คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
การแข่งขัน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 25 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1275/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการแข่งขันหลังพ้นสภาพการจ้างงาน: สัญญาไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรม
ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่กำหนดว่าในระหว่างการจ้างงานหรือภายใน 5 ปีนับแต่สัญญาจ้างสิ้นสุดลง จำเลยจะต้องไม่ทำงานให้แก่บริษัทคู่แข่งทางการค้าของโจทก์หรือมีหุ้นในบริษัทคู่แข่งทางการค้าของโจทก์ซึ่งครอบคลุมถึงประเทศไทย ประเทศสาธารณรัฐเวียดนาม ประเทศกัมพูชาประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และประเทศเมียนมาร์(พม่า) เกี่ยวกับกิจการขนย้ายของตามบ้านฯ เป็นเพียงข้อจำกัดห้ามการประกอบอาชีพแข่งขันกับโจทก์โดยจำกัดประเภทของธุรกิจไว้อย่างชัดเจนมิได้ห้ามประกอบอาชีพปิดทางทำมาหาได้ของจำเลยอย่างเด็ดขาดและจำเลยสามารถประกอบอาชีพหรือทำงานในบริษัทประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการขายสินค้าหรือบริการอื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนือข้อตกลงได้ขอบเขตพื้นที่ก็ห้ามเฉพาะในกลุ่มประเทศในแหลมอินโดจีนมิได้รวมถึงประเทศใกล้เคียงอื่น ๆ ด้วย ลักษณะของข้อตกลงเช่นนี้ไม่ใช่เป็นการตัดการประกอบอาชีพของจำเลยทั้งหมดทีเดียว เพียงแต่เป็นการห้ามประกอบอาชีพบางอย่างที่แข่งขันกับโจทก์ในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิและประโยชน์ของคู่กรณีที่ชอบในเชิงของธุรกิจ ไม่เป็นการปิดการทำมาหาได้ของฝ่ายใดโดยเด็ดขาดจนไม่อาจดำรงอยู่ได้ จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่เป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7391/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ชื่อทางการค้าที่คล้ายคลึงกันจนทำให้เกิดความเข้าใจผิด และละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้า
แม้คำว่า "เจ้าสาว" จะเป็นคำสามัญ แต่จำเลยเอาชื่อคำว่า "เจ้าสาว" มาใช้โดยจงใจให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าร้านของจำเลยคือร้านของโจทก์หรือเป็นสาขาหรือเกี่ยวข้องกับร้านของโจทก์ การกระทำของจำเลยย่อมทำให้โจทก์เสียหายเพราะโจทก์กับจำเลยดำเนินธุรกิจอย่างเดียวกันแม้มิได้อยู่ในทำเลละแวกเดียวกันลูกค้าที่นิยมในชื่อเสียงของร้านโจทก์อาจจะเข้าใจผิดไปตัดเย็บหรือซื้อชุดวิวาห์จากร้านของจำเลยอันเป็นการแย่งลูกค้าจากโจทก์ไปส่วนหนึ่งและหากร้านจำเลยตัดเย็บชุดวิวาห์มีคุณภาพไม่ดีหรือประกอบกิจการไม่เป็นที่พอใจแก่ลูกค้าก็อาจกระทบต่อชื่อเสียงของร้านโจทก์ให้ต้องเสื่อมเสียไปด้วยย่อมส่งผลต่อรายได้ของโจทก์ ดังนั้น การกระทำของจำเลยในพฤติการณ์ดังกล่าวจึงเป็นการกระทำละเมิดสิทธิในการใช้นามที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 18 และเป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 44โจทก์จึงมีสิทธิขอให้จำเลยระงับการกระทำดังกล่าวได้ การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยนำคำว่า "เจ้าสาว" ซึ่งเป็นชื่อและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปใช้ประกอบกิจการร้านจำหน่ายสินค้าของจำเลย โดยไม่มีสิทธิและเป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์นั้น ตราบใดที่จำเลยยังคงใช้คำดังกล่าวอยู่จนถึงวันฟ้อง การกระทำของจำเลยย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อเนื่องตลอดมา โจทก์มีสิทธิฟ้องให้จำเลยระงับการกระทำนั้นอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ได้ ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3516/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องรับโทรทัศน์ไม่ใช่เครื่องมือการพนัน: การรับชมการแข่งขันชกมวยและการท้าพนัน
เครื่องรับโทรทัศน์และรีโมทคอนโทรลของกลางเป็นแต่เพียงเครื่องมือและอุปกรณ์รับภาพการแข่งขันชกมวยจากสถานีโทรทัศน์ซึ่งเป็นผู้ส่งภาพนั้นมาเท่านั้น การที่จำเลยกับพวกซึ่งเป็นผู้ชมท้าพนันผลการแข่งขันชกมวย หาทำให้เครื่องรับโทรทัศน์และรีโมทคอนโทรลของกลางเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการเล่นการพนันชกมวยตามความหมายแห่ง พ.ร.บ.การพนันโดยแท้จริงไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2320/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาขนส่งทางอากาศ, การแข่งขันทางธุรกิจ, และการปิดอากรแสตมป์
โจทก์และจำเลยได้ร่วมดำเนินการขนส่งเอกสารหรือพัสดุภัณฑ์ย่อยทางอากาศ ตามสัญญาให้ดำเนินการแต่เพียงผู้เดียวโดยจำเลยเป็นผู้ดำเนินการในประเทศไทย สัญญานี้ตกลงให้ค่าตอบแทนตามตาราง ก.ว่า จำเลยมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนร้อยละ 60 ของรายรับตามที่ได้ออกใบรับให้แก่การขนส่งขาออก และต้องจ่ายค่าตอบแทนให้โจทก์ร้อยละ 40 ของรายรับตามที่ได้ออกใบรับนั้น ทั้งจำเลยต้องดำเนินการจัดส่งสิ่งของที่โจทก์ส่งเข้ามาในประเทศไทยโดยไม่คิดค่าตอบแทน สัญญาฉบับนี้ ตาราง ก.เรื่องค่าใช้จ่ายและค่าตอบแทนกำหนดไว้ว่า โจทก์จะได้รับค่าตอบแทนอัตราร้อยละ 40 ของรายรับตามที่ได้ออกใบรับ (revenues billed) เป็นการตกลงให้โจทก์มีสิทธิจะได้รับส่วนแบ่งตามยอดรายรับตามที่ได้มีการเรียกเก็บเงินโดยไม่จำต้องคำนึงว่าจำเลยจะเก็บเงินได้น้อยกว่าใบรับหรือไม่ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ตามตัวเลขรายรับที่ได้ออกใบรับทุกรายการ แม้ตามสัญญาข้อ 10จะหมายถึงการเรียกเก็บเงินปลายทางซึ่งคู่สัญญาฝ่ายที่เป็นผู้ส่งของจะต้องรับผิดชอบการเรียกเก็บเงินแม้จะเรียกเก็บเงินไม่ได้ ไม่ได้หมายถึงการเรียกเก็บเงินต้นทางก็ตาม ก็ไม่มีเหตุผลที่จะแปลสัญญาดังกล่าวไปในทางที่ว่าการคำนวณส่วนแบ่งของรายรับตามตาราง ก.เฉพาะกรณีเรียกเก็บเงินต้นทางเท่านั้นที่จะต้องคำนวณจากรายรับที่จำเลยเรียกเก็บได้จริง แต่กรณีเรียกเก็บเงินปลายทาง จำเลยจะให้คำนวณจากรายรับที่ได้ออกใบรับแล้ว โดยไม่คำนึงว่าโจทก์จะเรียกเก็บเงินได้จริงหรือไม่ เพราะไม่มีข้อความใดในตาราง ก. ที่จะแสดงให้เห็นดังกล่าว
ตามสัญญาข้อ 6 ระบุว่าในระหว่างอายุสัญญา คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจะต้องไม่เป็นผู้ดำเนินการรับส่งของให้แก่บุคคลอื่นใดซึ่งประกอบธุรกิจขนส่งทางอากาศอันมีลักษณะเป็นการแข่งขันกับธุรกิจของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง โดยไม่ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งก่อน เมื่อปรากฏว่าการขนส่งในช่วงวันที่ 1กรกฎาคม 2533 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2534 ซึ่งอยู่ในช่วงอายุสัญญามีบริษัท2 บริษัทรับส่งเอกสารด่วนและพัสดุภัณฑ์ย่อยจากลูกค้าในประเทศไทยไปยังต่างประเทศโดยผ่านบริษัทโจทก์ที่ประเทศสิงคโปร์ ดังนั้น การที่บริษัทโจทก์สำนักงานที่ประเทศสิงคโปร์รับส่งเอกสารด่วนและพัสดุภัณฑ์ย่อยทางอากาศจากบริษัท พ.และบริษัท อ.ซึ่งเป็นบริษัทในประเทศไทยเพื่อส่งต่อไปนั้น แม้บริษัททั้งสองจะไม่ได้ใช้เครื่องหมายการค้าหรือชื่อทางการค้าของโจทก์ในการประกอบธุรกิจก็ตาม แต่บริษัททั้งสองบริษัทดังกล่าวก็ได้อ้างอิงเครื่องหมายการค้าหรือชื่อทางการค้าของโจทก์ในการประกอบธุรกิจด้วย จึงทำให้ผู้ส่งเอกสารด่วนหรือพัสดุภัณฑ์ย่อยทางอากาศในประเทศไทยไม่จำต้องใช้บริการของจำเลย แม้ใช้บริการของบุคคลอื่นก็มีผลทำให้เอกสารด่วนและพัสดุภัณฑ์ย่อยของตนได้รับการขนส่งจากโจทก์จนถึงผู้รับปลายทางในต่างประเทศได้ การกระทำของโจทก์ดังกล่าวจึงถือว่าเป็นการดำเนินการรับส่งของให้แก่บุคคลอื่นซึ่งประกอบธุรกิจขนส่งทางอากาศอันมีลักษณะเป็นการแข่งขันกับธุรกิจของจำเลย ต้องห้ามตามสัญญาข้อ 6 แล้ว
ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้าย ป.รัษฎากร เรื่องใบมอบอำนาจระบุไว้ในข้อ 7 (ข) ว่า มอบอำนาจให้แก่บุคคลเดียวหรือหลายคนร่วมกระทำการมากกว่าครั้งเดียว ค่าอากรแสตมป์ 30 บาท และระบุในข้อ 7 (ค) ว่า มอบอำนาจให้กระทำการมากกว่าครั้งเดียว โดยให้บุคคลหลายคนต่างคนต่างกระทำกิจการแยกกัน คิดตามรายตัวบุคคลคนละ 30 บาท ใบมอบฉันทะพิพาทแม้จะเป็นการมอบอำนาจแก่บุคคลหลายคนก็ตาม แต่เป็นกรณีร่วมกันกระทำการ กล่าวคือ ส.และ/หรืออ.รวมกระทำการฟ้องร้องคดีนี้เพียงกิจการเดียว มิใช่ต่างตนต่างกระทำกิจการแยกกันฟ้องร้องหลายคดี ใบมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์เช่นนี้จึงปิดอากรแสตมป์เพียง30 บาท ถูกต้องตาม ป.รัษฎากร ข้อ 7 (ข) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2104/2540 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลียนชื่อสมาคมและการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ทำให้เกิดความสับสนแก่ประชาชน
โจทก์และจำเลยที่ 1 มีรายได้จากการจัดทำพระรูปปั้นจำลองออกจำหน่ายเหมือนกัน โจทก์ใช้ชื่อ "จตุรเสนาสมาคม" มาก่อน จำเลยที่ 2เคยเป็นกรรมการสมาคมของโจทก์มาก่อน โดยเป็นเหรัญญิก แล้วจึงมาเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 มีส่วนรู้เห็นในการตั้งชื่อสมาคมโจทก์มาก่อน และจำเลยที่ 2 ทราบดีว่าโจทก์หารายได้จากไหนมา หลังจากจำเลยที่ 2 ลาออกจากสมาคมโจทก์แล้วจึงมาตั้งสมาคมจำเลยที่ 1 ขึ้นมาใหม่ โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการเปลี่ยนชื่อจากธรรมโชคเป็นจตุระสมาคม การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายกสมาคมจำเลยที่ 1 รู้ถึงการใช้ชื่อและการดำเนินการของโจทก์อยู่ก่อนแล้ว และจำเลยที่ 2 ได้ดำเนินการเปลี่ยนชื่อจำเลยที่ 1จากเดิมมาเป็นจตุระสมาคมและดำเนินการขายพระรูปปั้นจำลองเช่นเดียวกับโจทก์แม้ชื่อโจทก์จะมี 7 พยางค์ และจำเลยที่ 1 มี 5 พยางค์ และตัวสระแตกต่างกันแต่คำนำหน้าเหมือนกันและอ่านออกเสียงเหมือนกัน ประชาชนทั่วไปอาจเกิดความสับสนได้ การที่จำเลยที่ 1 กระทำเห็นเจตนาได้ว่าจำเลยที่ 1 เปลี่ยนชื่อของตนโดยจงใจเลียนชื่อโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ใช้ชื่อดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 500/2539 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รถจักรยานยนต์รับจ้างและการแข่งขันทางการค้า: ไม่ผิดกฎหมายขนส่งทางบก
พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 5 บัญญัติว่า พ.ร.บ.นี้มิให้ใช้บังคับแก่รถจักรยานยนต์ ดังนี้ การใช้รถจักรยานยนต์เดินรับจ้างขนส่งผู้โดยสารจึงไม่จำต้องขออนุญาตจากนายทะเบียน การที่โจทก์ได้รับสัมปทานประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ไม่มีบทกฎหมายห้ามมิให้ผู้อื่นประกอบการขนส่งอันมีลักษณะเป็นการแย่งผลประโยชน์ของโจทก์ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6379/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์และการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม กรณีการลอกเลียนแบบผลิตภัณฑ์ปากกา
งานออกแบบปากกาลูกลื่น 2 แบบ ซึ่งประกอบด้วยงานแบบพิมพ์รูปลักษณะปากกาและชิ้นส่วนแม่พิมพ์ งานหุ่นจำลองงานอิเล็กโทรดหรือแท่งทองแดงที่ใช้ในการทำแม่พิมพ์ งานแม่พิมพ์ และงานรูปทรงและลวดลายตัวปากกา อันเกิดจากการคิดค้นแบบปากกาตั้งแต่ยกร่างรูปทรงและลวดลายในกระดาษร่างให้ปากกามีรูปลักษณะสวยงามสะดุดตาและสะดวกในการใช้สอย แล้วนำมาวิเคราะห์ในเชิงเศรษฐกิจตามหลักวิชาการ ใช้เทคนิคที่เรียกว่าวิศวกรรมคุณค่าคือ วิธีการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ให้มีคุณภาพใช้ได้ดีกว่าสินค้าที่มีอยู่ก่อน และเพื่อให้ได้ต้นทุนการผลิตในราคาต่ำจนได้รูปทรงและลวดลายที่พอใจ แล้วเขียนแบบที่ถูกต้องและทำหุ่นจำลองต่อจากนั้นก็ทำการออกแบบชิ้นส่วนแม่พิมพ์ ออกแบบอีเล็กโทรดหรือแท่งทองแดงที่ใช้ในการทำแม่พิมพ์ ทำอิเล็กโทรด และทำแม่พิมพ์เพื่อใช้ในการทำปากกา เป็นงานสร้างสรรค์อันเกิดจากการนำเอาการสร้างแบบพิมพ์รูปลักษณะของปากกาและแบบแม่พิมพ์ซึ่งเขียนด้วยลายเส้นประกอบเป็นรูปทรงอันเข้าลักษณะศิลปกรรมประเภทงานจิตรกรรมและการสร้างแม่พิมพ์กับหุ่นจำลองของปากกาดังกล่าว ซึ่งเป็นงานสร้างสรรค์รูปทรงที่เกี่ยวกับปริมาตรที่สัมผัสและจับต้องได้ อันเข้าลักษณะศิลปกรรมประเภทงานประติมากรรม มาประกอบเข้าด้วยกันและสร้างขึ้นเป็นปากกาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการขีดเขียนและเพื่อประโยชน์ทางการค้าอันเป็นประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานจิตรกรรมและประติมากรรมดังกล่าวงานสร้างสรรค์แบบปากกาทั้งสองแบบจึงเป็นงานศิลปประยุกต์ อันอาจได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีคุณค่าทางศิลปหรือไม่ หากปรากฏว่างานนั้นผู้สร้างสรรค์ได้ทำหรือก่อให้เกิดงานนั้นด้วยความคิดริเริ่มของตนเองโดยมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น นายยูเลียนไมเคิลฮาร์เลย์ดีเลย์ นาย ป. นาย ข.กรรมการโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และนายเอิร์นอีริคแวกเนอร์ผู้รับจ้างจากโจทก์ที่ 1 ได้สร้างสรรค์งานออกแบบปากกาแคนดี้คอมแพคและแบบปากกาแลนเซอร์คาเดท ขึ้นขณะที่อยู่ในราชอาณาจักร บุคคลทั้งสี่จึงเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในแบบปากกาทั้งสองแบบ อันเป็นงานศิลปประยุกต์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 มาตรา 6 ประกอบด้วยมาตรา 4 หลังจากที่ได้ออกแบบปากกาทั้งสองแบบดังกล่าวเสร็จแล้วบุคคลทั้งสี่ได้ทำหนังสือสัญญาโอนลิขสิทธิ์ในแบบปากกาดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสี่ โจทก์ทั้งสี่จึงเป็นผู้ได้ไปซึ่งลิขสิทธิ์และเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในแบบปากกาแคนดี้คอมแพคและแบบปากกาแลนเซอร์คาเดท ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 7,8 และ 15 จำเลยที่ 11 ได้ลักลอบเอาแบบพิมพ์อิเล็กโทรด และเอกสารเกี่ยวกับการจัดทำปากกาแคนดี้คอมแพค และปากกาแลนเซอร์คาเดทหรือคลิคทู ของโจทก์ทั้งสี่ไป แล้วจำเลยที่ 1ว่าจ้างจำเลยที่ 11 ให้จัดการแม่พิมพ์ปากกาแคนดี้คอมแพคโดยจำเลยที่ 12 และที่ 13 ได้ร่วมทำแม่พิมพ์ด้วย และจำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 3 ได้นำหุ่นจำลองปากกาท่อนล่างไปจ้างโรงกลึงทำแม่พิมพ์มีลักษณะเหมือนปากกาแลนเซอร์คาเดท โจทก์ที่ 2 ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 และโรงกลึงทราบว่าโจทก์ที่ 2เป็นผู้มีลิขสิทธิในแบบปากกาแคนดี้คอมแพคและแลนเซอร์คาเดทขอให้ยุติการผลิตและจำหน่ายปากกาลูกลื่นทั้งสองแบบ จำเลยที่ 1ได้รับหนังสือแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ผลิตและจำหน่ายปากกาติ๊กแต็กซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับปากกาแลนเซอร์คาเดท กับยังคงจำหน่ายปากกาจ๊อตจอยซึ่งเลียนแบบปากกาแคนดี้คอมแพคต่อไป ตามพฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 11 ที่ 12และที่ 13 ได้ร่วมกันทำซ้ำและดัดแปลงแบบปากกาแคนดี้คอมแพคและจำเลยที่ 1 และที่ 11 ร่วมกันทำซ้ำและดัดแปลงแบบปากกาแลนเซอร์คาเดท ของโจทก์ทั้งสี่โดยการทำแม่พิมพ์เลียนแบบและปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมแบบปากกาทั้งสองแบบดังกล่าวจากแบบพิมพ์หุ่นจำลอง แม่พิมพ์ และเอกสารเกี่ยวกับการจัดทำปากกาดังกล่าวที่จำเลยที่ 11 ลักเอาไป แล้วจำเลยที่ 1 ผลิตปากกาจ๊อตจอยและปากกาติ๊กแต๊ก ออกจำหน่ายโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นการทำซ้ำและดัดแปลงแบบปากกาที่โจทก์ทั้งสี่เป็นผู้มีลิขสิทธิ์อันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทำให้โจทก์ทั้งสี่เสียผลประโยชน์ในทางการค้าและได้รับความเสียหาย จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่ ส่วนจำเลยที่ 3 รับว่า จำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 11 ทำแม่พิมพ์และได้มอบหุ่นจำลองปากกาจ๊อตจอย ให้จำเลยที่ 11 ไป จำเลยที่ 3ยังให้จำเลยที่ 11 ทำแบบ 16 แควิตี้ของปากกาจ๊อตจอย ให้ จึงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 3 มีส่วนรู้เห็นและร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำปากกาจ๊อตจอยอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในแบบปากกาแคนดี้คอมแพค ที่โจทก์ที่ 2 ต้องจัดทำกล่องพิเศษบรรจุปากกาทำให้ต้องเพิ่มต้นทุนการผลิตอีกด้ามละ 21 สตางค์ เพื่อป้องกันมิให้เสียลูกค้าไปเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 2 ต้องเสียหายเพราะขาดประโยชน์ที่ควรได้เพิ่มขึ้นอีกนั้น เป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 2 ลงทุนเพิ่มเติมเพื่อเป็นการจูงใจผู้บริโภคและให้สินค้าของโจทก์ที่ 2 จำหน่ายได้ดีขึ้น อันเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการค้าขาย ยังฟังไม่ได้แน่ชัดว่าเป็นความเสียหายที่เป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 11 ถึงที่ 13 โจทก์ที่ 2 จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ได้ แม้พยานหลักฐานของโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์จะสามารถจำหน่ายปากกาของโจทก์ได้ถึงจำนวนตามฟ้อง แต่การที่จำเลยผลิตและจำหน่ายปากกาที่เลียนแบบโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในแบบปากกาของโจทก์ ย่อมทำให้โจทก์จำหน่ายปากกาดังกล่าวได้ลดลง ศาลมีอำนาจกำหนดค่าขาดประโยชน์ของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 425/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ชื่อทางการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันจนทำให้เกิดความเข้าใจผิดและสร้างความเสียหายต่อผู้อื่น ศาลมีสิทธิห้ามใช้ชื่อนั้น
โจทก์จะฟ้องขอให้บังคับจำเลยถอนคำว่า เซ็นทรัล ออกจากชื่อร้านค้าของจำเลยตามใบทะเบียนพาณิชย์ไม่ได้ เนื่องจากการถอนใบทะเบียนพาณิชย์เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตามพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499 มาตรา 16

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4124/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิของสมาคมในการกำหนดระเบียบการแข่งขันและอำนาจในการพิจารณารับสมัครเข้าร่วม
จำเลยที่ 1 เป็นสมาคม การดำเนินงานมีคณะกรรมการซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งข้อบังคับต่าง ๆ ของสมาคมให้อำนาจจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกได้ และจำเลยที่ 1 ได้ออกระเบียบเกี่ยวกับกีฬาแข่งนกไว้ ซึ่งตามระเบียบดังกล่าวข้อ 2 กำหนดว่าสมาคมสงวนสิทธิที่จะไม่รับนกของผู้หนึ่งผู้ใดเข้าร่วมการแข่งขันหรือบอกเลิกรับนกกับผู้ที่เข้าร่วมการแข่งขันได้ทุกเวลา โดยไม่จำเป็นต้องบอกเหตุผลล่วงหน้า และผู้เข้าร่วมการแข่งขันไม่มีสิทธิจะเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ ทั้งสิ้นดังนั้นโจทก์หรือผู้ใดจะส่งนกพิราบเข้าแข่งขันกับจำเลยที่ 1 ก็ต้องปฏิบัติตามระเบียบ หาได้มีกฎหมายใดบังคับให้จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องรับนกของโจทก์เข้าแข่งขันไม่ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงทึ่ 14 ซึ่งเป็นคณะกรรมการจัดการแข่งขันได้กลั่นแกล้งโจทก์ การที่คณะกรรมการจัดการแข่งขันมีมติไม่รับนกของโจทก์เข้าร่วมแข่งขัน จะฟังว่าจำเลยทั้งสิบสี่กระทำละเมิดต่อโจทก์มิได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1818/2532 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคุ้มครองเครื่องหมายการค้า: การใช้เครื่องหมายการค้าที่คล้ายคลึงกันทำให้สาธารณชนหลงผิด
สินค้าของโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้า "NICCO" จำหน่ายแพร่หลายในประเทศไทยมาประมาณ 15 ปีแล้ว การที่จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าว่า "NICCO" เป็นอักษรโรมันคำเดียวกัน แตกต่างกันเพียงว่า ของโจทก์อยู่ในวงกลมที่ล้อมรอบด้วยรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า และตัวอักษร "O" เป็นตัวทึบ ส่วนของจำเลยใช้ตัวอักษรโรมันธรรมดา เมื่อออกสำเนียงชื่อก็คล้ายคลึงกัน ของโจทก์ออกสำเนียงว่า "นิกโก้" ส่วนของจำเลยออกสำเนียงว่า "นิคโค้" การกระทำของจำเลยเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทเพื่อให้ผู้ซื้อหลงเข้าใจว่า สินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลย และมีสิทธิห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทด้วย
มาตรา 21 และ 22 เป็นบทบัญญัติสำหรับวิธีดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า โดยได้กำหนดเวลาสำหรับการยื่นคำคัดค้านไว้ด้วย เมื่อไม่มีการคัดค้าน จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 22 และหาตัดสิทธิเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่แท้จริง ที่จะดำเนินคดีเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าของตนไม่ เมื่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยแล้ว หากโจทก์เป็๋นเจ้าของซึ่งมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าจำเลย โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำขอจดทะเบียนกับทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้ตามมาตรา 41 (1) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474
of 3