คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 1600

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 415 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1487/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเกิดสิทธิเรียกร้องจากเงื่อนไขในสัญญา และการส่งมรดก ความรับผิดของทายาท
ผู้ตายทำบันทึกข้อตกลงกับโจทก์ว่าจะนำเงินที่ได้จากโครงการออกก่อนเกษียณราชการชำระหนี้แก่โจทก์ 100,000 บาท หลังจากนั้นประมาณ 3 เดือน สำนักงานตำรวจแห่งชาติอนุมัติให้ผู้ตายลาออกจากราชการแล้ว ดังนั้นเมื่อผู้ตายได้รับอนุมัติให้ลาออกและมีสิทธิรับเงินตามโครงการออกก่อนเกษียณราชการย่อมถือว่าเงื่อนไขบังคับก่อนที่ผู้ตายต้องรับผิดชอบชำระเงินให้แก่โจทก์ได้สำเร็จเป็นผลให้โจทก์เกิดสิทธิที่จะได้เงินจากผู้ตายได้แล้ว ต่อมาผู้ตายถึงแก่ความตาย ความรับผิดของผู้ตายต่อโจทก์ย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1600 วรรคหนึ่ง จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทย่อมต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้ตาย แต่ไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1601

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 604/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเข้าเป็นเจ้าหนี้แทนผู้ตายหลังมีคำพิพากษา: สิทธิการรับมรดกและการบังคับคดี
คำฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ น. เพื่อให้แบ่งทรัพย์มรดกและขอให้ถอดถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดกของ น. อันเป็นการพิพาทในฐานะจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ น. ซึ่งต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกของ น. ให้แก่โจทก์ หาได้พิพาทกันในฐานะส่วนตัวไม่ ดังนั้นการที่ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิของโจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้ฟ้องมารดาซึ่งเป็นบุพการีของตน กรณีจึงไม่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562
แม้ผู้ร้องจะไม่อาจเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ได้เพราะคดีถึงที่สุดในศาลชั้นต้นก่อนแล้วก็ตาม แต่การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ก็เพื่อมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับจากจำเลยในฐานะจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ น. และโจทก์มีสิทธิดังกล่าวก่อนที่จะถึงแก่กรรม เมื่อโจทก์ถึงแก่กรรมจึงตกทอดแก่ผู้ร้อง ผู้ร้องอยู่ในฐานะเป็นผู้รับมรดกของโจทก์และเป็นผู้รับพินัยกรรมย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และมาตรา 1600 จึงมีสิทธิที่จะเข้าเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์และดำเนินการบังคับคดีต่อไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7706/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิครอบครองที่ดินก่อนเสียชีวิต ไม่ใช่ทรัพย์มรดก สิทธิฟ้องเพิกถอนจึงไม่เกิด
ที่ดินพิพาทมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก) เมื่อ ม. เจ้ามรดกเป็นผู้มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ม. จึงมีเพียงสิทธิครอบครอง การที่ ม. ยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 1 และต่างฝ่ายต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดเป็นการโอนไปซึ่งการครอบครองให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 1 แล้ว ม. ไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทอีกต่อไป เมื่อ ม. ถึงแก่ความตายที่ดินพิพาทจึงมิใช่ทรัพย์มรดกของ ม. การที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 จึงมิใช่เป็นการขายทรัพย์มรดกของ ม. โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ ม. ไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทได้ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ยังไม่มีเหตุสมควรที่จะถอนจำเลยที่ 1 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของ ม. ทั้งไม่อาจกำจัดมิให้จำเลยที่ 1 ได้รับมรดกของ ม. ฐานยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดก
โจทก์ตั้งประเด็นมาในฟ้องขอให้เพิกถอนจำเลยที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดก กำจัดจำเลยที่ 1 มิให้รับมรดกและเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายระหว่างจำเลยทั้งสอง โดยมิได้ฟ้องเรียกคืนที่ดินพิพาทในฐานะโจทก์เป็นเจ้าของ ศาลจะพิพากษาให้เพิกถอนการโอนในฐานะโจทก์เป็นเจ้าของไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 จึงพิพากษายกฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5279/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทายาทรับผิดหนี้ภาษีอากรของผู้ตาย แม้ไม่มีทรัพย์มรดก หรือได้รับมรดกไม่ครบถ้วน
เดิม ส. เคยฟ้องโจทก์ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีอากร คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบหรือไม่ และเป็นประเด็นที่ศาลในคดีดังกล่าวมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ต่อมา ส. ถึงแก่ความตาย ส่วนคดีนี้แม้โจทก์จะนำหนี้ภาษีอากรค้างในคดีดังกล่าวมาฟ้องจำเลยทั้งห้าให้รับผิด แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ยกข้ออ้างซึ่งอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า หนี้ภาษีอากรค้างที่ ส. เป็นหนี้อยู่แก่โจทก์ยังมิได้ชำระและ ส. ถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยทั้งห้าเป็นทายาทผู้รับมรดกมีหน้าที่ต้องรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวโดยนำทรัพย์สินกองมรดกที่ตกทอดแก่จำเลยทั้งห้ามาชำระหนี้แก่โจทก์ ประเด็นแห่งคดีตามคำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงมีว่า จำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของ ส. มีหน้าที่ต้องรับผิดชำระหนี้ค่าภาษีอากรของ ส. แก่โจทก์หรือไม่ ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับในคดีก่อน แม้จำเลยทั้งห้าอยู่ในฐานะเป็นผู้สืบสิทธิของ ส. ผู้ตายก็ตาม แต่สภาพแห่งคำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้าในฐานะทายาทผู้รับมรดกของ ส. ให้รับผิดในหนี้ที่ ส. มีอยู่แล้วแก่โจทก์ ซึ่งเป็นความรับผิดของทายาทโดยเฉพาะต่อกองมรดกที่ตกทอดได้แก่ตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และมาตรา 1600 จึงมิใช่เป็นเรื่องที่คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยมาแล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันอันจะเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ มาตรา 29 ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
แม้คดีเดิมที่ ส. เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยถึงที่สุด อันมีผลให้หนี้ภาษีอากรดังกล่าวเป็นภาษีอากรค้าง ซึ่งอธิบดีโจทก์มีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของ ส. ได้ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 12 วรรคสอง โดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่งก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็เป็นเพียงมาตรการทางกฎหมายที่ให้อำนาจแก่อธิบดีโจทก์ไว้เป็นพิเศษเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากรให้เป็นไปโดยรวดเร็วโดยไม่ต้องนำคดีมาสู่ศาล อำนาจของอธิบดีโจทก์แม้จะมีลักษณะเสมือนเป็นสิทธิของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา แต่ก็ไม่มีผลทำให้โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ภาษีอากรค้างกลับกลายเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ทั้งการที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งห้าในฐานะทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดก ก็เพื่อให้ความรับผิดที่จำเลยทั้งห้าต้องรับผิดแก่โจทก์ เป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งห้าเป็นคดีนี้ได้
จำเลยทั้งห้าอยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมและมีสิทธิได้รับมรดกของ ส. โจทก์ชอบที่จะฟ้องบังคับให้รับผิดชำระหนี้ภาษีอากรค้างของ ส. ได้ และคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดย่อมมีผลผูกพันโจทก์ และ ส. ซึ่งเป็นคู่ความในคดีนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ มาตรา 29 ส. จึงไม่อาจรื้อฟื้นโต้แย้งต่อโจทก์เกี่ยวกับการประเมินดังกล่าวอีกได้ และจำเลยทั้งห้าในฐานะทายาทและผู้สืบสิทธิในกองมรดกของ ส. ก็ไม่มีสิทธิโต้แย้งดุจเดียวกัน คำให้การต่อสู้คดีของจำเลยทั้งห้าล้วนเป็นข้อต่อสู้เกี่ยวกับการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินทั้งสิ้น การที่จำเลยทั้งห้าไม่มีสิทธิยกเป็นข้อต่อสู้โจทก์ในคดีนี้ จึงไม่ก่อให้เกิดเป็นประเด็นแห่งคดีได้
เมื่อจำเลยทั้งห้าเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของ ส. ซึ่งต้องรับไปทั้งทรัพย์สิน สิทธิหน้าที่และความรับผิดของ ส. โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งห้าโดยไม่ต้องคำนึงว่ากองมรดกของ ส. จะมีทรัพย์สินหรือไม่ มากน้อยเพียงใด หรือจำเลยทั้งห้าในฐานะทายาทจะได้รับมรดกมาแล้วหรือไม่ และถึงแม้โจทก์ได้ใช้อำนาจยึดอายัดทรัพย์สินของ ส. ชำระหนี้ไปบ้างแล้ว และมีจำนวนเพียงพอชำระหนี้ของ ส. หรือไม่ เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งห้าอาจโต้แย้งได้ในชั้นบังคับคดี จำเลยทั้งห้าจึงต้องรับผิดชำระหนี้ของ ส. แก่โจทก์ไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1601
(วรรคแรก ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2547)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5190/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เพิกถอนนิติกรรมโอนที่ดินเพื่อหลีกเลี่ยงหนี้ เจ้าหนี้ฟ้องทายาทได้ แม้ไม่ได้ร่วมโอน
โจทก์บรรยายฟ้องตอนแรกว่า ย. เป็นหนี้ภาษีอากรแก่โจทก์ ก่อนตาย ย. โอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยที่ 1 โดยเสน่หาเพื่อให้พ้นการยึด โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ระหว่าง ย. กับจำเลยที่ 1 คำฟ้องของโจทก์ส่วนนี้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในเรื่องเพิกถอนนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 อันเป็นความรับผิดส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับการให้แล้ว ส่วนที่โจทก์บรรยายฟ้องต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เป็นบุตรและเป็นทายาทโดยธรรมของ ย. เป็นการบรรยายฟ้องแสดงถึงความรับผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ในฐานะทายาทซึ่งกองมรดกของ ย. ตกทอดแก่บุคคลดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1600 เมื่อคดีร้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่ ย. ได้กระทำไปโดยรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบเป็นความรับผิดเกี่ยวกับทรัพย์สิน จึงเป็นมรดกตกทอดไปยังทายาทซึ่งทายาทคนใดคนหนึ่งหรือทั้งหมดอาจถูกเจ้าหนี้ฟ้องให้รับผิดในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้ตายได้ ฟ้องโจทก์เท่านี้เพียงพอที่จะทำให้เข้าใจถึงสภาพแห่งข้อโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่แล้วว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ต้องรับผิดในฐานะทายาทโดยธรรม มิใช่รับผิดในฐานะส่วนตัวอย่างจำเลยที่ 1 ในฐานะที่เป็นผู้รับการให้โดยเสน่หา โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 แม้ไม่ได้ความว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้ร่วมกันรับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4273/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าเสียหายจากละเมิดในสัญญาเช่าซื้อ: เงินดาวน์เป็นส่วนหนึ่งของราคารถ, ค่าสินไหมทดแทนไม่ซ้ำซ้อน
โจทก์ที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์คันเกิดเหตุจากบริษัท ต. โดยชำระเงินดาวน์จำนวน 79,000 บาท และชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวด ๆ เงินดาวน์จึงเป็นส่วนหนึ่งของราคารถยนต์ที่โจทก์ที่ 1 เช่าซื้อ เมื่อ ส. ทำละเมิดเป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เช่าซื้อมาเสียหายใช้การไม่ได้ โจทก์ที่ 1 ย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายราคารถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เช่าซื้อมาจาก ส. ผู้ทำละเมิดและจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยรถยนต์ของ ส. ตามมูลละเมิดและกรมธรรม์ประกันภัย แม้ว่าบริษัท ก. ผู้รับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เช่าซื้อมาจะได้ชำระค่าสินไหมทดแทนราคารถยนต์ให้แก่บริษัท ต. ไปแล้วก็ตาม ก็เป็นเพียงการชำระค่าเสียหายเท่ากับราคาค่าเช่าซื้อที่ยังขาดจำนวนอยู่เท่านั้น จึงเป็นการชำระราคารถยนต์เพียงบางส่วนมิได้ชำระราคารถยนต์ทั้งหมด ราคารถยนต์ส่วนที่ไม่ได้ชำระจึงเป็นราคารถยนต์หรือค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องเอาจากผู้ทำละเมิดและจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยรถยนต์ของผู้ทำละเมิดได้
โจทก์ที่ 1 ฟ้องโดยตั้งรูปคดีว่า โจทก์ที่ 1 ได้ชำระเงินดาวน์ในการเช่าซื้อรถยนต์คันเกิดเหตุ ส. ได้ทำละเมิดให้รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เช่าซื้อมาเสียหายใช้การไม่ได้ จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระเงินที่โจทก์ที่ 1 ชำระเป็นเงินดาวน์ในการเช่าซื้อดังกล่าวในฐานะทายาทของ ส. ผู้ทำละเมิด และจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ของ ส. ผู้ทำละเมิด เท่ากับเป็นการเรียกเงินเท่ากับจำนวนเงินดาวน์เป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหาย เพราะมิใช่การเรียกเงินดาวน์คืนจากบริษัทผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ กรณีเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายราคารถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เสียหายใช้การไม่ได้ อันเป็นความเสียหายโดยตรงในผลแห่งละเมิด และเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายตามมูลละเมิดและตามสัญญาประกันภัย จึงมิใช่ค่าเสียหายที่ไกลเกินกว่าเหตุ และไม่เป็นการเรียกค่าเสียหายซ้ำซ้อนกับค่าสินไหมทดแทนที่บริษัท ต. ได้รับไปจากบริษัท ก. ซึ่งเป็นราคารถยนต์คนละส่วนกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2355/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยินยอมให้ใช้รถร่วมโดยไม่จำกัดเงื่อนไข ถือเป็นความรู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิด
ผู้ร้องเป็นภรรยา ส. เจ้าของรวมกรรมสิทธิ์รวมรถยนต์กระบะของกลาง เมื่อ ส. ถึงแก่ความตาย ทรัพย์มรดกส่วนของ ส. ย่อมตกแก่ทายาทซึ่งรวมถึงผู้ร้องด้วย รถยนต์กระบะของกลางเก็บอยู่ที่บ้านผู้ร้องซึ่งพักอยู่กับพี่สาว กุญแจรถแขวนเก็บไว้ใต้หิ้งพระภายในบ้าน ญาติพี่น้องและบุตรของผู้ร้อง รวมทั้งจำเลยซึ่งเป็นบุตรเขยของผู้ร้องสามารถนำรถยนต์กระบะของกลางไปใช้ได้ จำเลยเคยนำไปใช้หลายครั้ง วันเกิดเหตุจำเลยเอากุญแจรถกระบะของกลางไปใช้กระทำความผิดโดยไม่ได้บอกกล่าวผู้ร้อง และผู้ร้องไม่ทราบว่าจำเลยนำรถยนต์กระบะของกลางไปใช้ในการกระทำความผิด แสดงว่าผู้ร้องยินยอมอนุญาตให้จำเลยหยิบเอากุญแจรถยนต์กระบะของกลางไปใช้ได้ตลอดเวลาที่จำเลยต้องการใช้ โดยไม่คำนึงว่าจำเลยจะนำรถไปใช้ในกิจการใด เมื่อจำเลยนำรถยนต์กระบะของกลางไปใช้บรรทุกถ่านไม้โกงกางโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ย่อมถือได้ว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำผิดของจำเลยแล้ว ส่วนบุคคลอื่นซึ่งเป็นทายาทและเจ้าของรวมจะมีสิทธิร้องขอคืนรถยนต์กระบะของกลางหรือไม่ เพียงใด เป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวกันตามสิทธิของตนต่างหากจากคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1602/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลผูกพันสัญญาเช่าหลังผู้ให้เช่าเสียชีวิต การต่ออายุสัญญาเช่า และการละเมิดสัญญา
โจทก์เป็นเจ้าของตึกแถวพิพาทโดยได้รับมรดกจาก ป. ซึ่ง ป. ได้ทำสัญญาให้จำเลยเช่าตึกแถวพิพาท กำหนดอายุสัญญาเช่า 15 ปี โดยมีข้อตกลงในสัญญาเช่าข้อ 11 ระบุว่า เมื่อครบกำหนดอายุสัญญาเช่าแล้วผู้ให้เช่าจะต่อสัญญาเช่าให้ทุกๆ 3 ปี ซึ่งข้อความตามข้อตกลงดังกล่าว เป็นเพียงคำมั่นของ ป. ว่าจะให้ผู้เช่าต่ออายุสัญญาครั้งต่อไปเท่านั้น ยังไม่ก่อให้เกิดสัญญา แต่คำมั่นนี้ยังไม่มีผลผูกพัน ป. เพราะยังไม่ได้ความว่าจำเลยได้สนองรับก่อน ป. ถึงแก่ความตายทั้งเมื่อจำเลยได้รู้อยู่ว่า ป. ผู้เสนอตายในวันที่ 5 กรกฎาคม 2537 ก่อนสัญญาเช่าจะครบกำหนดคือวันที่ 31 ธันวาคม 2538 กรณีจึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 360 ซึ่งบัญญัติว่าห้ามมิให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 169 วรรคสองมาใช้บังคับ ดังนั้น คำมั่นของ ป. ดังกล่าวย่อมไม่มีผลบังคับและไม่เป็นมรดกตกทอดอันจะผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นทายาทที่จะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 1599 และมาตรา 1600 หนังสือขอต่อสัญญาของจำเลยจึงไร้ผล และไม่ก่อให้เกิดสัญญาเช่าใหม่ โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าและฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารให้ออกจากตึกพิพาทได้
เมื่อจำเลยและบริวารไม่มีสิทธิอยู่ในตึกแถวพิพาทหลังจากสัญญาเช่าสิ้นสุด การที่จำเลยและบริวารยังคงอยู่ในตึกแถวพิพาท จึงเป็นการอยู่โดยปราศจากสิทธิโดยชอบที่จะกระทำได้ อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ขาดประโยชน์จากการใช้ตึกแถวพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 108/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ไม่จำกัดเฉพาะทายาทโดยตรง แต่รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดก
ผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 ไม่จำต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายโดยเป็นทายาทโดยตรง หากมีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตายก็มีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกได้ เมื่อทรัพย์มรดกของ ช. เจ้ามรดกตกทอดได้แก่ทายาทซึ่งรวมทั้ง ม. มารดาผู้ร้องด้วย แต่ ม. ถึงแก่ความตายเสียก่อนที่จะมีการแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าว สิทธิในทรัพย์มรดกของ ช. ส่วนที่ตกได้แก่ ม. จึงเป็นมรดกของ ม. ที่ตกได้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นทายาท ผู้ร้องจึงมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่เป็นมรดกของ ช. ด้วยตามส่วน ถือได้ว่าผู้ร้องมีส่วนได้เสียที่จะร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของ ช. ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4392/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่า, สิทธิของผู้ให้เช่าและผู้เช่า, คำมั่นสัญญาหลังสัญญาเช่าสิ้นสุด, การละเมิดสัญญา, ค่าเสียหาย
ต. ให้จำเลยที่ 1 เช่าที่ดินพิพาทมีกำหนด 30 ปี และจะให้จำเลยที่ 1 เช่าต่อไปอีก 30 ปี หลังจากสัญญาเช่าสิ้นสุดลงถ้าจำเลยที่ 1 ต้องการ โดยจำเลยที่ 1 ยอมให้ ต. กู้ยืมเงิน 300,000 บาท เพื่อนำไปซื้อที่ดินพิพาท การกู้ยืมเงิน ต. จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ยังไม่เรียกให้ ต. ชำระดอกเบี้ยนับแต่กู้ยืมเงินแต่ให้ชำระเมื่อครบกำหนดการเช่า 30 ปี ถ้ามีการต่ออายุสัญญาเช่าเป็นงวดที่สองอีก 30 ปี จำเลยที่ 1 จะไม่เรียกร้องดอกเบี้ยดังกล่าว ดังนี้ การได้มาซึ่งที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาที่มีสภาพบังคับโดยสมบูรณ์ในตัวของแต่ละสัญญา สัญญาทั้งสองประเภทแม้จะผูกโยงสิทธิประโยชน์ต่อกัน แต่โดยผลแห่งสัญญาแล้ว แต่ละฝ่ายได้ป้องกันสิทธิอันจะก่อผลได้เสียภายหน้าของแต่ละสัญญาแล้ว ถ้าหากมี หาใช่ข้อตกลงที่เพิ่มภาระแก่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เช่าให้ต้องปฏิบัติยิ่งกว่าหน้าที่ของผู้เช่าตามปกติ สัญญาเช่าที่ดินพิพาทระหว่าง ต. กับจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา
ข้อความตามข้อตกลงในสัญญาเช่าที่ดินพิพาทเป็นแต่เพียงคำมั่นของ ต. ว่าจะให้จำเลยที่ 1 เช่าที่ดินพิพาทต่อไปเท่านั้น ยังไม่ก่อให้เกิดสัญญา แม้สัญญาเช่าเดิมจะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้ แต่คำมั่นนี้ก็ยังไม่มีผลผูกพัน ต. เพราะยังไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 1 ได้สนองรับก่อน ต. ถึงแก่ความตาย ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 ได้รู้อยู่แล้วว่า ต. ถึงแก่ความตายก่อนสัญญาเช่าจะครบกำหนด 30 ปี กรณีก็ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 360 ซึ่งบัญญัติว่ามิให้นำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 169 วรรคสอง มาใช้บังคับ คำมั่นของ ต. ย่อมไม่มีผลบังคับ และไม่เป็นมรดกของ ต. จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกและเป็นทายาทผู้รับมรดกที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 1 เช่าให้ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1599 และมาตรา 1600 จำเลยที่ 1 จึงฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์จดทะเบียนต่ออายุการเช่าที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 อีก 30 ปีไม่ได้
of 42