คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 49

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,535 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11096/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างกรณีแข่งขันกับนายจ้างและละทิ้งหน้าที่ โดยมิชอบที่จะเรียกร้องค่าชดเชย
โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป มีหน้าที่ดูแลด้านการตลาด การขาย และลูกค้าสัมพันธ์ ในเวลาเดียวกันโจทก์ไปดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท อ. ซึ่งมีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกันและมีลักษณะเป็นการประกอบกิจการแข่งขันกับจำเลยที่ 1 บริษัท อ. ย่อมต้องดำเนินกิจการให้บริการแก่ลูกค้ากลุ่มเดียวกันกับจำเลยที่ 1 ย่อมมีผลกระทบต่อรายได้ของจำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 1 เสียหาย โจทก์กระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อทางการค้าของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้าง และจงใจทำให้นายจ้างเสียหายจากการที่โจทก์ไม่ส่งเสริมการค้าขายของจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (2) โจทก์กระทำการไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยทั้งสองเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 และเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุสมควร ไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
จำเลยที่ 2 ให้การว่า กรณีพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 (ค่าผ่อนบ้านและที่ดินกับค่าเช่าซื้อรถ) ไม่เกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาลแรงงานกลาง ศาลแรงงานกลางไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ โจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่ได้คัดค้าน จึงไม่มีปัญหาว่าคดีในส่วนนี้อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานกลางหรือไม่ การที่โจทก์ยกปัญหานี้ขึ้นในชั้นอุทธรณ์จึงล่วงเลยเวลาที่จะพิจารณาแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16552/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาชัดเจน ไม่ถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และขอบเขตข้อตกลงสภาพการจ้างที่ไม่ผูกพันลูกจ้างรายกรณี
สัญญาจ้างโจทก์มีกำหนดระยะเวลาการจ้างตลอดมาถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2547 และจำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ให้มีผลสัญญาจ้างสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2547 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดตามสัญญาเพราะโจทก์มีหนังสือถึงจำเลยว่าไม่มีความจำเป็นต้องต่อสัญญาอีกต่อไปตามความเข้าใจผิดของโจทก์เอง เป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุอันสมควร ไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
สหภาพแรงงาน ค. มีลูกจ้างซึ่งทำงานในกิจการประเภทเดียวกันเป็นสมาชิกไม่เกินสองในสามของลูกจ้างทั้งหมด ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่จำเลยทำกับสหภาพแรงงาน ค. จึงมีผลผูกพันจำเลยกับลูกจ้างที่เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน ค. เท่านั้น ไม่มีผลผูกพันลูกจ้างทุกคนตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 19 วรรคสอง
นับแต่ปี 2520 จนถึงปัจจุบันสหภาพแรงงาน ค. ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพจ้างกับจำเลยโดยทุกฉบับกำหนดยกเว้นไม่ใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างที่แน่นอน และไม่ได้กำหนดให้ผูกพันลูกจ้างทุกคน
ตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2539 ที่โจทก์เข้าเป็นลูกจ้างของจำเลยถึงวันที่ 24 ตุลาคม 2544 โจทก์ไม่ได้เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน ค. ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างจำเลยกับสหภาพแรงงาน ค. จึงไม่ผูกพันโจทก์
โจทก์เข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ค. ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2544 ถึงสิ้นปี 2547 ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างจำเลยกับสหภาพแรงงาน ค. ก็ยังคงไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างที่แน่นอน
เมื่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างสหภาพแรงงาน ค. กับจำเลยไม่มีผลผูกพันลูกจ้างทั้งหมดซึ่งรวมถึงโจทก์ด้วย สัญญาจ้างแรงงานที่จำเลยทำกับโจทก์โดยระบุให้โจทก์ได้รับสิทธิในสวัสดิการน้อยกว่าที่กำหนดไว้ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้นก็ไม่เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 20

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13807-13808/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากภาวะขาดทุนและการลดต้นทุน จำเป็นต้องมีเหตุผลอันสมควรและไม่เป็นการกลั่นแกล้ง
จำเลยมีการขาดทุนสะสมมาโดยตลอด กระทั่งปี 2548 ปรากฏการขาดทุนสะสม 719,120,984 บาท โจทก์ทั้งสองมีความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานมาก จำเลยจึงต้องจ้างพนักงานขับรถบรรทุกเพิ่มอีกหนึ่งคนเป็นเหตุให้จำเลยมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพิ่มขึ้นจึงได้ทำตารางเปรียบเทียบผลต่างเฉลี่ยต่อเดือนและต่อปี ซึ่งแสดงถึงเงินเดือน รายได้ และสวัสดิการของโจทก์ทั้งสองและพนักงานขับรถบรรทุกอีกหนึ่งคน เปรียบเทียบกับการจ้างพนักงานขับรถบรรทุกจากบริษัทรับเหมาภายนอก ซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่าหากจำเลยจ้างพนักงานขับรถบรรทุกจากบริษัทเหมาภายนอกเพียงสองคน แทนการจ้างโจทก์ทั้งสองและพนักงานขับรถบรรทุกที่ต้องขับช่วยโจทก์ทั้งสองอีกหนึ่งคน เมื่อนับจากขณะทำเอกสารไปจนถึงเกษียณอายุการทำงานเมื่ออายุครบ 60 ปี จำเลยจะสามารถลดค่าใช้จ่ายได้รวม 7,978,598 บาท อันเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเลยต้องคำนึงถึงเพื่อลดส่วนของการขาดทุนสะสมลงเพื่อความอยู่รอดของจำเลยโดยมิได้กระทำไปเพื่อกลั่นแกล้งโจทก์ จึงมีเหตุผลอันสมควรและเพียงพอที่จำเลยสามารถเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองได้โดยมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2967/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากผลงานไม่ดีและรายงานเท็จ ไม่ถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
สัญญาจ้างระบุจ่ายค่าจ้าง และสวัสดิการ ค่าเช่าบ้าน ค่าเดินทาง เมื่อผ่านการทดลองงาน จำเลยจะบรรจุให้เป็นพนักงานประจำ โดยมีสวัสดิการเบี้ยขยันให้ตามหลักเกณฑ์ บ้านพักที่จำเลยจัดให้พนักงานมี 80 ห้อง พนักงานที่ไม่มีบ้านพักจะได้ค่าเช่า ในกรณีของโจทก์ไม่ต้องการบ้านพักก็จะช่วยเหลือเป็นค่าเช่า การตกลงจ่ายเงินดังกล่าวกันตามสัญญาจ้างของโจทก์กับจำเลยมีเจตนามาตั้งแต่แรกที่จะให้เป็นสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือพนักงานนอกเหนือจากค่าจ้างที่กำหนดไว้เป็นเงินเดือน แม้ค่าเช่าบ้านและค่าพาหนะจำเลยจะจ่ายให้โจทก์เป็นประจำทุกเดือน โดยไม่มีเงื่อนไขว่าต้องนำเอกสารหรือหลักฐานมาเบิกจ่าย ก็เป็นเพียงวิธีการจ่ายเงินในลักษณะเหมาจ่ายเพื่อความสะดวกในทางปฏิบัติ และมิได้แสดงว่าคู่สัญญาจะเปลี่ยนเจตนาให้สวัสดิการนั้นกลายเป็นค่าจ้าง
จำเลยใช้สิทธิเลิกสัญญาจ้างเนื่องจากโจทก์ไม่สามารถปฏิบัติงานตามหน้าที่ความรับผิดชอบได้ หรืออาจกล่าวว่าโจทก์ขาดสมรรถภาพที่จะทำงานและรับผิดชอบในตำแหน่งที่ได้รับการว่าจ้าง มิใช่เป็นเรื่องการลงโทษเพราะโจทก์กระทำผิดทางวินัยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน จำเลยมิได้กลั่นแกล้งโจทก์ กรณีจึงมีเหตุผลเพียงพอและสมควรที่จำเลยจะเลิกสัญญาจ้างโจทก์ได้ ไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
โจทก์ไม่ได้ไปทำงานเนื่องจากลาป่วยและลากิจ แต่โจทก์กลับทำบันทึกรายงานการตรวจงาน โรงอาหาร ร้านค้า พร้อมกับแสดงข้อสังเกต แสดงว่าโจทก์รายงานเท็จ เมื่อได้ความว่ามีการกระทำเช่นนั้นในงานหลักซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของโจทก์ ย่อมถือได้ว่า โจทก์มีการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต ทำให้จำเลยนายจ้างมีสิทธิที่จะให้โจทก์ลูกจ้างออกจากงานได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 583

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2124/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างเนื่องจากปรับโครงสร้างองค์กรโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ ไม่ถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
จำเลยเลิกจ้างโจทก์สืบเนื่องมาจากจำเลยปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานทั้งหมด ต้องลดอัตรากำลังลูกจ้างลง ทำให้ต้องยุบหน่วยงานและลดขนาดหน่วยงานบางหน่วย มีการปรับลดหน่วยงานทั้งบริษัทจากระดับแผนกหรือฝ่ายลงเหลือเพียงระดับงาน รวมทั้งฝ่ายจัดซื้อที่โจทก์เป็นผู้จัดการฝ่ายก็ถูกปรับลดลงเป็นงานจัดซื้อ ไม่มีตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายจัดซื้ออีกต่อไป การดำเนินการทั้งหมดจำเลยไม่ได้เลือกปฏิบัติเลิกจ้างเฉพาะโจทก์รายเดียว ดังนี้ย่อมถือได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมีเหตุอันสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9749/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจากความผิดที่ไม่ร้ายแรง ศาลยืนค่าเสียหายที่เหมาะสม
โจทก์เป็นผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและสถาบันของจำเลย การที่โจทก์นำผู้ใต้บังคับบัญชาไปที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว เพื่อพบลูกค้าของจำเลยจึงเป็นการออกไปทำงานให้แก่จำเลยตามหน้าที่ระหว่างโจทก์ออกไปพบลูกค้าที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว กองทุนสำรองเลี้ยงชีพไทยพาณิชย์ลูกค้าจำเลยโทรศัพท์มาขอยกเลิกคำสั่งซื้อหุ้น แต่โจทก์ไม่สามารถกระทำการยกเลิกให้ได้ โจทก์จึงแจ้งรหัสผ่านและชื่อผู้เข้าใช้ของเครื่องคอมพิวเตอร์ของโจทก์แก่ ส. เพื่อเข้าระบบไปยกเลิกคำสั่งซื้อหุ้น เป็นการกระทำเพื่อปกป้องผลประโยชน์และความเสียหายของจำเลย ต่อมาเมื่อโจทก์ยกเลิกคำสั่งซื้อหุ้นไม่ทัน จึงแก้ไขโดยขายหลักทรัพย์ดังกล่าวแก่ จ. ลูกค้าอีกรายในราคาที่ซื้อมาโดยมิได้ปฎิบัติตามระเบียบว่าด้วยวิธีการโอนรายการซื้อขายหลักทรัพย์ผิดพลาดเข้าบัญชีของบริษัท ซึ่งโจทก์ได้รับการอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแล้ว การกระทำของโจทก์จึงยังไม่ถึงขั้นเป็นความผิดร้ายแรง กรณีไม่มีเหตุเพียงพอที่จำเลยจะลงโทษโจทก์ถึงขั้นเลิกจ้าง จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7945/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนย้ายลูกจ้าง, สิทธิในการเกษียณอายุ, และค่าชดเชย: ข้อบังคับของนายจ้างใหม่มีผลผูกพัน
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 13 ใช้สำหรับกรณีมีการเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้าง ซึ่งมีผลให้นายจ้างใหม่ต้องรับสิทธิและหน้าที่อันเกี่ยวกับลูกจ้างที่มีอยู่กับนายจ้างเดิมมาด้วยทุกประการ แต่หากเป็นการโอนสิทธิความเป็นนายจ้างให้แก่นายจ้างใหม่นั้นกรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 577 วรรคหนึ่ง ซึ่งนายจ้างเดิมและนายจ้างใหม่จะทำได้เมื่อลูกจ้างยินยอมพร้อมใจด้วย และเมื่อลูกจ้างยินยอมพร้อมใจในการโอนสิทธิดังกล่าวแล้วลูกจ้างนั้นต้องปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างใหม่ด้วยเช่นกัน หากนายจ้างโอนลูกจ้างไปยังนายจ้างใหม่ โดยลูกจ้างไม่ยินยอมก็ต้องถือว่าเป็นการเลิกจ้าง
ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 10 วรรคสาม มีผลใช้บังคับระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างในแต่ละสถานประกอบกิจการเท่านั้น ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 จึงมีผลใช้บังคับระหว่างจำเลยที่ 1 กับลูกจ้างของจำเลยที่ 1 การโอนย้ายโจทก์จากการทำงานกับจำเลยที่ 1 ไปทำงานกับจำเลยที่ 2 เป็นการปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 577 วรรคหนึ่ง โดยโจทก์ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านและทำงานกับจำเลยที่ 2 เป็นเวลาถึง 2 ปี 9 เดือน ถือว่าโจทก์ยินยอมพร้อมใจด้วยโดยปริยาย โจทก์ต้องยอมรับและปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างใหม่คือจำเลยที่ 2 ด้วย แต่จำเลยที่ 2 กับโจทก์ก็มิได้มีข้อตกลงเรื่องกำหนดเกษียณอายุไว้เป็นประการอื่น โจทก์จึงตกอยู่ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 2 ที่กำหนดเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ โดยไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 ที่กำหนดเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 65 ปี บริบูรณ์
จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์เมื่อครบกำหนดเกษียณอายุ ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 2 ที่ปฏิบัติกันทั่วไป มิใช่การเลิกจ้างโดยกลั่นแกล้ง แต่เป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุอันสมควรและเพียงพอ มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1839/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างฐานเล่นการพนันในบริษัท ถือเป็นการกระทำผิดวินัยร้ายแรง ชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์กับเพื่อนพนักงานรวม 7 คน ร่วมกันเล่นการพนันในบริเวณบริษัทจำเลยผู้เป็นนายจ้าง เป็นการกระทำฝ่าฝืนข้อบังคับการทำงานของจำเลยที่กำหนดว่าพนักงานต้องประพฤติตนอยู่ในศีลธรรมอันดี ไม่ประพฤติตนไปในทางนำความเสื่อมเสียมาสู่ตนและหมู่คณะ ต้องไม่กระทำการผิดกฎหมายที่มีโทษทางอาญาโดยเจตนาถึงแม้ว่าจะไม่ถูกดำเนินคดีก็ตาม ต้องไม่เล่นการพนันขันต่อทุกชนิด การฝ่าฝืนมีโทษทางวินัยโดยการไล่ออก การเล่นการพนันนอกจากเป็นการกระทำผิดกฎหมายอาญาแล้ว ยังเป็นบ่อเกิดอาชญากรรม เป็นชนวนให้เกิดการวิวาทบาดหมางในหมู่ลูกจ้างด้วยกัน ทำลายความสามัคคีของหมู่คณะ ทั้งยังทำให้ผลงานของลูกจ้างลดน้อยลง และอาจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายทางชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็นการกระทำผิดครั้งแรกและโจทก์สำนึกผิดหรือไม่ก็ตาม การกระทำของโจทก์มิใช่เป็นเพียงการกระทำผิดวินัยที่ทำให้เสียหายด้านชื่อเสียงต่อจำเลยเพียงอย่างเดียวอันจะลงโทษด้วยการตักเตือนเท่านั้น แต่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับการทำงานของจำเลยกรณีร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) เป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15918/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างที่ไม่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน การละทิ้งหน้าที่ และสิทธิในการได้รับค่าชดเชย
โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างของจำเลย แต่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานอัลมอนด์ระหว่างวันที่ 10 ถึงวันที่ 11 เมษายน 2550 จำเลยประกาศให้เป็นวันหยุดพักผ่อนประจำปีและระหว่างวันที่ 12 ถึงวันที่ 16 เมษายน 2550 จำเลยประกาศให้เป็นวันหยุดตามประเพณีเฉพาะส่วนลูกจ้างที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯ ดังนั้น ช่วงระยะเวลาดังกล่าวโจทก์ทั้งสามมีสิทธิหยุดงาน ส่วนวันที่ 9 เมษายน 2550 โจทก์ทั้งสามมาทำงาน แต่ก่อนบันทึกบัตรเข้าทำงาน ผู้จัดการโรงงานถามโจทก์ทั้งสามว่าจะรับข้อเสนอเรื่องเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างของจำเลยหรือไม่ ถ้ายอมรับข้อเสนอต้องไปลงชื่อเข้าทำงานในแบบฟอร์มที่หัวหน้า มิฉะนั้นให้ออกไปนอกโรงงาน โจทก์ทั้งสามไม่ยอมรับข้อเสนอจึงออกไปอยู่นอกโรงงาน การที่โจทก์ทั้งสามไม่ได้ทำงานในวันนี้ย่อมไม่ใช่ความผิดของโจทก์ทั้งสามดังนั้น ช่วงระหว่างวันที่ 9 ถึงวันที่ 16 เมษายน 2550 ถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสามละทิ้งหน้าที่ สำหรับระหว่างวันที่ 17 เมษายน 2550 ถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2550 ซึ่งโจทก์ทั้งสามหยุดงานด้วยนั้น ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยเปิดทำงานตามปกติสำหรับลูกจ้างที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯ ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2550 แต่โจทก์ทั้งสามไม่เข้าทำงานกลับไปร่วมชุมนุมกับสมาชิกสหภาพแรงงานฯ ที่หน้าโรงงาน โดยโจทก์ทั้งสามไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องด้วยเลย ย่อมถือได้ว่า โจทก์ทั้งสามละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร การที่สหภาพแรงงานฯ ระบุชื่อโจทก์ทั้งสามในบัญชีรายชื่อสมาชิกสหภาพแรงงานฯ กลับเข้าทำงานในวันที่ 14 พฤษภาคม 2550 ตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่ให้จำเลยรับลูกจ้างที่ปิดงานกลับเข้าทำงาน ซึ่งหมายถึงเฉพาะลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯ เท่านั้น อันเป็นคู่กรณีที่เกิดข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้กับจำเลย ย่อมไม่ทำให้โจทก์ทั้งสามที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯ ได้สิทธิตามคำสั่งดังกล่าวไปด้วย และไม่มีผลลบล้างให้โจทก์ทั้งสามไม่มีความผิดละทิ้งหน้าที่ในวันที่ 17 เมษายน 2550 ถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2550 โดยไม่มีเหตุอันสมควรแต่อย่างใด
เมื่อโจทก์ทั้งสามละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (5) ไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรา 17 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 583 และถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามโดยมีเหตุอันสมควร จึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสาม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14420-14423/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนย้ายลูกจ้างไปบริษัทอื่นถือเป็นการเปลี่ยนนายจ้าง ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง หากไม่ยินยอมถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
กรณีจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 หรือไม่ จะต้องพิจารณาถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างเป็นสำคัญ ว่ามีเหตุอันจำเป็นหรือสมควรเพียงพอที่จะเลิกจ้างหรือไม่ เมื่อบริษัท น. และบริษัท ป. เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลย การที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างสั่งโอนย้ายโจทก์ทั้งสี่จากบริษัทจำเลยไปทำงานที่บริษัท น. และบริษัท ป. จึงเป็นการเปลี่ยนตัวนายจ้างไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง จึงต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสี่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 577 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ทั้งสี่ไม่ยินยอมไปทำงานที่บริษัท น. และบริษัท ป. จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่โดยโจทก์ทั้งสี่ไม่มีความผิด เป็นการเลิกจ้างที่ไม่มีเหตุสมควร ถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49
of 154