,000 บาท และ บ. และ ก. ส่งปุ๋ยให้จำเลยบางส่วนคิดเป็นเงิน 2,002,050 บาท คงค้างชำระเป็นเงินจำนวน 3,047,950 บาท ตามที่ศาลแรงงานภาค 3 วินิจฉัยให้โจทก์รับผิดต่อจำเลยเป็นค่าเสียหายส่วนหนึ่งตามฟ้องแย้งในคดีนี้ ดังนั้น หากจำเลยได้รับการชดใช้ค่าเสียหายในส่วนดังกล่าวจาก บ. และ ก. ตามคำพิพากษาศาลจังหวัดอุบลราชธานีดังกล่าว ก็ย่อมทำให้ความรับผิดที่โจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยตามฟ้องแย้งในคดีนี้ลดลงตามไปด้วยเพียงนั้น จึงชอบที่หากจำเลยบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 2093/2558 ของศาลจังหวัดอุบลราชธานีในส่วนที่ให้คืนเงินแก่จำเลยจำนวน 3,047,950 บาท เป็นจำนวนเท่าใด ให้นำมาหักออกจากความรับผิดชำระหนี้ของโจทก์คดีนี้ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18574-18577/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาทางปกครองระหว่างรัฐวิสาหกิจกับเอกชน ไม่เป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือตัวแทน
สัญญาร่วมดำเนินกิจการให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัท ท. จำกัด เป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์แห่งสัญญาเป็นการให้เอกชนเข้าร่วมใช้ความถี่สื่อสาร โดยในขณะทำสัญญาจำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2520 มีวัตถุประสงค์หลักในการประกอบกิจการสื่อสารมวลชน ใช้กิจการสื่อสารมวลชนเป็นสื่อในการเผยแพร่ความรู้ สร้างความเข้าใจเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากร ส่งเสริมคุณภาพและจริยธรรมของคนในชาติและรักษาความมั่นคงของรัฐ ส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนมีโอกาสในการรับรู้ข่าวที่ถูกต้องและรวดเร็ว ตลอดจนสาระความรู้และสาระบันเทิงที่มีประโยชน์ จึงเป็นการให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมและปัจเจกชนอันเป็นบริการสาธารณะ การให้บริษัท ท. จำกัด ดำเนินการจึงต้องอยู่ในวัตถุประสงค์ดังกล่าวด้วย และสัญญายังเป็นการมอบหมายให้บริษัท ท. จำกัด ซึ่งเป็นเอกชนดำเนินการรับผิดชอบและเสี่ยงภัยในกิจการนั้นตลอดระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาโดยได้รับค่าตอบแทนจากผู้รับบริการซึ่งเป็นสมาชิกที่รับบริการปลายทางในรูปแบบของการสัมปทานเพื่อจัดการบริการสาธารณะในลักษณะเดียวกันกับการให้สัมปทานตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 มกราคม 2515 อันเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้น และให้อำนาจหน่วยงานของรัฐที่จะต้องเห็นชอบหรืออนุญาตให้กระทำการใดหรือไม่ให้กระทำการใด รวมทั้งมีอำนาจควบคุมการดำเนินงานและบอกเลิกสัญญาได้ฝ่ายเดียวตามสัญญาดังกล่าวในข้อ 7 อันเป็นข้อกำหนดในสัญญาที่มีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิของหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้การดำเนินงานดังกล่าวอันเป็นบริการสาธารณะบรรลุผล อีกทั้งเมื่อหมดเวลาตามที่กำหนดในสัญญาแล้วบริษัท ท. จำกัด ยังต้องส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมดคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ตามสัญญาในข้อ 8 ความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัท ท. จำกัด ตามสัญญาร่วมดำเนินกิจการให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิก จึงมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง มิใช่การตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันในลักษณะแห่งความเสมอภาคของคู่สัญญาในการก่อให้เกิดสัญญา การปฏิบัติตามสัญญา การแก้ไขและการเลิกสัญญาในลักษณะของคู่สัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วน
ข้อสัญญาที่กำหนดให้บริษัท ท. จำกัด ต้องจ่ายค่าตอบแทนในการเข้าร่วมดำเนินกิจการตามสัญญาให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงินร้อยละ 6.5 ของรายได้ทั้งหมดแต่ละปีก่อนหักค่าใช้จ่ายใด ๆ ตลอดอายุสัญญา หากชำระล่าช้าจะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ทั้งต้องนำหลักประกันจำนวน 5,000,000 บาท มอบให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา เป็นการกำหนดค่าตอบแทนจากการที่ร่วมดำเนินกิจการตามสัญญาเท่านั้น ไม่ว่าการดำเนินกิจการของบริษัท ท. จำกัด จะมีกำไรหรือไม่ก็ยังต้องจ่ายค่าตอบแทนตามสัญญาดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 ข้อตกลงตามสัญญาดังกล่าวจึงมิได้เป็นการตกลงเข้ากันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น ส่วนการที่บริษัท ท. จำกัด จะต้องโอนหุ้นซึ่งชำระมูลค่าหุ้นครบถ้วนแล้วจำนวนร้อยละ 7 ของหุ้นทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้น หรือที่จะต้องให้จำเลยที่ 1 หรือผู้แทนเข้าร่วมเป็นกรรมการของบริษัท ท. จำกัด ตลอดเวลาที่จำเลยที่ 1 ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ก็เป็นเพียงการกำหนดค่าตอบแทนเพิ่มเติมนอกจากเงินร้อยละ 6.5 ของรายได้ทั้งหมดแต่ละปี และเพื่อให้มีผู้แทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐคอยควบคุมการดำเนินงานในลักษณะของความมีอำนาจเหนือกว่าคู่สัญญาฝ่ายเอกชนนั่นเอง สัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัท ท. จำกัด ตามสำเนาสัญญาร่วมดำเนินกิจการให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิก จึงมิใช่สัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนตามความสัมพันธ์ทางแพ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 เอกเทศสัญญา ลักษณะ 22 หุ้นส่วนและบริษัท
การที่จำเลยที่ 1 มอบหมายให้บริษัท ท. จำกัด จัดการบริการสาธารณะในรูปแบบของการสัมปทาน ซึ่งบริษัท ท. จำกัด จะต้องจัดทำบริการสาธารณะดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐภายในระยะเวลาที่กำหนดด้วยทุนทรัพย์และความเสี่ยงภัยของบริษัท ท. จำกัด โดยจำเลยที่ 1 ยอมให้บริษัท ท. จำกัด ใช้ความถี่สื่อสารที่ได้รับจัดสรรจากคณะกรรมการประสานงานการจัดและบริหารความถี่วิทยุแห่งชาติเพื่อดำเนินการเองในนามของจำเลยที่ 1 อันเป็นลักษณะของสัญญาทางปกครองแล้วเช่นนี้ สัญญาดังกล่าวจึงมิใช่ตัวแทนหรือตัวแทนเชิดตามความสัมพันธ์ทางแพ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 เอกเทศสัญญา ลักษณะ 15 ตัวแทน ด้วยเช่นกัน จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องร่วมรับผิดตามสัญญาจ้างแรงงานกับบริษัท ท. จำกัด ซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งสี่ตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17597-17598/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความสัมพันธ์นายจ้างลูกจ้าง: ผู้บริหารที่ได้รับมอบหมายให้บริหารบริษัทลูก ไม่ถือเป็นลูกจ้าง
แม้บริษัท พ. ซึ่งเป็นบริษัทแม่จะถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ของบริษัทจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบริษัทลูกก็ตาม แต่ก็เป็นนิติบุคคลต่างหากจากกัน การที่โจทก์ซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการรองผู้จัดการของบริษัท พ. อยู่แล้วได้รับมอบหมายจากบริษัท พ. ให้ไปปฏิบัติงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ด้วย การที่โจทก์ไปดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ย่อมมีอำนาจในการบริหารวางแผนและมีอำนาจสูงสุด จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 มิได้แต่งตั้งโจทก์ให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว โจทก์จึงมิใช่ผู้ที่ต้องทำงานภายใต้การควบคุมบังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 แม้ค่าตอบแทนในการบริหารงานที่โจทก์ได้รับจากการบริหารงานในบริษัทต่าง ๆ หลายบริษัทซึ่งรวมทั้งเงินที่ได้รับจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 อยู่ด้วย ก็เป็นเรื่องที่ผู้บริหารระดับสูงบริษัทกลุ่ม พ. กำหนดไว้ว่าจะได้รับจากบริษัทใดจำนวนเท่าใด ไม่ทำให้เข้าใจไปได้ว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 กำหนดค่าตอบแทนให้แก่โจทก์จำนวนเท่าใดได้เอง ส่วนการหักภาษีเงินได้และเงินกองทุนประกันสังคมในแต่ละบริษัทเห็นได้ว่าเป็นการคำนวณจากค่าตอบแทนที่โจทก์ได้รับจากการที่ผู้บริหารระดับสูงบริษัทกลุ่ม พ. กำหนดให้กระจายความรับผิดชอบไปให้แต่ละบริษัทที่โจทก์เข้าไปบริหารงานนั่นเอง เมื่อโจทก์มิใช่ผู้ที่ต้องทำงานภายใต้การควบคุมบังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 แต่กลับเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้ไปเป็นผู้บริหารงานและมีอำนาจสูงสุดในการบริหารบริษัทจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 เช่นนี้ โจทก์จึงมิใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17582/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเสนอแนะให้แบ่งซื้อพัสดุเกินอำนาจเพื่อหลีกเลี่ยงระเบียบ เป็นการทุจริตและผิดวินัยร้ายแรง
องค์การค้าของคุรุสภาโอนมาเป็นองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาหรือจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 โดยพนักงานยังคงได้รับเงินเดือนจากองค์การค้าของคุรุสภาไม่ได้รับจากงบประมาณแผ่นดิน เมื่อ พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 ไม่ได้บัญญัติยกเว้นการนำ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาใช้บังคับแก่กิจการของจำเลยที่ 1 ทั้ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ก็ไม่ได้บัญญัติยกเว้นไม่ให้นำมาใช้บังคับแก่หน่วยงานอื่นใดของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะ จำเลยที่ 1 จึงอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ดังนั้น จึงใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 บังคับแก่จำเลยที่ 1 ในส่วนของโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานขององค์การค้าของคุรุสภาได้
ตามระเบียบคุรุสภาว่าด้วยการบริหารองค์การค้าของคุรุสภา พ.ศ.2503 กำหนดให้การสั่งซื้อสินค้าตามใบสั่งหนึ่ง ๆ ตั้งแต่ 10 ล้านบาท ลงมา ให้ผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภาเป็นผู้อนุมัติ แต่หากเกินกว่า 10 ล้านบาท ขึ้นไปถึง 20 ล้านบาท ให้ประธานกรรมการองค์การค้าของคุรุสภาเป็นผู้อนุมัติ โจทก์ทำงานด้านจัดซื้อมา 10 ปีเศษ การที่โจทก์เสนอให้แบ่งการจัดซื้อออกเป็นงวด ๆ เพื่อให้แต่ละงวดมีวงเงินไม่เกินอำนาจของผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภา จนในที่สุดมีการอนุมัติตามที่โจทก์เสนอแนะ เป็นกรณีที่โจทก์มีเจตนาเสนอให้มีการหลีกเลี่ยงระเบียบคำสั่งเกี่ยวกับการเงิน ซึ่งเป็นระเบียบที่ใช้เพื่อป้องกันความเสียหายด้านการเงิน ทั้งการกระทำของโจทก์เปิดช่องให้มีการทุจริตในการจัดซื้อได้โดยง่ายจึงเป็นการกระทำผิดวินัยเป็นกรณีที่ร้ายแรง โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14102/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิใช้บัตรโดยสารพนักงานแม้ถูกพักงาน: สถานะพนักงานยังคงอยู่จนกว่ามีคำสั่งเลิกจ้างมีผล
ระเบียบของโจทก์ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ตอนที่ 11 การใช้บัตรโดยสารและการส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศของพนักงาน พ.ศ.2537 กำหนดว่าพนักงานหมายถึงพนักงานรายเดือนที่โจทก์ตกลงจ้างไว้เป็นประจำและได้รับเงินเดือนตามบัญชีเงินเดือนของโจทก์ โดยให้สิทธิพนักงานซื้อบัตรโดยสารได้ในอัตราพนักงาน จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน แม้โจทก์จะมีคำสั่งพักงานจำเลยที่ 1 แต่ระหว่างพักงานจำเลยที่ 1 ยังมีสถานะเป็นพนักงานของโจทก์จึงมีสิทธิใช้บัตรโดยสารที่ได้ดำเนินการออกไว้เดินทางระหว่างพักงานได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าบัตรโดยสารเต็มจำนวน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12652/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการจัดสรรหุ้นของอดีตพนักงานขึ้นอยู่กับสถานะการเลิกจ้าง หากเลิกจ้างเพราะทุจริต ย่อมไม่มีสิทธิ
ในโครงการของจำเลยที่ 1 ที่เสนอขายหลักทรัพย์ให้แก่อดีตพนักงานของจำเลยที่ 1 และบริษัทในเครือนั้น อดีตพนักงานที่จะมีสิทธิได้รับการจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นของจำเลยที่ 1 หากพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานเพราะถูกเลิกจ้างจะต้องเป็นกรณีที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด โดยในคดีก่อนที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชยและค่าเสียหาย ศาลไกล่เกลี่ยคู่ความจนคดีสามารถตกลงกันได้ซึ่งจำเลยที่ 2 จ่ายเงินให้โจทก์และโจทก์ยอมถอนฟ้อง จึงเท่ากับว่าคำสั่งเลิกจ้างของจำเลยที่ 2 ที่อ้างว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่อย่างร้ายแรงยังคงอยู่ไม่ได้ถูกเพิกถอน โจทก์จึงขาดคุณสมบัติที่จะได้รับการจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นของจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6506/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะลูกจ้าง: ศาลวินิจฉัยผิดประเด็นจากคำให้การและข้อเท็จจริงที่รับรอง ย้อนสำนวนให้วินิจฉัยใหม่
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 จ้างโจทก์เป็นพนักงาน ต่อมาจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ จำเลยที่ 1 ให้การว่าจำเลยที่ 1 จ้างโจทก์เป็นพนักงานจริง แต่มิได้เลิกจ้างหรือถอดถอนโจทก์จากการเป็นพนักงาน เห็นได้ชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าโจทก์เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ส่วนที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การว่าโจทก์มิใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 นั้น ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า "ให้รอไว้สอบโจทก์ในวันนัด" แต่หลังจากนั้นจนถึงวันที่ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษา ศาลแรงงานกลางมิได้สั่งคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด กรณีถือไม่ได้ว่าศาลแรงงานกลางอนุญาตให้แก้ไขคำให้การตามคำร้องดังกล่าว ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นแห่งคดี
of 249