คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 49

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,535 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7313/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นกรณีร้ายแรง และการแข่งขันทางธุรกิจ
ท. มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการเขตภาคเหนือของบริษัท ฮ. มีหน้าที่บริหารงานของบริษัท ฮ. ให้สามารถผลิตสินค้าให้แก่ลูกค้าโดยมีประสิทธิภาพ รับผิดชอบโรงงานของบริษัท ฮ. ถึง 4 แห่ง แต่กลับให้ บริษัท ช. ซึ่งประกอบกิจการอย่างเดียวกันกับบริษัท ฮ. จัดตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ในบริเวณโรงงานของบริษัท ฮ. โดย อ. ภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสของ ท. ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัท ช. พฤติการณ์ของ ท. จึงเป็นปรปักษ์ต่อทางการค้าและเป็นการดำเนินธุรกิจแข่งขันกับบริษัท ฮ. ซึ่งเป็นนายจ้าง จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมอันเป็นกรณีที่ร้ายแรง บริษัท ฮ. จึงเลิกจ้าง ท. ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 (4) ไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 และมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 49

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7096/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากผลงานไม่เป็นไปตามมาตรฐาน โดยไม่ต้องตักเตือนก่อน หากเป็นกรณีความสามารถในการปฏิบัติงาน
ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ระบุให้สิทธินายจ้างที่จะเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุขาดสมรรถภาพไว้ว่า "ในกรณีที่พนักงานไม่สามารถจะปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานของบริษัทโดยที่บริษัทได้ให้การอบรมหรือฝึกสอนแล้วก็ตาม หรือจากการขาดงานบ่อย ๆ หรือจากการขาดความรับผิดชอบ ไม่สนใจงาน หรือได้รับการประเมินต่ำจากผู้บังคับบัญชาหลายครั้ง และบริษัทได้ตักเตือนเป็นหนังสือหรือลงโทษอย่างอื่นมาแล้ว" สิทธิของนายจ้างที่จะเลิกจ้างดังกล่าวแยกได้เป็น 2 กรณี กล่าวคือ กรณีลูกจ้างไม่สามารถปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานของนายจ้างกรณีหนึ่ง และกรณีที่ลูกจ้างขาดงานบ่อย ๆ หรือขาดความรับผิดชอบ ไม่สนใจงาน หรือได้รับการประเมินต่ำจากผู้บังคับบัญชา โดยกรณีแรกนายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างได้ก็โดยนายจ้างให้การอบรมหรือฝึกสอนแล้วลูกจ้างก็ยังไม่สามารถปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานของนายจ้างได้ ซึ่งเป็นกรณีความสามารถของลูกจ้างที่ไม่อาจปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานของนายจ้างได้ ส่วนในกรณีหลังซึ่งเป็นกรณีที่ลูกจ้างขาดงานบ่อย ๆ หรือขาดความรับผิดชอบ ไม่สนใจงาน หรือได้รับการประเมินต่ำจากผู้บังคับบัญชาหลายครั้ง ซึ่งเห็นได้ว่า เป็นกรณีเกี่ยวกับความประพฤติของลูกจ้างซึ่งสามารถปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นได้ ในกรณีหลังนี้นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างได้ก็ต่อเมื่อนายจ้างเคยตักเตือนเป็นหนังสือหรือเคยลงโทษลูกจ้างมาแล้ว แต่ลูกจ้างไม่ปรับปรุงตัวให้ดีขึ้นจนเป็นที่พอใจของผู้บังคับบัญชา ดังนั้น ข้อที่ว่านายจ้างจะต้องตักเตือนเป็นหนังสือหรือลงโทษมาแล้วจึงหาเป็นบทบังคับไปถึงกรณีแรกด้วยไม่ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จากการประเมินผลงานของโจทก์หลายครั้ง ผลงานของโจทก์ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำและยังไม่ได้มาตรฐานของจำเลยอันเป็นกรณีโจทก์ไม่สามารถปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานได้ จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่จำต้องตักเตือนเป็นหนังสือหรือลงโทษอย่างอื่นมาก่อน การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์แม้จะไม่ได้ตักเตือนเป็นหนังสือหรือลงโทษโจทก์มาก่อน จึงชอบด้วยข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวข้างต้นแล้ว ทั้งเป็นกรณีที่มีเหตุสมควรเพียงพอที่จะเลิกจ้างได้ จึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5509-5510/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม: ศาลพิจารณาเหตุผลความจำเป็นและผลกระทบต่อลูกจ้างสูงอายุ
จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังพยานหลักฐานเพียงว่า จำเลยจ่ายเงินเดือนหรือโบนัสให้แก่ลูกจ้างในปีที่ผ่านมา โดยมิได้รับฟังข้อเท็จจริงตามงบการเงินที่แสดงถึงฐานะแห่งกิจการของจำเลยอย่างแท้จริงตามที่ผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นเชิงลบอย่างร้ายแรงต่อสถานะของกิจการของจำเลยว่าที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับความสามารถในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องของกิจการซึ่งถือเป็นความไม่แน่นอนที่สำคัญ หากไม่สามารถดำเนินกิจการได้อย่างต่อเนื่องแล้ว จำเลยอาจจำเป็นต้องปรับปรุงมูลค่าสินทรัพย์ใหม่ จัดประเภทสินทรัพย์และหนี้สินใหม่ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงไป แต่ศาลแรงงานกลางกลับให้น้ำหนักพยานหลักฐานประกอบ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและไม่เป็นธรรมต่อนายจ้างที่ประสบภาวะขาดทุนเช่นจำเลยนั้น เห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวประสงค์ที่จะให้ศาลฎีการับฟังว่าจำเลยประสบภาวะขาดทุนจนประกอบกิจการต่อไปไม่ได้นั่นเอง อันเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง จึงเป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริงต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
การวินิจฉัยว่ากรณีใดเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่นั้น ศาลชอบที่จะพิจารณาถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้างเป็นสำคัญว่ามีเหตุอันจำเป็นหรือสมควรเพียงพอที่จะเลิกจ้างหรือไม่ เมื่อศาลแรงงานกลางนำข้อเท็จจริงที่ฟังมาเป็นหลักในการวินิจฉัยและฟังว่า จำเลยไม่ได้ประสบภาวะขาดทุนจนประกอบกิจการต่อไปไม่ได้ เพราะยังได้จ่ายเงินเพิ่มหรือโบนัสให้ลูกจ้างในปีที่ผ่านมาประกอบกับจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองและลูกจ้างอื่นอีก 5 คน จากลูกจ้างทั้งหมดประมาณ 240 คน โดยที่โจทก์ทั้งสองทำงานมานานและอายุมากแล้วว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม แม้จำเลยจะอ้างว่าจำเลยได้ใช้หลักเกณฑ์ผลการประเมินการปฏิบัติงานในสิ้นปี 2546 ซึ่งประเมินลูกจ้างทุกคนประจำปีไว้ก่อนการเลิกจ้างและถือคะแนนการประเมินเป็นเกณฑ์การเลิกจ้าง โดยไม่ปรากฏว่ามีการกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสองแต่อย่างใด แต่หลักเกณฑ์การเลิกจ้างดังกล่าวจำเลยก็มิได้ประกาศแจ้งให้ลูกจ้างทราบว่าจะใช้หลักเกณฑ์ผลการประเมินการปฏิบัติงานปี 2546 มาเป็นเกณฑ์การเลิกจ้าง คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางจึงเป็นการวินิจฉัยถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างว่า กรณีเช่นนี้เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 49 หาใช่เป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังที่จำเลยอุทธรณ์มาไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5099/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างที่ขัดต่อผลประโยชน์ของบริษัท มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย
แม้ก่อนทำสัญญาจ้าง ฝ่ายจำเลยทั้งสองจะทำสัญญาที่มีเงื่อนไขว่า ห้ามโจทก์ไปทำงานกับผู้อื่น แต่เมื่อโจทก์คัดค้านจึงต้องทำสัญญาจ้างดังกล่าวก็ตาม แต่ในสัญญาจ้างก็มีข้อความระบุเงื่อนไขของการจ้างว่า โจทก์จะต้องไม่ใช้ข้อมูลหรือเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับของจำเลยที่ 1 ซึ่งได้มาจากการเป็นพนักงานแก่บุคคลอื่นโดยเด็ดขาด หรือกระทำการที่ขัดต่อผลประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ข้อความดังกล่าวมิใช่ข้อสัญญาที่โจทก์ไม่สามารถระมัดระวังมิให้โจทก์ปฏิบัติผิดสัญญาได้ ทั้งมิใช่ข้อตกลงที่มีผลทำให้โจทก์ต้องรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติตามที่โจทก์กล่าวอ้างในอุทธรณ์แต่อย่างใดจำเลยที่ 1 จ้างโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งที่ปรึกษาฝ่ายบริหาร เนื่องจากโจทก์เคยทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการมาก่อน แม้ในสัญญาจ้างจะไม่ระบุข้อความห้ามให้โจทก์ไปทำงานกับผู้อื่น แต่เมื่อมีข้อความห้ามไม่ให้โจทก์กระทำการที่ขัดต่อผลประโยชน์ของบริษัท การที่โจทก์ไปเป็นลูกจ้างผู้อื่นในตำแหน่งผู้อำนวยการด้านการศึกษาในโรงเรียนที่ประกอบกิจการประเภทเดียวกันกับจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นการขัดต่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ทั้งเป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยทั้งสองจึงเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ข้ออ้างที่จำเลยทั้งสองอ้างเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์เป็นข้ออ้างที่มีเหตุสมควร จึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4812/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม นายจ้างต้องพิสูจน์เหตุผลความจำเป็นทางธุรกิจ และไม่มีตำแหน่งงานที่เหมาะสมกับทักษะลูกจ้าง
จำเลยทั้งสามทำสัญญาจ้างโจทก์ให้ทำงานตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2545 ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2548 ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายเอกสาร ต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม 2546 จำเลยทั้งสามมีหนังสือเลิกสัญญาจ้างแก่โจทก์ให้มีผลเป็นการเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2547 เนื่องจากจำเลยทั้งสามมีความจำเป็นต้องลดรายจ่ายหรือตัดทอนรายจ่ายลง โดยอ้างว่าการเลิกจ้างเป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาจ้าง ซึ่งตามข้อตกลงในสัญญาจ้างดังกล่าว คือ สัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 หรือ ล.7 ที่ระบุว่า "การสิ้นสุดสัญญาจ้างอาจจะเกิดขึ้นได้ก่อนวันสิ้นสุดสัญญาตามข้อตกลงเนื่องจากเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งหรือหลายเหตุการณ์ดังต่อไปนี้ (ก) การตัดทอนรายจ่าย - การเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากขาดตำแหน่งที่เหมาะสมแก่การใช้ทักษะของลูกจ้าง" ดังนั้น การเลิกจ้างโจทก์ตามข้อตกลงดังกล่าวจึงต้องปรากฏข้อเท็จจริงด้วยว่าจำเลยทั้งสามไม่มีตำแหน่งที่เหมาะสมแก่การใช้ทักษะในการทำงานของโจทก์ อีกทั้งจะต้องปรากฏว่ากรณีการเลิกจ้างดังกล่าวมีเหตุแห่งการเลิกจ้างและเป็นเหตุอันสมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างด้วย ซึ่งศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสามประสบปัญหาด้านการเงินจึงต้องลดค่าใช้จ่ายและไม่สามารถหาตำแหน่งที่เหมาะสมกับค่าจ้างให้โจทก์ต่อไปได้ การที่จำเลยทั้งสามเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่กรณีที่ขาดตำแหน่งที่เหมาะสมกับทักษะการทำงานของโจทก์ เป็นแต่เพียงขาดตำแหน่งที่เหมาะสมกับค่าจ้างของโจทก์ และการเลิกจ้างโจทก์เพราะจำเลยทั้งสามประสบปัญหาด้านการเงินนั้น ก็ยังไม่ปรากฏว่าประสบปัญหาเพียงใด ถึงขนาดมีความจำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้างหรือไม่ และตามหนังสือเลิกจ้างให้เหตุผลในการเลิกจ้างโจทก์ คือ ตามแผนการตัดทอนค่าใช้จ่าย ดังนั้น การจะพิจารณาว่าที่จำเลยทั้งสามเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ จึงต้องให้ได้ข้อเท็จริงว่า จำเลยทั้งสามประสบปัญหาด้านการเงินเพียงใด มีความจำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้างหรือไม่ มีแผนการตัดทอนค่าใช้จ่ายอย่างไร ได้ดำเนินการตามแผนการดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร และจำเลยทั้งสามขาดตำแหน่งที่เหมาะสมแก่ทักษะการทำงานของโจทก์หรือไม่ อย่างไร อันเป็นข้อเท็จจริงที่จะใช้วินิจฉัยข้อกฎหมายว่า การเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ จึงให้ย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าว แล้วดำเนินการต่อไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคสองหรือวรรคสาม แล้วแต่กรณี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4812/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม: จำเป็นต้องพิสูจน์เหตุผลทางเศรษฐกิจ ความจำเป็น และตำแหน่งงานที่เหมาะสม
ข้อตกลงในสัญญาจ้างระบุเงื่อนไขของการสิ้นสุดสัญญาจ้างที่อาจจะเกิดขึ้นก่อนวันสิ้นสุดสัญญาตามข้อตกลงว่า เนื่องจากเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งหรือหลายเหตุการณ์ดังต่อไปนี้ (ก) การตัดทอนรายจ่าย-การเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากขาดตำแหน่งที่เหมาะสมแก่การใช้ทักษะของลูกจ้าง การเลิกจ้างโจทก์ตามข้อตกลงในสัญญาดังกล่าวจึงต้องปรากฏข้อเท็จจริงว่าการเลิกจ้างนั้นมีเหตุแห่งการเลิกจ้างและเป็นเหตุอันสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์และจำเลยไม่มีตำแหน่งที่เหมาะสมแก่การใช้ทักษะในการทำงานของโจทก์ด้วย เมื่อจำเลยอ้างเหตุในการเลิกจ้างโจทก์ว่าประสบปัญหาด้านการเงินจึงต้องลดค่าใช้จ่ายและไม่สามารถหาตำแหน่งที่เหมาะสมกับค่าจ้างให้โจทก์ต่อไปได้ ดังนั้น การจะพิจารณาว่าที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ จึงต้องให้ได้ข้อเท็จจริงว่าจำเลยประสบปัญหาด้านการเงินเพียงใด มีความจำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้างหรือไม่ มีแผนการตัดทอนค่าใช้จ่ายอย่างไร ได้ดำเนินการตามแผนการดังกล่าวหรือไม่อย่างไร และจำเลยขาดตำแหน่งที่เหมาะสมแก่ทักษะการทำงานของโจทก์หรือไม่อีกด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4105-4108/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การย้ายงานโดยชอบธรรมและการละทิ้งหน้าที่ของลูกจ้าง: สิทธิของนายจ้างในการเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
การที่จำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์ทั้งสี่ที่ทำงานอยู่ที่หน่วยงานของจำเลยในจังหวัดเชียงใหม่ไปทำงานที่หน่วยงานของจำเลยในจังหวัดระยอง จังหวัดอ่างทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดสมุทรปราการกับจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นการย้ายโดยจำเลยมีสิทธิกระทำได้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย แม้การย้ายสถานที่ทำงานจะมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันในครอบครัวของผู้ถูกย้ายก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ตำแหน่งใหม่ที่จำเลยสั่งย้ายโจทก์ทั้งสี่ไปทำงานและค่าจ้างที่ได้รับก็ไม่ต่ำกว่าตำแหน่งเดิม เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยมีการกระทำอื่นที่เป็นการกลั่นแกล้งย้ายโจทก์ทั้งสี่ คำสั่งย้ายของจำเลยจึงชอบด้วยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสี่จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติงานในหน้าที่ ณ หน่วยงานตามคำสั่งย้าย เมื่อโจทก์ทั้งสี่ไม่ไปปฏิบัติงานในหน้าที่ ณ หน่วยงานตามคำสั่งย้ายจึงเป็นการละทิ้งหน้าที่ในตำแหน่งใหม่โดยไม่มีเหตุอันสมควร แม้โจทก์ทั้งสี่จะยังคงปฏิบัติงานตามหน้าที่เดิมที่จังหวัดเชียงใหม่ก็เป็นการละทิ้งหน้าที่ จำเลยให้โจทก์ทั้งสี่ไปปฏิบัติงานในหน้าที่ใหม่ในวันที่ 18 เมษายน 2548 แต่โจทก์ทั้งสี่ไม่ไปจนถึงวันที่ 20 เมษายน 2548 เป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกัน จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (5)
โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกจ้างมีหน้าที่และความรับผิดชอบตามสัญญาจ้างแรงงานและตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งย้ายดังกล่าว เมื่อโจทก์ทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามโดยไม่ไปทำงานในหน้าที่ใหม่ ณ หน่วยงานตามคำสั่งย้าย จึงเป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสี่ จำเลยเลิกจ้างเพราะโจทก์ทั้งสี่ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำการติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2451/2550

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 196/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม: ศาลพิจารณาเหตุผลการเลิกจ้างและความถูกต้องตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและเป็นการเลิกจ้างโจทก์ที่ไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้น เมื่อศาลแรงงานกลางเห็นว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (5) แล้ววินิจฉัยต่อมาว่าจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ จึงเป็นกรณีที่ศาลแรงงานกลางเห็นว่าโจทก์กระทำความผิดดังกล่าวซึ่งนายจ้างมีเหตุอันสมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้างได้โดยไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จึงเป็นการพิจารณาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ด้วยแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6075/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้าง, ค่าชดเชย, ข้อตกลงหลังเกษียณ, และการผิดสัญญาหลังพ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง
จำเลยทั้งสามติดต่อและตกลงรับโจทก์เข้าทำงานกับจำเลยที่ 1 เพราะเห็นว่าโจทก์เป็นผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ สามารถทำหน้าที่บริหารดูแลงานทรัพย์สินทางปัญญาอันเป็นสาระสำคัญของสัญญาจ้างงาน การเป็นเนติบัณฑิตมลรัฐแคลิฟอร์เนีย หาใช่สาระสำคัญของสัญญาจ้างงานไม่ เพียงแต่ทำให้โจทก์ดูมีคุณสมบัติเด่นเป็นพิเศษ มีความน่าเชื่อถือและน่าไว้วางใจในการดูแลและบริหารงานมากยิ่งขึ้นเท่านั้น สัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นโมฆียะกรรม ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ในทำนองว่าการปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานของโจทก์ต้องอาศัยคุณสมบัติทางวิชาชีพที่น่าเชื่อถือ คุณสมบัติทางวิชาชีพจึงเป็นสาระสำคัญของสัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ถือเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อให้ศาลฎีกาฟังว่าจำเลยที่ 1 รับโจทก์เข้ามาทำงานก็เพราะเห็นว่าโจทก์เป็นเนติบัณฑิตมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ไม่ใช่เพราะความรู้ความสามารถอื่น ๆ เพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายว่า การเป็นเนติบัณฑิต มลรัฐแคลิฟอร์เนียหรือไม่ เป็นสาระสำคัญแห่งสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 อันจะทำให้สัญญาจ้างเป็นโมฆียะกรรมหรือไม่ จึงเป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
ตามหนังสือเลิกจ้างได้ระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ถึง 12 ข้อ ซึ่งพอที่จะทำให้โจทก์เข้าใจได้แล้ว โดยเฉพาะในข้อ 1 ได้ระบุไว้ว่า โจทก์ฝ่าฝืนกฎและมาตรฐานการทำงานของติลลิกี แอนด์ กิบบินส์ พ.ศ.2522 ซึ่งโจทก์ได้อ่าน ยอมรับและตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อ 1 ข้อ 6 ข้อ 7 ข้อ 13 ข้อ 15 และข้อ 16 โดยในข้อ 7 ของกฎและมาตรฐานความประพฤติ ระบุไว้ว่าห้ามมิให้พนักงานจัดเตรียมหรือยื่นแบบการให้ถ้อยคำ คำขอหรือเอกสารอื่น ๆ อันเป็นเท็จหรือไม่ถูกต้องแก่สำนักงาน ซึ่งพอเข้าใจได้ว่าเหตุแห่งการเลิกจ้างโจทก์ประการหนึ่งมาจากการที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า โจทก์ปกปิดหรือแจ้งคุณวุฒิเกี่ยวกับเนติบัณฑิตอันเป็นเท็จนั่นเอง หนังสือเลิกจ้างดังกล่าวจึงระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ตามมาตรา 17 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ แล้ว และการที่โจทก์สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกวิชากฎหมายจากมหาวิทยาลัยโลโยลา จำเลยที่ 2 ที่ 3 รู้จักโจทก์มาก่อน จำเลยที่ 3 เคยชักชวนโจทก์แต่แรกแล้วให้มาร่วมทำงานกับจำเลยที่ 1 ดังนั้น การที่โจทก์เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าแผนกทรัพย์สินทางปัญญา โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่เคยขอดูใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจากโจทก์เลย ดังนี้ การที่โจทก์รับรองประวัติข้อมูลการศึกษาและประวัติการทำงานของโจทก์ว่า เป็นเนติบัณฑิตมลรัฐแคลิฟอร์เนีย อันเป็นเท็จ แม้จะเป็นการผิดหรือฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับของจำเลยก็ตามก็ไม่ใช่เป็นกรณีร้ายแรงตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 (4) และเมื่อศาลแรงงานกลางได้ฟังข้อเท็จจริงแล้วว่า กรณีฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ชักชวนลูกความของจำเลยที่ 1 ไปใช้บริการของบริษัทเบเคอร์ แอนด์ แมคเคนซี่ ฟังไม่ได้ว่าโจทก์ชักชวนพนักงานหรือลูกความของจำเลยที่ 1 ไปทำงานหรือใช้บริการสำนักกฎหมายอื่น และฟังไม่ได้ว่าโจทก์นำเอารายชื่อที่อยู่ลูกความ แฟ้มจดหมายติดต่อกับลูกความ แฟ้มความเห็นทางกฎหมาย ตัวอย่างแบบฟอร์มที่ใช้ในบริษัท จำเลยที่ 1 รายงานทางการเงินของจำเลยที่ 1 ไป ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ไม่ได้กระทำผิด จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 118 (4)
โจทก์แจ้งคุณสมบัติด้านวิชาชีพอันเป็นเท็จต่อจำเลยที่ 1 ในใบสมัครงาน และในการทำงานโจทก์ให้ข้อมูลหรือรับรองข้อมูลเกี่ยวกับคุณวุฒิด้านวิชาชีพของโจทก์เป็นเท็จ การกระทำของโจทก์ทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย ความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจ จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์จึงมีเหตุอันสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 และถือได้ว่าโจทก์กระทำการอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยที่ 1 ชอบที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า แต่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ตามฟ้อง
ตามใบสมัครงานตอนท้ายมีข้อความสรุปไว้ว่า "นอกจากนี้ ข้าพเจ้ายินยอมที่จะไม่ทำงานเพื่อหรือทำประโยชน์ให้กับสำนักงานกฎหมายอื่นในกรุงเทพมหานครเป็นเวลา 2 ปี ในกรณีที่ข้าพเจ้าได้ออกจากการทำงานที่ ติลลิกี แอนด์ กิบบินส์ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม (ประโยคข้างต้นดังกล่าวมิให้นำมาใช้กับทนายซึ่งทำงานให้กับบริษัท)" โดยข้อความในวงเล็บของต้นฉบับที่เป็นภาษาอังกฤษระบุว่า "(The preceding sentence dose not apply to lawyers engaged with the firm.)" คำในวงเล็บคำว่า "lawyers" นั้น ย่อมหมายถึง ทนายความผู้ทำหน้าที่ว่าความหรือให้คำปรึกษาเป็นการเฉพาะเท่านั้น โจทก์เข้าทำงานตำแหน่งหัวหน้างานทรัพย์สินทางปัญญาและตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้อำนวยการฝ่ายงานทรัพย์สินทางปัญญาอันเป็นตำแหน่งที่สามารถล่วงรู้ความลับในทางการค้าและข้อมูลการค้าของจำเลยที่ 1 ได้ ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิและประโยชน์ของคู่กรณีในกิจการประกอบธุรกิจโดยชอบไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่เป็นโมฆะ เมื่อโจทก์ถูกจำเลยที่ 1 เลิกจ้างแล้ว โจทก์ไปทำงานกับบริษัทเบเคอร์ แอนด์ แมคเคนซี จำกัด อันเป็นสำนักงานกฎหมายในกรุงเทพมหานครจึงเป็นการผิดสัญญาข้อดังกล่าว
of 154