คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
บังคับคดีจำนอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 12 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7547/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีจำนอง: อำนาจผู้จัดการกองทุน, สิทธิเจ้าหนี้บุริมสิทธิ, และประเด็นดอกเบี้ยที่ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย
โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาปฏิเสธคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองของผู้ร้องว่าเคลือบคลุม แต่โจทก์ก็ไม่ได้อ้างเหตุแห่งการปฏิเสธให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าคำร้องส่วนไหนเคลือบคลุม เคลือบคลุมอย่างไร จึงไม่เป็นประเด็นที่จะวินิจฉัย แม้ศาลล่างจะวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ และถือว่าไม่ใช่ประเด็นที่ว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลประเภทกองทุนรวมตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ผู้ร้องจึงต้องมีผู้จัดการกองทุนเพื่อดำเนินการต่างๆ แทน ตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 124 วรรคสอง เมื่อบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ว. เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินกิจการของผู้ร้องจึงมีอำนาจดำเนินการต่างๆ แทนผู้ร้อง
คำร้องขอรับชำระหนี้จำนองมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเพียงว่าผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์ที่โจทก์ยึดไว้ในคดีที่มีการบังคับคดีในฐานะเจ้าหนี้บุริมสิทธิหรือไม่ ฎีกาของโจทก์ในประเด็นเรื่องดอกเบี้ยที่ว่าผู้ร้องมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราเท่าไร จึงไม่เป็นสาระที่ควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4661/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเจ้าหนี้บุริมสิทธิจากบังคับคดีจำนอง: แม้เป็นนิติบุคคลเดียวกัน ก็มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามวงเงินจำนอง
การที่โจทก์และผู้ร้องได้ฟ้องบังคับชำระหนี้ต่างรายกันและขอให้บังคับจำนองโดยอาศัยหนังสือสัญญาจำนองฉบับเดียวกันแก่ที่ดินพิพาทเป็นคนละคดีกัน แม้ผู้ร้องกับโจทก์เป็นนิติบุคคลเดียวกัน แต่ผู้ร้องก็อยู่ในฐานะเจ้าหนี้จำนองตามคำพิพากษาในอีกคดีหนึ่งและเป็นเจ้าหนี้ต่างรายกับโจทก์ในคดีนี้ที่มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินที่ขายหรือจำหน่ายที่ดินจำนองพิพาทที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้โดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนองตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 289 วรรคสอง และเมื่อเป็นการจำนองโดยอาศัยหนังสือสัญญาฉบับเดียวกันบุริมสิทธิของผู้ร้องและบุริมสิทธิของโจทก์เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอันที่จะได้รับชำระหนี้จากที่ดินจำนองพิพาทตามคำพิพากษาของตนรวมกันได้ไม่เกินวงเงินจำนอง ผู้ร้องไม่อาจยึดที่ดินจำนองพิพาทได้อีกเพราะตกอยู่ในบังคับข้อห้ามมิให้ยึดซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคหนึ่ง และเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ของตนในคดีอื่นได้จะต้องมีบทบัญญัติของกฎหมายสนับสนุน เช่น การขอเฉลี่ยทรัพย์ หรือการขอรับชำระหนี้จำนองหรือบุริมสิทธิ โดยการยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดี ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอรับชำระหนี้จำนองตามคำพิพากษาจากเงินที่ขายหรือจำหน่ายที่ดินจำนองพิพาทร่วมกับโจทก์ในคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7966/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีจำนอง: เจ้าหนี้สามัญขอรับชำระหนี้จากที่ดินจำนอง ย่อมมีผลเป็นคำฟ้องบังคับจำนอง ต้องเสียค่าขึ้นศาล
หนี้ตามคำพิพากษาซึ่งผู้ร้องในฐานะโจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดคดีนี้เมื่อมีการจำนองเป็นประกัน แต่ผู้ร้องได้เลือกใช้สิทธิฟ้องจำเลยให้รับผิดในหนี้ที่มีประกันอย่างเจ้าหนี้สามัญ มิได้ใช้สิทธิบังคับจำนองเอาแก่ที่ดินอันเป็น หลักประกันที่จำเลยจำนองไว้แก่ผู้ร้องด้วย แม้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่ผู้ร้อง ผู้ร้องก็เพียงอยู่ในฐานะเจ้าหนี้สามัญตามคำพิพากษาเท่านั้น การที่ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้จากที่ดินของจำเลยที่เจ้าพนักงานบังคับคดี ได้ยึดไว้โดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนองตามวิธีการที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 289 จึงเป็นเรื่องที่ผู้ร้องประสงค์ จะให้ตนได้รับชำระหนี้จากที่ดินจำนองของจำเลยอันเป็นหลักประกันนอกเหนือไปจากการใช้สิทธิบังคับคดีตาม คำพิพากษาของศาลอย่างเจ้าหนี้สามัญ คำร้องที่ผู้ร้องขอรับชำระหนี้จำนองย่อมมีผลเป็นคำฟ้องขอให้บังคับจำนอง ซึ่งผู้ร้องจะต้องเสียค่าขึ้นศาลตามตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ. ข้อ (1) (ค)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6970/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีจำนอง: ยอดหนี้ถูกต้องตามแจ้ง เจ้าพนักงานบังคับคดีระบุหนี้ในประกาศขายทอดตลาดได้
การที่จำเลยนำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์นำยึดไปจดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ไว้แก่ธนาคารทหารไทยเมื่อปี 2530 เป็นเงิน 62,000,000 บาท และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทโดยวิธีติดจำนองโดยระบุหนี้จำนอง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2537จำนวน 132,918,356.17 บาท ตามที่ธนาคารทหารไทยแจ้งยอดหนี้มานั้น เป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้รับจำนองซึ่งเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิ หากยอดหนี้ดังกล่าวไม่ถูกต้องจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ย่อมสามารถตรวจสอบยอดหนี้กับธนาคารทหารไทย และร้องคัดค้านได้ แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้คัดค้านแต่อย่างใดจึงน่าเชื่อว่ายอดหนี้ที่แจ้งมาเป็นหนี้และดอกเบี้ยที่คิดคำนวณถูกต้องและโจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีระบุยอดหนี้จำนองไว้ในประกาศขายทอดตลาด ทรัพย์พิพาทโดยวิธีติดจำนองแจ้งแก่บุคคลภายนอกที่จะเข้ามาประมูลซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดทราบก็เพื่อคุ้มครองบุคคลภายนอกนั่นเอง จึงเป็นการกระทำที่ถูกต้องและสมควรแล้ว ไม่ต้องไต่สวนเกี่ยวกับยอดหนี้จำนองตามคำร้องของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5876/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการบังคับคดีจำนองและการคิดดอกเบี้ยเบี้ยปรับตามสัญญา การยกข้อต่อสู้ใหม่ในฎีกา
ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 225 คู่ความฝ่ายใดประสงค์จะอุทธรณ์ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายข้อใดก็ให้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายข้อนั้นขึ้นมากล่าวคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นพร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำคัดค้านให้ชัดแจ้งในคำฟ้องอุทธรณ์ว่าที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายมานั้นไม่ถูกต้องอย่างไรและที่ถูกควรเป็นอย่างไรพร้อมด้วยเหตุผลที่คัดค้าน กฎหมายบทนี้มิได้มีความมุ่งหมายบังคับให้คู่ความฝ่ายที่อุทธรณ์ต้องบรรยายในคำฟ้องอุทธรณ์ถึงคำฟ้องและคำให้การเหมือนดังที่บรรยายมาในศาลชั้นต้น เมื่อกฎหมายมิได้มีความมุ่งหมายดังกล่าวการที่โจทก์กล่าวในคำฟ้องอุทธรณ์ถึงคำฟ้องและคำให้การมาย่อ ๆ พอให้ทราบว่าคดีโจทก์เป็นมาอย่างไรก็ย่อมเป็นการเพียงพอแล้ว และโจทก์ได้บรรยายไว้ในอุทธรณ์แล้วว่าโจทก์มีสิทธิบังคับเอาแก่ทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยชำระหนี้โจทก์จนครบ การที่คำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่กล่าวถึงการบังคับคดีส่วนนี้ทำให้โจทก์ไม่อาจบังคับแก่ทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยตามสัญญาจำนองและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองได้ เป็นการบรรยายโดยชัดแจ้งถึงข้อกฎหมายที่โจทก์ยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์ อุทธรณ์ของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวข้างต้น
ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อ 3 ว่าจำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ให้โจทก์ตามฟ้องเพียงใด ย่อมครอบคลุมไปถึงปัญหาว่าจำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ตามสัญญาจำนองหรือไม่ ซึ่งเกิดจากคำฟ้องและคำให้การ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า หากจำเลยไม่ชำระ ก็ให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบ จึงมีอำนาจวินิจฉัยได้ ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาท
ตามฟ้องโจทก์บรรยายถึงการดำเนินการเป็นขั้น ๆ ไป คือบังคับจำนองนำทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดก่อน เมื่อได้เงินมาไม่พอชำระหนี้จึงจะบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลย ซึ่งเป็นการบังคับแก่ทรัพย์โดยมีลำดับก่อนหลัง แต่ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้โจทก์บังคับเอาแก่ทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยได้โดยไม่มีลำดับก่อนหลัง จึงเป็นการพิพากษาเกินกว่าข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยและเกินกว่าคำฟ้อง
ที่จำเลยฎีกาว่า ขณะจดทะเบียนจำนองไม่มีข้อตกลงในการบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โจทก์จึงไม่มีสิทธิยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยนอกเหนือไปจากทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนั้น จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้และไม่ได้ตั้งประเด็นไว้ในคำแก้อุทธรณ์จึงไม่ใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ.มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ตามสัญญาระบุให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นอัตราร้อยละ 11.75 ต่อปี แต่ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยเพิ่มขึ้นตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของโจทก์อีก ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราเพิ่มขึ้นจากอัตราในขณะเลิกสัญญาและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนมานั้นไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5416/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมาย, สิทธิบังคับคดีจำนอง, ความรับผิดของผู้ค้ำประกันและผู้จำนอง
จำเลยที่ 2 และที่ 5 ให้การข้อ 2 ว่า จำเลยที่ 1ถึงที่ 5 ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ ไม่เคยกู้ยืมเงินโจทก์ และไม่เคยเข้าทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้เงินกู้ของจำเลยคนใดที่มีภาระจำต้องชำระหนี้แก่โจทก์ แม้จำเลยที่ 2 และที่ 5 จะมิได้ให้เหตุผลหรือรายละเอียดแห่งการปฏิเสธไว้แต่คำให้การของจำเลยที่ 2และที่ 5 ดังกล่าวก็ถือได้ว่าเป็นคำให้การที่ปฏิเสธคำฟ้องของโจทก์แล้ว ส่วนที่จำเลยที่ 2 และที่ 5 ให้การต่อไปในข้อที่ 9 ก็เป็นเพียงคำให้การที่หยิบยกข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายขึ้นต่อสู้ว่า หากจำเลยที่ 2 และที่ 5 ต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 2 และที่ 5 ก็ยังหลุดพ้นจากความรับผิดต่อผู้ให้กู้ โดยเหตุที่ผู้ให้กู้ได้ปล่อยให้ทรัพย์จำนองหลุดพ้น มิใช่เป็นคำให้การที่ยอมรับ หรือถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 5 รับว่าได้ทำสัญญาค้ำประกันตามเอกสารท้ายฟ้องโจทก์ คำให้การของจำเลยที่ 2 และที่ 5 จึงมิได้ขัดแย้งกันเอง หรือไม่ชัดแจ้งว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างในคำฟ้องของโจทก์ และต้องถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 5 ให้การปฏิเสธในเรื่องการทำสัญญาค้ำประกันตามเอกสารท้ายฟ้องซึ่งเป็นประเด็นที่โจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบให้ได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 5ทำสัญญาค้ำประกัน สัญญาค้ำประกันที่โจทก์นำสืบเป็นพยานหลักฐานยังมิได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ จึงไม่อาจใช้สัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานฟังว่า จำเลยที่ 2 และที่ 5 เป็นผู้ค้ำประกันตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 เป็นผลให้คดีโจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการค้ำประกันเป็นหนังสือที่จะฟ้องร้องให้จำเลยที่ 2 และที่ 5 รับผิดในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 ดังนี้คดีของโจทก์จึงไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือที่จำเลยที่ 2 และที่ 5 ได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญแสดง โจทก์จะฟ้องร้องให้บังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 และที่ 5 ให้รับผิดในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันไม่ได้ จำเลยที่ 2 และที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกัน แม้ตามสัญญากู้เงินจะมีข้อความว่าผู้กู้ได้กู้เงินจากโจทก์จำนวน 3,000,000 บาท และในขณะทำหนังสือสัญญานี้ผู้กู้ได้รับเงินไปครบถ้วนและเรียกร้อยแล้ว และตามคำฟ้องโจทก์และที่โจทก์นำสืบได้ความว่า ในวันที่ทำสัญญากู้ยืมจำเลยที่ 1 ได้รับเงินไปจากโจทก์เพียง 2,000,000 บาทและหลังจากนั้นในวันที่ 20 มิถุนายน 2526 จำเลยที่ 1ได้รับเงินไปอีก 1,000,000 บาท กรณีหาจำเป็นที่โจทก์ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้รับเงินจำนวน 1,000,000 บาท ในภายหลังอีกไม่ เพราะโจทก์มีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือในจำนวนเงิน 3,000,000 บาทที่จำเลยที่ 1 ลงชื่อเป็นผู้กู้ยืมมาแสดงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 แล้ว โจทก์ย่อมนำสืบพยานบุคคลถึงการรับเงินตามจำนวนที่ระบุในสัญญากู้เงินได้ จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้ยืมจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ส.ซึ่งมิได้เป็นบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินทุนหรือธุรกิจหลักทรัพย์และเป็นสถาบันการเงินตามพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523อันจะมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากผู้กู้ยืมได้เป็นพิเศษจึงต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654ที่ห้ามคิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 14 ต่อปี มาปรับแก่คดี เมื่อสัญญากู้เงินระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ส. ตามเอกสารหมาย จ.6 กำหนดดอกเบี้ยไว้ในอัตราร้อยละ19.5 ต่อปี เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 ข้อกำหนดอัตราดอกเบี้ยจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะเรียกดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินจากจำเลยที่ 1 และไม่มีสิทธิที่จะเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 5 ในฐานะผู้จำนองในอัตราเดียวกันด้วยได้ แต่โจทก์ยังมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยโดยเหตุผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่เวลาผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 แม้ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ส.ตกเป็นโมฆะใช้บังคับไม่ได้ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวนหนึ่งแก่โจทก์และโจทก์ได้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระดอกเบี้ยเสร็จสิ้นแล้วจึงนำมาชำระต้นเงิน ซึ่งชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 329 เช่นนี้ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์แล้ว แม้ดอกเบี้ยนั้นจะเกินอัตราตามกฎหมายตกเป็นโมฆะ ก็มีผลเท่ากับว่าจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยที่รู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีความผูกพันต้องชำระ ที่จำเลยที่ 5 อุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นรับฟังตารางคำนวณดอกเบี้ยเอกสารหมาย จ.13 มาวินิจฉัยเป็นคุณแก่ฝ่ายโจทก์ไม่ชอบ เพราะเป็นเอกสารที่ทำขึ้นลอย ๆ นั้น เมื่อศาลศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยในประเด็นที่จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1ได้ชำระดอกเบี้ยไปแล้วเพียงใดหรือไม่ โดยมิได้นำเอกสารหมาย จ.13 มาวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่โจทก์ ที่จำเลยที่ 5ฎีกาในข้อนี้ขึ้นมาอีก ศาลฎีกาจึงไม่จึงต้องวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 288/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีจำนองต่อผู้รับโอนทรัพย์สินก่อนฟ้องคดี การบังคับคดีต้องเป็นไปตามกฎหมายและยึดทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา
ผู้ร้องเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองมาก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้การที่โจทก์เพียงแต่บอกกล่าวบังคับจำนองไปยังผู้ร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 735 โดยมิได้ฟ้องผู้ร้องเป็นจำเลยด้วยนั้น จึงไม่ใช่เป็นการบังคับจำนองที่ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 เมื่อผู้ร้องไม่ใช่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงไม่มีสิทธิยึดที่ดินของผู้ร้องได้ เพราะการบังคับคดีตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 278 นั้น จะต้องเป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่าทรัพย์ที่จะบังคับคดีเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเมื่อโจทก์รับว่าทรัพย์ที่พิพาทเป็นของผู้ร้องมิใช่ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเช่นนี้ จึงต้องปล่อยทรัพย์พิพาทที่ยึดไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 996/2532 เวอร์ชัน 4 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการบังคับคดีจำนอง: บังคับคดีเอาจากทรัพย์จำนองเท่านั้น หากสัญญามิได้ระบุขยายไปยังทรัพย์สินอื่น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยนำที่ดินมีโฉนดมาจำนองไว้กับโจทก์จำเลยรับเงินไปครบถ้วนในวันทำสัญญาจำนอง ต่อมาโจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยกู้เงินอีกต่อไป โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้และบังคับจำนอง และคำขอบังคับท้ายฟ้อง โจทก์ขอว่า หากจำเลยไม่ชำระเงินให้ยึดที่ดินที่จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์แสดงว่าโจทก์ฟ้องบังคับจำนองประสงค์จะบังคับคดีเอาจากทรัพย์จำนองเท่านั้น
โจทก์นำสืบพยานหลักฐานว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์โดยถือหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมด้วย เมื่อสัญญาดังกล่าวไม่มีข้อความว่าหากโจทก์บังคับชำระหนี้เอาทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้ ก็ให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นได้ด้วย ดังนี้ เมื่อโจทก์บังคับคดีเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ได้เงินน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันตามคำพิพากษา โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะบังคับคดีเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยได้อีก.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 996/2532 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการบังคับคดีจำนอง: สิทธิเรียกร้องจากทรัพย์สินอื่นเมื่อขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้
คำฟ้องโจทก์ที่มีสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้หากไม่ชำระหนี้ก็ให้ยึดทรัพย์สินที่จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์เป็ฯการฟ้องบังคับจำนองเมื่อสัญญาจำนองไม่มีข้อความว่าหากโจทก์บังคับชำระหนี้เอาทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้โจทก์ ก็ให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นได้ด้วย ดังนั้นการที่โจทก์บังคับคดีเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ได้เงินน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกัน เงินที่ยังขาดจำนวนอยู่โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะบังคับคดีเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองได้อีกตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733.(ที่มา-ส่งเสริม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 996/2532 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการบังคับคดีจำนอง: บังคับได้เฉพาะทรัพย์จำนอง แม้ขายทอดตลาดแล้วยังขาดหนี้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยนำที่ดินมีโฉนดมาจำนองไว้กับโจทก์จำเลยรับเงินไปครบถ้วนในวันทำสัญญาจำนอง ต่อมาโจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยกู้เงินอีกต่อไป โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้และบังคับจำนอง และคำขอบังคับท้ายฟ้องโจทก์ขอว่า หากจำเลยไม่ชำระเงินให้ยึดที่ดินที่จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ แสดงว่าโจทก์ฟ้องบังคับจำนองประสงค์จะบังคับคดีเอาจากทรัพย์จำนองเท่านั้น โจทก์นำสืบพยานหลักฐานว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์โดยถือหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมด้วย เมื่อสัญญาดังกล่าวไม่มีข้อความว่าหากโจทก์บังคับชำระหนี้เอาทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้ ก็ให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นได้ด้วย ดังนี้ เมื่อโจทก์บังคับคดีเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ได้เงินน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันตามคำพิพากษา โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะบังคับคดีเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยได้อีก
of 2