คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ทรัพย์สิน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,615 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 920/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาการกระทำผิดฐานปล้นทรัพย์: การกระทำที่ไม่ได้มุ่งแสวงหาประโยชน์จากทรัพย์สิน
ก่อนเกิดเหตุ เวลาประมาณ 22 นาฬิกา จำเลยทั้งสามนั่งดื่มสุราอยู่ในร้านคาราโอเกะห่างจากโต๊ะผู้เสียหายที่นั่งดื่มสุราเช่นกันเพียงประมาณ 1 เมตร ระหว่างที่นั่งอยู่ในร้านคาราโอเกะจำเลยทั้งสามและผู้เสียหายต่างก็ร้องเพลงคาราโอเกะ ต่อมาเวลาประมาณ 1 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น ผู้เสียหายกลับบ้านก่อนจำเลยทั้งสามประมาณ 5 นาที จากนั้นจำเลยทั้งสามได้ไปหาผู้เสียหายที่บ้านและขอร้องให้ผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ไปส่งอย่างเปิดเผย ไม่ได้ปิดบังหรืออำพรางตัว ผู้เสียหายตกลงโดยให้จำเลยทั้งสามนั่งรถจักรยานยนต์ไปด้วย เมื่อรถวิ่งไปได้ประมาณ 100 เมตร จำเลยทั้งสามจึงทำร้ายผู้เสียหายโดยการเตะและกระทืบ ก่อนที่จะทำร้ายผู้เสียหาย จำเลยทั้งสามไม่ได้เรียกร้องเอารถจักรยานยนต์หรือทรัพย์สินอื่นของผู้เสียหายก่อน หลังจากจำเลยทั้งสามทำร้ายผู้เสียหายแล้ว ได้ขับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายออกไปจากที่เกิดเหตุเพียง 100 เมตร ก็จอดรถทิ้งไว้โดยจอดไว้ริมถนนข้างบ้าน ว. ผู้ใหญ่บ้านท้องที่ที่เกิดเหตุโดยเปิดเผยและเสียบกุญแจรถคาไว้ทั้งที่จำเลยทั้งสามสามารถนำรถจักรยานยนต์ไปได้โดยสะดวก เพราะไม่มีผู้ใดติดตามและเป็นยามวิกาล จากนั้นจำเลยทั้งสามพากันไปนอนที่บ้านของจำเลยที่ 1 มิได้หลบหนีและเมื่อทราบว่าเจ้าพนักงานตำรวจติดตามหาตัวจำเลยทั้งสาม จำเลยทั้งสามก็ยินยอมให้ ว. พาไปมอบตัวต่อพนักงานสอบสวนโดยดี และให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า มีเจตนาเพียงทำร้ายผู้เสียหายเท่านั้น ไม่ประสงค์จะเอาทรัพย์สินของผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยทั้งสามมิได้มุ่งประสงค์ต่อผลในการจะแสวงหาประโยชน์จากทรัพย์สินโดยแท้จริง การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงขาดเจตนาทุจริตในการลักทรัพย์ ถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดฐานลักทรัพย์ของผู้เสียหาย การที่จำเลยทั้งสามกระทำการดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ จำเลยทั้งสามคงมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้เสียหายเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7972/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยึดทรัพย์ชั่วคราวกับการบังคับคดี: เจ้าหนี้อื่นต้องดำเนินการยึดทรัพย์จากศาลที่ออกหมายยึดชั่วคราว
การยึดทรัพย์สินของจำเลยไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 254 (1) ซึ่งเป็นวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา มิใช่เป็นส่วนหนึ่งของการบังคับคดีตามคำพิพากษา จึงไม่ต้องห้ามที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นจะยึดทรัพย์สินนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นจึงต้องไปดำเนินการยึดทรัพย์ที่ถูกยึดไว้ชั่วคราวนั้นจะมายื่นคำร้องต่อศาลที่ออกหมายยึดทรัพย์นั้นชั่วคราวเพื่อขอเฉลี่ยทรัพย์ไม่ได้ คำสั่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยทรัพย์ของจำเลยได้ก่อนศาลมีคำพิพากษาคดีนี้ จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 290

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7755/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแต่งตั้งผู้อนุบาล: ผู้พิทักษ์เดิมเหมาะสมกว่าผู้ร้อง เหตุผลด้านการดูแลทรัพย์สินและประโยชน์ของผู้รับอนุบาล
ผู้คัดค้านปกปิดการร้องขอให้ ส. เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ เพราะประสงค์จะช่วยเหลือและคุ้มครองประโยชน์ของ ส. โดยคดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล นอกจากนั้นผู้คัดค้านยังเป็นผู้รับมอบอำนาจจากบิดาผู้คัดค้านฟ้อง ค. และ บ. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับ ส. เพิกถอนการโอนที่ดินของ ป. พี่ชาย ส. ทั้งผู้คัดค้านยังได้แจ้งความร้องทุกข์ในฐานะผู้พิทักษ์ของ ส. ให้ดำเนินคดีแก่ ค. ในข้อหายักยอกทรัพย์ของ ส. การที่ผู้คัดค้านแจ้งความดำเนินคดีก็ดี การฟ้องคดีก็ดี ถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านได้กระทำในฐานะส่วนตัว จึงไม่ใช่เรื่องที่ผู้คัดค้านมีคดีในศาลกับพี่น้องร่วมบิดามารดากับ ส. และมิใช่ผู้ที่ไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้อนุบาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7397/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าแบบลีสซิ่ง: สิทธิในการซื้อทรัพย์สิน และผลกระทบต่อการปิดอากรแสตมป์
บันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาเช่าระบุว่าเจ้าของกรรมสิทธิ์คือผู้ให้เช่าให้คำมั่นว่า เมื่อผู้เช่าได้ปฏิบัติตามสัญญาครบถ้วนแล้ว หากผู้เช่าทำหนังสือถึงผู้ให้เช่าจะขอซื้อทรัพย์สินทั้งหมด ผู้ให้เช่าจะทำคำสนองตกลงราคาตามที่กำหนดในสัญญาแสดงให้เห็นว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่ายังไม่โอนไป จำเลยที่ 1 ผู้เช่ามีสิทธิที่จะเลือกซื้อทรัพย์สินที่เช่าหรือไม่ก็ได้ สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นสัญญาเช่าแบบลิสซิ่ง ไม่จำต้องปิดอากรแสตมป์ตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 118 ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6596/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบรถยนต์ที่ใช้เป็นยานพาหนะในการฉ้อโกงประชาชน ไม่ถือเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง
การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 กับพวกร่วมกันใช้รถกระบะของกลางบรรทุกถังเรี่ยไรของกลางนำไปตั้งไว้ตามชุมชนในตำบลที่เกิดเหตุ เพื่อหลอกลวงประชาชนที่พบเห็นและใช้รถกระบะของกลางบรรทุกทรัพย์ที่ได้มาจากการหลอกลวงด้วยนั้น รถกระบะของกลางเป็นเพียงยานพาหนะที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 กับพวกใช้เดินทางไปมาในการกระทำความผิดเท่านั้น จึงไม่ใช่ทรัพย์สินซึ่งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 กับพวกที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรงอันจะพึงริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6520/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าของรวมให้เช่าทรัพย์สินโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของรวมรายอื่น ไม่ถือเป็นการใช้สิทธิเกินขอบเขต
โจทก์กับจำเลยร่วมทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอาคารพิพาทร่วมกัน เดิมโจทก์ให้บริษัทจำเลยใช้อาคารพิพาทประกอบการค้า ต่อมาโจทก์แจ้งให้จำเลยออกจากอาคารพิพาท แต่หลังจากนั้นจำเลยร่วมทั้งสองให้จำเลยเช่าอาคารพิพาท แม้การทำหนังสือสัญญาเช่าระหว่างจำเลยร่วมทั้งสองจำเลยดังกล่าวโจทก์จะไม่ทราบ แต่การให้เช่าอาคารพิพาทถือเป็นการจัดการธรรมดาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1358 วรรคสอง ซึ่งตรงตามวัตถุประสงค์ของเจ้าของรวมและนอกจากจะไม่เสียหายแล้วกลับมีประโยชน์ยิ่งกว่า เพราะเดิมโจทก์เพียงให้จำเลยอาศัยโดยไม่มีค่าตอบแทน แต่จำเลยร่วมทั้งสองให้จำเลยเช่าอาคารพิพาทโดยคิดค่าเช่า กรณีไม่เป็นการใช้ทรัพย์สินในทางขัดต่อสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรวม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1360 วรรคหนึ่ง แม้โจทก์จะไม่ตกลงยินยอมด้วยก็ตามแต่จำเลยร่วมทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของรวมย่อมมีสิทธิใช้สอยทรัพย์สินได้เช่นกันจึงมีสิทธิทำสัญญาให้จำเลยเช่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6013/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนการโอนทรัพย์สินก่อนล้มละลาย: การโอนภายใน 3 ปี, เจตนาทุจริต, ราคาต่ำกว่าประเมิน
ในวันนัดไต่สวนคำร้องนัดแรกศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาว่าได้ตรวจคำร้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดิน ข้อคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสองแล้ว เห็นว่าพอวินิจฉัยได้ให้งดไต่สวนพยานทั้งสองฝ่าย นัดฟังคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี เช่นนี้เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำร้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินของผู้ร้องและคำคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสอง มิได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นปัญหาข้อกฎหมายแต่อย่างใด กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 24 และคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เมื่อผู้คัดค้านทั้งสองมิได้โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) ประกอบ พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 153 (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5982/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างพิจารณาคดีทรัพย์สินที่ได้มาร่วมกันระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยา
คดีนี้จำเลยฟ้องแย้งขอให้แบ่งเงินจำนวน 4,000,000 บาท โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์สินที่หามาได้ร่วมกันระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยา จึงถือว่าเงินจำนวน 4,000,000 บาท ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่พิพาทตามฟ้องแย้งของจำเลยที่จำเลยจะมีสิทธิร้องขอให้คุ้มครองประโยชน์ของตนในระหว่างพิจารณาได้ และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงในชั้นไต่สวนขอคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างพิจารณาว่า โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เงินจำนวน 4,000,000 บาท ที่พิพาทกันมีการนำไปฝากที่สถาบันการเงินต่าง ๆ ครั้งสุดท้ายนำไปฝากที่บริษัทเงินทุน ส. บริษัทเงินทุนดังกล่าวได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้ในนามของจำเลย ต่อมาเมื่อปี 2546 ได้มีการเปลี่ยนชื่อในตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นชื่อของโจทก์ และหลังจากนั้นโจทก์ได้เบิกถอนเงินจำนวน 4,000,000 บาท ดังกล่าว จากบริษัทเงินทุน ส. จากข้อเท็จจริงดังกล่าว หากในที่สุดแล้วศาลพิพากษาให้แบ่งเงินจำนวนดังกล่าวแก่จำเลยกึ่งหนึ่ง จำเลยก็จะได้ประโยชน์จากการที่ศาลมีคำสั่งให้คุ้มครองประโยชน์ตามคำร้องของจำเลย กรณีจึงมีเหตุสมควรที่จะคุ้มครองประโยชน์ของจำเลยในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 264

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4660/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าธรรมเนียมบังคับคดี: การคำนวณจากราคาประเมินทรัพย์สินหรือจำนวนหนี้ และความรับผิดค่าธรรมเนียมถอนยึด
กรณีที่ยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย การเสียค่าธรรมเนียมร้อยละ 3 ครึ่งของราคาทรัพย์สินที่ยึดนั้น คำว่าราคาทรัพย์สินที่ยึดหมายถึงราคาทรัพย์สินที่ยึดซึ่งไม่เกินจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดี
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ถอนการยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 2 เสียค่าธรรมเนียมถอนการยึดทรัพย์ตามจำนวนหนี้ตามคำพิพากษาที่จำเลยที่ 2 ต้องใช้ให้แก่โจทก์ ให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมถอนการยึดทรัพย์ในส่วนที่เหลือทั้งหมด โดยวินิจฉัยว่า โจทก์นำยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 เกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาพร้อมค่าฤชาธรรมเนียมในคดี และค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 284 โจทก์จึงต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 284 วรรคสอง และต้องรับผิดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีในการยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายในส่วนที่เกินกว่าจำนวนหนี้ตามคำพิพากษาที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น คำวินิจฉัยที่ว่าโจทก์นำยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ขัดต่อกฎหมาย และให้ถอนการยึดทรัพย์สินดังกล่าวเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 แต่คำสั่งให้จำเลยที่ 2 เสียค่าธรรมเนียมถอนการยึดทรัพย์สินไม่ได้เป็นไปตามคำวินิจฉัยนั้น ถือว่าคำวินิจฉัยและคำสั่งขัดกัน ทั้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 166 ให้คู่ความฝ่ายที่ดำเนินกระบวนพิจารณาใดไปเพราะความผิด ทำให้ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมในกระบวนพิจารณานั้นต้องรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมนั้น โดยไม่คำนึงว่าคู่ความฝ่ายนั้นจะชนะคดีหรือไม่ โจทก์จึงต้องเป็นฝ่ายที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมถอนการยึดทรัพย์รายนี้เพียงฝ่ายเดียว คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงไม่ชอบ และเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน กรณีเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นสั่งเรื่องค่าธรรมเนียมไม่ถูกต้อง แม้คู่ความไม่อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4642/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าธรรมเนียมบังคับคดี: การประเมินราคาทรัพย์สินใหม่เพื่อคำนวณค่าธรรมเนียมเมื่อราคาเดิมสูงเกินไป
ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคหนึ่ง และตาราง 5 หมายเลข 3 (เดิม) ท้าย ป.วิ.พ. ที่กำหนดว่า ค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย โจทก์ผู้นำยึดและขอถอนการยึดต้องเสียในอัตราร้อยละ 3 ครึ่ง ของราคาทรัพย์สินที่ยึด ส่วนการคำนวณราคาทรัพย์สินที่ยึดเพื่อเสียค่าธรรมเนียมดังกล่าวให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้กำหนด ถ้าไม่ตกลงกันให้คู่ความที่เกี่ยวข้องเสนอเรื่องต่อศาลตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 296 นั้น หมายถึงเสียค่าธรรมเนียมร้อยละ 3 ครึ่ง ของราคาทรัพย์สินที่ยึด แต่ไม่เกินจำนวนหนี้ที่ต้องรับผิดในการบังคับคดี ทั้งบทบัญญัติดังกล่าวยังให้อำนาจเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้กำหนดราคมทรัพย์สินที่ยึดเพื่อคำนวณค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีด้วย ส่วนการประเมินราคาทรัพย์สินที่ยึดของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวเป็นการประเมินราคาเบื้องต้นเท่านั้น ยังถือเป็นราคาทรัพย์สินที่แน่นอนแล้วไม่ได้ ดังนั้น หากพฤติการณ์ต่างๆ ปรากฏในภายหลังว่าราคาทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้ในขณะทำการยึดนั้นไม่เหมาะสมหรือสูงเกินไป เจ้าพนักงานบังคับคดีชอบที่จะประเมินราคาทรัพย์สินที่ยึดเสียใหม่ให้เหมาะสมได้ และราคาทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินใหม่นี้ถือได้ว่าเป็นราคาทรัพย์สินที่ยึดเพื่อเสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดี แต่ไม่เกินจำนวนหนี้ที่ต้องรับผิดในการบังคับคดี
of 262