คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับศาล/ผู้พิพากษา
ไม่ระบุศาล - นางกรกันยา สุวรรณพานิช

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 9 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 39/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าชื่อบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดา ต้องพิจารณาถึงลักษณะบ่งเฉพาะ
พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 7 วรรคสอง (1) (เดิม) ที่มีข้อความว่า "ที่แสดงโดยลักษณะพิเศษ" นั้น เป็นคำขยายคำว่า "ชื่อในทางการค้า" เท่านั้น มิได้รวมไปถึงชื่อตัวและชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดาด้วย ประกอบกับเจตนารมณ์ของมาตรา 7 วรรคหนึ่ง มุ่งหมายจะคุ้มครองสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนในลักษณะต้องเป็นเครื่องหมายที่ใช้ประโยชน์ในการแยกแยะความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าเพื่อมิให้สาธารณชนเกิดความสับสนหรือหลงผิดในการเลือกซื้อสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้น ทั้งยังแสดงให้เห็นว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างจากสินค้าอื่นแล้ว ส่วนเหตุผลและเจตนารมณ์ของกฎหมายอื่นที่ถูกยกเลิกไปแล้ว และการใช้ถ้อยคำรวมถึงการจัดวางตำแหน่งของคำตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 เองต่างจากเดิมจึงไม่อาจอ้างการตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมายเดิมได้ ดังนั้น หากชื่อตัวและชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่นำมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้าเป็นชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดา และมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้านั้นทราบและเข้าใจได้ว่า สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่นแม้ไม่ได้แสดงโดยลักษณะพิเศษแล้ว ย่อมถือได้ว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น ดังนั้น เครื่องหมายการค้าคำว่า ซึ่งมีที่มาจากชื่อของ ค. นักออกแบบชาวอังกฤษผู้ก่อตั้งโจทก์ ถือเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์อันเป็นชื่อตัวและชื่อสกุลของบุคคลธรรมดา เมื่อพิจารณาองค์ประกอบโดยรวมแล้วไม่ปรากฏว่าเป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดาของประชาชนในประเทศไทย กับคำดังกล่าวมิได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าตามที่โจทก์ขอจดทะเบียนโดยตรงแล้ว จึงย่อมมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้าทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านี้แตกต่างไปจากสินค้าอื่นและมีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองโดยไม่จำต้องแสดงโดยลักษณะพิเศษอีกด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3765/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจสั่งเพิกถอนอนุสิทธิบัตรของคณะกรรมการสิทธิบัตรภายใต้ พ.ร.บ.ทรัพย์สินทางปัญญา และกระบวนการสอบสวนความใหม่
คดีนี้เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ โดยบุคคลผู้มีส่วนได้เสียขอให้ตรวจสอบว่าการประดิษฐ์ที่ได้รับอนุสิทธิบัตรมีลักษณะตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ทวิ หรือไม่ โดยหลังจากมีการยื่นคำขอให้ตรวจสอบตามมาตรา 65 ฉ วรรคหนึ่ง แล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการประดิษฐ์และทำรายงานการตรวจสอบเสนอต่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาตาม มาตรา 65 ฉ วรรคสอง เมื่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาพิจารณารายงานการตรวจสอบดังกล่าวแล้วเห็นว่าการประดิษฐ์ไม่มีลักษณะตามที่กำหนดในมาตรา 65 ทวิ จึงมีคำสั่งให้สอบสวนข้อเท็จจริง และแจ้งคำสั่งให้โจทก์ทราบ โดยโจทก์ยื่นคำแถลงแสดงเหตุผลของตนแล้วตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ วรรคสี่ ตอนต้น หลังจากสอบสวนข้อเท็จจริงเสร็จ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องพิจารณาว่าการประดิษฐ์นั้นมีลักษณะตามที่กำหนดใน พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ทวิ หรือไม่ ซึ่งอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาวินิจฉัยว่าการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5377 มีลักษณะทางเทคนิคแตกต่างไปจากงานที่ปรากฏอยู่แล้วเฉพาะข้อถือสิทธิข้อที่ 7 และกำหนดเงื่อนไขให้โจทก์แก้ไขข้อถือสิทธิใหม่โดยให้ระบุขอบเขตความคุ้มครองให้ชัดเจนเฉพาะข้อถือสิทธิที่แตกต่างดังกล่าวเท่านั้น คำวินิจฉัยดังกล่าวจึงพิจารณาประเด็นเกี่ยวกับความใหม่ของอนุสิทธิบัตรพร้อมแสดงเหตุผลไว้ครบถ้วนแล้ว แต่ที่อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญายังไม่ได้ทำรายงานการสอบสวนเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรเพื่อเพิกถอนอนุสิทธิบัตรก็เนื่องจากเห็นว่าหากโจทก์ยอมแก้ไขข้อถือสิทธิใหม่โดยระบุขอบเขตความคุ้มครองเฉพาะข้อถือสิทธิข้อที่ 7 แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเสนอให้คณะกรรมการสิทธิบัตรเพิกถอนสิทธิบัตร อย่างไรก็ตาม เมื่อโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้วอุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 72 โดยโจทก์ยังคงโต้แย้งว่าการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5377 เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่พร้อมเหตุผลสนับสนุนข้อโต้แย้งดังกล่าว สำนวนการพิจารณาตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ ในคดีนี้จึงเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิทธิบัตร ดังนี้ แม้อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ได้ทำรายงานการสอบสวนเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรเพื่อเพิกถอนอนุสิทธิบัตร แต่ย่อมถือได้ว่ามีการดำเนินการไปตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ วรรคสี่ แล้ว เมื่อคณะกรรมการสิทธิบัตรมีอำนาจในการพิจารณาสั่งเพิกถอนอนุสิทธิบัตรตามมาตรา 65 ฉ วรรคสี่ ตอนท้าย ทั้งยังมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับอนุสิทธิบัตรตามมาตรา 65 ฉ ตามที่มาตรา 70 (2) บัญญัติ คณะกรรมการสิทธิบัตรซึ่งขณะนั้นมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 เป็นกรรมการจึงมีอำนาจวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว และหากพิจารณาแล้วเห็นว่าการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5377 ของโจทก์ไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ คณะกรรมการสิทธิบัตรย่อมมีอำนาจสั่งเพิกถอนอนุสิทธิบัตรนั้นได้ โดยหลังจากอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญามีคำสั่งให้สอบสวนข้อเท็จจริงตามมาตรา 65 ฉ วรรคสี่ ก็มีการแจ้งคำสั่งให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงอนุสิทธิบัตรทราบโดยโจทก์ได้ยื่นคำแถลงแสดงเหตุผลของตนแล้ว และไม่ปรากฏว่าอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้เรียกให้บุคคลใดมาให้ถ้อยคำชี้แจง ให้ส่งเอกสารหรือสิ่งใดเพิ่มเติมอีก ทั้งคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็ได้พิจารณาประเด็นเกี่ยวกับความใหม่ของอนุสิทธิบัตรดังกล่าวพร้อมแสดงเหตุผลไว้ครบถ้วน การสอบสวนข้อเท็จจริงตามมาตรา 65 ฉ วรรคสี่ จึงเสร็จสิ้นแล้ว การที่โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาย่อมมิใช่เป็นการให้ถ้อยคำชี้แจง ส่งเอกสาร หรือสิ่งใดเพิ่มเติม เมื่อคดีมีการเริ่มดำเนินกระบวนการตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ มาตั้งแต่ต้นจนกระทั่งสอบสวนข้อเท็จจริงเสร็จ โดยอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาพิจารณาแสดงเหตุผลในประเด็นเกี่ยวกับความใหม่ของการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรดังกล่าวไว้ในคำวินิจฉัยแล้ว การพิจารณาต่อมาของคณะกรรมการสิทธิบัตรจึงมิใช่เป็นการก้าวล่วงอำนาจของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1771/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความระงับสิทธิเรียกร้อง: ผลกระทบต่อคดีในไทย & การขัดกันแห่งกฎหมาย
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้แล้วว่าโจทก์ทั้งห้าและจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือต่อศาลในประเทศญี่ปุ่น โดยเป็นมูลหนี้ที่เกิดจากเหตุเรือโดนกันเดียวกับคดีนี้ และโจทก์ทั้งห้าได้รับชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวไปแล้ว เพียงแต่ทั้งสองฝ่ายต่างอ้างถึงขอบเขตของการมีผลบังคับของสัญญาประนีประนอมยอมความนี้แตกต่างกัน จึงต้องวินิจฉัยในเรื่องผลแห่งสัญญาประนีประนอมยอมความก่อนว่า สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวคู่สัญญาตกลงให้หนี้อันเกิดจากเหตุเรือโดนกันระงับสิ้นไปหรือไม่เพียงใด โดยต้องตีความจากเจตนาของคู่สัญญาซึ่งทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเป็นสำคัญ คดีนี้คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างเป็นนิติบุคคลต่างสัญชาติกัน โจทก์ทั้งห้าเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น ส่วนจำเลยเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศปานามา ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวที่ประเทศญี่ปุ่น การวินิจฉัยตีความเจตนาในการทำสัญญาของโจทก์ทั้งห้ากับจำเลยที่พิพาทกันคดีนี้ว่าจะต้องนำบทบัญญัติใดมาใช้บังคับนั้นย่อมเป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง แม้การทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว คู่สัญญามิได้ระบุข้อความในสัญญาว่าให้ใช้กฎหมายใดบังคับแก่ผลแห่งสัญญา จึงไม่อาจทราบเจตนาโดยชัดแจ้งของคู่สัญญาได้ แต่หลังเกิดเหตุเรือโดนกันจำเลยยื่นคำร้องขอเริ่มต้นคดีตาม พ.ร.บ.การจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือ ที่ศาลแขวงโอกายามะ ประเทศญี่ปุ่น ศาลดังกล่าวมีคำสั่งอนุญาตให้เริ่มคดีโดยแต่งตั้งผู้บริหารจัดการกองทุนซึ่งเป็นผู้พิจารณาข้อเรียกร้องและจัดทำตารางส่วนแบ่งเงินกองทุนการจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือเสนอต่อศาล ต่อมาโจทก์ทั้งห้ายื่นข้อเรียกร้องต่อผู้บริหารจัดการกองทุน ภายหลังที่มีการพิจารณาโดยผู้บริหารจัดการกองทุนแล้ว ปรากฏว่าจำนวนเงินตามข้อเรียกร้องเป็นที่ยอมรับได้โดยเจ้าหนี้แต่ละราย จึงตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ประกอบกับฝ่ายโจทก์เองได้เข้าร่วมกระบวนการพิจารณาคดีดังกล่าวโดยความสมัครใจ อีกทั้งมีข้อความระบุในสัญญาประนีประนอมยอมความด้วยว่า การทำสัญญาให้มีผลทางกฎหมายเช่นเดียวกับการมีคำพิพากษา โดยมีการอ้างถึง พ.ร.บ.การจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือของประเทศญี่ปุ่นในเงื่อนไขของสัญญาด้วย ถือได้ว่าคู่สัญญามีเจตนาให้ใช้กฎหมายญี่ปุ่นบังคับแก่ผลแห่งสัญญาประนีประนอมยอมความนี้
ส่วนการที่โจทก์ทั้งห้าไม่ได้ขอสงวนสิทธิตามมาตรา 73 แห่ง พ.ร.บ.การจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือของประเทศญี่ปุ่นไว้ จะทำให้สิทธิ์เรียกร้องของโจทก์ทั้งห้าในคดีนี้ระงับสิ้นไปหรือไม่ และตามมาตรา 76 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้แต่เพียงว่า ให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากความรับผิดเฉพาะข้อเรียกร้องอื่นในคดีที่ยื่นฟ้องในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น จำเลยยังต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งห้าตามฟ้องคดีนี้ด้วยหรือไม่นั้น เมื่อโจทก์ทั้งห้าเรียกร้องให้กำหนดข้อสงวนไว้ในสัญญาว่า สัญญาประนีประนอมยอมความไม่มีผลกระทบต่อคดีที่ดำเนินการที่ประเทศไทย แต่ฝ่ายจำเลยปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าว จึงทำให้ไม่มีข้อสงวนเกี่ยวกับการฟ้องคดีนี้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ พฤติการณ์ย่อมแสดงให้เห็นว่าโจทก์ทั้งห้าทราบดีถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวรวมทั้งเข้าใจกระบวนการการขอสงวนสิทธิอันเป็นผลตามกฎหมายของมาตรา 73 และมาตรา 76 แห่ง พ.ร.บ.การจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือของประเทศญี่ปุ่นแล้ว และในที่สุดโจทก์ทั้งห้าได้ตกลงตามข้อความในสัญญาประนีประนอมยอมความด้วย ถือได้ว่าโจทก์ทั้งห้ากับจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเพื่อระงับข้อพิพาทที่มีระหว่างกันซึ่งรวมถึงข้อพิพาทที่มีการดำเนินคดีที่ศาลไทยด้วย การที่โจทก์ทั้งห้าตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวโดยไม่ได้ระบุข้อสงวนสิทธิในการดำเนินคดีที่ศาลไทยไว้ในสัญญา เท่ากับโจทก์ทั้งห้าตกลงยินยอมที่จะไม่ดำเนินคดีนอกเหนือจากกระบวนพิจารณาคดีการจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือที่ศาลในประเทศญี่ปุ่น และเมื่อโจทก์ทั้งห้าได้รับชำระเงินจากกองทุนตามจำนวนที่ได้รับจัดสรรแล้ว จำเลยย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดต่อโจทก์ทั้งห้า ทั้งนี้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 73 และมาตรา 76 แห่ง พ.ร.บ.การจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือของประเทศญี่ปุ่น ดังนั้น การทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่ประเทศญี่ปุ่น ย่อมมีผลทำให้สิทธิเรียกร้องในค่าเสียหายตามฟ้องของโจทก์ทั้งห้าระงับสิ้นไปทั้งหมด
แม้ประเทศไทยไม่ได้เป็นรัฐภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการจำกัดความรับผิดเพื่อสิทธิเรียกร้องทางทะเล ค.ศ. 1976 และคำพิพากษาของศาลประเทศญี่ปุ่นจะไม่มีผลบังคับใช้ในประเทศไทย แต่เนื่องจากคดีนี้ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยแล้วว่า ให้นำ พ.ร.บ.การจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือ มาใช้บังคับแก่คดีนี้ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง อีกทั้งหนี้หรือสิทธิเรียกร้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีมูลหนี้ที่เกิดจากเหตุเรือโดนกันเดียวกับคดีนี้เป็นอันระงับสิ้นไปแล้ว ตามมาตรา 73 และมาตรา 76 แห่ง พ.ร.บ.การจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือของประเทศญี่ปุ่น โดยที่บทบัญญัติดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแห่งประเทศไทย ศาลไทยย่อมนำหลักกฎหมายตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นพิพาทคดีนี้มาใช้บังคับได้ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 มาตรา 5 ดังนั้น การมิได้เป็นรัฐภาคีแห่งอนุสัญญาดังกล่าวจึงไม่กระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของคู่ความทั้งสองฝ่ายซึ่งมีนิติสัมพันธ์กันตามสัญญาประนีประนอมยอมความ และมีผลผูกพันคู่สัญญาทั้งในประเทศที่ทำสัญญาและประเทศอื่นรวมทั้งประเทศไทยด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1167/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีตามคำพิพากษาเรื่องเครื่องหมายการค้า: การขัดขืนคำบังคับและการจับกุมผู้มีอำนาจกระทำการ
เมื่อเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยในคำพิพากษาศาลฎีกาและคำสั่งชี้แจงของศาลฎีกาเกี่ยวกับข้อสงสัยในการบังคับคดีตามคำพิพากษาดังกล่าวข้างต้นได้วินิจฉัยไว้ชัดแจ้งแล้วว่า โจทก์มีสิทธิดีกว่าจำเลยทั้งสามในเครื่องหมายการค้ารูปเรือใบไวกิ้ง และเครื่องหมายการค้าคำว่า VIKING SHIP เรือใบไวกิ้ง และ ไวกิ้ง จำเลยทั้งสามจึงไม่มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าที่มีรูปเรือใบไวกิ้ง และเครื่องหมายการค้าที่มีคำว่า VIKING SHIP เรือใบไวกิ้ง และ ไวกิ้ง ส่วนเหตุที่ศาลไม่ได้พิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค199455 ด้วยนั้น เป็นเพียงเพราะโจทก์นำคดีในส่วนนี้มาฟ้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเท่านั้น ไม่ได้มีการวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสามมีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้ ที่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิพากษาในส่วนนี้ว่า ให้จำเลยทั้งสามยุติการใช้เครื่องหมายการค้ารูปเรือใบไวกิ้ง และเครื่องหมายการค้าคำว่า เรือใบไวกิ้ง กับสินค้าของจำเลยทั้งสาม จึงรวมไปถึงการให้จำเลยทั้งสามยุติการใช้เครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค199455 ด้วย อันถือได้ว่าเป็นหนี้ตามคำพิพากษาที่จำเลยทั้งสามในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องปฏิบัติตาม เมื่อจำเลยทั้งสามทราบคำบังคับดังกล่าวแล้ว และได้ความจากคำขอให้ศาลออกหมายจับจำเลยทั้งสามของโจทก์ประกอบคำแถลงของจำเลยทั้งสามในวันนัดพร้อมเพื่อสอบถามจำเลยทั้งสามว่า จำเลยทั้งสามยังคงใช้เครื่องหมายการค้าตามทะเบียนเลขที่ ค199455 อยู่ ถือได้ว่าจำเลยทั้งสามในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาจงใจขัดขืนไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ และไม่มีวิธีการบังคับอื่นใดที่โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะใช้บังคับได้ จึงเป็นการชอบที่ศาลจะมีคำสั่งจับกุม กรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล และจำเลยที่ 3 ได้ ตามคำขอของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5231/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้าขาดอายุความหนึ่งปี และการแสวงหากำไรจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์โดยตรงไม่เข้าข้อยกเว้น
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 32 วรรคสอง (2) ยังต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติดังกล่าวในวรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ทั้งสี่เพื่อประโยชน์ในธุรกิจของจำเลยที่ 1 คือ เพื่อใช้ในการออกแบบ เขียนแบบ และงานด้านเอกสาร เพื่อใช้ประโยชน์ด้านการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 แสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่โดยนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจของจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ทั้งสี่ อันเป็นการขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตามปกติของโจทก์ทั้งสี่ และเป็นการกระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ทั้งสี่ จึงไม่เข้าเงื่อนไขข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 32 อย่างไรก็ตาม โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 เป็นการนำไปใช้ในการทำงานเกี่ยวกับเอกสารทั่วไป โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 2 นำไปใช้ในการออกแบบ เขียนแบบผลิตภัณฑ์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 3 นำไปใช้ในการออกแบบซ่อมแซมเครื่องจักร และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 4 นำไปใช้ในการแปลภาษา โดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวเป็นเวอร์ชันที่ใช้สำหรับองค์กรบริษัท จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันทำซ้ำหรือดัดแปลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ทั้งสี่เพื่อประโยชน์ในการประกอบธุรกิจผลิตอาหารและขนมของจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้มีการนำไปใช้แสวงหากำไรจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวในเชิงพาณิชย์โดยตรง ดังนั้นจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมิได้ร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ทั้งสี่เพื่อการค้าตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 30 (1) เท่านั้น ซึ่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 66 บัญญัติแต่เพียงว่า "ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นความผิดอันยอมความได้" โดยไม่ได้กำหนดอายุความคดีอาญาไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติใน ป.อ. ภาค 1 หมวด 9 ว่าด้วยอายุความมาใช้บังคับกับความผิดคดีนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ทั้งสี่ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคหนึ่ง, 74 (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบมาตรา 30 (1) และ ป.อ. มาตรา 83 ซึ่งมีระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท กรณีจึงมีกำหนดอายุความหนึ่งปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 635/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอคืนของกลางในคดีทรัพย์สินทางปัญญา: เจ้าของกรรมสิทธิ์ต้องพิสูจน์ได้และค่าใช้จ่ายในการส่งหมายไม่ใช่ค่าธรรมเนียม
ที่ผู้ร้องฎีกาทำนองว่า พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์บรรยายไม่ชอบด้วยกฎหมาย และทรัพย์ของกลางไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดนั้น เห็นว่า คดีร้องขอคืนของกลางมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามคำร้องของผู้ร้องเพียงว่า ศาลจะสั่งคืนของกลางให้แก่ผู้ร้องซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของที่แท้จริงและมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดหรือไม่เท่านั้น แต่ประเด็นดังกล่าวข้างต้นที่ผู้ร้องฎีกามานั้นเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ต้องยกขึ้นต่อสู้ในคดีหลัก เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้ต่อสู้ไว้ ผู้ร้องจะยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาว่ากล่าวในชั้นร้องขอคืนของกลางไม่ได้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยฎีกาของผู้ร้องในประเด็นดังกล่าว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องข้อสุดท้ายว่า ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้ผู้ร้องวางเงินค่านำส่งหมายนัดไต่สวนและสำเนาคำร้องให้คู่ความทราบชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยผู้ร้องฎีกาทำนองว่า คดีร้องขอคืนของกลางเป็นส่วนหนึ่งของคดีอาญา จึงไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการส่งสำเนาคำร้องและหมายศาล เห็นว่า แม้คดีร้องขอคืนของกลางเป็นส่วนหนึ่งของคดีอาญา แต่ค่าใช้จ่ายที่ผู้ร้องวางเพื่อใช้ในการส่งสำเนาคำร้องและหมายนัดให้แก่คู่ความไม่ใช่ค่าธรรมเนียมที่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 252 บัญญัติไว้มิให้เรียก ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยในข้อนี้มานั้น จึงชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 327/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอคืนของกลาง: เจ้าของแท้จริงต้องพิสูจน์ได้ & ค่าธรรมเนียมการส่งหมายแจ้งไม่ใช่ค่าธรรมเนียมที่กฎหมายยกเว้น
คดีร้องขอคืนของกลางมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามคำร้องของผู้ร้องเพียงว่า ศาลจะสั่งคืนของกลางให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของแท้จริงและมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดหรือไม่เท่านั้น แต่ประเด็นที่ผู้ร้องฎีกาทำนองว่า พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์บรรยายไม่ชอบด้วยกฎหมาย และทรัพย์ของกลางไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดนั้น เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ต้องยกขึ้นต่อสู้ในคดีหลัก ผู้ร้องจะยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาว่ากล่าวในชั้นร้องขอคืนของกลางไม่ได้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยฎีกาของผู้ร้องในประเด็นดังกล่าว
แม้คดีร้องขอคืนของกลางเป็นส่วนหนึ่งของคดีอาญา แต่ค่าใช้จ่ายที่ผู้ร้องวางเพื่อใช้ในการส่งสำเนาคำร้องและหมายนัดให้แก่คู่ความไม่ใช่ค่าธรรมเนียมที่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 252 บัญญัติไว้มิให้เรียก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7007/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปลอมเครื่องหมายการค้าฮาลาลและจำหน่ายสินค้าปลอม การลงโทษตามกฎหมาย
โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 2.1 ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันผลิตเครื่องดื่มชื่อผลิตภัณฑ์ "ชารสเก๊กฮวยพร้อมดื่มตรา Manobu" แล้วบรรจุในขวดพลาสติกและมีฉลากปรากฏเครื่องหมายรับรองฮาลาลที่โจทก์เคยอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้ อันเป็นการร่วมกันปลอมเครื่องหมายรับรองฮาลาลของโจทก์ เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าผลิตภัณฑ์ของจำเลยทั้งสองดังกล่าวได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองฮาลาล จากโจทก์ และบรรยายฟ้องในข้อ 2.2 แต่เพียงว่า ภายหลังจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดดังกล่าว จำเลยทั้งสองร่วมกันจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าชื่อผลิตภัณฑ์ "ชารสเก๊กฮวยพร้อมดื่มตรา Manobu" ที่มีเครื่องหมายรับรองฮาลาลปลอมตามฟ้องข้อ 2.1 โดยโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องระบุให้ชัดเจนว่า เครื่องหมายรับรองที่จำเลยทั้งสองร่วมกันปลอม และสินค้าที่มีเครื่องหมายรับรองปลอมที่จำเลยทั้งสองร่วมกันจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายมีจำนวนเท่าใด กรณีจึงต้องฟังข้อเท็จจริงเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองว่า การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมเครื่องหมายรับรอง และจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายรับรองปลอมดังกล่าว เป็นการกระทำโดยมีจำนวนเครื่องหมายรับรองที่จำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมขึ้น กับจำนวนเครื่องหมายรับรองปลอมที่ปรากฏอยู่บนสินค้าที่จำเลยทั้งสองร่วมกันนำออกจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายเป็นจำนวนเดียวกัน ประกอบกับตามฟ้องของโจทก์ระบุว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมเครื่องหมายรับรองและนำออกจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายรับรองปลอมในช่วงเวลาเดียวกัน คือ ระหว่างวันที่ 9 ตุลาคม 2550 เวลากลางวัน จนถึงวันที่ 21 สิงหาคม 2557 เวลากลางวัน ต่อเนื่องกัน การกระทำของจำเลยทั้งสองที่ร่วมกันปลอมเครื่องหมายรับรองและร่วมกันนำสินค้าที่มีเครื่องหมายรับรองปลอมดังกล่าวออกจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายจึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกัน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 90 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5698/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลักษณะบ่งเฉพาะของเครื่องหมายการค้า: การพิจารณาความหมายและการสื่อความหมายของคำที่เลียนเสียงจากภาษาต่างประเทศ
การที่จะพิจารณาว่าคำที่เลียนเสียงมาจากคำภาษาต่างประเทศเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรงอันจะทำให้ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2) นั้น นอกจากจะต้องพิจารณาว่าคำภาษาต่างประเทศดังกล่าวมีคำแปลเป็นภาษาไทยว่าอย่างไรแล้ว ยังต้องคำนึงถึงการใช้ในประเทศไทยด้วยว่า ถูกนำมาใช้ในความหมายหรือในลักษณะใด และต้องพิจารณาต่อไปว่าคำดังกล่าวเกี่ยวข้องหรือมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าที่ขอจดทะเบียนโดยตรงจนถึงขนาดทำให้เมื่อสาธารณชนเห็นเครื่องหมายการค้านี้แล้วสามารถทราบถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นได้ในทันที หรืออาจใช้วิจารณญาณเพียงเล็กน้อยก็สามารถเข้าใจได้ในทันทีว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสื่อให้เห็นถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นได้ แต่หากเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นเพียงคำที่อาจสื่อให้สาธารณชนผู้ใช้สินค้าคิดหรือจินตนาการแล้วยังต้องใช้วิจารณญาณพอสมควรในการพิจารณาจึงจะเข้าใจว่าคำดังกล่าวสื่อให้ทราบถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้น อาจถือไม่ได้ว่าเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง จึงเป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ
เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นคำภาษาไทย ไม่มีความหมายตามพจนานุกรม คำดังกล่าวพ้องเสียงกับคำภาษาอังกฤษที่โจทก์ประดิษฐ์ขึ้นคำว่า "INTOUCH" ซึ่งเป็นคำผสมระหว่างคำว่า IN แปลว่า ใน ข้างใน และคำว่า TOUCH แปลว่า สัมผัส แตะต้อง ซึ่งสามารถแปลได้หลายความหมาย โดยไม่ปรากฏหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าเหตุใดนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจึงเลือกแปลความหมายของคำดังกล่าวเช่นนั้น ประกอบกับการให้ความหมายของคำว่า IN TOUCH ก็เป็นในลักษณะของการสื่อความหมาย ไม่ใช่ความหมายโดยตรง การนำคำว่า IN และคำว่า TOUCH มารวมกันจึงไม่อาจระบุได้แน่ชัดว่ามีความหมายอย่างไร และแม้ตามพจนานุกรมดังกล่าวจะให้ความหมายของคำว่า Be in touch แปลว่า ติดต่อ แต่การติดต่อนั้นมีได้หลายรูปแบบ ทั้งการพบปะ พูดคุย หรือการติดต่อทางลายลักษณ์อักษร สาธารณชนในประเทศไทยเมื่อเห็นเครื่องหมายการค้าดังกล่าวแล้วย่อมไม่อาจทราบหรือเข้าใจได้ในทันทีหรือใช้วิจารณญาณเพียงเล็กน้อยก็ไม่อาจทราบหรือเข้าใจได้ว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นสินค้าประเภทหรือชนิดใด การใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ย่อมถือได้ว่าเป็นการใช้ในลักษณะที่ทำให้สาธารณชนหรือผู้ใช้สินค้านั้นทราบหรือเข้าใจได้ว่าสินค้าของโจทก์แตกต่างจากสินค้าของบุคคลอื่น เครื่องหมายการค้าของโจทก์ จึงเป็นคำที่ไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้