คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 289 (4)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 194 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3925/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและไม่ไตร่ตรองไว้ก่อน ศาลฎีกาแก้โทษลดโทษจำเลย
การที่ ส. พูดว่าจะเอาอาวุธปืนมายิงจำเลยแล้วจำเลยพูดกับ ส. ว่า พูดไม่เข้าหู แล้ว ส., ม. และ น. ออกจากบ้านจำเลยไป เหตุโกรธเคืองยุติและขาดตอนไปแล้ว ระหว่างนั้นจำเลยย่อมมีโอกาสคิดไตร่ตรองไว้ก่อนแต่พฤติการณ์ที่จำเลยนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่ ต. ขับติดตาม ส., ม. และ น. ไปโดยจำเลยเตรียมนำอาวุธปืนไปด้วยแสดงว่า จำเลยคิดไตร่ตรองแล้วว่าจะใช้อาวุธปืนที่เตรียมไปยิงผู้เสียหายที่ 1 เพื่อแก้แค้นทั้ง ต. ยังขับรถแซงรถของ ส. ไปดักรอ ส., ม. และ น. อยู่ข้างหน้า เมื่อรถของ ส. มาถึง จำเลยใช้อาวุธปืนยิง ส. การกระทำของจำเลยต่อ ส. จึงเป็นการกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตาม ป.อ. มาตรา 289 (4), 80 รวม 1 กระทง แต่ไม่ปรากฎว่าจำเลยกับ ม. และ น. มีเหตุโกรธเคืองกันจนจำเลยต้องคิดฆ่าบุคคลทั้งสอง การที่จำเลยยิง ม. และ น. ก็เพราะบุคคลทั้งสองนั่งรถจักรยานยนต์มากับ ส. จึงเป็นการคิดฆ่าอีกกระทงหนึ่งในทันที มิได้ไตร่ตรองไว้ก่อนจำเลยจึงมีความผิดเพียงฐานร่วมกันพยายามฆ่าตาม ป.อ. มาตรา 288, 80

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2915/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกานี้พิพากษาแก้เฉพาะจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 3 ความผิดฐานมีส่วนร่วมกระทำผิดยังคงมีผลตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
โจทก์และโจทก์ร่วมมีแต่คำซัดทอดของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และ ส. คำซัดทอดดังกล่าวเป็นเพียงพยานบอกเล่าซึ่งมีน้ำหนักให้รับฟังได้น้อย เช่นเดียวกับบันทึกคำให้การของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 2 นำสืบปฏิเสธว่า ที่ให้การเช่นนั้นเกิดจากการชี้นำของเจ้าพนักงานตำรวจโดยบอกว่าจะกันไว้เป็นพยาน อันเป็นการนำสืบว่าโจทก์และโจทก์ร่วมได้พยานหลักฐานชิ้นนี้ด้วยการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ไม่เป็นการให้การด้วยความสมัครใจ รับฟังไม่ได้ แต่แม้จะรับฟังได้หรือไม่ บันทึกคำให้การดังกล่าวก็เป็นเพียงพยานบอกเล่ามีน้ำหนักให้รับฟังได้น้อยเช่นกัน
เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมไม่อาจนำสืบพิสูจน์ให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างหนึ่งอย่างใด อันจะเป็นข้อเท็จจริงแวดล้อมที่ทำให้น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมกระทำความผิดด้วยแล้ว พยานหลักฐานอื่นของโจทก์และโจทก์ร่วมเท่าที่นำสืบมาจึงเป็นเพียงพยานบอกเล่า ไม่เพียงพอที่จะรับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 วรรคสอง กรณียังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 2 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง และต้องยกประโยชน์ให้แก่จำเลยที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ที่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงด้วยเพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1443/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และอายุความความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน
จำเลยใช้อาวุธปืนแก๊ปยิงผู้เสียหายขณะขับรถจักรยานยนต์เลี้ยวเข้าปากซอยทางเข้าบ้านในระยะห่างไม่เกิน 5 เมตร กระสุนปืนถูกผู้เสียหายเป็นแผลทะลุบริเวณต้นขาขวา บาดแผลผู้เสียหายมีเลือดออกเป็นจำนวนมากย่อมแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของอาวุธปืนและความรุนแรงของกระสุนปืน หากกระสุนปืนที่จำเลยยิงถูกอวัยวะสำคัญของร่างกาย ก็อาจทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้ แต่เนื่องจากจำเลยยิงขณะผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์เลี้ยวปากซอยทางเข้าบ้าน ทำให้ยิงไม่แม่นยำกระสุนปืนจึงไม่ถูกอวัยวะสำคัญของร่างกาย ดังนี้ กรณีหาใช่การกระทำของจำเลยไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ เพราะเหตุอาวุธปืนที่เป็นปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตา 81 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80
ความผิดฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองและฐานพาอาวุธปืนตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง 72 ทวิ วรรคสอง กับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 มีอายุความ 10 ปี และ 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (3) และ (5) ตามลำดับ คดีนี้จำเลยที่กระทำความผิดวันที่ 14 กรกฎาคม 2539 นับถึงรับฟ้องคือวันที่ 9 พฤษภาคม 2550 เกิน 10 ปีแล้ว คดีของโจทก์ในความผิดทั้งสองข้อหาดังกล่าวจึงขาดอายุความสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. 39 (6)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 81/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน: เหตุบันดาลโทสะขาดตอน ลดโทษจากส่วนลดโทษ
หลังจากผู้ตายใช้ขวดสุราตีศีรษะจำเลย ผู้ตายกับจำเลยยังได้รับประทานอาหารด้วยกัน และจำเลยกลับไปบ้านแล้ว ต่อมานานถึง 2 ชั่วโมงเศษ จำเลยจึงมาที่บ้านเกิดเหตุและใช้มีดโต้ฟันผู้ตายขณะที่ผู้ตายกับ ข. นอนหลับกันแล้ว เหตุการณ์ที่ผู้ตายใช้ขวดสุราตีศีรษะจำเลยได้ขาดตอนตั้งแต่นั่งรับประทานอาหารด้วยกัน จำเลยจึงมิได้กระทำความผิดในขณะที่บันดาลโทสะอยู่ แต่กระทำความผิดในภายหลังเป็นเวลานานถือได้ว่าเหตุบันดาลโทสะขาดตอนแล้ว และการที่จำเลยกลับบ้านนั่งคิดแค้นอยู่ที่บ้านตั้ง 2 ชั่วโมง จึงไปทำร้ายตายในขณะกำลังนอนหลับในยามวิกาลและเวลาดึกสงัดโดยใช้มีดโต้ขนาดใหญ่เลือกฟันผู้ตายที่ศีรษะ ใบหน้าและลำคอหลายครั้ง ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญ หากถูกฟันอย่างแรงเพียงครั้งเดียวก็ถึงแก่ความตายแล้ว แม้จำเลยมิได้เตรียมมีดมา แต่จำเลยก็เตรียมไฟฉายมาค้นหาอาวุธ ซึ่งจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าที่บ้านเกิดเหตุมีมีดโต้ใช้เป็นอาวุธทำร้ายผู้ตายได้และใช้ไฟฉายส่องหาทำร้ายผู้ตายได้ไม่ผิดตัวพฤติการณ์ชี้ชัดว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2746/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แม้ไม่สำเร็จผล แต่เข้าข่ายพยายามฆ่า โดยการใช้เครื่องมืออันตรายทำร้ายร่างกาย
เหล็กแหลมที่จำเลยใช้แทงผู้เสียหายนั้นเป็นเครื่องมือใช้ในการเจาะปล่อยลมยาง แม้จะไม่มีคมแต่ก็มีลักษณะแหลมยาวถึง 12 เซนติเมตร ดังนั้น การที่จำเลยใช้กำลังจ้วงแทงไปที่บริเวณช่องท้องของผู้เสียหายซึ่งเป็นจุดอ่อนของร่างกาย แม้จ้วงแทงไปเพียงครั้งเดียว หากขณะเกิดเหตุผู้เสียหายไม่ได้ถือแฟ้มเอกสารอยู่ที่มือหรือยกแขนขึ้นปิดกั้นได้ทันแล้วเชื่อว่าเหล็กแหลมนั้นจะแทงทะลุเข้าช่องท้องของผู้เสียหาย ทำอันตรายต่อวัยวะสำคัญต่างๆ ภายในช่องท้องของผู้เสียหายได้ ประกอบกับบาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับถึงขนาดกระดูกแขนขวาหักย่อมแสดงว่าจำเลยแทงผู้เสียหายโดยแรงที่ช่องท้อง ดังนั้น จำเลยย่อมเล็งเห็นผลในการกระทำของจำเลยได้ว่าเหล็กแหลมที่จำเลยแทงไปนั้นอาจทะลุเข้าช่องท้องไปถูกอวัยวะต่างๆ ภายในช่องท้องที่เป็นอวัยวะสำคัญของร่างกายได้รับบาดเจ็บและผู้เสียหายอาจถึงแก่ความตายได้ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายหาใช่มีเพียงเจตนาทำร้ายผู้เสียหายไม่ อีกทั้งพฤติการณ์ที่จำเลยตระเตรียมเหล็กแหลมของกลางไว้เพื่อหาโอกาสแทงผู้เสียหายด้วยสาเหตุโกรธเคืองที่ผู้เสียหายเป็นตัวแทนฝ่ายนายจ้างไม่เจรจาช่วยเหลือฝ่ายจำเลยให้ได้รับเงินโบนัสพิเศษเพิ่มเติมนั้น เมื่อสบโอกาสจำเลยจึงใช้เหล็กแหลมที่ตระเตรียมไว้จ้วงแทงผู้เสียหาย ย่อมแสดงว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1838/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ปืนผิดกฎหมายร่วมกันฆ่าผู้อื่น ศาลฎีกาแก้ไขบทลงโทษให้ถูกต้องตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้อาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ยิงผู้ตาย การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ในการกระทำความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 78 วรรคสามด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานดังกล่าวจึงไม่ชอบ และความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายความผิดฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนดังกล่าวไปฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ถือว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียวตาม ป.อ. มาตรา 90 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองแยกต่างกรรมกับความผิดฐานอื่นจึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 ประกอบมาตรา 225 โดยไม่เพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 และเมื่อโจทก์ฟ้องและนำสืบว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดฐานนี้ จึงเป็นเหตุในลักษณะคดีศาลฎีกาพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 3 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 85/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา: การพิจารณา 'ไตร่ตรองไว้ก่อน' จากพฤติการณ์และเหตุผลในการกระทำ
การฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) ข้อเท็จจริงจะต้องได้ความว่า ก่อนทำการฆ่าผู้กระทำผิดได้คิดวางแผนและไตร่ตรองทบทวนแล้วจึงตกลงใจกระทำผิดไม่ใช่กระทำไปโดยปัจจุบันทันด่วน และการไตร่ตรองไว้ก่อนเป็นเหตุเกี่ยวกับเจตนาส่วนตัวของผู้กระทำผิดซึ่งต้องดูการกระทำเป็นสำคัญเพราะกรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าสาเหตุที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย ก็เนื่องจากจำเลยต้องการให้ น. กลับไปอยู่กินกับจำเลยอีก เพราะก่อนหน้านี้จำเลยและบุตรกับ น. ก็ยังไปมาหาสู่กันอยู่แต่ น. ปฏิเสธ ต่อมาหลังจากจำเลยพูดคุยกับผู้ตายนาน 3 ถึง 4 นาที ผู้ตายไล่ให้จำเลยออกไปจากบ้านที่เกิดเหตุ มิฉะนั้นจะเรียกเจ้าพนักงานตำรวจมาจัดการ คำพูดดังกล่าวของผู้ตายในลักษณะไล่จำเลยให้ออกไปจากบ้านนั้นย่อมเป็นสาเหตุที่ทำให้จำเลยโกรธ ซึ่งเกิดขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วนและใช้อาวุธปืนพกยิงผู้ตาย 1 นัด ซึ่งหากจำเลยได้คิดวางแผนไตร่ตรองทบทวนมาก่อนว่าจะไปยิงผู้ตาย เมื่อไปถึงบ้านที่เกิดเหตุและพบผู้ตายก็ไม่จำเป็นที่จะต้องพูดคุยกับ น. เพื่อชักชวนให้ น. กลับไปอยู่กินกับจำเลยอีก และไม่จำเป็นที่จะต้องซักถามผู้ตายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้ตายกับ น. น่าจะใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายทันทีแต่ก็หาเป็นเช่นนั้นไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6711-6712/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทำร้ายร่างกายโดยไม่ได้ไตร่ตรองไว้ก่อน: พฤติการณ์ต่อเนื่องจากเหตุการณ์ในร้าน
จำเลยทั้งสองทำร้ายผู้เสียหายในขณะนั่งอยู่ในร้านที่เกิดเหตุแล้วตามมาทำร้ายผู้เสียหายที่หน้าร้านโดยไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสองมาก่อน ทั้งจำเลยทั้งสองร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายสืบเนื่องมาจากผู้เสียหายพูดกับจำเลยที่ 1 ในทำนองว่า อย่ามองหน้าเดี๋ยวจะมีปัญหาซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในร้านที่เกิดเหตุ ดังนี้ การที่จำเลยทั้งสองเข้าทำร้ายผู้เสียหายจึงมิใช่เป็นการตระเตรียมการมาก่อน แม้จำเลยทั้งสองจะไม่ได้กระทำต่อผู้เสียหายในทันทีทันใดแต่เมื่อผู้เสียหายเผลอ จำเลยที่ 1 จึงเข้าเตะที่ต้นคอด้านหลัง ส่วนจำเลยที่ 2 ใช้มีดดาบฟันผู้เสียหายอันเป็นการกระทำหลังจากผู้เสียหายต่อว่าจำเลยที่ 1 ในเวลาต่อเนื่องกันยังไม่ขาดตอน ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8743/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาในการยิงปืนเข้าบ้านผู้เสียหาย ไม่ถือเป็นความพยายามฆ่า หากมีเจตนาข่มขู่แก้แค้น
โจทก์ฟ้องจำเลยฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80, 83 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83 โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83 จึงมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80, 83 โจทก์จึงฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงในข้อหาความผิดดังกล่าวไม่ได้ ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 6
จำเลยกับ จ. ได้ร่วมกันใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นยิงมาที่บ้านผู้เสียหายทั้งสองในระยะห่าง 14 เมตร โดยเล็งปากกระบอกปืนไปที่ตัวบ้าน มิได้เล็งปากกระบอกปืนไปที่ผู้เสียหายทั้งสองหรือบุคคลใดซึ่งอยู่ในบ้าน พฤติการณ์ดังกล่าวเชื่อว่าจำเลยกับ จ. มิได้มีเจตนาฆ่าผู้เสียหายทั้งสองหรือบุคคลใด อีกทั้งจำเลยให้ปากคำว่ายิงปืนเข้าไปในบ้านผู้เสียหายที่ 2 เพียงแค่ข่มขู่และแก้แค้นผู้เสียหายที่ 1 กับพวกที่ใช้ไม้ตีทำร้ายจำเลยกับ จ. เท่านั้น ไม่มีเจตนาฆ่าใคร พยานหลักฐานของโจทก์จึงไม่มั่นคงพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยได้ร่วมกับพวกพยายามฆ่าผู้เสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1367/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ร่วมกันฆ่าโดยเจตนา แต่ไม่มีการไตร่ตรองไว้ก่อน และประเด็นการมีส่วนร่วมในการมีอาวุธปืน
นับแต่เวลาที่จำเลยที่ 5 เข้าแย่งมีดจากผู้ตาย จนกระทั่งผู้ตายถูกจำเลยที่ 6 ใช้อาวุธปืนยิงถึงแก่ความตายไม่ปรากฏว่ามีผู้อื่นเข้าทำร้ายผู้ตายอีก บาดแผลของผู้ตายที่เกิดจากการถูกแทงด้วยของมีคมจึงต้องเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 5 ซึ่งสอดคล้องกับคำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 5 และที่ 6 ที่ระบุว่าจำเลยที่ 5 เป็นคนใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายก่อนที่จำเลยที่ 6 จะใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจนถึงแก่ความตาย หลังจากนั้นจำเลยที่ 5 และที่ 6 จึงได้รีบพากันหลบหนีไปด้วยกันโดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะ ทำให้เชื่อได้ว่าเหตุการณ์เป็นไปตามคำให้การของจำเลยที่ 5 และที่ 6 ในชั้นสอบสวน ซึ่งให้การหลังเกิดเหตุเพียง 2 วัน ยิ่งกว่าจะเป็นไปตามคำเบิกความหลังเกิดเหตุนานถึง 3 ปี การที่จำเลยที่ 5 และที่ 6 ร่วมกันใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายและใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจนถึงแก่ความตายแล้วรีบพากันหลบหนีไปด้วยกัน แสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 5 และที่ 6 มีเจตนาร่วมกันฆ่าผู้ตาย จำเลยที่ 5 จึงเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 6 กระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่น
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ว่า ร่วมกันว่าจ้างจำเลยที่ 5 และที่ 6 ให้ฆ่าผู้ตาย ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 โจทก์มิได้อุทธรณ์ คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ถึงที่สุดแล้ว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ว่าจ้างให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 ไปฆ่าผู้ตาย โจทก์คงมีเพียงบันทึกคำให้การในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 5 และที่ 6 ที่ให้การรับสารภาพว่า จำเลยที่ 5 และที่ 6 รับจ้างจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้ไปฆ่าผู้ตาย ซึ่งเป็นพยานบอกเล่ามีน้ำหนักรับฟังน้อย และโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นรับฟังประกอบบันทึกคำให้การดังกล่าวกรณีจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 5 และที่ 6 ได้รับจ้างจากผู้อื่นให้ไปฆ่าผู้ตายและพยานหลักฐานโจทก์เท่าที่นำสืบมาไม่มีน้ำหนักมั่นคงพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 5 และที่ 6 เตรียมวางแผนฆ่าผู้ตายไว้ล่วงหน้าอันจะเป็นการกระทำความผิดโดยไตร่ตรองไว้ก่อน การกระทำของจำเลยที่ 5 และที่ 6 จึงเป็นเพียงความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้ตายตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 83 เท่านั้น
ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 5 รู้มาก่อนว่าจำเลยที่ 6 พาอาวุธปืนติดตัวมาด้วยและจะใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย จำเลยที่ 6 ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า จำเลยที่ 5 เพียงแต่ร่วมฆ่าผู้ตายโดยใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายอันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในฉับพฉันนั้นเอง ส่วนการที่จำเลยที่ 5 และที่ 6 หลบหนีไปด้วยกัน ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 5 มีส่วนร่วมกับการมีและพาอาวุธปืนของจำเลยที่ 6 ด้วย
of 20