คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ไสลเกษ วัฒนพันธุ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 274 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10337/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคำนวณฐานภาษีมูลค่าเพิ่มจากราคายาสูบตามประกาศกรมสรรพสามิต และการไม่มีเลือกปฏิบัติ
คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.85/2542 ข้อ 2 (1) กำหนดฐานภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับยาสูบที่นำเข้าจากต่างประเทศกรณีเป็นบุหรี่ซิกาแรตที่กรมสรรพสามิตได้กำหนดราคายาสูบไว้ตามความในมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ.2509 ให้คำนวณมูลค่าของบุหรี่ซิกาแรตโดยหักจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มออกจากจำนวนเต็มของราคาขายปลีกบุหรี่ซิกาแรต พร้อมทั้งยกตัวอย่างวิธีการคำนวณ จึงเห็นได้ว่า คำสั่งกรมสรรพากรดังกล่าวเพียงแต่นำความในมาตรา 79/5 (2) ซึ่งบัญญัติให้ใช้ราคาขายปลีกที่หักภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วมาออกเป็นคำสั่งเท่านั้น แต่มิได้กำหนดรายละเอียดว่าจำนวนเต็มของราคาขายปลีกนั้นจะต้องคำนวณอ้างอิงจากราคาใด จึงมิได้เป็นการออกคำสั่งเกินขอบเขตแห่งบทบัญญัติมาตรา 79/5 (2) ส่วนประกาศกรมสรรพสามิตเรื่องกำหนดราคายาสูบที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ฉบับลงวันที่ 18 กันยายน 2549 และวันที่ 30 มีนาคม 2550 ก็เป็นการกำหนดราคาขายปลีกยาสูบชนิดบุหรี่ซิกาแรตที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรของผู้ได้รับอนุญาตขายยาสูบประเภท 3 ซึ่งขายได้ครั้งละไม่เกิน 1,000 มวน จึงไม่มีผลบังคับแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตขายยาสูบประเภท 1 ซึ่งขายโดยไม่จำกัดจำนวน เมื่อไม่มีข้อเท็จจริงอื่น ฐานภาษีสำหรับราคาขายปลีกบุหรี่ซิกาแรตของโจทก์ย่อมขึ้นอยู่กับราคาตั้งขายปลีกแก่บุคคลทั่วไปตามความเป็นจริง ซึ่งโจทก์เป็นผู้แนะนำราคาขายปลีกแก่ผู้ค้าปลีกของโจทก์ โจทก์ย่อมต้องรู้ราคาขายปลีกแก่บุคคลทั่วไปสำหรับสินค้าของโจทก์เป็นอย่างดีและมีหน้าที่ต้องนำราคาขายปลีกนั้นมาคำนวณเป็นฐานภาษีในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มแก่จำเลย เมื่อโจทก์ออกใบกำกับภาษีขายและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มแก่จำเลยโดยใช้ฐานภาษีที่คำนวณจากราคาขายปลีกสูงสุดตามประกาศกรมสรรพสามิต ย่อมแสดงให้เห็นว่าโจทก์ยอมรับเอาราคาขายปลีกสูงสุดตามประกาศกรมสรรพสามิตมาเป็นราคาตั้งขายปลีกแก่บุคคลทั่วไปที่แท้จริงจึงเป็นการกระทำของโจทก์เองและปรากฏว่า ลูกค้าของโจทก์ได้นำใบกำกับภาษีขายของโจทก์ไปใช้เป็นภาษีซื้อแล้ว โจทก์จึงไม่อาจยกผลจากการกระทำดังกล่าวมาเป็นข้ออ้างเพื่อขอคืนภาษีจากจำเลยได้
การตอบข้อหารือของจำเลยเป็นการให้บริการแก่ประชาชนอันเป็นสิทธิของผู้เสียภาษี แต่การตอบข้อหารือของหน่วยงานรัฐย่อมขึ้นอยู่ภายใต้ข้อจำกัดในเรื่องระดับชั้นของเจ้าพนักงานผู้ตอบข้อหารือเอง ข้อจำกัดในเรื่องอำนาจหน้าที่ขององค์กรที่ตอบข้อหารือ ข้อจำกัดในเรื่องข้อเท็จจริงที่จำเป็นและเพียงพอแก่การตอบข้อหารือแต่ละกรณี และข้อจำกัดในเรื่องคำถามของผู้ขอหารือเองด้วยว่ามีความชัดแจ้งหรือครบถ้วนมากน้อยเพียงใด ผลของการตอบข้อหารือเป็นแนวทางแก่ผู้เสียภาษีได้ภายใต้ข้อจำกัดดังกล่าว เมื่อจำเลยตอบข้อหารือไปภายใต้ข้อจำกัดของข้อเท็จจริงเท่าที่ปรากฏจากการสอบถามของโจทก์ในเวลานั้นและเป็นการตอบข้อหารือในปี 2542 ซึ่งไม่เป็นปัญหาต่อโจทก์ในเวลานั้น หากต่อมาโจทก์เห็นว่าราคาขายปลีกจริงต่ำกว่าราคาตามประกาศกรมสรรพสามิตอันทำให้การยื่นแบบรายการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยใช้ราคาตามประกาศกรมสรรพสามิตทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ก็ต้องสอบถามจำเลยเพื่อให้ตอบข้อหารือใหม่โดยระบุข้อเท็จจริงเกี่ยวกับราคาขายปลีกตามความเป็นจริงหรือจะยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มแสดงราคาขายปลีกตามที่โจทก์อ้างก็ได้ จึงเป็นความบกพร่องของโจทก์เอง โจทก์จึงไม่อาจยกเอาหนังสือตอบข้อหารือของจำเลยมาอ้างเป็นเหตุจำเป็นที่ทำให้โจทก์ต้องยื่นแบบแสดงรายการโดยใช้ฐานภาษีที่คำนวณจากราคาขายปลีกสูงสุดตามประกาศกรมสรรพสามิตได้
ประกาศกรมสรรพสามิตฉบับลงวันที่ 18 กันยายน 2549 และวันที่ 30 มีนาคม 2550 ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ.2509 เพื่อมิให้มีการขายบุหรี่ซิกาแรตเกินราคาที่กำหนด โดยบัญญัติโทษปรับแก่ผู้ฝ่าฝืน จึงเป็นการประกาศกำหนดราคาสูงสุดเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคเท่านั้น แต่เมื่อโจทก์เป็นผู้แนะนำราคาขายปลีกแก่คู่ค้าของโจทก์เอง โจทก์จึงกำหนดราคาขายปลีกบุหรี่ซิกาแรตต่ำกว่าประกาศกรมสรรพสามิตได้ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายบังคับให้โจทก์ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยใช้ราคาขายปลีกตามประกาศกรมสรรพสามิต ส่วนคำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาทขององค์การการค้าโลกที่โจทก์อ้างก็เป็นการวินิจฉัยถึงประกาศกรมสรรพสามิตซึ่งปัจจุบันได้ถูกยกเลิกไปแล้ว และมิได้วินิจฉัยไปถึงความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.85/2542 และที่คณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาทขององค์การการค้าโลกมีคำวินิจฉัยว่า กรมสรรพสามิตใช้วิธีการที่แตกต่างไปจากวิธีการปกติในการกำหนดราคาขายปลีกสูงสุดซึ่งเป็นผลให้ค่าการตลาดของบุหรี่ซิกาแรตนำเข้าสูงกว่าที่ควรจะเป็นนั้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำหนดค่าการตลาดนั้นด้วย การที่จำเลยเพียงออกคำสั่งเพื่อวางแนวทางปฏิบัติให้โจทก์ยื่นแบบแสดงราคาขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มเองได้ จึงหาเป็นการเลือกปฏิบัติต่อโจทก์โดยไม่เป็นธรรมไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9881/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม: การหักค่าภาษีสรรพสามิตออกจากฐานภาษีเป็นรายรับที่ครบถ้วนตามสัญญาเดิม ทำให้โจทก์ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
สัญญาให้ดำเนินการให้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า คู่สัญญาภาคเอกชนทั้งสามรายต้องจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่โจทก์ตลอดอายุสัญญาเป็นรายปี คิดเป็นอัตราร้อยละของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย ค่าภาษี และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ การที่โจทก์ให้คู่สัญญาทั้งสามรายนำเงินค่าภาษีสรรพสามิตที่ได้ชำระแล้วมาหักออกจากจำนวนเงินผลประโยชน์ตอบแทนที่ต้องจ่ายให้โจทก์ เป็นการกระทำที่มีผลเช่นเดียวกับการที่โจทก์นำเงินที่ได้รับจากคู่สัญญาทั้งสามรายบางส่วนไปจ่ายคืนให้แก่คู่สัญญาทั้งสามราย เพื่อให้คู่สัญญาทั้งสามรายนำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระภาษีสรรพสามิตตามที่คู่สัญญาทั้งสามรายมีหน้าที่ต้องชำระให้แก่กรมสรรพสามิต อันเป็นการชดเชยค่าภาษีสรรพสามิตให้แก่คู่สัญญาทั้งสามราย โดยโจทก์เป็นผู้รับภาระค่าภาษีสรรพสามิตแทนคู่สัญญาทั้งสามราย เพื่อให้คู่สัญญาทั้งสามรายมีภาระที่จะต้องจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่โจทก์ตามสัญญาในอัตราเท่าเดิม โดยไม่มีการลดผลประโยชน์ตอบแทนหรือส่วนแบ่งรายได้ที่โจทก์จะได้รับจากคู่สัญญาทั้งสามราย ส่วนแบ่งรายได้หรือผลประโยชน์ตอบแทนที่โจทก์ได้รับจากคู่สัญญาทั้งสามรายยังมีครบถ้วนตามสัญญาเดิมและถือเป็นรายรับที่โจทก์ได้รับจริงจากการให้บริการตามสัญญา ซึ่งเป็นฐานภาษีตาม ป.รัษฎากร มาตรา 79 โจทก์จึงต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากคู่สัญญาทั้งสามรายตามมาตรา 77/2
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตและคู่สัญญาทั้งสามรายไม่มีสิทธินำเอาค่าภาษีสรรพสามิตที่ชำระแล้วมาหักออกจากส่วนแบ่งรายได้ที่ต้องชำระแก่โจทก์ คู่สัญญาทั้งสามรายต้องรับภาระภาษีสรรพสามิตเอง คู่สัญญาทั้งสามรายยังชำระค่าส่วนแบ่งรายได้ให้แก่โจทก์ไม่ครบถ้วน โจทก์จึงยังไม่ได้รับค่าภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนนี้นั้น เป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่รับวินิจฉัยให้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9880/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดจำนวนหนี้ในสัญญาจำนำหุ้น และการหักภาษีซื้อที่มิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไร
ป.รัษฎากร มาตรา 104 บัญญัติว่า "ตราสารที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายหมวดนี้ต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ ตามอัตราที่กำหนดไว้ในบัญชีนั้น" ซึ่งตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ข้อ 18 ได้บัญญัติลักษณะแห่งตราสารจำนำ ต้องเสียค่าอากรแสตมป์ 1 บาท ต่อจำนวนหนี้ทุก 2,000 บาท หรือเศษของ 2,000 บาท ถ้าการจำนำมิได้จำกัดจำนวนหนี้ไว้ ต้องเสียค่าอากรแสตมป์ 1 บาท เมื่อตามสัญญาจำนำ ฉบับลงวันที่ 29 สิงหาคม 2545 ระบุว่า "ผู้จำนำเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในหุ้นสามัญจำนวนหนึ่งอันเป็นหุ้นทุนซึ่งออกโดยบริษัท อ.ตามที่ปรากฏในเอกสารแนบท้าย 1 ของสัญญานี้ และผู้จำนำตกลงจะจำนำหุ้นกับผู้รับจำนำเพื่อเป็นหลักประกันการชำระเงินทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นต้นเงิน ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ยผิดนัด ค่าปรับ ค่าเสียหาย การใช้เงินคืน หรือเงินอื่นใด ("หนี้สิน") ที่บริษัท อ. ต้องชำระหรือจะต้องชำระให้กับผู้รับจำนำภายใต้สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้..." แสดงให้เห็นถึงเจตนาของคู่สัญญาที่ประสงค์จะจำนำประกันหนี้ของบริษัท อ. เฉพาะหนี้ที่ระบุไว้ตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ที่บริษัท อ. จะต้องชำระให้แก่โจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าการจำนำรายนี้มิได้จำกัดจำนวนหนี้ไว้ซึ่งกำหนดให้เสียค่าอากรแสตมป์เพียง 1 บาท ดังที่โจทก์อ้าง ฉะนั้น โจทก์ในฐานะผู้รับจำนำจึงต้องรับผิดชำระค่าอากรแสตมป์ 1 บาท ต่อจำนวนหนี้ทุก 2,000 บาท หรือเศษของ 2,000 บาท ของจำนวนหนี้ตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9694/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะผู้เสียภาษีสรรพสามิต: การจัดแข่งม้าการกุศลและการพิสูจน์ความเป็นตัวแทน
คำขอยกเว้นภาษีสรรพสามิตตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 102 ทวิ (1) และ (2) ที่โจทก์ยื่น ระบุว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการสถานบริการ แต่ขอยกเว้นค่าภาษีสรรพสามิตเพื่อบริจาครายรับเป็นสาธารณประโยชน์ให้แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ ซึ่งเป็นการกระทำในนามของโจทก์เองไม่ได้ระบุว่าโจทก์ยื่นคำขอยกเว้นแทนองค์กรใด และโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้เห็นว่าโจทก์ได้ส่งมอบรายรับทั้งหมดเป็นสาธารณประโยชน์ให้แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ ตามที่โจทก์อ้าง โจทก์จึงมีหน้าที่เสียภาษีสรรพสามิตในฐานะเป็นผู้ประกอบกิจการสถานบริการสนามแข่งม้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9688/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีสรรพสามิต: การนำเข้าแบตเตอรี่เป็นสินค้าแยกจากเครื่องสำรองไฟฟ้า ทำให้ต้องเสียภาษีสรรพสามิต
สินค้าที่โจทก์นำเข้าถูกระบุในใบกำกับสินค้าโดยชัดแจ้งว่าเป็นสินค้าประเภทแบตเตอรี่ แสดงให้เห็นว่าสินค้าพิพาทเป็นแบตเตอรี่โดยสภาพ ซึ่งตรงกับพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตท้าย พ.ร.ฎ.กำหนดประเภทสินค้าตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2540 ประเภทที่ 08.90 (4) ส่วนที่โจทก์อ้างว่าแบตเตอรี่ที่นำเข้าเป็นส่วนประกอบสำคัญของเครื่องสำรองไฟฟ้าครบชุดบริบูรณ์ ตามหลักเกณฑ์การตีความในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ข้อ (3) ของประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การตีความในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ลงวันที่ 22 เมษายน 2528 คำเบิกความของพยานโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์นำเข้าแบตเตอรี่พิพาทเพื่อสำหรับผลิตหรือประกอบเข้ากันเป็นเครื่องสำรองไฟฟ้าเป็นการเฉพาะเจาะจง เมื่อประกอบเข้าด้วยกันแล้วเสร็จแล้วแบตเตอรี่จะเปลี่ยนสภาพเป็นส่วนที่นำไปประกอบกับส่วนประกอบอื่น ๆ เป็นเครื่องสำรองไฟอย่างแท้จริง อันจะถือว่าเป็นสินค้าครบชุดบริบูรณ์ และที่โจทก์อ้างว่า แบตเตอรี่ไม่อาจแยกการทำงานออกจากส่วนประกอบอื่นของเครื่องสำรองไฟฟ้าได้ โจทก์ก็ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้เห็นว่า แบตเตอรี่พิพาทต้องประกอบอยู่ในตัวเครื่องสำรองไฟฟ้าจนไม่อาจแยกออกจากกันได้ และไม่สามารถใช้งานได้ด้วยตนเองนอกจากประกอบเข้ากับเครื่องสำรองไฟ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาไม่พอฟังได้ว่า แบตเตอรี่ที่โจทก์นำเข้ามาเป็นส่วนประกอบของเครื่องสำรองไฟฟ้าครบชุดบริบูรณ์ อันจะทำให้แบตเตอรี่ที่นำเข้าไม่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต
โจทก์ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นแบบพิมพ์เดียวกัน โจทก์คงสำแดงพิกัดอัตราศุลกากรและภาษีศุลกากรเท่านั้น แต่ไม่ได้ระบุรหัสสินค้าสรรพสามิตที่จำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษีสรรพสามิต อันจะทำให้เห็นเจตนาของโจทก์ว่ามุ่งหมายจะยื่นรายการภาษีสรรพสามิตด้วย ทั้งการที่โจทก์อ้างว่าไม่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตมาแต่แรกนั้น ย่อมเป็นข้อบ่งชี้ว่าโจทก์ไม่เคยมีเจตนาจะยื่นแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตมาก่อน กรณีของโจทก์จึงเป็นกรณีที่มิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 48 (3) และแม้หากจะฟังได้ว่าโจทก์ยื่นแบบรายการภาษีสรรพสามิต แต่มูลค่าของสินค้าขาดไปเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของมูลค่าที่แสดงในแบบรายการภาษี พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินภาษีสรรพสามิตภายในกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบรายการภาษีตามมาตรา 83 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9687/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการทางการแพทย์ (ฟอกเลือด) โดยนิติบุคคล
ป.รัษฎากร มาตรา 81 (1) (ฌ) ให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการการประกอบโรคศิลปะ การสอบบัญชี การว่าความ หรือการประกอบวิชาชีพอิสระอื่นตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี ทั้งนี้ เฉพาะวิชาชีพอิสระที่มีกฎหมายควบคุมการประกอบวิชาชีพอิสระนั้น โดยมิได้จำกัดว่าผู้ประกอบการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวจะต้องเป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น และตามบทบัญญัติดังกล่าวให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการประกอบกิจการการให้บริการการประกอบโรคศิลปะอันมีวัตถุประสงค์ถึงตัวกิจการเป็นสำคัญว่าต้องเป็นการประกอบโรคศิลปะ ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ให้บริการการประกอบโรคศิลปะสามารถเป็นบุคคลธรรมดา คณะบุคคลหรือนิติบุคคล เมื่อโจทก์ประกอบกิจการรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังโดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ขั้นตอนการรักษาทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไตที่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะจากคณะกรรมการวิชาชีพ ถือได้ว่าการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมของโจทก์เป็นการรักษาผู้ป่วยไตวายอันเป็นการประกอบโรคศิลปะ โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบการการให้บริการการประกอบโรคศิลปะ ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (ฌ)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9183/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง: การเพิกถอนคำสั่งขยายเวลาภาษีมูลค่าเพิ่ม
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์มีข้อโต้แย้งเรื่องภาระภาษีสรรพสามิต ซึ่งต่อมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์มีหน้าที่เสียภาษีสรรพสามิตจนทำให้โจทก์ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเงินค่าภาษีสรรพสามิตไม่ทันภายในเวลาที่กำหนด โจทก์ขอขยายระยะเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม กรมสรรพากรอนุมัติให้ขยายระยะเวลาตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคหนึ่ง ทำให้โจทก์ไม่มีภาระเบี้ยปรับ แต่ยังมีเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 0.75 ต่อเดือน โจทก์จึงมีหนังสือขอขยายระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มไปยังจำเลย ต่อมากรมสรรรพากรมีหนังสือแจ้งโจทก์ว่าจำเลยพิจารณาแล้วไม่อนุมัติการขอขยายระยะเวลา โจทก์เห็นว่า การที่จำเลยมีคำสั่งเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลย อันเป็นคำฟ้องที่แสดงสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่มีคำสั่งไม่อนุมัติขยายระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่มีผลกระทบต่อโจทก์ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยตัวบุคคลที่ดำรงตำแหน่งไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ฟ้องโจทก์เป็นการฟ้องตัวบุคคลผู้ดำรงตำแหน่ง โจทก์จึงฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้ออกคำสั่งเป็นจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9035/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรในเขตประกอบการเสรี: ผู้ให้บริการรับฝากสินค้าไม่เข้าข่ายผู้ได้รับสิทธิ
พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 มาตรา 48 (2) ประสงค์ยกเว้นค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน อากรขาเข้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีสรรพสามิตให้แก่ผู้ประกอบการในขณะนำของเข้ามาในราชอาณาจักรและนำเข้าไปในเขตประกอบการเสรีเพื่อใช้ในการผลิตสินค้าหรือเพื่อพาณิชยกรรม ส่วนโจทก์เป็นเพียงผู้ประกอบการที่ให้บริการรับฝากสินค้าแก่ผู้ประกอบการที่นำของเข้ามาในราชอาณาจักรและนำเข้าไปในเขตประกอบการเสรีอีกทอดหนึ่ง ซึ่งเป็นการรับฝากสินค้าภายหลังจากที่ได้มีการนำของเข้ามาในราชอาณาจักรและนำเข้าไปในเขตประกอบการเสรีแล้ว กิจการของโจทก์รับฝากสินค้าในสภาพใดก็จะคืนไปในสภาพนั้น ไม่ได้ทำให้สินค้ามีประสิทธิภาพหรือมูลค่าเพิ่มขึ้น เมื่อลูกค้าต้องการฝากสินค้าโจทก์จะทำสัญญารับฝากสินค้า กำหนดค่ารับฝาก โจทก์จะจัดเตรียมพื้นที่ให้เมื่อลูกค้าต้องการรับคืนสินค้า และจะจัดทำใบเบิกสินค้าพร้อมแจ้งจำนวนสินค้าคงเหลือที่รับฝากไว้เท่านั้น แม้โจทก์จะให้บริการทางพาณิชยกรรม แต่ก็มิใช่ผู้ประกอบการที่นำเข้าของจึงไม่ได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรตามพระราชบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9034/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีเพิ่มเติมและการยื่นแบบแสดงรายการฉบับเพิ่มเติม: อำนาจประเมินของเจ้าพนักงานยังคงมีผลผูกพัน
โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2550 โดยนำเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัท อ. มารวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นและใช้สิทธิเครดิตภาษีเงินปันผล เจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าเงินปันผลดังกล่าวเป็นเงินปันผลที่ได้รับจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล จึงไม่สามารถนำมาเครดิตภาษีได้ ทำให้โจทก์ชำระภาษีไว้ขาด จึงประเมินให้โจทก์ชำระภาษีเพิ่มเติม โจทก์ยื่นอุทธรณ์การประเมินไว้แล้ว แต่ในระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ โจทก์ได้ขอถอนอุทธรณ์และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีมติให้จำหน่ายอุทธรณ์ของโจทก์ การประเมินจึงเป็นยุติ โจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามการประเมิน และไม่อาจโต้แย้งว่าการประเมินไม่ถูกต้องได้อีกต่อไป แม้ต่อมาโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการฉบับเพิ่มเติมโดยไม่นำเงินปันผลดังกล่าวมารวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่น ก็ไม่อาจลบล้างอำนาจประเมินของเจ้าพนักงานประเมินให้ต้องยกเลิกหรือแก้ไขการประเมินใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8785/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้ชำระบัญชีละเว้นการชำระภาษีค้างชำระ โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายและดอกเบี้ยได้
โจทก์ประสงค์จะฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 2 กระทำการตามที่โจทก์ฟ้อง การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชี เป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความเสียหายที่ทำให้โจทก์ไม่ได้รับชำระหนี้ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระ แต่ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดไม่เกินกว่าเงินสดคงเหลือที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ในวันจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี เป็นเงิน 1,927,770.08 บาท และเนื่องจากจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ยอมรับผิดจะชำระภาษีและเบี้ยปรับมาตั้งแต่ก่อนจดทะเบียนเลิกบริษัท เมื่อเจ้าพนักงานส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มให้จำเลยที่ 1 ทราบโดยชอบเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2554 โดยในหนังสือแจ้งการประเมินระบุให้นำเงินมาชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,927,770.08 บาท นับแต่วันพ้นกำหนดให้ชำระเงินภาษีตามหนังสือแจ้งการประเมินคือนับแต่วันที่ 10 กันยายน 2554 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
of 28