คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับศาล/ผู้พิพากษา
ไม่ระบุศาล - นายอุเทน ศิริสมรรถการ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 8 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5579/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีชู้สาว: โจทก์ทราบความสัมพันธ์ชู้สาวแต่ทำสัญญาแยกกันอยู่และฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูภายหลัง ถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
เมื่อพิจารณาจากคำฟ้องในคดีนี้ประกอบกับคดีที่โจทก์ฟ้อง ล. เรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู จึงเห็นได้ว่าโจทก์ทราบมานานแล้วว่า ล. มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับหญิงอื่นหลายคนรวมทั้งจำเลยในคดีนี้ สอดคล้องกับที่โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ในช่วงปี 2559 ล. เลี้ยงดูผู้หญิงหลายคน และ ร. พยานโจทก์ที่เบิกความว่าได้สมัครทำงานเป็นเชฟให้แก่ ล. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2560 พยานเป็นผู้ส่งภาพถ่ายแสดงความสัมพันธ์ระหว่าง ล. กับจำเลย รวมทั้งคลิปวิดีโอต่าง ๆ ให้แก่โจทก์ พฤติการณ์ที่โจทก์ทราบดีว่า ล. มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับผู้หญิงหลายคน รวมทั้งจำเลยในคดีนี้ แต่โจทก์กลับมิได้ใช้สิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนในการกระทำดังกล่าวจากจำเลย แต่กลับทำสัญญาแยกกันอยู่กับ ล. สองฉบับดังกล่าวข้างต้นและให้ ล. จ่ายเงินค่าเลี้ยงดูให้แก่โจทก์ ตลอดจนให้ใช้บัตรเครดิตอย่างไม่จำกัดวงเงิน ต่อมาโจทก์กลับมาฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยในคดีนี้เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2563 เป็นจำนวนเงินสูงถึง 300,000,000 บาท หรือการที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจาก ล. เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2563 จำนวน 78,600,000 บาท อันเป็นระยะเวลาภายหลังจากที่โจทก์ทราบถึงเหตุดังกล่าวและแยกกันอยู่กับ ล. เมื่อปี 2557 เป็นเวลาถึงเกือบ 6 ปี จึงเชื่อว่าเกิดจากโจทก์ที่โกรธแค้นจำเลยและ ล. ที่ ล. ไม่จ่ายเงินค่าเลี้ยงดูให้แก่โจทก์อีกต่อไป รวมทั้งยกเลิกการใช้บัตรเครดิตของโจทก์ หาใช่มาจากจำเลย แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับ ล. สามีโจทก์ในทำนองชู้สาวตามที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้ไม่ ซึ่งสอดคล้องกับที่โจทก์เบิกความตอบทนายโจทก์ถามว่า ในช่วงที่บัตรเครดิตของโจทก์หมดอายุ ได้มีการส่งบัตรเครดิตใหม่ไปให้ที่ที่พักของ ล. สามี จำเลยเห็นจึงบอกให้ ล. ตัดบัตรทิ้ง ทั้ง ป.พ.พ. มาตรา 5 บัญญัติว่า "ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต" การที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยในคดีนี้ จึงสืบเนื่องมาจากการที่ ล. ระงับการจ่ายเงินค่าเลี้ยงดูและการใช้บัตรเครดิตของโจทก์ตามข้อตกลงเป็นสำคัญ มิได้มีเจตนาที่จะใช้บทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง มาเรียกค่าทดแทนจากจำเลยอย่างแท้จริง การฟ้องคดีของโจทก์ดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดให้กระทำได้ อีกทั้งยังเป็นการใช้สิทธิฟ้องจำเลยโดยไม่สุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 ด้วย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้ ศาลฎีกามีสิทธิยกขึ้นในชั้นฎีกาได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) มาตรา 246 และมาตรา 252 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตา 182/1 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1218/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรหลังหย่า: ศาลพิจารณาความสามารถของทั้งสองฝ่ายและเปลี่ยนแปลงจากข้อตกลงเดิมได้
ข้อเท็จจริงปรากฏตามทางนำสืบของผู้ร้อง ซึ่งผู้คัดค้านมิได้โต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่าบุตรผู้เยาว์ได้ย้ายมาอยู่อาศัยกับผู้ร้องเป็นการถาวรตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 จนถึงปัจจุบัน ดังนั้นแม้ในหนังสือข้อตกลงหย่า ข้อ 1.2 ระบุว่า ฝ่ายชายยินดีให้ค่าเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์เดือนละ 20,000 บาท นับแต่วันหย่า โดยจะแบ่งจ่ายเป็นรายอาทิตย์ทั้งนี้ไม่เกิน 20,000 บาท ต่อเดือน โดยโอนเข้าบัญชีฝ่ายหญิงทุกครั้ง... ก็ตาม แต่เหตุที่ตกลงเช่นนั้นก็เนื่องมาจากขณะนั้นบุตรผู้เยาว์พักอาศัยอยู่กับผู้คัดค้านโดยผู้คัดค้านเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งเมื่อปรากฏว่าข้อเท็จจริงได้เปลี่ยนแปลงไปโดยบุตรผู้เยาว์ได้ย้ายมาอยู่อาศัยกับผู้ร้อง ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 จนถึงปัจจุบัน และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับบุตรผู้เยาว์ ผู้ร้องเป็นผู้ชำระทั้งสิ้น ทั้งผู้คัดค้านก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าตั้งแต่บุตรผู้เยาว์ย้ายมาพักอาศัยกับผู้ร้องแล้วผู้คัดค้านได้ใช้จ่ายสิ่งใดที่เกี่ยวกับบุตรผู้เยาว์ไปบ้าง ดังนั้น หากให้ผู้ร้องต้องชำระเงินให้แก่ผู้คัดค้านตามข้อตกลงหย่าในข้อ 1.2 อีก ก็เท่ากับว่าผู้ร้องต้องชำระเงินเพิ่มจากที่ตกลงกันไว้ ซึ่งผิดไปจากเจตนารมณ์ของคู่สัญญาที่ประสงค์จะให้ข้อตกลงหย่าในข้อ 1.2 เป็นไปเพื่อการเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์อย่างแท้จริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 453/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอนุญาตขายทรัพย์สินของผู้เยาว์เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาและการลงทุนในอนาคต
ผู้ร้องขอขายที่ดินซึ่งผู้ร้องถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับผู้เยาว์ เพื่อการศึกษาแก่ผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตร ผู้ร้องในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมมาร้องขออนุญาตทำนิติกรรมขายที่ดินต่อศาลตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 ก็เพื่อให้ศาลกำกับดูแลให้เหมาะสมเป็นประโยชน์ต่อผู้เยาว์หรือก่อความเสียหายแก่ผู้เยาว์น้อยที่สุด เมื่อได้ความว่าการขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งอนาคตของผู้เยาว์และได้รับราคาที่สูงกว่าราคาประเมิน จึงเป็นเหตุผลเพียงพอที่ศาลจะอนุญาตให้มีการขายได้โดยเร็วเพื่อประโยชน์ของผู้เยาว์ ที่ศาลชั้นต้นอ้างว่าการทำนิติกรรมขายไม่ได้รับความยินยอมจาก จ. มารดาผู้เยาว์ เป็นการวินิจฉัยขัดกับข้อเท็จจริงเนื่องจากที่ จ. ไม่ได้ดูแลผู้เยาว์และไม่อาจติดต่อได้ ส่วนที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษอ้างว่า ไม่มีเรื่องเร่งด่วนหรือเหตุฉุกเฉิน ก็ไม่ได้อยู่ในบริบทที่มาตรา 1574 กำหนดไว้ ส่วนที่อ้างว่ารอให้ผู้เยาว์ทั้งสองเจริญวัยจนบรรลุนิติภาวะตัดสินใจเอง ก็เป็นข้อวินิจฉัยที่ขัดต่อเจตนารมณ์ที่มาตรา 1574 ให้ศาลกำกับดูแลการทำนิติกรรม ไม่ใช่ปล่อยให้ช่วงเวลาที่ยังเป็นผู้เยาว์เสียไปโดยเปล่าประโยชน์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 452/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งสินสมรสหลังหย่า: ศาลพิพากษาให้โอนที่ดินพร้อมบ้านให้โจทก์ได้ แม้ข้อตกลงระบุเฉพาะบ้าน
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าระหว่างโจทก์และจำเลย และขอบังคับให้จำเลยแบ่งสินสมรสทุกรายการให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง จำเลยให้การต่อสู้ว่า บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าไม่เป็นโมฆะ การจัดแบ่งสินสมรสตามข้อ 3 เป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 เมื่อนายทะเบียนจดทะเบียนการหย่า ถือได้ว่ามีการแบ่งทรัพย์สินอันเป็นสินสมรส โดยยกให้จำเลยทั้งหมดแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอแบ่งสินสมรสใหม่อีก เมื่อพิเคราะห์คำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แล้ว ถือได้ว่าโจทก์มีเจตนาขอแบ่งสินสมรสทั้งปวงระหว่างโจทก์กับจำเลยกึ่งหนึ่งโดยขอให้ไม่ยึดถือตามบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่า เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า โจทก์และจำเลยทำบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่ากันด้วยความสมัครใจ บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าจึงสมบูรณ์มีผลผูกพันโจทก์และจำเลยให้ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างกัน แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ในบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าดังกล่าวระบุสินสมรสที่ตกลงยกให้โจทก์เพียงบ้านเลขที่ 109/4 โดยไม่ได้กล่าวถึงที่ดินโฉนดเลขที่ 89706 อันเป็นที่ตั้งของบ้านดังกล่าวแต่อย่างใด และโจทก์มีคำขอให้แบ่งสินสมรสอีก 5 รายการ ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยปกปิดไว้ซึ่งรวมถึงที่ดินโฉนดเลขที่ 89706 ที่พิพาทด้วย แม้โจทก์จะมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยแบ่งที่ดังกล่าวอันเป็นสินสมรสให้แก่โจทก์เพียงกึ่งหนึ่ง แต่โจทก์ย่อมไม่อาจบรรยายฟ้องขอให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งแปลงได้ เพราะโจทก์ตั้งรูปเรื่องมาว่าบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่า ไม่ได้เกิดจากความสมัครใจของโจทก์และโจทก์ต้องการขอแบ่งสินสมรสรายการอื่น ๆ นอกจากที่ระบุไว้ในบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าด้วย เมื่อข้อเท็จจริงยุติในชั้นฎีกาว่าบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่ามีผลใช้บังคับได้ และจำเลยยังไม่ได้แบ่งสินสมรสรายการที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษก็ได้วินิจฉัยแล้วว่า บ้านเลขที่ 109/4 ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 89706 เป็นส่วนควบตามกฎหมายของที่ดินโฉนดเลขที่ 89706 และเมื่อพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีในทางสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 แล้วเห็นได้ว่าโจทก์และจำเลยมีเจตนาแบ่งทรัพย์สินอันเป็นสินสมรสระหว่างกันโดยจำเลยตกลงยกที่ดินโฉนดเลขที่ 89706 พร้อมบ้านเลขที่ 109/4 ให้แก่โจทก์ทั้งหมด โดยนับตั้งแต่วันที่มีการทำบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่า เมื่อมูลค่าที่ดินพิพาทไม่ได้สูงเกินไปกว่าราคาประเมินกึ่งหนึ่งของสินสมรสในคดีนี้และยังอยู่ในประเด็นพิพาทว่า จำเลยต้องแบ่งสินสมรสรายการนี้ให้โจทก์หรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 89706 พร้อมบ้านเลขที่ 109/4 ให้โจทก์ทั้งหมด จึงไม่เป็นการพิพากษาที่เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฎในคำฟ้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 มาตรา 246 และมาตรา 252 ประกอบ พ.ร.บ. ศาลเยาวชนฯ มาตรา 182/1 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3277/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการลงโทษความผิดฐานกระทำอนาจารเด็ก แม้ฟ้องในความผิดอื่น และประเด็นการฎีกาที่ต้องห้าม
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคสอง ลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน แต่ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนมีกำหนด 1 ปี 6 เดือน ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว มาตรา 142 (1) ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีโดยใช้วัตถุล่วงล้ำอวัยวะเพศของเด็กนั้น ตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคห้า ลงโทษจำคุก 2 ปี แต่ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนมีกำหนด 2 ปี ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว มาตรา 142 (1) ดังนี้ แม้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาแก้เฉพาะวรรคความผิดในมาตราเดียวกัน แต่ความผิดในวรรคสองและวรรคห้ามีอัตราโทษขั้นต่ำและขั้นสูงแตกต่างกันมาก จึงเป็นการแก้วรรคและแก้ไขระยะเวลาฝึกอบรมอันเป็นการแก้ไขมาก แต่การที่ศาลล่างทั้งสองต่างเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน มิใช่การลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 18 เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมิได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 2 ปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 182/1
คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยผู้เสียหายที่ 1 จะยินยอมหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อทางพิจารณาของศาลฟังได้ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม โดยใช้วัตถุล่วงล้ำอวัยวะเพศของเด็กนั้น ข้อแตกต่างดังกล่าว ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย บัญญัติไว้ว่า ถ้าความผิดตามที่ฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลจะลงโทษจำเลยในการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความก็ได้ ดังนั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม โดยใช้วัตถุล่วงล้ำอวัยวะเพศของเด็กได้ ซึ่งเป็นขั้นตอนของการพิจารณาพิพากษาคดีตามที่กฎหมายให้อำนาจศาลไว้ ส่วนการที่พนักงานสอบสวนมิได้แจ้งข้อหาและสอบสวนจำเลยในความผิดดังกล่าว เป็นเรื่องกฎหมายห้ามมิให้พนักงานอัยการนำคดีมาฟ้องในข้อหานั้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 เท่านั้น อันเป็นขั้นตอนของการยื่นฟ้องคดี มิใช่การพิพากษาคดีของศาล ดังนั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดนั้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1478/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งสินสมรส: ที่ดินที่ซื้อด้วยเงินสินสมรส แม้มีการโอนชื่อให้บุคคลอื่น ก็ยังเป็นสินสมรส
จําเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์และจําเลยมีสินสมรสร่วมกันหลายรายการ สินสมรสบางรายการมีชื่อโจทก์และโจทก์ร่วมถือกรรมสิทธิ์ ขอให้บังคับโจทก์แบ่งทรัพย์สินดังกล่าวให้จําเลยกึ่งหนึ่ง จําเลยขอให้ศาลหมายเรียก ธ. บุตรของโจทก์และจําเลยเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ข) เพื่อให้การจัดการสินสมรสเสร็จไปในคราวเดียวไม่ต้องไปฟ้องร้องกันเป็นคดีใหม่ การที่โจทก์และโจทก์ร่วมเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโดยมิได้แบ่งสัดส่วนการถือกรรมสิทธิ์ ต้องถือว่าโจทก์และโจทก์ร่วมมีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินในสัดส่วนเท่ากันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1357 ประกอบกับมาตรา 1359 บัญญัติว่า เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ อาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกได้ การที่จําเลยให้การและฟ้องแย้งและหมายเรียกขอให้บังคับโจทก์และโจทก์ร่วมโอนที่ดินคืนแก่จําเลย จึงถือว่าโจทก์และโจทก์ร่วมเป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีที่เป็นการชําระหนี้ซึ่งแบ่งแยกกันมิได้ การที่โจทก์ยื่นคําฟ้อง คำให้การแก้ฟ้องแย้ง บัญชีระบุพยาน ถือได้ว่าโจทก์ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาทำการแทนซึ่งกันและกันกับโจทก์ร่วมด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 (1) เมื่อโจทก์ร่วมยอมรับเอาข้อเท็จจริงตามคําฟ้อง คำให้การแก้ฟ้องแย้ง และการดำเนินกระบวนพิจารณาต่าง ๆ ในชั้นพิจารณาของโจทก์ทุกประการ จึงเป็นคําคู่ความและการดำเนินการของโจทก์ร่วมด้วย โดยโจทก์ร่วมไม่จำต้องทำคำให้การใหม่เพื่อแก้คำให้การและฟ้องแย้งของจําเลย รวมทั้งพยานหลักฐานที่โจทก์นําสืบในชั้นพิจารณาหักล้างข้อต่อสู้ของจําเลย ย่อมถือว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาของโจทก์ร่วมเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษนำพยานหลักฐานที่โจทก์นําสืบมาวินิจฉัยเป็นคุณแก่โจทก์ร่วมจึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย
ระหว่างสมรสจําเลยโอนที่ดินที่เป็นสินสมรสเฉพาะส่วนของจําเลยให้แก่โจทก์โดยเสน่หาโดยมิได้ระบุเป็นอย่างอื่น จึงต้องถือว่าที่ดินดังกล่าวเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (3) บทบัญญัติดังกล่าวมิใช่บังคับเฉพาะกรณีบุคคลภายนอกเป็นผู้ยกทรัพย์สินให้เท่านั้น แต่ได้รวมถึงกรณีสามีภริยายกทรัพย์สินให้แก่กันในระหว่างสมรสด้วย ส่วนที่ดินที่มีชื่อโจทก์และโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันมีเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดินซึ่งเป็นเอกสารทางราชการที่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในทะเบียนที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ประกอบกับ ป.วิ.พ. มาตรา 127 บัญญัติว่า เอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง จึงเป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายันต้องนําสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสารนั้น ดังนั้น โจทก์และโจทก์ร่วมจึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามกฎหมายดังกล่าว เมื่อจําเลยให้การและฟ้องแย้งว่า เหตุที่มีชื่อโจทก์และโจทก์ร่วมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดิน เนื่องจากโจทก์ออกอุบายให้จําเลยยกที่ดินเฉพาะส่วนของจําเลยให้แก่โจทก์และโจทก์ร่วมเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้บุคคลภายนอกฟ้องบังคับชําระหนี้เอาจากจําเลย เท่ากับจําเลยให้การและฟ้องแย้งต่อสู้ว่าที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนตัวของโจทก์และโจทก์ร่วม แต่เป็นสินสมรสของจําเลยและโจทก์ร่วม จําเลยจึงมีหน้าที่นําสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 และมาตรา 127

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4084/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาคำพิพากษาเกี่ยวกับวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน ต้องห้ามฎีกาตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยที่ 2 ไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีกำหนดขั้นต่ำ 4 ปี ขั้นสูง 5 ปี จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบากว่าที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษกำหนด ฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน ซึ่งตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 182/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "การฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้วแต่กรณี มาใช้บังคับโดยอนุโลม เว้นแต่ในกรณีที่เป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามมาตรา 180 ต้องห้ามฎีกา" ดังนั้นฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 มานั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3927/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งทรัพย์สินหลังหย่า: ทรัพย์มรดกและสินส่วนตัว, ค่าเช่าทรัพย์สิน, ค่าใช้จ่ายครอบครัว, และหนี้สิน
โจทก์ฟ้องจำเลย ขอหย่า แบ่งสินสมรส เรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู ค่าเลี้ยงชีพ อำนาจปกครองบุตร และเรียกทรัพย์คืน ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกันด้วยเหตุที่จำเลยอุปการะเลี้ยงดูและยกย่องผู้อื่นฉันภริยา ในเรื่องหย่ายุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาโจทก์ถึงแก่ความตาย ร. มารดาของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ผู้มรณะ สำหรับประเด็นที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู และค่าเลี้ยงชีพ ถือเป็นสิทธิเฉพาะตัวของโจทก์ผู้เป็นภริยาจะเรียกร้องจากจำเลยได้ เมื่อโจทก์ถึงแก่ความตาย จึงไม่จำต้องวินิจฉัยในส่วนนี้ ส่วนประเด็นเกี่ยวกับอำนาจปกครองบุตร เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นมารดาถึงแก่ความตาย อำนาจปกครองบุตรย่อมตกแก่จำเลยที่เป็นบิดาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1566 (1) กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยในเรื่องอำนาจปกครองอีกต่อไป ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ในประเด็นดังกล่าว จึงไม่อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ผู้มรณะในประเด็นค่าเลี้ยงชีพ ค่าอุปการะ และอำนาจปกครองบุตร คงอนุญาตให้เข้าเป็นคู่ความแทนที่เฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการแบ่งสินสมรส และการเรียกทรัพย์คืนเท่านั้น