พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,490 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4970/2552
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความสัมพันธ์นายจ้างลูกจ้าง แม้มีการมอบหมายงานให้บริษัทอื่น แต่จำเลยยังคงมีอำนาจบังคับบัญชาและจ่ายค่าจ้าง
จำเลยมีวัตถุประสงค์หลักคือประกอบกิจการออกแบบและเป็นที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างท่อก๊าซ จำเลยรับจ้างเป็นวิศวกรที่ปรึกษาออกแบบในโครงการท่อส่งก๊าซให้บริษัท ว. จำเลยจ้างโจทก์เป็นวิศวกรและส่งโจทก์ไปทำงานในโครงการดังกล่าวของบริษัท ว. จำเลยเป็นผู้จ่ายค่าตอบแทนในการทำงานที่โจทก์ไปทำงานที่บริษัท ว. ให้โจทก์ตลอดมา อันเป็นการจ่ายค่าตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติของโจทก์จึงเป็นค่าจ้าง การที่โจทก์ต้องปฏิบัติตามคำสั่งและการบังคับบัญชาของบริษัท ว. นั้น เป็นกรณีที่จำเลยมอบอำนาจบังคับบัญชาบางส่วนของตนไปให้บริษัท ว. ใช้แทนจำเลยในระหว่างที่โจทก์ไปปฏิบัติงานตามคำสั่งของจำเลยเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงไปตามสัญญาจ้างระหว่างจำเลยกับบริษัท ว. เมื่องานออกแบบเสร็จสิ้นลง บริษัท ว. มีหนังสือถึงจำเลยแจ้งว่าการปฏิบัติงานของโจทก์สิ้นสุดลง เป็นกรณีที่บริษัท ว. แจ้งส่งตัวโจทก์คืนให้จำเลย แสดงว่าอำนาจในการเลิกจ้างโจทก์ยังคงอยู่ที่จำเลย หาได้ทำให้จำเลยไม่มีอำนาจบังคับบัญชาโจทก์แต่อย่างใดไม่ โจทก์จึงเป็นลูกจ้างของจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4970/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความสัมพันธ์นายจ้างลูกจ้าง แม้มีการมอบหมายงานให้บริษัทอื่น แต่ยังคงเป็นลูกจ้างเดิม
จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งวิศวกรซึ่งเป็นงานที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์หลักของจำเลยคือประกอบกิจการออกแบบและเป็นที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างท่อก๊าซโดยจำเลยรับจ้างเป็นวิศวกรที่ปรึกษาออกแบบในโครงการท่อส่งก๊าซมาบตาพุด ให้บริษัท ว. จำเลยส่งโจทก์ไปทำงานในโครงการดังกล่าว โจทก์ไปทำงานที่บริษัท ว. ก็ด้วยคำสั่งของจำเลยและทำงานในโครงการที่จำเลยรับจ้างจากบริษัท ว. นั่นเอง เมื่องานออกแบบเสร็จสิ้นลงบริษัท ว. จึงมีหนังสือถึงจำเลยแจ้งว่าการปฏิบัติงานของโจทก์สิ้นสุดลงในวันที่ 31 สิงหาคม 2548 เป็นกรณีที่บริษัท ว. แจ้งส่งตัวโจทก์คืนให้จำเลยเมื่อการปฏิบัติงานสิ้นสุดลง ไม่ใช่บริษัท ว. บอกเลิกจ้างโจทก์ แสดงว่า อำนาจในการเลิกจ้างโจทก์ยังคงอยู่ที่จำเลย อีกทั้งจำเลยเป็นผู้จ่ายค่าตอบแทนในการที่โจทก์ไปทำงานที่บริษัท ว. ตามคำสั่งของจำเลยให้โจทก์ตลอดมา ค่าตอบแทนนั้นเป็นการจ่ายตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติของโจทก์จึงเป็นค่าจ้าง การที่โจทก์ต้องปฏิบัติตามคำสั่งและการบังคับบัญชาของบริษัท ว. เป็นกรณีที่จำเลยมอบอำนาจบังคับบัญชาบางส่วนของตนไปให้บริษัท ว. ใช้แทนในระหว่างที่โจทก์ไปปฏิบัติงานตามคำสั่งของจำเลยเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงไปตามสัญญาจ้างระหว่างจำเลยกับบริษัท ว. โจทก์จึงเป็นลูกจ้างของจำเลย แม้จำเลยยื่นแบบรายการหักภาษี ณ ที่จ่ายของโจทก์ในฐานะผู้มีรายได้อิสระก็ไม่ทำให้นิติสัมพันธ์ความเป็นลูกจ้างนายจ้างระหว่างโจทก์จำเลยเปลี่ยนแปลงไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7699/2551
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาจ้างแรงงาน vs. สัญญาจ้างทำของ: การพิจารณาจากลักษณะการควบคุมการทำงานและค่าตอบแทน
โจทก์มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้ จ. ปฏิบัติตาม มีวันเวลาทำงานวันใด วันหยุดวันใด หากไม่อาจมาทำงานได้จะต้องปฏิบัติอย่างไร หากไม่ปฏิบัติตามนั้นจะมีผลอย่างไร ซึ่งเป็นการใช้อำนาจบังคับบัญชาในการปฏิบัติงานของ จ. โดยแท้ หาใช่ จ. ทำงานได้โดยอิสระเพียงเพื่อให้ได้ผลสำเร็จของงานเท่านั้นไม่ และในสัญญาดังกล่าวกำหนดให้โจทก์จ่ายค่าบริการแก่ จ. เป็นรายเดือนตอบแทนการทำงานตลอดระยะเวลาที่ จ. ทำงานให้โจทก์ โดยกำหนดค่าล่วงเวลา ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ค่าทำงานในวันหยุด หาใช่โจทก์จ่ายสินจ้างให้ จ. เพื่อผลสำเร็จแห่งการงานที่ทำอันจะเป็นสัญญาจ้างทำของไม่ นอกจากนี้ ในหัวข้อสุดท้ายของสัญญาดังกล่าวที่เป็นหมายเหตุยังกำหนดว่านอกเหนือจากหน้าที่ขับรถตามสัญญาแล้ว ยังมีกรณีที่ จ. ต้องทำงานอื่นตามที่โจทก์มอบหมายอีกด้วย จะเห็นได้ว่าค่าตอบแทนในการทำงานจึงมิใช่เพียงเพื่อผลสำเร็จของการงานที่ทำคือขับรถเท่านั้น แต่เป็นค่าจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ไม่ว่าเป็นงานหน้าที่ใดโดยกำหนดจ่ายเป็นรายเดือน ดังนั้น สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับ จ. จึงมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงานมิใช่สัญญาจ้างทำของดังที่โจทก์อุทธรณ์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8785/2550
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สถานะลูกจ้าง: ผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัท ไม่ใช่ลูกจ้าง แม้ได้รับเงินเดือน
โจทก์เป็นหนึ่งในผู้เริ่มก่อการตั้งบริษัทจำเลยและเป็นผู้ถือหุ้นมาตั้งแต่เริ่มบริษัทจำนวน 16,000 หุ้น เป็นอันดับสามจากผู้ถือหุ้น 8 คน แต่ในปี 2544 ถือหุ้นจำนวน 40,000 หุ้น เป็นอันดับหนึ่ง และเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมและประทับตราสำคัญของบริษัทตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2536 ซึ่งเป็นวันเริ่มตั้งบริษัทจนถึงวันที่ 22 มกราคม 2546 ต่อมาวันที่ 16 มกราคม 2546 โจทก์ได้โอนหุ้นทั้งหมดให้แก่ ป. และ ก. โจทก์เป็นกรรมการผู้จัดการตั้งแต่เริ่มตั้งบริษัทจนถึงเดือนมกราคม 2546 การบริหารงานของโจทก์ไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับเกี่ยวกับการทำงาน จะมาทำงานในเวลาใดก็ได้ไม่ต้องบันทึกเวลาทำงาน โจทก์จึงมิใช่พนักงานที่ต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย การที่โจทก์ได้รับเงินเดือนจากจำเลยจึงมิใช่ได้รับในฐานะเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของจำเลย ส่วนการที่โจทก์บริหารงานภายใต้ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นนั้นก็เป็นเพียงวิธีการครอบงำบริษัทจำกัดดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1144 เท่านั้น หาได้อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของจำเลยอันมีลักษณะสำคัญประการหนึ่งของสัญญาจ้างแรงงานตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 ไม่ ดังนั้น โจทก์จึงมิใช่ลูกจ้างของจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7096/2550
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากผลงานไม่เป็นไปตามมาตรฐาน โดยไม่ต้องตักเตือนก่อน หากเป็นกรณีความสามารถในการปฏิบัติงาน
ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ระบุให้สิทธินายจ้างที่จะเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุขาดสมรรถภาพไว้ว่า "ในกรณีที่พนักงานไม่สามารถจะปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานของบริษัทโดยที่บริษัทได้ให้การอบรมหรือฝึกสอนแล้วก็ตาม หรือจากการขาดงานบ่อย ๆ หรือจากการขาดความรับผิดชอบ ไม่สนใจงาน หรือได้รับการประเมินต่ำจากผู้บังคับบัญชาหลายครั้ง และบริษัทได้ตักเตือนเป็นหนังสือหรือลงโทษอย่างอื่นมาแล้ว" สิทธิของนายจ้างที่จะเลิกจ้างดังกล่าวแยกได้เป็น 2 กรณี กล่าวคือ กรณีลูกจ้างไม่สามารถปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานของนายจ้างกรณีหนึ่ง และกรณีที่ลูกจ้างขาดงานบ่อย ๆ หรือขาดความรับผิดชอบ ไม่สนใจงาน หรือได้รับการประเมินต่ำจากผู้บังคับบัญชา โดยกรณีแรกนายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างได้ก็โดยนายจ้างให้การอบรมหรือฝึกสอนแล้วลูกจ้างก็ยังไม่สามารถปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานของนายจ้างได้ ซึ่งเป็นกรณีความสามารถของลูกจ้างที่ไม่อาจปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานของนายจ้างได้ ส่วนในกรณีหลังซึ่งเป็นกรณีที่ลูกจ้างขาดงานบ่อย ๆ หรือขาดความรับผิดชอบ ไม่สนใจงาน หรือได้รับการประเมินต่ำจากผู้บังคับบัญชาหลายครั้ง ซึ่งเห็นได้ว่า เป็นกรณีเกี่ยวกับความประพฤติของลูกจ้างซึ่งสามารถปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นได้ ในกรณีหลังนี้นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างได้ก็ต่อเมื่อนายจ้างเคยตักเตือนเป็นหนังสือหรือเคยลงโทษลูกจ้างมาแล้ว แต่ลูกจ้างไม่ปรับปรุงตัวให้ดีขึ้นจนเป็นที่พอใจของผู้บังคับบัญชา ดังนั้น ข้อที่ว่านายจ้างจะต้องตักเตือนเป็นหนังสือหรือลงโทษมาแล้วจึงหาเป็นบทบังคับไปถึงกรณีแรกด้วยไม่ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จากการประเมินผลงานของโจทก์หลายครั้ง ผลงานของโจทก์ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำและยังไม่ได้มาตรฐานของจำเลยอันเป็นกรณีโจทก์ไม่สามารถปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานได้ จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่จำต้องตักเตือนเป็นหนังสือหรือลงโทษอย่างอื่นมาก่อน การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์แม้จะไม่ได้ตักเตือนเป็นหนังสือหรือลงโทษโจทก์มาก่อน จึงชอบด้วยข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวข้างต้นแล้ว ทั้งเป็นกรณีที่มีเหตุสมควรเพียงพอที่จะเลิกจ้างได้ จึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6942/2550
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
นิติสัมพันธ์นายจ้าง-ลูกจ้าง: การควบคุมดูแลการทำงานและระเบียบปฏิบัติบ่งชี้ถึงความเป็นลูกจ้าง
โจทก์ฟ้องต่อศาลแรงงานกลางขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ที่ 3/2545 ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2545 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ 11/2545 เรื่อง บริษัท บ. อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2545 โดยอ้างเหตุว่า นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับผู้รับจ้างขนส่งเป็นสัญญาจ้างทำของมิใช่สัญญาจ้างแรงงาน คำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ถูกต้องตามกฎหมายเนื่องจากไม่อยู่ในขอบอำนาจของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าโจทก์มีฐานะเป็นนายจ้างของผู้รับจ้างขนส่ง โดยผู้รับจ้างขนส่งจะต้องปฏิบัติงานภายใต้ระเบียบกฎเกณฑ์ที่โจทก์กำหนดไว้ และยังต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติการใช้บริการศูนย์จ่ายน้ำมันและการจัดส่งน้ำมัน ในระหว่างการขนส่งน้ำมันไปยังลูกค้า ณ สถานที่ของลูกค้า การลงน้ำมันทั่วไปแล้ว ยังต้องห้ามความประพฤติและการกระทำบางอย่าง เช่น ห้ามแสดงกริยามารยาทหรือวาจาไม่สุภาพ ห้ามเล่นการพนันภายในพื้นที่ และห้ามก่อการทะเลาะวิวาททำร้าย หรือ พยายามทำร้ายผู้อื่น ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดสัญญาจ้างผู้รับเหมาซึ่งมีบทลงโทษไว้ ตั้งแต่การแจ้งตัวแทนผู้รับเหมาเพื่องดให้งาน 3 วัน ไปจนถึงส่งตัวบุคคลนั้นคืนบริษัทต้นสังกัด จนถึงเลิกสัญญาจ้าง การลาหยุดงานต้องระบุเหตุผลอันสมควร ในส่วนของค่าจ้าง ขึ้นอยู่กับการทำงานแต่ละครั้งเป็นลักษณะของค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วยงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 60 ดังนั้นการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างขนส่งจึงมิได้เป็นเพียงผู้รับจ้างโดยอิสระ แต่ต้องปฏิบัติภายใต้ระเบียบปฏิบัติของโจทก์ที่กำหนดขึ้นในลักษณะเดียวกับการทำงานของลูกจ้างทั่วไป การวินิจฉัยตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ที่ 3/2545 ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2545 และการวินิจฉัยอุทธรณ์ตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ 11/2545 เรื่อง บริษัท บ. อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2545 จึงชอบด้วยอำนาจและหน้าที่ตามที่ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 41 (1) และมาตรา 23 แล้ว ไม่มีเหตุให้เพิกถอน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6942/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
นิติสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับผู้รับจ้างขนส่งเป็นสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่ ศาลฎีกาตัดสินว่าเข้าข่ายสัญญาจ้างแรงงาน
การจะเป็นนายจ้างหรือลูกจ้างกันหรือไม่นั้น นอกจากจะพิจารณาตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 5 และ ป.พ.พ. มาตรา 575 แล้วยังต้องปรากฏด้วยว่าลูกจ้างได้ปฏิบัติงานภายใต้ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายอันเป็นอำนาจบังคับบัญชาของนายจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 อีกด้วย คดีนี้นอกจากศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์รับผู้รับจ้างขนส่งเข้าทำงานทำหน้าที่ขนส่งน้ำมันจากคลังน้ำมันโรงกลั่นน้ำมันบริษัท บ. หรือตามที่โจทก์กำหนดให้ขนส่งไปยังผู้รับหรือสถานที่อื่นใดตามที่โจทก์จะแจ้งให้ผู้รับจ้างขนส่งทราบเป็นคราวๆ ไป การจ่ายค่าตอบแทนทั้งสองฝ่ายตกลงกำหนดอัตราค่าจ้างเป็นรายเที่ยวตามสัญญาขนส่งน้ำมัน การเข้าปฏิบัติงานหากผู้รับจ้างขนส่งไม่สามารถมาทำงานได้ให้แจ้งฝ่ายโจทก์เพื่อที่โจทก์จะได้จัดหาบุคคลอื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทนแล้วยังปรากฏข้อเท็จจริงที่ยุติในชั้นพิจารณาคดีของศาลแรงงานกลางอีกว่า เมื่อมีบุคคลมาสมัครเพื่อเป็นผู้รับจ้างขนส่ง โจทก์จะให้บุคคลดังกล่าวเขียนใบสมัคร และโจทก์จะตรวจสอบประสบการณ์คุณสมบัติของผู้สมัคร แล้วจะให้ส่วนคลังและขนส่ง บริษัท บ. ทดสอบการขับรถเพื่อออกใบอนุญาตให้ จากนั้นจึงจะทำสัญญาขนส่งน้ำมัน การทำงานของผู้รับจ้างขนส่งจะต้องปฏิบัติตามระเรียบปฏิบัติการใช้บริการศูนย์จ่ายน้ำมันและการจัดส่งน้ำมันเวลาปฏิบัติงานในแต่ละวันจะเริ่มตั้งแต่เวลา 18.30 นาฬิกา เมื่อผู้รับจ้างขนส่งมาที่ส่วนคลังและขนส่งบริษัท บ. แล้ว จะจับสลากเพื่อรับงานตามใบสั่งงานที่บริษัท บ. ออกให้แก่โจทก์ โดยผู้รับจ้างขนส่งจะได้รับค่าขนส่งต่อเที่ยวไม่เท่ากัน แต่จะได้รับไม่ต่ำกว่าเที่ยวละ 250 บาท โจทก์ได้คัดลอกข้อความบางส่วนจากระเบียบปฏิบัติการใช้บริการศูนย์จ่ายน้ำมันและการจัดส่งน้ำมันมาจัดทำเป็นข้อกำหนดสัญญาจ้างผู้รับเหมาเพื่อใช้บังคับแก่ผู้รับจ้างขนส่ง และเคยจัดทำประกาศบริษัท จ. เรื่องระเบียบปฏิบัติและบทลงโทษสำหรับผู้บริการจัดส่ง ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการทำงานของผู้รับจ้างขนส่งจะต้องเริ่มจากการเขียนใบสมัครเข้าทำงานกับโจทก์ก่อน แล้วจึงจะทดสอบการขับรถ จากนั้นจึงทำสัญญาขนส่งน้ำมันซึ่งตามสัญญาขนส่งน้ำมันแม้จะเรียกคู่สัญญาว่า "ผู้ว่าจ้าง" กับ "ผู้รับจ้าง" แต่ตามสัญญาข้อ 1.2 ระบุว่า "ผู้รับจ้างยินยอมจะปฏิบัติตามข้อกำหนดกฎเกณฑ์หรือระเบียบในการปฏิบัติอันเกี่ยวกับการขับรถขนส่งน้ำมันตามสัญญานี้ หรือที่จะได้กำหนดเพิ่มเติมต่อไปภายหน้า เพื่อให้การปฏิบัติงานบรรลุผลสำเร็จตามที่ผู้ว่าจ้างได้กำหนดไว้" และตามข้อ 3.4 ก็ระบุไว้ทำนองเดียวกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้รับจ้างขนส่งจะต้องปฏิบัติงานภายใต้ระเบียบกฎเกณฑ์ที่โจทก์กำหนดไว้แล้ว และที่จะได้กำหนดเพิ่มเติมหลังจากการทำสัญญา และเมื่อโจทก์กำหนดให้ผู้รับจ้างขนส่งปฏิบัติตามระเบียบการใช้บริการศูนย์จ่ายน้ำมันและการจัดส่งน้ำมัน ทั้งยังคัดลอกข้อความบางส่วนมาจัดทำเป็นข้อกำหนดสัญญาจ้างผู้รับเหมา จึงเป็นกรณีที่โจทก์นำระเบียบปฏิบัติของส่วนคลังและขนส่ง บริษัท บ. มาใช้บังคับแก่ผู้รับจ้างขนส่งในลักษณะเดียวกันเป็นระเบียบปฏิบัติของโจทก์ ซึ่งตามระเบียบปฏิบัติการใช้บริการศูนย์จ่ายน้ำมันและการจัดส่งน้ำมัน นอกจากจะระบุถึงระเบียบปฏิบัติภายในพื้นที่ศูนย์จ่ายน้ำมัน ในระหว่างการขนส่งน้ำมันไปยังลูกค้า ณ สถานที่ของลูกค้า การลงน้ำมันโดยทั่วไปแล้ว ยังระบุถึงความประพฤติส่วนตัวที่ต้องห้ามแสดงกิริยา มารยาทหรือวาจาไม่สุภาพ ห้ามเล่นการพนันภายในพื้นที่ และห้ามก่อการทะเลาะวิวาททำร้ายหรือพยายามทำร้ายผู้อื่นอีกด้วย ซึ่งตามข้อกำหนดสัญญาจ้างผู้รับเหมาระบุบทลงโทษไว้ตั้งแต่การแจ้งตัวแทนผู้รับเหมาเพื่องดให้งาน 3 วัน ไปจนถึงส่งตัวบุคคลนั้นคืนบริษัทต้นสังกัด และยังปรากฏว่าโจทก์เคยมีประกาศบริษัท จ. เรื่องระเบียบปฏิบัติและบทลงโทษสำหรับผู้บริการจัดส่ง ซึ่งกำหนดบทลงโทษแก่ผู้บริการจัดส่ง ตั้งแต่งดจ่ายงาน 3 วัน จนถึงเลิกสัญญาจ้าง ดังนั้น การปฏิบัติงานของผู้รับจ้างขนส่งจึงมิได้เป็นเพียงผู้รับจ้างโดยอิสระ แต่ยังคงต้องปฏิบัติงานภายใต้ระเบียบปฏิบัติของโจทก์ที่กำหนดขึ้นในลักษณะเดียวกับการทำงานของลูกจ้างทั่วไป ส่วนที่ศาลแรงงานกลางเห็นว่าผู้รับจ้างขนส่งจะขนส่งน้ำมันตามคำสั่งที่โจทก์ได้กำหนด อัตราค่าจ้างจะขึ้นอยู่กับการทำงานแต่ละครั้งหากไม่มาทำงานก็ไม่ได้ค่าจ้าง กำหนดวันทำงานไม่แน่นอน การหยุดงานวันใดเพียงแต่แจ้งให้ผู้ที่รับผิดชอบของโจทก์ทราบ ไม่ต้องได้รับคำสั่งอนุมัติให้หยุดงานหรือไม่ก่อนนั้น ก็ปรากฏตามสัญญาขนส่งน้ำมัน ข้อ 5.3 วรรคสอง ซึ่งระบุว่าผู้รับจ้างจะต้องประกันผลงานจำนวนเที่ยววิ่งขนส่งน้ำมันไม่ต่ำกว่าเดือนละ 45 เที่ยว หากผู้รับจ้างไม่สามารถปฏิบัติได้ตามจำนวนเที่ยวที่ระบุไว้โดยไม่มีเหตุอันควร ผู้ว่าจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญา อีกทั้งโจทก์ยังได้จัดทำสมุดแจ้งการหยุดงานเพื่อบันทึกการลาหยุดงานของผู้รับจ้างขนส่ง ซึ่งตามเอกสารดังกล่าวมีรายละเอียดของชื่อผู้หยุดงาน วันที่หยุด โจทก์จึงมีฐานะเป็นนายจ้างของผู้รับจ้างขนส่งดังกล่าวตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 5
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6021/2550
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิประโยชน์ต่อเนื่องจากสัญญาจ้างงานเดิม แม้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มิได้บัญญัติไว้โดยตรง
จำเลยเป็นบริษัทในเครือของบริษัทแม่ในประเทศอังกฤษซึ่งมีสาขาอยู่ทั่วโลก ในภูมิภาคเอเชียมีสำนักงานที่กำกับดูแลจำเลยคือ บริษัท จ. (สิงค์โปร์) โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างบริษัท จ. (ออสเตรเลีย) และโอนย้ายไปเป็นลูกจ้างบริษัท จ. (มาเลเซีย) โดยให้โจทก์มีสิทธินับเวลาทำงานติดต่อกันได้ และให้โจทก์คงได้รับสิทธิหยุดพักผ่อนในกรณีทำงานมานานตามที่เคยได้รับต่อไป ต่อมาโจทก์โอนย้ายไปเป็นลูกจ้างจำเลย และได้ทำสัญญากับบริษัท จ. (สิงค์โปร์) ระบุว่าเป็นการจ้างงานโจทก์ต่อเนื่องจากที่ได้ทำงานกับบริษัท จ. (สิงค์โปร์) และโจทก์ยังคงมีสิทธิสะสมวันหยุดในกรณีที่ทำงานมานานต่อไปจากที่เคยได้รับ เมื่อข้อตกลงตามสัญญาดังกล่าวไม่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แม้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับสิทธิหยุดพักผ่อนของลูกจ้างในกรณีทำงานมานานไว้ก็ผูกพันจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1562/2550
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความรับผิดของพนักงานขายต่อความเสียหายจากการอนุมัติขายสินค้า โดยมิได้ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต
ใบสมัครงานระบุว่า "ในการขาย ให้เช่า เช่าซื้อหรือการขายสัญญาบริการหรือการก่อหนี้ใด ๆ ให้แก่ผู้ซื้อหรือผู้รับบริการ (ลูกค้า) พนักงานขายและพนักงานช่างและหรือพนักงานผู้ที่มีส่วนได้รับค่านายหน้าของการขาย ให้เช่า เช่าซื้อ หรือการขายสัญญาบริการนั้น ๆ ทุกคนจะต้องเป็นผู้พิจารณาตัดสินใจรับผิดชอบเป็นผู้อนุมัติให้ขาย ให้เช่า เช่าซื้อ หรือการขายสัญญาบริการโดยตรง บริษัทฯ ไม่มีส่วนตัดสินใจแต่ประการใด ฉะนั้นความเสียหายที่เกิดขึ้นในกรณีที่ไม่สามารถเก็บเงินค่าสินค้านั้น ๆ ได้ พนักงานทุกคนที่มีส่วนได้รับค่านายหน้าจะต้องรับผิดชอบชดใช้ต่อค่าสินค้าตามใบเสร็จที่ระบุราคาขายให้แก่บริษัทฯ ตามอัตราส่วนของการได้รับค่านายหน้าให้แก่บริษัท" การกำหนดดังกล่าวมิใช่กรณีบุคคลภายนอกผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น เพราะในขณะทำสัญญามีเพียงบุคคลสองฝ่ายคือเจ้าหนี้หรือนายจ้าง กับผู้เข้าประกันหรือลูกจ้างจึงมิใช่สัญญาค้ำประกันผู้ซื้อสินค้า แต่เป็นการตกลงประกันการก่อให้เกิดความเสียหายไว้ล่วงหน้าว่าผู้เข้าประกันหรือลูกจ้างที่มีส่วนได้รับค่านายหน้าจะต้องรับผิดชอบชดใช้ความเสียหายจากการตัดสินใจรับผิดชอบเป็นผู้อนุมัติให้ขาย ให้เช่า เช่าซื้อ หรือการขายสัญญาบริการ ซึ่งความผูกพันระหว่างโจทก์กับบุคคลภายนอกผู้ซื้อ ผู้เช่า ผู้เช่าซื้อ หรือผู้ซื้อสัญญาบริการจะเป็นไปตามสัญญาภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องนั้น ๆ แต่ความผูกพันระหว่างโจทก์ในฐานะนายจ้างกับพนักงานขาย พนักงานช่างและหรือพนักงานผู้ที่มีส่วนได้รับค่านายหน้าของการขาย ให้เช่า เช่าซื้อ หรือการขายสัญญาบริการยังคงเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 6 จ้างแรงงาน ดังนั้น จึงมิได้หมายความว่าลูกจ้างที่ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานโดยชอบและสุจริตแล้วยังจะต้องชดใช้ความเสียหายที่ตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นแต่อย่างใด เว้นแต่จะปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ถูกต้องและสุจริตอันเป็นผลให้ไม่สามารถเก็บเงินค่าสินค้าให้แก่นายจ้างตามที่ระบุในใบสมัครงาน และเมื่อเงื่อนไขในใบสมัครงานมิได้กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นพนักงานขาย พนักงานช่าง และหรือพนักงานผู้ที่มีส่วนได้รับค่านายหน้าต้องทำหน้าที่เป็นผู้ค้ำประกันผู้อื่น ผู้เช่า ผู้เช่าซื้อ หรือผู้ซื้อสัญญาบริการแล้ว เงื่อนไขดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมของประชาชนจึงใช้บังคับได้