คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ม. 4

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 13 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4213/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีแรงงานหลังโอนสิทธิเรียกร้อง - รัฐวิสาหกิจ - ละเมิด/ผิดสัญญาจ้าง
พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 4 ให้คำจำกัดความของคำว่า "หน่วยงานของรัฐ" หมายความว่า "กระทรวง ทบวง กรม หรือ ... และรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา และ..." โจทก์จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 โดยมาตรา 5 บัญญัติว่า ให้จัดตั้งธนาคารขึ้นเรียกว่า "ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย" และให้ธนาคารเป็นนิติบุคคล และมาตรา 7 กำหนดทุนเรือนหุ้นของธนาคารไว้หนึ่งพันล้านบาท โดยให้ธนาคารขายหุ้นให้แก่กระทรวงการคลัง หรือบุคคลอื่น โดยให้กระทรวงการคลังซื้อหุ้นของธนาคารได้ตามจำนวนที่เห็นสมควร แต่จะต้องไม่เกินร้อยละสี่สิบเก้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด เห็นได้ว่า พ.ร.บ.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 มีจุดมุ่งหมายให้โจทก์เป็นนิติบุคคล แต่ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายให้โจทก์มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจเพราะกระทรวงการคลังซื้อหุ้นของโจทก์ได้ไม่เกินร้อยละ 49 แม้ต่อมากระทรวงการคลัง ธนาคาร ม. และธนาคาร ก. เข้าถือหุ้นของโจทก์รวมกันเกินกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดหรืออีกนัยหนึ่งโจทก์มีส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจมีทุนรวมอยู่ด้วยเกินร้อยละห้าสิบ ซึ่งส่งผลทำให้โจทก์มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจตามคำจำกัดความของคำว่ารัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 แต่ความเป็นรัฐวิสาหกิจของโจทก์มิได้เป็นมาตั้งแต่วาระแรกที่ พ.ร.บ.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 ใช้บังคับ โจทก์เพิ่งเปลี่ยนสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจในภายหลังเพราะมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้น โจทก์จึงไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ จึงไม่ใช่หน่วยงานของรัฐตามความหมายของมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า การที่ลูกค้ารายบริษัท ด. ทำคำขอสินเชื่อสำหรับใช้ในโครงการวงเงิน 650,000,000 บาท ต่อคณะกรรมการบริหารของโจทก์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ซึ่งมีหน้าที่ร่วมกันจัดทำเอกสารและเสนอข้อมูลเพื่อขออนุมัติสินเชื่อตามระเบียบปฏิบัติงานด้านสินเชื่อของโจทก์ ไม่ให้ความสำคัญต่อประเด็นที่ฝ่ายโครงการสินเชื่อแจ้งความเสี่ยงว่าที่ตั้งโครงการอยู่ในเขตที่กำหนดให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้และใบอนุญาตก่อสร้างอยู่ระหว่างดำเนินการ ยังไม่แน่ชัดว่าลูกค้าจะได้รับใบอนุญาตก่อสร้างหรือไม่ และเร่งรีบเสนอขออนุมัติคณะกรรมการบริหารให้อนุมัติและเบิกใช้สินเชื่อค่าที่ดิน 430,000,000 บาท ให้ลูกค้าไปก่อน และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ยังยินยอมให้ลูกค้าเบิกถอนสินเชื่อเพื่อการก่อสร้างและสาธารณูปโภคอีก 16,695,947.66 บาท ทั้งที่ยังไม่มีข้อยุติเรื่องการได้รับใบอนุญาตก่อสร้าง เป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนและระเบียบปฏิบัติของโจทก์และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และผิดสัญญาจ้าง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ให้ชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากทั้งมูลผิดสัญญาจ้างแรงงานและมูลละเมิด โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง
กรณีโจทก์โอนสินทรัพย์ของลูกค้ารายบริษัท ด. ให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ ธนาคาร อ. ก่อนฟ้องคดีนี้แล้ว แม้โจทก์ขายสินทรัพย์ซึ่งรวมถึงสิทธิเรียกร้องของลูกค้ารายดังกล่าวไปก่อนฟ้องคดีนี้ก็ส่งผลทำให้โจทก์สิ้นสิทธิเรียกร้องจากลูกค้ารายดังกล่าวตามมูลหนี้ผิดสัญญาให้สินเชื่อเท่านั้น แต่โจทก์ยังคงได้รับความเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานและละเมิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 อยู่ แม้โจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ชำระค่าเสียหายเท่ากับจำนวนหนี้สินเชื่อของลูกค้าหักออกด้วยจำนวนเงินที่โจทก์ขายสินทรัพย์ของลูกค้านั้นก็เป็นเรื่องการคำนวณค่าเสียหายของโจทก์ ซึ่งต้องพิจารณาในประเด็นว่าโจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่เพียงใด ส่วนภายหลังบริษัทบริหารสินทรัพย์ ธนาคาร อ. จะได้รับชำระหนี้จากลูกค้ารายดังกล่าวหรือไม่นั้นเป็นเรื่องระหว่างบริษัทกับลูกค้ารายดังกล่าว เมื่อโจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องได้ตามสัญญาจ้างแรงงานและมูลละเมิด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1307/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของลูกจ้างต่อความเสียหายจากสินเชื่อที่ไม่ถูกต้อง การอนุมัติสินเชื่อโดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบ
แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า โจทก์มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 แต่ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 4 ให้คำนิยามความหมายของคำว่า "หน่วยงานของรัฐ" ว่า กระทรวง... และรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา..." รัฐวิสาหกิจใดจะเป็นหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายดังกล่าวได้นั้น คงมีแต่เฉพาะกรณีที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาเท่านั้น แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงจากหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2550 เรื่อง การเพิ่มทุนของโจทก์ โดยจำเลยไม่คัดค้านว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการซื้อหุ้นเพิ่มทุนโจทก์ของกระทรวงการคลัง ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จะทำให้โจทก์มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจเนื่องจากหน่วยงานภาครัฐถือหุ้นเกินร้อยละ 50 ก็ตาม แต่การเข้าถือหุ้นของหน่วยงานภาครัฐดังกล่าวก็ไม่ทำให้ฐานะของโจทก์ในขณะจัดตั้งตามกฎหมายเปลี่ยนแปลงไปได้ เมื่อตาม พ.ร.บ.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 มาตรา 7 กำหนดให้กระทรวงการคลังซื้อหุ้นของโจทก์ได้ไม่เกินร้อยละ 49 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมด การจัดตั้งโจทก์ตามกฎหมายดังกล่าวย่อมไม่ได้มีความประสงค์ให้โจทก์มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจมาตั้งแต่ต้น โจทก์จึงไม่ใช่รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ อันจะตกอยู่ในความหมายของคำว่า "หน่วยงานของรัฐ" ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
คดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องจำเลยโดยอ้างว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเพียงอย่างเดียว แต่โจทก์ระบุชัดในคำฟ้องว่า การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดและผิดสัญญาจ้างต่อโจทก์ โดยบรรยายฟ้องว่า ขณะจำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์ 2 มีหน้าที่ในการจัดทำเอกสารและเสนอข้อมูลเพื่ออนุมัติสินเชื่อ จำเลยไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ตามระเบียบปฏิบัติงานด้านสินเชื่อ ส่งผลต่อการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ และทำให้โจทก์เสียหายไม่สามารถบังคับชำระหนี้จากลูกค้า และ ป. ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันได้ ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย จึงเป็นการฟ้องขอให้จำเลยรับผิดทั้งมูลละเมิดและมูลผิดสัญญาจ้างแรงงาน
ขณะจำเลยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์ 2 มีหน้าที่รับผิดชอบจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการขออนุมัติสินเชื่อ ร่วมวิเคราะห์สินเชื่อกับหน่วยงานวิเคราะห์สินเชื่อเพื่อให้ข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพที่ถูกต้องครบถ้วนเป็นประโยชน์ต่อการอนุมัติสินเชื่อ กลับนำเสนอขออนุมัติสินเชื่อของลูกค้ารายบริษัท ซ. ต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารโจทก์ โดยขอเปลี่ยนแปลงผู้ค้ำประกันในที่ประชุมด้วยวาจาจาก ส. เป็น ป. ซึ่งไม่ได้นำเสนอเอกสารหลักฐานการตรวจสอบภาระหนี้สินของ ป. ที่ค้างชำระต่อธนาคาร ก. เกินกว่า 300 วัน เพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติวงเงินสินเชื่อของคณะกรรมการบริหารของโจทก์ อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบปฏิบัติงานด้านสินเชื่อของโจทก์ในบทที่ 4 ข้อ 4.1.3 (5) โดยเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อที่มีความสำคัญและต้องนำส่งทุกครั้งที่มีการขออนุมัติสินเชื่อ การกระทำของจำเลยเช่นนี้จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่ สนส.33/2551 เรื่อง การให้สินเชื่อในลักษณะที่เล็งเห็นว่าจะเรียกคืนไม่ได้ ข้อ 5.1 ข้อ 5.1.3 และข้อ 5.1.5 และคำสั่งโจทก์ที่ ธ.139/2551 เรื่อง สินเชื่อต้องห้ามและสินเชื่อพิเศษแต่ละประเภท ข้อ 1.2 ข้อ 1.2.3 และข้อ 1.2.5 เป็นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้อง ย่อมเป็นการผิดสัญญาจ้างต่อโจทก์ หลังจากที่โจทก์อนุมัติสินเชื่อแล้ว บริษัท ซ. ชำระหนี้ให้แก่โจทก์เพียง 13 งวด ค้างชำระเงินต้นถึง 60,000,000 บาท ทำให้โจทก์ต้องฟ้องบริษัท ซ. และ ป. กับพวก ต่อศาลแพ่ง ความเสียหายที่เกิดขึ้นดังกล่าว จึงเป็นผลสืบเนื่องมาจากการไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามระเบียบ ประกาศ และคำสั่งโจทก์ของจำเลย แต่ที่โจทก์เรียกค่าเสียหายจากจำเลย เมื่อหนี้ดังกล่าวศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาให้บริษัท ซ. และ ป. ร่วมกันชำระเงิน 94,684,743.99 บาท พร้อมค่าชดเชยร้อยละ 18 ต่อปี จากต้นเงิน 60,000,000 บาท ให้แก่โจทก์ ทั้งยังให้บังคับจำนำยึดหุ้นของบริษัท ซ. ออกขายทอดตลาดมาชำระหนี้ และให้บังคับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จดทะเบียนจำนองไว้เป็นประกันหนี้ออกขายทอดตลาด หากลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ชำระหนี้ให้ครบถ้วนถูกต้อง ดังนั้น การจะกำหนดให้จำเลยต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าวทั้งหมดอีกย่อมเป็นการซ้ำซ้อนและเป็นการไม่สมควร การกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยชดใช้คงต้องคำนึงถึงจำนวนเงินต้นทุนสินเชื่อตามจริงที่บริษัท ซ. กู้ยืมไป และจำนวนเงินที่โจทก์ได้รับชำระแล้วในคดีตามคำพิพากษาของศาลแพ่งหรืออาจจะได้รับชำระตามคำพิพากษาต่อไปโดยการบังคับจากหลักประกัน คือ หุ้นของบริษัท ซ. ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จดทะเบียนจำนอง และผู้ค้ำประกัน ประกอบเข้ากับการลดน้อยถอยลงของหลักประกันซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันดังกล่าวด้วย แต่การกำหนดค่าเสียหายเป็นดุลพินิจซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่อาจกำหนดให้ได้ จึงย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยควรรับผิดต่อโจทก์เพียงใดตามนัยข้างต้นต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3529/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิไล่เบี้ยค่าสินไหมทดแทนจากลูกจ้างกรณีทำละเมิด: กฎหมายเฉพาะ (พรบ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่) ไม่เปิดช่องให้ไล่เบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่ง
การนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมาใช้บังคับแก่คดี เป็นปัญหาข้อกฎหมายสำคัญที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษควรวินิจฉัยให้ เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาโดยมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยในปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวนี้ไปเสียทีเดียวได้ และเพื่อความรวดเร็ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิจารณาพิพากษาใหม่
พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 4 ให้คำนิยามของคำว่า เจ้าหน้าที่ หมายความว่า ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือ... และคำว่า หน่วยงานของรัฐ หมายความว่า... รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา และมาตรา 8 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายเพื่อการละเมิดของเจ้าหน้าที่ ให้หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่หน่วยงานของรัฐได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ได้กระทำการนั้นไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เมื่อโจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นองค์การของรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ. 2496 และ พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พ.ศ. 2519 อันอยู่ในนิยามของคำว่า หน่วยงานของรัฐ และจำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์อันอยู่ในนิยามคำว่า เจ้าหน้าที่ จึงต้องใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวบังคับแก่คดีนี้ ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยกระทำด้วยความประมาทเลินเล่อ มิได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โจทก์จึงไม่มีสิทธิไล่เบี้ยค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยตามพระราชบัญญัติดังกล่าว
แม้ ป.พ.พ. มาตรา 426 บัญญัติว่า นายจ้างซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อละเมิดอันลูกจ้างได้ทำนั้น ชอบที่จะได้ชดใช้จากลูกจ้างนั้น แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับแก่นายจ้างและลูกจ้างในกรณีทั่วไป พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มีเหตุผลในการประกาศใช้บังคับซึ่งปรากฏอยู่ที่ท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าวว่า การที่เจ้าหน้าที่ดำเนินกิจการต่าง ๆ ของหน่วยงานของรัฐนั้น หาได้เป็นไปเพื่อประโยชน์อันเป็นการเฉพาะตัวไม่ การปล่อยให้ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ในการปฏิบัติงานในหน้าที่และเกิดความเสียหายแก่เอกชนเป็นไปตามหลักกฎหมายเอกชนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จึงเป็นการไม่เหมาะสม... ดังนั้น จึงสมควรกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดทางละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่เฉพาะเมื่อเป็นการจงใจกระทำเพื่อการเฉพาะตัว หรือจงใจให้เกิดความเสียหายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น... จึงเห็นได้ว่าพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายเฉพาะที่มีเจตนารมณ์ไม่ให้นำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการไล่เบี้ยระหว่างนายจ้างและลูกจ้างซึ่งเกิดจากลูกจ้างทำละเมิดต่อบุคคลภายนอกมาใช้บังคับ ดังนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิไล่เบี้ยเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 426
ที่โจทก์ฎีกาว่า คำสั่งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพให้จำเลยชำระเงินค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ในฐานะนายจ้างชดใช้แก่ผู้เสียหายคืนแก่โจทก์ยังไม่ได้ถูกฟ้องขอให้เพิกถอน จึงมีผลในทางปฏิบัติต่อไป จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลางและในชั้นอุทธรณ์ โจทก์ก็มีอำนาจยกขึ้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง และมาตรา 252 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 57/1 วรรคหนึ่ง
จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด ต้องพิจารณาจากการกระทำของจำเลยแล้วปรับเข้ากับบทบัญญัติของกฎหมาย เมื่อพิจารณาการกระทำของจำเลย บทบัญญัติของกฎหมาย และรูปคดีนี้แล้ว จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ แม้คำสั่งให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ดังกล่าวยังไม่ได้ถูกเพิกถอน ก็ถือได้ว่าคำสั่งดังกล่าวสิ้นผลบังคับไปโดยปริยาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 520/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฐานะทางกฎหมายของจำเลยในคดีละเมิดและการฟ้องหน่วยงานตามพรบ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 65 นิติบุคคลจะมีขึ้นได้ก็แต่ด้วยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นเท่านั้น ดังนั้น คณะบุคคลหรือหน่วยงานใด หากไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายรับรองสถานะว่ามีฐานะเป็นนิติบุคคล ย่อมไม่อาจมีสภาพเป็นนิติบุคคลได้ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กร อยู่ในหมวดที่ 2 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยมาตรา 30 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ให้มีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นหน่วยงานที่เป็นอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีฐานะเป็นนิติบุคคลและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยมีประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด" ส่วนบทบัญญัติในหมวด 1 คณะกรรมการการเลือกตั้ง หาได้มีบทมาตราใดบัญญัติรับรองให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่
ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ได้นิยามความหมายของ "เจ้าหน้าที่" ว่า หมายความว่า ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างหรือผู้ปฏิบัติงานประเภทอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งในฐานะเป็นกรรมการหรือฐานะอื่นใดซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบ พ.ร.ฎ.กำหนดหน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 พ.ศ.2540 ที่กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นหน่วยงานของรัฐด้วย ดังนั้นจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 10 (1) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 ในอันที่จะควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้ง หรือสนับสนุนการสรรหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น แล้วแต่กรณี รวมทั้งการออกเสียงประชามติให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม กับมีอำนาจหน้าที่วางระเบียบและดำเนินการหรือสั่งการเพื่อกำกับดูแลกิจการต่าง ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 10 (2) ถึง (17) และมีอำนาจหน้าที่อื่น ๆ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 11 ถึงมาตรา 25 แล้ว และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 236 (9) บัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจดำเนินการอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติได้ โดยมีความในวรรคสองและวรรคสามให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจแต่งตั้งบุคคล คณะบุคคล หรือผู้แทนองค์การเอกชนให้ดำเนินการเพื่อประโยชน์แห่งการปฏิบัติหน้าที่การสืบสวนสอบสวนเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดได้ การที่คณะกรรมการการเลือกตั้งออกคำสั่งคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ 334/2551 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนเพื่อแต่งตั้งจำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 เป็นกรรมการไต่สวนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานประกอบ การพิจารณาก่อนดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 วรรคสาม จำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 จึงมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จะทำการไต่สวน แสวงหา และรวบรวมพยานหลักฐาน จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 มีฐานะเป็น "เจ้าหน้าที่" สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และตาม พ.ร.ฎ.กำหนดหน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 พ.ศ.2540 และการกระทำที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 กระทำละเมิดต่อโจทก์นั้น แม้หากเป็นความจริงก็เป็นการฟ้องกล่าวหาจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 กระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเข้าเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติให้โจทก์ต้องฟ้องหน่วยงานคือ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยตรง จะฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ซึ่งเป็น "เจ้าหน้าที่" ให้รับผิดเป็นการส่วนตัวไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10942-10943/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของคู่สัญญาเช่าและการชดใช้ค่าเสียหายจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ความรับผิดของผู้เช่าและผู้ให้เช่า
แม้จำเลยที่ 2 จะแปรรูปเป็นบริษัทไปแล้วแต่มาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 และหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติก็ยังกำหนดให้จำเลยที่ 2 เป็นรัฐวิสาหกิจอยู่เช่นเดิม เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การยืนยันมาตั้งแต่แรกว่าเป็นรัฐวิสาหกิจ ดังนั้น ก็ยังถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นหน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 4 เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจึงเป็นพนักงานของจำเลยที่ 2 โจทก์ทั้งสองฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดไม่ได้ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง
ในการทำสัญญาเช่า การที่จำเลยร่วมผู้ให้เช่าตกลงกับจำเลยที่ 2 ผู้เช่าว่าจำเลยร่วมตกลงยอมรับผิดต่อผู้โดยสารในรถยนต์ที่นำมาให้เช่าและบุคคลภายนอกในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ลูกจ้างจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดขับรถยนต์ที่เช่าไปก่อความเสียหายขึ้น เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 ไม่ถือว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมไม่มีผลบังคับตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 และไม่ใช่ความตกลงที่ทำไว้ล่วงหน้าเป็นข้อความยกเว้นมิให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเพื่อกลฉ้อฉลหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนในอันจะถือว่าเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 373 เนื่องจากจำเลยที่ 2 ก็ยังต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองในเหตุละเมิดที่จำเลยที่ 1 กระทำขึ้นในครั้งนี้ เมื่อเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก การที่จำเลยที่ 1 ลูกจ้างจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดในทางการที่ว่าจ้างโดยขับรถยนต์กระบะที่เช่าไปก่อความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 2 ในฐานะคู่สัญญาจึงมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยร่วมชดใช้ค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองได้ กรณีไม่ใช่เป็นสัญญาเฉพาะตัวโดยตรง ดังนั้น แม้จำเลยร่วมไม่ใช่ลูกจ้างจำเลยที่ 2 ในอันที่จะใช้สิทธิไล่เบี้ย แต่ก็ถือว่าจำเลยที่ 2 อาจฟ้องจำเลยร่วมเพื่อใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงเข้ากรณี ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) ก ที่จำเลยที่ 2 มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 2 ได้
ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหาย หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระให้จำเลยร่วมและจำเลยที่ 3 ชำระแทนเป็นการไม่ชอบเนื่องจากกรณีไม่ใช่ผู้ค้ำประกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10004/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของหน่วยงานของรัฐและนิติบุคคลต่อละเมิดของเจ้าหน้าที่ และขอบเขตการฟ้องร้องนอกคำฟ้อง
แม้จำเลยที่ 3 ไม่อาจถูกฟ้องให้รับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่เพราะจำเลยที่ 3 มิใช่ "หน่วยงานของรัฐ" ตามความหมายในมาตรา 4 ประกอบมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 แต่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 3 กระทำโดยประมาท เป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นว่า การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นการละเมิดต่อโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ใช่ "เจ้าหน้าที่" ตามความหมายมาตรา 4 ของกฎหมายดังกล่าวซึ่งไม่อาจถูกฟ้องได้ แต่จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลและฟังได้ว่ากระทำละเมิดต่อโจทก์ด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ได้
สำหรับจำเลยที่ 5 ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 มาตรา 12 กำหนดว่า กระทรวงศึกษาธิการมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ โดยจำเลยที่ 4 เป็นส่วนราชการหนึ่งของจำเลยที่ 5 มีเลขาธิการเป็นผู้บังคับบัญชา รับผิดชอบในการปฏิบัติงานของส่วนราชการและข้าราชการในสำนักงานโดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบในการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 2 เป็นข้าราชการครูของโรงเรียนจำเลยที่ 3 ซึ่งสังกัดและอยู่ในบังคับบัญชาของจำเลยที่ 4 โดยข้าราชการครูรับเงินเดือนจากจำเลยที่ 5 จำเลยที่ 2 ก็รับเงินเดือนจากจำเลยที่ 5 จำเลยที่ 2 จึงเป็นเจ้าหน้าที่ (ข้าราชการ) ของจำเลยที่ 4 และเป็นเจ้าหน้าที่ (ข้าราชการ) ของจำเลยที่ 5 ด้วย เมื่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการของจำเลยที่ 2 เป็นการละเมิดต่อโจทก์ นอกจากจำเลยที่ 4 แล้ว จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็น "หน่วยงานของรัฐ" เช่นเดียวกับจำเลยที่ 4 ก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 2 กระทำด้วย ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 5 ให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ได้ด้วย
แต่ในส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์ด้วยนั้น ตามสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของคำฟ้องโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำต่อโจทก์ มิใช่บรรยายฟ้องจำเลยที่ 4 และที่ 5 รับผิดในฐานะเป็นผู้ทำละเมิดเอง จึงเป็นฎีกานอกคำฟ้องนอกประเด็นแห่งคดี และศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นพิพาทสำหรับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ตามที่โจทก์ฎีกาแต่อย่างใด จึงเป็นฎีกาที่ไม่ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17950/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของหน่วยงานรัฐต่อละเมิดของเจ้าหน้าที่ และขอบเขตค่าเสียหายจากละเมิด
ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาว่าจำเลยร่วมไม่ต้องรับผิด ทั้งข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ไม่ได้กระทบกระเทือนสิทธิของจำเลยร่วม จำเลยร่วมจึงไม่มีสิทธิฎีกา
ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดเป็นลูกจ้างกองน้ำบาดาล ในสังกัดจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐที่มีฐานะเป็นกรม จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลละเมิดที่จำเลยที่ 1 ทำตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 4 และมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แม้ต่อมาจะมี พ.ร.ฎ.ให้โอนกองน้ำบาดาลไปสังกัดจำเลยร่วม ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงเฉพาะฐานะของกองน้ำบาดาล ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะนิติบุคคลที่จำเลยที่ 1 สังกัดในขณะเกิดเหตุยังมีผลผูกพันต่อไป
สำหรับค่าขาดแรงงานไม่ใช่ค่าขาดไร้อุปการะตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคสาม เมื่อไม่ปรากฏว่าขณะผู้ตายทั้งสองยังมีชีวิตได้ช่วยดำเนินกิจการของโจทก์ที่ 4 โจทก์ที่ 4 จึงไม่สามารถเรียกค่าขาดแรงงาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21742/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานตามหน้าที่โดยชอบ ศาลยกฟ้อง เนื่องจากโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องโดยตรง ต้องฟ้องหน่วยงานของรัฐ
ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ 30 ได้แต่งตั้งจำเลยเป็นกรรมการในคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินการและโครงการที่ได้รับอนุมัติหรือเห็นชอบโดยบุคคลในคณะรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีที่พ้นตำแหน่งโดยผลของการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเป็นไปโดยทุจริตหรือประพฤติมิชอบ และคณะกรรมการตรวจสอบดังกล่าวได้แต่งตั้งจำเลยเป็นประธานอนุกรรมการตรวจสอบการให้กู้เงินแก่สหภาพพม่าจำนวน 4,000 ล้านบาทของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย จำเลยจึงเป็น "เจ้าหน้าที่" ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 4
เมื่อพิจารณาข่าวสารทางสำนักข่าวไทยและทางหนังสือพิมพ์แล้ว เนื้อหาของข่าวเป็นเรื่องเกี่ยวกับผลการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการตรวจสอบที่กระทำไปตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เป็นการให้ข้อมูลข่าวสารการปฏิบัติงานของคณะกรรมการตรวจสอบและคณะอนุกรรมการตรวจสอบแก่ประชาชนทั่วไป การให้ข่าวเกี่ยวกับการปฏิบัติงานย่อมเป็นอำนาจทั่วไปของคณะกรรมการตรวจสอบและคณะอนุกรรมการตรวจสอบ จำเลยจึงมีอำนาจกระทำได้ เมื่อจำเลยเป็นเจ้าหน้าที่และการให้ข่าวของจำเลยเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ การที่โจทก์อ้างว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำละเมิดทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ต้องฟ้องหน่วยงานของรัฐให้รับผิด แต่จะฟ้องจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ไม่ได้ ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง และแม้ว่าคณะกรรมการตรวจสอบที่มีจำเลยเป็นกรรมการคนหนึ่งนั้นจะไม่เป็นหน่วยงานของรัฐหรือสังกัดหน่วยงานของรัฐ แต่ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคสอง ให้ถือว่ากระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2400/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเงินกู้ระหว่างบุคคลกับคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการ: ความรับผิดในฐานะผู้กู้
แม้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ. 2530 ข้อ 13 กำหนดให้การปฏิบัติงานภายในส่วนราชการตามระเบียบนี้ถือว่าเป็นการปฏิบัติราชการ และข้อ 21 ให้คณะกรรมการหรือผู้ที่ คณะกรรมการมอบหมายเป็นผู้มีอำนาจก่อหนี้ผูกพันและอนุมัติการจ่ายเงินกองทุนสวัสดิการ แต่ระเบียบสำนัก นายกรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นเพียงกำหนดอำนาจหน้าที่ในการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการเท่านั้น ไม่มีผลทำให้ คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการผู้บริหารสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอบันนังสตามีสภาพเป็นนิติบุคคล ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสามกู้ยืมเงินจากโจทก์ในนามและในฐานะคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการผู้บริหารสำนักงาน การประถมศึกษาอำเภอบันนังสตา จึงไม่อาจทำสัญญากู้ยืมเงินแทนกองทุนดังกล่าว จำเลยทั้งสามลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ในสัญญากู้เงิน และได้รับต้นเงินกู้ไปจากโจทก์ จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาดังกล่าว และ แม้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ. 2530 ข้อ 13 จะกำหนดให้การปฏิบัติงานสวัสดิการภายในส่วนราชการตามระเบียบนี้ให้ถือเป็นการปฏิบัติราชการก็ตาม แต่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้รับผิดตามหนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าว จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5824/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของหน่วยงานรัฐต่อละเมิดของเจ้าหน้าที่ขณะปฏิบัติหน้าที่: การควบคุมตัวผู้ต้องหา
เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจเริ่มจับกุมโจทก์ ถือว่าเจ้าพนักงานตำรวจได้ปฏิบัติหน้าที่แล้ว ครั้นเมื่อจับกุมโจทก์ได้ก็จะต้องควบคุมตัวโจทก์ไปส่งที่สถานีตำรวจ การควบคุมตัวโจทก์ไปส่งไปที่สถานีตำรวจจึงถือว่าเจ้าพนักงานตำรวจได้ปฏิบัติหน้าที่เช่นกัน หากเจ้าพนักงานตำรวจได้ ทำร้ายร่างกายโจทก์ขณะควบคุมโจทก์ไปส่งที่สถานีตำรวจต้องถือว่าเจ้าพนักงานตำรวจได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องกรมตำรวจเป็นจำเลยได้ตามพระราชบัญญัติ ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า "หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิด ที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหาย อาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้"
of 2