พบผลลัพธ์ทั้งหมด 181 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3978/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ตัวการร่วมทำร้ายจนถึงแก่ความตาย ศาลปรับบทลงโทษจากฆ่าเป็นทำร้ายจนถึงแก่ความตาย
การที่ผู้ตายที่ 1 ใช้อาวุธมีดแทง น. แล้ว น. ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายที่ 1 จึงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าอย่างกะทันหันโดยจำเลยมิได้คบคิดนัดหมายกันมาก่อน ถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นและฐานฆ่าผู้อื่นโดยพลาด แต่เมื่อจำเลยมีเจตนาร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้ตายที่ 1 มาตั้งแต่ต้นและร่วมชุลมุนชกต่อยผู้ตายที่ 1 จึงต้องรับผลแห่งการกระทำของพวกจำเลยและ น. ด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดฐานทำร้ายผู้ตายที่ 1 จนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 และฐานร่วมกันทำร้ายผู้ตายที่ 2 จนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายโดยพลาดตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก ประกอบมาตรา 60, 83 อันเป็นความผิดหลายอย่างซึ่งรวมอยู่ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นและฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยพลาดตามที่โจทก์ฟ้อง และเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ซึ่งศาลฎีกาลงโทษในความผิดดังกล่าวตามที่พิจารณาได้ความได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2324/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฐานะเจ้าพนักงาน vs. ยักยอกทรัพย์ - จำเลยเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ข้าราชการ จึงไม่อยู่ในฐานะเจ้าพนักงาน แต่ความผิดฐานยักยอกยังคงมี
จําเลยเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ม. ผู้เสียหาย ซึ่งพนักงานมหาวิทยาลัยดังกล่าวคือ พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาตามความในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 พระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดคํานิยามของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาว่า หมายถึง บุคคลซึ่งได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างให้ทำงานในสถาบันอุดมศึกษา โดยได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินหรือเงินรายได้ของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งความหมายของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาตามกฎหมายฉบับนี้แตกต่างจากความหมายของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาตามกฎหมายฉบับเดียวกัน กล่าวคือข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาหมายถึงบุคคลซึ่งได้รับบรรจุและแต่งตั้งให้รับราชการตามพระราชบัญญัตินี้ โดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา หากเปรียบเทียบข้อแตกต่างสำคัญแล้ว จะเห็นได้ชัดว่าข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาเป็นบุคคลที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการโดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษาจึงมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ส่วนพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาเป็นบุคคลที่ได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างให้เป็นพนักงานจึงถือไม่ได้ว่าเป็นข้าราชการ อีกทั้งค่าจ้างหรือค่าตอบแทนพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาก็มิใช่เงินเดือนอันมีที่มาจากเงินงบประมาณประเภทเงินดือนในสถาบันอุดมศึกษา แม้พระราชบัญญัติฉบับนี้จะระบุว่า พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาความหมายของพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุนตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย ม. พ.ศ. 2537 และข้อบังคับมหาวิทยาลัย ม. ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2552 ที่ใช้บังคับขณะจําเลยกระทำผิดแล้ว ล้วนได้ความตรงกันว่าพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งสองประเภทได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปหรือเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย เมื่อจําเลยเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งมิใช่ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาและไม่ได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา ประกอบกับไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับใดกําหนดให้พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาเป็นเจ้าพนักงาน จําเลยจึงไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และศาลไม่อาจลงโทษจําเลยในฐานะเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147 และ 157 ตามฟ้องของโจทก์ได้ แต่เมื่อทางพิจารณาได้ความว่า จําเลยเบียดบังทรัพย์ของผู้เสียหายไปในฐานะบุคคลธรรมดาซึ่งโจทก์ได้บรรยายฟ้องกล่าวถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 ไว้แล้ว ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจําเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และ 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4461/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
จำกัดอำนาจศาลในการลงโทษนอกคำขอฟ้อง และพิจารณาเหตุรอการลงโทษในคดีอาญาเกี่ยวกับอาวุธปืน
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน และฐานพาอาวุธปืนตาม ป.อ. มาตรา 80, 288, 371 และ พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ โดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุ ในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชนตาม ป.อ. มาตรา 376 ด้วย จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ประสงค์ที่จะให้ลงโทษจำเลยตามบทมาตราดังกล่าว ทั้งการกระทำความผิดตามมาตรา 376 ก็มิใช่การกระทำซึ่งรวมอยู่ในความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง อันศาลจะลงโทษจำเลยในการกระทำผิดตามที่พิจารณาได้ความได้ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ปรับบทลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 376 เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคแรก อันเป็นการไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4460/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดอาญาฐานพยายามฆ่า, มีอาวุธปืน, ยิงปืนโดยใช่เหตุ และค่าชดใช้สินไหมทดแทนจากการวิวาท
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ฐานมีอาวุธปืนและพาอาวุธปืน ตาม ป.อ. มาตรา 80, 288, 371 และ พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ โดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชนตาม ป.อ. มาตรา 376 ด้วย จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ประสงค์ที่จะให้ลงโทษจำเลยตามบทมาตราดังกล่าว ทั้งการกระทำความผิดตามมาตรา 376 ก็มิใช่การกระทำซึ่งรวมอยู่ในความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง อันศาลจะลงโทษจำเลยในการกระทำผิดตามที่พิจารณาได้ความได้ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาปรับบทลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 376 เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคแรก อันเป็นการมิชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3151/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การทำร้ายร่างกายโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายสาหัส และการวินิจฉัยความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่า
พวกของจำเลยทั้งสามรุมทำร้ายผู้เสียหายทั้งสอง โดย ณ. ใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหายที่ 1 หลายครั้งเป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัส ส่วนจำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนตีศีรษะผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเจตนาของจำเลยที่ 2 เป็นคนละเจตนากับ ณ. ที่ใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหายที่ 1 โดยมีเจตนาฆ่า ดังนี้ เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 รู้เห็นหรือคบคิดกับ ณ. ในการใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหายที่ 1 จำเลยที่ 2 ย่อมไม่ต้องรับผิดในผลของการกระทำของ ณ. เมื่อตามผลการชันสูตรบาลแผลไม่ปรากฏบาดแผลจากการใช้อาวุธปืนตี คงมีเฉพาะบาดแผลที่ถูกแทง และทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 1 ได้รับอันตรายแก่การจากการกระทำของจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 391 เท่านั้น เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 กับพวกในความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบ 80 ความผิดดังกล่าวย่อมรวมถึงการใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจด้วย ถือได้ว่าการกระทำตามฟ้องรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ในการกระทำความผิดที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8749/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดที่รวมการกระทำหลายอย่าง แม้ฟ้องเฉพาะความผิดฐานพยายามฆ่า และแก้ไขค่าเสียหายทางแพ่งตามผลคดีอาญา
ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 กับพวกในความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 ความผิดดังกล่าวย่อมรวมถึงการใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจด้วย ถือได้ว่าการกระทำความผิดตามฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ในการกระทำผิดตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 192 วรรคท้าย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ.มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3851/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การดูหมิ่นผู้อื่นและการเปลี่ยนแปลงฐานะหน่วยงาน: ผลกระทบต่อความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน
ภายหลังจากจำเลยกระทำความผิดคดีนี้ ได้มี พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ.2559 มาตรา 3 ให้ยกเลิก พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ.2541 โดยมาตรา 5 วรรคสอง ให้มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมีฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ที่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ และกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น ดังนั้น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒจึงเป็นองค์การมหาชนที่แยกออกจากระบบราชการ หาใช่ส่วนราชการที่สังกัดกระทรวง ทบวง กรมของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีกต่อไปไม่ และตาม ป.อ. มาตรา 1 (16) บัญญัติว่า "เจ้าพนักงาน" หมายความว่า บุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงานหรือได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าเป็นประจำหรือครั้งคราว และไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่ ดังนี้ เมื่อ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ.2559 มิได้กำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และการปฏิบัติหน้าที่ของผู้เสียหายซึ่งเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยที่ทำหน้าที่ตรวจข้อมูลข่าวสารก็หาใช่การปฏิบัติหน้าที่ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการไม่ ผู้เสียหายจึงไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้น แม้จำเลยจะดูหมิ่นผู้เสียหาย จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยดูหมิ่นผู้เสียหายในฐานะบุคคลธรรมดา ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบของความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าตาม ป.อ. มาตรา 393 (เดิม) แล้ว ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และ 225 แต่โจทก์ฟ้องคดีและได้ตัวจำเลยมายังศาลเกิน 1 ปี นับแต่วันกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) ปัญหาเรื่องสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป เป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยดูหมิ่นผู้เสียหายในฐานะบุคคลธรรมดา ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบของความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าตาม ป.อ. มาตรา 393 (เดิม) แล้ว ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และ 225 แต่โจทก์ฟ้องคดีและได้ตัวจำเลยมายังศาลเกิน 1 ปี นับแต่วันกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) ปัญหาเรื่องสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป เป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1857/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนที่ไม่ได้สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่ได้รับอนุญาต และการรอการลงโทษสำหรับนักกีฬายิงปืน
แม้คำฟ้องของโจทก์จะบรรยายว่า จำเลยมีกระสุนปืนเล็กกลขนาด .223 (5.56 มิลลิเมตร ) จำนวน 11 นัด และกระสุนปืนขนาด 7.62 มิลลิเมตร จำนวน 100 นัด ซึ่งเป็นเครื่องกระสุนปืนตามกฎหมายแบบที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ไว้ในครอบครอง อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และผู้ชำนาญการที่ตรวจพิสูจน์จะมีความเห็นว่า กระสุนปืนทั้งสองขนาดเป็นเครื่องกระสุนปืนแบบที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2522) ออกตามความใน พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ก็ตาม แต่กฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2522) ข้อ 3 กำหนดว่า "เครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้ตามมาตรา 7 หรือมาตรา 24 ต้องเป็นเครื่องกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืนตามข้อ 2 ที่ได้รับอนุญาต แต่ต้องไม่เป็นเครื่องกระสุนปืนชนิดเจาะเกราะหรือชนิดกระสุนเพลิง" ซึ่งหมายความว่า เครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้ ต้องเป็นเครื่องกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืนที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ได้ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2522) ข้อ 2 เว้นแต่ เครื่องกระสุนปืนนั้น แม้จะเป็นเครื่องกระสุนปืนขนาดที่ใช้กับอาวุธปืนที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ได้ก็ตาม หากเป็นเครื่องกระสุนปืนชนิดเจาะเกราะหรือชนิดกระสุนเพลิงแล้วเป็นเครื่องกระสุนปืนชนิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ เมื่อเครื่องกระสุนปืนของกลางมีขนาดเพียง .223 (5.56 มิลลิเมตร) และขนาดเพียง 7.62 มิลลิเมตร ไม่เกินขนาดอาวุธปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2522) ข้อ 2 (1) และ ข้อ 2 (2) (ก) กับ (ข) จึงเห็นได้ว่า เครื่องกระสุนปืนของกลางเป็นเครื่องกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้ เครื่องกระสุนปืนของกลาง จึงเป็นเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ได้เช่นกัน เว้นแต่เครื่องกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มิลลิเมตร) และกระสุนปืนขนาด 7.62 มิลลิเมตร ของกลาง จะเป็นเครื่องกระสุนปืนชนิดเจาะเกราะหรือชนิดกระสุนเพลิง จึงจะเป็นเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2522) ข้อ 3 ตอนท้าย ดังนั้น แม้จะรับฟังว่า เครื่องกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มิลลิเมตร) และกระสุนปืนขนาด 7.62 มิลลิเมตร ของกลาง เป็นเครื่องกระสุนปืนที่ใช้กับปืนกลซึ่งใช้ในทางการทหารเพื่อใช้ในการสงครามดังเช่นที่โจทก์ฎีกา แต่คำฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายว่า เครื่องกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มิลลิเมตร) จำนวน 11 นัด และกระสุนปืนขนาด 7.62 มิลลิเมตร จำนวน 100 นัด ของกลาง เป็นเครื่องกระสุนปืนชนิดเจาะเกราะหรือชนิดกระสุนเพลิง ซึ่งเป็นข้อยกเว้นตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2522) ข้อ 3 ตอนท้าย ที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ และจำเลยรับข้อเท็จจริงว่าเครื่องกระสุนปืนเล็กกลขนาด .223 (5.56 มิลลิเมตร) และเครื่องกระสุนปืนขนาด 7.62 มิลลิเมตร ไม่เป็นกระสุนปืนชนิดเจาะเกราะหรือกระสุนเพลิง การที่จำเลยมีเครื่องกระสุนปืนของกลางจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง
แม้กระสุนปืนเล็กขนาด .223 (5.56 มิลลิเมตร) ของกลาง จะสามารถใช้ยิงได้กับปืนยาวไรเฟิล (REMINGTON) และกระสุนปืนขนาด 7.62 มิลลิเมตร ของกลาง จะสามารถใช้ยิงได้กับปืนยาวไรเฟิล (SAKO) ที่จำเลยได้รับอนุญาตให้มีและใช้ก็ตาม ก็เป็นเพียงการดัดแปลงเพื่อนำไปใช้เท่านั้น ทั้งจำเลยรับข้อเท็จจริงตามคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้ตรวจพิสูจน์เครื่องกระสุนปืนของกลางว่า หากนำเครื่องกระสุนปืนของกลางไปใช้ ปืนอาจได้รับความเสียหายและคนยิงอาจได้รับอันตราย ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า เครื่องกระสุนปืนของกลางมิใช่เครื่องกระสุนปืนสำหรับใช้กับอาวุธปืนที่จำเลยได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ ทั้งโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ไว้ในครอบครอง ย่อมรวมถึงการมีเครื่องกระสุนปืนซึ่งมิใช่สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่ตนได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ด้วย ถือได้ว่าความผิดที่โจทก์ฟ้องรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง จึงไม่ใช่เป็นกรณีความผิดที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ แม้ พ.ร.บ.อาวุธปืน ฯ จะบัญญัติความผิดทั้งสองฐานไว้คนละมาตราก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เพียงว่า จำเลยมีเครื่องกระสุนปืนซึ่งมิใช่สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่ตนได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนซึ่งมิใช่สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่จำเลยได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ ซึ่งมีบทลงโทษเบากว่าได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย และไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด ปัญหาข้อนี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
แม้กระสุนปืนเล็กขนาด .223 (5.56 มิลลิเมตร) ของกลาง จะสามารถใช้ยิงได้กับปืนยาวไรเฟิล (REMINGTON) และกระสุนปืนขนาด 7.62 มิลลิเมตร ของกลาง จะสามารถใช้ยิงได้กับปืนยาวไรเฟิล (SAKO) ที่จำเลยได้รับอนุญาตให้มีและใช้ก็ตาม ก็เป็นเพียงการดัดแปลงเพื่อนำไปใช้เท่านั้น ทั้งจำเลยรับข้อเท็จจริงตามคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้ตรวจพิสูจน์เครื่องกระสุนปืนของกลางว่า หากนำเครื่องกระสุนปืนของกลางไปใช้ ปืนอาจได้รับความเสียหายและคนยิงอาจได้รับอันตราย ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า เครื่องกระสุนปืนของกลางมิใช่เครื่องกระสุนปืนสำหรับใช้กับอาวุธปืนที่จำเลยได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ ทั้งโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ไว้ในครอบครอง ย่อมรวมถึงการมีเครื่องกระสุนปืนซึ่งมิใช่สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่ตนได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ด้วย ถือได้ว่าความผิดที่โจทก์ฟ้องรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง จึงไม่ใช่เป็นกรณีความผิดที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ แม้ พ.ร.บ.อาวุธปืน ฯ จะบัญญัติความผิดทั้งสองฐานไว้คนละมาตราก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เพียงว่า จำเลยมีเครื่องกระสุนปืนซึ่งมิใช่สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่ตนได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนซึ่งมิใช่สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่จำเลยได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ ซึ่งมีบทลงโทษเบากว่าได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย และไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด ปัญหาข้อนี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 474/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การมีเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลแก้ไขคำพิพากษาให้ลงโทษฐานครอบครองกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตแทน
โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า เครื่องกระสุนปืนเล็กกลของกลางเป็นเครื่องกระสุนปืนสามารถใช้ยิงทำอันตรายแก่ชีวิตและวัตถุได้ และเป็นเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 เท่านั้น โดยไม่บรรยายฟ้องให้เห็นว่า เครื่องกระสุนปืนดังกล่าวเป็นชนิดเจาะเกราะหรือชนิดกระสุนเพลิง กรณีจึงไม่อาจฟังว่าเครื่องกระสุนปืนของกลางเป็นชนิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ตามกฎกระทรวงดังกล่าว ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 ตามฟ้อง แต่การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ไว้ในครอบครอง ย่อมรวมถึงการมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนด้วย ถือได้ว่าความผิดตามที่โจทก์ฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้ในตัวเอง จึงไม่ใช่ความผิดที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ แม้ พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 บัญญัติความผิดทั้งสองฐานไว้ในคนละมาตรา แต่เมื่อข้อเท็จจริงตามที่โจทก์บรรยายฟ้องฟังได้ว่า จำเลยมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ศาลย่อมลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตซึ่งมีบทลงโทษเบากว่าได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย และไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4976/2562
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สนับสนุนการกระทำผิดค้ายาเสพติด: ศาลแก้โทษจากสมคบกันเป็นสนับสนุนการกระทำผิด
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับ ห. และพวกฝ่ายหนึ่ง กับ ณ. และพวกอีกฝ่ายหนึ่งสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โดยจำเลยเป็นฝ่ายร่วมดำเนินการจัดหา สั่งการ และให้เงินทุนในการลำเลียงยาเสพติดแก่ ณ. และพวก แต่ในชั้นพิจารณาไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์ว่า จำเลยได้เข้าร่วมตกลงคบคิดเพื่อค้ายาเสพติดของกลางกับ ห. และพวก คงได้ความเพียงว่า หลังจากกลุ่มคนดังกล่าวสมคบกันลำเลียงยาเสพติดของกลางแล้ว จำเลยได้รับการติดต่อจากหญิงชาวลาวที่ชื่อ ม. เครือข่ายยาเสพติดของ ห. ให้โอนเงินค่าจ้างลำเลียงยาเสพติดเข้าบัญชีเงินฝากของ ณ. เพียงบางส่วนเท่านั้น ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจาก ห. และพวกสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดแล้วเช่นนี้ ยังไม่พอฟังว่าจำเลยได้สมคบกับ ห. และพวกเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่ได้สมคบกับ ห. และพวกเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดแล้ว แม้ในเวลาต่อมา ณ. และพวกร่วมกันมียาเสพติดของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน จำเลยย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา 8 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่การที่จำเลยโอนเงินค่าจ้างลำเลียงยาเสพติดของกลางแก่ ณ. บางส่วน ย่อมถือได้ว่าจำเลยสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด ซึ่งต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (1) แม้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยสมคบกับพวกเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 แต่เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าการกระทำของจำเลยเป็นเพียงความผิดฐานสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิดตามมาตรา 6 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และได้ความว่ามีการขออนุมัติจับกุมจำเลยในข้อหาเป็นผู้สนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 ไว้ด้วย ทั้งได้รับอนุมัติการจับกุมโดยชอบตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว และโจทก์มีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 6 ดังกล่าวมาด้วย ดังนี้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (1) ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3