คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ประเด็นข้อเท็จจริง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 14 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 890/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม ห้ามฎีกาในประเด็นที่รับสารภาพในชั้นศาล และการใช้ดุลพินิจลงโทษคดีพนัน
โจทก์บรรยายฟ้องโดยระบุไว้ชัดเจนว่าจำเลยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ และยอดเงินทุนหมุนเวียน 4,480,100 บาท เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการเล่นพนันและเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด และเมื่อศาลชั้นต้นสอบคำให้การ จำเลยได้ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น การที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ เพราะมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2027/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบทรัพย์สินของกลางในคดีเหมืองแร่: ผู้คัดค้านต้องยกประเด็นการใช้เครื่องมือในการกระทำผิดตั้งแต่ศาลชั้นต้น
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านแต่เพียงว่า ผู้คัดค้านเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์ของกลาง และไม่มีโอกาสทราบหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า จำเลยทั้งสี่จะนำทรัพย์สินดังกล่าวไปใช้กระทำความผิด ทั้งผู้คัดค้านได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้วที่จะป้องกันไม่ให้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นเท่านั้น ไม่มีประเด็นว่ารถแทรกเตอร์ (แบ็กโฮ) ของกลาง เป็นเครื่องมือที่จำเลยทั้งสี่ใช้ในการกระทำความผิดหรือไม่ การที่ผู้คัดค้านเพิ่งกล่าวในชั้นอุทธรณ์ว่าพยานที่เห็นรถแทรกเตอร์ (แบ็กโฮ) ดังกล่าวในที่เกิดเหตุมีเหตุโกรธเคืองกับผู้คัดค้านมาก่อน จึงรับฟังไม่ได้ว่ารถแทรกเตอร์ (แบ็กโฮ) ดังกล่าวเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการกระทำความผิด ถือได้ว่าเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่รับวินิจฉัยในปัญหานี้ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4340-4341/2545 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขาดนัดยื่นคำให้การ, ประเด็นข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้ว, การรุกล้ำที่ดิน, และการพิจารณาคำฟ้องตามหน้าที่
ศาลชั้นต้นจะไม่มีคำสั่งว่าจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การหากโจทก์ไม่มีคำขอต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่ระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การได้สิ้นสุดลง อย่างไรก็ตาม การที่โจทก์มิได้มีคำขอให้ศาลสั่งว่าจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ มิได้หมายความว่าจำเลยทั้งสองไม่ขาดนัดยื่นคำให้การ เพราะเมื่อจำเลยทั้งสองมิได้ให้การภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ทั้งมิได้แจ้งเหตุขัดข้องต่อศาลภายในกำหนดเช่นว่านั้น ต้องถือว่าจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การโดยผลของกฎหมายดังที่บัญญัติไว้ในป.วิ.พ. มาตรา 197 วรรคแรก (เดิม) แล้วผลของการที่โจทก์มีคำขอดังกล่าวมีผลเพียงว่าโจทก์ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปเท่านั้น หากโจทก์ไม่ยื่นคำขอภายในกำหนดระยะเวลาดังว่านั้น ก็เป็นผลทำให้ศาลชั้นต้นอาจมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นออกเสียจากสารบบความได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 วรรคแรกและวรรคสอง (เดิม) ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับโจทก์โดยเฉพาะ มิได้เกี่ยวข้องกับปัญหาว่าจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การหรือไม่แต่อย่างใด เหตุนี้การขออนุญาตยื่นคำให้การตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 (เดิม) จึงไม่ต้องให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การตามมาตรา 198 วรรคแรก (เดิม) ก่อน ข้อเท็จจริงในการพิจารณาว่าจะอนุญาตให้จำเลยทั้งสองซึ่งขาดนัดยื่นคำให้การยื่นคำให้การได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยทั้งสองจงใจขาดนัดหรือไม่เท่านั้น หากจำเลยทั้งสองมิได้ขาดนัดยื่นคำให้การโดยจงใจหรือมีเหตุอันสมควรประการอื่นศาลชั้นต้นย่อมอนุญาตให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การภายในกำหนดเวลาตามที่ศาลจะเห็นสมควรได้แต่ถ้าการขาดนัดนั้นเป็นไปโดยจงใจหรือไม่มีเหตุสมควร ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 วรรคแรกและวรรคสอง (เดิม)
ส่วนปัญหาที่จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การดังกล่าวจะถือเท่ากับเป็นการขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งขยายระยะเวลายื่นคำให้การแก่จำเลยทั้งสองได้หรือไม่นั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า กรณีนี้เป็นการขออนุญาตยื่นคำให้การเมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นคำให้การแล้ว ซึ่งหากจะถือว่าเป็นการขอขยายระยะเวลา จำเลยทั้งสองจะต้องอ้างทั้งพฤติการณ์พิเศษที่ไม่อาจยื่นคำให้การภายในกำหนดระยะเวลายื่นคำให้การด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 แต่ปรากฏตามคำร้องขอของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองอ้างเหตุที่มิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การเท่านั้น หาได้อ้างพฤติการณ์พิเศษและเหตุสุดวิสัยแต่อย่างใด ไม่ ดังนี้ ที่จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การดังกล่าวจึงไม่อาจถือเท่ากับเป็นการขอให็ศาลชั้นต้นมีคำสั่งขยายระยะเวลายื่นคำให้การแก่จำเลยทั้งสองได้
จำเลยทั้งสองได้รับหมายเรียกให้ให้การและสำเนาคำฟ้องโดยชอบแล้ว โดยอาจอ้างเหตุที่หลงลืมเพราะจำเลยที่ 2 มีธุระส่วนตัวต้องรีบเดินทางไปประกอบพิธีไหว้บรรพบุรุษ ไปดูแลพี่ชายซึ่งป่วยหนัก และติดต่อหาสถานที่ศึกษาให้แก่บุตรจึงไม่อาจยื่นคำให้การทันภายในกำหนดว่ามีเหตุผลอันสมควรได้ทั้งจำเลยที่ 2 ก็มีทนายความในคดีอาญาที่เกี่ยวกับคดีที่ตนถูกฟ้องเป็นคดีแพ่งนี้อยู่แล้วซึ่งจำเลยที่ 2 อาจติดต่อกับทนายความของตนเพื่อยื่นคำให้การต่อสู้คดีได้ก่อนสิ้นระยะเวลายื่นคำให้การหรืออาจขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การโดยอ้างพฤติการณ์พิเศษอย่างใดอย่างหนึ่งได้ แต่จำเลยที่ 2 หาได้เอาในใส่ในการดำเนินการดังกล่าวหรือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการไม่ พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยทั้งสองยังถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การโดยมีเหตุอันสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การได้
แม้ปัญหาตามข้อฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ว่าจำเลยทั้งสองปลูกสร้างอาคารพาณิชย์รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์หรือไม่ จะมิใช่ประเด็นพิพาท เพราะจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การโดยไม่ได้ให้การต่อสู้คดีเป็นประเด็นไว้ก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นประเด็นแห่งคดีตามคำฟ้องของโจทก์ โจทก์ยังคงมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบให้รับฟังได้ตามคำฟ้อง และในกรณีที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การเช่นคดีนี้ จำเลยทั้งสองมีสิทธิที่จะสาบานตนให้การเป็นพยานเอง และถามค้านพยานโจทก์ได้ ตามมาตรา 199 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งจำเลยทั้งสองได้สาบานตนให้การเป็นพยาน และถามค้านพยานโจทก์ในปัญหาดังกล่าวไว้แล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้จึงถือได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคแรก
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 4 / 2545)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1500/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิพากษาคดีแพ่งต้องไม่ผูกพันกับคำพิพากษาคดีอาญา หากประเด็นข้อเท็จจริงต่างกัน จำเลยมีสิทธิสืบพยานเพิ่มเติม
คำพิพากษาคดีส่วนอาญาถึงที่สุดแล้วอ้างเหตุผลที่ยกฟ้องโจทก์ว่า ที่ดินตามฟ้องเป็นที่ดินที่ไม่ได้จัดสรรให้ราษฎรเข้าทำประโยชน์ เป็นที่ดินที่สงวนไว้สำหรับพลเมือง ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ที่ดินตามฟ้องจึงยังคงเป็นที่ดิน สาธารณประโยชน์ของแผ่นดิน หาใช่เป็นที่ดินที่มีเอกชน เป็นเจ้าของหรือกรมส่งเสริมสหกรณ์ผู้เสียหายมีกรรมสิทธิ์อย่างเอกชนไม่จึงลงโทษจำเลยในฐานความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 และ 365 ไม่ได้ คำพิพากษาคดี ส่วนอาญาซึ่งถึงที่สุดดังกล่าวไม่มีประเด็นโดยตรงว่า การกัน ที่ดินพิพาทและขึ้นทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่อันเป็นประเด็นในคดีนี้ ดังนั้น ในคดีนี้ซึ่งเป็นคดีส่วนแพ่ง จำเลยจึงมีสิทธินำพยานหลักฐาน เข้าสืบตามประเด็นดังกล่าวได้ และการพิจารณาคดีนี้ศาลไม่จำต้อง ถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2839/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนำข้อเท็จจริงจากคดีอาญามาใช้ในคดีแพ่งต้องเป็นประเด็นที่วินิจฉัยถึงที่สุด และการพิจารณาประเด็นข้อเท็จจริงเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน
การบรรยายฟ้องในคดีแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา172กำหนดแต่เพียงว่าฟ้องต้องแสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเท่านั้นหาต้องบรรยายถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเหมือนกับฟ้องในคดีอาญาไม่ส่วนรายละเอียดที่จะต้องนำพยานเข้าสืบเมื่อมีประเด็นโต้เถียงกันแม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายข้อความเหล่านั้นมาฟ้องโจทก์ก็ไม่เคลือบคลุม การจะนำข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาส่วนอาญามารับฟังในคดีส่วนแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา46นั้นจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์3ประการคือคำพิพากษาคดีอาญาต้องถึงที่สุดข้อเท็จจริงนั้นต้องเป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาและคำพิพากษาคดีอาญาต้องวินิจฉัยไว้โดยชัดแจ้งและผู้ที่จะถูกข้อเท็จจริงในคดีอาญามาผูกพันต้องเป็นคู่ความในคดีอาญา โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในข้อหาร่วมกันบุกรุกที่ดินพิพาทและทำให้เสียทรัพย์ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองไม่มีเจตนาบุกรุกหรือทำให้เสียทรัพย์ส่วนที่ว่าที่ดินพิพาทจะเป็นของโจทก์หรือจำเลยไม่จำต้องวินิจฉัยคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้วดังนี้แม้โจทก์และจำเลยคดีก่อนเป็นคู่ความรายเดียวกับคดีนี้ก็ตามแต่ปัญหาที่ว่าที่ดินพิพาทตามฟ้องเป็นของโจทก์ทั้งสองหรือของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นประเด็นโดยตรงในคดีนี้คดีอาญายังไม่ได้วินิจฉัยจึงนำข้อเท็จจริงในคดีอาญาดังกล่าวมารับฟังเป็นยุติในคดีนี้ซึ่งเป็นคดีแพ่งไม่ได้การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์นำเอาข้อเท็จจริงดังกล่าวในคดีอาญามารับฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นการไม่ชอบด้วยบทกฎหมายและปัญหานี้ต้องวินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนแต่เมื่อคดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในปัญหาที่ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลยปัญหาอื่นๆตามคำฟ้องของโจทก์ต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา240(3)ประกอบด้วยมาตรา247 จำเลยให้การสู้คดีอ้างสิทธิครอบครองที่ดินจำนวน20ไร่ทุนทรัพย์ที่พิพาทจึงถือตามราคาที่ดินจำนวน20ไร่แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นและจำเลยทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และฎีกามาในราคาที่ดินจำนวน90ไร่ศาลฎีกาให้คืนค่าขึ้นศาลในส่วนที่เกินมาให้โจทก์และจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5709/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้ามตามมาตรา 248 วรรคหนึ่ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความแพ่ง: ประเด็นการโต้แย้งดุลพินิจศาลชั้นต้นเกี่ยวกับนิติกรรมอำพราง
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำนองที่ดินและเพิ่มวงเงินจำนองไว้แก่จำเลย หลังจากนั้นโจทก์ขอชำระหนี้ทั้งหมดและไถ่ถอนจำนองจำเลยเพิกเฉยโจทก์จึงนำเงินต้นและดอกเบี้ยไปวางที่สำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ ขอให้บังคับจำเลยรับชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองคืนโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ จำเลยให้การต่อสู้คดีว่าโจทก์จำนองที่ดินไว้แก่จำเลยจริง แต่การจดทะเบียนเพิ่มเงินจำนองเป็นการแสดงเจตนาลวงเพื่ออำพรางนิติกรรมซื้อขายที่ดิน เพราะที่ดินดังกล่าวตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 ห้ามโอนภายในกำหนดเวลา 5 ปีจึงจดทะเบียนเป็นเพิ่มเงินจำนองเท่ากับราคาที่ดินที่โจทก์จำเลยตกลงซื้อขายกัน ดังนี้ กรณีเป็นเรื่องโต้แย้งและพิพาทกันด้วยกรรมสิทธิ์ในที่ดิน จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ เมื่อราคาที่ดินที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกามีใจความว่าพยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ฟังได้ว่าโจทก์กู้เงินจากจำเลยและจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกัน ต่อมาโจทก์กู้เงินจากจำเลยอีกหลายครั้ง โจทก์จึงตกลงขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยในราคาเท่ากับจำนวนเงินที่โจทก์กู้ไปทั้งหมด แต่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันไม่ได้ เพราะที่ดินพิพาทตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 ห้ามโอนภายในกำหนด 5 ปีจึงจดทะเบียนเป็นเพิ่มเงินจำนองเพื่ออำพรางนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาท เป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ในการรับฟังพยานหลักฐาน ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยและรับฟังมาว่าการจำนองที่ดินตามฟ้องไม่ได้เป็นนิติกรรมอำพรางการซื้อขายที่ดินจึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4173/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประเด็นการต่อสู้ในคดีนอกคำให้การ และการฟ้องซ้ำที่มิได้มีประเด็นข้อเท็จจริงเดียวกัน
ปัญหาว่า ว.กรรมการบริษัทโจทก์ได้ลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความหรือไม่ จำเลยที่ 3 มิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การฎีกาของจำเลยที่ 3 ในส่วนนี้จึงเป็นเรื่องนอกประเด็นนอกเหนือจากคำให้การ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสามในเรื่องเดียวกันครั้งหนึ่งแล้วแต่ศาลพิพากษายกฟ้องเนื่องจากพยานหลักฐานไม่พอรับฟังว่า ว.กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทโจทก์เป็นผู้กระทำการแทนโจทก์ในคดีดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง แม้คดีก่อนศาลจะสืบพยานในประเด็นแห่งคดีจนเสร็จการพิจารณาแล้ว แต่ศาลก็พิพากษายกฟ้องเพราะเหตุพยานหลักฐานโจทก์เกี่ยวกับอำนาจฟ้องยังไม่พอรับฟังโดยยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดี ทั้งปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องในคดีก่อนกับคดีนี้ก็ต่างกัน การที่โจทก์มาฟ้องใหม่ในเรื่องเดียวกันนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1338/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงที่เกินกรอบประเด็นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย และประเด็นที่จำเลยมิได้ยกขึ้นสู่การพิจารณา
ฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวนเป็นคดีฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 และที่ 2ออกจากอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ต่อสู้ว่าที่พิพาทเป็นของตน แต่อ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบิดาจึงมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แม้ข้อเท็จจริงตามสำนวนไม่ปรากฏว่าในขณะยื่นคำฟ้องที่พิพาทอาจให้เช่าได้เกินเดือนละ5,000 บาท หรือไม่ แต่เมื่อพิจารณาถึงจำนวนเนื้อที่ ราคา ที่ตั้งและสภาพทั่ว ๆ ไปของที่พิพาทแล้ว อาจให้เช่าในขณะยื่นคำฟ้องได้ไม่เกินเดือนละ 5,000 บาท ก็ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสอง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518 มาตรา 6อันเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะยื่นฎีกา ตามคำร้องสอดของจำเลยที่ 3 มิได้กล่าวอ้างหรือยกประเด็นในเรื่ององค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและโจทก์รับโอนที่พิพาทมาโดยไม่สุจริตไว้ ทั้ง ๆ ที่ภาระการพิสูจน์ตกแก่ฝ่ายตนที่จะหักล้างข้อสันนิษฐานอันเป็นคุณแก่โจทก์ว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและโจทก์รับโอนที่พิพาทไว้โดยสุจริตหรือไม่ที่ศาลล่างทั้งสองหยิบยกปัญหาข้อเท็จจริงในประเด็นนี้ขึ้นวินิจฉัยจึงเป็นการไม่ชอบ ถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 905/2529

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกานี้เน้นหลักการเรื่องการยกประเด็นซ้ำในอุทธรณ์ และการไม่รับวินิจฉัยประเด็นข้อเท็จจริงที่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามกฎหมายแรงงาน
จำเลยให้การว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่ได้แสดงแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างอันอาศัยเป็นเหตุแห่งข้อหาให้ชัดเจนพอที่จำเลยจะเข้าใจอันอาจทำให้จำเลยหลงข้อต่อสู้เช่นนี้ถือว่าจำเลยมิได้ให้การโดยชัดแจ้งว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมตรงไหนอย่างไรจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่และที่จำเลยต่อสู้ในคำให้การว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะมิได้ฟ้องคดีภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดโดยมิได้แสดงเหตุแห่งการปฏิเสธว่าจำเลยอ้างอายุความในเรื่องใด เหตุใดฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความทั้งๆที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินหลายประเภทรวมกันมาก็ถือเป็นคำให้การที่ไม่ชอบด้วยป.วิ.พ.มาตรา177วรรคสองเช่นกันศาลไม่ควรกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทการที่ศาลแรงงานกลางกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทและยอมรับวินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาไม่ก่อให้เกิดสิทธิที่จำเลยจะอุทธรณ์ได้ เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทเรื่องฟ้องเคลือบคลุมและคดีขาดอายุความหรือไม่แล้วแม้จะมีคำสั่งยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางและย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาใหม่ในประเด็นข้ออื่นๆก็ถือว่าศาลฎีกาได้วินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องฟ้องเคลือบคลุมและอายุความนั้นไปแล้วคำวินิจฉัยของศาลฎีกาในปัญหาดังกล่าวย่อมเป็นอันยุติจำเลยจะยกขึ้นอุทธรณ์อีกไม่ได้ต้องห้ามตามป.วิ.พ.มาตรา144ประกอบด้วยพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯมาตรา31.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3512/2526

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นคำร้องซ้ำที่มีประเด็นข้อเท็จจริงและคำขอเดิม หลังศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องแล้ว ถือเป็นการขัดต่อหลักการยุติธรรม
จำเลยยื่นคำร้องฉบับหลังโดยมีข้ออ้างและคำขอเช่นเดียวกับคำร้องฉบับแรกว่า การที่โจทก์บังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยเป็นการไม่ชอบด้วยสัญญาประนีประนอมยอมความและสมควรยกเลิกการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลย เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องฉบับแรกของจำเลย และเป็นที่สุดแล้ว การที่จำเลยยื่นคำร้องฉบับหลังอีกจึงเป็นการขอให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144
of 2