คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ม. 17

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 223 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2656/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีการรับมรดก: การคำนวณมูลค่าทรัพย์สิน หนี้สิน และการงด/ลดเบี้ยปรับ
กำหนดระยะเวลาฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกรณีที่ผู้อุทธรณ์ไม่พอใจคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 มาตรา 26 วรรคห้า เป็นระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งที่ศาลภาษีอากรกลางมีอำนาจขยายได้โดยอาศัยอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17
พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 ไม่ได้นิยามความหมายของคำว่า มรดก ไว้ จึงต้องพิจารณาความหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1600 ซึ่งบัญญัติว่า กองมรดกของผู้ตายได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ โดยมาตรา 1599 บัญญัติให้มรดกนั้นตกทอดแก่ทายาททันทีเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ดังนั้น วันที่ได้รับมรดกที่เป็นเหตุให้ผู้รับมรดกมีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดกจึงหมายถึงวันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย เพราะหากถือวันที่ผู้รับมรดกได้รับเอามรดกตามจริง นอกจากไม่เป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้วก็ยังจะเป็นผลให้เกิดความไม่แน่นอนในการจัดเก็บภาษีที่ขึ้นอยู่กับอำเภอใจของผู้รับมรดกว่าจะรับเอามรดกเมื่อใด ซึ่งยากต่อการบังคับใช้กฎหมายของทุกฝ่าย ดังนี้ การคำนวณมูลค่าของเงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะทำนองเดียวกันตามบัญชีเงินฝากธนาคารพิพาทที่เจ้ามรดกมีสิทธิเรียกถอนคืนหรือมีสิทธิเรียกร้องจากสถาบันการเงิน ซึ่งตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2559 ข้อ 5 ให้ถือเอาตามมูลค่าของเงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะทำนองเดียวกันรวมทั้งดอกเบี้ยหรือผลประโยชน์อื่นใดที่จะได้รับจากเงินดังกล่าวในวันที่ได้รับมรดกนั้นจึงต้องถือเอาตามมูลค่าของเงินฝากรวมทั้งดอกเบี้ยที่ได้รับจากเงินดังกล่าวที่พึงมีในวันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ดังนั้น รายการฝาก รายการดอกเบี้ย และรายการเงินปันผลที่มีขึ้นหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายซึ่งไม่อาจฟังได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เจ้ามรดกมีสิทธิได้รับในขณะถึงแก่ความตาย ตลอดจนรายการหนี้สินต่าง ๆ ที่มีขึ้นหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายซึ่งฟังไม่ได้ว่าเป็นหนี้ของกองมรดกในขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จึงไม่ต้องนำมารวมคำนวณและหักมูลค่าเพื่อเสียภาษีการรับมรดก
การจัดเก็บภาษีเงินได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 57 ทวิ เป็นการเก็บภาษีจากกองมรดกของเจ้ามรดกที่มีหลักเกณฑ์เป็นการเฉพาะ แต่การจัดเก็บภาษีตาม พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 เป็นการเก็บภาษีจากทายาทผู้รับมรดกซึ่งเป็นคนละหน่วยภาษีกัน โดย พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 บัญญัติถึงกรณีการเสียภาษีการรับมรดกของทายาทไว้โดยเฉพาะ ไม่จำต้องถือตาม ป.รัษฎากร มาตรา 57 ทวิ
เจ้ามรดกเป็นเจ้าของหุ้นกู้ของบริษัท ซ. ซึ่งในขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย หุ้นกู้ดังกล่าวยังไม่ครบกำหนดไถ่ถอน ทรัพย์มรดกที่โจทก์ได้รับขณะเจ้ามรดกถึงแก่ความตายคือหุ้นกู้และสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้นั้น ไม่ใช่เงินฝากจากเงินค่าไถ่ถอนหุ้นกู้ที่เข้ามาในบัญชีเงินฝากธนาคารหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย การคำนวณมูลค่าของหุ้นกู้ที่เป็นทรัพย์มรดกจึงต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 มาตรา 15 (3) และกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2559 ข้อ 3 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4725/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการขอคืนภาษีอากรของผู้จ่ายเงินได้และการคืนดอกเบี้ย กรณีหักภาษีเกิน
แม้เอกสารที่โจทก์นำสืบจะเป็นภาษาต่างประเทศและไม่ได้ทำคำแปลเป็นภาษาไทย แต่คู่ความสามารถส่งพยานเอกสารที่ทำขึ้นเป็นภาษาต่างประเทศต่อศาลได้โดยไม่จำต้องทำคำแปลเป็นภาษาไทยเสมอไป เว้นเสียแต่ศาลสั่งให้ทำคำแปล ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 46 วรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17 กรณีจึงรับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานของโจทก์ได้ และเมื่อโจทก์ได้ส่งเอกสารดังกล่าวให้แก่จำเลยตั้งแต่ในชั้นพิจารณาคำร้องขอคืนเงินภาษีและชั้นพิจารณาอุทธรณ์แล้ว ศาลภาษีอากรกลางย่อมมีอำนาจยกประเด็นตามเอกสารดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้
ป.รัษฎากร มาตรา 27 ตรี ไม่ได้กำหนดบทนิยามของคำว่า "ผู้มีสิทธิขอคืน" ไว้แต่จำเลยมีระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการคืนเงินภาษีอากร พ.ศ. 2539 ข้อ 4 (5) ให้นิยามของคำว่า "ผู้ขอคืน" หมายความรวมถึงผู้เสียประโยชน์จากการชำระหรือนำส่งภาษีไว้เกิน หรือผิด หรือซ้ำ หรือโดยไม่มีหน้าที่ต้องเสีย มีสิทธิขอคืนเงินส่วนที่เกินได้ เมื่อโจทก์มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้ที่จ่ายให้แก่บริษัท บ. ตามอัตราที่กฎหมายกำหนดแล้วนำส่งให้แก่จำเลย ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 70 การที่โจทก์โอนเงินในส่วนที่หักไว้เกินให้แก่บริษัท บ. แล้วจำเลยก็ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราที่ถูกต้องให้แก่บริษัท บ. เท่ากับจำเลยยอมรับว่าบริษัท บ. ได้ชำระภาษีไว้ถูกต้องครบถ้วนแล้ว ข้อเท็จจริงดังกล่าวพอฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้เสียประโยชน์จากการชำระหรือนำส่งภาษีไว้เกิน โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนภาษีตาม ป.รัษฎากร มาตรา 27 ตรี
ป.รัษฎากร มาตรา 4 ทศ กำหนดให้ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีอากรที่ได้รับคืนโดยไม่คิดทบต้น ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากร โดยไม่ใด้กำหนดว่าผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรจะต้องร้องขอดอกเบี้ยต่อจำเลยก่อนแต่อย่างใด โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าภาษีอากรที่ได้รับคืนตามที่โจทก์ขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2451/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลดอัตราอากรภายใต้ความตกลง AICO การพิจารณาชื่อรุ่นสินค้า และอำนาจฟ้องคดีภาษีมูลค่าเพิ่ม
ระยะเวลา 30 วัน ที่ให้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 อัฏฐารส เป็นระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง อันกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 ที่ศาลอาจขยายให้ได้ เมื่อปรากฏว่าโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลางภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว ศาลภาษีอากรกลางย่อมมีอำนาจที่จะอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลายื่นฟ้องออกไปได้ เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องภายในระยะเวลาที่ศาลขยายให้แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ตาม พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง เพื่อปฏิบัติตามข้อผูกพันตามความตกลงพื้นฐานว่าด้วยโครงการความร่วมมือทางอุตสาหกรรมของอาเซียน (AICO) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 ดังกล่าว ออกประกาศกระทรวงการคลัง ที่ ศก. 17/2541 (ครอ.1) เรื่อง ลดอัตราอากรศุลกากร เมื่อพิจารณาข้อ 2.1 ในประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวประกอบกับความตกลงพื้นฐานว่าด้วยโครงการความร่วมมือทางอุตสาหกรรมของอาเซียนแล้วเห็นได้ว่า ของที่มีสิทธิได้รับการลดอัตราอากรตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว คือ ผลิตภัณฑ์ที่นำเข้า ซึ่งคำขอสมัครเข้าร่วมโครงการ AICO ของโจทก์ระบุว่า ผลิตภัณฑ์ที่โจทก์ขอเข้าร่วมโครงการ คือ ชุดเกียร์รถยนต์ (Transmission) ซึ่งมี รุ่น (Model) MUA รหัส (Code) H9 หมายเลขชิ้นส่วน (Assembly Parts Number) 897200-0510 รุ่นรถปิกอัพในประเทศไทย (Pick up Model in THAILAND) TFR 55 H, HP, HPY รุ่น (Model) MUA รหัส (Code) 8F หมายเลขชิ้นส่วน (Assembly Parts Number) 897200-0540 รุ่นรถปิกอัพในประเทศไทย (Pick up Model in THAILAND) TFS 55 HPY, GY รุ่น (Model) MSG รหัส (Code) HU หมายเลขชิ้นส่วน (Assembly Parts Number) 897200-0460 รุ่นรถปิกอัพในประเทศไทย (Pick up Model in THAILAND) TFR 54 H, HY, HP, HPY และ รุ่น (Model) MSG รหัส (Code) HY หมายเลขชิ้นส่วน (Assembly Parts Number) 897200-0480 รุ่นรถปิกอัพในประเทศไทย (Pick up Model in THAILAND) TFR 54 H, HY, HP, HPY ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมอนุมัติคำขอเข้าร่วมโครงการของโจทก์ เมื่อผลิตภัณฑ์ซึ่งหมายถึงสินค้าของโจทก์ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามโครงการ AICO ตามใบรับรองผลิตภัณฑ์ คือ ชุดเกียร์รถยนต์ ดังนั้น ชื่อ หมายเลข ยี่ห้อ ประเภท รุ่น หรือรายละเอียดอื่น ๆ ตามชนิดของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ที่จะได้รับการลดอัตราอากรตามประกาศกระทรวงการคลัง ที่ ศก. 17/2541 (ครอ.1) จึงหมายถึง ชื่อของชุดเกียร์ หมายเลขของชุดเกียร์ ยี่ห้อของชุดเกียร์ และรุ่นของชุดเกียร์ หาใช่รุ่นของรถยนต์ที่จะนำชุดเกียร์ไปประกอบไม่ ซึ่งรุ่นของชุดเกียร์ที่โจทก์ขอเข้าร่วมโครงการ AICO คือ MUA และ MSG ส่วนคำว่า Pick up Model in THAILAND TFR 54 TFR 55 และ TFS 55 ที่ระบุไว้ในใบรับรองผลิตภัณฑ์เป็นเพียงรหัสรุ่นของรถยนต์ที่จะนำชุดเกียร์ไปประกอบเท่านั้น ซึ่งแม้จะระบุไว้ในใบรับรองผลิตภัณฑ์ก็หาใช่เป็นเงื่อนไขในการนำมาพิจารณาการได้สิทธิลดอัตราอากรตามประกาศกระทรวงการคลัง ที่ ศก. 17/2541 (ครอ.1) ไม่ ซึ่งข้อวินิจฉัยนี้สอดคล้องกับที่สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมมีหนังสือตอบข้อหารือของจำเลยที่ 1 กรณีที่โจทก์นำชุดเกียร์ไปประกอบกับรถยนต์ไม่ตรงรุ่นตามที่แจ้งในใบรับรองผลิตภัณฑ์ว่า ในการพิจารณาคำขอของคณะกรรมการมิได้นำเรื่องรุ่น (Model) ซึ่งหมายถึงรุ่นของรถยนต์ที่นำชุดเกียร์ไปประกอบมาเป็นเงื่อนไขในการพิจารณา นอกจากนี้ยังได้ความจากผู้รับมอบอำนาจโจทก์ว่า รหัส TFR 55 มีกำลังเครื่องยนต์ 2,800 ซีซี เป็นรถรุ่น D. หรือ ด. เมื่อถูกเปลี่ยนเป็นรหัส TFR 77 เพราะมีการเปลี่ยนกำลังเครื่องยนต์เป็น 3,000 ซีซี ก็ยังคงถือว่าเป็นรถในรุ่น D. เช่นเดียวกันกับรหัส TFR 55 เดิม ส่วนรหัส TFS 55 มีกำลังเครื่องยนต์ 2,800 ซีซี เป็นรถรุ่น R. หรือ ร.เมื่อถูกเปลี่ยนเป็นรหัส TFS 77 เพราะมีการเปลี่ยนกำลังเครื่องยนต์เป็น 3,000 ซีซี ก็ยังคงถือว่าเป็นรถในรุ่น R. เช่นเดียวกันกับรหัส TFS 55 เดิม ทั้งเมื่อเปรียบเทียบในโครงการเดียวกันนี้กับใบรับรองผลิตภัณฑ์เลขที่ Honda/2000/12 ของบริษัทฮอนด้า ออโต้โมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ที่ระบุรุ่นของรถยนต์ (Model) ว่า CIVIC กับใบรับรองผลิตภัณฑ์เลขที่ Toyota/2000/11 ของบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ที่ระบุรุ่นของรถยนต์ (Model) ว่า Corolla โดยไม่ได้ระบุเป็นรหัสของรุ่นรถยนต์ดังเช่นใบรับรองผลิตภัณฑ์ของโจทก์ก็ยังได้รับสิทธิตามโครงการนี้ ดังนั้น รุ่นของรถยนต์ที่ระบุไว้ในใบรับรองผลิตภัณฑ์จึงไม่ใช่สาระสำคัญในการได้รับสิทธิลดอัตราอากรของโจทก์ตามประกาศกระทรวงการคลัง ที่ ศก. 17/2541 (ครอ.1) เมื่อชุดเกียร์รถยนต์ที่โจทก์นำเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าพิพาทตรงตามชื่อของผลิตภัณฑ์ (Part Name) หมายเลข (Part Number) ยี่ห้อ ประเภท รุ่น หรือรายละเอียดอื่น ๆ ตามชนิดของผลิตภัณฑ์ที่ระบุไว้ในใบรับรองผลิตภัณฑ์แต่ละฉบับซึ่งออกโดยเลขาธิการอาเซียนแล้ว โจทก์ย่อมได้สิทธิลดอัตราอากรภายใต้โครงการความร่วมมือทางอุตสาหกรรมของอาเซียน (AICO) ตามประกาศกระทรวงการคลัง ที่ ศก. 17/2541 (ครอ.1)
คดีนี้เป็นกระบวนพิจารณาในชั้นอุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ประเด็นแห่งคดีที่เกี่ยวกับการประเมินจึงต้องเป็นไปตามที่เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินไว้ตั้งแต่ต้นและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ทำการวินิจฉัย จำเลยทั้งสองจะเพิ่มเติมประเด็นอื่นขึ้นใหม่ในชั้นศาลนอกเหนือจากที่เจ้าพนักงานประเมินได้มีการประเมินไว้เพื่อให้โจทก์ต้องรับผิดหาได้ไม่ มิฉะนั้นจะเท่ากับเป็นการขยายระยะเวลาการประเมินและประเด็นในการประเมินโดยไม่มีที่สิ้นสุดและไม่แน่นอน ซึ่งไม่เป็นธรรมกับผู้ต้องเสียภาษีอากรและไม่ชอบด้วยหลักการในการประเมินและการอุทธรณ์การประเมิน เมื่อข้อที่จำเลยทั้งสองฎีกาดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองเพิ่งยกขึ้นใหม่เพื่ออ้างเป็นเหตุให้โจทก์ไม่ได้รับสิทธิลดอัตราอากร ซึ่งมีอยู่หลายกรณีอันเป็นการตั้งประเด็นแห่งคดีที่เกี่ยวกับการประเมินนอกเหนือจากที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินให้โจทก์ต้องรับผิดมาแต่ต้นและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้ จึงเป็นการมิชอบ แม้ศาลล่างทั้งสองจะรับวินิจฉัยให้ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรก็ไม่รับวินิจฉัย
แม้ ป.รัษฎากร มาตรา 30 จะบัญญัติถึงหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ตาม แต่ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 79/2 บัญญัติว่า "ฐานภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (1) ฐานภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้าทุกประเภท ได้แก่ มูลค่าของสินค้านำเข้า โดยให้ใช้ราคา ซี.ไอ.เอฟ. ของสินค้า บวกด้วยอากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิตตามที่กำหนดในมาตรา 77/1 (19) ค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนและภาษี และค่าธรรมเนียมอื่นตามที่จะได้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา..." โดยมาตรา 83/10 บัญญัติว่า "ในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (1) สำหรับสินค้าที่นำเข้า ให้กรมศุลกากรเรียกเก็บเพื่อกรมสรรพากร..." ดังนั้น เมื่อการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มต้องอาศัยมูลค่าของฐานภาษี คือ ราคาสินค้าบวกด้วยอากรขาเข้าที่โต้แย้งกันในคดีนี้ว่าเป็นอากรเท่าใดเพื่อใช้เป็นฐานภาษี ความรับผิดเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์จึงขึ้นอยู่กับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 หากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 วินิจฉัยให้อากรขาเข้าลดลง ภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์มีความรับผิดตามการประเมินของจำเลยที่ 1 ที่ทำแทนจำเลยที่ 2 ก็ต้องลดลงไปโดยผลของกฎหมายด้วย เมื่อโจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 โต้แย้งเกี่ยวกับอากรศุลกากรแล้ว จึงไม่จำต้องอุทธรณ์การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากรอีก โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่ม และเมื่อโจทก์ไม่ต้องรับผิดในอากรขาเข้าแล้ว โจทก์ย่อมไม่ต้องรับผิดในภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มและเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 79/2 (1)
โจทก์ซึ่งยื่นคำฟ้องต่อศาลไม่ว่าศาลชั้นใดจะเสียค่าขึ้นศาลถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่เป็นเรื่องของโจทก์และศาลเท่านั้น ประกอบกับศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนแบบแจ้งการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามฟ้องของโจทก์ และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายืนตามศาลภาษีอากรกลาง อุทธรณ์และฎีกาของโจทก์มิได้เรียกร้องเงินหรือขอให้ปลดเปลื้องความรับผิดในการชำระเงินเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ได้รับแล้วตามคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางและศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ อุทธรณ์และฎีกาของโจทก์จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3720/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน: วิธีการคำนวณค่าเช่าและดอกเบี้ยผิดนัด
คดีเดิมโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยเพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน ปีภาษี 2558 ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน ปีภาษี 2558 (เพิ่มเติม) ซึ่งได้ความว่าสาเหตุที่ต้องประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน ปีภาษี 2558 (เพิ่มเติม) เนื่องจากจำเลยคำนวณค่ารายปีและค่าภาษี ปีภาษี 2558 ไม่ถูกต้องครบถ้วนสำหรับพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่ พื้นที่ให้เช่าขนาดเล็ก ศูนย์อาหาร และเครื่องเล่นเด็ก จึงได้คำนวณใหม่และมีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน ปีภาษี 2558 (เพิ่มเติม) แก่โจทก์เพื่อเรียกเก็บภาษีในส่วนที่ขาด ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน ปีภาษี 2558 (เพิ่มเติม) คดีนี้เป็นการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินเพิ่มเติมจากการประเมินในปีภาษี 2558 และเป็นภาษีคนละจำนวนกับการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน ปีภาษี 2558 ประกอบกับจำเลยได้มีหนังสือแจ้งคำชี้ขาดสำหรับการประเมิน ปีภาษี 2558 (เพิ่มเติม) แก่โจทก์เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2559 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์ยื่นฟ้องเพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน ปีภาษี 2558 เป็นคดีต่อศาลภาษีอากรกลางเป็นคดีหมายเลขคดีดำที่ ภ.2/2559 ไว้ก่อนแล้ว และต่อมาคดีดังกล่าวศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรได้มีคำพิพากษาแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3289/2563 ดังนั้น ที่จำเลยฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินปีภาษี 2558 (เพิ่มเติม) ในคดีนี้ จึงไม่เป็นการฟ้องในเรื่องเดียวกันและไม่เป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17
ตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 เมื่อข้อเท็จจริงยุติแล้วว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยเห็นว่าหลักฐานและสัญญาเช่าที่โจทก์นำส่งไม่สมบูรณ์และโจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินแสดงพื้นที่โรงเรือนขาดไป ค่าเช่าที่โจทก์ตกลงกับผู้เช่าจึงมิใช่จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรจะให้เช่าได้ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยย่อมมีอำนาจประเมินค่ารายปีทรัพย์สินของโจทก์โดยเทียบเคียงกับค่ารายปีทรัพย์สินของห้างสรรพสินค้า ท. ซึ่งมีลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกันได้ซึ่งโจทก์เคยฟ้องจำเลยเป็นคดีเกี่ยวกับการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน ปีภาษี 2558 และศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรมีคำพิพากษาแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3289/2563 โดยวินิจฉัยว่า วิธีการที่จำเลยใช้ในการคำนวณหาค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนเพื่อนำมาคำนวณหาค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์ไม่เหมาะสม สำหรับวิธีการคำนวณของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษนั้น เป็นการนำค่ารายปีของทุกร้านที่เช่าพื้นที่แบ่งเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่และพื้นที่ขนาดเล็กของห้างสรรพสินค้า ท. มาหารพื้นที่รวมของทุกร้านตามที่แบ่งพื้นที่เพื่อหาค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนก่อนแล้วค่อยนำไปคำนวณกับพื้นที่ของโจทก์และระยะเวลาการใช้ทรัพย์สิน ซึ่งเป็นวิธีการที่คำนึงถึงค่าเช่าและพื้นที่ของแต่ละร้านประกอบกันจึงเป็นวิธีการคำนวณหาค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรของพื้นที่รวมของทุกร้านตามที่แบ่งพื้นที่แล้ว เพราะเมื่อนำไปคำนวณกลับกับพื้นที่ของห้างสรรพสินค้า ท. แล้วจะได้ค่าภาษีที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงกับค่าภาษีของห้างสรรพสินค้า ท. วิธีการคำนวณของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจึงเป็นวิธีการที่เหมาะสมและคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้งและบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกันในเขตของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นนั้นแล้ว ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรในคดีดังกล่าวจึงกำหนดค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนสำหรับพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่เท่ากับ 676.72 บาท เมื่อคดีนี้มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเฉพาะแต่ในส่วนพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่ ประกอบกับไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าในปีภาษี 2559 มีการใช้ทรัพย์สินในส่วนพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่ของโจทก์แตกต่างไปจากการใช้ทรัพย์สินของโจทก์ในปีภาษี 2558 อย่างไร จึงให้กำหนดค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนสำหรับพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่สำหรับปีภาษี 2559 เท่ากับ 676.72 บาท
ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามี พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ออกใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว ให้ยกเลิกมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. และให้ใช้ความใหม่แทนโดยกำหนดให้หนี้เงินนั้นให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปีซึ่งปัจจุบันอัตราร้อยละห้าต่อปีและมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว กำหนดให้บทบัญญัติตามมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ให้ใช้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับจึงต้องกำหนดดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดดังกล่าว และอัตราดอกเบี้ยตามมาตรา 7 อาจปรับเปลี่ยนโดยพระราชกฤษฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2138/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นพยานเอกสารล่าช้าในคดีภาษีอากร และผลกระทบต่อการรับฟังพยานหลักฐาน
ตามข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ.2544 ข้อ 15 วรรคสอง ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน ให้คู่ความยื่นบัญชีระบุพยานพร้อมทั้งสำเนาก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เมื่อจำเลยที่ 6 ได้ยื่นบัญชีระบุพยานแล้วเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2558 โดยระบุหนังสือรับรองการหักเงินรายได้เพื่อชำระหนี้ค่าหุ้นที่ออกโดยจำเลยที่ 1 เป็นพยานเอกสาร และยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน การยื่นบัญชีระบุพยานจึงชอบแล้ว
ตามข้อกำหนดคดีภาษีอากร ข้อ 16 ให้คู่ความยื่นต้นฉบับพยานเอกสารทั้งหมดที่ประสงค์จะอ้างอิงและอยู่ในความครอบครองของตน...พร้อมกับการยื่นบัญชีระบุพยาน โดยคู่ความไม่ต้องส่งสำเนาเอกสารต่อศาลและคู่ความฝ่ายอื่น และวรรคสองกำหนดว่า คู่ความฝ่ายใดมิได้ยื่นเอกสารต่อศาลตามความในวรรคหนึ่ง คู่ความฝ่ายนั้นไม่มีสิทธิที่จะนำพยานหลักฐานนั้นมาสืบภายหลัง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล เมื่อคู่ความดังกล่าวสามารถแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลถึงเหตุที่ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดได้เพราะเหตุสุดวิสัยหรือเมื่อศาลเห็นว่าพยานหลักฐานดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นที่จะต้องนำพยานหลักฐานดังกล่าวมาสืบ แม้จำเลยที่ 6 ได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้แล้ว แต่จำเลยที่ 6 มิได้ยื่นต้นฉบับเอกสารที่ประสงค์จะอ้างอิงและอยู่ในความครอบครองของตนต่อศาลพร้อมกับการยื่นบัญชีระบุพยาน และจำเลยที่ 6 มิได้แสดงถึงเหตุที่ไม่สามารถปฏิบัติได้เพราะมีเหตุสุดวิสัย ทั้งไม่ได้รับอนุญาตจากศาลภาษีอากรกลางให้นำสืบเอกสารดังกล่าวได้ จำเลยที่ 6 จึงไม่มีสิทธินำพยานหลักฐานนั้นเข้าสืบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9145/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักกลบลบหนี้ภาษีและคำนวณเงินเพิ่มที่ถูกต้องตามกฎหมาย
คดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบแล้ว โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องชำระภาษีตามการประเมิน ซึ่งจำเลยคำนวณเงินภาษีและเงินเพิ่มที่โจทก์ต้องชำระและแจ้งเตือนให้โจทก์ทราบ เป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยโต้แย้งว่าวิธีการหักกลบลบหนี้ของจำเลยไม่ถูกต้อง จึงมีประเด็นว่าจำเลยหักกลบลบหนี้เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ค่าภาษีและเงินเพิ่มถูกต้องหรือไม่ และการคิดเงินเพิ่มถูกต้องหรือไม่ แม้การหักกลบลบหนี้เกิดขึ้นก่อนโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ในคดีก่อน แต่เมื่อคดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์โต้แย้งในวิธีการคำนวณภาษีที่ต้องชำระโดยวิธีการหักกลบลบหนี้ว่าไม่ถูกต้องและในส่วนเงินเพิ่มเท่านั้น จึงเป็นคนละขั้นตอนกัน มีประเด็นต่างกับคดีเดิมและการวินิจฉัยของศาลก็อาศัยเหตุที่แตกต่างกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่ม ในขณะเดียวกันจำเลยมีคำสั่งให้คืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มแก่โจทก์ ซึ่งจำเลยนำไปหักกลบลบหนี้กับหนี้ภาษีเงินได้นิติบุคคลตามการประเมินดังกล่าวบางส่วน โจทก์ไม่เห็นด้วยจึงอุทธรณ์การประเมินและยื่นฟ้องคดี คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาว่าไม่เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ จำเลยจึงมีหนังสือแจ้งเตือนให้โจทก์นำเงินภาษีอากรค้างไปชำระ ซึ่งโจทก์ชำระหนี้ภาษีอากรค้างดังกล่าวไปก่อน และยื่นหนังสือโต้แย้งว่าการคำนวณเงินเพิ่มไม่ถูกต้องในวันเดียวกัน ต่อมาจำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์ว่า เงินเพิ่มที่จำเลยเรียกเก็บไว้ถูกต้องตามมาตรา 27 แห่ง ป.รัษฎากร แล้ว โจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้องจึงมาฟ้องคดีนี้ ขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนหรือแก้ไขการคำนวณภาษีและเงินเพิ่มตามแบบขอชำระภาษีอากรคงค้าง เพิกถอนคำสั่งตามหนังสือแจ้งเตือนให้นำเงินภาษีอากรไปชำระและคำสั่ง ในส่วนการคิดเงินภาษีและเงินเพิ่มและให้คืนเงินให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย แสดงให้เห็นว่ากรณีเป็นเรื่องในชั้นบังคับชำระค่าภาษีอากรค้าง โดยโต้แย้งกันในเรื่องวิธีการคำนวณภาษีที่ต้องชำระโดยการหักกลบลบหนี้ว่าไม่ถูกต้องและในส่วนเงินเพิ่มเท่านั้น มิได้พิพาทกันเกี่ยวกับมูลหนี้ภาษีอากรโดยตรง ประกอบกับเมื่อโจทก์ยื่นหนังสือโต้แย้งการคำนวณเงินเพิ่ม จำเลยก็รับวินิจฉัยให้โดยไม่ได้โต้แย้งถึงเรื่องรูปแบบของหนังสือ กรณีจึงถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิหน้าที่ระหว่างโจทก์กับจำเลยในเรื่องหนี้ภาษีอากรค้างชำระ หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์ขอคืนเงินภาษีอากรที่นำส่งแล้วเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษี หรือที่ไม่มีหน้าที่ต้องเสีย ซึ่งโจทก์จะต้องยื่นคำร้องขอคืนตามมาตรา 27 ตรี โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้และขอคืนเงินภาษีจากจำเลยได้
เงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่ง ป.รัษฎากร มิใช่ดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. มาตรา 329 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงไม่อาจนำเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับมาหักชำระหนี้เงินเพิ่มก่อนได้ กรณีนี้เป็นเรื่องลูกหนี้ต้องผูกพันต่อเจ้าหนี้ในอันจะกระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอย่างเดียวกันโดยมูลหนี้หลายราย เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระพร้อมกัน หนี้ค่าภาษีซึ่งเป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดภาระและเป็นฐานในการคำนวณเงินเพิ่มจึงเป็นหนี้รายที่ตกหนักที่สุดย่อมได้รับการปลดเปลื้องไปก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 328 วรรคสอง จำเลยจึงต้องนำเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์มีสิทธิได้รับคืนไปหักชำระค่าภาษีอากรให้หมดก่อนแล้วจึงไปหักในส่วนเงินเพิ่มได้
ป.รัษฎากร มาตรา 27 วรรคสาม บัญญัติว่า การคำนวณเงินเพิ่มต้องไม่เกินจำนวนภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับ ส่วนการหักกลบลบหนี้หรือการชำระหนี้ภาษีซึ่งอาจทำให้จำนวนเงินภาษีอากรที่ผู้เสียภาษีต้องเสียหรือนำส่งลดลงนั้น การคำนวณเงินเพิ่มก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามจำนวนภาษีอากรที่ลดลง เงินเพิ่มที่คำนวณได้จึงต้องไม่เกินต้นเงินภาษีอากรตามการประเมิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4615/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พิกัดศุลกากร: การนำเข้าเครื่องสแกนเนอร์และเครื่องพิมพ์เลเซอร์ร่วมกันถือเป็นเครื่องอุปกรณ์เฉพาะสำหรับห้องปฏิบัติการภาพถ่าย ไม่อยู่ในพิกัด 8471.50
ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 196/2550 ของศาลภาษีอากรกลาง ขอให้ศาลพิพากษาว่าสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 0109-0148-70129 จัดเข้าพิกัดศุลกากร 8471.90 และให้จำเลยที่ 1 คืนเงินภาษีพร้อมดอกเบี้ย ขณะที่คดีก่อนอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสิบสองเป็นคดีนี้ขอให้เพิกถอนการประเมินตามใบขนสินค้าเลขที่เดียวกันอีก จึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 แม้ต่อมาจะได้ความจากอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์และศาลฎีกาอนุญาตให้ถอนอุทธรณ์ได้ก่อนคดีถึงที่สุดก็ตาม ก็หาทำให้ฟ้องคดีนี้ซึ่งเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่ต้นกลายเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย
กรณีคำสั่งทางปกครองที่เข้าข้อยกเว้นว่าเป็นเหตุผลที่รู้กันอยู่แล้ว ไม่จำต้องระบุแสดงเหตุผลตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ก่อนมีการออกแบบแจ้งการประเมินอากรขาเข้า โจทก์เคยมีข้อโต้แย้งการจัดประเภทพิกัดสินค้าพิพาทในคดีนี้ โดยส่งหนังสือสอบถามไปยังกลุ่มงานพิกัดอัตราศุลกากร ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เคยเข้าพบเจ้าหน้าที่สำนักสืบสวนและปราบปรามเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าพิพาท เจ้าพนักงานประเมินเคยมีหนังสือถึงโจทก์ให้ไปชี้แจงและยื่นเอกสาร และโจทก์ยังมีหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักกฎหมายโต้แย้งการจัดพิกัดสินค้าพิพาทของผู้จับกุม ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินมีแบบแจ้งการประเมินอ้างถึงเลขที่ใบขนสินค้าพิพาทที่ตรวจพบว่าสำแดงพิกัดอัตราศุลกากรไม่ถูกต้อง ซึ่งโจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินดังกล่าวได้ตรงตามการประเมิน จึงเป็นกรณีที่เหตุผลที่ต้องแสดงนั้นเป็นที่รู้กันอยู่แล้ว ไม่จำต้องระบุแสดงเหตุผลอีก
พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 มาตรา 15 วรรคสาม บัญญัติให้การตีความในพิกัดอัตราศุลกากร ให้ถือตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 ท้ายพระราชกำหนดนี้ประกอบคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ของคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากรฯ ซึ่งหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากร ข้อ 1 ระบุว่า "ชื่อของหมวด ตอน และตอนย่อย ได้กำหนดขึ้นเพื่อให้สะดวกแก่การอ้างอิงเท่านั้น ตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย การจำแนกประเภทให้จำแนกตามความของประเภทนั้น ๆ ตามหมายเหตุของหมวดหรือของตอนที่เกี่ยวข้องและตามข้อกำหนดดังต่อไปนี้ หากว่าประเภทหรือหมายเหตุดังกล่าวไม่ได้ระบุไว้เป็นอย่างอื่น" หลักเกณฑ์ข้อ 6 ระบุว่า "ตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย การจำแนกประเภทของของเข้าในประเภทย่อยของประเภทใดประเภทหนึ่งให้เป็นไปตามความของประเภทย่อยที่เกี่ยวข้องและตามหลักเกณฑ์ข้างต้นโดยอนุโลม โดยพิจารณาเปรียบเทียบในระหว่างประเภทย่อยที่อยู่ในระดับเดียวกัน ตามวัตถุประสงค์ของหลักเกณฑ์นี้ให้ใช้หมายเหตุของหมวดและของตอนที่เกี่ยวข้องด้วย เว้นแต่จะมีข้อความระบุไว้เป็นอย่างอื่น" ซึ่งหมายเหตุของหมวด 16 ข้อ 4 ระบุว่า "ในกรณีเครื่องจักร (รวมถึงกลุ่มเครื่องจักร) ที่มีองค์ประกอบแยกเป็นแต่ละส่วน (ไม่ว่าจะอยู่ในลักษณะแยกกันหรือต่อเชื่อมกันด้วยท่อ อุปกรณ์ส่งกำลัง เคเบิลไฟฟ้าหรือด้วยอุปกรณ์อื่น ๆ ) โดยเจตนาที่จะให้ร่วมกันทำหน้าที่อย่างหนึ่งที่ระบุได้อย่างชัดแจ้ง ซึ่งคลุมถึงโดยประเภทใดประเภทหนึ่งในตอนที่ 84 หรือตอนที่ 85 ให้จำแนกของทั้งหมดเข้าประเภทที่เหมาะสมตามหน้าที่นั้น" ส่วนหมายเหตุของหมวด 18 ตอนที่ 90 ข้อ 3 ระบุว่า "ข้อกำหนดของหมายเหตุ ข้อ 4 ในหมวด 16 ให้ใช้กับตอนนี้ด้วย" และหมายเหตุของตอนที่ 84 ข้อ 5 จ. ระบุว่า "เครื่องจักรที่ประกอบร่วมกันหรือทำงานเชื่อมกันกับเครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ และทำงานเฉพาะอย่างนอกจากการประมวลผลข้อมูลให้จำแนกเข้าประเภทที่เหมาะสมตามหน้าที่การทำงานของเครื่องจักรนั้นหรือจำแนกเข้าประเภทอื่นที่เหลือ" เมื่อสินค้าเครื่องสแกนเนอร์พิพาทที่โจทก์นำเข้ามาพร้อมกับเครื่องเลเซอร์ปริ้นเตอร์และใช้งานร่วมกันเป็นเครื่องอุปกรณ์ที่ออกแบบเพื่อทำหน้าที่เฉพาะอย่างเป็นเครื่อง DIGITAL MINILAB นำมาใช้งานเกี่ยวกับห้องปฏิบัติการภาพถ่ายออกแบบเพื่อทำงานร่วมกันตรงตามความในหมายเหตุข้อ 4 หมวด 16 หมายเหตุข้อ 3 ตอน 90 และหมายเหตุของตอนที่ 84 ข้อ 5 (จ) จึงจัดเป็นของตามพิกัดประเภทที่ 9010.50 ในฐานะเป็นเครื่องอุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้ตามห้องปฏิบัติการภาพถ่าย (รวมถึงภาพยนตร์) และเครื่องเนกาโตสโกป ตามหลักเกณฑ์การตีความข้อ 1 และข้อ 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2567/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม: การคำนวณระยะเวลาและอัตราดอกเบี้ยที่ถูกต้องตามกฎหมาย
การที่โจทก์จะฟ้องคดีภาษีอากรต่อศาลภาษีอากรกลางได้จะต้องเป็นคดีที่ศาลภาษีอากรกลางมีอำนาจพิจารณาพิพากษาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 7 สำหรับคดีเกี่ยวกับการขอคืนภาษีอากรนั้น ในกรณีที่กฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรบัญญัติให้ขอคืนเงินค่าภาษีอากรตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่กำหนดไว้ จะดำเนินการในศาลภาษีอากรได้ ก็ต่อเมื่อได้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาเช่นว่านั้น ตามมาตรา 9 ทั้งต้องมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17
คดีนี้โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่จำเลยมีหนังสือแจ้งไม่คืน โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง ต่อมาโจทก์ได้ชี้แจงและนำส่งเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ประกอบการขอคืนเพิ่มเติม จำเลยมีหนังสือยกเลิกคำสั่งแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากร และโอนเงินค่าภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่โจทก์ แต่ไม่คืนดอกเบี้ยตาม ป.รัษฎากร มาตรา 4 ทศ เห็นได้ว่าดอกเบี้ยตามมาตรา 4 ทศ เป็นดอกผลโดยนิตินัยของภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์เสียเกินไปกว่าจำนวนที่ต้องเสีย และจำเลยต้องพิจารณาสั่งคืน เมื่อจำเลยสั่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแต่ไม่คืนดอกเบี้ยแก่โจทก์ ย่อมมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ระหว่างโจทก์กับจำเลยตามกฎหมายแพ่งแล้ว
การคำนวณดอกเบี้ยต้องเริ่มคิดตั้งแต่วันครบกำหนดระยะเวลาสามเดือน นับแต่วันยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับเงินคืนภาษีอากรข้อ 1 (2) มิใช่นับแต่วันส่งเอกสารจนครบ เนื่องจากการที่เจ้าพนักงานเรียกให้ส่งมอบเอกสารหลักฐานให้ตรวจสอบ ตามข้อ 2 วรรคสาม มีผลเพียงให้ระงับการคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันสุดท้ายของเวลาที่เจ้าพนักงานสั่ง ตามข้อ 2 วรรคสี่ เท่านั้น เมื่อนับแต่วันที่โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนภาษีในเดือนภาษีที่พิพาทแต่ละฉบับจนถึงวันที่ลงนามในคำสั่งคืนเงินเป็นระยะเวลาที่พ้นกำหนดสามเดือน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ย
ตามหนังสือที่แจ้งให้โจทก์ไปพบเจ้าพนักงานเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและนำส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ 18 เมษายน 2556 เป็นคำสั่งของเจ้าพนักงานที่เรียกเอกสารหรือพยานหลักฐานที่กำหนดเวลาไว้น้อยกว่าสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง ซึ่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ข้อ 2 วรรคสาม จำเลยไม่อาจระงับการคิดดอกเบี้ยแก่โจทก์ได้ โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจนถึงวันที่ลงในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงิน
กฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ข้อ 1 วรรคสอง นั้น ให้คิดดอกเบี้ยจนถึงวันที่จำเลยลงนามในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงิน หลังจากนั้นไม่มีการคิดดอกเบี้ยแก่โจทก์อีก จำเลยชอบที่จะเร่งรัดคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์ชำระเกินไปพร้อมดอกเบี้ย เมื่อจำเลยลงนามในหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มแก่โจทก์แล้ว จำเลยไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยแก่โจทก์อีกต่อไป การที่ดอกเบี้ยการคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มหยุดลงตั้งแต่วันที่จำเลยลงนามในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนภาษีแล้ว หาใช่การคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดไม่ โจทก์ชอบที่จะได้รับการเยียวยาความเสียหาย เนื่องจากจำเลยไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของมาตรา 4 ทศ ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ภายในระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ระหว่างการพิจารณา จำเลยจ่ายดอกเบี้ยให้แก่โจทก์แล้วบางส่วนจำนวน 651,143.76 บาท ความเสียหายในส่วนนี้ได้รับการบรรเทาไปแล้ว จึงเห็นควรกำหนดค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดอกเบี้ยภาษีมูลค่าเพิ่มที่ยังค้างจ่ายแก่โจทก์ นับแต่วันถัดจากวันลงนามในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนภาษีจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1609/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขาดนัดพิจารณาคดีภาษีอากร ศาลจำหน่ายคดีไม่อาจอุทธรณ์หรือขอพิจารณาใหม่ได้
โจทก์ไม่มาศาลและไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี ถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 200 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยแถลงไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีต่อไป ศาลภาษีอากรกลางต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 202 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 กรณีเช่นนี้แม้ ป.วิ.พ. มาตรา 203 จะมิได้บัญญัติห้ามมิให้โจทก์มีคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ แต่การที่โจทก์จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้จะต้องมีการพิจารณาคดีฝ่ายเดียวเป็นสำคัญ คดีนี้เมื่อโจทก์ขาดนัดพิจารณา ศาลภาษีอากรกลางได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเสร็จสิ้นไปแล้ว จึงไม่มีการพิจารณาคดีฝ่ายเดียวอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิที่จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ สิทธิของโจทก์มีอยู่ทางเดียว คือ ต้องฟ้องคดีใหม่ภายในอายุความตามมาตรา 203 เท่านั้น โจทก์ไม่อาจอุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดีและร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 203 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1397/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะกรณีค่าธรรมเนียมที่ผู้ซื้อชำระแทนผู้ขาย และการขอคืนภาษีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์
โจทก์ทำสัญญาให้ผู้ซื้อชำระค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมและค่าภาษีในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ สำหรับค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นกรณีที่คู่สัญญาตกลงกันเป็นอย่างอื่น และค่าธรรมเนียมดังกล่าวผู้ซื้อจ่ายให้แก่กรมที่ดิน ไม่ใช่จ่ายให้โจทก์ ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ผู้ซื้อออกแทนจึงไม่เป็นเงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทน หรือประโยชน์ใด ๆ อันมีมูลค่าที่ได้รับหรือพึงได้รับอันเนื่องมาจากการประกอบกิจการของโจทก์ กรณีไม่เข้าลักษณะเป็นรายรับที่จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/1 (1) แห่ง ป.รัษฎากร ส่วนค่าภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ ค่าภาษีบำรุงท้องที่ และค่าอากรแสตมป์ ที่ผู้ซื้อออกแทน จะเห็นได้ว่าโจทก์ในฐานะผู้ขายมีหน้าที่ตามกฎหมายโดยตรงที่จะต้องเสีย ค่าภาษีอากรดังกล่าวจึงเป็นเงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทน หรือประโยชน์ใด ๆ อันมีมูลค่าที่ได้รับหรือพึงได้รับอันเนื่องมาจากการประกอบกิจการของโจทก์ มีลักษณะเป็นรายรับที่จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/1 (1)
การที่โจทก์ขอคืนเงินค่าภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นเงิน 1,643,890.17 บาท เป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่า โจทก์ได้ชำระค่าภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้ซื้อเกินไปกว่าที่ควรต้องชำระ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการขอคืนค่าภาษีอากร ตามมาตรา 7 (3) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ซึ่งมาตรา 9 ระบุเงื่อนไขให้ต้องขอคืนภาษีอากรตามหลักเกณฑ์วิธีการและระยะเวลาที่กำหนดไว้ จึงจะดำเนินการในศาลภาษีอากรได้ เมื่อปรากฏว่า ในการขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะครั้งแรก โจทก์ขอคืนเงินมาในคำอุทธรณ์การประเมินภาษี มิได้เป็นการยื่นคำร้องขอคืนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในมาตรา 91/11 แห่ง ป.รัษฎากร ส่วนในการขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะครั้งที่สอง ยังอยู่ในระหว่างที่จำเลยตรวจสอบและยังไม่มีคำวินิจฉัยในเรื่องการขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะดังกล่าว โจทก์ยื่นฟ้องเป็นคดีนี้หลังจากการขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นเวลาเพียง 26 วัน เมื่อทางพิจารณาไม่ปรากฏว่า การขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะของโจทก์เป็นกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินไม่ต้องตรวจสอบบัญชีเอกสารหลักฐานก่อนว่าโจทก์เสียภาษีถูกต้องหรือไม่ และเจ้าพนักงานประเมินสามารถทราบได้แน่ชัดว่าโจทก์จะได้รับคืนภาษีตามจำนวนที่ขอคืนได้หรือไม่ จึงฟังไม่ได้ว่า โจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องในส่วนนี้
of 23