คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 198

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 141 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2311/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคำนวณวันคำพิพากษาถึงที่สุดเพื่อขอคืนของกลางตาม ป.อ. มาตรา 36 ต้องยึดตามกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด ไม่ใช่ตามวันที่ศาลอนุญาตขยายเวลา
การร้องขอคืนของกลางตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 36 นั้น เจ้าของที่แท้จริงซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดย่อมมีสิทธิร้องขอคืนของกลางต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด ซึ่งคำว่า "วันคำพิพากษาถึงที่สุด" นี้ ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง บัญญัติว่า "คำพิพากษาหรือคำสั่งใดซึ่งอาจอุทธรณ์ฎีกาหรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้นั้น ถ้ามิได้อุทธรณ์ฎีกาหรือร้องขอให้พิจารณาใหม่ภายในเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง..." ซึ่งก็คือ เมื่อครบกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งให้คู่ความฟัง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 198 และมาตรา 216 ในกรณีที่คู่ความยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ฎีกาแล้วมิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาตามที่ได้ขอขยายระยะเวลาไว้ วันคำพิพากษาถึงที่สุดย่อมต้องกลับไปใช้ระยะเวลา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่กำหนดโดยกฎหมาย คือ เมื่อครบกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งให้คู่ความฟัง คดีนี้เมื่อมีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้คู่ความความฟัง เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 โจทก์และจำเลยทั้งสองใช้สิทธิฎีกาได้ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2564 ซึ่งจำเลยทั้งสองมิได้ขอขยายระยะเวลาฎีกา และมิได้ใช้สิทธิฎีกา ส่วนโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาและศาลชั้นต้นอนุญาตถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2564 แต่โจทก์มิได้ฎีกา คำพิพากษาย่อมถึงที่สุดในวันที่ 15 มีนาคม 2564 อันเป็นวันครบกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้คู่ความฟัง สิทธิของผู้ร้องที่จะขอคืนของกลางต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด จึงต้องนับตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2564 มิใช่วันที่ 14 มิถุนายน 2564 ดังที่ผู้ร้องอุทธรณ์ ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอคืนของกลางเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565 จึงเป็นการยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด ต้องห้ามตาม ป.อ. มาตรา 36 ที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของผู้ร้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1490/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่อุทธรณ์คำสั่งศาลทันเวลา ทำให้สิ้นสิทธิในการอุทธรณ์คำพิพากษา คดีอาญา
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 และศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องในวันเดียวกัน คำสั่งยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของผู้ร้องย่อมมีผลทำให้คำร้องของผู้ร้องนั้นเสร็จสำนวนไปจากศาลจึงมิใช่คำสั่งระหว่างพิจารณา ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์คำสั่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 196 ผู้ร้องชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งได้ทันทีแต่ต้องอุทธรณ์ภายในกำหนดหนึ่งเดือนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 198 เมื่อผู้ร้องไม่ยื่นอุทธรณ์คำสั่งภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดจึงต้องถือว่าเป็นอันยุติตามคำสั่งของศาลชั้นต้นว่าผู้ร้องไม่อยู่ในฐานะเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาโดยอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2562 ผู้ร้องจึงไม่อยู่ในฐานะเป็นโจทก์ในคดีอาญา ผู้ร้องจึงไม่อาจอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้ ที่ผู้ร้องฎีกาว่าผู้ร้องได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งภายในกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์แล้วนั้น เป็นคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตามคำร้องของผู้ร้องลงวันที่ 23 มกราคม 2563 นั้น เป็นการขยายระยะเวลาอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น มิใช่การขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ซึ่งเกินกำหนดเวลาที่ผู้ร้องจะขอขยายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9952-9953/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ฎีกา และการพิจารณาคำร้องอุทธรณ์ที่เกินกำหนดตาม ป.วิ.อ.
โจทก์ร่วมยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นโดยมีคำขอท้ายอุทธรณ์ให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้ศาลล่างทั้งสองรับรองให้โจทก์ร่วมฎีกา อุทธรณ์คำสั่งโจทก์ร่วมดังกล่าวจึงมิใช่อุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์โจทก์ร่วม แต่เป็นอุทธรณ์คำสั่งในเรื่องที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่อนุญาตให้โจทก์ร่วมฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาสั่งอุทธรณ์คำสั่งโจทก์ร่วมดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 198 วรรคสอง เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่งโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ร่วมโดยเห็นว่าโจทก์ร่วมยื่นอุทธรณ์คำสั่งหลังจากครบกำหนดแล้ว เท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม กรณีเช่นนี้คำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงเป็นที่สุดตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 198 ทวิ วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5868/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งสำเนาอุทธรณ์ที่ไม่ชอบตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ส่งผลให้การพิจารณาคดีไม่ชอบ
การไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยอุทธรณ์เป็นปัญหาข้อกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง อันมีมาตรา 198 บัญญัติว่า การยื่นอุทธรณ์ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้น มาตรา 200 บัญญัติว่า ให้ศาลส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งแก้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาอุทธรณ์ และมาตรา 201 บัญญัติว่า เมื่อศาลส่งสำเนาอุทธรณ์แก่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้เพราะหาตัวไม่พบ หรือหลบหนี หรือจงใจไม่รับสำเนาอุทธรณ์ หรือได้รับแก้อุทธรณ์แล้ว หรือพ้นกำหนดแก้อุทธรณ์แล้ว ให้ศาลรีบส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อทำการพิจารณาพิพากษาต่อไป เมื่อข้อเท็จจริงในสำนวนปรากฏว่าการส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ให้แก่จำเลยนั้น พนักงานเดินหมายได้นำสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ไปส่งให้แก่จำเลย ณ ภูมิลำเนาของจำเลยซึ่งตรงตามภูมิลำเนาของจำเลยในคำฟ้องแต่ปรากฏจากรายงานการเดินหมายว่าไม่สามารถส่งหมายให้แก่จำเลยได้เนื่องจากไม่พบบ้านของจำเลย ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้ปิดประกาศหน้าศาล กรณีเป็นเรื่องศาลชั้นต้นส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยไม่ได้เพราะหาตัวไม่พบ แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้ปิดประกาศหน้าศาลก็เป็นคำสั่งที่เกินเลยไม่เป็นผลให้การส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยเป็นไปโดยชอบ โดยปรากฏต่อมาว่าพนักงานเดินหมายนำหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไปส่งให้แก่จำเลยกลับปรากฏจากรายงานเจ้าหน้าที่ว่าพบบ้านของจำเลยตามภูมิลำเนาที่ปรากฏในฟ้องและส่งได้โดยมีผู้รับหมายนัดไว้แทน ดังนั้น การส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ให้แก่จำเลยไม่ได้เนื่องจากหาบ้านของจำเลยไม่พบดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่าเป็นเพราะหาตัวจำเลยไม่พบ หรือหลบหนี หรือจงใจไม่รับสำเนาอุทธรณ์ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 201 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาคดีโดยมิได้มีการส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยเพื่อแก้นั้น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 200

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21848/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟ้องอุทธรณ์ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลมีหน้าที่สั่งให้แก้ฟ้องก่อน ศาลอุทธรณ์มีอำนาจเพิกถอนได้
จำเลยแต่งตั้ง บ. เป็นทนายความดำเนินคดีแทนจำเลยเฉพาะในศาลชั้นต้นเท่านั้น การที่ บ. ลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ ผู้เรียง และผู้พิมพ์เป็นเรื่องฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยไม่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (7) ประกอบมาตรา 215 ถือเป็นฟ้องอุทธรณ์ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลชั้นต้นรับฟ้องอุทธรณ์ทั้งที่เป็นฟ้องอุทธรณ์ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายแต่อยู่ในวิสัยที่จะสั่งให้จำเลยแก้ฟ้องอุทธรณ์ให้ถูกต้องได้ จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ชอบที่จะเพิกถอนการรับฟ้องอุทธรณ์ของศาลชั้นต้น และให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาใหม่หรือดำเนินการเสียเองให้จำเลยแก้ให้ถูกต้องก่อนก็ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ไม่ชอบที่จะด่วนพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่รับฟ้องอุทธรณ์และยกอุทธรณ์ของจำเลย อย่างไรก็ดีปรากฏว่าในชั้นฎีกาจำเลยยื่นใบแต่งทนายความแต่งตั้ง บ. ให้ใช้สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาได้แล้ว จึงไม่จำต้องดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้อีก จึงให้ย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิจารณาพิพากษาใหม่ต่อไปตามรูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13063/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วมาขอแก้ไขบทลงโทษในภายหลัง เป็นการขัดต่อหลักวิธีพิจารณาความอาญา
เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยแล้ว หากจำเลยเห็นว่าศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยไม่ถูกต้องหรือจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนจำนวนน้อยกว่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 9 ในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านคำพิพากษา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 และมาตรา 198 แต่จำเลยมิได้ใช้สิทธิดังกล่าวกลับมายื่นคำร้องขอให้ศาลแก้ไขปรับบทลงโทษและกำหนดโทษจำเลยใหม่ โดยเลี่ยงอ้างว่าเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ดังนี้ หากศาลฟังตามที่จำเลยอ้างแล้ววินิจฉัยให้ใหม่ ย่อมมีผลเป็นการแก้ไข คำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 190 ที่บัญญัติห้ามมิให้แก้ไขคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งอ่านแล้ว นอกจากแก้ถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 686/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งสำเนาอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมายเมื่อไม่สามารถส่งได้จริง แม้จะพบบ้านจำเลยภายหลัง
พนักงานเดินหมายส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลย ณ ภูมิลำเนาของจำเลย 2 ครั้ง โดยไม่สามารถ ส่งได้เนื่องจากไม่พบบ้านของจำเลย แต่เมื่อส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 กลับพบบ้านของจำเลยตามภูมิลำเนาที่ปรากฏในฟ้อง เพียงแต่บ้านปิดใส่กุญแจ จึงส่งหมายนัดได้โดยวิธีปิดหมาย ถือไม่ได้ว่า การส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยไม่ได้ด้วยเหตุดังกล่าวเป็นเพราะหาตัวจำเลยไม่พบ หรือหลบหนี หรือจงใจไม่รับสำเนาอุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 201 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิจารณาคดีโดยมิได้ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยเพื่อแก้จึงไม่ชอบด้วยมาตรา 200

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8910/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นอุทธรณ์เกินเวลาทำการแต่มีเหตุผลสมควร ศาลรับอุทธรณ์ได้
แม้จำเลยจะยื่นอุทธรณ์เวลา 16.45 นาฬิกา ของวันสุดท้ายที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ โดยล่วงเลยเวลาเปิดทำการของศาลซึ่งตามปกติจะเปิดทำการถึง 16.30 นาฬิกา ก็ตาม แต่ก็ได้ความจากรายงานของเจ้าหน้าที่ที่เสนออุทธรณ์ของจำเลยต่อผู้พิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยได้ติดต่อเพื่อยื่นอุทธรณ์เมื่อเวลา 15.40 นาฬิกา ซึ่งยังอยู่ในเวลาเปิดทำการของศาลก่อนแล้วและขอเวลาจัดเรียงเอกสารเพื่อยื่นประกอบอุทธรณ์ โดยจำเลยได้นั่งจัดเรียงเอกสารอยู่ที่หน้าแผนกรับฟ้องจนเสร็จ แล้วยื่นอุทธรณ์ต่อเจ้าหน้าที่ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำเสนอผู้พิพากษาเพื่อมีคำสั่งในวันเดียวกันนั้น โดยปรากฏว่าอุทธรณ์ของจำเลยบรรยายข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีรายละเอียดยืดยาว มีการอ้างอิงเอกสารประกอบอุทธรณ์จำนวนมาก ซึ่งต้องใช้เวลาในการจัดเรียงเอกสารและตรวจสอบความถูกต้องเรียบร้อยตามสมควร ทั้งจำเลยยื่นอุทธรณ์เลยเวลาทำการของศาลเพียง 15 นาที เท่านั้น กรณีจึงมีเหตุผลสมควรเมื่อเจ้าหน้าที่รับอุทธรณ์โดยศาลยังไม่ปิดทำการ กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาอุทธรณ์ตามกฎหมาย การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยโดยถือว่าเป็นการยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาอุทธรณ์ตามกฎหมาย การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยโดยถือว่าเป็นการยื่นอุทธรณ์ภายในเวลาทำการของศาลจึงชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7002/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นอุทธรณ์ภายในเวลา แม้จะใกล้หมดเวลาทำการ ศาลรับคำฟ้องตามเวลาที่เจ้าหน้าที่รับไว้
ทนายจำเลยยื่นคำฟ้องอุทธรณ์ในวันครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยาย เมื่อเวลา 16.46 นาฬิกา ซึ่งเจ้าหน้าที่งานรับฟ้องอุทธรณ์-ฎีกาของศาลชั้นต้นได้รับคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยไว้โดยมิได้แจ้งเหตุขัดข้องต่อทนายจำเลยว่าพ้นเวลาราชการแล้ว แต่ได้ทำบันทึกเสนอศาลถึงเวลาที่ทนายจำเลยยื่นอุทธรณ์ ในวันรุ่งขึ้นศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับเป็นอุทธรณ์ของจำเลยโดยมิได้มีข้อขัดแย้งแต่ประการใด แสดงว่าศาลชั้นต้นได้พิจารณาบันทึกของเจ้าหน้าที่ศาลแล้วว่า ขณะที่ทนายจำเลยนำคำฟ้องอุทธรณ์ยื่นนั้นศาลชั้นต้นยังไม่ปิดทำการ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าว จึงถือว่าจำเลยยื่นคำฟ้องอุทธรณ์ภายในกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1927/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขยายระยะเวลาอุทธรณ์: ความล่าช้าของผู้ร้องและการแต่งตั้งทนายความใหม่
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ในวันสุดท้ายที่ครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องแล้ว ผู้ร้องมีสิทธิยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านคำสั่งให้คู่ความฟัง คดีของผู้ร้องรูปคดีไม่ซับซ้อน ผู้ร้องมีทนายความคนเดิมซึ่งมีอำนาจอุทธรณ์ได้ย่อมอยู่ในวิสัยที่จะยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดอายุอุทธรณ์ได้ และหากผู้ร้องประสงค์จะแต่งตั้งทนายความคนใหม่แทนทนายความคนเดิมเพื่อยื่นอุทธรณ์ ผู้ร้องต้องติดต่อและแต่งตั้งให้เป็นทนายความแต่เนิ่นๆ เพื่อจะได้มีระยะเวลาเพียงพอที่จะยื่นอุทธรณ์ได้ แต่ผู้ร้องกลับปล่อยปละละเลยเพิ่งแต่งตั้งทนายความคนใหม่เพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นอุทธรณ์ในวันสุดท้ายที่ครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์และทนายความผู้ร้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไป โดยอ้างในคำร้องว่าผู้ร้องเพิ่งติดต่อให้ยื่นอุทธรณ์และคดีมีรายละเอียดเกี่ยวกับเอกสารจำนวนมาก อันเป็นความบกพร่องของผู้ร้องเอง กรณีของผู้ร้องยังถือไม่ได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษที่จะขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
of 15