คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับศาล/ผู้พิพากษา
ไม่ระบุศาล - นางสาวผจงธรณ์ วรินทรเวช

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4630/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ต้องพิจารณาเหตุผลความสมควรและเพียงพอของนายจ้าง รวมถึงโอกาสในการปรับปรุงแก้ไขของลูกจ้าง
การเลิกจ้างที่จะถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น ต้องพิเคราะห์ถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้างว่านายจ้างมีเหตุสมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้างลูกจ้างหรือไม่
โจทก์ทำงานบกพร่องและล่าช้า จำเลยจึงออกหนังสือเตือน โจทก์ยอมรับว่า เป็นความเข้าใจผิดเกี่ยวกับยอดเงินขาดทุนของจำเลย ซึ่งแปลความได้ว่า โจทก์ยังคงทำงานบกพร่องและล่าช้ามิใช่เพียงจำเลยทวงถามงาน
โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงินมีผู้ใต้บังคับบัญชาหลายคนและได้รับค่าจ้างในอัตราสูง จึงต้องมีความรู้ความสามารถและความรับผิดชอบมากกว่าพนักงานทั่วไป จำเลยย่อมคาดหวังว่าโจทก์จะสามารถควบคุมดูแลงานในความรับผิดชอบของจำเลยให้ดำเนินงานไปอย่างมีประสิทธิภาพด้วยความเรียบร้อยและรวดเร็ว งานฝ่ายบัญชีและการเงินนับว่าเป็นส่วนสำคัญแก่การประกอบธุรกิจของจำเลย หากงานยังบกพร่องย่อมทำให้จำเลยได้รับความเสียหายได้ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ภายหลังมีหนังสือเตือนโจทก์ประมาณ 2 เดือน นับว่าให้โอกาสโจทก์ในการแก้ไขปรับปรุงการทำงานเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว แต่โจทก์ยังคงทำงานบกพร่องและล่าช้าจำเลยย่อมไม่ไว้วางใจให้โจทก์ทำงานต่อไป เมื่อไม่ปรากฏว่า การเลิกจ้างเป็นไปโดยมีเจตนากลั่นแกล้ง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าว ถือว่าจำเลยมีเหตุอันสมควรและเพียงพอ ที่จะเลิกจ้างแล้ว จึงไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 681/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินอากรขาเข้า การสำแดงเท็จ และสิทธิในการไม่เรียกเก็บเงินเพิ่มเมื่อตรวจพบการขาดอากร
ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 ทวิ วรรคหนึ่ง วรรคสอง และ พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง มาตรา 15 วรรคสาม บัญชีท้าย พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ภาค 1 หลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากร ข้อ 1 และข้อ 6 การจะจัดสินค้าที่โจทก์นําเข้าว่าอยู่ในประเภทพิกัดใดต้องใช้หลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 บัญชีท้าย พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ประกอบคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ (Explanatory Notes : EN) ดังกล่าว ซึ่งตาม พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ภาค 2 พิกัดอัตราอากรขาเข้า ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2549 และใช้บังคับในขณะที่โจทก์นําเข้าสินค้าพิพาท ได้ระบุสินค้าที่อยู่ในประเภทพิกัด ตอนที่ 84 ว่า เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ บอยเลอร์ เครื่องจักร เครื่องใช้กล และส่วนประกอบของเครื่องดังกล่าว ประเภท 84.79 เครื่องจักรและเครื่องใช้กลที่มีหน้าที่การทำงานเป็นเอกเทศ ที่ไม่ได้ระบุหรือรวมไว้ในที่อื่นในตอนนี้ และตอนที่ 87 ยานบกนอกจากรถที่เดินบนรางรถไฟหรือรางรถราง ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของยานดังกล่าว ประเภท 87.08 ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของยานยนต์ตามประเภทที่ 87.01 ถึง 87.05 และได้มีการกำหนดประเภทย่อยขึ้นใหม่ ประเภทย่อย 8708.95 ถุงลมนิรภัยพร้อมระบบพองลม รวมทั้งส่วนประกอบของของดังกล่าว ประเภทย่อย 8708.95.10 ถุงลมนิรภัยพร้อมระบบพองลม และประเภทย่อย 8708.95.90 ส่วนประกอบ เมื่อพิจารณาประเภทพิกัดดังกล่าวข้างต้น การพิเคราะห์ว่าสินค้า "Coolant" ที่โจทก์นําเข้ามาตามใบขนสินค้าทั้ง 11 ฉบับ จัดอยู่ในพิกัดใดนั้น ต้องพิจารณาถึงสาระสำคัญของสินค้าดังกล่าวเป็นหลัก ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังได้ว่า สินค้าที่โจทก์นําเข้าเป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์กำเนิดก๊าซที่ใช้กับถุงลมนิรภัย (Airbag Inflator) ที่โจทก์ผลิตและจําหน่าย ประกอบด้วย "Bridge Wire, Initiator, Enhancer, สารกำเนิดก๊าซ Gas Generant และ Coolant" ซึ่งเมื่อรถยนต์ถูกชนด้วยความเร็วที่มากกว่าค่าที่ตั้งไว้ เซนเซอร์ไฟฟ้าจะทำงาน โดยกระแสไฟฟ้าจะไหลผ่านเข้าสู่ "Bridge Wire" ซึ่งอยู่ใน "Initiator แล้วเกิดประกายไฟใน "Initiator" ผ่านเข้าสู่ "Enhancer" ทำให้เกิดความร้อนไปเผาไหม้ "Gas Generant" จนเปลี่ยนสถานะจากของแข็งเป็นก๊าซอย่างรวดเร็ว ก๊าซจะไหลผ่านทาง "Coolant" และปล่อยเข้าสู่ถุงลมนิรภัยจนพองตัว ส่วนสินค้าอุปกรณ์กำเนิดก๊าซที่ใช้กับถุงลมนิรภัยในรถยนต์ (Coolant) นั้น มีลักษณะเป็นเส้นลวดม้วนทรงกระบอก เส้นผ่าศูนย์กลางรอบนอก 6 เซนติเมตร โดยนําเข้าลวดขนาด 0.5 มิลลิเมตร พันเป็นม้วน 300 ถึง 5,000 รอบ แล้วนําไปยึดติดกันด้วยความร้อนในเวลาที่เหมาะสม ซึ่งสินค้า "Coolant" จะถูกออกแบบมาเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์กำเนิดก๊าซที่ใช้กับถุงลมในรถยนต์ (Airbag Inflator) ทำหน้าที่เป็นตัวกันความร้อน ดักฝุ่นควัน และลดแรงกระแทกของแรงดันก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้ของสารเคมีในอุปกรณ์กำเนิดก๊าซของถุงลมนิรภัย (Airbag Inflator) เท่านั้น ไม่สามารถนําไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ แม้เดิมเมื่อปี 2543 คณะกรรมการเร่งรัดและแก้ไขข้อขัดข้องในการพิจารณาปัญหาพิกัดอัตราศุลกากร (กรป.) มีคําวินิจฉัยว่า ของดังกล่าวจัดเข้าพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 8479.89 ในฐานะเป็นเครื่องจักรและเครื่องใช้กลที่ทำงานเป็นเอกเทศ ตามรายงานการประชุมของคณะกรรมการเร่งรัดและแก้ไขข้อขัดข้องในการพิจารณาปัญหาพิกัดอัตราศุลกากร (กรป.) ครั้งที่ 87/5/2543 แต่ต่อมามี พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2549 ประกอบกับบัญชีท้าย พ.ร.ก.ดังกล่าวภาค 2 พิกัดอัตราอากรขาเข้า ได้กำหนดให้ถุงลมนิรภัยพร้อมระบบพองลมสำหรับรถยนต์ รวมทั้งส่วนประกอบของของดังกล่าว จัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 8708.95 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 สอดคล้องกับที่องค์การศุลกากรโลกมีการเปลี่ยนแปลงระบบพิกัดจากเดิม เอชเอส 2002 กำหนดให้สินค้า "Coolant" อยู่ในประเภทพิกัดย่อย 8479.89.40 เป็นระบบพิกัด เอชเอส 2007 กำหนดให้สินค้าดังกล่าวอยู่ในประเภทพิกัดย่อย 8708.95.90 เมื่อปรากฏว่า สินค้า "Coolant" ถูกออกแบบมาเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์กำเนิดก๊าซที่ใช้กับถุงลมในรถยนต์ (Airbag Inflator) ซึ่งเป็นส่วนประกอบของถุงลมนิรภัยพร้อมระบบพองลมในรถยนต์ สินค้า "Coolant" จึงเป็นของที่มีประเภทพิกัดระบุถึงไว้โดยเฉพาะ ในฐานะส่วนประกอบของถุงลมนิรภัยพร้อมระบบพองลมตามประเภทพิกัดย่อย 8708.95.90 และเมื่อเป็นการนําเข้ามาในช่วงระหว่างวันที่ 16 ธันวาคม 2550 ถึงวันที่ 2 มกราคม 2552 อันเป็นเวลาภายหลังจาก พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2549 ประกอบกับบัญชีท้ายพระราชกำหนดดังกล่าวภาค 2 พิกัดอัตราอากรขาเข้า มีผลใช้บังคับแล้ว ดังนั้น เมื่อสินค้าที่โจทก์นําเข้าเป็นส่วนประกอบของถุงลมนิรภัยพร้อมระบบพองลมตรงตามความของประเภทพิกัด 8708.95 ประเภทย่อย 8708.95.90 เป็นการเฉพาะแล้ว สินค้าที่โจทก์นําเข้าจึงไม่ใช่เครื่องจักรและเครื่องใช้กลที่มีหน้าที่การทำงานที่เป็นเอกเทศ ตามประเภทพิกัด 84.79 ประเภทย่อย 8479.90.40 อีก ตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 ท้าย พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ข้อ 1 และข้อ 6 โดยโจทก์ไม่อาจอ้างถึงคําวินิจฉัยของคณะกรรมการเร่งรัดและแก้ไขข้อขัดข้องในการพิจารณาปัญหาพิกัด (กรป.) การประชุมครั้งที่ 87/5/2543 ในปี 2543 ที่วินิจฉัยให้สินค้าที่โจทก์นําเข้าจัดเข้าพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 8479.89 ในฐานะเป็นเครื่องจักรและเครื่องใช้กล ที่ทำงานเป็นเอกเทศ มาใช้บังคับได้อีก ส่วนที่โจทก์อ้างว่า จําเลยได้ออกประกาศกรมศุลกากรที่ 42/2553 เรื่อง แจ้งพิกัดอัตราศุลกากร (ป.อ.1/2553) มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2553 เป็นต้นไป ให้จัดสินค้า "Coolant" เป็นของตามพิกัด 8708.95.90 อัตราอากรร้อยละ 10 นั้น เห็นได้ว่าเมื่อสินค้าดังกล่าวจัดอยู่ในประเภทพิกัด 8708.95.90 ตาม พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2549 ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 มาก่อนที่จําเลยจะออกประกาศกรมศุลกากร ที่ 42/2553 กรณีหาใช่เป็นการบังคับใช้กฎหมายย้อนหลังตามที่โจทก์ฎีกาไม่ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า สินค้าที่โจทก์นําเข้าเป็นส่วนประกอบของถุงลมนิรภัยพร้อมระบบพองลมตรงตามความในประเภทพิกัด 8708.95 ประเภทย่อย 8708.95.90 การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคําวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจําเลยในส่วนอากรขาเข้าจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว เมื่อได้วินิจฉัยว่าไม่มีเหตุให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน และคําวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในส่วนอากรขาเข้าดังนี้แล้ว ในประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนฐานของอากรขาเข้าหรือไม่ จึงไม่จําต้องวินิจฉัยเพราะอากรขาเข้าไม่มีการแก้ไขให้ลดลง ย่อมไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 จัตวา ให้จําเลยเรียกเก็บเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของค่าอากรที่นํามาชําระได้เมื่อผู้นําของเข้าหรือผู้ส่งของออกมีเจตนายื่นใบขนสินค้าขาเข้า โดยสำแดงพิกัดและอัตราอากรอันเป็นเท็จ หรือจงใจปกปิดรายละเอียดของสินค้าที่นําเข้า โดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีตามมาตรา 102 ตรี อนุมาตรา 1 และอนุมาตรา 2 ส่วนกรณีที่มีการเก็บอากรขาดและเจ้าพนักงานผู้สํารวจเงินอากรตรวจพบตามอนุมาตรา 3 จําเลยเรียกเก็บเงินเพิ่มไม่ได้ เมื่อโจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ด้วยว่า โจทก์มิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษี แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยในข้อนี้ จึงยังไม่ยุติ ข้อเท็จจริงได้ความจากคําเบิกความของ ม. ผู้รับมอบอำนาจบริษัทโจทก์ว่า ตั้งแต่ปี 2547 สินค้าที่โจทก์นําเข้า โจทก์เคยนําเข้ามาในราชอาณาจักรแล้วและสำแดงประเภทพิกัดของสินค้า "Coolant" เป็นพิกัด 8479.90 ตามคําวินิจฉัยของสำนักมาตรฐานพิกัดอัตราศุลกากรบันทึกที่ กค 0518(2)ฝ.2/(4)5305 ลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2547 ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงระบบพิกัดจาก เอชเอส 2002 เป็น เอชเอส 2007 จําเลยจึงได้ออกประกาศกรมศุลกากรที่ 42/2553 เรื่อง แจ้งพิกัดอัตราศุลกากร (ป.อ.1/2553) ประกาศ ณ วันที่ 21 มิถุนายน 2553 ให้จัดสินค้า "Coolant" เป็นของตามพิกัด 8708.95.90 อัตราร้อยละ 10 นับแต่ปี 2553 เป็นต้นมาโจทก์ก็ได้ปฏิบัติตาม โดยสำแดงประเภทพิกัด 8708.95.90 สำหรับการนําเข้าสินค้า "Coolant" ส่วนจําเลยไม่ได้นําสืบพยานหลักฐานหักล้างข้อเท็จจริงในส่วนนี้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ระหว่างเดือนมกราคม 2551 ถึงเดือนมกราคม 2552 โจทก์นําเข้าสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าจำนวน 5 ฉบับ ดังกล่าว โดยสำแดงประเภทพิกัดของสินค้า "Coolant" เป็นพิกัด8479.90.40 ตามที่จําเลยเคยวินิจฉัยมาโดยตลอดจนกระทั่งเมื่อประกาศกรมศุลกากรที่ 42/2553 เรื่อง แจ้งพิกัดอัตราศุลกากร (ป.อ.1/2553) ประกาศ ณ วันที่ 21 มิถุนายน 2553 โจทก์ก็ได้นําเข้าสินค้า "Coolant" โดยสำแดงประเภทพิกัด 8708.95.90 ที่ถูกต้อง พฤติการณ์ที่โจทก์สำแดงประเภทพิกัดสำหรับสินค้า "Coolant" ในการนําเข้าดังกล่าว เป็นพฤติการณ์ที่เห็นได้ว่าโจทก์เข้าใจโดยสุจริตว่าสินค้า "Coolant" ตามใบขนสินค้าขาเข้าจำนวน 5 ฉบับ ดังกล่าว ซึ่งมีการนําเข้าก่อนมีประกาศกรมศุลกากรที่ 42/2553 เรื่อง แจ้งพิกัดอัตราศุลกากร (ป.อ.1/2553) จัดอยู่ในประเภทพิกัด 8479.90.40 เมื่อตามทางนําสืบของจําเลยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่แสดงให้เห็นว่า โจทก์มีเจตนาที่จะสำแดงประเภทพิกัดของสินค้า "Coolant" เป็นเท็จ กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าความรับผิดของโจทก์ในการชําระค่าอากรที่ขาดเกิดจากการที่โจทก์สำแดงเท็จในใบขนสินค้าขาเข้าจำนวน 5 ฉบับ ดังกล่าว แต่ต้องด้วยกรณีที่ไม่ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มเมื่อมีการชําระอากรเพิ่ม เนื่องจากเป็นกรณีที่มีการตรวจเก็บอากรขาดโดยเจ้าพนักงานผู้สํารวจเงินอากรตรวจพบ จําเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกให้โจทก์ชําระเงินเพิ่มตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่ง เมื่อได้วินิจฉัยว่าจําเลยไม่มีสิทธิเรียกให้โจทก์ชําระเงินเพิ่มแล้ว กรณีจึงไม่จําต้องวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทว่ากรณีมีเหตุสมควรลดหรืองดเงินเพิ่มอากรขาเข้าให้โจทก์หรือไม่ และโจทก์ต้องรับผิดชําระเงินเพิ่มอากรขาเข้าไม่เกินกว่าค่าอากรขาเข้าหรือไม่ตามฎีกาของจําเลยอีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6129/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินเพิ่มอากรขาเข้า: การใช้กฎหมายเก่าก่อนกฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้ และขอบเขตการคำนวณเงินเพิ่ม
จำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิดในส่วนเงินเพิ่มตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น เมื่อคดีนี้จำเลยนำเข้าสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 2801 - 00351 - 80702 ในเดือนมกราคม 2551 ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจปล่อยสินค้าหรือจำเลยนำของออกไปจากอารักขาของศุลกากร ความรับผิดอากรขาเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าฉบับดังกล่าว จึงเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ โดยตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว มาตรา 112 จัตวา บัญญัติว่า "เมื่อผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกนำเงินมาชำระค่าอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของค่าอากรที่นำมาชำระโดยไม่คิดทบต้นนับแต่วันที่ได้ส่งมอบหรือส่งของออก จนถึงวันที่นำเงินมาชำระ..." ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติว่าเงินเพิ่มอากรขาเข้าจะต้องไม่เกินอากรขาเข้าที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ดังนี้ เมื่อจำเลยชำระอากรขาเข้าไม่ครบถ้วน โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าได้โดยไม่มีข้อจำกัดว่าจะต้องไม่เกินอากรขาเข้าที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่มตามบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น แม้ต่อมาวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 จะได้มี พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ใช้บังคับ และให้ยกเลิก พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 โดย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 22 บัญญัติว่า "...โดยเงินเพิ่มที่เรียกเก็บนี้ต้องไม่เกินอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม..." เป็นผลให้โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าเฉพาะส่วนที่เกินอากรขาเข้านับแต่วันที่ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับแล้วได้อีกต่อไปก็ตาม แต่ก็มิได้เป็นการลบล้างเงินเพิ่มที่เกิดขึ้นแล้วตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ดังนั้น โจทก์ที่ 1 ย่อมมีสิทธิคำนวณเรียกเงินเพิ่มส่วนที่เกินอากรขาเข้าได้จนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2560 ส่วนนับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 หากเงินเพิ่มยังไม่เท่าอากรขาเข้าตามการประเมิน โจทก์ที่ 1 คงมีสิทธิคำนวณเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าดังกล่าวต่อไปได้จนกว่าจำนวนเงินเพิ่มจะเท่าจำนวนอากรขาเข้าตามการประเมินดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 22 ดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3719/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้ชำระบัญชีต้องรับผิดในหนี้ภาษีของบริษัท หากมีทรัพย์สินเพียงพอชำระหนี้
จำเลยที่ 2 เคยเป็นกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 1 จึงต้องรู้ว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้ค่าภาษีที่ต้องชำระแก่โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ชำระสะสางกิจการของจำเลยที่ 1 ให้เสร็จสิ้นไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของจำเลยที่ 1 รวมทั้งถ้าเจ้าหนี้คนใดมิได้ทวงถามให้ใช้หนี้ต้องมีหน้าที่วางเงินเท่าจำนวนหนี้นั้น ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องชำระหนี้ภาษีอากรค้างของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ก่อนหรือวางเงินเท่ากับจำนวนหนี้ค่าภาษีอากรให้แก่โจทก์ตามกฎหมายก่อนที่จะจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี แต่จำเลยที่ 2 มิได้ชำระหนี้ภาษีอากรดังกล่าวให้แก่โจทก์และได้แบ่งคืนทรัพย์สินไป ถือว่าจำเลยที่ 2 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 และเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยฝ่าฝืนกฎหมายอันเป็นละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความเสียหายจากการที่ทำให้โจทก์ไม่ได้รับชำระหนี้ภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระ แต่ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีจำเลยที่ 1 ซึ่งกระทำละเมิดต่อโจทก์ คงรับผิดไม่เกินกว่าเงินสดคงเหลือที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ในวันจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี จำเลยที่ 1 มีหนี้ภาษีธุรกิจเฉพาะค้างชำระแก่โจทก์เป็นเงินภาษี 1,493,353.17 บาท เบี้ยปรับ 746,676.59 บาท พร้อมเงินเพิ่มคำนวณถึงวันฟ้องและภาษีส่วนท้องถิ่นเพิ่มเติม รวมจำนวนทั้งสิ้น 3,351,084.21 บาท แต่ในวันจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีปรากฏว่า จำเลยที่ 1 มีเงินสดคงเหลือมากกว่าจำนวนหนี้ที่ค้างชำระแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดแก่โจทก์ในหนี้ค่าภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระจำนวน 3,351,084.21 บาท แม้จำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนเลิกบริษัทเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2555 แต่ก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยไปพบเจ้าพนักงานและยินยอมให้เจ้าพนักงานประเมินภาษีตามผลการตรวจสอบ แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าภาษีและเบี้ยปรับเงินเพิ่มแก่โจทก์ ต่อมาเจ้าพนักงานส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะให้จำเลยที่ 1 ทราบแล้วโดยชอบเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2556 จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ภาษีอากรและเบี้ยปรับเงินเพิ่มคำนวณถึงวันฟ้องที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระโจทก์จำนวน 3,351,084.21 บาท ซึ่งไม่เกินวงเงินที่เป็นทรัพย์สินคงเหลือ ณ วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี พร้อมดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หรืออัตราดอกเบี้ยที่ปรับเปลี่ยนโดยพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3159/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระภาษีหลังพ้นกำหนดไม่เป็นอุปสรรคการฟ้องคัดค้านการประเมินภาษี และการตีความ 'ค่าภาษีทั้งสิ้น'
เมื่อพิจารณาถึงความเชื่อมโยงจากมาตรา 38 วรรคหนึ่ง มาตรา 38 ทวิ วรรคหนึ่ง และมาตรา 39 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 แล้ว คำว่า "ค่าภาษีทั้งสิ้น" ตามมาตรา 39 ให้หมายความถึงค่าภาษีซึ่งถึงกำหนดชำระและค่าภาษีที่มีสิทธิผ่อนชำระ นอกจากนี้ พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 บัญญัติเรื่อง "ค่าภาษี" ไว้ในหมวด 2 การเก็บภาษี ซึ่งเป็นเรื่องภาษีตามการประเมิน ส่วนคำว่า "เงินเพิ่ม" ถูกบัญญัติไว้ในหมวด 3 ค่าภาษีค้าง ในมาตรา 42 ถึงมาตรา 44 แยกกันต่างหาก โดยไม่มีบทบัญญัติกำหนดหรือนิยามคำว่า "ค่าภาษีทั้งสิ้น" ตามความหมายบทบัญญัติแห่งมาตรา 39 ให้รวมถึงเงินเพิ่มด้วย จึงไม่อาจตีความว่าก่อนการยื่นฟ้องต่อศาลผู้รับประเมินต้องชำระเงินเพิ่มอันเป็นภาษีอากรค้างด้วย ซึ่งแตกต่างกับกฎหมายอื่น หากต้องการให้เงินเพิ่มถือเป็นเงินค่าภาษีจะต้องมีบทบัญญัติไว้ชัดเจน อีกทั้งเมื่อพิจารณาบทบัญญัติในมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ซึ่งบัญญัติให้อำนาจผู้บริหารท้องถิ่นออกคำสั่งยึด อายัด หรือขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ซึ่งค้างชำระค่าภาษีเพื่อนำเงินมาชำระเป็นค่าภาษี เงินเพิ่ม ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่าย แสดงว่าวัตถุประสงค์ของกฎหมายต้องการให้แยกคำว่า "ค่าภาษี" ซึ่งเป็นค่าภาษีตามการประเมินในหมวด 2 กับคำว่า "เงินเพิ่ม" ในหมวด 3 ออกจากกัน ดังนั้น ค่าภาษีทั้งสิ้นตามความมุ่งหมายในมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 จึงไม่อาจรวมถึงเงินเพิ่มอันเกิดจากการมิได้ชำระค่าภาษีภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดด้วย
สิทธิฟ้องร้องคัดค้านการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินคงขึ้นอยู่กับความในมาตรา 31 กับมาตรา 39 เท่านั้น การชำระค่าภาษีตามมาตรา 38 เป็นเพียงหลักปฏิบัติเบื้องต้นสำหรับผู้รับประเมินจะไปชำระค่าภาษีได้ที่ใดและเมื่อใด เป็นเรื่องของการเก็บภาษีในกรณีธรรมดาทั่วไป ซึ่งหากมิได้ชำระภายในเวลาที่ได้กำหนดไว้ในมาตรา 38 ตามมาตรา 42 บัญญัติให้ถือว่าเป็นค่าภาษีค้างชำระอันจะต้องเสียเงินเพิ่ม รวมทั้งอาจถูกบังคับคดียึดอายัดทรัพย์ขายทอดตลาด เพื่อเอาเงินมาเสียภาษีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 43 และมาตรา 44 ต่อไปด้วย อันเป็นคนละเรื่องกับสิทธิในการฟ้องคดี การไม่ชำระค่าภาษีตามมาตรา 38 จึงไม่ได้เป็นสาระสำคัญหรือเงื่อนไขในการฟ้องคดี เพราะหากเป็นกรณีพ้นกำหนดเวลาชำระค่าภาษีไปแล้ว ขณะฟ้องก็ต้องชำระค่าภาษีเสียก่อนฟ้องเช่นเดียวกัน
โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.8) ประจำปีภาษี 2560 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 เป็นค่าภาษีจำนวน 1,092,823.25 บาท ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่ (ภ.ร.ด.9) ซึ่งจำเลยที่ 2 มีคำชี้ขาดตามการประเมินให้ชำระค่าภาษีจำนวน 1,092,823 บาท โจทก์ทราบคำชี้ขาดดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 และชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินเป็นเงิน 1,092,823 บาท ตามที่ได้ระบุไว้ในใบแจ้งคำชี้ขาดเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2560 ซึ่งเป็นเวลาก่อนโจทก์ฟ้องคดี แม้โจทก์จะไม่ได้ชำระเงินเพิ่มในวันดังกล่าว ก็ย่อมถือว่าโจทก์ได้ชำระค่าภาษีครบถ้วนตามคำชี้ขาดอันเป็นค่าภาษีทั้งสิ้นตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง