คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับศาล/ผู้พิพากษา
ไม่ระบุศาล - นายคมน์ทนงชัย ฉายไพโรจน์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 124/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้า: การพิสูจน์ความผิดจากพยานหลักฐานการสั่งซื้อ และการบังคับคดีค่าปรับ
พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ที่โฆษณาภาพตัวอย่างเสื้อกีฬาที่มีลายการ์ตูนมังกี้ ดี. ลูฟี่ ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมไว้เพื่อให้ลูกค้าสามารถสั่งผลิตเสื้อกีฬาที่มีลายการ์ตูนดังกล่าวได้ และเคยผลิตเสื้อกีฬาที่มีลายการ์ตูนดังกล่าวให้แก่ลูกค้ารายอื่นมาแล้ว ประกอบกับการที่ ว. สั่งให้จำเลยที่ 1 ผลิตเสื้อกีฬาที่มีลายการ์ตูนมังกี้ ดี. ลูฟี่ ตามแบบที่จำเลยที่ 1 โฆษณาอยู่แล้ว โดยไม่ได้นำภาพลายการ์ตูนมังกี้ ดี. ลูฟี่ มาให้จำเลยที่ 1 ใช้ผลิตเสื้อกีฬา หรือสั่งให้จำเลยที่ 1 ออกแบบภาพลายการ์ตูนมังกี้ ดี. ลูฟี่ ขึ้นมาใหม่ แล้วนำไปผลิตเสื้อกีฬา ย่อมชี้ให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้อยู่แล้วว่าลายการ์ตูนมังกี้ ดี. ลูฟี่ เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมโดยมีเจตนาขายเสื้อกีฬาที่มีลายการ์ตูนดังกล่าวอยู่ก่อนแล้ว การที่ ว. สั่งผลิตเสื้อกีฬาตามแบบที่จำเลยที่ 1 โฆษณาเป็นเพียงการแสวงหาพยานหลักฐานมาเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยที่ 1 ถือไม่ได้ว่า ว. เป็นผู้ก่อให้จำเลยที่ 1 กระทำความผิด โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยซึ่งมีอำนาจร้องทุกข์ ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง พยานหลักฐานที่เกิดจากการสั่งซื้อเสื้อกีฬาดังกล่าวสามารถรับฟังเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยที่ 1 ได้ กรณีไม่ใช่พยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบหรือพยานหลักฐานที่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบ อันจะต้องห้ามมิให้รับฟังตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 226 และมาตรา 226/1 การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1)
คดีนี้โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วม อันเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เมื่อคดีส่วนอาญาฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมเพื่อการค้า โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ได้ตามคำร้องในคดีส่วนแพ่ง แม้โจทก์ร่วมไม่ได้ฎีกา แต่ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาคดีส่วนแพ่งให้แก่โจทก์ร่วมได้ เพราะปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 40 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2652/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลักษณะบ่งเฉพาะของเครื่องหมายการค้า: ชื่อบุคคลธรรมดาไม่ต้องแสดงลักษณะพิเศษ
มาตรา 7 วรรคสอง (1) (เดิม) ของ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 บัญญัติว่า "เครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นสาระสำคัญดังต่อไปนี้ ให้ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ (1) ชื่อตัว ชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดา ชื่อเต็มของนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น หรือชื่อในทางการค้าที่แสดงโดยลักษณะพิเศษและไม่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง..." จากบทบัญญัติดังกล่าว ข้อความว่า "ที่แสดงโดยลักษณะพิเศษ" เป็นคำขยายของคำว่า "ชื่อในทางการค้า" เท่านั้น มิได้รวมไปถึงชื่อตัว ชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดา ข้อเท็จจริงในคดีนี้ฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์เป็นชื่อตัวและชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดา ทั้งคำดังกล่าวก็มิได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าตามที่โจทก์ขอจดทะเบียนโดยตรง ย่อมมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้าทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่น ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ โดยไม่จำเป็นต้องแสดงโดยลักษณะพิเศษแต่อย่างใด เครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 7 วรรคสอง (1) (เดิม)