คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ต่างประเทศ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 229 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6818/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบัตรต่างประเทศไม่ได้รับการคุ้มครองในไทย หากไม่ได้จดทะเบียนในไทย ผู้ได้รับอนุญาตใช้สิทธิจากต่างประเทศจึงไม่มีอำนาจฟ้องละเมิดในไทย
สิทธิบัตรที่จะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ ต้องเป็นสิทธิบัตรที่ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรต่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์พร้อมทั้งเปิดเผยรายละเอียดการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ เมื่อผ่านการตรวจสอบว่ามีลักษณะครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว อธิบดีจึงจะออกสิทธิบัตรให้ผู้ขอตามมตรา 33 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว สิทธิบัตรที่ออกโดยอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าวจึงจะได้รับความคุ้มครองในราชอาณาจักรไทยตามทฤษฎีสากลในเรื่องหลักดินแดนซึ่งผู้ทรงสิทธิบัตรจะบังคับใช้สิทธิของตนได้เฉพาะแต่ภายในเขตอำนาจอธิปไตยของประเทศที่ออกสิทธิบัตรนั้นเท่านั้นไม่อาจบังคับใช้สิทธิของตนต่อการกระทำละเมิดเกี่ยวกับสิทธิบัตรที่เกิดขึ้นนอกอาณาเขตของประเทศนั้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4777/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงห้ามแข่งขันต้องระบุขอบเขตพื้นที่ชัดเจน หากมิได้ระบุถือว่าไม่คุ้มครองการแข่งขันในต่างประเทศ
สัญญาจ้าง ข้อ 11 ที่จำเลยตกลงทำสัญญากับโจทก์ว่า ภายในระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของโจทก์ จำเลยจะไม่ไปทำงานกับบริษัทซึ่งเป็นคู่แข่งทางการค้ากับโจทก์หรือกระทำการใดๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในลักษณะที่เป็นการแข่งขันกับธุรกิจการค้าของโจทก์ ข้อห้ามดังกล่าวมิได้กำหนดพื้นที่ กำหนดแต่ระยะเวลาห้ามและการกระทำที่ห้ามซึ่งในคดีนี้คือการเข้าทำงานในบริษัทอื่นที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสายการบินแข่งขันกับโจทก์ เมื่อโจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในประเทศไทย มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทยไม่ปรากฏว่าโจทก์มีสาขาหรือประกอบธุรกิจอยู่ที่เมืองฮ่องกง แม้บริษัท ด. ซึ่งประกอบธุรกิจอยู่ที่เมืองฮ่องกง จะเป็นบริษัทในเครือของโจทก์ บริษัทดังกล่าวก็เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากโจทก์เป็นเอกเทศ ถือไม่ได้ว่าธุรกิจของบริษัท ด. เป็นธุรกิจของโจทก์และไม่ปรากฏว่าบริษัท ด. ประกอบธุรกิจโดยนำผลิตภัณฑ์ของโจทก์ไปจำหน่าย แม้จะมีผู้ประกอบธุรกิจแข่งขันกับบริษัท ด. ก็ไม่มีผลกระทบถึงธุรกิจของโจทก์ การที่จำเลยเข้าทำงานกับบริษัท ว. ซึ่งประกอบธุรกิจอยู่ที่เมืองฮ่องกง จึงไม่เป็นการเข้าทำงานในบริษัทอื่นที่เป็นการแข่งขันกับธุรกิจของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3913/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ: ข้อพิพาทเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าและการตรวจสอบอำนาจอนุญาโตตุลาการ
หนังสือมอบอำนาจของผู้ร้องระบุมอบอำนาจให้ ว. ยื่นฟ้อง ต่อสู้คดีดำเนินการไปจนสำเร็จในศาลทั้งปวงแทนผู้รับมอบอำนาจ ว. จึงมีอำนาจกระทำการแทนผู้รับมอบอำนาจในการยื่นฟ้องและดำเนินคดีในศาลได้ทุกคดีโดยไม่มีกำหนดเวลาจนกว่าผู้มอบอำนาจจะเพิกถอนการมอบอำนาจนั้น
สัญญาการเป็นหุ้นส่วน เป็นสัญญาระหว่างผู้ร้องกับกลุ่มบุคคล กำหนดให้คู่สัญญาก่อตั้งบริษัทขึ้นภายใต้กฎหมายไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตสินค้าภายใต้สลากเครื่องหมายการค้าที่ตกลงกัน และในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเป็นสัญญาระหว่างผู้ร้องกับบริษัทผู้คัดค้าน โดยมีกลุ่มบุคคลลงลายมือชื่อในฐานะส่วนตัว และ อ. ลงลายมือชื่อในฐานะประธานบริษัทผู้คัดค้านซึ่งจะจัดตั้งขึ้นในอนาคต โดยผู้ร้องมีวัตถุประสงค์ในการแต่งตั้งผู้คัดค้านให้เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าภายใต้ใบอนุญาตที่อนุมัติโดยผู้ร้องและภายใต้เครื่องหมายการค้าที่กำหนด สัญญาทั้งสองฉบับจึงเป็นสัญญาที่ผู้ริเริ่มก่อการบริษัทผู้คัดค้านได้กระทำไว้เพื่อก่อตั้งบริษัทผู้คัดค้านเพื่อถือสิทธิตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ เมื่อผู้คัดค้านได้จดทะเบียนเป็นบริษัทตามกฎหมายไทยแล้วก็ได้เข้าถือสิทธิตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิดังกล่าว โดยผลิตและจำหน่ายสินค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวของผู้ร้อง และได้อ้างข้อตกลงที่ให้ระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการตามที่ระบุไว้ในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิขึ้นต่อสู้คดีในศาล กับนำเสนอข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านต่ออนุญาโตตุลการ ดังนี้ถือว่าผู้คัดค้านได้เข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญาดังกล่าว ผู้คัดค้านจึงต้องผูกพันตามสัญญานั้น กรณีถือว่าผู้คัดค้านเข้าเป็นคู่สัญญาโดยชอบและมิได้บกพร่องในเรื่องความสามารถแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3094/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบัตรต่างประเทศ: การคุ้มครองในไทยต้องจดทะเบียนภายในประเทศ แม้ได้รับอนุญาตใช้สิทธิจากเจ้าของสิทธิบัตร
บริษัทโจทก์ไม่เคยยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรในประเทศไทย แต่ได้จดทะเบียนสิทธิบัตรที่ประเทศสหรัฐอเมริกาสิทธิบัตรดังกล่าวจึงย่อมได้รับความคุ้มครองเฉพาะภายในอาณาเขตประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นที่มีกฎหมายยอมรับบังคับให้ แม้โจทก์จะนำสืบว่าเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิบัตรดังกล่าวจากผู้ทรงสิทธิบัตรและมีสิทธิแต่ผู้เดียวในการใช้แบบผลิตภัณฑ์กับผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรหรือขาย มีไว้เพื่อขาย หรือเสนอขายหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ใช้แบบผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรที่จดทะเบียนในประเทศสหรัฐอเมริกาแต่สิทธิแต่ผู้เดียวของโจทก์ดังกล่าวไม่รวมถึงการได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายของประเทศไทย โจทก์จึงมิใช่ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิตามมาตรา 38 แห่ง พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ.2522 เพราะผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิตามมาตรา 38 ต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิจากผู้ทรงสิทธิบัตรที่ออกโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เท่านั้นโจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 33, 63 ประกอบด้วยมาตรา 65 และไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 85

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3094/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบัตรต่างประเทศ: การคุ้มครองในไทยต้องจดทะเบียนภายในประเทศ
โจทก์เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสิทธิบัตรจากผู้ทรงสิทธิบัตรและมีสิทธิแต่ผู้เดียวในการใช้แบบผลิตภัณฑ์กับผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตร หรือขาย มีไว้เพื่อขาย หรือเสนอขาย หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ใช้แบบผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรที่จดทะเบียนในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่สิทธิแต่ผู้เดียวของโจทก์ไม่รวมถึงการได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายของประเทศไทย โจทก์จึงมิใช่ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิตามมาตรา 38 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 เพราะผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิตามมาตรา 38 ต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิจากผู้ทรงสิทธิบัตรที่ออกโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์เท่านั้น โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายที่พึงจะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 33, 63 ประกอบมาตรา 65 และไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 84

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5487/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งมอบเฮโรอีนระหว่างผู้กระทำผิดร่วมกัน และการจำหน่ายยาเสพติดต่างประเทศ
จำเลยกับพวกส่งเฮโรอีนมีน้ำหนักสารบริสุทธิ์ 6,000 กรัม ไปให้ อ. โดยมีเจตนาเพื่อที่จะให้ อ. ส่งมอบแก่ลูกค้าผู้ซื้อต่อไป ดังนั้น ระหว่างจำเลยกับ อ. ต้องถือว่าเป็นการส่งมอบเฮโรอีนระหว่างผู้กระทำความผิดด้วยกันเองซึ่งไม่ถือว่าเป็นการจำหน่าย จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานจำหน่ายเฮโรอีน แต่การที่จำเลยส่งเฮโรอีนไปยังบริษัท น. ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อส่งมอบให้ อ. จัดส่งให้แก่ลูกค้าต่อไป แสดงว่าจำเลยมีเจตนาจำหน่ายเฮโรอีนและการกระทำของจำเลยเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการดำเนินการส่งมอบเฮโรอีนใกล้ชิดต่อความผิดสำเร็จที่จะเกิดขึ้นถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เลยขั้นตระเตรียมการแล้ว จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเฮโรอีน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1958/2548 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างแรงงานต่างประเทศ: การระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการและการบังคับใช้กฎหมายต่างประเทศ
โจทก์เป็นคนสัญชาติอังกฤษ จำเลยเป็นนิติบุคคลสัญชาติอเมริกัน จดทะเบียนและมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองอีสท์ ออเรนจ์ มลรัฐนิวเจอร์ซี่ ประเทศสหรัฐอเมริกา สัญญาจ้างแรงงานที่โจทก์ทำกับจำเลยนี้ โจทก์ได้ลงลายมือชื่อในประเทศไทย แล้วส่งสัญญาให้จำเลยลงลายมือชื่อในประเทศสหรัฐอเมริกา จึงถือว่าสัญญาจ้างแรงงานฉบับนี้ได้ทำขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งต้องบังคับตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายฯ มาตรา 13 เมื่อพิจารณาสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยแล้ว ได้ตกลงกันในข้อ 21 ว่า ให้สัญญาจ้างแรงงานฉบับนี้อยู่ภายใต้บังคับและการตีความตามกฎหมายของมลรัฐนิวเจอร์ซี่ ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงต้องบังคับตามกฎหมายของมลรัฐนิวเจอร์ซี่ตามเจตนาของโจทก์และจำเลยอันเป็นคู่สัญญา
สัญญาจ้างแรงงานกำหนดให้ข้อพิพาทหรือข้อขัดแย้งที่คู่สัญญาไม่สามารถตกลงกันได้ และข้อโต้เถียง สิทธิเรียกร้อง หรือข้อพิพาทอันเกิดแต่หรือเกี่ยวเนื่องกับสัญญานี้ให้ระงับโดยอนุญาโตตุลาการตามกฎของสมาคมการอนุญาโตตุลาการของประเทศสหรัฐอเมริกาและให้ถือว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนของการดำเนินการฟ้องร้องคดี กระบวนการอนุญาโตตุลาการให้ดำเนินการในเมืองอีสท์ ออเรนจ์ มลรัฐนิวเจอร์ซี่ ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือในสถานที่อื่นอันเป็นที่ยอมรับร่วมกันของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวสามารถใช้บังคับได้ ไม่ขัดต่อกฎหมายไทยและศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าไม่ขัดต่อกฎหมายของมลรัฐนิวเจอร์ซี่ ประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย ดังนั้น โจทก์จึงต้องปฏิบัติตามสัญญาโดยต้องให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทอันเกิดจากสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยเสียก่อน เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ดำเนินการให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด โจทก์จึงยังไม่อาจเสนอคดีนี้ต่อศาลแรงงานกลางได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการฯ มาตรา 14

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1958/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างแรงงานต่างประเทศ: การระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ และเขตอำนาจศาล
โจทก์เป็นคนสัญชาติอังกฤษ จำเลยเป็นนิติบุคคลสัญชาติอเมริกัน จดทะเบียนและมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองอีสท์ ออเรนจ์ มลรัฐนิวเจอร์ซี่ ประเทศสหรัฐอเมริกา สัญญาจ้างแรงงานที่โจทก์ทำกับจำเลย โจทก์ได้ลงลายมือชื่อในประเทศไทย แล้วส่งสัญญาให้จำเลยลงลายมือชื่อในประเทศสหรัฐอเมริกา จึงถือว่าสัญญาจ้างแรงงานได้ทำขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งต้องบังคับตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2581 มาตรา 13 เมื่อสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยได้ตกลงกันว่า ให้สัญญาจ้างแรงงานอยู่ภายใต้บังคับและการตีความตามกฎหมายของมลรัฐนิวเจอร์ซี่ ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงต้องบังคับตามกฎหมายของมลรัฐนิวเจอร์ซี่ตามเจตนาของโจทก์และจำเลยอันเป็นคู่สัญญา
สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์จำเลย กำหนดให้ข้อพิพาทหรือข้อขัดแย้งที่คู่สัญญาไม่สามารถตกลงกันได้ และข้อโต้เถียง สิทธิเรียกร้อง หรือข้อพิพาทอันเกิดแต่หรือเกี่ยวเนื่องกับสัญญานี้ให้ระงับโดยอนุญาโตตุลาการตามกฎของสมาคมการอนุญาโตตุลาการของประเทศสหรัฐอเมริกาและให้ถือว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนของการดำเนินการฟ้องร้องคดี กระบวนการอนุญาโตตุลาการให้ดำเนินในเมืองอีสท์ ออเรนจ์ มลรัฐนิวเจอร์ซี่ ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือในสถานที่อื่นอันเป็นที่ยอมรับร่วมกันของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ข้อตกลงดังกล่าวสามารถใช้บังคับได้ เพราะเป็นวิธีการระงับข้อพิพาทอย่างหนึ่งที่คู่กรณีตกลงให้บุคคลที่ไม่ใช่ตุลาการทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแทนตุลาการในศาล จึงไม่ขัดต่อกฎหมายไทยและข้อเท็จจริงได้ความว่าไม่ขัดต่อกฎหมายของมลรัฐนิวเจอร์ซี่ ประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย ดังนั้น โจทก์จึงต้องปฏิบัติตามสัญญาโดยต้องให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทเสียก่อน เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ดำเนินการให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด โจทก์จึงยังไม่อาจเสนอคดีต่อศาลแรงงานกลางได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8563/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาซื้อขายต่างประเทศ การคิดคำนวณทุนทรัพย์ และอายุความของหนี้
ตามคำร้องของจำเลยขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางใช้อำนาจเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่รับโอนคดีนี้จากศาลแพ่ง โดยกล่าวอ้างว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเป็นผู้ดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบในการรับโอนคดีนี้ไว้พิจารณาพิพากษา มิใช่กรณีคู่ความเป็นผู้ดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบที่มีข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 ข้อ 3 กำหนดไว้ จึงต้องนำ ป.วิ.พ. มาตรา 27 มาใช้บังคับ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 โดยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติถึงกรณีที่มีการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบว่า เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายที่เสียหายยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมดหรือบางส่วน เมื่อศาลเห็นสมควร หมายถึง กรณีที่ศาลเห็นถึงกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบเองก็เป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะที่จะหยิบยกขึ้นพิจารณาได้โดยไม่ต้องมีคำร้องจากคู่ความแต่อย่างใด กรณีที่คู่ความฝ่ายที่เสียหายยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ เป็นกรณีที่เกิดจากความประสงค์ของคู่ความนั้นที่ต้องการขอให้ศาลสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณา โดยกรณีนี้คู่ความผู้ยื่นคำร้องจะต้องปฏิบัติตามมาตรา 27 วรรคสอง กล่าวคือต้องยื่นไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันที่คู่ความนั้นได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น ตามคำร้องของจำเลยขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ได้รับโอนคดีนี้ไว้พิจารณา โดยจำเลยอ้างว่าเป็นการโอนและรับโอนคดีที่ไม่ชอบ เป็นกรณีที่จำเลยประสงค์จะให้มีการเพิกถอนกระบวนพิจารณานั้นเอง จึงยื่นคำร้องฉบับนี้ต่อศาล อันเป็นกรณีที่คู่ความร้องขอตามมาตรา 27 วรรคหนึ่ง ที่อยู่ในบังคับต้องยื่นคำร้องภายในกำหนดระยะเวลาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 วรรคสอง แล้ว และปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในวันนัดพร้อม ซึ่งทนายจำเลยเข้าร่วมดำเนินกระบวนพิจารณาด้วยว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้รับโอนคดีนี้จากศาลแพ่งและดำเนินการนัดสืบพยานจำเลยต่อไป ทนายจำเลยแถลงขอสืบพยานบุคคลที่เหลืออีก 3 ปาก แสดงว่า จำเลยได้ทราบว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับโอนคดีนี้ไว้ในวันนัดพร้อมแล้ว จำเลยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านในวันนั้น ทั้งยังกลับขอดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานจำเลยต่อไปอีกด้วย ต่อมาจำเลยเพิ่งยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่รับโอนคดีไว้ อันเป็นการยื่นคำร้องเกินกว่า 8 วัน นับแต่วันที่จำเลยทราบถึงกระบวนพิจารณาที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับโอนคดีนี้ไว้แล้ว จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง
สัญญารับขนของทางทะเลระหว่างบริษัท จ. ผู้ส่งสินค้ากับจำเลยในคดีนี้ เป็นการขนส่งสินค้าโดยมีการออกใบตราส่ง จำเลยมีหน้าที่ตามสัญญาต้องส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่งซึ่งมีชื่อโจทก์ระบุในใบตราส่ง แม้ในระหว่างที่สินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยผู้ขนส่ง ผู้ส่งสินค้าอาจสั่งให้ผู้ขนส่งจัดการแก่สินค้าเป็นประการอื่น นอกจากการส่งมอบสินค้าแก่ผู้รับตราส่งได้ แต่ต้องเวนคืนใบตราส่งทั้งหมดให้ไว้แก่ผู้ขนส่ง หากผู้ขนส่งจัดการไปตามคำสั่งของผู้ส่งสินค้าโดยไม่ได้รับเวนคืนใบตราส่งทั้งหมดแล้ว ผู้ขนส่งก็ยังต้องรับผิดต่อผู้รับตราส่งซึ่งมีใบตราส่งฉบับที่ไม่ได้เวนคืนตามมาตรา 36 วรรคหนึ่งและวรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 แต่ตามหนังสือแจ้งของผู้ส่งสินค้ามีใจความเพียงว่า ผู้ส่งสินค้าตกลงให้จำเลยผู้ขนส่งส่งมอบสินค้าแก่ผู้รับตราส่ง (Consignee) โดยไม่ต้องเวนคืนต้นฉบับใบตราส่งเท่านั้น ซึ่งผู้รับตราส่งก็หมายถึงโจทก์ ไม่ใช่บริษัท ย. และไม่ปรากฏว่าได้มีการเวนคืนใบตราส่งทั้งหมดให้แก่จำเลยผู้ขนส่ง การที่จำเลยส่งมอบสินค้าที่ขนส่งให้แก่บริษัท ย. โดยไม่มีการเวนคืนใบตราส่ง จึงไม่ใช่การปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ส่งสินค้าและไม่ใช่กรณีที่ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 36 แต่เป็นกรณีที่จำเลยผู้ขนส่งปฏิบัติผิดหน้าที่ตามสัญญารับขนของทางทะเล จำเลยย่อมต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้รับตราส่งในความเสียหายที่โจทก์ได้รับจากการกระทำของจำเลย
มาตรา 58 แห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2539 ผู้ขนส่งต้องรับผิดในจำนวนเงินจำกัดตามข้อจำกัดไว้เฉพาะกรณีที่ผู้ขนส่งต้องรับผิดเนื่องจากการที่สินค้าที่ขนส่งสูญหาย เสียหาย หรือมีการส่งมอบสินค้าชักช้า โดยเหตุแห่งความเสียหายนั้นเกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าอยู่ในความดูแลของผู้ขนส่งตามมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ข้อเท็จจริงคดีนี้ความว่า จำเลยผู้ขนส่งได้ส่งมอบสินค้าที่ขนส่งให้แก่บริษัท ย. ซึ่งไม่ใช่ผู้รับตราส่งไปโดยไม่ได้มีการเวนคืนใบตราส่ง ทำให้โจทก์ซึ่งมีชื่อเป็นผู้รับตราส่งในใบตราส่งได้รับความเสียหาย จึงเป็นการที่จำเลยปฏิบัติผิดสัญญาโดยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของผู้ขนส่งที่ต้องส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่งตามสัญญารับขนของทางทะเล ไม่ใช่กรณีที่สินค้าสูญหาย เสียหายหรือมีการส่งมอบสินค้าชักช้า จำเลยซึ่งเป็นผู้ขนส่งย่อมต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ผู้รับตราส่งเต็มตามจำนวนความเสียหาย โดยไม่ได้รับประโยชน์จากข้อจำกัดความรับผิดตามบทบัญญัติมาตรา 58
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ผู้ขายสินค้าในประเทศมาเลเซียได้ว่าจ้างจำเลยให้ขนส่งสินค้าไม้จากประเทศมาเลเซียโดยทางเรือมายังประเทศไทย โดยจำเลยได้ระบุในใบตราส่งว่า โจทก์เป็นผู้รับตราส่ง แต่เมื่อสินค้ามาถึงปลายทางในประเทศไทยแล้วจำเลยได้ส่งมอบสินค้าให้แก่บริษัท ย. ไปโดยมิได้มีการเวนคืนใบตราส่ง ตามคำฟ้องแสดงให้เห็นว่า จำเลยเป็นผู้ขนส่งและมีหน้าที่ส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์ผู้รับตราส่งโดยมีการเวนคืนใบตราส่งตามสัญญารับขนของทางทะเล จำเลยไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามสัญญา โดยส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้อื่นซึ่งมิใช่ผู้รับตราส่ง จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา แม้โจทก์จะระบุในคำฟ้องไว้ด้วยว่า จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ได้บรรยายในคำฟ้องให้เห็นถึงการกระทำของจำเลยโดยละเอียด อันมีลักษณะทั้งเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาและละเมิดด้วย ศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยว่าจะนำบทกฎหมายเรื่องใดมาบังคับใช้กับข้อเท็จจริงตามที่พิจารณาได้ความ ข้อเท็จจริงคดีนี้เป็นกรณีที่จำเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนตามสัญญารับขนของทางทะเล จำเลยก็ต้องรับผิดต่อผู้รับตราส่งผู้มีสิทธิในสินค้าที่ขนส่งในความเสียหายที่เกิดขึ้น อันเป็นความรับผิดตามสัญญารับขนของทางทะเล แต่ความเสียหายไม่ได้เกิดจากการที่สินค้าสูญหาย เสียหาย หรือมีการส่งมอบสินค้าชักช้า อันจำเลยผู้ขนส่งต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 39 ซึ่งจะมีอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวและความรับผิดของจำเลยที่ปฏิบัติผิดสัญญารับขนของทางทะเลในกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1852/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาจัดหางานสำคัญกว่า หากไม่มี ถือเป็นการหลอกลวง ไม่ใช่ความผิดฐานจัดหางาน
การจะเป็นผู้กระทำความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาจัดหางานตามมาตรา 4 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ การที่คำฟ้องของโจทก์กล่าวว่า จำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสองด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จซึ่งควรบอกให้แจ้งโดยบอกกล่าวและให้ถ้อยคำรับรองแก่ผู้เสียหายทั้งสองว่าจำเลยกับพวกสามารถจัดส่งคนหางานไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งคนหางานจะต้องเสียค่าบริการให้แก่จำเลยกับพวกอันเป็นความเท็จ ความจริงแล้วจำเลยกับพวกไม่เคยได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลางให้ดำเนินการดังกล่าวได้ อีกทั้งไม่สามารถส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศตามที่กล่าวอ้างได้ เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอยู่ในตัวว่าจำเลยไม่มีเจตนาจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายทั้งสอง คงมีแต่เจตนาหลอกลวงเพื่อจะได้รับเงินจากผู้เสียหายทั้งสองเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82 และปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
of 23