คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับศาล/ผู้พิพากษา
ไม่ระบุศาล - นายสมเกียรติ คูวัธนไพศาล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4171/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าจ้างเมื่อนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวจากเหตุสุดวิสัยและผลกระทบจากคำสั่งปิดสถานประกอบการ
กฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 17 เมษายน 2563 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 79/1 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 เป็นเรื่องให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานจากสำนักงานประกันสังคม มิใช่กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง การที่จำเลยไม่ได้ออกหนังสือรับรองการขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายการตามหนังสือรับรองที่แนบท้ายกฎกระทรวงนี้ ไม่ได้ทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างจากจำเลยตามกฎกระทรวงดังกล่าว
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 ให้คำจำกัดความของคำว่า สัญญาจ้าง หมายความว่า สัญญาไม่ว่าเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาระบุชัดเจน หรือเป็นที่เข้าใจโดยปริยายซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกบุคคลหนึ่งเรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้ค่าจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ ดังนี้ สัญญาจ้างจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนอย่างหนึ่ง กล่าวคือ ลูกจ้างมีหนี้ที่ต้องทำงานให้แก่นายจ้าง และนายจ้างมีหนี้ที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนในการทำงานของลูกจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้แก่นายจ้าง หรืออีกนัยหนึ่งลูกจ้างมีสิทธิได้ค่าจ้างจากนายจ้างต่อเมื่อลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้าง จำเลยหยุดประกอบกิจการเนื่องจากจังหวัดภูเก็ตมีคำสั่งให้ปิดโรงแรมทั้งจังหวัดเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ถือได้ว่าจำเลยหยุดประกอบกิจการชั่วคราวด้วยเหตุสุดวิสัย การที่โจทก์ไม่ได้เข้าทำงานให้แก่จำเลยมิใช่เกิดจากคำสั่งหรือความผิดของจำเลย จำเลยย่อมไม่มีหน้าที่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ แต่หากภายหลังเมื่อพ้นระยะเวลาปิดโรงแรมตามคำสั่งดังกล่าวแล้ว โจทก์กลับเข้าทำงานให้แก่จำเลย จำเลยก็มีหน้าที่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์
ศาลแรงงานภาค 8 ยังไม่ได้วินิจฉัยและรับฟังข้อเท็จจริงว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 คำสั่งจังหวัดภูเก็ตที่ 1797/2563 ลงวันที่ 2 เมษายน 2563 ที่กำหนดให้ปิดโรงแรม มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2563 เป็นต้นไปจนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นนั้น มีผลทำให้จำเลยปิดกิจการตั้งแต่เมื่อใดถึงเมื่อใด และจังหวัดภูเก็ตมีคำสั่งฉบับอื่นให้ปิดโรงแรมต่อไปอีกหรือไม่ เพียงใด จำเลยเปิดกิจการตั้งแต่เมื่อใดถึงเมื่อใด โจทก์เข้าทำงานให้แก่จำเลยหรือไม่ หากเข้าทำงาน โจทก์ทำงานตั้งแต่เมื่อใดถึงเมื่อใด อันเป็นข้อเท็จจริงที่จะไปสู่การวินิจฉัยประเด็นว่า จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างในช่วงเวลาดังกล่าวให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด ศาลฎีกาไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวเองได้ จึงต้องย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานภาค 8 รับฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมแล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4701/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างและค่าชดเชย: การประเมินผลการปฏิบัติงานที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ ไม่ถือเป็นการฝ่าฝืนระเบียบ จึงต้องจ่ายค่าชดเชย
จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทธนาคาร การปล่อยสินเชื่อเป็นส่วนหนึ่งของกิจการจำเลย หากลูกค้าสินเชื่อของจำเลยค้างชำระหนี้แล้วจำเลยไม่สามารถควบคุมดูแลให้ลูกค้าชำระหนี้ตามเป้าหมายอาจทำให้หนี้สินเชื่อค้างชำระเพิ่มมากขึ้นและส่งผลกระทบต่อกิจการของจำเลยที่ต้องสำรองหนี้สูญเพิ่มขึ้น การที่จำเลยมีคำสั่งแบบแผนและวิธีปฏิบัติงาน กำหนดให้พนักงานติดต่อลูกค้าที่ค้างชำระหนี้ ไม่ว่าทางโทรศัพท์ทางจดหมายหรือติดตาม ณ ที่อยู่ที่ระบุไว้ในหลักประกัน จากนั้นต้องจัดทำรายงานเสนอผู้บังคับบัญชาและบันทึกข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ระบบไอคอลเล็กชัน (I-Collection) ก็เพื่อควบคุมดูแลไม่ให้หนี้สินเชื่อค้างชำระเพิ่มมากขึ้นซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกิจการของจำเลย เมื่อโจทก์มีหน้าที่ติดตามหนี้สินเชื่อปล่อยใหม่ค้างชำระ จึงต้องปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวอย่างเคร่งครัด แต่จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์หรือไม่ ต้องพิจารณาจากประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ข้อ 60 ที่กำหนดว่า "นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้ (1) ทุจริตต่อหน้าที่... (2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ... (4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อกำหนด ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำต้องตักเตือน.."
จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ไม่มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ และจำเลยไม่เคยตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยแก่โจทก์ การกระทำของโจทก์จึงเป็นเรื่องบกพร่องต่อหน้าที่ มิใช่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อกำหนด ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมกรณีที่ร้ายแรง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2629/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขสภาพการจ้างของรัฐวิสาหกิจ: ชอบด้วยกฎหมายหากเป็นไปตามกระบวนการและไม่ขัดแย้งกับสิทธิลูกจ้าง
คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีมติให้กำหนดขอบเขตสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงิน ตามมาตรา 13 (2) แห่ง พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 แก่รัฐวิสาหกิจ 12 แห่ง ซึ่งรวมถึงจำเลยขณะเป็นบริษัท ท. โดยให้สามารถดำเนินการปรับปรุงสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงิน ในการกำหนดอัตราค่าจ้าง ค่าตอบแทนหรือสวัสดิการต่าง ๆ ของพนักงานได้เอง เมื่อคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจนั้นเห็นชอบแล้ว ถือว่าจำเลยมีอำนาจปรับปรุงระเบียบบริษัท ท. ว่าด้วยกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ. 2546 ซึ่งเป็นสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินในการกำหนดค่าตอบแทนหรือสวัสดิการต่าง ๆ ของพนักงานและอยู่ในขอบเขตที่คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ไม่จำต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และคณะรัฐมนตรีแต่ละครั้งอีก
การที่จำเลยมอบให้คณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ปรึกษาหารือเพื่อพิจารณาปรับปรุงสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 มาตรา 23 (5) ร่วมกันพิจารณามีมติเห็นชอบให้แก้ไขระเบียบดังกล่าว แล้วจำเลยเสนอกระทรวงการคลังให้ความเห็นชอบในการใช้บังคับ จึงถูกต้องตามกระบวนการใน พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2545 ที่เห็นชอบการแปลงสภาพองค์การ ท. เป็นบริษัท ท. ตามที่ประธานคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจเสนอ มีใจความ ให้ผู้ปฏิบัติงานขององค์การ ท. ที่โอนไปยังบริษัท ท. ณ วันที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง และสิทธิประโยชน์ไม่น้อยกว่าที่เคยได้รับอยู่เดิมเป็นมติที่สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 มาตรา 25 วรรคสอง ที่ให้พนักงานตามวรรคหนึ่งได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ไม่น้อยกว่าที่เคยได้รับอยู่เดิม กับให้ถือว่าเวลาการทำงานของพนักงานดังกล่าวในรัฐวิสาหกิจเดิมเป็นเวลาการทำงานในบริษัทโดยไม่ถือว่าการเปลี่ยนสภาพจากรัฐวิสาหกิจเดิมเป็นบริษัทนั้นเป็นการเลิกจ้าง มติคณะรัฐมนตรีและบทบัญญัติดังกล่าวเป็นกรณีที่ใช้ในช่วงเวลาเปลี่ยนสภาพจากรัฐวิสาหกิจในรูปองค์การของรัฐเป็นบริษัท
ในขณะที่จำเลยแปลงสภาพจากองค์การของรัฐเป็นบริษัทเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2545 จำเลยได้ให้พนักงานได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่เคยได้รับอยู่เดิมและยังไม่มีการปรับปรุงแก้ไขออกเป็นระเบียบจำเลย ว่าด้วย กองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ. 2546 ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2548 กรณีไม่อาจอ้าง พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 และมติคณะรัฐมนตรีมาปรับหรือบังคับให้ระเบียบดังกล่าวตกไป
พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 มิได้เป็นบทบัญญัติที่ห้ามมิให้มีการแก้ไขสภาพการจ้าง เพราะการแก้ไขสภาพการจ้างของลูกจ้างในรัฐวิสาหกิจต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ซึ่งมีคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์กำกับดูแลในขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อให้ฝ่ายบริหารกับพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจมีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบในขอบเขตที่เหมาะสมและสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาและส่งเสริมเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมตลอดจนความมั่นคงของประเทศ
สภาพการจ้างตามระเบียบจำเลย ว่าด้วย กองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ. 2546 ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2548 นอกจากเป็นสภาพการจ้างเกี่ยวกับการเงินที่อยู่ในขอบเขตที่กำหนดตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 มาตรา 13 (2) ที่จำเลยมีอำนาจที่จะแก้ไขปรับปรุงได้เอง ไม่ใช่สภาพการจ้างที่เกิดจากการยื่นข้อเรียกร้อง เจรจาตกลงเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีข้อห้ามตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 มาตรา 29 วรรคสอง ที่ห้ามมิให้นายจ้างทำสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เว้นแต่สัญญาจ้างแรงงานนั้นจะเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่าแล้ว หลักของการแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้เกิดสภาพการจ้างใหม่ แม้ข้อตกลงหรือข้อยุติไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง เป็นการลดประโยชน์ที่ลูกจ้างมีสิทธิที่ได้รับอยู่เดิมลงบ้าง แต่อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาและส่งเสริมเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ตามเหตุผลในหมายเหตุท้าย พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ย่อมใช้บังคับได้
จำเลยออกระเบียบแก้ไขหลักเกณฑ์การคำนวณบำเหน็จ เพราะจำเลยปรับขึ้นเงินเดือนให้พนักงานเป็นกรณีพิเศษ ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของจำเลยที่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงานมากขึ้น ฝ่ายพนักงานลูกจ้างหรือโจทก์ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษแล้ว หากจะต้องลดประโยชน์จากการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การคำนวณบำเหน็จไปบ้าง เพื่อเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมขององค์กร ย่อมถือได้ว่าอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม ระเบียบจำเลย ว่าด้วย กองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ. 2546 ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2548 จึงชอบด้วยกฎหมายและมีผลใช้บังคับแก่พนักงานของจำเลยทุกคนรวมทั้งโจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2070/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวางเงินเพื่อฟ้องคดีแรงงาน: การวางเงินเฉพาะบางส่วนของผู้ร้องและขอบเขตการเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 212 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยมาตรา 5 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ในระหว่างนั้น ให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ" และมาตรา 5 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้" หากโจทก์เห็นว่าบทบัญญัติตามมาตรา 125 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โจทก์จะต้องโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลและขอให้ศาลส่งความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย แต่โจทก์อุทธรณ์ทำนองว่า บทบัญญัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสาม เป็นบทบัญญัติกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 5 ประกอบมาตรา 26 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และมาตรา 27 ไม่อาจบังคับได้ และขอให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีคำสั่งกลับหรือแก้คำสั่งของศาลแรงงานกลาง จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ที่จะให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ โดยขอให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีคำสั่งกลับหรือแก้คำสั่งของศาลแรงงานกลาง มิได้ประสงค์ให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษส่งความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสาม บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายนำคดีไปสู่ศาล นายจ้างต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งนั้น จึงจะฟ้องคดีได้" และมาตรา 125 วรรคสี่ บัญญัติต่อไปว่า "เมื่อคดีถึงที่สุดและนายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินจำนวนใดให้แก่ลูกจ้าง... ให้ศาลมีอำนาจจ่ายเงินที่นายจ้างวางไว้ต่อศาลให้แก่ลูกจ้าง... แล้วแต่กรณี" ที่บทบัญญัติมาตรา 125 วรรคสามและวรรคสี่ ได้กำหนดไว้ดังกล่าวก็มีเจตนารมณ์มุ่งหมายที่จะคุ้มครองลูกจ้างให้ได้รับเงินตามจำนวนที่พนักงานตรวจแรงงานสั่งให้นายจ้างจ่ายแก่ลูกจ้างเมื่อคดีถึงที่สุดทันที โดยลูกจ้างไม่ต้องเสียเวลาไปฟ้องคดีบังคับให้นายจ้างจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวอีก ทั้งยังเป็นการป้องกันมิให้นายจ้างประวิงเวลาในการจ่ายเงินอันเป็นการสร้างภาระแก่ลูกจ้างซึ่งมีสิทธิได้รับเงินตามกฎหมายจากนายจ้าง และในกรณีที่นายจ้างฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน หากศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานแล้ว นายจ้างก็สามารถรับเงินจำนวนที่วางศาลไว้คืนไปได้โดยไม่เกิดความเสียหายแต่อย่างใด บทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวนี้จึงไม่เป็นการจำกัดสิทธินายจ้างในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งเป็นธรรมแก่นายจ้างและลูกจ้างทั้งสองฝ่าย สำหรับที่ดินที่โจทก์ขอวางต่อศาลแทนเงินนั้น หากภายหลังคดีถึงที่สุดและโจทก์มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้าง ก็ต้องมีการบังคับคดีนำที่ดินออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระให้แก่ลูกจ้างต่อไป ซึ่งอาจขายทอดตลาดไม่ได้ราคาไปชำระหนี้ครบตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานก็ได้ ที่ดินดังกล่าวจึงมิใช่วัตถุที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายทำนองเดียวกับเงินซึ่งศาลสามารถนำมาจ่ายให้ลูกจ้างได้ทันที นอกจากนี้เงินจำนวนที่โจทก์ต้องนำมาวางศาลนั้นมิใช่เงินค่าฤชาธรรมเนียมที่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 27 กำหนดให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระเมื่อฟ้องคดีต่อศาลแรงงานแต่อย่างใด จึงมิอาจนำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับยกเว้นการวางเงินให้แก่โจทก์ได้
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่อพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งตามมาตรา 124 แล้ว ถ้านายจ้าง ลูกจ้าง หรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่พอใจคำสั่งนั้น ให้นำคดีไปสู่ศาลได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง" และวรรคสามบัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายนำคดีไปสู่ศาล นายจ้างต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งนั้น จึงจะฟ้องคดีได้" บทบัญญัติดังกล่าวมานี้ได้กำหนดอย่างชัดแจ้งว่า ในกรณีที่นายจ้างไม่พอใจคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้าง และนายจ้างประสงค์จะนำคดีไปสู่ศาลแรงงานเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งนั้น นายจ้างจะต้องวางเงินตามจำนวนที่นายจ้างประสงค์จะโต้แย้งต่อศาล ซึ่งอาจเป็นจำนวนทั้งหมดตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานหรือเพียงบางส่วนก็ได้ หากนายจ้างไม่ประสงค์จะโต้แย้งเงินจำนวนใดตามคำสั่งก็ไม่ต้องวางเงินจำนวนนั้น ซึ่งหมายความว่านายจ้างพอใจที่จะจ่ายเงินจำนวนที่ไม่โต้แย้งนี้ให้แก่ลูกจ้างโดยไม่ประสงค์ให้ศาลเพิกถอนคำสั่งในส่วนของเงินจำนวนที่ไม่โต้แย้งนี้นั่นเอง หากโจทก์ประสงค์จะขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานตามคำสั่งที่สั่งให้โจทก์จ่ายเงินแก่ผู้ร้องทั้ง 82 ราย โจทก์ก็ต้องวางเงินจำนวนตามคำสั่งทั้งหมดทุกราย จะขอวางเพียง 2 รายแล้วขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งให้โจทก์จ่ายเงินให้แก่ผู้ร้องทุกรายไม่ได้