คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
คดีก่อนหน้า

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 21 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2068/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับโทษต่อจากคดีก่อนหน้า: ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการนับโทษตามหมายเลขคดีที่จำเลยรับว่าเป็นบุคคลเดียวกัน ไม่เกินคำขอ แม้ พ.ศ. ในคำฟ้องจะคลาดเคลื่อน
โจทก์บรรยายคำฟ้องว่า จำเลยเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 307/2546 ของศาลชั้นต้น ขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีดังกล่าว แต่ศาลชั้นต้นนับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 307/2547 คดีหมายเลขแดงที่ 261/2547 ของศาลชั้นต้นโดยจำเลยรับว่า เป็นบุคคลเดียวกับจำเลยที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อและคดีที่ศาลชั้นต้นให้นับโทษต่อมีชื่อตรงกับจำเลย ฐานความผิดก็ตรงกับคดีนี้ เมื่อคดีนี้เป็นหมายเลขดำที่ 309/2547 หมายเลขแดงที่ 262/2547 ของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาต่อจากคดีที่ขอให้นับโทษต่อ ศาลชั้นต้นจึงนับโทษต่อตามหมายเลขคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ตรงตามความจริงที่จำเลยเป็นบุคคลเดียวกับคดีที่ขอให้นับโทษต่อได้ ส่วนการที่โจทก์ระบุ พ.ศ. ของคดีหมายเลขดำไม่ตรงกับชื่อของจำเลยเป็นแต่รายละเอียด คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้นับโทษต่อจึงไม่เกินคำขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2167/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับโทษต่อจากคดีก่อนหน้า: การรับสารภาพและการเชื่อมโยงตัวจำเลย
ฟ้องโจทก์ได้ระบุไว้แล้วว่านอกจากจำเลยจะกระทำความผิดในคดีนี้แล้ว ยังได้กระทำความผิดโดยถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7354/2544 ของศาลชั้นต้นด้วย และคำขอท้ายฟ้องได้ขอให้นับโทษคดีนี้ต่อจากโทษในคดีดังกล่าว เมื่อศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลย จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ จึงถือว่าจำเลยรับว่าได้กระทำผิดจริงและเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อด้วย และสำหรับคดีที่โจทก์ฟ้องในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือจำหน่ายโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 66 กำหนดโทษขั้นต่ำ จำคุก 4 ปี ซึ่งเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง โจทก์ไม่จำต้องสืบพยานประกอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 ฉะนั้น ศาลจึงลงโทษและนับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7354/2544 ของศาลชั้นต้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6319/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปลอมเอกสารและการใช้เอกสารปลอม: ประเด็นแตกต่างจากคดีก่อนหน้าไม่ถือเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
ในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยนำสืบพยาน ของตนจนเสร็จสิ้นและแถลงหมดพยานจำเลย อันเป็นการเสร็จการพิจารณาในศาลชั้นต้นแล้ว การที่จำเลยฎีกาขอให้ศาลฎีกาจัดส่งคำร้องขอถอนฟ้องซึ่งพิพาทกันไปตรวจพิสูจน์ว่ามีการกรอกข้อความในแบบคำร้องดังกล่าวก่อนหรือภายหลัง ที่ผู้เสียหายลงลายมือชื่อนั้น เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องขอ อนุญาตระบุพยานเพิ่มเติมในชั้นฎีกาให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาเสียก่อน เมื่อจำเลยมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณา จึงไม่อาจดำเนินการให้ได้ คดีเดิมโจทก์ (ผู้เสียหายในคดีนี้) ยื่นคำร้องขอให้ยกคดี ขึ้นพิจารณาใหม่อ้างเหตุจำเลยปลอมลายมือชื่อโจทก์ในคำร้องขอถอนฟ้อง ซึ่งผลการตรวจพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญของศาลปรากฏว่า เป็นลายมือชื่อของโจทก์ ศาลจึง มีคำสั่งยกคำร้อง แต่คดีนี้พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยว่าจำเลยนำแบบพิมพ์คำร้องของศาลไปให้ผู้เสียหายลงลายมือชื่อโดยที่ยังไม่ได้กรอกข้อความ แล้วจำเลยกรอกข้อความในแบบพิมพ์ คำร้องดังกล่าวว่าผู้เสียหายประสงค์ขอถอนฟ้องอันเป็นเท็จ ต่อมาจำเลยนำคำร้องดังกล่าวไปยื่นแสดงต่อศาล ทำให้ศาลหลงเชื่อว่าเป็นความจริงการกระทำของจำเลยเป็นการปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมขอให้ลงโทษจำเลยในทางอาญา กรณีเห็นได้ว่า ศาลในคดี เดิมได้ดำเนินกระบวนพิจารณาในประเด็นที่ว่ามีเหตุให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่เพราะจำเลยปลอมลายมือชื่อโจทก์ในคำร้องขอถอนฟ้องหรือไม่ แต่คดีนี้เป็นเรื่องความรับผิด ในทางอาญาว่าจำเลยได้กระทำความผิดโดยกรอก ข้อความลงในแบบคำร้องซึ่งมีลายมือชื่อของผู้เสียหายว่าผู้เสียหายประสงค์ขอถอนฟ้องโดยไม่ได้รับความยินยอมของผู้เสียหาย แล้วนำคำร้องดังกล่าวไปยื่นต่อศาลอันเป็นการปลอมเอกสาร และใช้เอกสารปลอมตามฟ้องหรือไม่ประเด็นแห่งคดีจึงแตกต่างกันฟ้องของโจทก์คดีนี้จึง ไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7448/2538 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้สิทธิทางศาลเพื่อยืนยันกรรมสิทธิ์จากการครอบครองปรปักษ์ แม้คดีก่อนหน้าได้วินิจฉัยแล้ว ไม่ถือเป็นการฟ้องซ้ำ
คดีเดิมมีประเด็นว่า ผู้คัดค้านทั้งสองฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากผู้ร้องได้หรือไม่ แม้ผู้ร้องจะให้การสู้คดีว่า ผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์แล้ว ผู้คัดค้านทั้งสองจึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายและศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ว่า ผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ จนได้กรรมสิทธิ์หรือไม่ ซึ่งศาลพิพากษายกฟ้องโดยฟังว่า ผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์แล้วก็ตาม แต่เรื่องดังกล่าวเป็นเพียงประเด็นที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดี ส่วนคดีนี้เป็นเรื่องที่ผู้ร้องจำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 โดยอาศัยข้อวินิจฉัยจากผลของคำพิพากษาในคดีก่อน ขอให้ศาลสั่งว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองเพื่อจะได้นำคำสั่งศาลไปดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนตามประมวลกฎหมายที่ดิน มิใช่กรณีที่มารื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน คดีของผู้ร้องจึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3796/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลคำพิพากษาผูกพันคู่ความเดิม: คำพิพากษาถึงที่สุดในคดีก่อนหน้าเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดินมีผลผูกพันผู้ร้อง
สามีของผู้ร้องและบุตรของผู้ร้องอีก 4 คนได้ร่วมกันฟ้องผู้ประกันเกี่ยวกับที่พิพาท ศาลฎีกาพิพากษาว่าที่พิพาทในคดีนี้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่พิพาทในคดีดังกล่าวเป็นของผู้ประกันต่อมาผู้ประกันได้ฟ้องขับไล่ผู้ร้องและบุตรออกจากที่พิพาทศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้พิพากษาถึงที่สุดว่าที่พิพาทเป็นของผู้ประกันให้ขับไล่ผู้ร้องและพวกผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงผูกพันผู้ร้อง ซึ่งเป็นคู่ความในคดีนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 วรรคแรก ผู้ร้องจะกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ผู้ประกันจึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2447/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับโทษต่อคดีอาญาอื่นเมื่อจำเลยได้รับโทษจำคุกในคดีก่อนหน้า
จำเลยใช้ไม้ตีทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย 2 ครั้ง เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะและแขนซ้าย แพทย์ตรวจร่างกายผู้เสียหายด้วยวิธีฉายเอกซเรย์พบว่ากระดูกปลายแขนซ้ายหักและมีความเห็นว่าต้องใช้เวลารักษา6 สัปดาห์ ผู้บังคับบัญชาของผู้เสียหายได้อนุญาตให้ผู้เสียหายลาป่วยจนกว่าจะหายเป็นปกติ จึงฟังได้ว่าผู้เสียหายป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาหรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน เป็นอันตรายสาหัสตาม ป.อาญา มาตรา 297 (8)
คดีนี้โจทก์ได้มีคำขอท้ายฟ้องให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 893/2534 และหมายเลขดำที่ 57/2535ของศาลชั้นต้นไว้แล้ว แต่ศาลชั้นต้นนับโทษต่อจากคดีดังกล่าวไม่ได้ เพราะคดีดังกล่าวนั้นศาลยังมิได้มีคำพิพากษา โจทก์ฎีกาขอให้นับโทษจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาทั้งสองสำนวนดังกล่าว โดยอ้างว่าคดีทั้งสองสำนวนนั้น ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยแล้ว เป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 637/2536และหมายเลขแดงที่ 1079/2535 ของศาลชั้นต้น ตามลำดับ จำเลยมิได้แก้ฎีกาปฏิเสธข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงฟังได้ว่าคดีทั้งสองสำนวนดังกล่าวศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยแล้วจริง ศาลฎีกาย่อมพิพากษาให้นับโทษต่อกันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1923/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวางเพลิงทำลายเอกสารราชการโดยมีพิรุธจากพฤติการณ์และการถูกฟ้องคดีก่อนหน้า
วันเกิดเหตุซึ่งเป็นเวลาใกล้ชิดกับเหตุเพลิงไหม้ จำเลยเป็นคนสุดท้ายที่เปิดประตูเข้าไปในสำนักงานที่ดิน โดยเข้าออกหลังเลิกงานซึ่งมีการปิดประตูหน้าต่างเรียบร้อยแล้วและเป็นเวลาก่อนเกิดเหตุไม่นาน ก่อนเกิดเหตุจำเลยถูกราษฎรฟ้องคดีอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการออก น.ส.3 ทับที่ดินผู้อื่น จำเลยย่อมต้องได้รับความเดือดร้อนจากการปฏิบัติหน้าที่อันเกี่ยวกับการมีอยู่ของเอกสารบางฉบับซึ่งอยู่ในความครอบครองของทางราชการ นับแต่จำเลยถูกฟ้องเป็นต้นมาจำเลยมีพฤติการณ์เข้าไปมีส่วนได้เสียกับแผนที่ระวาง ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญเกี่ยวข้องกับการออก น.ส.3 การเผาทำลายเอกสารครั้งนี้ย่อมเล็งเห็นเจตนาของผู้กระทำได้ว่ามุ่งหมายจะทำลายเอกสารทั้งหมด เพื่อไม่ต้องการให้เอกสารฉบับใดฉบับหนึ่ง ใช้เป็นพยานหลักฐานยันตนในการกระทำอันฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ประกอบกับพฤติการณ์ของจำเลยที่เข้าไปในสำนักงานที่ดินเป็นคนสุดท้ายก่อนเกิดเพลิงไหม้ไม่นาน แม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้วางเพลิง แต่จากพยานแวดล้อมกรณีมีน้ำหนักมั่นคงฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้วางเพลิงเผาทรัพย์รายนี้เป็นเหตุให้ ส.ค.1 ประมาณ 30 แฟ้มและเพดานห้องบางส่วนบนอาคารสำนักงานที่ดินได้รับความเสียหาย จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 819/2533 เวอร์ชัน 4 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องขับไล่และการเรียกค่าเสียหายจากการละเมิดสิทธิในทรัพย์สิน โดยคดีก่อนหน้าไม่เป็นอุปสรรค
จำเลยฟ้อง ป. เป็นจำเลยต่อศาลว่า ป. ทำสัญญาให้จำเลยเช่าตึกแถวพิพาทแล้วไม่จดทะเบียนการเช่าให้ ขอให้พิพากษาบังคับให้ ป. จดทะเบียนการเช่าตึกแถวพิพาทให้แก่จำเลยซึ่งโจทก์มิใช่คู่ความในคดีดังกล่าว แม้ศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ก็ไม่เป็นการห้ามมิให้โจทก์ซึ่งรับโอนกรรมสิทธิ์ตึกแถวพิพาทจาก ป. ฟ้องขับไล่จำเลยเป็นคดีนี้ ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าว
โจทก์ฟ้องขับไล่ อ. ออกจากตึกแถวพิพาท เมื่อศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี โจทก์จึงยื่นคำร้องต่อศาลว่าจำเลยเป็นบริวารของ อ. ขอให้ออกหมายบังคับคดีให้จำเลยออกไปจากตึกแถวพิพาท จำเลยยื่นคำร้องคัดค้านว่า จำเลยได้เช่าตึกแถวพิพาทจาก ป. และศาลพิพากษาให้ ป. จดทะเบียนสิทธิการเช่าให้แก่จำเลยแล้วจำเลยไม่ใช่บริวารของ อ. การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีให้จำเลยออกจากตึกแถวพิพาทโดยอ้างว่าจำเลยเป็นบริวารของ อ. ในคดีดังกล่าว และศาลก็ยังไม่มีคำสั่งชี้ขาดว่าจำเลยเป็นบริวารของ อ. หรือไม่ มิใช่เป็นการยื่นฟ้องคดีต่อศาล ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของตึกแถวพิพาท จำเลยไม่มีสิทธิอยู่ในตึกแถวดังกล่าวขอให้ขับไล่ จึงมิใช่เป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันกับคดีดังกล่าวคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีดังกล่าว
จำเลยอยู่ในตึกแถวพิพาทเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของตลอดเวลาที่จำเลยยังอยู่ในตึกแถวของโจทก์ โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายนับถึงวันฟ้องเป็นเวลา 1 ปี คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4891/2533

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาโทษจำคุกจากคดีก่อนหน้าและการได้รับประโยชน์จาก พรบ.ล้างมลทิน
จำเลยและโจทก์ร่วมสมัครใจด่าทอซึ่งกันและกันก่อนเกิดเหตุแล้วจำเลยจึงใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยเช่นนี้ถือไม่ได้ว่ากระทำไปเพราะบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม เมื่อคดีก่อนจำเลยกระทำผิดก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2530และพ้นโทษไปก่อนแล้ว จำเลยย่อมได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระชนมพรรษา 60 พรรษา พ.ศ. 2530 มาตรา 4 ถือว่าจำเลยไม่เคยถูกลงโทษในความผิดดังกล่าว จึงเพิ่มโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ไม่ได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2809/2523

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ: คดีก่อนหน้าไม่ผูกพันวัดโจทก์ แม้ที่ดินพิพาทเดียวกัน
จำเลยคดีนี้เคยเป็นโจทก์ฟ้อง ว. กับพวกเกี่ยวกับที่พิพาทแปลงเดียว กันนี้ ว. กับพวกให้การว่าเป็นกรรมการวัดโจทก์คดีนี้ ที่พิพาทเป็นของวัด ต่อมาได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยยอมรับว่าที่พิพาทเป็นของ โจทก์ไม่ขอเกี่ยวข้องต่อไป ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดแล้ว วัดโจทก์ไม่เคยเป็นคู่ความเดียวกันกับคู่ความในคดีก่อนจึงฟ้องคดีนี้ขอให้พิพากษาว่าที่พิพาทเป็นที่ธรณีสงฆ์ ห้ามจำเลยกับบริวารเกี่ยวข้องได้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ
of 3