คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 49

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,535 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13160/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างพนักงานบัญชี: ความไว้วางใจและความรับผิดชอบต่อหน้าที่
โจทก์เป็นพนักงานบัญชีและการเงินมีหน้าที่จ่ายและรับคืนเงิน การปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ต้องอาศัยความละเอียด รอบคอบ ซื่อสัตย์ และได้รับความไว้วางใจจากนายจ้าง แม้จะได้ความว่าการที่โจทก์นำเงินไปเก็บรักษาไว้ที่บ้านจะไม่เป็นการผิดระเบียบของจำเลย แต่การนำเงินของจำเลยไปเก็บรักษาไว้ที่บ้านของโจทก์โดยไม่ได้นำมาคืนจนกระทั่งเวลาผ่านไปเกือบ 5 เดือน และโจทก์นำมาคืนให้เมื่อจำเลยตรวจพบและทวงถาม ทั้งยังอ้างเหตุความหลงลืม อันแสดงถึงความไม่รอบคอบและไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ จำเลยผู้เป็นนายจ้างย่อมมีเหตุผลที่จะหวาดระแวงและไม่ไว้วางใจให้โจทก์ทำงานต่อไป ถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6719/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับอายุงานต่อเนื่องหลังศาลสั่งให้กลับเข้าทำงาน กรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
ศาลแรงงานภาค 4 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราจ้างไม่ต่ำกว่าเดิมเนื่องจากจำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม แม้มิได้กำหนดให้นับอายุงานต่อเนื่องไว้แต่ตามผลรูปคดีย่อมแสดงว่าเป็นการสั่งให้รับลูกจ้างกลับเข้าทำงานต่อไปในฐานะเดิมก่อนการเลิกจ้าง เมื่ออายุงานเป็นองค์ประกอบที่จะทำให้ลูกจ้างได้รับสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานบางประการ การไม่นับอายุงานต่อเนื่องเป็นการทำให้ลูกจ้างเสียสิทธิที่จะพึงมีพึงได้อันเนื่องมาจากอายุงานเป็นการไม่คุ้มครองลูกจ้าง ไม่ต้องด้วยเจตนารมณ์ของมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
การนับอายุงานต่อเนื่องเป็นเพียงการรักษาสิทธิของลูกจ้างที่มีอยู่แล้วไม่ให้เสียไปเพราะการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จึงต้องนับอายุงานต่อเนื่องจากอายุงานเดิมมิใช่เริ่มนับอายุงานใหม่หลังจากที่จำเลยที่ 2 รับโจทก์กลับเข้าทำงาน แต่จะนับระยะเวลาตั้งแต่วันเลิกจ้างถึงวันที่จำเลยที่ 2 รับโจทก์กลับเข้าทำงานรวมเข้าเป็นอายุงานด้วยไม่ได้เพราะระหว่างนั้นโจทก์ไม่ได้ทำงานให้จำเลยที่ 2 คงนับอายุงานใหม่ต่อกับอายุงานเดิมที่คำนวณถึงวันก่อนวันเลิกจ้างได้เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18570/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ศาลมีอำนาจสั่งให้จ่ายค่าเสียหายแทนการรับกลับเข้าทำงาน
ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ให้อำนาจศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน แต่ถ้าศาลแรงงานเห็นว่า ลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทน จำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์รับโจทก์กลับเข้าทำงาน จึงเป็นกรณีที่ลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ เห็นควรกำหนดให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์แทน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17591-17594/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม นายจ้างต้องพิจารณาทางเลือกอื่นก่อนเลิกจ้าง การลดต้นทุนไม่ใช่เหตุอันสมควร
โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 และที่ 6 ฟ้องขอให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยให้การว่าจำเลยประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ทำให้ต้องลดจำนวนลูกจ้างเพื่อลดค่าใช้จ่าย จำเลยจึงเลิกจ้างลูกจ้างจำนวน 7 คน ซึ่งรวมถึงโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 และที่ 6 ด้วยเนื่องจากโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 และที่ 6 มีผลการทำงานย้อนหลัง 3 ปี ต่ำกว่ามาตรฐาน ขาดงาน ลาป่วย ลากิจ ละทิ้งหน้าที่จำนวนมาก และเคยถูกลงโทษทางวินัย ศาลแรงงานภาค 1 จดประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 และที่ 6 โดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ แล้วฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวว่าการใช้สิทธิลาของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 และที่ 6 ไม่ทำให้จำเลยเสียหาย การเลิกจ้างมีเหตุผลมาจากจำเลยต้องการลดจำนวนลูกจ้างเพื่อลดต้นทุนการผลิต การที่จำเลยนำเรื่องการทำงานของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 และที่ 6 มาพิจารณาเพื่อเลิกจ้างโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 และที่ 6 จึงเป็นการเลือกปฏิบัติ เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นการให้เหตุผลเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทนั้นแล้ว แม้ศาลแรงงานภาค 1 จะวินิจฉัยโดยให้เหตุผลรวบรัดไปบ้าง แต่ก็ได้กล่าวหรือแสดงข้อเท็จจริงโดยสรุปและวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีพร้อมเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยครบถ้วน คำพิพากษาของศาลแรงงานภาค 1 จึงชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง
การพิจารณาว่าการเลิกจ้างเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 หรือไม่ ต้องพิจารณาจากเหตุแห่งการเลิกจ้างว่ามีเหตุอันสมควรเพียงพอหรือไม่ จำเลยอ้างเหตุว่าคำสั่งซื้อจากลูกค้าของจำเลยลดลงตั้งแต่กลางปี 2551 ทำให้กิจการของจำเลยประสบภาวะการขาดทุนและเป็นเหตุให้ต้องเลิกจ้างลูกจ้างเพื่อความอยู่รอดของกิจการจำเลย นับจากเวลาที่คำสั่งซื้อลดลงจนถึงวันที่จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 และที่ 6 มีระยะเวลาเพียงประมาณ 6 เดือน โดยในช่วงระยะเวลาดังกล่าวไม่ปรากฏว่าจำเลยได้พยายามใช้วิธีการอื่นใดปรับปรุงการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานหรือลดค่าใช้จ่ายของจำเลยลงหรือให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 และที่ 6 ไปช่วยทำงานในหน้าที่อื่นแต่อย่างใด การที่จำเลยเลือกใช้วิธีการเลิกจ้างในทันทีเพื่อลดค่าใช้จ่ายของจำเลย โดยมิได้มีการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดก่อนการเลิกจ้าง เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของจำเลยเพียงฝ่ายเดียว จึงยังไม่มีเหตุอันสมควรและเพียงพอที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 และที่ 6 ได้ เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17582/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเสนอแนะให้แบ่งซื้อพัสดุเกินอำนาจเพื่อหลีกเลี่ยงระเบียบ เป็นการทุจริตและผิดวินัยร้ายแรง
องค์การค้าของคุรุสภาโอนมาเป็นองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาหรือจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 โดยพนักงานยังคงได้รับเงินเดือนจากองค์การค้าของคุรุสภาไม่ได้รับจากงบประมาณแผ่นดิน เมื่อ พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 ไม่ได้บัญญัติยกเว้นการนำ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาใช้บังคับแก่กิจการของจำเลยที่ 1 ทั้ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ก็ไม่ได้บัญญัติยกเว้นไม่ให้นำมาใช้บังคับแก่หน่วยงานอื่นใดของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะ จำเลยที่ 1 จึงอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ดังนั้น จึงใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 บังคับแก่จำเลยที่ 1 ในส่วนของโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานขององค์การค้าของคุรุสภาได้
ตามระเบียบคุรุสภาว่าด้วยการบริหารองค์การค้าของคุรุสภา พ.ศ.2503 กำหนดให้การสั่งซื้อสินค้าตามใบสั่งหนึ่ง ๆ ตั้งแต่ 10 ล้านบาท ลงมา ให้ผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภาเป็นผู้อนุมัติ แต่หากเกินกว่า 10 ล้านบาท ขึ้นไปถึง 20 ล้านบาท ให้ประธานกรรมการองค์การค้าของคุรุสภาเป็นผู้อนุมัติ โจทก์ทำงานด้านจัดซื้อมา 10 ปีเศษ การที่โจทก์เสนอให้แบ่งการจัดซื้อออกเป็นงวด ๆ เพื่อให้แต่ละงวดมีวงเงินไม่เกินอำนาจของผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภา จนในที่สุดมีการอนุมัติตามที่โจทก์เสนอแนะ เป็นกรณีที่โจทก์มีเจตนาเสนอให้มีการหลีกเลี่ยงระเบียบคำสั่งเกี่ยวกับการเงิน ซึ่งเป็นระเบียบที่ใช้เพื่อป้องกันความเสียหายด้านการเงิน ทั้งการกระทำของโจทก์เปิดช่องให้มีการทุจริตในการจัดซื้อได้โดยง่ายจึงเป็นการกระทำผิดวินัยเป็นกรณีที่ร้ายแรง โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13812/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม แม้ไม่มีความผิดทางอาญา แต่ประมาทเลินเล่อในการทำงาน
การกระทำที่ไม่เป็นความผิดในคดีอาญา แต่อาจจะเป็นการกระทำความผิดทางวินัยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานได้ แม้คดีอาญาจะเป็นความผิดที่เกี่ยวกับแผ่นดินซึ่งอาจจะมีความสำคัญมากกว่าความผิดทางวินัย แต่การพิจารณาว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดต่อคดีอาญาหรือไม่ หรือเป็นความผิดทางวินัยหรือไม่ ย่อมมีองค์ประกอบและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาแตกต่างกันไป ไม่อาจนำข้อสรุปของการพิจารณาแต่ละกรณีมาใช้บังคับแก่กันได้ แม้คดีอาญาที่จำเลยแจ้งความดำเนินคดีแก่โจทก์จะถึงที่สุดโดยพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องก็ตาม ก็ไม่อาจนำมาเป็นข้อยุติว่าโจทก์มิได้กระทำความผิดทางวินัยด้วยได้ เมื่อปรากฏว่าโจทก์ใช้ความระมัดระวังไม่เพียงพอในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นพนักงานเก็บรักษาของอันเป็นการปฏิบัติงานโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง กรณีย่อมมีเหตุอันสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้ มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13524/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างกรณีทุจริตต่อหน้าที่ - ความผิดทางวินัยร้ายแรง - การนำเงินค่าไฟฟ้าไปฝากบัญชี
โจทก์เป็นพนักงานการเงินของจำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ มีหน้าที่เก็บเงินค่าไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้า แต่ไม่ดำเนินการนำเงินค่าไฟฟ้าที่เก็บมาได้ฝากเข้าบัญชีของจำเลยในธนาคารด้วยตนเอง ให้ถูกต้องตามระเบียบการปฏิบัติงานหรือคำสั่งของจำเลยอันชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้จำเลยสูญเสียรายได้ในกิจการไป ถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบคำสั่งของนายจ้าง และเป็นความผิดทางวินัยกรณีที่ร้ายแรง จำเลยชอบที่จะเลิกจ้างหรือมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงาน โดยไม่จำต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยหรือค่าเสียหายใด ๆ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3934/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจ่ายเงินค่าใช้จ่ายในการทำงาน ไม่ใช่ค่าจ้าง การย้ายงานไม่ถือเป็นการลดค่าจ้าง การเลิกจ้างเนื่องจากฝ่าฝืนคำสั่งชอบธรรม
เดิมจำเลยจ่ายเงินค่ารับรองลูกค้า ค่าน้ำมันพาหนะ และค่าโทรศัพท์ให้แก่ลูกจ้างในแผนกขายซึ่งรวมถึงโจทก์ด้วยตามยอดเงินในใบเสร็จรับเงินที่ขอเบิก ต่อมาจำเลยจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นประจำตามอัตราที่แน่นอนทุกเดือนโดยไม่ต้องมีใบเสร็จรับเงินมาแสดงอีก แสดงว่าจำเลยมีวัตถุประสงค์ในการจ่ายเงินดังกล่าวให้โจทก์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการทำงาน ไม่ได้จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานของโจทก์โดยตรง การเปลี่ยนแปลงการจ่ายเงินเป็นไม่ต้องนำใบเสร็จรับเงินมาแสดงอีก เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงวิธีการจ่ายเงินให้สะดวกในการบริหารจัดการเท่านั้น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของการจ่ายเงิน เงินนั้นจึงไม่ใช่ค่าจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 การที่จำเลยย้ายโจทก์จากตำแหน่งผู้จัดการเขตการขายไปเป็นผู้จัดการประสานงานขายเป็นเหตุให้โจทก์ไม่ได้รับเงินดังกล่าวจึงไม่ใช่กรณีที่จำเลยลดค่าจ้างโจทก์
จำเลยออกคำสั่งให้โจทก์ไปทำงานในตำแหน่งผู้จัดการประสานงานขาย แต่โจทก์ไม่ยอมไปทำงาน ยังคงทำงานในตำแหน่งผู้จัดการเขตการขายตามเดิม ต่อมาจำเลยมีหนังสือเตือนแล้ว จึงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยและกระทำผิดซ้ำคำเตือน จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3653/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยต้องแสดงเหตุผลอันสมควรและหลักเกณฑ์การคัดเลือกที่ชัดเจน
คำพิพากษาศาลแรงงานกลางไม่ได้กล่าวหรือแสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุปและไม่ปรากฏเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยว่าเหตุใดจำเลยจึงต้องปรับลดหรือยุบแผนกในส่วนที่โจทก์ทำงาน มีเหตุผลหรือความจำเป็นใดที่จะต้องเลิกจ้างโจทก์ จำเลยพยายามหางานในตำแหน่งเหมาะสมให้โจทก์ทำก่อนที่จะเลิกจ้างโจทก์หรือไม่ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยเลือกปฏิบัติหรือไม่ เป็นการไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง
เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาและข้อเท็จจริงในสำนวนยุติเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยให้
จำเลยให้การว่าจำเป็นต้องยุบหน่วยงานที่โจทก์ทำงาน แต่นำสืบว่าจำเลยต้องการลดตำแหน่งงานโดยไม่ได้นำสืบว่าจำเลยยุบหน่วยงานที่โจทก์ทำงาน เท่ากับจำเลยยอมรับว่าจำเลยไม่ได้ยุบหน่วยงานที่โจทก์ทำงาน ที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่ามีการยุบหน่วยงานที่โจทก์ทำงานจึงไม่ชอบ ดังนั้นข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยไม่ได้ยุบหน่วยงานที่โจทก์ทำงาน แต่จำเลยเลือกเลิกจ้างโจทก์เพียงคนเดียวจากลูกจ้างในหน่วยงาน 30 คน โดยไม่ปรากฏหลักเกณฑ์การคัดเลือกและเหตุผล เป็นการเลิกจ้างที่ไม่มีเหตุอันสมควรเพียงพอ จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2819/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงเลิกจ้างที่มีการจ่ายเงินชดเชย ไม่ขัดต่อกฎหมาย และมีผลผูกพันลูกจ้าง
เอกสารซึ่งมีข้อความที่แสดงให้เห็นว่า โจทก์ได้รับทราบการเลิกจ้างเป็นหนังสือจากจำเลยแล้ว และยังทราบว่าจำเลยตกลงจ่ายเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมายต่าง ๆ จำนวนหนึ่งให้แก่โจทก์ แม้ในขณะนั้น โจทก์ยังคงเป็นลูกจ้างของจำเลยอยู่ก็ตาม แต่โจทก์ก็มีอิสระที่จะตัดสินใจได้โดยไม่อยู่ในภาวะที่จะต้องเกรงกลัวจำเลย หรือถูกบีบบังคับให้รับเงินต่าง ๆ ตามที่จำเลยเสนอให้ โดยโจทก์สามารถเลือกได้อย่างอิสระว่าจะตกลงยอมรับเงินจำนวนดังกล่าว หรือไม่ตกลงยอมรับแล้วไปใช้สิทธิฟ้องร้องเรียกเงินค่าจ้างและเงินอื่น ๆ ที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับตามกฎหมายจากจำเลยในภายหลัง ข้อตกลงที่โจทก์ยอมรับว่าไม่ติดใจที่จะเรียกร้องเงินใด ๆ จากจำเลยอีกต่อไป จึงไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ทั้งไม่ต้องห้ามโดยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่มีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีผลบังคับและผูกพันโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจากจำเลยอีก
of 154