คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ทะเลาะวิวาท

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 54 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4055-4056/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างและการจ่ายค่าชดเชย กรณีลูกจ้างทะเลาะวิวาทในที่ทำงาน
ศาลแรงงานกลางตรวจสำนวนโดยพิเคราะห์คำฟ้อง คำให้การ พยานหลักฐานที่คู่ความส่งต่อศาลและสอบถามข้อเท็จจริงที่คู่ความแถลงรับกันแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงรับฟังยุติเพียงพอที่จะวินิจฉัยคดีได้แล้ว จึงสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลย และวินิจฉัยคดีไปตามประเด็นข้อพิพาทที่กำหนดไว้นั้น เป็นการรับฟังพยานหลักฐานและวินิจฉัยชี้ขาดคดีที่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 84 และ 104 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2547 ในระหว่างเวลาทำงานและในที่ทำงาน โจทก์ทั้งสองโต้เถียงกันในเรื่องการทำงาน เมื่อหัวหน้างานห้ามปรามให้เงียบโจทก์ทั้งสองก็ยังคงโต้เถียงกันอีก และโจทก์ที่ 2 ได้เขวี้ยงท่อพีวีซีใส่โจทก์ที่ 1 แต่ไม่โดน และทรัพย์สินของจำเลยไม่ได้เสียหาย การกระทำของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวมีลักษณะไม่รุนแรงและไม่เป็นเหตุให้ทรัพย์สินของจำเลยเสียหาย จึงเป็นการฝ่าฝืนในกรณีที่ไม่ร้ายแรง เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองทันทีโดยไม่เคยตักเตือนโจทก์ทั้งสองเป็นหนังสือมาก่อนจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสอง ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 (2) และ (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7135/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทำร้ายร่างกายจนเป็นอันตรายสาหัส การทะเลาะวิวาท และการใช้ดุลพินิจในการลงโทษ
เหตุคดีนี้เกิดเพราะจำเลยเป็นผู้ก่อเหตุขึ้นก่อน และเป็นการสมัครใจทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน มิใช่เป็นภยันอันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย จำเลยจะอ้างว่าการกระทำเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายไม่ได้
การที่ผู้เสียหายถูกจำเลยรัดคอด้วยมือซ้าย ผู้เสียหายจึงดิ้นต่อสู้กอดปล้ำกับจำเลย จำเลยจึงไม่มีโอกาสเลือกแทง แต่แทงไปตามโอกาสที่จะอำนวยและไม่ได้ใช้กำลังแทงรุนแรงนัก ทั้งเมื่อจะแทงอีก ผู้เสียหายปัดมือ จำเลยจึงเปลี่ยนเป็นใช้ด้ามมีดกระแทกศีรษะผู้เสียหายแทน แสดงให้เห็นว่าไม่ต้องการแทงซ้ำ บาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับมีบาดแผลบวมช้ำฉีกขาดกลางศีรษะและบาดแผลฉีกขาดหลังมือซ้ายตัดเอ็นนิ้วนางและนิ้วก้อยขาด ส่วนบาดแผลที่บริเวณหน้าอกด้านขวาระดับซี่โครงที่ 6 ไม่ปรากฏขนาดของบาดแผล ไม่ทะลุเข้าไปในช่องอก แสดงว่าจำเลยไม่ได้แทงอย่างแรง กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย คงมีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายเท่านั้น
แม้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพยายามฆ่า โดยมิได้บรรยายฟ้องว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสหรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนา จนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันก็ตาม แต่ตามคำฟ้องก็กล่าวว่าผู้เสียหายมีบาดแผลตามสำเนารายงานการชันสูตรบาดแผลท้ายฟ้อง ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของฟ้องได้ระบุความเห็นว่ารักษาประมาณ 45 วันหาย และทางพิจารณาข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบได้ความว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส เมื่อข้อเท็จจริงตามฟ้องนั้นโจทก์สืบสม ทั้งการกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น รวมการกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 297 ด้วย และเป็นความผิดได้ในตัวเอง ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5753/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจากเหตุทะเลาะวิวาท ศาลยืนค่าชดเชยและค่าวันหยุดพักผ่อน
++ เรื่อง คดีแรงงาน ++
++
++ ทดสอบการทำงานในระบบ CW เพื่อค้นหาข้อมูลทาง online ++
++ ย่อข้อกฎหมายอย่างไม่เป็นทางการ
++ ขอชุดตรวจได้ที่งานย่อข้อกฎหมายระบบ CW โถงกลางชั้น 3 ++
++
++
++ ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์ทะเลาะวิวาทกับนายโชคชัย นุ้ยทองคำ หัวหน้าพนักงานรักษาความปลอดภัย เป็นการกระทำผิดต่อระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยกับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีหรือไม่
++
++ ศาลฎีกาเห็นว่า แม้โจทก์จะเป็นผู้เริ่มต้นก่อเหตุทะเลาะวิวาทขึ้นโดยกล่าววาจาหยาบคายและต่อว่านายโชคชัย เป็นเหตุให้นายโชคชัยบันดาลโทสะเข้าชกต่อยโจทก์ก็ตาม ก็เป็นเพียงกรณีที่โจทก์ถูกนายโชคชัยทำร้ายร่างกายแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยโจทก์มิได้ทำร้ายตอบโต้ และโจทก์มีตำแหน่งหัวหน้าพนักงานรักษาความปลอดภัยเท่าเทียมกับนายโชคชัย ทั้งห้องเกิดเหตุก็เป็นห้องสำนักงานรักษาความปลอดภัยอันเป็นที่ทำงานเฉพาะส่วนของพนักงานรักษาความปลอดภัย บุคคลภายนอกไม่สามารถที่จะเข้าไปหรือเห็นเหตุการณ์หรือได้ยินเสียงทะเลาะวิวาทได้
++ จึงถือไม่ได้ว่า การกระทำของโจทก์เป็นการกระทำผิดระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (4)
++ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุนี้จึงต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6570/2542 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฆ่าโดยเจตนา แม้มีเหตุทะเลาะวิวาท แต่ไม่เข้าข้อยกเว้นเหตุป้องกันตัวหรือบันดาลโทสะ
แม้สภาพศพผู้ตายมีรอยช้ำที่ขาทั้งสองข้างเนื่องจากถูกของแข็งกระทบกระแทกโดยเฉพาะที่หัวเข่าและหน้าแข้งหลายแห่ง และจำเลยใช้เหล็กยกน้ำหนักทุบตีผู้ตายที่ศีรษะจนผู้ตายถึงแก่ความตาย ก็ตาม แต่ไม่ได้ความชัดแจ้งว่าจำเลยได้ทรมานหรือกระทำการทารุณโหดร้ายผู้ตายอย่างไร ประกอบกับเหตุที่เกิดขึ้นเป็นการทะเลาะวิวาทและทำร้ายกันระหว่างจำเลยกับผู้ตาย การที่จำเลยฆ่าผู้ตายจึงไม่เข้าลักษณะเป็นการทรมานหรือกระทำทารุณโหดร้าย
จำเลยกับผู้ตายเป็นสามีภริยากันมีบุตรด้วยกัน 4 คน บุตรคนแรกมีอายุประมาณ 24 ปี ผู้ตายทำมาหากินและอาศัยอยู่ด้วยกันย่อมจะต้องมีเรื่องระหองระแหงกระทบกระทั่งกัน และไม่เข้าใจกันบ้างเป็นปกติธรรมดาจำเลยซึ่งเป็นสามีและเป็นหัวหน้าครอบครัวควรจะมีความหนักแน่นอดทนและอดกลั้นที่จำเลยอ้างว่า ผู้ตายนำเงินที่จำเลยมอบให้เพื่อนำไปชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ไปใช้ส่วนตัวและจำเลยตรวจพบว่าเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารได้หายไปประมาณ 500,000ถึง 600,000 บาท และเงินที่ขายรถยนต์บรรทุกหกล้อจำนวน 500,000 บาทได้หายไปนั้นก็ยังไม่แน่ชัดว่าผู้ตายเป็นผู้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปจริงหรือไม่ ที่จำเลยเบิกความว่าและผู้ตายบอกจำเลยว่าเป็นคนนำเงินจำนวนดังกล่าวไปให้ชู้นั้นผู้ตายอาจจะพูดขึ้นเพื่อเป็นการประชดประชันจำเลยเท่านั้น ส่วนที่ผู้ตายด่าจำเลยว่าไอ้เหี้ย ก็เกิดขึ้นเมื่อจำเลยกับผู้ตายต่างฝ่ายต่างขาดความอดทนและอดกลั้นได้สมัครใจเข้าทะเลาะวิวาทกันจนถึงขั้นทำร้ายกันซึ่งเป็นธรรมดาที่จะต้องมีการด่าว่ากันเช่นนี้ กรณีที่จำเลยกับผู้ตายทะเลาะวิวาทกันเป็นเรื่องภายในครอบครัวของจำเลยและผู้ตายไม่ใช่เรื่องร้ายแรงที่จำเลยจะต้องฆ่าผู้ตาย ทั้งจำเลยทราบก่อนเกิดเหตุหลายวันว่าเงินได้ขาดหายไป กรณีจึงไม่ใช่เหตุข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยฆ่าผู้ตายจึงไม่ใช่เป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ.มาตรา 72
จำเลยต้องการทำร้ายผู้ตาย แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า แม้ผู้ตายเป็นคนใช้อาวุธปืนยิงจำเลยก็ตาม แต่เหตุที่เกิดขึ้นทั้งหมดจำเลยเป็นฝ่ายก่อขึ้นก่อน การที่จำเลยฆ่าผู้ตายจึงไม่เป็นการป้องกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5923/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อยกเว้นกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล กรณีผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตจากการทะเลาะวิวาท
ตามกรมธรรม์ประกันภัย ระบุข้อยกเว้นที่การประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ไม่คุ้มครองว่า "2. ความสูญเสียหรือความเสียหายอันเกิดจากความบาดเจ็บทางร่างกายที่เกิดขึ้นในเวลาต่อไปนี้ ง. ขณะที่ผู้เอาประกันภัย เข้าร่วมทะเลาะวิวาทหรือมีส่วนยั่วยุให้เกิดการทะเลาะวิวาท"ดังนี้ ข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องรับผิดดังกล่าวต้องตีความโดยเคร่งครัดว่า ย่อมหมายถึงเฉพาะความสูญเสียหรือความเสียหาย อันเกิดจากความบาดเจ็บทางกายที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เสียชีวิต เพราะตามกรมธรรม์มีข้อตกลงคุ้มครอง 6 ข้อ ข้อ 1. เสียชีวิต ข้อ 2. สูญเสียอวัยวะและสายตา ข้อ 3. ทุพพลภาพถาวรข้อ 4. และข้อ 5. ทุพพลภาพชั่วคราว ข้อ 6. ค่ารักษาพยาบาลและกรณีผู้เอาประกันภัยถูกฆาตกรรมหรือถูกลอบทำร้ายร่างกายจำนวนเงินเอาประกันภัยข้อ 1 และข้อ 2 จะเป็น250,000 บาท ข้อยกเว้นความรับผิดดังกล่าวไม่ได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งถึงกรณีเสียชีวิตหรือถูกฆาตกรรม กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นการประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยต้องรับผิดชำระเงินแก่โจทก์ตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1243/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างฐานฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทะเลาะวิวาท และสิทธิในการรับเงินโบนัสหลังการเลิกจ้าง
การที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ห้ามทะเลาะวิวาทและกล่าววาจาที่ไม่สุภาพให้ร้ายต่อเพื่อน-ร่วมงานหรือผู้บังคับบัญชา ป.เป็นลูกจ้างของ ว. ป.จึงไม่ใช่ลูกจ้างจำเลย และไม่ได้เป็นเพื่อนร่วมงานหรือผู้บังคับบัญชาของโจทก์ การกระทำของโจทก์จึงไม่เป็นการกระทำผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย หากจะถือว่าเป็นการกระทำผิดระเบียบข้อบังคับดังกล่าว ก็ไม่ใช่กรณีร้ายแรงอันจำเลยจะเลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยนั้น เมื่อคดีไม่มีประเด็นว่า ป.เป็นลูกจ้างของจำเลยหรือไม่ เพราะโจทก์มิได้กล่าวมาในฟ้องและข้อเท็จจริงดังกล่าวเกิดจากคำเบิกความของผู้จัดการฝ่ายบุคคลของจำเลยเป็นข้อเท็จจริงนอกเรื่องนอกประเด็น และไม่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่คู่ความจะต้องนำสืบ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.พ.มาตรา 87 ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 การที่จำเลยยกข้อเท็จจริงดังกล่าวเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายที่โจทก์อุทธรณ์ ศาลฎีกาย่อมไม่รับวินิจฉัย
ศาลแรงงานวินิจฉัยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจาก ป.ทำงานให้แก่จำเลย การกระทำของโจทก์จึงเป็นการผิดวินัยแต่ศาลแรงงานมิได้ชี้ชัดว่า ป.เกี่ยวพันกับจำเลยในฐานะใด เพียงแต่กล่าวว่าป.ทำงานให้แก่จำเลย แต่เมื่อโจทก์ยอมรับข้อเท็จจริงตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานว่า รายงานเหตุการณ์ของแผนก GENERAL AFFAIRSถึงผู้จัดการฝ่ายบุคคลของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.19 ถูกต้องแล้ว ดังนั้นเมื่อได้ความตามเอกสารดังกล่าวว่า หลังจากมีการสอบสวนพนักงานทั้งหมดแล้วแผนก GENERAL AFFAIRS ได้ตักเตือนพนักงานและได้จัดการเกี่ยวกับการทำงานของพนักงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ โดยให้ย้ายพนักงานไปทำงานในบริเวณที่ไกลต่อกันและกัน เพื่อไม่ให้มีการทะเลาะกันอีก จึงเห็นได้ว่า การที่แผนกธุรการฝ่ายบุคคลของจำเลยสั่งย้ายพนักงานซึ่งมี ป.ลูกจ้างของ ว.ซึ่งเป็นผู้รับเหมาทำความสะอาดให้จำเลยรวมอยู่ด้วยนั้น ถือได้แล้วว่า ป.เป็นเพื่อนร่วมงานของโจทก์เพราะโจทก์มีหน้าที่เป็นคนทำสวนของจำเลย ส่วน ป.เป็นพนักงานของผู้รับเหมาทำความสะอาดในที่ทำการของจำเลย แม้ผู้เป็นนายจ้างของโจทก์กับ ป.จะต่างคนกันก็ตาม แต่เมื่อผลของงานที่แต่ละคนดำเนินการไปนั้นตกได้แก่จำเลยแต่ผู้เดียวดังนั้น เมื่อโจทก์ทำร้ายร่างกาย ป.จนได้รับอันตรายสาหัสเช่นนี้ จึงผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ระบุว่าห้ามทะเลาะวิวาทและกล่าววาจาที่ไม่สุภาพให้ร้ายต่อเพื่อนร่วมงานแล้ว
เมื่อสาเหตุที่โจทก์ทำร้ายร่างกาย ป.เนื่องมาจากในระหว่างเวลาทำงาน ขณะ ป.ทำความสะอาดห้องน้ำในโรงงานของจำเลย เป็นเหตุให้น้ำกระเด็นไปถูกเสื้อผ้าของโจทก์ที่ตากไว้เปียกและสกปรก โจทก์ได้ด่าว่า ป.อย่างเสียหาย และหลังจากเลิกงานแล้วยังได้ไปดักทำร้ายร่างกาย ป.นอกที่ทำการของบริษัทจำเลยอีก เมื่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องมาจากการทำงานภายในบริษัทจำเลย กรณีถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์เดียวกัน และเมื่อการกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานกรณีร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (4)จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ.มาตรา 583
โจทก์จงใจอุทธรณ์บิดเบือนโต้แย้งในข้อเท็จจริง ที่ศาลแรงงานรับฟังคำเบิกความของ ช.ว่า ตามระเบียบจำเลยจะจ่ายเงินโบนัสให้แก่พนักงานเฉพาะผู้ที่ทำงานถึงวันกำหนดจ่ายเงินโบนัส เป็นการไม่ชอบ เพราะ ช.เบิกความขัดกับระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.20 ซึ่งไม่มีการกำหนดจ่ายเงินโบนัสไว้นั้น เมื่อข้อเท็จจริงในสำนวนปรากฏว่า ช.ไม่ได้เบิกความเกี่ยวโยงถึงเอกสารหมาย ล.20 ไว้เช่นนี้ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหาข้อนี้
แม้ตามประกาศของจำเลยเรื่องการจ่ายเงินโบนัส ได้ประกาศก่อนที่จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์และข้อความในประกาศกำหนดว่าจำเลยจะจ่ายเงินโบนัสให้พนักงานทุกคนหลังจากวันที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ก็ตามคำว่า พนักงาน หมายถึง ผู้ซึ่งมีฐานะเป็นลูกจ้างจำเลยอยู่ในวันกำหนดจ่ายเงินโบนัสเท่านั้น เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ไปก่อนวันที่จำเลยกำหนดจ่ายเงินโบนัสให้แก่พนักงาน และเมื่อฐานะความเป็นลูกจ้างของโจทก์ย่อมสิ้นไปก่อนถึงวันกำหนดจ่ายเงินโบนัสดังกล่าวแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินโบนัสแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4715/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เหตุทะเลาะวิวาทนอกสถานที่ทำงานและนอกเวลา
คำให้การของจำเลยอ้างแต่เพียงว่าเหตุที่เลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ทะเลาะวิวาททำร้ายผู้อื่นในสถานที่ทำงานของจำเลย อันเป็นเหตุเลิกจ้างตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ข้อ 3.9.1 เท่านั้น หาได้อ้างเหตุเลิกจ้างอื่นตามข้อ 3.9.8 และข้อ 3.9.9 ด้วยไม่ การที่จำเลยอุทธรณ์อ้างเหตุเลิกจ้างตามข้อ3.9.8 และข้อ 3.9.9 จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงาน ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
แม้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยข้อ 3.9.1 จะมีข้อความว่า "พนักงานต้องไม่ทำการทะเลาะวิวาท หรือใช้กำลังประทุษร้ายซึ่งกันและกันในบริเวณบริษัทฯ..." แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ทำร้ายร่างกาย ส.ที่ถนนในบริเวณบริษัท มิใช่ภายในอาคารที่ทำงานหรือที่เก็บสินค้าของจำเลย ขณะเกิดเหตุเป็นเวลาประมาณ 17 นาฬิกา หลังจากเลิกงานแล้ว ทั้งไม่ปรากฏว่า ส.ได้รับบาดเจ็บพฤติการณ์และการกระทำของโจทก์จึงยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกรณีที่ร้ายแรงที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6183/2539

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินการทะเลาะวิวาทในที่ทำงาน การใช้วาจาและกิริยาอาการไม่สุภาพถือเป็นเหตุให้ลงโทษทางวินัยได้
การทะเลาะวิวาทตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานไม่จำต้องถึงขนาดใช้คำหยาบ คำด่า หรือใช้กำลังทำร้าย การใช้วาจาโต้เถียง โดยไม่ฟังเหตุผล และมิใช่เป็นการชี้แจงเหตุผลโดยสุภาพตามควร ประกอบกับการใช้กิริยาอาการที่ทำให้เห็นได้ว่าไม่เคารพยำเกรง และเชื่อฟังหัวหน้างานก็ถือเป็นการทะเลาะวิวาทได้ ข. ซึ่งเป็นหัวหน้างานเตือนโจทก์เกี่ยวกับการทำงาน โจทก์กลับแสดงกิริยาอาการพูดจาก้าวร้าวพร้อมกับตบโต๊ะทำงานต่อหน้า ข. และเพื่อนร่วมงานอีกหลายคนภายในที่ทำการของจำเลย ถือว่าเป็นการทะเลาะวิวาทกับลูกจ้างอื่นหรือบุคคลอื่นในบริเวณที่ทำงานตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 90/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างแรงงาน กรณีทะเลาะวิวาท ต้องพิจารณาพฤติการณ์เป็นรายกรณี หากไม่ร้ายแรงถึงขนาดสร้างความเสียหาย จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชย
แม้ระเบียบข้อบังคับของจำเลยจะระบุว่าการทะเลาะวิวาทถือเป็นความผิดอย่างร้ายแรงก็ตาม จะถือว่าถ้ามีการทะเลาะวิวาทกันแล้วไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไรก็เป็นกรณีร้ายแรงทุกกรณีนั้น ย่อมไม่ชอบด้วยความมุ่งหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 ซึ่งการที่จะฟังว่ากรณีใดเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ จะต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นกรณีไป
กรณีของโจทก์ทั้งสองแม้ได้ทะเลาะวิวาทกันจนถึงขนาดกอดรัดฟัดเหวี่ยงกัน แต่เมื่อ บ.หัวหน้ากะเข้ามาเห็นและแยกโจทก์ทั้งสองออกจากกันแล้วก็ไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงอย่างไรต่อไปอีก ทรัพย์สินของจำเลยก็ไม่ปรากฏว่าเสียหายอย่างไร ส่วนการกระทำของโจทก์ทั้งสองที่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยด้วยนั้นแต่เมื่อระเบียบข้อบังคับของจำเลยดังกล่าว จำเลยมิได้ถือว่าเป็นกรณีร้ายแรงดังนี้กรณียังถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีร้ายแรงที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 90/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างกรณีทะเลาะวิวาท ต้องพิจารณาพฤติการณ์เป็นรายกรณี ไม่ใช่เลิกจ้างได้ทันทีเสมอไป
แม้ระเบียบข้อบังคับของจำเลยจะระบุว่าการทะเลาะวิวาทถือเป็นความผิดอย่างร้ายแรงก็ตาม จะถือว่าถ้ามีการทะเลาะวิวาทกันแล้วไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไรก็เป็นกรณีร้ายแรงทุกกรณีนั้น ย่อมไม่ชอบด้วยความมุ่งหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47 ซึ่งการที่จะฟังว่ากรณีใดเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่จะต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นกรณีไป กรณีของโจทก์ทั้งสองแม้ได้ทะเลาะวิวาทกันจนถึงขนาดกอดรัดฟัดเหวี่ยงกัน แต่เมื่อ บ.หัวหน้ากะเข้ามาเห็นและแยกโจทก์ทั้งสองออกจากกันแล้วก็ไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงอย่างไรต่อไปอีก ทรัพย์สินของจำเลยก็ไม่ปรากฏว่าเสียหายอย่างไร ส่วนการกระทำของโจทก์ทั้งสองที่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยด้วยนั้น แต่เมื่อระเบียบข้อบังคับของจำเลยดังกล่าว จำเลยมิได้ถือว่าเป็นกรณีร้ายแรงดังนี้ กรณียังถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีร้ายแรงที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(4)
of 6