คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 216

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 447 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2311/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคำนวณวันคำพิพากษาถึงที่สุดเพื่อขอคืนของกลางตาม ป.อ. มาตรา 36 ต้องยึดตามกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด ไม่ใช่ตามวันที่ศาลอนุญาตขยายเวลา
การร้องขอคืนของกลางตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 36 นั้น เจ้าของที่แท้จริงซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดย่อมมีสิทธิร้องขอคืนของกลางต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด ซึ่งคำว่า "วันคำพิพากษาถึงที่สุด" นี้ ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง บัญญัติว่า "คำพิพากษาหรือคำสั่งใดซึ่งอาจอุทธรณ์ฎีกาหรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้นั้น ถ้ามิได้อุทธรณ์ฎีกาหรือร้องขอให้พิจารณาใหม่ภายในเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง..." ซึ่งก็คือ เมื่อครบกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งให้คู่ความฟัง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 198 และมาตรา 216 ในกรณีที่คู่ความยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ฎีกาแล้วมิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาตามที่ได้ขอขยายระยะเวลาไว้ วันคำพิพากษาถึงที่สุดย่อมต้องกลับไปใช้ระยะเวลา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่กำหนดโดยกฎหมาย คือ เมื่อครบกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งให้คู่ความฟัง คดีนี้เมื่อมีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้คู่ความความฟัง เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 โจทก์และจำเลยทั้งสองใช้สิทธิฎีกาได้ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2564 ซึ่งจำเลยทั้งสองมิได้ขอขยายระยะเวลาฎีกา และมิได้ใช้สิทธิฎีกา ส่วนโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาและศาลชั้นต้นอนุญาตถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2564 แต่โจทก์มิได้ฎีกา คำพิพากษาย่อมถึงที่สุดในวันที่ 15 มีนาคม 2564 อันเป็นวันครบกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้คู่ความฟัง สิทธิของผู้ร้องที่จะขอคืนของกลางต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด จึงต้องนับตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2564 มิใช่วันที่ 14 มิถุนายน 2564 ดังที่ผู้ร้องอุทธรณ์ ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอคืนของกลางเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565 จึงเป็นการยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด ต้องห้ามตาม ป.อ. มาตรา 36 ที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของผู้ร้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5155/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับเนื่องจากยื่นซ้ำประเด็นที่เคยวินิจฉัยแล้ว และการยื่นฎีกาไม่ถูกต้องตามขั้นตอน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลย โดยเห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยเรียงโดยนักโทษซึ่งไม่มีอำนาจเรียงคำฟ้องอุทธรณ์ คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยยื่นฎีกาต่อศาลชั้นต้น แต่ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกาของจำเลย โดยเห็นว่าฎีกาของจำเลยเป็นการคัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ไม่ต้องด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 216 เช่นนี้ หากจำเลยประสงค์จะให้ศาลรับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณา จำเลยชอบที่จะยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาของศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 224 แต่จำเลยกลับยื่นฎีกาฉบับที่ 2 และที่ 3 ที่มีเนื้อหาเช่นเดียวกับฎีกาฉบับแรกซ้ำมาอีก ซึ่งศาลชั้นต้นก็มีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยทั้งสองฉบับนี้ โดยเห็นว่าไม่ปรากฏว่าเป็นการโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฯ อย่างไร แม้ต่อมาจำเลยจะยื่นฎีกาฉบับที่ 4 ที่เป็นเหตุแห่งคดีนี้ภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นขยายให้ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยมา แต่ฎีกาของจำเลยนี้ก็มีเนื้อหาเช่นเดียวกันกับฎีกาของจำเลยฉบับแรก เพียงแต่เพิ่มเติมรายละเอียดของผลคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฯ เท่านั้น การยื่นฎีกาของจำเลยครั้งหลังนี้จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับประเด็นที่ได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดในฎีกาฉบับแรกแล้ว ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3706/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนด
ในคดีอาญาทั่วไป คดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ไม่มีบทบัญญัติให้การฎีกาจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา การฎีกาจึงอยู่ในบังคับตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 216 และมาตรา 221 การที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง โดยไม่ได้ยื่นเป็นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่งซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษา หรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 7 อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ คำร้องขออนุญาตฎีกาของจำเลยจึงเป็นคำร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ไม่มีผลให้ฎีกาของจำเลยขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกา ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอันว่าด้วยการฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นพิจารณาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2460/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขัดขวางเจ้าพนักงานกับการปกป้องสิทธิครอบครองที่ดิน ศาลฎีกาตัดสินว่าขาดเจตนาความผิด
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความผิดตามฟ้อง พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ตามที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์แล้ว หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือจำเลยทั้งสองชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ แม้จำเลยทั้งสองไม่เห็นพ้องด้วยกับเหตุผลแห่งการวินิจฉัยตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็ตาม แต่เมื่อข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 เป็นประโยชน์แก่คดีของจำเลยทั้งสองแล้ว การวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงไม่มีผลกระทบกระเทือนต่อการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองแต่อย่างใด จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2841/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจผู้เสียหายแจ้งความคดีเช่าซื้อรถยนต์ และการฎีกาที่ไม่ชอบด้วยเหตุผล
เมื่อ ว. เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์จากธนาคาร ธ. ผู้ให้เช่าซื้อ ว. ย่อมมีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์จากรถที่เช่าซื้อและมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนแก่ผู้ให้เช่าซื้อ เมื่อมีผู้ลักรถที่เช่าซื้อไป ว. ย่อมได้รับความเสียหาย ว. จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์ได้โดยไม่จำต้องได้รับมอบอำนาจจากผู้ให้เช่าซื้อ และการที่ผู้ให้เช่าซื้อมอบอำนาจให้ ว. ไปร้องทุกข์ก็ถือได้ว่า ว. ร้องทุกข์ในฐานะที่ตนเป็นผู้เสียหายด้วย ไม่ว่าหนังสือมอบอำนาจ จะระบุให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2559 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2559 แต่พนักงานสอบสวนรับแจ้งความร้องทุกข์ในวันที่ 18 กันยายน 2559 ก็ไม่มีผลลบล้างการที่ ว. ร้องทุกข์ในฐานะที่ตนเป็นผู้เสียหาย
จำเลยที่ 1 เคยยกปัญหาเรื่องสายลับไม่ได้มาเบิกความขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มิได้หยิบยกข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขึ้นวินิจฉัย จำเลยที่ 1 ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านว่าการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่ได้วินิจฉัยนั้น ไม่ชอบอย่างไร โดยไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 เพราะเหตุใด ที่ถูกแล้วศาลอุทธรณ์ภาค 7 ควรวินิจฉัยอย่างไร และด้วยเหตุผลใด แต่จำเลยที่ 1 กลับยกข้อเท็จจริงทำนองเดียวกับที่เคยยกขึ้นกล่าวอ้างในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ขึ้นฎีกาซ้ำอีก จึงเป็นข้อเท็จจริงที่เพิ่งยกขึ้นในชั้นฎีกา และถือไม่ได้ว่าเป็นการคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 เป็นฎีกาที่ไม่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 ทั้งมิได้เป็นข้อที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้ตัดสินไว้ จึงไม่อาจใช้ดุลพินิจให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7460/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยข้อเท็จจริงใหม่ที่ไม่ได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้น และยืนตามคำพิพากษาเดิมในคดีอาญา
จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ผู้เสียหายกับจำเลยที่ 1 ตกลงกันให้จำเลยที่ 1 นำบัตรสินเชื่อเกษตรกรของผู้เสียหายไปใช้ซื้อสินค้า เมื่อขายสินค้าได้ จำเลยที่ 1 จะมอบเงินสดให้แก่ผู้เสียหาย ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 จำหน่ายสินค้าแล้วแต่เรียกเก็บเงินไม่ได้ จึงไม่สามารถนำเงินมาคืนให้แก่ผู้เสียหายตามที่ตกลงกัน ทำนองว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องนั้น เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็ไม่ได้วินิจฉัยในข้อเท็จจริงดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นฎีกาได้ เพราะไม่เป็นการคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 ถือเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2921/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่ชอบ: จำเลยยกข้อเท็จจริงใหม่ในชั้นฎีกาที่ไม่เคยว่ากันในศาลล่าง
จำเลยฎีกาว่า จำเลยให้การรับสารภาพเนื่องจากประสงค์จะใช้หนี้เงินกู้ยืมแก่ผู้เสียหาย ความจริงจำเลยกู้ยืมเงินผู้เสียหายแทนบุคคลอื่น ส่วนโฉนดที่ดินที่จำเลยมอบให้ผู้เสียหายมิใช่การให้หลักประกันในการจำนอง จำนำ หรือบุริมสิทธิ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังตามฟ้องว่า จำเลยหลอกลวง ก. ผู้เสียหาย โดยนำโฉนดที่ดินที่ถูกยกเลิกเนื่องจากจำเลยได้ขอออกใบแทนโฉนดที่ดินฉบับใหม่และนำไปจดทะเบียนขายฝากแก่ผู้อื่นแล้ว ส่งมอบให้ผู้เสียหายเพื่อเป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินจากผู้เสียหาย ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อส่งมอบเงิน 510,000 บาท ให้แก่จำเลย จำเลยเพิ่งยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 เท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ได้วินิจฉัยในข้อเท็จจริงดังกล่าว จำเลยจึงไม่อาจยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นฎีกาได้ เพราะไม่เป็นการคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ถือเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8286/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำหน่ายคดีชั่วคราว-เด็ดขาด: จำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่ง/คำพิพากษาเมื่อคดีจำหน่าย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เข้ามาใหม่ โดยให้จำหน่ายคดีชั่วคราวเฉพาะจำเลยที่ 2 และจำหน่ายคดีเด็ดขาดเมื่อโจทก์ฟ้องหรือไม่ฟ้องภายในเวลาที่ศาลกำหนด จึงไม่มีคดีของจำเลยที่ 2 ในระหว่างพิจารณาที่จำเลยที่ 2 จะอุทธรณ์คำสั่งขอให้รวมการพิจารณาคดี คำสั่งขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ หรือคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษาดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการไม่ชอบ และไม่ก่อสิทธิให้แก่จำเลยที่ 2 ที่จะฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12603/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยเนื่องจากฎีกาโจทก์ไม่ได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แต่โต้แย้งการออกหมายจำคุกหลังยื่นขอขยายเวลาฎีกา
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในประเด็นที่ว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ และมีเหตุสมควรรอการลงโทษจำเลยหรือไม่ แล้วพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นฎีกาของโจทก์ที่ว่า การออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะคดียังอยู่ในระหว่างที่โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา คดีจึงยังไม่ถึงที่สุด จึงเป็นฎีกาที่ไม่ได้คัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 หรือกล่าวอ้างว่าศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาคดีไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายในข้อใด อย่างไร อันเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8565-8566/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางอาญาจากเหตุเพลิงไหม้ในสถานบันเทิง และการกำหนดค่าสินไหมทดแทนสำหรับผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ
แม้จำเลยที่ 6 จะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด แต่เมื่อจำเลยที่ 6 มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการจัดระบบแสง สี เสียง ภาพ ประกอบการแสดง เวทีการแสดงต่าง ๆ การที่จำเลยที่ 7 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 6 รับจ้างติดตั้งดอกไม้เพลิงในการทำฉากเอฟเฟกต์ในร้านเกิดเหตุตามขอบแห่งวัตถุประสงค์ ย่อมต้องถือว่าเป็นการกระทำของจำเลยที่ 6 เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 7 เป็นความผิดอาญา แม้จะเป็นการกระทำโดยประมาท จำเลยที่ 6 ก็ต้องรับโทษทางอาญาด้วยเช่นกัน
จำเลยที่ 1 แก้ฎีกาว่า โจทก์บรรยายฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 1 ขัดแย้งกัน เป็นไปไม่ได้เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 จึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 หรือไม่
การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า บริษัท ว. เป็นนิติบุคคล มี ส. เป็นกรรมการผู้แทนนิติบุคคลตามกฎหมาย และมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้บริหารดำเนินกิจการตามความเป็นจริง เท่ากับโจทก์ยืนยันว่าบริษัทได้เชิด ส. ออกแสดงเป็นผู้แทนของตน แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้มีชื่อเป็นผู้แทนตามหนังสือรับรองแต่ก็เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทโดยผ่านทาง ส. นั่นเอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1167 ที่กำหนดให้ความเกี่ยวพันในระหว่างกรรมการและบริษัทและบุคคลภายนอกนั้น ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน คำฟ้องโจทก์จึงไม่ขัดแย้งกันหรือเป็นไปไม่ได้ดังคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 1 หากแต่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 แล้ว
of 45