คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ม. 17

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 223 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3453/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลภาษีอากรกลางขยายกำหนดเวลาฟ้องคดี และการงด/ลดเบี้ยปรับตามเหตุผลที่สมควร
กำหนดเวลาการอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการอุทธรณ์ต่อศาลภายใน 30 วัน ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 30 (2) เป็นกำหนดเวลาในการฟ้องคดี ถ้ามิได้ฟ้องภายในกำหนดย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง แม้เป็นกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ใน ป. รัษฎากร แต่ก็ถือว่าเป็นระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง อันกำหนดไว้ใน ป. รัษฎากร ศาลภาษีอากรย่อมมีอำนาจขยายได้ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 23

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3450/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลภาษีอากรกลางขยายกำหนดเวลาฟ้องคดี และการพิจารณาเหตุงด/ลดเบี้ยปรับตามดุลพินิจ
กำหนดเวลาการอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภายใน 30 วัน เป็นกำหนดเวลาให้ฟ้องคดี ถ้ามิได้ฟ้องภายในกำหนดเวลาดังกล่าวย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง กำหนดเวลาดังกล่าวแม้เป็นระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 30 (2) แห่ง ป.รัษฎากรฯ แต่ก็เป็นระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งอันกำหนดไว้ใน ป.รัษฎากรฯ ศาลภาษีอากรกลางย่อมมีอำนาจขยายได้โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 23
คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.81/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การงดหรือลดเบี้ยปรับฯ เป็นเพียงระเบียบที่กำหนดให้เจ้าพนักงานประเมินถือปฏิบัติไม่มีผลผูกพันศาลให้ต้องถือตามระเบียบดังกล่าว ศาลมีอำนาจพิจารณาว่าการที่เจ้าพนักงานประเมินงดหรือลดเบี้ยปรับมานั้นถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ และมีอำนาจที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับได้เองในกรณีที่มีเหตุสมควรเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมอีกด้วย
กรณีมีเหตุสมควรงดหรือลดเบี้ยปรับหรือไม่เป็นข้อเท็จจริงซึ่งโจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้าง ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์ โจทก์ต้องสืบพยานให้เห็นว่ากรณีของโจทก์มีเหตุสมควรงดหรือลดเบี้ยปรับเพราะเหตุใด เมื่อโจทก์ไม่สืบพยานจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3225/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นบัญชีระบุพยานล่าช้าและภาระการพิสูจน์ในคดีภาษีอากร ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลภาษีอากรกลาง
ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 20 และข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ. 2544 ข้อ 15 ได้กำหนดให้คู่ความยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันชี้สองสถานไม่น้อยกว่า 30 วัน เมื่อระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นบัญชีระบุพยานดังกล่าวได้สิ้นสุดลงแล้ว ถ้าคู่ความซึ่งมิได้ยื่นบัญชีระบุพยาน แสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลได้ว่ามีเหตุอันสมควรที่ไม่สามารถยื่นบัญชีระบุพยานตามกำหนดเวลาดังกล่าวได้ คู่ความดังกล่าวนั้นอาจยื่นคำร้องพร้อมทั้งบัญชีระบุพยานไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนพิพากษาคดี ขออนุญาตอ้างพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้
ข้อเท็จจริงปรากฏตามสำนวนว่า โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานในวันชี้สองสถานนั้นเอง อันเป็นการยื่นบัญชีระบุพยาน เมื่อระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นบัญชีระบุพยานได้สิ้นสุดลงแล้ว โดยโจทก์แถลงด้วยวาจาว่าเข้าใจผิดในข้อกฎหมายเกี่ยวกับวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร จึงไม่ได้ทำคำร้องหรือยื่นบัญชีระบุพยานตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อกรณีนี้กฎหมายบังคับให้ทำเป็นคำร้องแต่โจทก์กลับแถลงด้วยวาจาจึงเป็นการไม่ชอบ โจทก์จะอ้างว่าเป็นความเข้าใจผิดของโจทก์ย่อมไม่อาจรับฟังได้ว่ามีเหตุอันสมควรที่โจทก์ไม่สามารถยื่นบัญชีระบุพยานตามกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดได้
โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และอ้างว่ากรณีของโจทก์มีเหตุสมควรงดหรือลดเบี้ยปรับ ภาระการพิสูจน์ให้เห็นเป็นดังข้ออ้าง ย่อมตกแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2278/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และการหักรายจ่าย กรณีการตรวจสอบภาษีและการแก้ไขการประเมิน
ขณะที่เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกโจทก์ โจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 แต่ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2536 ถือว่าเจ้าพนักงานประเมินได้มีหมายเรียกโจทก์ในขณะที่โจทก์ยังไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2536 แม้โจทก์จะยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวภายหลัง เจ้าพนักงานประเมินก็มีอำนาจประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่โจทก์ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2536 ได้ ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 24
บริษัท ส. จำกัด เป็นเจ้าของโครงการอาคารชุด ส่วนโจทก์เป็นบริษัทรับจ้างตกแต่งภายในห้องชุดโครงการอาคารชุดของบริษัท ส. จำกัด ดังกล่าว และจะเริ่มดำเนินการต่อเมื่อบริษัท ส. จำกัด ก่อสร้างอาคารชุดแล้ว โดยบริษัททั้งสองไม่มีการถือหุ้นระหว่างกัน โจทก์รับเงินค่าจ้างล่วงหน้าในวันทำสัญญา ส่วนที่เหลือลูกค้าจะชำระเป็นงวดโดยบริษัท ส. จำกัด เป็นผู้รับแทนโจทก์ บริษัท ส. จำกัด ไม่ได้ส่งมอบเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ ปรากฏว่าบริษัท ส. จำกัด และโจทก์ไม่ได้ทำหนังสือสัญญาต่างตอบแทนกันว่า โจทก์ยอมให้สิทธิแก่บริษัท ส. จำกัด ยึดถือเงินค่างวดที่ลูกค้าชำระแก่โจทก์โดยโจทก์ไม่คิดดอกเบี้ยแล้วบริษัท ส. จะเสนอผลประโยชน์ใด ๆ ตอบแทนแก่โจทก์ และไม่ปรากฏว่าบริษัท ส. จำกัด ได้เรียกร้องให้โจทก์ต้องปฏิบัติเช่นนั้น หากบริษัท ส. จำกัด ประสงค์จะได้หลักประกันว่าโจทก์จะไม่ทิ้งงาน โจทก์ย่อมติดต่อขอหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาวางเป็นหลักประกันก็ได้ เมื่อโจทก์ไม่ใช่บริษัทในเครือเดียวกันกับบริษัท ส. จำกัด ทั้งไม่มีหนี้สินต่อกัน โจทก์มีทุนจดทะเบียนเพียง 1,000,000 บาท แต่จำนวนเงินที่โจทก์มอบให้บริษัท ส. จำกัด ยึดถือไว้มีจำนวนนับร้อยล้านบาท ย่อมไม่มีเหตุผลที่โจทก์จะให้บริษัท ส. จำกัด ยึดถือเงินดังกล่าวโดยไม่คิดดอกเบี้ย แม้ว่าโจทก์จะไม่มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญาตกแต่งและไม่มีภาระหนี้สินที่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยในขณะนั้นก็ตาม การที่โจทก์ยินยอมให้บริษัท ส. จำกัด ยึดถือเงินค่างวดล่วงหน้าที่ลูกค้าชำระให้แก่โจทก์โดยไม่มีดอกเบี้ยนั้นถือได้ว่าเป็นกรณีไม่มีเหตุอันสมควร ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (4) ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินดอกเบี้ยตามราคาตลาดในวันที่ให้กู้ยืมเงินได้
การที่โจทก์ให้บริษัท ส. จำกัด ยึดถือเงินค่างวดล่วงหน้าเข้าลักษณะเป็นการให้กู้ยืมเงิน และโจทก์ให้กู้ยืมเงินจำนวนมากอีกทั้งทำเป็นปกติธุระทุกเดือนในช่วงปี 2534 ถึง 2536 เห็นได้ชัดอยู่แล้วว่าเป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ จึงไม่เป็นปัญหาที่จะต้องรอให้มีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรวินิจฉัยว่ากิจการใดเป็นกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์หรือไม่ ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 91/2 วรรคท้าย เสียก่อน เมื่อโจทก์ไม่คิดดอกเบี้ยกับบริษัท ส. จำกัด โดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจตาม ป. รัษฎากร มาตรา 91/15 (2) และ 91/16 (6) ที่จะประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะโดยกำหนดดอกเบี้ยรับแก่โจทก์ได้ โจทก์จึงต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
การที่จำเลยที่ 1 ได้ออกหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับเดือนภาษีมกราคมถึงธันวาคม 2535 และเดือนภาษีมกราคมถึงธันวาคม 2536 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2541 มายังโจทก์ ดังนั้น ภาษีธุรกิจเฉพาะดังกล่าวจึงเป็นรายจ่ายที่ควรจะได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีอื่นมิใช่รายจ่ายที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 และ 2536 โจทก์ไม่มีสิทธินำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 และ 2536 เพราะต้องห้ามตาม ป. รัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (1) ประกอบมาตรา 65 ตรี (9)
เอกสารที่โจทก์นำมาอ้างอิงในการตรวจสอบไต่สวนของเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 เป็นเอกสารปลอม พฤติการณ์ดังกล่าวส่อให้เห็นว่าโจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีและไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบภาษีโดยสุจริต จึงไม่มีเหตุสมควรงดหรือลดเบี้ยปรับสำหรับการประเมินภาษีทุกประเภท
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีตามหนังสือแจ้งการประเมิน 4 ฉบับ คือ หนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 และปี 2536 หนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับเดือนภาษีมกราคมถึงธันวาคม 2535 และหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับเดือนภาษีมกราคมถึงธันวาคม 2536 ซึ่งหนังสือแจ้งการประเมินแต่ละฉบับมีรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนภาษี เบี้ยปรับเงินเพิ่ม และภาษีส่วนท้องถิ่นแตกต่างกัน และไม่เกี่ยวข้องกัน แม้ว่าการแจ้งการประเมินภาษีตามหนังสือแจ้งการประเมินทั้ง 4 ฉบับ จะมีที่มาจากการออกหมายเรียกและตรวจสอบภาษีโจทก์เพียงครั้งเดียว แต่เมื่อพิจารณาสภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์แล้ว เห็นได้ชัดว่าคำฟ้องของโจทก์มีข้อหาแต่ละข้อหาไม่เกี่ยวข้องกันแยกจากกันได้ โจทก์จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลทั้ง 4 ข้อหา
ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 และ 2536 ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีรายได้อื่นนอกจากรายได้ดอกเบี้ยรับ เนื่องจากงานในส่วนของโจทก์ที่เกี่ยวกับการตกแต่งภายในห้องชุดยังไม่เริ่ม ดังนั้น โจทก์จึงไม่สามารถนำยอดเงินที่โจทก์อ้างว่าเป็นรายจ่ายที่โจทก์นำมาลงบัญชีไว้ในหมวดสินทรัพย์อื่นในงบดุลซึ่งมิได้ระบุเป็นรายจ่าย จึงไม่อาจทราบได้ว่าเป็นรายจ่ายในกรณีใดมาหักเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 และ 2536 ได้ ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 65 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2084/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีภาษีเมื่อมีการฟ้องคัดค้านการประเมินภาษีแล้ว หนี้ภาษีจึงไม่แน่นอน
จำเลยที่ 1 ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภาษีอากรกลาง อันเป็นการดำเนินการตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 30 (2) แล้ว การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าว จึงอาจถูกเปลี่ยนแปลงหรือเพิกถอนโดยคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลได้ ดังนั้น หนี้ค่าภาษีตามหนังสือแจ้งการประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่โจทก์นำมาฟ้อง จึงเป็นหนี้ที่ยังไม่แน่นอนว่าจะมีอยู่จริงหรือไม่ เพียงใด ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 17 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2076/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ทางไปรษณีย์และหน้าที่ในการยื่นฟ้องคดีภายในกำหนด หากไม่ได้รับการแจ้งโดยตรง มิได้เป็นเหตุสุดวิสัย
ที่ผู้ร้องอ้างว่าเหตุที่ไม่ได้ฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลางภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์และไม่ได้ขอขยายระยะเวลาฟ้องคดีภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว เป็นเพราะไม่ได้รับทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เนื่องจาก ส. คนงานของผู้ร้องลงชื่อรับไว้แทนแต่หลงลืมและเดินทางกลับต่างจังหวัดจึงไม่ได้นำมามอบให้แก่ผู้ร้องภายในระยะเวลาที่ผู้ร้องสามารถยื่นคำฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลางได้นั้น ไม่ใช่กรณีที่มีเหตุสุดวิสัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1689/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีอย่างคนอนาถา: ศาลต้องพิจารณา 'มูลคดี' และ 'ฐานะยากจน' ของโจทก์
การพิจารณาว่าจะอนุญาตให้โจทก์ฟ้องคดีอย่างคนอนาถาได้หรือไม่เพียงใดนั้น ศาลต้องพิจารณาสาระสำคัญ 2 ประการคือ ประการแรก คดีของโจทก์มีมูลที่จะฟ้องร้องหรือไม่ โดยพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องนั้น มีข้อโต้แย้งสิทธิอันมีมูลที่โจทก์จะฟ้องจำเลยได้หรือไม่ ยังไม่ต้องพิจารณาว่าข้อที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องนั้นเป็นจริงหรือไม่ เพราะเป็นข้อที่จะนำสืบพิสูจน์กันในชั้นพิจารณาคดี ประการที่สองศาลต้องไต่สวนแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นคนยากจนไม่สามารถเสียค่าธรรมเนียมศาลได้จริงหรือไม่เพียงใด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 155 และ 156 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17
โจทก์ฟ้องโดยสรุปว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีการค้าพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม เนื่องจากโจทก์มีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร โดยขายในนามห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่โจทก์เป็นหุ้นส่วนอันเป็นการประเมินที่ไม่ชอบ เนื่องจากโจทก์ไม่ได้ขายที่ดินในนามห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล แต่ต่างคนต่างขายและไม่ได้ขายโดยมีเจตนาเพื่อเป็นทางค้าหรือหากำไรซึ่งจะต้องเสียภาษีการค้า ทั้งผู้ซื้อได้ตกลงชำระค่าภาษีทั้งหมดแทนโจทก์และชำระภาษีให้แก่จำเลยไปครบถ้วนแล้ว โจทก์ไม่ต้องเสียภาษีตามที่จำเลยประเมิน ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามคำฟ้อง โจทก์ย่อมไม่ต้องเสียภาษีในการขายที่ดินครั้งนี้อีก การประเมินภาษีดังกล่าวย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ เมื่อศาลภาษีอากรกลางไต่สวนคำร้องของโจทก์แล้วได้ความว่าโจทก์และผู้มีชื่อในโฉนดอื่นไม่ได้เป็นหุ้นส่วนกัน และต่างคนต่างขายที่ดินส่วนของตน คดีโจทก์จึงมีมูลที่จะฟ้อง การที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าคดีของโจทก์ไม่มีมูลที่จะฟ้องร้องจึงไม่ชอบ และศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลภาษีอากรกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นคนยากจนไม่สามารถเสียค่าธรรมเนียมศาลได้หรือไม่เพียงใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8022-8024/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีการค้า และภาษีธุรกิจเฉพาะจากการให้กู้ยืมเงิน โดยแยกบริษัทในเครือและบริษัทนอกเครือ
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ และข้อกำหนดคดีภาษีอากรฯ มิได้บัญญัติเรื่องค่าขึ้นศาลไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา 17 และ 29 แห่งพ.ร.บ. ดังกล่าว ซึ่งตามราราง 1 ท้าย ป.วิ.พ. เรื่องค่าขึ้นศาลมิได้บัญญัติว่าคดีหนึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลไม่เกิน 200,000 บาท ดังนั้น ในการพิจารณาว่าคดีใดจะต้องเสียค่าขึ้นศาลเท่าใดจำต้องพิจารณาคำฟ้องซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 1 (3) บัญญัติไว้เป็นเกณฑ์ ดังนี้ การเรียกค่าขึ้นศาลจึงต้องดูว่าคำฟ้องที่เสนอต่อศาลมีกี่ข้อหา แต่ละข้อหาเกี่ยวข้องกันหรือแยกจากกันได้ คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานจำเลยตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2534 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2534 และรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2535 หนังสือแจ้งภาษีการค้าสำหรับเดือนมกราคมถึงธันวาคม 2534 และหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับเดือนมกราคมถึงธันวาคม 2535 แม้ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีการค้า และภาษีธุรกิจเฉพาะ ต่างจัดเป็นภาษีอากรประเมินแต่เป็นภาษีคนละประเภท ทั้งเป็นการเรียกเก็บภาษีอากรคนละรอบระยะเวลาบัญชี การประเมินภาษีอากรเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานประเมินที่จะต้องประเมินเรียกเก็บภาษีอากรแต่ละประเภทในแต่ละรอบบัญชีให้ถูกต้อง จึงอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการรับรู้รายได้และรายจ่ายแตกต่างกันในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี และการฟ้องคดีของโจทก์ก็เพื่อให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานรวม 4 ฉบับ 2 รอบระยะเวลาบัญชี ไม่เกี่ยวข้องกันสามารถแยกออกจากกันได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2534 ข้อหาหนึ่ง ปี 2535 ข้อหาหนึ่ง ภาษีการค้าปี 2534 ข้อหาหนึ่ง และภาษีธุรกิจเฉพาะปี 2535 อีกข้อหาหนึ่ง คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการเสนอข้อหาต่อศาล 4 ข้อหา ที่ไม่เกี่ยวข้องกันสามารถแยกออกจากกันได้และเมื่อจำเลยอุทธรณ์ว่าเจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีการค้า และภาษีธุรกิจเฉพาะตามที่โจทก์ฟ้องในจำนวนทุนทรัพย์ 19,334,492.94 บาท จึงเป็นการเสนอข้อหาต่อศาล 4 ข้อหาที่ไม่เกี่ยวข้องเช่นเดียวกับที่โจทก์ฟ้อง ทั้งโจทก์และจำเลยจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลทั้งสี่ข้อหา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7682/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจประเมินภาษีเกินอายุความ, การพิสูจน์ราคาตลาด, และการประเมินราคาซากรถยนต์
โจทก์อุทธรณ์คัดค้านหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มของจำเลยต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ว่าการประเมินของเจ้าพนักงานไม่ชอบ แม้เหตุผลในการคัดค้านของโจทก์จะไม่ได้ยกเรื่องการประเมินของเจ้าพนักงานขาดอายุความ ไม่ชอบด้วยมาตรา 88/6 แห่ง ป.รัษฎากรไว้ในคำอุทธรณ์ด้วย แต่ข้ออ้างดังกล่าวซึ่งโจทก์ยกขึ้นอ้างในการฟ้องคดีนี้ก็เป็นเหตุผลอีกข้อหนึ่งที่โจทก์กล่าวอ้างเพิ่มเติมเพื่อเป็นข้อสนับสนุนว่าการประเมินของเจ้าพนักงานดังกล่าวไม่ชอบนั่นเอง ทั้ง ป. รัษฎากร มาตรา 30 (2) ก็มิได้บัญญัติว่าการอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลจะต้องอ้างเหตุผลเช่นเดียวกับที่อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการดังกล่าว โจทก์จึงอ้างถึงเหตุอื่นนอกเหนือจากที่เคยอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการดังกล่าวได้
จำเลยให้การรับว่าเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มตามฟ้องเกิน 2 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มจริง แต่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรแล้ว การประเมินของเจ้าพนักงานจำเลยจึงชอบด้วยมาตรา 88/6 แห่ง ป.รัษฎากร จำเลยจึงเป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยมีอำนาจประเมินโดยได้รับอนุมัติจากอธิบดีแล้ว หน้าที่นำสืบจึงตกแก่จำเลย เมื่อจำเลยไม่มีพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าอธิบดีกรมสรรพากรได้มอบอำนาจให้ จ. มีอำนาจอนุมัติให้ประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 88/6 แห่ง ป. รัษฎากรแทนอธิบดีแล้ว จึงฟังไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเกิน 2 ปี นับแต่วันยื่นแบบแสดงรายการ การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเจ้าพนักงานประเมินไม่มีอำนาจประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว จึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นแต่อย่างใด
โจทก์นำสืบแสดงให้เห็นว่าราคาตลาดของสารเคมีไม่อาจกำหนดให้แน่นอนตายตัวได้ ทั้งนำผู้ซื้อสินค้าจากโจทก์และซื้อจากผู้อื่นมาสืบแสดงถึงราคาที่ได้ซื้อไปจากบริษัทอื่นว่าราคาดังกล่าวเป็นราคาตลาดแล้ว ส่วนจำเลยไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบหักล้างว่าราคาดังกล่าวไม่ใช่ราคาตลาดเพราะมีบริษัทอื่นขายไปในราคาสูงกว่าที่โจทก์ขายซึ่งจะแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีเจตนาแจ้งราคาตลาดไม่ตรงกับความจริง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าโจทก์ได้ขายตามราคาตลาด จำเลยจึงไม่มีสิทธิให้เอาราคาทุนเป็นราคาตลาด
โจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทในเดือนธันวาคม 2533 แล้วขายไปในเดือนพฤษภาคม 2538 ในราคา 200,000 บาท อ้างว่าคนขับขับรถไปเกิดอุบัติเหตุพังทั้งคัน จึงขายไปในสภาพซากรถ แต่ปรากฏว่ารถยนต์คันดังกล่าวไม่ได้ทำประกันภัยไว้ทั้งๆที่โจทก์ทำประกันภัยรถยนต์คันอื่นของโจทก์ทุกคัน บันทึกการแจ้งความก็ไม่ได้ระบุว่าการเกิดอุบัติเหตุดังกล่าวทำให้รถอยู่ในสภาพเสียหายใช้การไม่ได้อย่างไร ทั้งโจทก์ยังไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าได้ดำเนินการอย่างใดในการที่จะได้รับชดใช้มูลค่าของรถที่โจทก์สูญเสียไปไม่น้อยกว่า 2,000,000 บาท หากคิดตามราคาตลาดของรถยนต์รุ่นเดียวกับโจทก์ที่ซื้อขายกันในขณะนั้น หากรถยนต์ยังอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ การที่จำเลยประเมินราคาขายรถยนต์ดังกล่าวตามราคาตลาด จึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6517/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องขอคืนภาษีระหว่างอยู่ในขั้นตอนตรวจสอบของเจ้าพนักงานประเมิน ถือโจทก์ยังไม่มีอำนาจฟ้อง
โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด. 50) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2541 และ 2542 ระบุผลการประกอบกิจการขาดทุนสุทธิทั้งสองรอบระยะเวลาบัญชี เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคล หัก ณ ที่จ่าย สำหรับรอบระยะเวลาปฏิบัติดังกล่าว เจ้าพนักงานประเมินได้ตรวจสอบแล้ว กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่า โจทก์แสดงรายการตามแบบที่ยื่นไว้ไม่ถูกต้อง จำเป็นต้องตรวจสอบบัญชีเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ก่อน ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกตรวจสอบโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว และตามระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการตรวจสอบภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2539 ข้อ 21 กำหนดระยะเวลาการตรวจสอบให้แล้วเสร็จไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันออกหมายเรียก การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขณะที่ยังอยู่ในระยะเวลาตรวจสอบดังกล่าว การกระทำของจำเลย จึงยังไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณา คดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
of 23