คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
อุดม วัตตธรรม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 53 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 432/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองทรัพย์สินมรดกโดยไม่ชอบ ศาลเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบ และให้เจ้าของเดิมได้กรรมสิทธิ์
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก ไม่ใช่ทรัพย์สินของผู้ร้องสอดทั้งสามที่ได้รับการยกให้ก่อนเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ฉะนั้น เมื่อจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกได้ขอออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) และจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทมาเป็นของตนเองแล้วโอนขายต่อไปยัง อ. ตั้งแต่ปี 2544 ที่ดินพิพาทจึงไม่ได้เป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกอีกต่อไป ผู้ร้องสอดทั้งสามแม้จะเป็นทายาทของเจ้ามรดกก็ไม่มีสิทธิใดๆ ในที่ดินพิพาทแล้ว เพราะย่อมต้องมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันผู้จัดการมรดกได้ทำไปภายในขอบอำนาจในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1724 วรรคหนึ่ง และการที่ในปี 2550 จำเลยยังใช้หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ฉบับเจ้าของที่ดิน ที่เคยแจ้งสูญหายไปนำเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทในนามของเจ้ามรดก ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิใดๆ แก่ทายาทของเจ้ามรดก การออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทในการนำเดินสำรวจของจำเลยในฐานะทายาทของเจ้ามรดกจึงเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อโจทก์เป็นผู้รับโอนที่ดินพิพาทคนล่าสุดก็ย่อมเป็นเจ้าของมีสิทธิในที่ดินพิพาท
อนึ่ง ผู้ร้องสอดทั้งสามได้เข้ามาในคดีเป็นคู่ความฝ่ายที่สามเป็นปฏิปักษ์ต่อโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) แม้โจทก์จะได้ถอนฟ้องจำเลยไปหลังจากนั้น แต่ศาลชั้นต้นก็ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาในฐานที่โจทก์กับผู้ร้องสอดทั้งสามพิพาทกันในที่ดินพิพาท ดังนี้ เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีและคำขอของโจทก์ที่เดิมขอให้บังคับจำเลยโดยขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทนั้นอยู่ในสภาพที่เปิดช่องให้บังคับแก่ผู้ร้องสอดทั้งสามผู้เก็บรักษาโฉนดที่ดินพิพาทได้ จึงชอบที่จะบังคับให้เป็นไปตามคำขอของโจทก์ มิใช่แต่เพียงยกคำร้องสอดของผู้ร้องสอดทั้งสามเท่านั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6017/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญา: การมอบอำนาจที่ไม่สมบูรณ์ และการแก้ไขฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์มี ส. หรือนางฐิตาภา กรรมการคนใดคนหนึ่งลงลายมือชื่อและประทับตราบริษัท มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ แม้ต่อมาจะบรรยายว่า โจทก์โดย นางฐิติภา มอบอำนาจให้ ด. ฟ้องและดำเนินคดีแทนก็ตาม แต่เมื่อ ด. เบิกความเป็นพยานชั้นไต่สวนมูลฟ้องในฐานะผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ได้อ้างส่งหนังสือมอบอำนาจดำเนินคดีเป็นหลักฐานว่า บริษัทโจทก์โดยนางฐิตาภา กรรมการผู้มีอำนาจ มอบอำนาจให้ ด. ดำเนินคดีแทน ข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ว่านางฐิตาภา กับนางฐิติภา ที่โจทก์กล่าวมาในฟ้องเป็นบุคคลคนเดียวกันนั่นเอง และเป็นกรณีที่เห็นได้ชัดแจ้งว่า โจทก์พิมพ์ชื่อ "นางฐิตาภา" ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปเป็น "นางฐิติภา" อันเป็นข้อบกพร่องเพียงเล็กน้อยถือว่าโจทก์มอบอำนาจให้ ด. ฟ้องและดำเนินคดีแทนโดยชอบแล้ว ไม่ทำให้อำนาจฟ้องคดีของโจทก์เสียไป
ส่วนที่ท้ายฟ้องเดิมทนายโจทก์ลงชื่อไว้ในท้ายฟ้องในฐานะโจทก์ก็เป็นเพียงฟ้องที่ไม่มีลายมือชื่อโจทก์เท่านั้น อันเป็นฟ้องที่มิชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (7) ซึ่งโจทก์ชอบที่จะแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ ไม่ถึงกับทำให้ฟ้องเดิมเสียไป โจทก์ยื่นคำร้องขอส่งคำขอท้ายฟ้องอาญาที่โจทก์โดย ด. ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ได้ลงลายมือชื่อในฐานะโจทก์แทนคำขอท้ายฟ้องเดิม โดยอ้างว่าเป็นความผิดหลงเผอเรอของทนายโจทก์นั้นก็พอแปลได้ว่าเป็นการยื่นคำร้องขอแก้ฟ้อง และกรณีถือว่ามีเหตุอันควรที่จะแก้ฟ้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 โจทก์ยื่นคำร้องฉบับดังกล่าวเข้ามาในระหว่างการไต่สวนมูลฟ้อง ซึ่งจำเลยยังไม่อยู่ในฐานะจำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 165 วรรคท้าย ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ย่อมไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบ ถือว่าฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
of 6