คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ม. 22

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 175 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 298/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องไม่สมบูรณ์เนื่องจากไม่มีลายมือชื่อโจทก์ ศาลสั่งแก้ไขฟ้องได้ แม้คดีมีอัตราโทษสูง
แม้อุทธรณ์ของโจทก์จะเป็นการขอให้ศาลวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ แต่ก่อนที่ศาลจะวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวได้นั้น ศาลจำต้องวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงเสียก่อนว่า ตราที่โจทก์ประทับในฟ้องเป็นตราประทับที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนไว้ตามข้อบังคับของโจทก์หรือไม่ อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่โจทก์ยกขึ้นอ้าง จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 352, 353 มีอัตราโทษอย่างสูงให้จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22 ทั้งไม่ปรากฏว่าอุทธรณ์ของโจทก์ได้รับอนุญาตหรือรับรองให้อุทธรณ์ ตามมาตรา 22 ทวิ การที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยจึงไม่ชอบ ถือเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ จำเลยจะฎีกาในปัญหาดังกล่าวไม่ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 252 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงฯ มาตรา 4 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย และต้องฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามศาลชั้นต้นว่าโจทก์ไม่ได้ลงลายมือชื่อในฟ้อง เป็นฟ้องที่ไม่ชอบ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (7) ซึ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้าฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้ศาลสั่งโจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้อง หรือยกฟ้อง หรือไม่ประทับฟ้อง ดังนั้น เมื่อฟ้องโจทก์ไม่ปรากฏลายมือชื่อโจทก์อันเป็นฟ้องที่ไม่ถูกต้อง จึงเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยที่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ โดยเฉพาะศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยเนื้อหาแห่งคดี และการสั่งโจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องดังกล่าวไม่ได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดไว้ เช่นนี้ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องโดยให้โจทก์ลงลายมือชื่อในคำฟ้องให้ถูกต้องได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงฯ มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3526/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้กฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยในคดีดอกเบี้ยเกินอัตรา และข้อจำกัดสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
โจทก์ฟ้องโดยบรรยายวันเวลากระทำผิดของจำเลยฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีทั้งก่อนวันที่แก้ไขกฎหมายและหลังแก้ไขกฎหมาย เมื่อในชั้นพิจารณาโจทก์มิได้นำสืบให้ได้ความชัดว่าเหตุเกิดวันเวลาใด จึงต้องนำกฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยมาบังคับใช้ตาม ป.อ. มาตรา 3 การที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษแก่จำเลยนั้นเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลชั้นต้น จึงเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง การพิจารณาว่าโจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ข้อเท็จจริงหรือไม่ จึงต้องนำกฎหมายและโทษที่ลงแก่จำเลยนั้นมาปรับใช้ เพราะการใช้กฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยนั้น กฎหมายมิได้จำกัดเฉพาะการกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยเท่านั้น เมื่อ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 มีระวางโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22 ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาบังคับใช้ในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4135/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวินิจฉัยอุทธรณ์ฐานโกงเจ้าหนี้: ข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริง ศาลฎีกายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ย้อนสำนวน
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 350 ประกอบมาตรา 83 ศาลชั้นต้นยกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโดยวินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นในคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองฐานผิดสัญญาจะซื้อจะขายนั้นมีคำพิพากษายกฟ้อง มิได้พิพากษาให้จำเลยทั้งสองต้องโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินให้โจทก์ ขณะจำเลยทั้งสองโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินตามฟ้องให้แก่บุคคลภายนอก จำเลยทั้งสองจึงมิได้เป็นลูกหนี้ของโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีจึงไม่มีมูล ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้กันนับแต่ขณะทำสัญญาจะซื้อจะขายตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสอง และเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2550 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองให้ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์จึงมีหนี้อันสมบูรณ์ที่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้อยู่แล้วในขณะที่จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิด การกระทำของจำเลยทั้งสองครบองค์ประกอบความผิดฐานร่วมกันโกงเจ้าหนี้นั้น เป็นอุทธรณ์ที่โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยปรับข้อเท็จจริงที่รับฟังได้แล้วว่าครบองค์ประกอบความผิดฐานร่วมกันโกงเจ้าหนี้ตามฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงใหม่ให้ผิดไปจากที่ศาลชั้นต้นรับฟังมาแต่อย่างใด อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย มิใช่อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่าเป็นอุทธรณ์ต้องห้ามในปัญหาข้อเท็จจริงแล้วพิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์นั้น เป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 188/2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3629/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฎีกาคำสั่งศาลที่เห็นว่าคดีไม่มีมูล ต้องเป็นไปตามกฎหมายลักษณะอุทธรณ์ฎีกา มิใช่ทุกคดี
ป.วิ.อ. มาตรา 170 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด แต่คำสั่งที่ว่าคดีไม่มีมูลนั้น โจทก์มีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาได้ตามบทบัญญัติว่าด้วยลักษณะอุทธรณ์ฎีกา" ซึ่งหมายความว่า การอุทธรณ์หรือฎีกาคำสั่งที่ว่าคดีไม่มีมูล ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยลักษณะอุทธรณ์ฎีกา มิใช่โจทก์สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาได้ทุกคดีเสมอไป
คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 (เดิม) มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีโจทก์ไม่มีมูลความผิดทางอาญา แต่เป็นเรื่องทางแพ่ง และศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์เนื่องจากเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 ที่โจทก์ฎีกาว่า คดีของโจทก์มีมูลความผิดตามฟ้องแล้ว ขอให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณาต่อไป จึงถือเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ย่อมต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 แม้โจทก์จะยื่นคำร้องขอให้มีการรับรองหรือขออนุญาตให้ฎีกามาด้วย ก็ไม่อาจดำเนินการให้ได้ เพราะขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์มาจึงเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาไม่อาจรับวินิจฉัยให้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2764/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิอุทธรณ์โจทก์ร่วมในความผิดอาญา: เงื่อนไขการอนุญาตและผลของการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอน
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 300 (เดิม) มีอัตราโทษอย่างสูงให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เว้นแต่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นพิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และอนุญาตให้อุทธรณ์ หรืออัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมายลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่ามีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัย ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 และมาตรา 22 ทวิ ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 ซึ่งขั้นตอนในการที่จะปฏิบัติเข้าข้อยกเว้นดังกล่าว มิได้มีบัญญัติวางหลักเกณฑ์ไว้โดยเฉพาะในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคท้าย มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 การที่โจทก์ร่วมไม่ได้ยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม ก็ไม่มีผลตามกฎหมายให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 229/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คดีอาญา: การปฏิบัติตามขั้นตอนการขออนุญาตอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามกฎหมายเฉพาะ
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 (เดิม) ซึ่งมีอัตราโทษอย่างสูงให้จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เว้นแต่ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และอนุญาตให้อุทธรณ์ หรืออธิบดีกรมอัยการหรือพนักงานอัยการซึ่งอธิบดีกรมอัยการได้มอบหมายลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่ามีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัย ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 และมาตรา 22 ทวิ ซึ่งขั้นตอนในการที่จะปฏิบัติตามข้อยกเว้นให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ดังกล่าวมิได้มีบัญญัติวางหลักเกณฑ์ไว้โดยเฉพาะใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคท้าย มาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 กล่าวคือ โจทก์ต้องยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษา หรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ แต่โจทก์ยื่นคำขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยระบุเพียงว่าขอศาลได้โปรดอนุญาตให้อุทธรณ์ โดยโจทก์ไม่ได้ระบุว่าจะขอให้ผู้พิพากษาคนใดเป็นผู้พิจารณาอนุญาตให้อุทธรณ์ คำร้องของโจทก์ดังกล่าวมิได้ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคท้าย ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 จึงถือว่าคดีไม่มีการอนุญาตหรือรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์นั้นชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6953/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการอุทธรณ์คดีอาญาโทษไม่สูง และผลกระทบต่อคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่อง
ในการวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ต้องย้อนไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า การที่โจทก์แก้ฟ้องทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี และรถเกี่ยวข้าวคันที่โจทก์นำสืบอ้างว่าจำเลยยักยอกนำไปขายให้แก่ อ. เป็นรถเกี่ยวข้าวคันเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการวินิจฉัยคำร้องขอแก้ฟ้องและการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นอันเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อความผิดที่โจทก์ฟ้องจำเลยมีระวางโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง ฯ มาตรา 22 ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด ฯ มาตรา 3
คดีที่โจทก์ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งในการวินิจฉัยคดีส่วนแพ่งศาลต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง ฯ มาตรา 3 เมื่อศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่ได้ยักยอกรถเกี่ยวข้าวคันที่โจทก์ฟ้องไป ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังยุติตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยจึงไม่จำต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14188/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงต้องได้รับอนุญาตจากผู้พิพากษาชั้นต้น และการโต้เถียงดุลพินิจถือเป็นการอุทธรณ์ข้อเท็จจริง
โจทก์ร่วมฎีกาว่า อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมในความผิดฐานบุกรุกเป็นอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมาย โดยโจทก์ร่วมอุทธรณ์ว่า โจทก์ร่วมไม่ได้ให้ อ. พี่ชายโจทก์ร่วม เป็นผู้ดูแลกิจการอาคารที่เกิดเหตุ โจทก์ร่วมไม่เคยมอบอำนาจและไม่เคยให้อำนาจ อ. กระทำการเกี่ยวกับอาคารแทนโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมได้ห้ามจำเลยเข้ามาในอาคารและห้ามนำอาหารมาให้บิดามารดาโจทก์ร่วม เมื่อโจทก์ร่วมห้ามปรามอย่างเด็ดขาดแล้วจำเลยยังเข้าไปอีก ถือได้ว่าจำเลยเข้าไปโดยไม่มีเหตุอันสมควร เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า อ. เป็นผู้ดูแลกิจการร้านเกิดเหตุและพักอาศัยอยู่ในร้าน แม้ อ. จะมิได้เป็นเจ้าของร้าน แต่ก็ถือได้ว่า อ.เป็นผู้ดูแลครอบครองร้านเกิดเหตุ เมื่อ อ. ยินยอมให้จำเลยเข้าไปภายในร้านจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยบุกรุก ดังนี้ ในการวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องย้อนไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงก่อนว่า อ. มีสิทธิให้จำเลยเข้าไปในร้านที่เกิดเหตุหรือไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมจึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น อันเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยกอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมจึงชอบแล้ว
ส่วนที่โจทก์ร่วมฎีกาว่า ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม ถือว่าผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่า คดีนี้มีอัตราโทษอย่างสูงให้จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เว้นแต่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และอนุญาตให้อุทธรณ์ หรืออัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมายลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่ามีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัย ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 และมาตรา 22 ทวิ ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 ซึ่งขั้นตอนในการที่จะปฏิบัติเข้าข้อยกเว้นดังกล่าว มิได้มีบทบัญญัติวางหลักเกณฑ์ไว้โดยเฉพาะใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคท้าย มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 กล่าวคือ โจทก์ร่วมต้องยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ แต่โจทก์ร่วมไม่ได้ยื่นคำร้องดังที่กล่าวข้างต้น ดังนี้ การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม จึงไม่มีผลตามกฎหมายให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14188/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงต้องได้รับอนุญาตจากผู้พิพากษาชั้นต้นก่อน และการวินิจฉัยอำนาจผู้ดูแลครอบครอง
คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า อ. เป็นผู้ดูแลกิจการร้านเกิดเหตุ และพักอาศัยอยู่ในร้านเกิดเหตุ แม้ อ. จะมิได้เป็นเจ้าของร้านเกิดเหตุ แต่ก็ถือได้ว่า อ. เป็นผู้ดูแลครอบครองร้านเกิดเหตุ เมื่อ อ. ยินยอมให้จำเลยเข้าไปภายในร้านเกิดเหตุ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยบุกรุก ในการวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมว่า จำเลยกระทำความผิดฐานบุกรุกเพราะโจทก์ร่วมอนุญาตให้ อ. มีสิทธิเฉพาะทำการค้าขาย ทำงานเพื่อมีรายได้สำหรับ อ. ไว้ใช้จ่ายของ อ. เอง โจทก์ร่วมไม่ได้ให้ อ. เป็นผู้ดูแลกิจการอาคารที่เกิดเหตุ โจทก์ร่วมไม่เคยมอบอำนาจและไม่เคยให้อำนาจ อ. กระทำการเกี่ยวกับอาคารแทนโจทก์ร่วมเลย ยังปรากฏชัดว่า โจทก์ร่วมได้ห้ามจำเลยเข้ามาในอาคารที่เกิดเหตุ และห้ามจำเลยนำอาหารมาให้บิดามารดาโจทก์ร่วม เมื่อโจทก์ร่วมห้ามปรามอย่างเด็ดขาดแล้ว จำเลยยังเข้าไป ถือได้ว่าจำเลยเข้าไปในบ้านโจทก์ร่วมโดยไม่มีเหตุอันสมควร ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องย้อนไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงก่อนว่า อ. มีสิทธิให้จำเลยเข้าไปในร้านที่เกิดเหตุหรือไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมจึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น อันเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมนั้นชอบแล้ว
การขออนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคท้าย มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 กล่าวคือ โจทก์ร่วมต้องยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อโจทก์ร่วมไม่ได้ยื่นคำร้องดังกล่าวข้างต้น แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม ก็ไม่อาจถือได้ว่า ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงไม่มีผลตามกฎหมายให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้
of 18