คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
บังคับจำนอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 247 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7699/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แก้ไขคำขอท้ายฟ้องหลังมีคำพิพากษาต้องเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยเท่านั้น การเพิ่มความรับผิดเกินกว่าคำพิพากษาเดิมทำไม่ได้
โจทก์ฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องขอบังคับให้จำเลยทั้งห้าชำระหนี้และฟ้องบังคับจำนองสำหรับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ด้วย โดยมีคำขอในส่วนบังคับจำนองว่า ให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 5 ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน ซึ่งศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามคำขอดังกล่าวแล้ว ดังนั้น การที่โจทก์ขอแก้ไขข้อความเป็นว่า หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน ย่อมเป็นการเพิ่มความรับผิดในการบังคับจำนองให้แก่จำเลยอื่นนอกจากจำเลยที่ 5 มากกว่าคำพิพากษาเดิมของศาลชั้นต้นจึงมิใช่ข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่นๆ แต่เป็นการแก้ไขคำวินิจฉัยในคำพิพากษาเดิม ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7569/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิรับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่น, การบังคับจำนอง, การคิดดอกเบี้ยผิดนัด, และระยะเวลาการยื่นคำร้อง
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเพื่อใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ซึ่งวรรคสองได้กำหนดระยะเวลาไว้ให้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอได้ก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอด เมื่อการขายทอดตลาดครั้งแรกไม่มีผู้สนใจเข้าประมูลราคา เจ้าพนักงานบังคับคดีได้งดการขายและประกาศขายทอดตลาดใหม่ การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนวันที่ประกาศขายทอดตลาดใหม่ จึงเป็นการยื่นคำร้องขอก่อนเอาทรัพย์จำนองนั้นออกขายทอดตลาดตามที่กฎหมายกำหนด
การยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 มีผลเป็นการฟ้องขอให้บังคับจำนองและตาม ป.พ.พ. มาตรา 715 (1) ได้บัญญัติให้ทรัพย์สินซึ่งจำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้กับดอกเบี้ย ทั้งสัญญาจำนองที่ดินก็ระบุให้ดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี และตกลงนำส่งดอกเบี้ยเดือนละครั้ง ดังนี้ วงเงินจำนองตามที่ระบุในสัญญาจำนองหมายถึงเฉพาะหนี้เงินต้นไม่รวมถึงหนี้ดอกเบี้ย ผู้รับจำนองมีสิทธิขอรับชำระหนี้ในส่วนดอกเบี้ยที่เกินวงเงินจำนองได้แต่หนี้จำนองเป็นเพียงอุปกรณ์ การบังคับจำนองได้เพียงใดต้องพิจารณาจากหนี้ประธานว่ามีจำนวนเท่าใด ถึงกำหนดชำระแล้วหรือไม่ และกำหนดอัตราดอกเบี้ยเท่าใด ผู้ร้องจึงมีสิทธิได้รับชำระต้นเงินและดอกเบี้ยตามที่ผู้ร้องมีสิทธิได้รับตามสัญญากู้เงินซึ่งเป็นหนี้ประธาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 667/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้บัญชีเดินสะพัด, เจตนาเลิกสัญญา, การบังคับจำนอง, และขอบเขตการบังคับชำระหนี้
แม้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีรวมทั้งสัญญาเพิ่มวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีซึ่งต้องด้วยลักษณะของสัญญาบัญชีเดินสะพัดจะไม่มีกำหนดเวลา แต่สัญญาบัญชีเดินสะพัดเป็นเอกเทศสัญญาที่มีลักษณะเฉพาะ โดยสัญญาจะคงสภาพอยู่ต่อไปได้ก็จะต้องมีการสะพัดทางบัญชีอย่างต่อเนื่องและภายในระยะเวลาอันสมควร ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ภ. ได้นำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนอันเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2526 แล้วไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีกันอีกเลย นับถึงวันที่ ภ. สิ้นพระชนม์เป็นเวลานานเกือบ 12 ปี แสดงว่า ภ. มีเจตนาเลิกสัญญากับโจทก์โดยปริยายแล้ว โจทก์เป็นสถาบันการเงินมีหน้าที่ต้องตรวจตราบัญชีของลูกค้าอยู่ตลอดเวลาว่ามีการเคลื่อนไหวอย่างไร เมื่อปรากฏว่า ภ. ซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์ไม่มีการเคลื่อนไหวทางบัญชี โจทก์ย่อมจะต้องทวงถามหรือบอกเลิกสัญญาในเวลาอันสมควร มิใช่ถือโอกาสใช้สิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นในระยะเวลายาวนานเกินสมควรเช่นนี้ ถือได้ว่าการใช้สิทธิของโจทก์มิได้กระทำโดยสุจริต โดยถือว่าสัญญาเลิกกันตั้งแต่วันที่ ภ. มีเจตนาเลิกสัญญากับโจทก์โดยปริยายคือวันที่ 14 มีนาคม 2526 อันเป็นวันที่ ภ. เดินสะพัดทางบัญชีเป็นครั้งสุดท้าย สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจึงเกิดขึ้นนับแต่นั้น สิทธิเรียกร้องตามสัญญาดังกล่าวมีกำหนดอายุความ 10 ปี โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2539 พ้นกำหนด 10 ปี หนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดจึงขาดอายุความ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏว่า ภ. ได้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาจดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ดังกล่าวในวงเงิน 5,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยมีข้อตกลงว่าหากโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ยอมให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบ ดังนี้ แม้หนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดดังกล่าวจะขาดอายุความ แต่กรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 745 กล่าวคือ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจำนองจะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองแม้เมื่อหนี้ที่จำนองเป็นประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังเกินกว่าห้าปีไม่ได้ และคงบังคับได้แต่เฉพาะทรัพย์สินที่ ภ. จำนองไว้เท่านั้น จะบังคับจากทรัพย์สินอื่นอีกหาได้ไม่ ถึงแม้ว่าตามสัญญาจำนองจะกำหนดให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบ หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ก็ตาม
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2548)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 575/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับจำนองและการเข้าเฉลี่ยทรัพย์: กรณีหนี้ขาดจำนวนตาม ป.พ.พ. มาตรา 733
คดีแพ่งเรื่องอื่นที่ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นคดีที่ผู้ร้องฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้กู้ยืมเงินอันเป็นหนี้ประธานก่อนและเสียค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละสองบาทสิบห้าสตางค์ แต่ผู้ร้องมีคำขอมาท้ายฟ้องด้วยว่าหากจำเลยไม่ชำระเงินให้ผู้ร้องบังคับจำนองแก่ที่ดินของจำเลย โดยการขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่ผู้ร้องแสดงว่าผู้ร้องประสงค์จะบังคับคดีเอาจากที่ดินอันเป็นทรัพย์จำนองดังกล่าวจึงเป็นการฟ้องบังคับจำนองด้วย ดังนั้น เมื่อศาลพิพากษาให้ผู้ร้องชนะคดีตามคำขอท้ายฟ้อง และผู้ร้องนำยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ อันเป็นการบังคับจำนองแล้วได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระ กรณีจึงอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 733 ซึ่งบัญญัติให้ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินที่ขาดจำนวน เมื่อสัญญาจำนองไม่มีข้อตกลงให้จำเลยต้องรับผิดในเงินที่ขาดจำนวน เมื่อสัญญาจำนองไม่มีข้อตกลงให้จำเลยต้องรับผิดในเงินที่ยังขาดจำนวน จึงไม่มีหนี้อันเป็นมูลให้ผู้ร้องมีสิทธิขอเข้าเฉลี่ยทรัพย์ในคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 575/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับจำนองและการเข้าเฉลี่ยทรัพย์: ป.พ.พ.มาตรา 733 กรณีเงินจากการขายทอดตลาดไม่พอชำระหนี้
ในคดีแพ่งที่ผู้ร้องฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้กู้ยืมเงินอันเป็นหนี้ประธานก่อนและเสียค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละสองบาทห้าสิบสตางค์ โดยให้ถือหนังสือสัญญาจำนองเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินด้วย แต่ผู้ร้องก็มีคำขอมาในคำขอท้ายฟ้องด้วยว่า หากจำเลยไม่ชำระเงิน ให้ผู้ร้องบังคับจำนองแก่ที่ดินของจำเลยโดยการขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่ผู้ร้อง แสดงว่าผู้ร้องประสงค์จะบังคับคดีเอาจากที่ดินอันเป็นทรัพย์จำนองด้วย
เมื่อศาลพิพากษาให้ผู้ร้องชนะคดีตามคำขอท้ายฟ้องของผู้ร้อง และผู้ร้องนำยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้อันเป็นการบังคับจำนองแล้วได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ กรณีจึงอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 733 ซึ่งบัญญัติให้ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินที่ยังขาดจำนวนนั้น เมื่อสัญญาจำนองระหว่างผู้ร้องกับจำเลยไม่มีข้อตกลงให้จำเลยต้องรับผิดในเงินที่ยังขาดจำนวน จึงไม่มีหนี้อันจะเป็นมูลให้ผู้ร้องมีสิทธิขอเข้าเฉลี่ยทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2869/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบังคับจำนองหลังขายทอดตลาด: จำเลยมีสิทธิไถ่ถอน/โจทก์บังคับคดีได้ แต่ไม่ใช่ฟ้องซ้ำ
คดีก่อนโจทก์ฟ้อง พ. และนาวาอากาศตรี พ. ให้ชำระหนี้และบังคับจำนองต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 16255/2536 คดีถึงที่สุดแล้วจำเลยเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดในคดีหมายเลขแดงที่ 5957/2537 ที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของ พ. นำยึดออกขายทอดตลาด ดังนี้ โจทก์ผู้ทรงสิทธิจำนองย่อมมีสิทธิที่จะบังคับเอาแก่ตัวทรัพย์นั้นได้ แต่หาทำให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้จำนองแต่อย่างใดไม่ ฐานะของจำเลยเป็นเพียงผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองอันมีสิทธิและหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. ลักษณะ 12 หมวด 4 มิใช่ว่าโจทก์จะอาศัยความเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 16255/2536 ของศาลชั้นต้น ติดตามบังคับแก่ทรัพย์สินนั้นได้ทันที จำเลยมิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว ทั้งประเด็นแห่งคดีเป็นคนละอย่างกัน กรณีหาใช่เรื่องการสืบสิทธิที่จะถือว่าเป็นเรื่องที่คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันไม่ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 16255/2536 ของศาลชั้นต้น ไม่เป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำแล้ว จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและวินิจฉัยประเด็นอื่นที่ยังมิได้วินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี อุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายของโจทก์เช่นนี้เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ 2 (ก) ท้าย ป.วิ.พ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2761/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องบังคับจำนองของตัวการที่ไม่เปิดเผยชื่อ แม้การแต่งตั้งตัวแทนไม่เป็นหนังสือ
โจทก์ที่ 1 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำนิติกรรมแทนโจทก์ที่ 2 การที่โจทก์ที่ 1 รับจำนองที่ดินจากจำเลยเพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ที่จำเลยกู้ยืมไปจากโจทก์ที่ 2 เป็นการกระทำแทนโจทก์ที่ 2 แม้ตามหนังสือสัญญาจำนองระบุชื่อโจทก์ที่ 1 เป็นผู้รับจำนองเท่านั้น โดยไม่ได้ระบุว่ากระทำการแทนโจทก์ที่ 2 ก็เป็นกรณีที่โจทก์ที่ 2 ตัวการซึ่งยังไม่เปิดเผยชื่อแสดงตนให้ปรากฏและเข้ารับเอาสัญญาจำนองซึ่งโจทก์ที่ 1 ได้ทำไว้แทนตน ซึ่งโจทก์ที่ 2 มีสิทธิกระทำได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 806 และเป็นกรณีที่ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 798 วรรคหนึ่ง ที่การตั้งตัวแทนเพื่อทำสัญญาจำนองเป็นหนังสือ ดังนั้นแม้การตั้งตัวแทนของโจทก์ที่ 2 เพื่อทำสัญญาจำนองกับจำเลยจะมิได้ทำเป็นหนังสือ แต่เมื่อสิทธิของโจทก์ที่ 2 ตามสัญญาจำนองเป็นสิทธิที่มีอยู่ในฐานะตัวการที่ไม่เปิดเผยชื่อตาม ป.พ.พ. มาตรา 806 โจทก์ที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำนองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1115/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบังคับจำนองหลังซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาด: ผู้ซื้อมีสิทธิไถ่ถอนหรือถูกบังคับจำนองได้ตามกฎหมาย
การที่จำเลยซื้อทรัพย์สินซึ่งติดจำนองมาจากการขายทอดตลาดในคดีอื่นของศาลชั้นต้น โจทก์ผู้ทรงสิทธิจำนองย่อมมีสิทธิที่จะบังคับเอาแก่ตัวทรัพย์นั้นได้แต่หาได้ทำให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะเป็นผู้จำนองแต่อย่างใดไม่ ฐานะของจำเลยเป็นเพียงผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนอง อันมีสิทธิและหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. คือ จำเลยมีสิทธิไถ่ถอนจำนองโดยเสนอรับใช้เงินเป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์สินนั้น ซึ่งหากโจทก์ไม่ยอมรับ โจทก์ต้องฟ้องคดีต่อศาลภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันมีคำเสนอ เพื่อให้ศาลพิพากษาสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนอง ตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 738 และ 739 และถ้าจำเลยมิได้ใช้สิทธิเสนอไถ่ถอนจำนองดังกล่าว หากโจทก์จะบังคับจำนอง ก็ต้องมีจดหมายบอกกล่าวแก่จำเลยล่วงหน้าหนึ่งเดือนก่อนแล้วจึงจะบังคับจำนองได้ตามมาตรา 735 มิใช่ว่าเมื่อจำเลยซื้อทรัพย์สินซึ่งติดจำนองมาแล้วโจทก์จะอาศัยสิทธิความเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 20768/2535 ที่โจทก์ฟ้องลูกหนี้ติดตามบังคับคดีแก่ทรัพย์สินได้ทันที จำเลยมิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว ประเด็นแห่งคดีก็เป็นคนละอย่างกัน กรณีหาใช่เรื่องสืบสิทธิที่จะถือว่าเป็นเรื่องที่คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันไม่ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 20768/2535 ของศาลชั้นต้น ไม่เป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3325/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตีความสัญญาและการบังคับจำนอง: ศาลต้องยึดตามข้อตกลงในสัญญาที่ชัดเจน และพิพากษาตามคำขอทุกข้อ
การตีความการแสดงเจตนาตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 นั้น หมายถึงกรณีนิติกรรมที่ทำกันไว้มีข้อความไม่ชัดแจ้ง หรือมีข้อความขัดแย้งกัน หรืออาจแปลความหมายได้เป็นหลายนัย แต่ถ้าข้อความในสัญญาชัดเจนแล้ว ย่อมไม่มีความจำเป็นอย่างใดที่จะต้องตีความการแสดงเจตนาของคู่สัญญาอีก คดีนี้จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์และนำที่ดินมาทำสัญญาจำนองไว้กับโจทก์ และหนังสือสัญญาจำนองมีข้อความระบุว่า "ผู้จำนองตกลงจำนองที่ดินแก่ผู้รับจำนอง เพื่อเป็นประกันหนี้ของตนเองที่มีต่อผู้รับจำนอง และคู่สัญญาตกลงให้ถือสัญญาจำนองนี้เป็นหลักฐานการกู้ยืมด้วย เป็นจำนวนเงิน 48,000 บาท โดยให้ดอกเบี้ยเป็นจำนวนเงินร้อยละ 15 ต่อปี ?" การที่ศาลชั้นต้นนำข้อความอื่นนอกเหนือจากข้อตกลงในสัญญาดังกล่าวมาใช้แปลเจตนาของคู่สัญญาในทำนองเป็นที่สงสัยว่าโจทก์ตกลงคิดดอกเบี้ยเอาจากจำเลยหรือไม่นั้น ไม่ต้องด้วยการตีความการแสดงเจตนาเพราะข้อความในสัญญาชัดแจ้งแล้ว ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ให้จำเลยกู้ยืมเงินโดยไม่คิดดอกเบี้ยจึงเป็นการไม่ชอบ
เมื่อศาลชั้นต้นรับฟังว่า คำฟ้องของโจทก์ในส่วนของต้นเงินกู้และการบังคับจำนองมีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ซึ่งศาลมีอำนาจพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีในส่วนนี้ได้ แต่การที่ศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ ย่อมเป็นการทำให้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในส่วนที่ขอให้บังคับจำนองนี้ไร้ผล ซึ่งการวินิจฉัยที่เป็นคุณแก่โจทก์แล้วแต่ไม่พิพากษาให้เป็นไปตามนั้น ถือได้ว่าเป็นกรณีที่คำพิพากษาของศาลชั้นต้นมิได้ตัดสินตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้อ เป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2647/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบี้ยปรับดอกเบี้ยผิดนัดในสัญญา L/C และการมอบอำนาจบอกกล่าวบังคับจำนอง
จำเลยที่ 1 ทำคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตต่อโจทก์เพื่อสั่งซื้อสินค้าจากบริษัท น. ผู้ขายในประเทศญี่ปุ่น โดยให้ผู้ขายเรียกเก็บค่าสินค้าจากสาขาหรือตัวแทนโจทก์ จำเลยที่ 1 ตกลงใช้เงินคืนให้แก่โจทก์โดยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์พึงเรียกเก็บ เมื่อครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิต จำเลยที่ 1 ยังมิได้ชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลย ในอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อผิดนัด ซึ่งการกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายล่วงหน้าฐานผิดสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 เมื่อเบี้ยปรับในรูปดอกเบี้ยที่โจทก์คิดจากจำเลยที่ 1 นั้นเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน โดยเมื่อคำนึงถึงทางได้เสียของธนาคารโจทก์อันชอบด้วยกฎหมายแล้ว เห็นสมควรให้ลดลงตามสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 โดยให้โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ลดลงจากอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อผิดนัดเป็นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่เก็บจากลูกค้าทั่วไป ตามประกาศธนาคารโจทก์โดยอาศัยอำนาจตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ตามความในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 โดยปรับเปลี่ยนขึ้นลงตามประกาศธนาคารโจทก์
ป.พ.พ. มาตรา 728 บัญญัติว่า "เมื่อจะบังคับจำนองนั้น ผู้รับจำนองต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้น ถ้าและลูกหนี้ละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว ผู้รับจำนองจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจำนองและให้ขายทอดตลาดก็ได้" บทบัญญัติมาตรา 728 ดังกล่าวหาได้มีลักษณะให้การบอกกล่าวบังคับจำนองเป็นการที่ผู้รับจำนองต้องทำเองเฉพาะตัวไม่ เมื่อโจทก์มอบอำนาจให้ อ. มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่ 1 ลูกหนี้แทนโจทก์ และจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือดังกล่าวไว้ตามใบไปรษณีย์ตอบรับแล้ว การบอกกล่าวบังคับจำนองของโจทก์จึงชอบด้วยบทบัญญัติมาตราดังกล่าว
of 25