คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ชดใช้ค่าสินไหม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 24 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4823/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดจากการจดทะเบียนขายฝากผิดพลาด เจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานที่ดิน มีหน้าที่รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้แก่ที่ดินของประชาชนในเขตพื้นที่ เมื่อปรากฏหลักฐานชัดแจ้งในสารบัญจดทะเบียนทั้งในโฉนดที่ดินฉบับหลวงและฉบับเจ้าของว่าที่ดินที่โจทก์ผู้รับซื้อฝากและ น. ผู้ขายฝากมายื่นคำร้องขอจดทะเบียนขายฝากต่อจำเลยที่ 1 เป็นที่ดินที่ น. ผู้ขายฝากได้มาโดยการเช่าซื้อจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม อันตกอยู่ในบังคับห้ามโอนตามมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ โดยวิสัยของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินของกรมที่ดินจำเลยที่ 2 ย่อมทราบและตระหนักดีว่าจะรับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมการขายฝากให้แก่โจทก์และ น. ไม่ได้ เพราะเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แต่จำเลยที่ 1 กลับดำเนินการรับจดทะเบียนการขายฝากให้การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการของกรมที่ดิน จำเลยที่ 2 โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420
โจทก์ลงชื่อรับรองข้อความด้านหลังสัญญาขายฝากที่ดินว่าในการทำสัญญาโจทก์ได้ติดต่อกับเจ้าของที่ดินโดยตรง หากเกิดการผิดพลาดและผิดตัวเจ้าของที่ดินโจทก์ขอรับผิดเองไม่เกี่ยวแก่พนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ข้อความระบุไว้ชัดเฉพาะกรณีเกิดการผิดตัวเจ้าของที่ดินผู้เป็นคู่สัญญาเท่านั้น หามีผลคุ้มครองถึงการปฏิบัติหน้าที่ผิดของพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนในกรณีอื่นนอกจากนี้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าหนังสือสัญญาขายฝากที่โจทก์ทำกับ น. เป็นโมฆะต้องถูกเพิกถอนเป็นความเสียหายเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการของจำเลยที่ 2 และพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ในฐานะหน่วยงานของรัฐรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์จึงชอบด้วย พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ มาตรา 5 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2345/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องละเมิดของเจ้าหน้าที่ & ความรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน: ศาลฎีกาวินิจฉัยอำนาจฟ้องมี & กำหนดชดใช้ตามคณะกรรมการ
เทศบาลโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเลินเล่อ โดยจำเลยเป็นนิติกร 4 ย่อมรู้ดีว่าถ้ามิได้ใช้สิทธิเรียกร้องภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เป็นอันขาดอายุความ เมื่อจำเลยมีหน้าที่จัดเตรียมเอกสารหลักฐานต่างๆ และประสานกับพนักงานอัยการในการส่งเอกสารเพิ่มเติมแล้วนำพยานที่เกี่ยวข้องไปสอบข้อเท็จจริงและรับรองเอกสาร จำเลยกลับปล่อยปละละเลยโดยไม่รีบดำเนินการจัดหา เร่งรัด และติดตามเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกสารหลักฐานต่างๆ ไปส่งให้พนักงานอัยการดำเนินคดีแก่ผู้รับประเมินซึ่งค้างชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี รวมค่าภาษีและเงินเพิ่มเป็นเงิน 429,000 บาท จนเป็นเหตุให้คดีขาดอายุความ ตามพฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวพอแปลความได้ว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่ไปด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงแล้ว ทั้ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง เป็นเพียงบทบัญญัติให้สิทธิหน่วยงานของรัฐเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่หน่วยงานของรัฐได้ มิใช่บทบังคับโจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐต้องออกคำสั่งทางปกครองให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนเสียก่อนจึงจะมีสิทธิฟ้องจำเลย ดังนี้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 595/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับช่วงสิทธิของบริษัทประกันภัยหลังชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากความประมาทเลินเล่อของจำเลย
วินาศภัยได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลย เมื่อโจทก์ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจำนวนเพียงใด โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อจำเลยเพียงนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคหนึ่ง แม้ว่าหลังจากนั้นจำเลยจะได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ฝ่ายผู้เสียหายไปแล้วก็ตาม ก็หาทำให้สิทธิในการรับช่วงสิทธิของโจทก์ซึ่งมีอยู่แล้วสิ้นไปไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2168/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งไม่ฟ้องทางอาญาไม่ผูกพันคดีแพ่ง การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนประกันภัยและการรับช่วงสิทธิ
แม้จะมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลยในทางอาญา ก็เป็นเรื่องที่พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งสำนวนไปตาม พยานหลักฐานเท่าที่ปรากฏในสำนวนการสอบสวนจะนำมารับฟังเป็นที่ยุติในชั้นพิจารณาของศาลในคดีแพ่งไม่ได้ว่าจำเลย ไม่ได้กระทำละเมิด เมื่อพยาน หลักฐานโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐาน ของจำเลย โจทก์ย่อมเป็นฝ่ายชนะคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1698/2535 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความสัมพันธ์เจ้าหนี้ลูกหนี้เกิดทันทีที่ละเมิด, ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
สภาพการเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ระหว่างผู้ถูกละเมิดคือโจทก์และผู้ต้องรับผิดจากมูลละเมิดคือจำเลย เกิดขึ้นทันทีที่มีการละเมิดขึ้น คำพิพากษาของศาลที่บังคับให้มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่กันมิได้เป็นการก่อให้เกิดหนี้ระหว่างโจทก์จำเลย แต่เป็นการบังคับตามความรับผิดแห่งหนี้ที่โจทก์กับจำเลยได้มีต่อกันจึงถือว่าจำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์นับแต่ขณะที่ลูกจ้างของจำเลยขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อชนท้าย รถยนต์สามล้อที่สามีโจทก์ขับขี่ เป็นเหตุให้สามีโจทก์ถึงแก่ความตายและความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 ก็มิได้ถือเอาคำพิพากษาของศาลให้รับผิดทางแพ่งมาเป็นองค์ประกอบความผิดในทางอาญา โดยเพียงแต่รู้ว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลแล้วกระทำการตามที่บัญญัติไว้ในมาตราดังกล่าวก็ถือว่าเป็นความผิดแล้ว.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8420-8421/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข่มขืนกระทำชำเราโทรมหญิง ร่วมกันพรากผู้เยาว์ และชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
แม้ผู้ร้องที่ 2 มิได้เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องที่ 1 กรณีผู้ร้องที่ 2 จึงมิใช่ผู้ใช้อำนาจปกครองของผู้ร้องที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ เหมือนผู้ร้องที่ 3 ที่เป็นมารดาชอบด้วยกฎหมายอันเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองตามกฎหมายก็ตาม แต่เมื่อผู้ร้องที่ 2 เป็นบิดาที่แท้จริงของผู้ร้องที่ 1 ต้องถือว่าผู้ร้องที่ 2 อยู่ในฐานะผู้ดูแลผู้ร้องที่ 1 และเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานร่วมกันพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดาซึ่งเป็นผู้ดูแลตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคแรกด้วย ผู้ร้องที่ 2 ย่อมมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 811/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์และบุกรุก, การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญา, ค่าฤชาธรรมเนียมคดีแพ่ง
จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาของจำเลยที่ 2 ซื้อบ้านเลขที่ 7 ซึ่งมีลักษณะเป็นห้องแถวไม้และใช้ผนังอาคารไม้ทั้งสองด้านร่วมกันกับบ้านเลขที่ 5 และบ้านเลขที่ 9 - 10 ของโจทก์ร่วม จำเลยทั้งสองต้องการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารของจำเลยที่ 1 เพื่อขยายกิจการค้าขายเครื่องสำอาง จึงได้ว่าจ้างให้ ช. ดำเนินการปรับปรุงโดยจำเลยทั้งสองได้ว่าจ้างให้ ช. รื้อผนังอาคารไม้ซึ่งเป็นผนังร่วมทั้งสองด้านโดยพลการโดยไม่ได้ขออนุญาตจากโจทก์ร่วมหรือแจ้งการรื้อถอนผนังอาคารไม้ซึ่งเป็นผนังร่วมทั้งสองด้านให้โจทก์ร่วมทราบก่อนแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการร่วมกันเข้าไปในบ้านเลขที่ 5 และบ้านเลขที่ 9 - 10 ทั้งสองหลังซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมเพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362 และเป็นการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 364 อีกบทหนึ่งด้วย และเมื่อจำเลยทั้งสองร่วมกระทำผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป การกระทำของจำเลยทั้งสองในความผิดฐานบุกรุกจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) ประกอบมาตรา 362 และมาตรา 364
การที่จำเลยทั้งสองว่าจ้างให้ ช. ปรับปรุงอาคารบ้านเลขที่ 7 ของตนด้วยการก่อสร้างเป็นผนังปูนแทนผนังร่วมไม้ทั้งสองด้านโดยต้องรื้อถอนผนังอาคารไม้เดิมซึ่งเป็นผนังร่วมกับอาคารบ้านเลขที่ 5 และบ้านเลขที่ 9 - 10 ของโจทก์ร่วมทั้งสองหลังย่อมเป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งผนังอาคารไม้ทั้งสองด้านของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย จึงเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358 อีกบทหนึ่ง
จำเลยทั้งสองร่วมกันว่าจ้างให้ ช. ซ่อมแซมปรับปรุงบ้านเลขที่ 7 ของจำเลยที่ 1 โดยให้รื้อฝาผนังร่วมซึ่งเป็นผนังไม้ทั้งสองด้าน และคอยควบคุมดูแลการก่อสร้างอยู่ตลอด จึงทราบว่าการไม่ฉาบปูนผนังอิฐทางด้านบ้านเลขที่ 5 และเลขที่ 9 - 10 ของโจทก์ร่วมเป็นสาเหตุที่ทำให้มีน้ำรั่วซึมเวลาฝนตก การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการสมคบร่วมกันกระทำการรื้อถอนผนังอาคารร่วมทั้งสองด้านซึ่งโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของร่วมด้วย จึงเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดตามมาตรา 83 หาใช่เป็นเพียงผู้ใช้ให้ ช. กระทำความผิดตามมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายอาญาไม่
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีไม่ใช่ค่าเสียหายโดยตรงที่เกิดจากการที่จำเลยทั้งสองบุกรุกและทำให้บ้านทั้งสองหลังของโจทก์ร่วมเสียหาย ส่วนค่าเสียหายต่อจิตใจที่โจทก์ร่วมเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ ซึ่งก็คือค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินนั้น ป.พ.พ. มาตรา 446 กำหนดให้เรียกร้องได้เฉพาะในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยหรือทำให้เขาเสียเสรีภาพเท่านั้น กรณีความเสียหายต่อทรัพย์สิน มาตรา 446 ดังกล่าวไม่เปิดสิทธิให้แก่ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนต่อจิตใจได้
กรณีผู้เสียหายยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่มีนัยสำคัญบ่งชี้ว่าวิธีพิจารณาคดีส่วนแพ่งเช่นว่านี้ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เช่นเดียวกับคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาทั่วไปดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 40 นั่นเอง ดังนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจึงอยู่ในบังคับต้องมีคำพิพากษาสั่งในเรื่องความรับผิดในชั้นที่สุดแห่งค่าฤชาธรรมเนียมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161 ประกอบมาตรา 167 ทั้งนี้ เพราะแม้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 253 คำร้องขอตามมาตรา 44/1 ห้ามมิให้เรียกค่าธรรมเนียมก็ตาม แต่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 158 คำว่า "ผู้ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมศาล" เป็นบทบัญญัติต่อเนื่องมาจากหลักเกณฑ์การขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในการฟ้องหรือต่อสู้คดีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 156 มาตรา 156/1 และมาตรา 157 ก็ตาม แต่ก็ต้องนำมาใช้บังคับแก่กรณีที่ผู้เสียหายใช้สิทธิตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ตนเองอันเป็นคดีส่วนแพ่ง ซึ่งมาตรา 44/1 วรรคสอง บัญญัติให้ถือว่าคำร้องดังกล่าวเป็นคำฟ้องตาม ป.วิ.พ.และผู้เสียหายอยู่ในฐานะโจทก์ในคดีส่วนแพ่งนั้นด้วย ในฐานะที่เป็นกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3397/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับช่วงสิทธิของผู้รับประกันภัยหลังชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และผลของการชำระหนี้บางส่วนโดยจำเลย
คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ก่อวินาศภัย โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ ถ. ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของ ถ. ผู้เอาประกันภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายที่ยังขาดอยู่ได้
บันทึกการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเพียงข้อตกลงระหว่าง ถ. ผู้เอาประกันกับจำเลยเท่านั้น หาใช่สัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่ แม้มูลหนี้ละเมิดระหว่าง ถ. ผู้เอาประกันภัยกับจำเลยจะระงับสิ้นไป ตามบันทึกการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนก็ตาม แต่หามีผลผูกพันโจทก์ซึ่งมิใช่คู่สัญญาไม่ โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของ ถ. ผู้เอาประกันภัยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคหนึ่ง แต่สิทธิของโจทก์มีเท่ากับสิทธิของ ถ. ผู้เอาประกันภัยที่มีอยู่โดยมูลหนี้ต่อจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 226 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10461/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้รับประกันภัยมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ก่อเหตุ หลังชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เอาประกันตามสัญญา
เมื่อโจทก์ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันแล้ว ก็ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยผู้เป็นเจ้าหนี้ได้และชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่ในมูลหนี้ รวมทั้งประกันแห่งหนี้ในนามของตนเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 226 และมาตรา 880 มีความหมายว่าเจ้าหนี้มีสิทธิเพียงใด ผู้รับช่วงสิทธิก็ได้รับสิทธิไปเพียงนั้นเสมอเหมือนกันตามความเสียหายที่แท้จริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8780/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข่มขืนกระทำชำเราโดยใช้กำลังประทุษร้าย ศาลฎีกายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และบังคับชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
จำเลยทั้งสองข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายโดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีอาวุธปืนและมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง ย่อมเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย จิตใจ และเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงของตน จำเลยทั้งสองเป็นผู้ทำละเมิด จึงต้องร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหาย ซึ่งศาลชั้นต้นได้กำหนดค่าสินไหมทดแทนจำนวนที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว จึงเห็นสมควรให้บังคับไปตามนั้น ปัญหาดังกล่าวแม้ผู้เสียหายมิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเพื่อให้เป็นไปตามผลแห่งคดีอาญาได้ เพราะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
of 3