คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 124

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 70 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3110-3113/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม แม้ได้รับค่าชดเชยแล้วตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
กรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยหรือค่าจ้างแทนการบอกกล่าวหน้าหรือเงินอย่างหนึ่งอย่างใดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเพื่อให้มีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินดังกล่าวแก่ลูกจ้าง ซึ่งหากพนักงานตรวจแรงงานสอบสวนข้อเท็จจริงและปรากฏว่าลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดที่นายจ้างมีหน้าที่จ่ายดังกล่าว ให้พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินดังกล่าวแก่ลูกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 123 และมาตรา 124 ส่วนกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยฝ่าฝืน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121 และมาตรา 123 อันเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำร้องกล่าวหานายจ้างต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตามมาตรา 124 คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดและออกคำสั่ง ในกรณีที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชี้ขาดว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีอำนาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานหรือให้จ่ายค่าเสียหาย หรือให้นายจ้างผู้ฝ่าฝืนปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดได้ตามที่เห็นสมควรตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 125 และมาตรา 41 (4) เห็นได้ว่า พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 กำหนดการเยียวยาแก่ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างไว้แตกต่างกันและเป็นกฎหมายคนละฉบับ ลูกจ้างจึงมีสิทธินำเหตุแห่งการเลิกจ้างเดียวกันไปยื่นคำร้องทั้งต่อพนักงานตรวจแรงงานหรือต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิซ้ำซ้อนกัน
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 7 บัญญัติว่า "การเรียกร้องหรือการได้มาซึ่งสิทธิหรือประโยชน์ตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิหรือประโยชน์ที่ลูกจ้างพึงได้ตามกฎหมายอื่น" ประกอบกับ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 41 (4) บัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งให้นายจ้างกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดใน 3 ประการ คือ สั่งให้รับลูกจ้างกลับเข้าทำงานก็ได้ หรือสั่งให้จ่ายค่าเสียหายก็ได้ หรือสั่งให้ผู้ฝ่าฝืนปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งที่เห็นสมควรก็ได้ หรือคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์อาจจะสั่งพร้อมกันหลายประการก็ได้ ดังนี้ แม้โจทก์ทั้งสี่ได้รับค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อมีการเลิกจ้าง อันถือได้ว่าโจทก์ทั้งสี่ไม่ประสงค์จะทำงานกับจำเลยที่ 2 อีกต่อไป และไม่ถือเอาประโยชน์ในส่วนของการขอให้จำเลยที่ 2 รับโจทก์ทั้งสี่กลับเข้าทำงานก็ตาม แต่โจทก์ทั้งสี่ก็ยังมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเนื่องจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมของจำเลยที่ 2 ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นคนละส่วนกัน และคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีอำนาจตามมาตรา 41 (4) สั่งให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสี่ได้ ในการยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จำเลยที่ 1 นั้น นอกจากโจทก์ทั้งสี่ขอให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 รับโจทก์ทั้งสี่กลับเข้าทำงานแล้ว โจทก์ทั้งสี่ยังขอให้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสี่ โดยโจทก์ทั้งสี่ยังคงฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จำเลยที่ 1 ที่ให้ยกคำร้อง และขอให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสี่เช่นเดิมด้วย แสดงว่าโจทก์ทั้งสี่ยังติดใจเรียกร้องค่าเสียหายอันเนื่องจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมของจำเลยที่ 2 อยู่ โจทก์ทั้งสี่จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จำเลยที่ 1 ในส่วนของค่าเสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2906-2907/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีแรงงาน: การจ่ายค่าจ้างล่าช้า ความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน และอำนาจศาล
คดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ยื่นฎีกาทั้งปัญหาข้อกฎหมายและปัญหาข้อเท็จจริง พร้อมกับยื่นคำร้องขอให้ อ. ร. ส. ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่ง ส. ได้ลงชื่ออนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ ส. เป็นเพียงผู้พิพากษาที่สั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 อันเป็นการสั่งภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดีเสร็จแล้ว ส. มิได้พิจารณาคดีนี้เลย จึงไม่อาจอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ได้ ประกอบกับฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ยังเป็นการคัดลอกข้อความตามอุทธรณ์มาทั้งหมด มิได้ระบุว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนใดมีข้อวินิจฉัยผิดพลาดคลาดเคลื่อนอย่างไร และที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง กรณีไม่มีเหตุสมควรที่ศาลฎีกาจะต้องย้อนสำนวนลงไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการจัดส่งคำร้องของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ไปให้ผู้พิพากษาอื่นในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตามที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ระบุในคำร้องพิจารณาและมีคำสั่งเกี่ยวกับฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 อีก
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 และ 124 บัญญัติให้สิทธิลูกจ้างยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานกรณีนายจ้างไม่จ่ายเงินอย่างหนึ่งอย่างใดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินดังกล่าวให้ลูกจ้างได้ บทบัญญัติดังกล่าวมีเจตนาที่จะให้การเยียวยาแก่ลูกจ้างที่นายจ้างไม่จ่ายเงิน ตามพระราชบัญญัตินี้ให้แก่ลูกจ้าง มิใช่บทบัญญัติตัดสิทธิหรือกำหนดขั้นตอนและวิธีการให้ลูกจ้างต้องปฏิบัติเสียก่อนจึงจะดำเนินคดีอาญาต่อนายจ้างแต่ประการใดไม่ ส่วนปัญหาว่าลูกจ้างมีสิทธิฟ้องคดีอาญานายจ้างได้หรือไม่เพียงใด ก็ต้องพิจารณาไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ในฐานะนายจ้างของโจทก์ทั้งสองร่วมกันไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จึงเป็นความผิดฐานไม่จ่ายค่าจ้างให้ถูกต้องและตามกำหนดเวลาตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 70 วรรคหนึ่ง (1), 144 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นลูกจ้างได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำความผิดทางอาญาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จึงเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เป็นคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3871/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นคำร้องต่อผรณ. กับการฟ้องคดีต่อศาลแรงงานเป็นสิทธิทางเลือกที่ไม่สามารถใช้ควบคู่กันได้
แม้จะไม่มีบทกฎหมายบัญญัติไว้โดยตรงว่าเมื่อลูกจ้างได้ใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแล้วจะไม่มีสิทธิยื่นฟ้องนายจ้างต่อศาลแรงงานอีก แต่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 ถึง มาตรา 125 เป็นกระบวนการทางเลือกซึ่งเมื่อลูกจ้างเลือกดำเนินการโดยยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแล้วจะต้องดำเนินการไปจนเสร็จสิ้น บทบัญญัติดังกล่าวมีลักษณะกำหนดให้ลูกจ้างเลือกใช้สิทธิทางใดทางหนึ่งแต่เพียงทางเดียว ดังนั้น เมื่อโจทก์ในฐานะลูกจ้างเลือกใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน พนักงานตรวจแรงงานสอบสวนข้อเท็จจริงและมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ย หากโจทก์ไม่พอใจคำสั่ง โจทก์ต้องนำคดีไปสู่ศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน แต่โจทก์ยื่นฟ้องนายจ้างเป็นจำเลยคดีนี้โดยอ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งแม้จะอ้างคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานมาด้วย แต่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ามากกว่าที่ได้รับตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน แสดงว่าโจทก์ไม่พอใจคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน คำฟ้องโจทก์จึงมิใช่การฟ้องเพื่อขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน และมิได้ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 เช่นนี้ สภาพคำฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องโดยอาศัยสิทธิเดิม ทั้งจำเลยคดีนี้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเพื่อจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าโดยอาศัยสิทธิเดียวกับที่ไปยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานและพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งในเงินดังกล่าวอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15617/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าจ้างและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างเป็นที่สุดเมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้ว แม้มีการฟ้องคดีใหม่ก็ไม่อาจเรียกร้องซ้ำได้
โจทก์ฟ้องเรียกดอกเบี้ยของต้นเงินค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และเงินเพิ่มของต้นเงินค่าชดเชยตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 101/2549 นั้น เมื่อปรากฏว่าวันที่ 6 มีนาคม 2557 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาในคดีที่จำเลยที่ 1 เป็นโจทก์ฟ้องพนักงานตรวจแรงงานเป็นจำเลยที่ 1 และโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าว ซึ่งเป็นคู่ความเดียวกันและได้วินิจฉัยเรื่องพิพาทที่เกิดขึ้นคราวเดียวกันตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2149/2557 ให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 101/2549 ของจำเลยที่ 1 เฉพาะในเรื่องค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเสียแล้ว จึงมีผลเท่ากับว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าว ดังนั้น ปัญหาที่ว่าโจทก์จะมีสิทธิฟ้องเรียกร้องดอกเบี้ยของต้นเงินค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และเงินเพิ่มของต้นเงินค่าชดเชยตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าวหรือไม่ จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย
สำหรับที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องดอกเบี้ยและเงินเพิ่มของต้นเงินค่าจ้างตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 101/2549 นั้น เมื่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกี่ยวกับสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดตามพระราชบัญญัตินี้ และลูกจ้างมีความประสงค์ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน..." ไว้เช่นนี้ ลูกจ้างสามารถใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเรียกร้องเงินที่มีสิทธิจะได้รับจากนายจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ได้ เพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานดำเนินการสอบสวนและมีคำสั่งตามมาตรา 124 และเมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งแล้วหากนายจ้างหรือลูกจ้างไม่พอใจก็สามารถนำคดีไปสู่ศาลภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้ศาลแรงงานพิจารณาอีกครั้งหนึ่งได้ตามมาตรา 125 เมื่อปรากฏว่ามูลเหตุในการยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานและการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องจากโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างอ้างว่านายจ้างค้างจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ ซึ่งเป็นการอ้างมูลเหตุแห่งข้อพิพาทอย่างเดียวกัน โจทก์จึงชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องขอให้นายจ้างจ่ายดอกเบี้ยและเงินเพิ่มของค่าจ้างไปพร้อมกันกับที่ขอให้จ่ายค่าจ้างได้ตั้งแต่ชั้นยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน การที่โจทก์ใช้แบบฟอร์มคำร้องที่มีข้อความว่า ขอให้นายจ้างจ่ายเงินค่าจ้าง ซึ่งในข้อ 7.17 ที่มีข้อความระบุว่า "ดอกเบี้ย/เงินเพิ่ม เป็นเงิน...บาท (...)" โดยไม่ได้ขีดฆ่าว่าไม่ประสงค์ให้จ่ายดอกเบี้ยหรือเงินเพิ่มก็ตาม แต่ต่อมาเมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ทราบหรือถือว่าได้ทราบคำสั่ง โดยคำสั่งดังกล่าวไม่ได้สั่งให้จำเลยที่ 1 ต้องเสียดอกเบี้ยหรือเงินเพิ่มจากต้นเงินค่าจ้างแก่โจทก์ ซึ่งโจทก์เองก็ทราบคำสั่งนั้นแล้วและไม่ได้นำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด คงมีเพียงจำเลยที่ 1 เท่านั้นที่เป็นโจทก์ฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานต่อศาลแรงงานกลางโดยฟ้องพนักงานตรวจแรงงานเป็นจำเลยที่ 1 และฟ้องโจทก์เป็นจำเลยที่ 2 พร้อมวางเงินที่จะต้องชำระตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานต่อศาลแรงงานกลางแล้ว ซึ่งโจทก์ในฐานะจำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าวก็มิได้โต้แย้งคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 101/2549 จึงเป็นที่สุดสำหรับโจทก์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสอง ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจฟ้องเรียกร้องดอกเบี้ยและเงินเพิ่มของต้นเงินค่าจ้างนอกเหนือจากคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานซึ่งถึงที่สุดไปแล้วได้อีก
ในส่วนที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยนั้น แม้คำฟ้องส่วนนี้เป็นการฟ้องเรียกร้องตามสิทธิในมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 อันมิใช่สิทธิได้รับเงินตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่โจทก์จะดำเนินการยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเพื่อให้มีคำสั่งได้ และพนักงานตรวจแรงงานไม่มีอำนาจดำเนินการและมีคำสั่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 และมาตรา 125 แม้โจทก์จะมีอำนาจฟ้องได้โดยตรงต่อศาลแรงงานและศาลแรงงานกลางมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีส่วนนี้ได้ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏต่อมาว่าเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2557 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาในคดีที่จำเลยที่ 1 เป็นโจทก์ฟ้องพนักงานตรวจแรงงานเป็นจำเลยที่ 1 และโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าว ซึ่งเป็นคู่ความเดียวกันและได้วินิจฉัยเรื่องพิพาทที่เกิดคราวเดียวกันตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2149/2557 ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้เลิกจ้างโจทก์เสียแล้ว ดังนั้น จึงมีผลทำให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามฟ้องแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15467/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าล่วงเวลาที่ระงับสิ้นไปแล้ว ไม่อาจนำมาฟ้องร้องได้อีก
อ. ลูกจ้างโจทก์เคยใช้สิทธิเรียกร้องค่าล่วงเวลาที่พิพาทจากโจทก์พร้อมเงินอื่น เนื่องจากถูกโจทก์เลิกจ้างในคดีหมายเลขแดงที่ รย.310/2551 ของศาลแรงงานภาค 2 ซึ่งระหว่างการพิจารณาในคดีดังกล่าว อ. กับโจทก์ตกลงกันได้และ อ. ได้สละสิทธิเรียกร้องในเงินค่าล่วงเวลาดังกล่าวแล้ว สิทธิเรียกร้องในค่าล่วงเวลาดังกล่าวนั้นจึงระงับสิ้นไป อ. จึงไม่อาจนำเอาสิทธิเรียกร้องค่าล่วงเวลาที่ระงับไปแล้วไปยื่นคำร้องต่อจำเลยเพื่อให้พิจารณาและมีคำสั่งได้อีก ดังนั้น อ. จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาจากโจทก์ คำสั่งของจำเลยที่ 78/2551 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2551 ที่ให้โจทก์จ่ายค่าล่วงเวลาแก่ อ. จึงไม่ชอบ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10597/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นายจ้างฟ้องเพิกถอนคำสั่งจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ต้องวางเงินตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายก่อน
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่อพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งตามมาตรา 124 แล้ว ถ้านายจ้าง ลูกจ้าง หรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่พอใจคำสั่งนั้น ให้นำคดีไปสู่ศาลได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง" และวรรคสาม บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายนำคดีไปสู่ศาล นายจ้างต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งนั้น จึงจะฟ้องคดีได้" เมื่อปรากฏว่าจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างอันเป็นคำสั่งตามมาตรา 124 และเมื่อโจทก์ต้องการฟ้องเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวโดยอ้างว่าการส่งเอกสารของจำเลยให้แก่โจทก์เพื่อไปชี้แจงข้อเท็จจริงไม่ชอบด้วยมาตรา 143 ซึ่งไม่ว่าจะเป็นจริงและรับฟังได้ตามข้ออ้างของโจทก์หรือไม่ก็ตาม โจทก์ก็มีคำขอเพิกถอนคำสั่งของจำเลยซึ่งสั่งตามมาตรา 124 ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างจึงต้องวางเงินตามมาตรา 125 วรรคสาม ทันทีที่ยื่นฟ้อง ทั้งการที่ศาลแรงงานภาค 9 ให้เวลาโจทก์นำเงินมาวางศาลนับแต่โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2555 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2555 นับเป็นผลดีแก่โจทก์ เมื่อโจทก์ไม่วางเงินภายในกำหนดตามที่ศาลสั่งเป็นเหตุให้ศาลแรงงานภาค 9 มีคำสั่งไม่รับฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13581/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิลูกจ้างในการเลือกฟ้องคดีแรงงาน หรือยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน และการถอนคำร้องก่อนฟ้องคดี
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 ถึง 125 มีลักษณะกำหนดให้ลูกจ้างจะต้องเลือกใช้สิทธิทางใดทางหนึ่งระหว่างใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลแรงงานหรือจะยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานก็ได้แต่เพียงทางเดียว จะใช้สิทธิพร้อมกันทั้งสองทางไม่ได้ แม้โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแล้ว ก็ไม่มีบทบัญญัติใดบังคับให้โจทก์ต้องดำเนินการให้สิ้นสุดกระบวนการโดยจะถอนคำร้องแล้วมาใช้สิทธิทางศาลอีกไม่ได้ ดังนั้น การที่โจทก์ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแล้วถอนคำร้องดังกล่าวก่อนยื่นคำฟ้องคดีนี้ในขณะยื่นคำฟ้องจึงไม่มีคำร้องอยู่ในระหว่างการพิจารณาของพนักงานตรวจแรงงาน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10406/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเป็นที่สุดหากนายจ้างไม่ฟ้องคัดค้านภายใน 30 วัน
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างและค่าทำงานในวันหยุดแก่โจทก์ โจทก์จึงร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานกลุ่มสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 8 พนักงานตรวจแรงงานสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วมีคำสั่งให้จำเลยจ่ายค่าจ้างและค่าทำงานในวันหยุดแก่โจทก์และได้ส่งคำสั่งให้จำเลยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 143 วรรคหนึ่ง จำเลยได้รับทราบคำสั่งเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2548 แล้ว จำเลยไม่นำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นที่สุดตามมาตรา 125 วรรคสอง จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานให้โจทก์ภายในสิบห้าวันนับแต่วันทราบคำสั่งตามมาตรา 124 วรรคสาม โดยไม่มีสิทธิยกข้อต่อสู้ตามคำให้การซึ่งยุติไปแล้วในชั้นพนักงานตรวจแรงงานมากล่าวอ้างในชั้นที่โจทก์ฟ้องต่อศาลแรงงานกลางขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8793/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องค่าจ้างต้องอาศัยข้อตกลงสภาพการจ้าง ไม่ใช่แค่คำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 ที่บัญญัติให้นายจ้าง ลูกจ้าง หรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายที่ไม่พอใจคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ได้มีคำสั่งตามมาตรา 124 ต้องนำคดีไปสู่ศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง มิฉะนั้น คำสั่งนั้นเป็นที่สุด คำสั่งที่จะเป็นที่สุดตามมาตรานี้ต้องเป็นคำสั่งในกรณีที่นายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกี่ยวกับสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 123 เท่านั้น
ตามคำฟ้องของโจทก์ที่ 2 เป็นการฟ้องเพื่อให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและเรียกร้องค่าจ้างส่วนที่จะต้องได้รับเพิ่มขึ้นจากการที่จำเลยต้องปรับค่าจ้างเพิ่มตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 19 โจทก์ที่ 2 จึงหาจำต้องฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8631/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ศาลยืนตามคำพิพากษาให้จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 วรรคหนึ่ง ให้สิทธิลูกจ้างเลือกที่จะนำคดีเสนอต่อศาลแรงงานหรือยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานดำเนินการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ทางใดทางหนึ่ง หากลูกจ้างเลือกที่จะใช้สิทธิทางใดแล้วก็จะต้องดำเนินการในทางนั้นจนสิ้นกระบวนการ ไม่อาจจะใช้สิทธิในอีกทางหนึ่งควบคู่ไปด้วยได้ ดังนั้นเมื่อโจทก์ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานจำเลยที่ 1 โดยระบุในคำร้องว่า ประสงค์จะเรียกร้องเพียงค่าจ้างและค่าชดเชย จำเลยที่ 1 จึงต้องสอบสวนข้อเท็จจริงและมีคำสั่งเฉพาะเรื่องค่าจ้างและค่าชดเชยตามความประสงค์ของโจทก์ แต่ในส่วนของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น เมื่อโจทก์ไม่ได้ประสงค์ให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการ จำเลยที่ 1 จึงไม่จำต้องสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วมีคำสั่งในเรื่องดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยมาตรา 124 แล้ว
โจทก์มิได้ฟ้องเพียงแต่ขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 เท่านั้น แต่ยังได้ฟ้องนายจ้างเป็นจำเลยที่ 2 และมีคำขอให้จำเลยที่ 2 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ คำฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจึงมิใช่สิทธิได้รับเงินที่โจทก์เลือกดำเนินการต่อพนักงานตรวจแรงงานที่จะต้องดำเนินการจนสุดสิ้นกระบวนการแต่เป็นการฟ้องบังคับแก่จำเลยที่ 2 โดยตรง เมื่อศาลแรงงานภาค 8 เห็นว่าจำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าให้ถูกต้องตามกฎหมายจึงพิพากษาให้จำเลยที่ 2 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและดอกเบี้ยได้
ศาลแรงงานภาค 8 รับฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 มานานกว่า 10 ปี โดยโจทก์มีความสัมพันธ์เป็นญาติใกล้ชิดกันกับหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 2 การจ่ายเงินเดือนก็ทำเพียงนำเงินสดใส่ซองมอบให้ แต่จำเลยที่ 2 ไม่จ่ายเงินเดือนประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2547 ให้โจทก์ตามกำหนดและโจทก์กับพี่ชายของจำเลยที่ 2 มีสาเหตุโกรธเคืองกันและมีเหตุการณ์ยกเลิกหนังสือมอบอำนาจ การไม่อนุญาตให้ใช้รถยนต์กระบะ การไม่ชำระค่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้ตลอดจนการเปลี่ยนกุญแจทางขึ้นห้องพักที่สอดรับกับการไม่จ่ายเงินเดือน แล้วจึงวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ไม่ประสงค์จะให้โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างอีกต่อไป จึงเลิกจ้างโจทก์ ดังนั้นการที่จำเลยที่ 2 ยกเอาบางส่วนของคำวินิจฉัยของศาลแรงงานภาค 8 มาแปลความว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ จึงถือว่าเป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลแรงงานภาค 8 เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
of 7