คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
วาสนา หงส์เจริญ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 879 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3535/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการสืบพยานเพิ่มเติมเพื่อพิสูจน์พินัยกรรม และการไม่ชอบด้วยกฎหมายหากไม่เปิดโอกาสสืบพยาน
ผู้ร้องเคยยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของผู้ตายโดยอ้างว่า ผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมและศาลยกคำร้องขอด้วยเหตุว่า ผู้ร้องมิใช่ทายาทโดยธรรมหรือผู้มีส่วนได้เสีย คดีถึงที่สุด ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้โดยอ้างว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้ผู้ร้อง กรณีมีเหตุอันสมควรสงสัยว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมหรือไม่ ศาลมีอำนาจเรียกคำขอเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์และตัวอย่างลายมือชื่อของผู้ตายที่ธนาคาร ก. มาสืบได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 86 วรรคท้าย ที่ผู้ร้องฎีกาว่า ศาลไม่ให้โอกาสผู้ร้องสืบพยานเพิ่มเติม ก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าต้องให้โอกาสผู้ร้องสืบพยานเพิ่มเติม และผู้ร้องมีโอกาสและระยะเวลาที่จะขอสืบพยานเพิ่มเติม แต่ผู้ร้องมิได้ขอก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2281/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างกรรมการลูกจ้าง: พิจารณาเหตุผลสมควรควบคู่กับการกระทำทุจริต แม้ไม่ถึงขั้นร้ายแรง
ในการพิจารณาตามคำขอเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างต้องคำนึงว่ากรณีมีเหตุผลสมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างนั้นหรือไม่ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการพิจารณาว่าการเลิกจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่ การกระทำของผู้คัดค้านที่เอาเศษเหล็กจำนวนมากของผู้ร้องออกไปนอกโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นการผิดระเบียบปฏิบัติและถูกกักของที่ประตูทางออกและต้องนำกลับไปเก็บไว้ที่เดิม แม้จะไม่ถือว่าเป็นการกระทำความผิดวินัยร้ายแรงที่จะต้องถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชย แต่ก็มีลักษณะทำให้ผู้ร้องขาดความเชื่อใจ ไม่อาจไว้วางใจให้ผู้คัดค้านทำงานต่อไปได้ กรณีมีเหตุผลสมควรที่ผู้ร้องจะเลิกจ้างผู้คัดค้าน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9961/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อ: การผ่อนผันการผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ และผลของการเลิกสัญญา
สัญญาเช่าซื้อ ข้อ 9 ระบุว่า "ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใดก็ดี ฯลฯ ยอมให้ถือว่าสัญญานี้เลิกกันโดยผู้ให้เช่าซื้อไม่ต้องบอกกล่าวก่อน" และข้อ 11 ระบุว่า "ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดนัดผิดสัญญาหลายครั้ง หากผู้ให้เช่าซื้อยอมผ่อนผันการผิดนัดหรือผิดสัญญาครั้งใด ก็ไม่ถือว่าเป็นการผ่อนผันการผิดนัดหรือผิดสัญญาครั้งอื่น ๆ" เมื่อพิจารณาข้อสัญญาทั้งสองข้อประกอบกันด้วยแล้ว เห็นได้ว่า แม้ผู้เช่าซื้อจะผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่งก็ไม่อาจถือเป็นเด็ดขาดว่า สัญญาเช่าซื้อจะต้องเลิกกันทันทีตามสัญญา ข้อ 9 เพราะอาจมีกรณีผู้ให้เช่าซื้อผ่อนผันการผิดนัดหรือผิดสัญญาให้ผู้เช่าซื้อ ดังที่ระบุไว้ในสัญญา ข้อ 11 โดยยินยอมให้เวลาผู้เช่าซื้อนำเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระมาชำระภายหลังจากครบกำหนดเวลาชำระค่างวดตามสัญญาได้ และถือว่าสัญญายังคงมีความผูกพันกันต่อไป คดีนี้เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์แล้ว 13 งวด โดยตั้งแต่การชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 2 เป็นต้นมา จำเลยที่ 1 ชำระไม่ตรงตามกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา โดยโจทก์เองก็ยอมรับค่าเช่าซื้อดังกล่าวไว้ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์ยอมผ่อนผันการผิดนัดให้จำเลยที่ 1 โดยไม่ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันทีเพราะเหตุจำเลยที่ 1 ผิดนัด และยังคงประสงค์ให้สัญญาเช่าซื้อมีผลผูกพันกันต่อไป สัญญาเช่าซื้อจึงยังไม่เลิกกันเพราะเหตุจำเลยที่ 1 ผิดนัดในคราวการชำระงวดที่ 2 ถึงงวดที่ 13 แม้จะครบกำหนดระยะเวลาชำระแล้วก็ตาม แต่อย่างไรก็ดี การที่โจทก์ผ่อนผันการผิดนัดการชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 2 ถึงงวดที่ 13 ให้จำเลยที่ 1 ดังกล่าว ก็ไม่ถือว่าโจทก์ผ่อนผันการผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อในงวดอื่นด้วย ดังระบุไว้ในสัญญา ข้อ 11 ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 14 และงวดต่อไปอีกเลยจนถึงวันฟ้องเป็นเวลากว่า 2 ปี และไม่มีพฤติการณ์อื่นใดที่แสดงให้เห็นว่า โจทก์ผ่อนผันการผิดนัดให้จำเลยอีก หรือมีพฤติการณ์อื่นใดที่แสดงให้เห็นว่า คู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นสำคัญ กรณีจึงต้องถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันไปตามสัญญา ข้อ 9 แล้ว ดังนั้น กรณีจึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะต้องบอกกล่าวกำหนดเวลาพอสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 387

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9474/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโยกย้ายงานและการจ่ายค่าตำแหน่ง: สิทธิลูกจ้างเมื่อตำแหน่งเดิมไม่มีค่าตำแหน่งแล้ว
ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ทำขึ้นระหว่างจำเลยกับสหภาพแรงงาน ระบุว่า "ทางบริษัทฯ (หมายถึงจำเลย) ตกลงให้ค่าตำแหน่งช่างเทคนิค ที่จบวุฒิการศึกษา ปวส. สาขาทางด้านเทคนิค เป็น 50 บาท/วันทำงาน/ทุกตำแหน่ง" จึงหมายความว่าลูกจ้างที่จะได้รับเงินค่าตำแหน่งช่างเทคนิควันละ 50 บาท จะต้องจบการศึกษาระดับ ปวส. สาขาเทคนิค โดยจะต้องนำความรู้ทางด้านเทคนิคมาใช้ทำงานให้แก่จำเลยในตำแหน่งช่างเทคนิคหรือในตำแหน่งอื่นที่ต้องใช้ความรู้ดังกล่าว และจะได้รับเงินค่าตำแหน่งเฉพาะวันที่มาทำงานเท่านั้น มิใช่จ่ายให้โดยไม่คำนึงถึงตำแหน่งหน้าที่ในการทำงาน การที่จำเลยโยกย้ายโจทก์จากตำแหน่งช่างเทคนิคไปทำงานในตำแหน่งเสมียนก็เนื่องจากโจทก์ซึ่งเป็นประธานสหภาพแรงงานประสงค์จะไปดำเนินกิจกรรมสหภาพแรงงานเต็มเวลา คือ ไม่ต้องทำงานตามหน้าที่ลูกจ้างให้แก่จำเลย ที่จำเลยอนุญาตให้โจทก์ไปดำเนินกิจกรรมสหภาพแรงงานเต็มเวลาโดยจ่ายค่าจ้างให้เสมือนโจทก์มาทำงานให้แก่จำเลยจึงนับว่าเป็นคุณแก่โจทก์แล้ว เมื่อการโยกย้ายหน้าที่โจทก์เป็นอำนาจบริหารจัดการของจำเลย ทั้งไม่มีข้อตกลงห้ามมิให้จำเลยโยกย้ายหน้าที่โจทก์ และการโยกย้ายหน้าที่โจทก์ดังกล่าวไม่ปรากฏว่าจำเลยมีเจตนากลั่นแกล้ง แม้การทำงานในตำแหน่งเสมียนของโจทก์จะทำให้โจทก์ไม่ได้รับเงินค่าตำแหน่ง แต่โจทก์ก็ยังคงได้รับเงินเดือนและสวัสดิการอื่นเหมือนเดิม กรณีจึงไม่เป็นการลดค่าจ้างหรือเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างหรือจำเลยกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8374/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างงานห้ามแข่งขัน & ความรับผิดของผู้ค้ำประกัน: การตีความสัญญาต้องเป็นคุณแก่ผู้เสีย
สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้าง ที่มีข้อห้ามจำเลยที่ 1 ซึ่งทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานขายอาวุโส โดยเป็นหน้าที่ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินกิจการค้าขายถ่านหินของโจทก์ ไปทำงานกับนายจ้างอื่นใดที่ประกอบธุรกิจการค้าลักษณะอย่างเดียวกันหรือเป็นการแข่งขันกับโจทก์ภายในกำหนด 2 ปี นับแต่สัญญาจ้างสิ้นสุดลง เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิและประโยชน์ของคู่กรณีที่เป็นไปโดยชอบ ไม่เป็นการเกินสมควรหรือเอาเปรียบกันในการทำสัญญาอันจะเข้าลักษณะข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม จึงมีผลใช้บังคับกับจำเลยที่ 1 ซึ่งลงลายมือชื่อรับทราบข้อตกลงในสัญญาจ้างแรงงาน การที่จำเลยที่ 1 ลาออกแล้วไปทำงานกับบริษัทอื่นที่ประกอบธุรกิจเช่นเดียวกับโจทก์ภายในกำหนด 2 ปี นับแต่พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของโจทก์ จึงผิดสัญญาจ้างแรงงาน จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงาน
สัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาที่ผู้ค้ำประกันมีความรับผิดเพียงฝ่ายเดียว การตีความให้ผู้ค้ำประกันรับผิดจึงต้องเป็นไปโดยเคร่งครัด จะตีความไปในทางขยายความรับผิดของผู้ค้ำประกันให้เกินเลยไปกว่าข้อความที่ปรากฏชัดแจ้งในสัญญาค้ำประกันไม่ได้
จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ไว้ต่อโจทก์ โดยมีข้อความว่า เพื่อเป็นการค้ำประกันความเสียหายหรือความรับผิดที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ได้ก่อให้เกิดขึ้นไม่ว่าโดยเจตนาหรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย หรือต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายอันเกิดแก่บุคคลหรือนิติบุคคลอื่นๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ผู้ค้ำประกันขอให้สัญญาว่าจะชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดตามที่เสียหายจริงแทนลูกจ้างจนหมดสิ้นโดยไม่มีข้อโต้แย้งหรือยกข้อกฎหมายใดๆ มากล่าวอ้างเพื่อเป็นเหตุให้พ้นความรับผิดชอบ เช่นนี้ เป็นสัญญาค้ำประกันที่ไม่มีข้อความชัดแจ้งให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันรับผิดกรณีจำเลยที่ 1 พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของโจทก์แล้วไปทำงานกับนายจ้างอื่นที่ประกอบกิจการค้าลักษณะอย่างเดียวกันหรือเป็นการแข่งขันกับโจทก์ภายในกำหนด 2 ปี นับแต่สัญญาจ้างสิ้นสุดลง จึงต้องตีความให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 11 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในกรณีที่จำเลยที่ 1 พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของโจทก์แล้วไปทำงานกับนายจ้างอื่นที่ประกอบกิจการค้าลักษณะอย่างเดียวกันหรือเป็นการแข่งขันกับโจทก์ภายในกำหนด 2 ปี นับแต่สัญญาจ้างสิ้นสุดลงต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8108/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีแรงงาน กรณีหนังสือตักเตือน การลงโทษทางวินัย และการพิสูจน์ข้อเท็จจริง
การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างออกหนังสือตักเตือนโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างเรื่องบริหารงานล้มเหลว ขาดความเข้าใจในการผลิตงานและขาดความเป็นทีมในฝ่ายโดยไม่เป็นความจริง และไม่ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เป็นการใช้อำนาจที่ไม่ชอบและไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียงและเกียรติคุณนั้น พอเข้าใจได้ว่าเป็นการกล่าวอ้างว่าการออกหนังสือตักเตือนของจำเลยเป็นการใช้อำนาจลงโทษโจทก์ซึ่งไม่ได้กระทำความผิดโดยไม่ชอบด้วยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ถือได้ว่าโจทก์มีข้อโต้แย้งสิทธิกับจำเลยแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
การที่จำเลยออกหนังสือตักเตือนโจทก์เรื่องความล้มเหลวในการบริหารงาน ขาดความเข้าใจในการผลิตงานและขาดความเป็นทีมในฝ่าย โดยมีข้อความระบุว่า "...หากมีความผิดลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นอีก ทางบริษัทจะพิจารณาโทษในสถานหนักยิ่งขึ้นไป หนังสือเตือนนี้มีอายุ 1 ปี นับแต่วันที่ออก" จึงมีลักษณะเป็นการออกหนังสือตำหนิโทษหรือคาดโทษโจทก์ว่า หากโจทก์กระทำความผิดลักษณะเดียวกันซ้ำอีกภายในระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันออกหนังสือ จำเลยจะพิจารณาโทษสถานหนักขึ้นบังคับใช้แก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นการลงโทษทางวินัยประเภทภาคทัณฑ์เป็นหนังสือ (ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี นับจากการกระทำผิดครั้งแรก) ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ข้อ 6.2.2
ส่วนปัญหาว่าการออกหนังสือตักเตือนของจำเลยอันเป็นการลงโทษภาคทัณฑ์เป็นหนังสือนั้นชอบด้วยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือไม่ และมีเหตุเพิกถอนหนังสือตักเตือนหรือไม่นั้น ศาลแรงงานกลางยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์กระทำความผิดตามหนังสือตักเตือนหรือไม่ และจำเลยมีขั้นตอนการพิจารณาลงโทษภาคทัณฑ์เป็นหนังสือกำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานซึ่งได้ปฏิบัติครบถ้วนแล้วหรือไม่ จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวเสียก่อนแล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดีตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคสองและวรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7767/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุทางรถไฟ: บาดเจ็บหลายแห่งแม้ผ่าตัดเพียงแห่งเดียวเข้าข่ายจ่ายเพิ่ม
การประสบอันตรายในคดีนี้เป็นเหตุให้ ส. ได้รับบาดเจ็บกระดูกแขนซ้ายแตกหัก กล้ามเนื้อแขนซ้ายชอกช้ำ กระดูกสันหลังระดับทรวงอกปล้องที่ 12 และระดับเอวปล้องที่ 1 หักยุบ แพทย์ทำการรักษาโดยการผ่าตัดดามกระดูกแขนซ้ายด้วยโลหะและใส่เฝือกพยุงหลัง ต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลอยู่ระยะหนึ่ง แพทย์รักษาทางยาและทำกายภาพบำบัด ต่อมาแพทย์ทำการผ่าตัดเพื่อนำเอาเหล็กที่ดามไว้ที่แขนซ้ายออก ดังนี้ แม้การประสบอันตรายของ ส. จะได้รับการผ่าตัดเพื่อดามและถอดเหล็กดามที่กระดูกแขนซ้ายเพียงแห่งเดียวก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่าเป็นกรณีที่ ส. ได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงของกระดูกหลายแห่งและต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขซึ่งอยู่ในเกณฑ์จ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มอีกไม่เกินหกหมื่นห้าพันบาทสำหรับการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยที่มีลักษณะตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 ข้อ 3 (2) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6686/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตีความข้อยกเว้นความรับผิดในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ต้องตีความโดยเคร่งครัดและเป็นประโยชน์แก่ผู้เอาประกันภัย
ผู้รับประกันภัยเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เอาประกันภัย เงื่อนไขที่ยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด ถ้ามีข้อสงสัยต้องตีความให้เป็นประโยชน์แก่ผู้เอาประกันภัย ซึ่งตามเงื่อนไขความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ระบุว่า ผู้รับประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อรถยนต์สูญหาย โดยในกรณีรถยนต์สูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ และยักยอกทรัพย์ ผู้รับประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเงินเอาประกันภัย และมีข้อยกเว้นความรับผิดว่าการประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองความสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์ โดยบุคคลได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจำนำ หรือโดยบุคคลที่จะกระทำสัญญาดังกล่าวข้างต้น เงื่อนไขที่ยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยนี้จึงต้องตีความโดยเคร่งครัดว่าหมายถึงความสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์ ที่กระทำโดยบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายหรือครอบครองตามสัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจำนำ เท่านั้น เนื่องจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์โดยบุคคลดังกล่าวสามารถกระทำได้โดยง่ายจึงมีความเสี่ยงสูง กรมธรรม์จึงไม่อาจให้ความคุ้มครองได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายเพราะถูก ว. ยักยอกไป ซึ่ง ว. เป็นผู้รับมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อจากจำเลยที่ 2 ผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เพื่อนำไปขาย กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามเงื่อนไขความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ดังกล่าว จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงไม่พ้นจากความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4802/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีปุ๋ยเคมีปลอม: การแยกความผิดฐานขายและผลิต และผลของการมีคำสั่งไม่ฟ้องก่อนหน้านี้
แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันขายปุ๋ยเคมีปลอมให้แก่สหกรณ์การเกษตร ก. แตกต่างจากสำนวนการสอบสวนของสถานีตำรวจภูธรเก้าเลี้ยวในอีกคดีหนึ่งที่กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันนำปุ๋ยเคมีปลอมมาให้สหกรณ์การเกษตร ก. ขาย แต่การกระทำความผิดในข้อหาร่วมกันขายปุ๋ยเคมีปลอมของจำเลยทั้งสองที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้กับที่พนักงานอัยการวินิจฉัยเนื้อหาสาระแห่งคดีแล้วมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องในอีกคดีหนึ่งดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดเดียวกัน มิใช่ความผิดใหม่หรือความผิดที่ต่อเนื่องกันมา เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานดังกล่าวได้ จึงต้องห้ามมิให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์สอบสวนจำเลยทั้งสองในเรื่องร่วมกันขายปุ๋ยเคมีปลอมอันเป็นเรื่องเดียวกันนั้นอีกตาม ป.วิ.อ. มาตรา 147 ถือไม่ได้ว่าการสอบสวนของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ในข้อหาร่วมกันขายปุ๋ยเคมีปลอมเป็นการสอบสวนโดยชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาร่วมกันขายปุ๋ยเคมีปลอมตามมาตรา 120
ความผิดฐานร่วมกันขายปุ๋ยเคมีปลอมในท้องที่สถานีตำรวจภูธรเก้าเลี้ยว กับความผิดฐานร่วมกันผลิตปุ๋ยเคมีปลอมที่เกิดขึ้นในท้องที่สถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ เป็นความผิดสำเร็จในแต่ละกรรมแยกต่างหากจากกัน แม้จะเป็นกรณีความผิดซึ่งมีหลายกรรมกระทำในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป ซึ่งทั้งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเก้าเลี้ยวและพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ต่างอาจมีอำนาจสอบสวน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคหนึ่ง (4) แต่การที่กรมวิชาการเกษตรแยกกล่าวโทษแต่ละข้อหาความผิดต่อพนักงานสอบสวนที่ความผิดแต่ละข้อหาเกิดในเขตอำนาจ กับมีการสอบสวนในแต่ละข้อหาความผิดแยกต่างหากจากกัน จึงมิใช่เป็นกรณีที่มีพนักงานสอบสวนหลายท้องที่มาเกี่ยวข้องซึ่งต้องกำหนดพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวนตามมาตรา 19 วรรคสอง การที่ ก. ผู้รับมอบอำนาจจากกรมวิชาการเกษตรไปร้องทุกข์ต่อพันตำรวจตรี ค. พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ในความผิดฐานร่วมกันผลิตปุ๋ยเคมีปลอม พันตำรวจตรี ค. จึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามมาตรา 18 วรรคสาม การสอบสวนของพันตำรวจตรี ค. ในข้อหาดังกล่าวจึงเป็นการสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันผลิตปุ๋ยเคมีปลอมได้ตามมาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4373/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิประโยชน์ทดแทนประกันสังคมกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน การพิจารณาความจำเป็นทางการแพทย์เมื่อโรงพยาบาลตามสิทธิไม่สามารถให้บริการได้
อาการป่วยของโจทก์ไม่ได้เกิดขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วน เพราะมีการเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ว. อันเป็นโรงพยาบาลตามสิทธิมาระยะหนึ่งแล้ว แต่อาการของโจทก์ไม่ดีขึ้นมีแต่จะทรุดลงจนเมื่อแพทย์ตรวจวินิจฉัยได้ข้อสรุปว่าน่าจะเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี จำเป็นต้องทำการเอ็กซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เครื่องเอ็กซเรย์ของโรงพยาบาลตามสิทธิก็ชำรุด แพทย์ผู้ทำการรักษาต้องสั่งให้นำตัวโจทก์ไปเอ็กซเรย์ที่ศูนย์ประชาชื่นโดยกำหนดนัดไว้แล้ว ก็ไม่อาจดำเนินการได้เพราะติดขัดที่ขั้นตอนอนุมัติของผู้อำนวยการโรงพยาบาลตามสิทธิ และไม่มีการนัดไปทำการเอ็กซเรย์ที่ศูนย์ประชาชื่นอีก ในขณะที่โจทก์ยังคงมีอาการเจ็บปวดมากขึ้นไม่มีความหวังว่าจะได้รับการรักษาต่อไปอย่างไร เสี่ยงต่อความตายหรือไม่ จนไม่อาจรอรับการรักษาจากโรงพยาบาลตามสิทธิอีกต่อไป โดยแพทย์ผู้ทำการรักษาโจทก์ที่โรงพยาบาล ธ. ก็ให้ความเห็นว่า อาการป่วยของโจทก์มีความจำเป็นต้องรักษารีบด่วน หากมิได้รับการรักษาพยาบาลทันทีทันใดอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ ดังนี้ ถือได้แล้วว่าเป็นกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน จำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลเป็นการด่วน และมีความจำเป็นเกี่ยวกับเครื่องมือที่ใช้ในการรักษาของโรงพยาบาลตามสิทธิชำรุด โจทก์มีเหตุผลสมควรที่ไม่สามารถรับบริการทางการแพทย์จากโรงพยาบาลตามสิทธิได้ โจทก์มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีเจ็บป่วย ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 59
of 88