คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 216

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 447 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6424/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจถอนอุทธรณ์ของกรรมการ, ความขัดแย้งประโยชน์, และการรับอำนาจแทน
โจทก์ที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 กรรมการลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราของโจทก์ที่ 1 ขอถอนฟ้องและถอนอุทธรณ์เฉพาะส่วนของโจทก์ที่ 1 เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ที่ 1 ถอนอุทธรณ์ คำสั่งของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวมิได้กระทบกระเทือนต่อสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ที่ 2 แต่อย่างใด โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีอำนาจที่จะฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216
การที่โจทก์ที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ที่ 1 ขอถอนอุทธรณ์ในคดีนี้จะเป็นผลดีหรือผลเสียต่อโจทก์ที่ 1 ผลดีหรือผลเสียดังกล่าวย่อมตกแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะที่เป็นกรรมการของโจทก์ที่ 1 ด้วยในลักษณะอย่างเดียวกัน จะถือว่าประโยชน์ได้เสียของโจทก์ที่ 1 ขัดกับประโยชน์ได้เสียของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 74 หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6174/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่ชอบเมื่อไม่ได้คัดค้านข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และการลงโทษตามบทกฎหมายที่ถูกต้อง
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 ฎีกาต้องมีข้อความคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยอ้างเหตุว่าการที่ศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงหรือไม่รับฟังข้อเท็จจริงข้อใดนั้นชอบหรือไม่ชอบเพราะเหตุใด ควรรับฟังข้อเท็จจริงอย่างไร เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านของผู้เสียหายที่ 1 แล้วใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหายทั้งสอง ที่จำเลยฎีกาว่าผู้เสียหายทั้งสองมีส่วนร่วมกระทำความผิดด้วย เป็นฎีกาที่ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1767/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์เกินกำหนด ศาลอุทธรณ์พิจารณาได้ตามอำนาจ ป.วิ.อ.ม.245(2) คำพิพากษาถึงที่สุด ไม่มีสิทธิฎีกา
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิต โจทก์ไม่อุทธรณ์ จำเลยยื่นอุทธรณ์เกินกำหนด ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยและให้ส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 1 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่จึงเป็นการวินิจฉัยโดยอาศัยอำนาจตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง มิได้วินิจฉัยเพราะจำเลยอุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ย่อมถึงที่สุด จำเลยไม่มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2617/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยเนื่องจากจำเลยยกข้อเท็จจริงใหม่ในชั้นฎีกา และฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
ในชั้นอุทธรณ์จำเลยอุทธรณ์ข้อเท็จจริงว่า แม้คำให้การของจำเลยที่ให้ไว้แก่คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยร้อยตำรวจตรี ส. จะขัดแย้งกับคำให้การที่เคยให้ไว้แก่คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง แต่ก็ตรงกับคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยในคดีที่จำเลยถูกจับกุมดำเนินคดีในความผิดต่อ พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ จึงไม่เป็นการให้การเท็จ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มิได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัย จำเลยก็ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่าการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ได้วินิจฉัยนั้นไม่ชอบแต่อย่างใด แต่กลับยกข้อเท็จจริงทำนองเดียวกับที่เคยยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ขึ้นฎีกาซ้ำอีก ถือได้ว่าข้อเท็จจริงที่จำเลยยกขึ้นฎีกาดังกล่าวข้างต้น เป็นข้อเท็จจริงที่เพิ่งยกขึ้นในชั้นฎีกา และถือไม่ได้ว่าฎีกาดังกล่าวเป็นการคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคแรก ทั้งมิได้เป็นข้อความที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้ตัดสินไว้ จึงไม่อาจใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวมาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ฟ้องโจทก์บรรยายแยกออกได้เป็นสองตอน ตอนแรกบรรยายข้อเท็จจริงการกระทำของจำเลยว่า จำเลยเคยให้การต่อพันตำรวจโท จ. และร้อยตำรวจเอก ย. คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงว่าร้อยตำรวจตรี ส. นำเลื่อยยนต์ให้จำเลยกับผู้มีชื่อไปรับจ้างตัดเลื่อยไม้ ส่วนในตอนที่สองบรรยายฟ้องว่า จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่ร้อยตำรวจเอก บ. กับพวกคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยข้าราชการว่าร้อยตำรวจตรี ส. มิได้นำเลื่อยยนต์ให้กับจำเลยและผู้มีชื่อไปรับจ้างตัดเลื่อยไม้ซึ่งไม่ตรงกัน แม้คำฟ้องโจทก์จะมิได้บรรยายฟ้องว่าความจริงเป็นอย่างไร แต่ปรากฏตามคำฟ้องโจทก์ว่าจำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่ร้อยตำรวจเอก บ. กับพวก ดังนั้น จึงเป็นอันเข้าใจว่าโจทก์ถือว่าความจริงเป็นไปตามข้อความที่จำเลยแจ้งแก่พันตำรวจโท จ. และร้อยตำรวจเอก ย. คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงว่าร้อยตำรวจตรี ส. นำเลื่อยยนต์ให้จำเลยกับผู้มีชื่อไปรับจ้างตัดเลื่อยไม้ ฟ้องโจทก์ได้บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่พอสมควรที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6318/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. ม.216 โต้แย้งเฉพาะคำพิพากษาศาลชั้นต้น ไม่โต้แย้งศาลอุทธรณ์
ฎีกาของจำเลยโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นทั้งสิ้น เนื้อหาของฎีกาก็คัดข้อความมาจากคำอุทธรณ์ทั้งหมด แม้คำขอท้ายฎีกาจะเป็นการขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 แต่ฎีกาของจำเลยดังกล่าวก็เป็นการโต้แย้งคัดค้านเฉพาะคำพิพากษาศาลชั้นต้น มิได้โต้แย้งคัดค้านว่าศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาไม่ชอบอย่างไร โดยไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 เพราะเหตุใด ทั้งๆ ที่คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 อ้างเหตุคนละอย่างกับเหตุที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย จึงเป็นฎีกาที่มิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 อันเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 216 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5212/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่ชอบเมื่อเนื้อหาเป็นการโต้แย้งคำวินิจฉัยศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ซ้ำ โดยมิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ข้อความในฎีกาของโจทก์ล้วนมีเนื้อหาเป็นการโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นทั้งสิ้นโดยคัดลอกจากข้อความในอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหมด ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยในปัญหาเดียวกันไว้แล้ว ฎีกาของโจทก์มิได้กล่าวอ้างว่าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงตอนใดไม่ถูกต้องอย่างไรและไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เพราะเหตุใด ทั้งๆ ที่เหตุผลในคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นต่างกับเหตุผลในคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ แม้โจทก์จะมีคำขอท้ายฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิจารณาและพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ และมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้องของโจทก์ต่อไปด้วย ก็ไม่อาจถือเป็นคำคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไปได้ ฎีกาของโจทก์จึงเป็นฎีกาที่มิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาที่ไม่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4841/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับสารภาพที่ไม่ชัดเจนฐานความผิด ทำให้ศาลไม่สามารถลงโทษตามฟ้องได้ จำเป็นต้องมีการสืบพยานเพื่อพิสูจน์ฐานความผิด
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยประกอบกิจการให้บริการฉายหรือให้เช่าเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ โดยได้ประโยชน์ตอบแทนด้วยการคิดค่าบริการ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนและมิได้รับยกเว้นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ฯ มาตรา 6 วรรคหนึ่ง และ 20 วรรคสอง ซึ่งเป็นคนละฐานความผิดและมีบทกำหนดโทษแตกต่างกัน ตามคำฟ้องแสดงว่าโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยในข้อหาใดข้อหาหนึ่งเพียงข้อหาเดียว การที่จำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อหาจึงเป็นคำรับสารภาพที่ไม่สามารถรับฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดในข้อหาใด โจทก์ต้องนำพยานเข้าสืบเพื่อให้ได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดฐานใด เพื่อศาลจะได้นำข้อเท็จจริงที่ได้ความมาปรับบทลงโทษได้ แต่โจทก์มิได้นำสืบ ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยไม่ได้
การที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามข้อบังคับและตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ ตามมาตรา 19 วรรคสอง และมาตรา 19 วรรคสี่ ครบถ้วนแล้ว เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพโจทก์ก็หาจำต้องสืบพยานแต่อย่างใดไม่ ฎีกาของโจทก์มิได้มีข้อความโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ว่าเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบเพราะเหตุใด ฎีกาของโจทก์จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายที่มิได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ. ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดฯ มาตรา 3 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 4 และ ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3990/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอคืนของกลาง: เจ้าของต้องพิสูจน์ตนเองว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด
คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามคำร้องขอคืนของกลางของผู้ร้องเพียงว่าศาลจะสั่งคืนของกลางให้แก่ผู้ร้องหรือไม่เท่านั้น ส่วนประเด็นที่ว่าพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนจำเลยโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นเรื่องที่จำเลยยกขึ้นต่อสู้ในคดีหลัก ผู้ร้องจะยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาในคำร้องขอคืนของกลางไม่ได้
ป.อ. มาตรา 36 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของเจ้าของทรัพย์แท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ขอให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สินที่ศาลสั่งให้ริบภายในหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด มิได้กำหนดให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่ถูกยึดทราบ แม้พนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งให้เจ้าของทรัพย์ที่ถูกยึดทราบก็ตาม กำหนดเวลาดังกล่าวก็เริ่มนับแล้ว
การขอให้ศาลสั่งคืนของกลางที่ศาลสั่งริบตาม ป.อ. มาตรา 36 เป็นส่วนหนึ่งของคดีอาญา เมื่อผู้ร้องอ้างว่าผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นหน้าที่ของผู้ร้องที่จะต้องนำสืบให้ได้ความตามที่กล่าวอ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 715/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยข้อเท็จจริงใหม่ในชั้นฎีกา และยืนตามศาลล่างที่ไม่รอการลงโทษจำคุก
ในชั้นอุทธรณ์จำเลยยกข้อเท็จจริงทำนองว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดขึ้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มิได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัย จำเลยไม่ฎีกาโต้แย้งว่าการที่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยนั้นไม่ชอบแต่อย่างใด จำเลยกลับยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นฎีกาซ้ำอีก จึงถือได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยเพิ่งยกขึ้นในชั้นฎีกา และถือไม่ได้ว่าฎีกาดังกล่าวเป็นการคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 ทั้งมิได้เป็นข้อความที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ตัดสินไว้ ไม่อาจใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาดังกล่าวเป็นการมิชอบ
ตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติซึ่งจำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านปรากฏว่า จำเลยเคยกระทำความผิดฐานออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คมาก่อน ศาลฎีกาในคดีดังกล่าวพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 4 เดือน เมื่อจำเลยในคดีก่อนและคดีนี้เป็นบุคคลคนเดียวกันย่อมถือว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าคดีก่อนและคดีนี้จำเลยได้รับโทษจำคุกในฐานะใด และเมื่อโทษจำคุกที่จำเลยได้รับในคดีก่อนมิใช่โทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ศาลฎีกาจะพิพากษาให้รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้ตาม ป.อ. มาตรา 56

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8400/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากผู้เรียงฟ้องไม่ได้เป็นทนายความ ทำให้ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
การฝ่าฝืนข้อห้ามตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 33 มีโทษทางอาญาตามมาตรา 82 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ล. มิได้เป็นผู้ซึ่งได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความและไม่เป็นบุคคลซึ่งอยู่ในข้อยกเว้นตามมาตรา ๓๓ การที่ ล. เรียงหรือแต่งฟ้องฎีกาให้จำเลย จึงเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาซึ่งเกิดจากการกระทำอันไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
of 45