คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ความชอบด้วยกฎหมาย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 178 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8072/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องเพิกถอนคำสั่งแพทยสภา และความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งลงโทษ
จำเลยที่ 1 ในฐานะสภานายกพิเศษแห่งแพทยสภา มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบกับการวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องการลงโทษผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม ฯ มาตรา 25 วรรคหนึ่ง (4) จำเลยที่ 2 ในฐานะนายกแพทยสภาเป็นประธานคณะกรรมการแพทยสภาโดยตำแหน่ง และเป็นผู้แทนแพทยสภาในกิจการต่าง ๆ ตามมาตรา 22 (1) (ก) (ข) (ค) ส่วนจำเลยที่ 3 ในฐานะเลขาธิการแพทยสภาเป็นเลขานุการคณะกรรมการแพทยสภาตามมาตรา 22 (4) (จ) เมื่อคณะกรรมการแพทยสภาซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นประธานและจำเลยที่ 3 เป็นเลขานุการได้ใช้อำนาจวินิจฉัยชี้ขาดว่ากล่าวตักเตือนโจทก์ทั้งสี่ตามมาตรา 39 วรรคสาม (2) และจำเลยที่ 1 ได้ให้ความเห็นชอบตามมาตรา 25 แล้วจึงต้องออกเป็นคำสั่งแพทยสภาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 39 วรรคสี่ ดังนั้น จำเลยทั้งสามจึงมีหน้าที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายในการทำคำสั่งลงโทษว่ากล่าวตักเตือนโจทก์ทั้งสี่โดยตรง เพียงแต่มาตรา 39 วรรคสี่ ให้ทำเป็นคำสั่งแพทยสภา จำเลยทั้งสามหาใช่บุคคลภายนอกที่ศาลไม่อาจออกคำบังคับตามคำขอของโจทก์ทั้งสี่ได้ โจทก์ทั้งสี่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งแพทยสภาดังกล่าวได้
การลงมติและการทำคำสั่งลงโทษว่ากล่าวตักเตือนโจทก์ทั้งสี่เป็นการใช้ดุลพินิจตามข้อเท็จจริงจากการสอบสวนของคณะกรรมการแพทยสภา เมื่อไม่ปรากฏว่าเป็นไปโดยไม่สุจริตหรือเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสี่ มติและคำสั่งดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายอันเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม ฯ มาตรา 39 วรรคสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7982/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความชอบด้วยกฎหมายของฟ้องคดีอาญา แม้ไม่ได้ระบุรายละเอียดกฎกระทรวงออกตามกฎหมาย
ตามบันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาของโจทก์และคำฟ้องที่ศาลชั้นต้นทันทึกไว้ โจทก์ได้ระบุการกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดโดยบรรยายว่าจำเลยได้ขับรถจักรยานยนต์โดยไม่ติดเครื่องหมายคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ทั้งได้อ้างพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 11, 60 มาในคำขอท้ายฟ้องด้วย แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่ารัฐมนตรีผู้มีอำนาจหน้าที่ได้ออกกฎกระทรวงกำหนดให้ต้องมีและแสดงเครื่องหมายดังกล่าวแล้ว ก็ไม่ถือว่าฟ้องของโจทก์ขาดข้อความสำคัญซึ่งเป็นองค์ประกอบของความผิด ฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวีธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 19 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7982/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความชอบด้วยกฎหมายของฟ้องคดีอาญาฐานไม่ติดเครื่องหมายคุ้มครองผู้ประสบภัย แม้ไม่ได้ระบุรายละเอียดกฎกระทรวง
บันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาของโจทก์และคำฟ้องที่ศาลชั้นต้นได้บันทึกไว้ ปรากฏว่าโจทก์ได้ระบุฐานความผิดในข้อหาใช้รถไม่ติดเครื่องหมายคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ระบุข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ รวมทั้งการกระทำที่อ้างว่าจำเลยกระทำความผิด โดยบรรยายว่าจำเลยขับรถจักรยานยนต์คันที่กล่าวในฟ้องโดยไม่ติดเครื่องหมายคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ทั้งได้อ้าง พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 11, 60 ซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดมาในคำขอท้ายฟ้องด้วย แม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายฟ้องว่ารัฐมนตรีผู้มีอำนาจหน้าที่ได้ออกกฎกระทรวงกำหนดให้ต้องมีและแสดงเครื่องหมายดังกล่าว ก็ไม่ถือว่าฟ้องของโจทก์ขาดข้อสำคัญซึ่งเป็นองค์ประกอบของความผิด ทั้งถ้อยคำที่ว่า อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายก็มีความหมายแสดงโดยปริยายว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎกระทรวงดังกล่าวด้วย ถือว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องชัดเจนเพียงพอให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดีแต่อย่างใด ฟ้องของโจทก์สำหรับความผิดฐานนี้ จึงชอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 19 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5622/2548 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำให้การไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ส่งผลต่อความชอบด้วยกฎหมายของคำพิพากษา
คำให้การจำเลยไม่มีลายมือชื่อจำเลยหรือทนายจำเลยผู้ยื่นคำให้การ จึงเป็นคำคู่ความที่ไม่บริบูรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 67 (5) การที่ทนายจำเลยลงลายมือชื่อในช่องหมายเหตุท้ายคำให้การจำเลยแผ่นแรกไม่ใช่เป็นการลงลายมือชื่อในคำคู่ความตามความหมายของ ป.วิ.พ. มาตรา 67 (5) การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีไปโดยไม่แก้ไขข้อบกพร่องของคำคู่ความดังกล่าวให้บริบูรณ์เสียก่อนจึงเป็นการไม่ชอบและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ควรพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพื่อให้ศาลชั้นต้นแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวแล้วพิพากษาใหม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ชี้ขาดตัดสินฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ไปโดยที่ยังมิได้มีการแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบเช่นเดียวกัน ศาลฎีกาย่อมยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 เพื่อให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง โดยให้จำเลยลงลายมือชื่อในคำให้การเสียให้บริบูรณ์ตามกฎหมายแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4232/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นบัญชีทรัพย์สินหลังพ้นตำแหน่งกรรมการพรรค: ความชอบด้วยกฎหมายของฟ้องและกรอบเวลา
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นกรรมการบริหารสาขาพรรคเกษตรกร สาขาลำดับที่ 50 ได้ลาออกและถือว่าพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2545 ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 42 วรรคหนึ่ง จำเลยต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อนายทะเบียนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง จำเลยพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2545 จำเลยจึงมีสิทธิที่จะยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินได้ภายในสามสิบวัน ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2545 ถึงวันที่ 19 มิถุนายน 2545 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/3 วรรคสอง ที่โจทก์บรรยายฟ้องต่อมาว่า ในระหว่างวันที่ 20 พฤษภาคม 2545 ถึงวันที่ 18 มิถุนายน 2545 จำเลยไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองแม้การกระทำของจำเลยในช่วงเวลาตามฟ้องดังกล่าวยังไม่เป็นความผิด เพราะอยู่ในเงื่อนเวลาสามสิบวัน ซึ่งให้จำเลยยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน แต่โจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องต่อมาว่า การที่จำเลยไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินภายในสามสิบวันนับแต่วันพ้นจากตำแหน่งเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 42 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ถือได้ว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาที่จำเลยกระทำความผิดพอสมควรให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3488/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคดีหลังจำเลยเสียชีวิต: ผลต่อความชอบด้วยกฎหมายของการอ่านคำพิพากษา
จำเลยถึงแก่กรรมในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ศาลชั้นต้นต้องส่งคำร้องขอให้หมายเรียกทายาทเข้ามาเป็นคู่ความแทนจำเลยผู้มรณะไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 5 เพื่อพิจารณาสั่ง แต่ศาลชั้นต้นมิได้ส่งคำร้องไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 5 จนกระทั่งศาลอุทธรณ์ภาค 5 ทำคำพิพากษาเสร็จแล้วส่งมาให้ศาลชั้นต้นอ่านจึงถือไม่ได้ว่าศาลอุทธรณ์ภาค 5 ทราบเรื่องจำเลยมรณะอันจะทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไปโดยทราบแล้วว่าจำเลยมรณะและยังไม่มีผู้เข้าเป็นคู่ความแทนเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้เพิกถอนการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 แล้วให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 เพื่อดำเนินการตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 ต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1900/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้า: สิทธิเหนือเครื่องหมายการค้าเดิมและการจดทะเบียนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า "diamond" สำหรับสินค้าโช้คอัพประตูไว้ก่อนที่จำเลยที่ 3 จะยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า "diamond" สำหรับสินค้าโช้คอัพประตูกับสินค้าโครงฝ้าเพดานทำด้วยโลหะลูกเลื่อนประตูทำด้วยโลหะและลูกเลื่อนหน้าต่างทำด้วยโลหะ เมื่อเครื่องหมายการค้าที่โจทก์กับที่จำเลยที่ 3 ยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า โจทก์ซึ่งยื่นคำขอจดทะเบียนไว้ก่อนจึงเป็นผู้มีสิทธิได้รับการจดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า เว้นแต่จำเลยที่ 2 จะมีคำสั่งให้โจทก์กับจำเลยที่ 3 ตกลงกันเองก่อน ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 24 หรือเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 เห็นว่าต่างฝ่ายต่างได้ใช้เครื่องหมายการค้ากันมาแล้วด้วยกันโดยสุจริตตามมาตรา 27 แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้ดำเนินการตามมาตรา 24 หรือมาตรา 27 แต่อย่างใด เนื่องจากมีเหตุบกพร่องในการตรวจสอบข้อมูลเครื่องหมายการค้าเพราะความขัดข้องของระบบคอมพิวเตอร์ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้แก่จำเลยที่ 3 จึงเป็นการจดทะเบียนที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 20 อันจะต้องเพิกถอนการจดทะเบียนที่ไม่ชอบเสียทั้งหมด แม้จำเลยที่ 3 จะได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าบางรายการที่แตกต่างกับที่โจทก์ขอจดทะเบียนไว้ก็ตาม
โจทก์ได้ร้องขอต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 แล้ว แต่การร้องขอดังกล่าวเป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนไว้นั้นเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้แล้ว จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกัน ตามมาตรา 61 ส่วนการที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องต่อศาลเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 3 ได้จดทะเบียนไว้ดีกว่าจำเลยที่ 3 ตามมาตรา 67 ซึ่งเป็นการอ้างเหตุแห่งการเพิกถอนที่แตกต่างกัน การที่โจทก์ได้ร้องขอให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 จึงไม่เป็นการต้องห้ามมิให้โจทก์พิสูจน์ว่ามีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าและร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7983/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนสหภาพแรงงานชอบด้วยกฎหมายเมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าผู้ยื่นคำขอเป็นลูกจ้าง
จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นนายทะเบียนตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ได้รับจดทะเบียนจัดตั้งสหภาพแรงงานกรีนไลน์ ซึ่งมี ส. กับพวก รวม 11 คน เป็นผู้ยื่นคำขอ โดยมีเอกสารประกอบคำขอครบถ้วน ทั้งผู้เริ่มก่อการยืนยันว่าเป็นลูกจ้างโจทก์โดยมีหนังสือสัญญาจ้างขนส่งน้ำมันระหว่างผู้เริ่มก่อการกับโจทก์ ต่อมาสหภาพแรงงานกรีนไลน์ได้จัดประชุมใหญ่สามัญครั้งแรกและยื่นขอจดทะเบียนกรรมการสหภาพและข้อบังคับสหภาพต่อสำนักงาน สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ จำเลยมีหนังสือสอบถามโจทก์ว่า ผู้ขอจดทะเบียนเป็นลูกจ้างของโจทก์จริงหรือไม่ โจทก์มีหนังสือตอบปฏิเสธ สหภาพแรงงานกรีนไลน์ได้ยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างแต่มิได้เจรจา เกิดเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 23 คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์วินิจฉัยว่า ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับพนักงานขับรถขนส่งน้ำมันมีฐานะเป็นนายจ้าง ลูกจ้าง อันมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงาน ดังนี้ เมื่อเกิดข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ และคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้มีคำวินิจฉัยแล้ว โจทก์และสหภาพแรงงานกรีนไลน์ต่างมีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำวินิจฉัยต่อรัฐมนตรีภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำวินิจฉัย กรณีที่มิได้อุทธรณ์ภายในกำหนด คำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดังกล่าวย่อมเป็นที่สุด ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องและฝ่ายรับข้อเรียกร้องต้องปฏิบัติตาม ตามนัย พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 23 ดังนั้น เมื่อโจทก์มิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด คำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ย่อมเป็นที่สุด ข้อเท็จจริงย่อมฟังเป็นยุติว่า นายสังเวียนกับพวกรวม 11 คน ที่ยื่นคำขอจดทะเบียนสหภาพแรงงานกรีนไลน์นั้นเป็นลูกจ้างโจทก์ การรับจดทะเบียนจัดตั้งสหภาพแรงงานกรีนไลน์ของจำเลยทั้งสี่จึงชอบด้วยกฎหมายแรงงานสัมพันธ์แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8075/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับจำนอง: ข้อผิดพลาดในการระบุหมายเลขห้องชุดในหนังสือบอกกล่าว ไม่ทำให้การบังคับจำนองเป็นโมฆะ
จำเลยทั้งสองทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ โดยจำนองห้องชุดเลขที่ 181/289 ตำบลบางแค อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร เป็นประกันหนี้ แต่จำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงมีหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองภายใน 30 วัน ย่อมมีความหมายชัดแจ้งว่าโจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้และจัดการไถ่ถอนจำนองภายในเวลาที่กำหนด เมื่อไม่ปรากฏว่า จำเลยทำสัญญาจำนองทรัพย์สินรายอื่นเป็นประกัน ทรัพย์ที่โจทก์จะบังคับจำนองย่อมหมายถึงห้องชุดเลขที่ 181/289 การที่หนังสือบอกกล่าวของโจทก์ระบุหมายเลขห้องชุดเป็นห้องชุดเลขที่ 0289 ตำบลบางแค อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร น่าจะเป็นเพียงการพิมพ์หมายเลขคลาดเคลื่อนเท่านั้น หามีผลทำให้หนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด คำบอกกล่าวบังคับจำนองของโจทก์ชอบด้วยมาตรา 728 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7568/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งข้อหาเพิ่มเติมโดยไม่แจ้งสิทธิในการปฏิเสธไม่กระทบความชอบด้วยกฎหมายของการสอบสวน
การที่จำเลยใช้เหล็กขูดชาฟท์ยาว 1 คืบ แทงที่บริเวณลิ้นปี่ของผู้เสียหายนั้นอาจเป็นความผิดฐานทำร้ายร่ายกายผู้อื่นจนได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ หรือรับอันตรายสาหัส หรือพยายามฆ่าผู้อื่นอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ เมื่อพนักงานสอบสวนได้สอบสวนถึงการกระทำนั้นของจำเลย ทั้งมีการแจ้งข้อหาแก่จำเลยตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 แล้ว แต่การแจ้งข้อหาก็หาได้หมายความว่าพนักงานสอบสวนจำต้องแจ้งข้อหา ทุกกระทงความผิดที่เกี่ยวกับการกระทำอันเดียวกันไม่ ซึ่งในการสอบสวนจำเลยครั้งแรกพนักงานสอบสวนได้แจ้ง ข้อหาฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจให้จำเลยทราบแล้วว่าคำให้การอาจใช้ยันจำเลย ในชั้นพิจารณาของศาลได้และจำเลยให้การปฏิเสธ แม้จะมีการสอบสวนโดยแจ้งข้อหาเพิ่มเติมแก่จำเลยอีกสองครั้ง แต่พนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งแก่จำเลยว่าคำให้การเพิ่มเติมอาจใช้ยันจำเลยในชั้นพิจารณาได้ มิได้ทำให้การสอบสวนของพนักงานสอบสวนเป็นการไม่ชอบเพราะบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 เพียงแต่บัญญัติว่าคำให้การจำเลยไม่อาจใช้ยันจำเลยในชั้นพิจารณาได้เท่านั้น ซึ่งตามคำให้การเพิ่มเติมของจำเลยอีกสองครั้ง ก็มีเพียงว่า ขอให้การปฏิเสธตามที่ให้การในครั้งแรก จึงไม่มีข้อความใดที่จะใช้ยันจำเลย
of 18