คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ทรัพยากรธรรมชาติ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 16 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7169/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีป่าสงวน: การสอบสวนโดยคณะกรรมการและโทษจำคุกสำหรับความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ
พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติฯ มาตรา 10 ให้มีคณะกรรมการสำหรับป่าสงวนแห่งชาติคณะหนึ่ง ประกอบด้วยผู้แทนป่าไม้ ผู้แทนกรมการปกครอง ผู้แทนกรมที่ดินและกรรมการอื่นอีก 2 คน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง มีอำนาจหน้าที่ควบคุมให้พนักงานเจ้าหน้าที่จัดให้มีหลักเขตและป้ายหรือเครื่องหมายอื่นแสดงแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ในทางการบริหาร มิใช่การสอบสวนคดีอาญา ทั้งตามมาตรา 26 บัญญัติว่าการจับกุม การปราบปรามผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตาม ป.วิ.อ. เมื่อ ส. เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ได้ควบคุมตัวจำเลยและส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนแล้ว พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้อง
จำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องอันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ป่าน้ำตกเขาอีโต้ โดยกระทำความผิดจำนวน 3 คดี รวมทั้งคดีนี้ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ลงโทษทุกคดี เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งคดีและความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ ที่ปรากฏตามภาพถ่ายในสำนวนถือได้ว่าเป็นเรื่องร้ายแรงที่จำเลยอ้างในฎีกาว่าจำเลยอายุมาก โดยมีอายุ 66 ปี มีโรคประจำตัวเป็นโรคความดันโลหิตสูง มีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัวซึ่งมีบุตร 5 คน อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียน 2 คน ถ้าจำเลยต้องโทษจำคุก ย่อมทำให้ครอบครัวได้รับความลำบากยังไม่เพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4156/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลสั่งจ่ายสินบนนำจับในคดีความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ และการรอการลงโทษจำคุกสำหรับความผิดฐานเก็บหาของป่า
ที่ศาลล่างทั้งสองจ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับในความผิดฐานเก็บหาของป่าหวงห้ามในเขตอุทยานแห่งชาติตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ นั้น ไม่ถูกต้อง เนื่องจาก พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ ไม่ได้ให้อำนาจศาลที่จะสั่งจ่ายเงินสินบนนำจับได้ดังเช่น พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้แม้ไม่มีคู่ความอุทธรณ์ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5472/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลักลอบเก็บหาของป่าหวงห้ามในเขตอุทยานฯ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ ศาลยืนตามคำพิพากษาเดิมและริบของกลาง
เจ้าพนักงานยึดชิ้นไม้กฤษณาและกฤษณาจำนวน 30 กิโลกรัมจากจำเลยเป็นของกลาง ซึ่งเป็นของป่าหวงห้ามจำนวนมาก การที่จำเลยเข้าไปเก็บหาและนำออกไปซึ่งชิ้นไม้ดังกล่าวจากเขตอุทยานแห่งชาติ เป็นการลักลอบเก็บของป่าหวงห้ามเพื่อนำไปขายทำให้ป่าไม้ถูกทำลายและเสื่อมสภาพ ก่อให้เกิดความแห้งแล้งผืนดินพังทลาย ลำน้ำตื้นเขินหรือเกิดอุทกภัยและเป็นการทำลายเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ นับเป็นพฤติการณ์ร้ายแรง จึงไม่มีเหตุรอการลงโทษให้จำเลย
โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดแจ้งแล้วว่าจำเลยใช้ขวานของกลางเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการกระทำความผิด จึงต้องริบขวานของกลางตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา 74 ทวิ และพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติฯ มาตรา 29 ปัญหานี้แม้ศาลชั้นต้นไม่ริบทรัพย์ดังกล่าวและไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้ริบทรัพย์ดังกล่าวได้เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3001/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้เลื่อยยนต์แปรรูปไม้ผิดกฎหมาย การลดโทษ และการจ่ายสินบนรางวัลตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองใช้เลื่อยยนต์เป็นเครื่องมือในการแปรรูปไม้ซึ่งสามารถแปรรูปไม่ได้รวดเร็วและเป็นจำนวนมาก เป็นพฤติการณ์ที่ก่อให้เกิดภัยต่อทรัพยากรธรรมชาติของประเทศเป็นอย่างมากซึ่งเป็นการกระทำที่มีลักษณะร้ายแรง การที่ศาลล่างใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสองนั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว
พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ไม่มีบทบัญญัติให้จ่ายสินบนกับรางวัล และปรากฏตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489มาตรา 7 และ 8 ว่าสินบนและรางวัลให้จ่ายจากเงินที่ได้จากการขายของกลางซึ่งศาลสั่งริบเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว หากของกลางที่ศาลสั่งริบนั้นไม่อาจขายได้ ให้จ่ายจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาล คดีนี้ไม่ปรากฏว่าไม่อาจขายของกลางได้ ดังนั้น ที่ศาลล่างพิพากษาให้จ่ายสินบนร้อยละสามสิบและจ่ายเงินรางวัลร้อยละยี่สิบของค่าปรับ ตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ นั้น จึงไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5587/2539

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ดุลพินิจของศาลในการรอการลงโทษคดีทำลายทรัพยากรธรรมชาติ พิจารณาจากความร้ายแรงแห่งคดีและพฤติการณ์ของผู้กระทำผิด
โจทก์บรรยายฟ้องเพียงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดโดยไม่ได้บรรยายว่าการกระทำของจำเลยร้ายแรงอย่างไรแต่ในฎีกากลับอ้างว่าจำเลยทำลายป่าสงวนแห่งชาติและทำให้เสื่อมสภาพอุทยานแห่งชาติและป่าสงวนแห่งชาติอันเป็นความผิดที่ร้ายแรงทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติอย่างใหญ่หลวงสมควรได้รับการลงโทษในสถานหนักโดยไม่รอการลงโทษจำคุกจึงเป็นการคาดคะเนของโจทก์เองซึ่งอาจไม่เป็นเช่นนั้นก็ได้และไม่ปรากฎว่าจำเลยมีพฤติการณ์ว่าเคยกระทำความผิดทำนองเดียวกันนี้มาก่อนการกระทำของจำเลยไม่ร้ายแรงนักที่ศาลรอการลงโทษจำคุกจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2276/2533

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสนับสนุนการตัดไม้ทำลายป่า แม้ไม่มีส่วนรู้เห็นโดยตรง ศาลไม่สมควรรอการลงโทษเพื่อเป็นแบบอย่าง
จำเลยมีไม้สักแปรรูปซึ่ง เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ไว้ในครอบครองมีจำนวนถึง 371 แผ่น รวมปริมาตรเนื้อไม้ 1.47 ลูกบาศก์เมตรถือ ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนให้มี ผู้ตัดไม้ทำลายป่า ซึ่ง เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารและเป็นทรัพยากร ธรรมชาติอันมีค่าประมาณราคาไม่ได้ แม้จำเลยมีหนังสือรับรอง ความประพฤติและเอกสารใบอนุโมทนาบัตรในการบริจาคเงินเพื่อการกุศล ตลอดจนได้ รับแต่งตั้งเป็นกรรมการหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล กรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิและไวยาวัจกร ดังนี้ก็ไม่สมควร รอการลงโทษ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12500/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินค่าเสียหายทรัพยากรธรรมชาติ ต้องมีหลักฐานข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นธรรม การคำนวณค่าเสียหายแบบหยาบๆ ใช้ไม่ได้
การประเมินความเสียหายทางทรัพยากรธรรมชาติควรจะต้องกระทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอน กล่าวคือ ขั้นตอนแรกก่อนการประเมินต้องเก็บข้อมูลและประเมินความเสียหายเบื้องต้น และขั้นตอนการประเมิน คือกระบวนการประเมินเพื่อกำหนดจำนวนมูลค่าความเสียหาย ซึ่งต้องใช้เครื่องมือและวิธีการที่เหมาะสมที่สุด ตามทางนำสืบของโจทก์คงมีแต่คำเบิกความของนาย ก. ลอย ๆ เท่านั้นว่า นาย ก. เป็นผู้เข้าไปตรวจสอบความเสียหายของที่ดินที่เกิดเหตุ โดยไม่ปรากฏสภาพที่ดินใกล้เคียงว่ามีความสมบูรณ์เพียงใดและไม่มีพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นรายละเอียดของการตรวจสอบว่ามีการเก็บข้อมูลและการประเมินความเสียหายในเบื้องต้นอย่างไร ในเรื่องนี้แม้นาย ก. เบิกความว่า รูปแบบการคำนวณค่าเสียหายของโจทก์ใช้มาตั้งแต่ปี 2544 จนปัจจุบันและใช้เหมือนกันทั่วประเทศก็ตาม เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า แบบจำลองสำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมหลังจากการทำลายไม้จัดทำขึ้นอย่างถูกต้องตามหลักวิชาเศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ทั้งไม่ได้ความว่ามีการทดลองใช้แบบจำลองดังกล่าวเพื่อทดสอบความแม่นยำว่าอยู่ในระดับใดก่อนใช้ ในความเป็นจริงความเปลี่ยนแปลงทางทรัพยากรธรรมชาติส่วนต่างๆ ย่อมมีปัจจัยหลายอย่างอันเป็นตัวแปรที่กระทบต่อผลการประเมินได้ ผลการประเมินที่ออกมาถูกต้องตรงกับความจริงหรือไม่เพียงใดจึงไม่อาจยืนยันได้แน่นอน แม้แบบจำลองสำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมบางประการหลังการทำลายไม้ดังกล่าวอาจมีความน่าเชื่อถือทางวิชาการบ้าง แต่ก็เห็นได้ว่ารูปแบบการคำนวณค่าเสียหายของโจทก์สำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมจากการทำลายป่าไม้ที่โจทก์นำมาใช้เป็นเครื่องมือและวิธีการคำนวณแบบหยาบ ๆ จะใช้เป็นสูตรสำเร็จในการคำนวณค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมจากการทำลายป่าไม้ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 แก่ผู้กระทำผิดทุกรายซึ่งเหตุเกิดต่างพื้นที่กันย่อมไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6605/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญา: ผู้เสียหายต้องเสียหายโดยตรง การคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติไม่ใช่เหตุให้ฟ้องแทน
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องสรุปความได้ว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยทั้งสองร่วมกันเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินบริเวณหมู่ที่ 6 บ้านเขายายเที่ยงเหนือ ตำบลคลองไผ่ จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ประมาณ 21 ไร่ ทั้งที่รู้อยู่ว่าเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มีเจตนาพิเศษที่จะบุกรุกเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และเป็นการยึดถือครอบครอง ทำประโยชน์แผ้วถาง เผาป่า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ทำลายป่า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมป่าไม้ ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ป.ที่ดิน ป.อ. มาตรา 362 โดยอ้างว่าโจทก์ทั้งห้ามีสิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 67 คำบรรยายฟ้องดังกล่าวได้อ้างถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองที่อ้างว่าเป็นความผิด แต่ไม่มีข้อความตอนใดที่บรรยายโดยชัดแจ้งว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ทั้งห้าได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่งดังกล่าวมาในฟ้อง ซึ่งล้วนแต่เป็นความผิดเกี่ยวกับรัฐ มิใช่ความผิดที่กระทำต่อโจทก์ทั้งห้าโดยตรง บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญที่โจทก์ทั้งห้ากล่าวอ้างมา ไม่มีข้อความตอนใดที่ให้สิทธิโจทก์ทั้งห้าฟ้องคดีอาญาได้แม้ไม่ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษจากการกระทำของจำเลยทั้งสอง โจทก์ทั้งห้าจึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14700/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกค่าเสียหายจากความผิดฐานทำลายทรัพยากรธรรมชาติ: ใช้บทบัญญัติ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ อายุความ 10 ปี
โจทก์บรรยายฟ้องมีใจความว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 และ ย. ซึ่งถึงแก่ความตายแล้ว และเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 9 เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 10 และที่ 11 ได้บังอาจร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ ก่นสร้าง แผ้วถางป่า โดยตัด ฟัน โค่น เลื่อย ชักลากไม้ในป่าภายในเขตอุทยานแห่งชาติ จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นของรัฐ อันเป็นการทำให้เป็นอันตราย และทำให้เสื่อมสภาพซึ่งไม้ภายในเขตอุทยานแห่งชาติโดยผิดกฎหมาย และร่วมกันยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าดังกล่าว ตลอดทั้งได้ปลูกพืชไร่ในท้องที่ดังกล่าวคิดเป็นเนื้อที่รวมทั้งสิ้น 1,330 ไร่ ถือได้ว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้อง โดยเรียกร้องให้จำเลยกับพวกร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 97 ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำหรือละเว้นการกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการทำลาย หรือทำให้สูญหาย หรือความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นของรัฐหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลายสูญหายหรือเสียหายไปนั้น" ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ มิใช่การฟ้องขอให้จำเลยกับพวกร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อโจทก์ในมูลละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 จึงไม่อยู่ในบังคับอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์จึงอยู่ในบังคับอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12454/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีแพ่งจากความเสียหายทรัพยากรธรรมชาติ: กำหนดตามอายุความอาญาที่เกี่ยวข้อง
จำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมดำเนินคดีอาญาตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 แม้พนักงานอัยการจะมีคำสั่งไม่ฟ้องจำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งเป็นอำนาจของพนักงานอัยการที่มีความเห็นในการสั่งคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็ตาม แต่เป็นกรณีถือได้ว่าไม่มีผู้ใดฟ้องทางอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ทั้งคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าการกระทำของจำเลยเป็นการทำลาย ทำให้สูญหายและเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นของรัฐที่โจทก์มีหน้าที่ดูแลรักษา ส่งเสริม ทำนุบำรุงป่าและการเกี่ยวกับการป่าไม้ ฯลฯ ทำให้พื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารและติดอยู่ในเขตพื้นที่โซนอนุรักษ์ตามมติคณะรัฐมนตรีได้รับความเสียหายทางด้านป่าไม้ คิดเป็นค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 97 และมีโทษทางอาญาตามมาตรา 99 ประกอบมาตรา 43 ถือว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายฟ้องทางแพ่งเนื่องจากความผิดทางอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคหนึ่ง จึงต้องใช้อายุความฟ้องคดีอาญาตามมาตรา 99 ดังกล่าวซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (3) ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง
of 2