คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ขอรับชำระหนี้

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 72 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4651/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าหนี้มีประกันยื่นขอรับชำระหนี้ไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข พ.ศ.ร.บ.ล้มละลาย ศาลอุทธรณ์และฎีกามีคำพิพากษายืน
เจ้าหนี้เป็นเจ้าหนี้มีประกันที่ไม่ได้ใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 95 เพราะตามคำขอรับชำระหนี้ระบุว่าเป็นการขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96 (3) เมื่อเจ้าหนี้มีประกันใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96 เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีอำนาจทำการตรวจคำขอรับชำระหนี้ของเจ้ากนี้ไม่ว่าจะเป็นหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ และมีอำนาจหมายเรียกเจ้าหนี้มาทำการสอบสวนเกี่ยวกับหนี้สินที่ขอรับชำระหนี้ว่าเจ้าหนี้มีประกันและมีสิทธิขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่จริงหรือไม่ตามมาตรา 105 เจ้าหนี้จึงมีหน้าที่นำสืบถึงข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้างในคำขอรับชำระหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3402/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงผู้ถือหุ้นขัดต่อกฎหมายความสงบเรียบร้อย ย่อมตกเป็นโมฆะ และไม่มีผลผูกพันในการขอรับชำระหนี้
ผู้บริหารแผนใช้อำนาจไม่ยอมรับทรัพย์สินหรือสิทธิตามสัญญาที่มีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/41 ทวิ วรรคหนึ่ง เมื่อผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางอ้างว่าได้รับความเสียหายโดยการกระทำของผู้บริหารแผนเพื่อให้ศาลได้มีคำสั่งเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ร้องพอถือได้ว่าเป็นคำร้องคัดค้านการกระทำของผู้บริหารแผนตามมาตรา 90/41 ทวิ วรรคสอง ถือว่ากรณีมีข้อโต้เถียงเป็นคดี และเมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าว ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอรับชำระหนี้ได้ภายใน 1 เดือน นับแต่วันคดีถึงที่สุดตามมาตรา 90/26 วรรคสอง
ผู้ร้องสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทลูกหนี้ โดยผู้ร้องเข้าไปซื้อหุ้นและเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท สถานะดังกล่าวมีผลเสมือนหนึ่งว่าผู้ร้องมีส่วนในการเป็นเจ้าของลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลนั้น ประโยชน์ที่ผู้ร้องจะได้รับจากเงินที่ลงทุนซื้อหุ้นไปอย่างไรย่อมเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1200 มาตรา 1201 และมาตรา 1269 กล่าวคือ ผู้ถือหุ้นจะได้รับผลตอบแทนก็แต่เฉพาะเงินปันผลและจะได้รับชำระคืนเงินค่าหุ้นเมื่อมีการเลิกบริษัทและชำระบัญชีและมีการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของบริษัทครบถ้วนแล้ว การที่ผู้ร้องได้ร่วมลงทุนในบริษัทลูกหนี้โดยเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวโดยมีสัญญาผู้ถือหุ้น (shareholders agreement) ระหว่าง ผู้ร้อง ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และลูกหนี้ ซึ่งกำหนดในสัญญาให้ผู้ถือหุ้นกับบริษัทลูกหนี้จะต้องดำเนินการให้กรรมการของบริษัทลูกหนี้ถือหุ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 51 ของหุ้นในบริษัทในการออกหุ้นแต่ละครั้งและจะไม่ออกหุ้นใหม่ให้แก่บุคคลใดๆ ซึ่งจะมีผลทำให้กรรมการถือหุ้นคิดเป็นร้อยละต่ำกว่าร้อยละที่ระบุไว้ข้างต้นโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ถือหุ้นและผู้ร้อง และกำหนดให้บริษัทลูกหนี้และผู้ถือหุ้นจะชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ร้อง สำหรับต้นทุน ค่าใช้จ่าย ค่าสูญเสียและค่าเสียหายที่เกิดขึ้นต่อผู้ร้องอันเกี่ยวเนื่องกับการที่บริษัทและผู้ถือหุ้นไม่สามารถปฏิบัติตามข้อผูกพันที่กำหนดในสัญญาผู้ถือหุ้นได้ ข้อสัญญาดังกล่าวในส่วนลูกหนี้กับผู้ร้องจึงขัดต่อบทบัญญัติของ ป.พ.พ. ในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดรูปแบบของบริษัท รูปแบบผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้น ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างผู้ถือหุ้นกับบริษัทอันเป็นกฎหมายที่กำหนดแบบแผนที่สังคมจะต้องปฏิบัติร่วมกัน มีผลกระทบต่อบุคคลภายนอก ทั้งเป็นการวางรูปแบบองค์กรทางธุรกิจเพื่อให้สาธารณชนยึดถือและปฏิบัติ ถือว่าเป็นกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน สัญญาผู้ถือหุ้น (shareholders agreement) เฉพาะส่วนที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทลูกหนี้กับผู้ถือหุ้น และความรับผิดอันเกิดจากการผิดสัญญาดังกล่าวจึงขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 เมื่อข้อสัญญาในส่วนที่กำหนดให้ลูกหนี้มีหน้าที่ต่อผู้ร้องตกเป็นโมฆะ ผู้ร้องจึงไม่มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ซึ่งได้รับความเสียหายตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/41 ทวิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3960/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้และผลกระทบต่อการขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย แม้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ น. เข้าสวมสิทธิเป็นโจทก์แทนโจทก์เดิมเป็นเวลาภายหลังจากที่ศาลล้มละลายกลางสั่งรับฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คดีจึงอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลาย จึงเป็นอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายที่จะสั่งคำร้องของ น. ที่จะเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลล้มละลายกลางไม่มีอำนาจสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ น. เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์
มูลหนี้ตามคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เป็นหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินและสัญญาขายลดตั๋วเงินซึ่งอาจใช้สิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระเงินตามสิทธิที่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์มีอยู่ตามตราสารและสัญญาตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2532 แต่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์กลับนำหนี้ที่มีอยู่มาฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลายเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2543 จึงขาดอายุความฟ้องร้องในมูลหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่มีกำหนดเวลา 3 ปีและมูลหนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วเงินที่มีกำหนดเวลา 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1001 และมาตรา 193/30 แล้ว แม้ศาลล้มละลายกลางจะได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดโดยมิได้มีการยกเหตุเรื่องอายุความขึ้นมาพิจารณาวินิจฉัยยกฟ้องโจทก์ก็ตาม ก็หาใช่ว่าศาลล้มละลายกลางได้วินิจฉัยยอมรับรองว่าเป็นหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ไม่ อีกทั้งกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 27 ในส่วนของการขอรับชำระหนี้เป็นกระบวนพิจารณาที่แยกต่างหากจากกระบวนพิจารณาคดีและมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ เมื่อบทบัญญัติในมาตรา 91,94,106,107 และ 108 ได้ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และศาลที่จะต้องพิจารณาในชั้นขอรับชำระหนี้อีกครั้งหนึ่งด้วยว่าหนี้ที่เจ้าหนี้แต่ละรายยื่นคำขอรับชำระหนี้ เป็นหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ได้หรือไม่ แม้หนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้มานั้นจะเป็นหนี้ที่เจ้าหนี้นำมากล่าวอ้างฟ้องเป็นคดีล้มละลายจนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้วก็ตาม แต่ก็หาผูกพันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลให้จำต้องถือตามไม่ เมื่อหนี้ที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระเป็นหนี้ที่ขาดอายุความ จึงต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 94(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10668/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยินยอมไม่ฟ้องคดีหลังยื่นขอรับชำระหนี้: สิทธิฟ้องของเจ้าหนี้ที่ถูกจำกัดภายใต้ พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน
ตาม พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 มาตรา 26 ได้บัญญัติว่า "ห้ามมิให้บุคคลใดฟ้องบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องเป็นคดีล้มละลายในระหว่างดำเนินการตามแผนเพื่อการแก้ไขฟื้นฟูที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์การ" แสดงว่าบทบัญญัติดังกล่าวจะนำมาใช้บังคับได้เฉพาะในกรณีที่สถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการอยู่ในระหว่างดำเนินการตามแผนเพื่อการแก้ไขฟื้นฟูที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินแล้วเท่านั้น และเมื่อคดีรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินให้แก้ไขฟื้นฟูฐานะตามแผนที่จำเลยที่ 2 เสนอเช่นนี้ โจทก์จะอ้างบทกฎหมายดังกล่าวมาเป็นประโยชน์แก่คดีของโจทก์หาได้ไม่ เมื่อฟังได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้สามัญของจำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จำเลยที่ 2 ค้างชำระแก่โจทก์ตามประกาศคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน เรื่อง การขอรับชำระหนี้สำหรับเจ้าหนี้และการจัดสรรเงินจากการขายทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้ ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 (3) และ 16 (3) แห่ง พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 โจทก์จึงต้องอยู่ในบังคับของหลักเกณฑ์ตามประกาศดังกล่าว ซึ่งตามประกาศดังกล่าวข้อ 3.2 เจ้าหนี้ของสถาบันการเงินที่ถูกคำสั่งให้ระงับกิจการที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ต่อคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินตามมาตรา 30 ของพระราชกำหนดดังกล่าวต้องให้ความยินยอมที่จะไม่ฟ้องคดีสถาบันการเงินนั้น ซึ่งตามข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ยื่นคำขอรับชำระหนี้รายนี้ไว้ต่อคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้จึงเท่ากับว่า โจทก์ต้องผูกพันตามข้อกำหนดในการยินยอมที่จะไม่ฟ้องสถาบันการเงินนั้นเป็นคดีต่อศาลด้วย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7104/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้ตามคำพิพากษาในคดีล้มละลาย: การฟ้องล้มละลายสะดุดอายุความ และการขอรับชำระหนี้
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2529 ให้ลูกหนี้ทั้งสองกับ ส.ร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ และโจทก์นำเอาหนี้ตามคำพิพากษามาฟ้องขอให้ลูกหนี้ทั้งสองล้มละลายเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2539 เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องลูกหนี้ทั้งสองให้ล้มละลายโดยอาศัยมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาที่ถึงที่สุดมีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32 และมีผลเท่ากับเป็นการฟ้องคดีเพื่อให้ชำระหนี้ตามวิธีการที่พระราชบัญญัติล้มละลายฯ กำหนดไว้โดยเฉพาะ อันทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(2)เมื่อเจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้เข้าสวมสิทธิของโจทก์นำหนี้ตามคำพิพากษานี้มายื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2542 จึงเป็นการขอรับชำระหนี้ในขณะที่อายุความสะดุดหยุดลง หนี้ตามคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้จึงไม่ขาดอายุความ ไม่ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯมาตรา 94(1) กรณีดังกล่าวมิใช่เป็นการที่เจ้าหนี้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาจะนำเอาระยะเวลาบังคับคดี 10 ปีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 271 มาปรับใช้แก่กรณีนี้หาได้ไม่
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ตามคำพิพากษา ในการอุทธรณ์หรือฎีกาต้องเสียค่าขึ้นศาลในอัตราเดียวกับค่ายื่นคำขอชำระหนี้คือ ให้คิดฉบับละ 25 บาทตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 179(2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6107/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคุ้มครองเจ้าหนี้ที่รับโอนกิจการธนาคารในคดีล้มละลาย: ข้อจำกัดการขอรับชำระหนี้จากหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนโอน
แม้การโอนกิจการของธนาคาร ม. ให้แก่เจ้าหนี้ที่จะมีผลบังคับตามพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ฯ (ฉบับที่ 4)ฯมาตรา 38 จัตวา วรรคสอง(3) โดยเฉพาะในส่วนที่จำเป็นต้องดำเนินการที่เกี่ยวข้องในมาตรา 94(2) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายฯ ให้ได้รับยกเว้นมิให้นำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็มีเจตนารมณ์เพียงมิให้นำมาตรา 94(2) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาใช้บังคับแก่เจ้าหนี้ที่รับโอนกิจการสินทรัพย์และหนี้สินทั้งหมดจากธนาคาร ม. โดยมิให้อ้างว่าเป็นการยอมให้ธนาคาร ม. กระทำโอนขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ธนาคารผู้โอนดังกล่าวมีหนี้สินล้นพ้นตัวซึ่งไม่อาจนำมาขอรับชำระหนี้ได้เท่านั้น มิได้มุ่งหมายไปถึงหนี้ที่เกิดจากธนาคาร ม. ยอมให้ลูกหนี้กระทำขึ้นเมื่อได้รู้อยู่แล้วว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ซึ่งเจ้าหนี้รับโอนมาแล้วจะมีสิทธินำมาขอรับชำระหนี้ในคดีที่ลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแต่อย่างใด หนี้ของเจ้าหนี้ดังกล่าวจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ฯ(ฉบับที่ 4)ฯ มาตรา 38 จัตวา วรรคสอง(3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1183/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าหนี้มีสิทธิยื่นขอรับชำระหนี้จากการฟื้นฟูกิจการได้ แม้คดีตามคำพิพากษาจะยังไม่ถึงที่สุด
บทบัญญัติตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/26 แสดงโดยแจ้งชัดแล้วว่า หากเจ้าหนี้ประสงค์จะได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการจะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามวิธีการที่กฎหมายระบุไว้ โดยบทบัญญัติวรรคหนึ่งของมาตรานี้ส่วนท้ายแยกเป็น 2 กรณี กรณีแรกเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา กรณีที่สองเป็นเจ้าหนี้ที่ได้ฟ้องคดีแพ่งไว้แล้วแต่คดียังอยู่ระหว่างพิจารณา ซึ่งหมายถึงศาลยังไม่มีคำพิพากษา คดีนี้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในกรณีแรก คือเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้โดยไม่จำต้องรอให้คำพิพากษานั้นถึงที่สุดเพราะมูลหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ทุกรายเจ้าหนี้ ลูกหนี้ หรือผู้ทำแผนอาจขอตรวจและโต้แย้งต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ตามมาตรา 90/29 หากมีผู้โต้แย้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ต้องสอบสวนแล้วมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 90/32 โดยเจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใน 1 เดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผน ดังนั้น หากรอให้ศาลพิพากษาในชั้นที่สุดเสียก่อน เจ้าหนี้ก็ไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดได้ ทำให้เจ้าหนี้หมดสิทธิได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 90/61 การที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการหรือไม่จึงมิใช่เพราะหนี้นั้นเป็นมูลหนี้ตามคำพิพากษาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องประกอบด้วยการพิสูจน์หนี้ของเจ้าหนี้ การสอบสวนและคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ รวมทั้งคำสั่งของศาลในกรณีมีผู้ยื่นคำร้องคัดค้านเป็นสำคัญ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ คำพิพากษานั้นย่อมมีผลผูกพันลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145ไปจนกว่าจะถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรืองดเสียโดยศาลที่มีศักดิ์สูงกว่าเจ้าหนี้จึงนำมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมารับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้
คดีที่ลูกหนี้อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลล้มละลายกลางเรื่องขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียงฉบับละ 25 บาท เท่านั้น ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 179(2) ประกอบด้วยมาตรา 90/2 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6722/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าหนี้มีประกันเลือกใช้สิทธิได้ระหว่างมาตรา 95 (สิทธิเหนือทรัพย์สิน) หรือมาตรา 96 (ขอรับชำระหนี้) แต่ใช้สิทธิแล้วสิทธิเดิมสิ้นสุด
ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ เจ้าหนี้มีประกันมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ 2 วิธี วิธีแรก เจ้าหนี้มีประกันใช้สิทธิตามมาตรา 95 โดยถือสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันโดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย แต่ต้องยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจดูทรัพย์สินนั้น และหากบังคับชำระหนี้เหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้เจ้าหนี้มีประกันย่อมหมดสิทธิขอรับชำระหนี้ที่ขาดอยู่จากทรัพย์สินอื่นวิธีที่สอง เจ้าหนี้มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใต้เงื่อนไข 4 ประการ ประการใดประการหนึ่งตามมาตรา 96ภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามมาตรา 91 และในคดีนี้ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96 หากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ผู้ร้องย่อมมีสิทธิขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ขาดอยู่ได้ ซึ่งเจ้าหนี้มีประกันชอบที่จะเลือกใช้สิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา 95 หรือมาตรา 96 มาตราใดมาตราหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นเมื่อผู้ร้องเลือกใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96(3) แล้ว ผู้ร้องย่อมหมดสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันตามมาตรา 95อีกต่อไป
การใช้สิทธิตามมาตรา 95 เจ้าหนี้มีประกันไม่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้เพียงแจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบว่าจะถือเอาสิทธิเหนือทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน และจะต้องยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าตรวจดูทรัพย์สินเท่านั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่มีอำนาจออกคำสั่งให้เจ้าหนี้มีประกันผู้เลือกใช้สิทธิตามมาตรา 95 ได้รับชำระหนี้หรือไม่ คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่เคยอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 95 จึงไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3017/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้ตามคำพิพากษา vs. การฟ้องล้มละลาย: ผลกระทบต่อการขอรับชำระหนี้
กำหนดระยะเวลาบังคับคดี 10 ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 จะนำมาใช้กับกรณีที่เจ้าหนี้นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาคดีแพ่งมาฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลายแล้วขอรับชำระหนี้ไม่ได้ เพราะมิใช่เรื่องร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาคดีแพ่งแต่เป็นเรื่องการนำเอาสิทธิเรียกร้องที่มีอยู่มาใช้บังคับแก่ลูกหนี้ จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับเรื่องอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/32 ซึ่งบัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดให้มีกำหนดอายุความ 10 ปี เมื่อเจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้ให้เป็นบุคคลล้มละลายโดยอาศัยมูลหนี้ตามคำพิพากษาไม่เกินกำหนดระยะเวลา 10 ปี ย่อมเป็นการฟ้องคดีเพื่อให้ชำระหนี้อย่างหนึ่งตามวิธีการที่พระราชบัญญัติล้มละลายฯ บัญญัติไว้โดยเฉพาะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/14(2) ดังนั้น เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในระหว่างเวลาที่อายุความสะดุดหยุดลง เจ้าหนี้จึงมีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาคดีแพ่งได้ ไม่ต้องห้ามมิให้ได้รับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 94(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7412/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้ตามคำพิพากษาและการขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย: อายุความสะดุดหยุดเมื่อมีการฟ้องคดีล้มละลาย
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2529 ให้ลูกหนี้ชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้ สิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้มีต่อลูกหนี้จึงเกิดขึ้นโดยคำพิพากษาที่ถึงที่สุดมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32 เจ้าหนี้นำเอาหนี้ตามคำพิพากษานี้มาฟ้องขอให้ลูกหนี้ล้มละลายเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม2538 ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี เจ้าหนี้จึงมีสิทธิฟ้องได้ และมีผลเท่ากับเป็นการฟ้องคดีเพื่อให้ชำระหนี้อย่างหนึ่งตามวิธีการที่พระราชบัญญัติล้มละลายฯ บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ซึ่งทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(2)เมื่อเจ้าหนี้นำหนี้ตามคำพิพากษานี้มายื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อวันที่ 17ตุลาคม 2540 จึงเป็นการขอรับชำระหนี้ในขณะที่อายุความสะดุดหยุดลงย่อมไม่ต้องห้ามมิให้ได้รับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯมาตรา 94(1) กรณีมิใช่เป็นการที่เจ้าหนี้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาที่จะต้องนำเอาระยะเวลาบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 271 มาปรับใช้แก่กรณีนี้
of 8