คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 317

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 141 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 94/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพรากเด็กเพื่อการอนาจาร ต้องพิจารณาผลกระทบต่ออำนาจปกครอง และเจตนาการกระทำ
การกระทำที่เป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลนั้นต้องมีลักษณะเป็นการพาไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลที่มีผลกระทบกระเทือนหรือรบกวนต่ออำนาจปกครองหรือสิทธิในลักษณะเดียวกับสิทธิของผู้ใช้อำนาจปกครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1567 ได้แก่ กำหนดที่อยู่ของเด็ก ทำโทษเด็กตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน ให้เด็กทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถ เรียกเด็กคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักเด็กไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือกระทบกระเทือนหรือรบกวนต่อหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่เด็กตามมาตรา 1567 เป็นต้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้เสียหายที่ 1 ไปที่บ้านของจำเลย เป็นเพราะ ม. ชักชวนไป โดยจำเลยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย แม้เหตุคดีนี้จะเกิดขึ้นภายในบ้านของจำเลย ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำการอันเป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 หรือมีการกระทำอันเป็นการกระทบกระเทือนหรือรบกวนต่ออำนาจปกครองหรือสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายของผู้เสียหายที่ 2 ดังกล่าว ที่โจทก์อ้างว่า จำเลยกระทำความผิดก็ด้วยเรื่องที่ชวนผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปในห้องนอนของตนเพื่อการอนาจารนั้น ก็ต้องแยกเจตนาและการกระทำออกเป็นสองส่วน ได้แก่ จำเลยชวนผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปในห้องนอนส่วนหนึ่ง และจำเลยกระทำไปเพื่อการอนาจารอีกส่วนหนึ่ง โดยต้องพิจารณาเสียก่อนว่าจะชวนเข้าไปในห้องนอนดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 317 วรรคแรกหรือไม่ แล้วจึงจะพิจารณาต่อไปได้ว่าจำเลยกระทำไปเพื่อการอนาจารที่มีผลให้ต้องรับโทษหนักขึ้นตามมาตรา 317 วรรคสามหรือไม่ ความผิดตามมาตรา 317 วรรคแรกเพียงเป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปโดยปราศจากเหตุอันสมควรหรือความยินยอมของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ย่อมเป็นความผิดสำเร็จได้ในตัวเอง หาจำต้องเป็นการกระทำเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจารอันเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งของความผิดตามมาตรา 317 วรรคสามประกอบด้วยไม่ กล่าวคือ แม้ไม่มีการกระทำอันเป็นความผิดตามมาตรา 317 วรรคสาม ก็มีความผิดตามมาตรา 317 วรรคแรกได้โดยสมบูรณ์ จึงจะนำเรื่องเป็นการกระทำเพื่อการอนาจารตามมาตรา 317 วรรคสาม ย้อนกลับมาถือเป็นเหตุให้การกระทำนั้นปราศจากเหตุอันสมควรหรือต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตามมาตรา 317 วรรคแรกหาได้ไม่ กรณีเห็นได้ชัดแจ้งอยู่แล้วว่าเพียงการชวนให้บุคคลใดเข้าไปในห้องนอนของตนเท่านั้น เมื่อไม่เอาองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 317 วรรคสาม ที่ว่าเป็นไปเพื่อการอนาจารมาพิจารณาประกอบด้วย ก็ย่อมถือไม่ได้อยู่เองว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นไปโดยปราศจากเหตุอันสมควร กลับกันเป็นว่าผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปโดยไม่ถือว่าปราศจากเหตุอันสมควรอีกต่างหาก ในกรณีผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งมีอายุ 14 ปีแล้วจะเข้าไปหรือไม่ ย่อมมีอิสระตัดสินใจได้เองตามสมควร มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่าไม่ว่าผู้ใดชวนผู้เสียหายที่ 1 ไปที่ใดหรือเข้าไปภายในหรือบริเวณใดของบ้านหรือสถานที่ธรรมดาทั่วไป ก็ต้องขอหรือกลับไปขอความยินยอมจากผู้เสียหายที่ 2 ทุกครั้งไป ซึ่งขัดต่อสภาพความเป็นจริงอย่างเห็นได้ชัด ข้อเท็จจริงข้างต้นจึงรับฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 317 วรรคแรก เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามมาตรา 317 วรรคแรกเสียแล้ว ย่อมไม่ต้องพิจารณาว่าเป็นการกระทำเพื่อการอนาจารอันจะเป็นความผิดตามมาตรา 317 วรรคสามหรือไม่อีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8056/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางแพ่งจากการกระทำชำเราเด็ก แม้ผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะแล้วก็ยังมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้
แม้โจทก์ร่วมที่ 1 กับ น. บิดาโจทก์ร่วมที่ 2 จดทะเบียนหย่ากับโจทก์ร่วมที่ 1 โดยระบุให้โจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรยังไม่บรรลุนิติภาวะอยู่ใต้อำนาจปกครองของ น. ตามที่ตกลงกัน น. จึงเป็นผู้มีอำนาจปกครองโจทก์ร่วมที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1520 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1566 (6) โจทก์ร่วมที่ 1 จึงไม่มีอำนาจปกครองและไม่มีสิทธิกระทำการแทนโจทก์ร่วมที่ 2 ก็ตาม แต่การที่โจทก์ร่วมที่ 1 ยื่นคำร้องขอค่าสินไหมทดแทนเรียกค่าเสียหายต่อชื่อเสียง ค่าเสียหายต่อร่างกายและจิตใจ ค่าเสียหายต่อเสรีภาพและค่าเสียหายที่ได้รับความทุกข์ทรมาน ถือได้ว่าเป็นการกระทำแทนหรือในนามของโจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ แม้ขณะยื่นคำร้องดังกล่าวจะมิได้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยความสามารถของบุคคลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 แต่เมื่อนับอายุของโจทก์ร่วมที่ 2 ในขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ร่วมที่ 2 มีอายุเกิน 20 ปี พ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นและไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะต้องมีคำสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถของโจทก์ร่วมที่ 2 อีก โจทก์ร่วมที่ 2 ย่อมสามารถทำการใดๆ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของผู้ปกครองหรือตัวแทนโดยชอบธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 21 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยได้พาโจทก์ร่วมที่ 2 ไปเพื่อการอนาจารและกระทำชำเรา อันเป็นความผิดต่อโจทก์ร่วมที่ 2 โจทก์ร่วมที่ 2 จึงมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10282/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิง, พรากเด็ก, และการชดใช้ค่าเสียหายทางจิตใจ
คำว่า "พราก" ในความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรตาม ป.อ. มาตรา 317 หมายความว่า พาไปหรือแยกเด็กออกไปจากอำนาจปกครองดูแลโดยไม่จำกัดว่าจะกระทำด้วยวิธีใด ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน โดยบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กไม่รู้เห็นยินยอมด้วย อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็ก ทั้งนี้ไม่ว่าเด็กจะไปอยู่ที่ใด หากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลยังเอาใจใส่เด็กย่อมอยู่ในอำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลตลอดเวลา ดังนี้ การพรากเด็กไม่ว่าผู้พรากเด็กจะเป็นฝ่ายชักชวนโดยมีเจตนามุ่งหมายที่จะกระทำชำเราเพียงอย่างเดียวก็ย่อมเป็นความผิดทั้งสิ้น
ขณะเกิดเหตุโจทก์ร่วมอยู่ที่บ้าน จ. ซึ่งเป็นปู่ โดยโจทก์ร่วมได้ไปเยี่ยมปู่และย่าที่บ้านพักและพักอาศัยอยู่ที่นั่น โดยผู้เสียหายที่ 2 ได้ส่งโจทก์ร่วมไปที่บ้าน จ. เพื่อให้มาดูแลเนื่องจาก จ. ป่วย จึงถือได้ว่า จ. อยู่ในฐานะผู้ดูแลโจทก์ร่วม โดยได้รับมอบหมายจากผู้เสียหายที่ 2 ฉะนั้น การที่จำเลยโทรศัพท์ชวนโจทก์ร่วมไปทำงานแล้วขับรถเก๋งมารับโจทก์ร่วมไปและต่อมาก็ได้กระทำชำเราโจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการรบกวนและก้าวล่วงอำนาจผู้ดูแลของ จ. ที่มีต่อโจทก์ร่วม โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร
แม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะเป็นการฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจาก ส. ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นอา ผู้ปกครองดูแลของโจทก์ร่วม โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจาก จ. ผู้ดูแลเพื่อการอนาจารก็ตาม ข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่ข้อสาระสำคัญแต่อย่างใด และจำเลยมิได้หลงต่อสู้ในข้อดังกล่าวด้วย ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 192 วรรคสอง อีกทั้งการกระทำของจำเลยยังเป็นความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 283 ทวิ วรรคสอง ด้วย โดยความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม จำเลยมีเจตนากระทำต่อผู้ดูแลโจทก์ร่วมเป็นความผิดกรรมหนึ่ง ส่วนความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน ตามมาตรา 277 วรรคแรก และความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ตามมาตรา 283 ทวิ วรรคสอง จำเลยมีเจตนาเดียวกันคือพาโจทก์ร่วมไปกระทำชำเรา การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามมาตรา 277 วรรคแรก ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามมาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1174/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำชำเราเด็กไม่ได้เป็นการพรากเด็กตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317
ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีตาม ป.อ. มาตรา 317 กฎหมายมุ่งคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล แต่กรณีจะเป็นความผิดดังกล่าวได้จะต้องมีการกระทำที่เป็นการพรากซึ่งหมายถึงการพาไปเสียประกอบด้วย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 ไปดื่มเบียร์กับ ส. ภริยาจำเลยจนเมาไม่ได้สติ ส. พาผู้เสียหายที่ 1 กลับไปส่งที่บ้าน แต่ ด. ยายของผู้เสียหายที่ 1 ให้ ส. พาผู้เสียหายที่ 1 กลับไปเพราะเกรงว่าผู้เสียหายที่ 1 จะถูกลงโทษ ส. จึงพาผู้เสียหายที่ 1 ไปนอนที่แคร่หน้าห้องนอนของจำเลยและ ส. เมื่อจำเลยกลับถึงบ้านเห็นผู้เสียหายที่ 1 นอนหลับอยู่บนแคร่จึงกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 จำเลยจึงมิได้กระทำการอันเป็นการพรากผู้เสียหายที่ 1 ไปเสียจากผู้ดูแล คงมีแต่เจตนากระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 เท่านั้น แม้หลังจากจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ที่แคร่แล้ว จำเลยจะอุ้มผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปกระทำชำเราในห้องนอนของบุตรสาวจำเลยซึ่งอยู่บริเวณเดียวกันอีก 2 ครั้ง ก็ไม่เป็นการกระทำที่เป็นการพรากตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเพราะมิได้พาผู้เสียหายที่ 1 ไปที่อื่นอีก และถือไม่ได้ว่าเป็นการพาผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10864/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กและการพรากผู้เยาว์เพื่ออนาจาร: การพิจารณาองค์ประกอบความผิดและขอบเขตการกระทำ
แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 โดยใช้นิ้วมือแหย่เข้าไปบริเวณรูทวารหนักและใช้อวัยวะเพศของจำเลยถูไถบริเวณอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 เพื่อสนองความใคร่ แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยใช้นิ้วแหย่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 ก็ตาม แต่การกระทำชำเราตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสอง บัญญัติให้หมายความถึงการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น ฉะนั้นการกระทำของจำเลยไม่ว่าจะกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้เสียหายที่ 1 ก็ตาม ก็เป็นการกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว อีกทั้งจำเลยก็มิได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกาจึงลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 แต่สำหรับความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารนั้น จำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ออกจากบ้านบอลที่เล่นอยู่ไปที่บริเวณลูกกรงเหล็กที่กั้นสำหรับกันคนตก แล้วจึงใช้นิ้วแหย่อวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 จำเลยเพียงเพื่อหาสถานที่ปลอดคนที่จะล่วงละเมิดทางเพศผู้เสียหายที่ 1 ได้โดยสะดวกและไม่มีใครรู้เห็นมากกว่าที่จะมีเจตนาพรากผู้เสียหายที่ 1 ไปจากผู้ปกครอง และการกระทำของจำเลยก็ยังอยู่ในบริเวณสวนสนุกนั้นเอง ทั้งใช้เวลาไม่นาน การกระทำของจำเลยยังไม่เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปจากผู้ปกครองเพื่อการอนาจาร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9829/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพรากเด็กเพื่ออนาจาร ความยินยอม เหตุสมควร และการลงโทษ
การกระทำที่เป็นการพรากเด็กไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล ตาม ป.อ. มาตรา 317 นั้น ไม่ถึงขนาดต้องควบคุมตัวเด็กนั้นไว้ เพระการกระทำเช่นนั้นจะเป็นความผิดต่อเสรีภาพอีกต่างหาก คำว่า "พราก" มีความหมายว่า จากไปหรือแยกออกจากกัน สาระสำคัญจึงอยู่ที่การพาไปหรือการแยกเด็กไปนั้น ได้รับความยินยอมจากบุคคลดังกล่าวให้ไปกับบุคคลที่พาไปหรือไม่ หรือมิฉะนั้นบุคคลที่พาเด็กนั้นไปจะต้องมีเหตุอันสมควร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11196/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพรากผู้เยาว์ต้องมีการพาไป ไม่ใช่แค่ชักชวน การกระทำเพียงชักชวนแต่ผู้เยาว์มาเอง ไม่ถือเป็นความผิดฐานพราก
การพรากเป็นคนละอย่างกับการพูดชักชวนและการพรากมีความหมายคนละอย่างกับการพูดและไม่ใช่การพูด หากจำเลยพูดแต่ไม่ได้พรากหรือพาผู้เสียหายไปจำเลยย่อมไม่ผิดฐานพรากผู้เยาว์ เพราะการพรากผู้เยาว์จะต้องมีการกระทำที่ยิ่งกว่าการพูดชักชวน เนื่องจากการพูดชักชวน เด็กหรือผู้เยาว์ตัดสินใจไม่ไปตามที่พูดชักชวนได้ จนกว่าจะมีการพาเด็กหรือผู้เยาว์ไปตามทิศทางที่พูดชักชวนไว้ จึงจะมีความผิดฐานพรากผู้เยาว์ได้ สอดคล้องกับพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานที่ให้คำนิยามคำว่า พราก หมายถึงต้องมีการกระทำที่พาไป ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยพูดชักชวนผู้เสียหายที่ 1 จนผู้เสียหายที่ 1 ยอมออกจากบ้านมาหาจำเลย การกระทำของจำเลยเป็นการพรากผู้เยาว์แล้ว ข้อเท็จจริงได้ความเพียงจำเลยพูดชักชวนผู้เสียหายที่ 1 จนผู้เสียหายที่ 1 ใจอ่อนยอมมาหาจำเลยเองโดยจำเลยไม่ได้ไปรับหรือพาผู้เสียหายที่ 1 ออกมาจากบ้าน การกระทำของจำเลยจึงยังไม่เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12123/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี ไม่ถือเป็นการพรากตัว หากเด็กมาบ้านจำเลยโดยสมัครใจ
ผู้เสียหายทั้งสองเป็นญาติกับจำเลย บ้านของผู้เสียหายที่ 1 และบ้านของจำเลยอยู่ติดกัน ผู้เสียหายที่ 2 พักอยู่อาศัยกับผู้เสียหายที่ 1 ได้ไปที่บ้านจำเลยเป็นประจำเพื่อให้บุตรของจำเลยสอนการบ้าน การที่จำเลยฉวยโอกาสที่ผู้เสียหายที่ 2 มาที่บ้านจำเลยเพื่อให้ ธ. สอนการบ้านตามปกติ ในวันเกิดเหตุ เมื่อ ธ. สอนการบ้านเสร็จแล้วจำเลยบอกให้ ธ. ออกจากบ้าน จากนั้นจำเลยได้เรียกให้ผู้เสียหายที่ 2 เข้าไปในห้องแล้วพยามยามกระทำชำเราและกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 2 เช่นนี้ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปจากบิดามารดา อันจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8877/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดพรากผู้เยาว์และการกระทำชำเรา โดยพิจารณาเจตนาในการเลี้ยงดูฉันสามีภริยา
ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 3 พักอาศัยอยู่กับผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นย่า แต่เมื่อยังไม่บรรลุนิติภาวะย่อมต้องตกอยู่ใต้อำนาจปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นบิดาและผู้เสียหายที่ 2
ความผิดฐานพรากผู้เยาว์กระทงแรกนั้น จำเลยโทรศัพท์นัดหมายเด็กหญิง จ. ผู้เสียหายที่ 3 ให้ไปพบแล้วพาผู้เสียหายที่ 3 ไปบ้านจำเลย แล้วกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 3 ฟังไม่ได้ว่าผู้เสียหายที่ 3 สมัครใจไปจากผู้เสียหายที่ 1 และผู้เสียหายที่ 2 เอง หลังจากที่จำเลยกระทำชำเราแล้ว จำเลยไปหาผู้เสียหายที่ 2 ผู้เสียหายที่ 2 ต่อว่าจำเลยและเรียกค่าสินสอดจากจำเลย แต่จำเลยไม่มีเงินให้ จากนั้นจำเลยรับผู้เสียหายที่ 3 ไปอยู่ด้วย พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวย่อมเป็นเครื่องชี้เจตนาของจำเลยได้ว่าประสงค์จะเลี้ยงดูผู้เสียหายที่ 3 เป็นภริยา เมื่อจำเลยยังมิได้มีภริยาจึงสามารถที่จะเลี้ยงดูผู้เสียหายที่ 3 ฉันสามีภริยาได้ การกระทำของจำเลยจึงมิใช่เป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม แต่เป็นการกระทำที่ล่วงล้ำต่ออำนาจปกครองดูแลของบิดาและย่าผู้เสียหายที่ 3 ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยปราศจากเหตุอันสมควรพรากผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดาหรือผู้ดูแล จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคแรก
ส่วนการกระทำความผิดของจำเลยกระทงที่สองนั้น เมื่อจำเลยได้มาเจรจาสู่ขอผู้เสียหายที่ 3 จากผู้เสียหายที่ 2 แต่จำเลยไม่มีเงินค่าสินสอด ในวันรุ่งขึ้นจำเลยก็ไปรับผู้เสียหายที่ 3 มาอยู่ด้วย กระทั่ง ม. มารับผู้เสียหายที่ 3 กลับไป แสดงว่าจำเลยพาผู้เสียหายที่ 3 ไปเพื่อร่วมอยู่กินฉันสามีภริยา ฟังไม่ได้ว่าจำเลยพรากผู้เสียหายที่ 3 ไปจากบิดาหรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจารไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 222/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวต่อเนื่อง: กระทำชำเราโทรมเด็กหญิงหลายครั้ง ความผิดต่อเนื่องในวาระเดียวกัน
หลังจากจำเลยกับพวกกระทำชำเราผู้เสียหายอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงที่ขนำที่เกิดเหตุครั้งแรกแล้ว จำเลยกับพวกยังคงควบคุมหรือหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายไว้โดยพาผู้เสียหายไปที่ขนำอีกแห่งหนึ่งแล้วร่วมกันกระทำชำเราผู้เสียหายอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงในครั้งต่อไปถือว่าผู้เสียหายยังไม่หลุดพ้นจากภยันตรายอันเกิดจากการกระทำความผิดของจำเลยกับพวก ดังนั้น การกระทำชำเราของจำเลยกับพวกอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงทั้งสองครั้งจึงต่อเนื่องเชื่อมโยงกันอยู่ในวาระเดียวกัน โดยเจตนาเดิมไม่ขาดตอนจากกันจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทตามป.อ. มาตรา 90
of 15