คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ผลผูกพัน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 804 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8729/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลผูกพันคำพิพากษาคดีก่อน: ศาลพิจารณาผลคำพิพากษาเดิมที่วินิจฉัยสถานะที่ดิน แม้คดีก่อนยกฟ้อง
คดีก่อนโจทก์จำเลยพิพาทกันว่าที่ดินพิพาทเป็นทางภารจำยอมหรือทางจำเป็นหรือทางสาธารณะ ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวมีคำพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะ แม้คดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดยกฟ้อง แต่คำพิพากษาดังกล่าวได้วินิจฉัยชี้ขาดว่าที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะ ตามที่คำฟ้องในคดีดังกล่าวอ้างและมีคำขอให้จดทะเบียนที่ดินเป็นทางสาธารณะ ซึ่งเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทโต้แย้งในประเด็นแห่งคดีแล้ว อันเป็นประเด็นข้อพิพาทเดียวกันกับคดีนี้และเกี่ยวกับที่ดินแปลงเดียวกัน คำพิพากษาในคดีดังกล่าวจึงย่อมผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวและจำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวด้วย ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 145 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 668/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความมีผลผูกพัน แม้จำเลยไม่ใช่คู่ความเดิม การตกลงโอนที่ดินเพื่อระงับข้อพิพาท
เดิมโจทก์ฟ้อง บ. เรียกที่ดินพิพาทคืนเพราะเหตุเนรคุณ ระหว่างพิจารณาในคดีดังกล่าว จำเลยซึ่งซื้อที่ดินมาจาก บ. (ก่อนที่ บ. จะถูกฟ้อง) ได้มาเจรจาและตกลงกับโจทก์ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลว่า จำเลยยินยอมจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทคืนโจทก์ และโจทก์สัญญาว่าจะไม่ทำนิติกรรมก่อให้เกิดภาระผูกพันตลอดไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ดังนี้ เมื่อพิจารณาบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 850 ประกอบข้อตกลงดังกล่าวแล้วจะเห็นได้ว่า จำเลยได้เข้าผูกพันตนโดยสมัครใจตกลงที่จะโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ อันเป็นการแสดงเจตนาที่มุ่งจะก่อนิติสัมพันธ์กับโจทก์ โดยโจทก์จะต้องไม่ทำนิติกรรมก่อให้เกิดภาระผูกพันในที่ดินพิพาทตลอดชีวิตของโจทก์ ซึ่งเป็นการกำหนดภาระหน้าที่ของคู่สัญญาต่อกันแล้ว แม้จำเลยจะมิได้เป็นคู่ความในคดีก่อน แต่จำเลยก็ได้ลงลายมือชื่อในฐานะคู่สัญญาไว้ในรายงานกระบวนพิจารณานั้นแล้ว ทั้งจำเลยเป็นผู้รับโอนที่ดินพิพาทมาจาก บ. ด้วย โจทก์จึงอาจฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนหรือเพิกถอนที่ดินพิพาทจากจำเลยต่อไปได้ จึงเป็นกรณีที่คู่สัญญาตกลงกันเพื่อระงับข้อพิพาทที่จะมีขึ้นในภายภาคหน้า อันเข้าลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 ส่วนที่ศาลกำชับให้โจทก์เตรียมพยานมาให้พร้อมสืบหากตกลงกันไม่ได้นั้นก็เป็นขั้นตอนการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลเท่านั้นเพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปโดยรวดเร็วไม่ชักช้า ข้อความดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยแต่อย่างใด จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6076-6077/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานมีผลผูกพันเมื่อนายจ้างไม่นำคดีสู่ศาลแรงงานภายในกำหนด และการส่งคำสั่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถือว่าชอบแล้ว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินต่าง ๆ ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน คดีมีประเด็นข้อพิพาทแต่เพียงว่า คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเป็นที่สุดหรือไม่ และจำเลยได้จ่ายเงินตามฟ้องให้โจทก์แล้วหรือไม่เท่านั้น ปัญหาว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยหรือไม่ เป็นกรณีที่จำเลยจะต้องโต้แย้งให้เป็นประเด็นไว้ในชั้นสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงาน และหากพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งอย่างใดแล้ว จำเลยไม่พอใจ จำเลยย่อมมีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง หากไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนด คำสั่งนั้นเป็นที่สุดตามมาตรา 125 วรรคสอง เมื่อจำเลยมิได้ใช้สิทธินำคดีสู่ศาลแรงงานตามบทบัญญัติดังกล่าว คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าวย่อมเป็นที่สุด จำเลยจึงหามีสิทธิที่จะยกประเด็นเรื่องความเป็นนายจ้างลูกจ้างกันซึ่งยุติไปแล้วในชั้นพนักงานตรวจแรงงานมากล่าวอ้างในชั้นที่โจทก์มาฟ้องต่อศาลแรงงานกลางขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานไม่ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยประเด็นนี้มาว่าโจทก์ไม่ได้เป็นลูกจ้างจำเลยจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
เมื่อปรากฏว่าคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งให้จำเลยจ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าถูกส่งไปให้บริษัทจำเลยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ โดยมีผู้ลงชื่อรับคำสั่งระบุความเกี่ยวพันกับจำเลยว่าเป็นพนักงานจำเลย จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจึงได้รับคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานโดยชอบด้วย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 143 วรรคหนึ่ง แล้ว จำเลยไม่นำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นที่สุดตามมาตรา 125 วรรคสอง จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานให้โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง ตามมาตรา 124 วรรคสาม เมื่อไม่ชำระในกำหนด จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัด สำหรับค่าจ้างและค่าชดเชย จำเลยต้องเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด แต่สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ใช่เงินตามที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้ลูกจ้างในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยจึงมีหน้าที่เสียดอกเบี้ยเพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3648/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่, การไล่เบี้ย, อายุความ, ผลผูกพันคำพิพากษา, การกระทำตามหน้าที่
ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดของโจทก์กับโจทก์ร่วมกันคืนเป็ดแก่ ป. หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน โจทก์ได้นำเงินไปวางศาลชำระหนี้แก่ ป. ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 ซึ่ง ป. ได้รับเงินแล้วโจทก์จึงฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยทั้งสองก่อนที่ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ ใช้บังคับเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2539 อายุความที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องเอาแก่จำเลยทั้งสอง จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับ พ.ร.บ. ดังกล่าว แต่อยู่ภายใต้บังคับของ ป.พ.พ. ซึ่งการฟ้องของโจทก์ ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
ศาลฎีกาวินิจฉัยในคดีก่อนว่า จำเลยทั้งสองยึดเป็ดของ ป. ไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกระทำละเมิดต่อ ป. แม้โจทก์กับจำเลยทั้งสองจะเป็นจำเลยด้วยกันในคดีก่อนก็ตาม ก็ต้องถือว่า โจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลในคดีก่อนด้วย คำพิพากษาของศาลฎีกาจึงมีผลผูกพันโจทก์กับจำเลยทั้งสองด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง จำเลยทั้งสองไม่อาจกล่าวอ้างข้อเท็จจริงโต้แย้งให้ฟังเป็นอื่นได้อีก
จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อ ป. เป็นการกระทำตามหน้าที่ของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้แทนของโจทก์ที่เป็นนิติบุคคล โจทก์ได้นำเงินไปวางศาลเพื่อใช้ราคาเป็ดแก่ ป. ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยทั้งสองได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 76 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3083/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงตรวจสอบแนวเขตที่ดิน การยอมรับผลการรังวัด และผลผูกพันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138
โจทก์จำเลยแถลงต่อศาลชั้นต้นขอให้ ส. เจ้าพนักงานที่ดินตรวจสอบโดยขุดหาคานคอนกรีตเดิมซึ่งเป็นเขตที่ดินที่มีการซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลย หากพบว่าคานเป็นเส้นตรงและกำแพงตั้งบนคานตรงกับคานที่วัด โจทก์ยอมรับว่าเป็นแนวเขตที่ดินของจำเลย แต่หากพบว่าคานโค้งรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ จำเลยยินยอมรื้อถอนกำแพงที่สร้างใหม่ออกไปทั้งหมด ส. นำช่างแผนที่ออกไปตรวจสอบแล้ว การที่ ส. ให้ความเห็นว่า "สันนิษฐานว่าในเมื่อกำแพงโค้งคานน่าจะโค้งตามกำแพง" นั้น เกิดจากข้อเท็จจริงที่พบเห็นจากพยานหลักฐานในขณะทำการรังวัดเท่านั้นมิใช่เป็นการคาดคะเนของ ส. ดังนั้น เมื่อ ส. ตรวจสอบแล้วมีความเห็นว่ากำแพงตั้งอยู่บนคานเดิมตลอดแนว กำแพงโค้งตามคาน จึงทำให้กำแพงและคานตามรูปแผนที่ล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ตรงตามคำท้าแล้ว จำเลยจึงต้องเป็นฝ่ายแพ้คดีตามคำท้าตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7655/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาอนุญาโตตุลาการมีผลผูกพัน แม้ไม่มีข้อกำหนดต้องเสนอข้อพิพาทก่อนบอกเลิกสัญญา
สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลย ระบุว่าในกรณีมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นระหว่างคู่สัญญาเกี่ยวกับข้อกำหนดแห่งสัญญานี้หรือเกี่ยวกับการปฏิบัติตามสัญญานี้และคู่สัญญาไม่สามารถตกลงกันได้ ให้เสนอข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทนั้นต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อพิจารณาชี้ขาด มิได้มีข้อความใดๆ กำหนดว่าก่อนจะมีการบอกเลิกสัญญาต้องนำข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการก่อน และกรณีนี้ก็ได้มีการนำข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดก่อนฟ้องคดีแล้ว ตามสัญญาข้อ 21.4 ระบุว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหรือของอนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาดแล้วแต่กรณี ให้ถือเป็นเด็ดขาดและถึงที่สุดผูกพันคู่สัญญา เมื่อได้พิจารณาประกอบกับ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการฯ มาตรา 20 แล้ว เห็นว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการมิได้วินิจฉัยชี้ขาดเกินขอบเขตแห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือคำขอของคู่กรณี คำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงชอบด้วยกฎหมาย เป็นที่สุดและผูกพันคู่กรณีตามมาตรา 22 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7566/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำท้าพิสูจน์ลายมือชื่อเป็นผลผูกพันคู่ความ หากผลการตรวจพิสูจน์เป็นไปตามที่ตกลงไว้ การอ้างเหตุผลเรื่องการเปิดเผยผลก่อนวันนัดฟังไม่ขึ้น
โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงท้ากันให้กองพิสูจน์หลักฐาน พิสูจน์ลายมือชื่อในช่องผู้ค้ำประกัน หากกองพิสูจน์หลักฐานมีความเห็นว่าใช่หรือน่าจะใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสองยอมแพ้ แต่หากไม่ใช่หรือน่าจะไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 โจทก์ยอมแพ้ ข้อแพ้ชนะตามคำท้าจึงขึ้นอยู่กับผลการตรวจพิสูจน์ของกองพิสูจน์หลักฐานว่าจะสมคำท้าของฝ่ายใด เมื่อผลการตรวจพิสูจน์มีความเห็นว่าลายมือชื่อผู้ค้ำประกันกับตัวอย่างลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ไม่ใช่ลายมือชื่อของบุคคลเดียวกันซึ่งสมคำท้าของฝ่ายจำเลย โจทก์จึงเป็นฝ่ายแพ้คดีตามคำท้า โจทก์จะอ้างว่า ผลการตรวจพิสูจน์ได้ถูกเปิดเผยก่อนวันนัดพร้อมและจำเลยทั้งสองทราบผลการตรวจพิสูจน์ก่อนชำระเงินค่าตรวจพิสูจน์เป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบและไม่ชอบด้วยกฎหมายหาได้ไม่ เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากมีการดำเนินกระบวนพิจารณาตามคำท้าแล้ว จึงเป็นเรื่องนอกเหนือคำท้าไม่เกี่ยวกับกระบวนพิจารณาที่คู่ความตกลงท้ากัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5985/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาค้ำประกันมีผลผูกพันแม้ทำก่อนเกิดหนี้ & ศาลฎีกายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันไว้ต่อโจทก์ ระบุว่า จำเลยที่ 2 ขอค้ำประกันหนี้ของบริษัท ศ. ไม่ว่าหนี้นั้นมีอยู่แล้วขณะทำสัญญาหรือที่จะมีต่อไปในภายหน้าด้วย โดยจำเลยที่ 2 ยินยอมรับผิดชดใช้แทนแก่ธนาคาร ก. ซึ่งโอนขายสินเชื่อให้โจทก์ จนกว่าจะได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิง ดังนั้น แม้สัญญาค้ำประกันดังกล่าวจะได้กระทำกันก่อนที่บริษัท ศ. เป็นหนี้ธนาคาร ก. ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีท และไม่ว่าขณะก่อนหนี้ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและทรัพสต์รีซีท จำเลยที่ 2 จะได้รู้เห็นยินยอมด้วยหรือไม่ แต่สัญญาค้ำประกันดังกล่าวก็มีผลผูกพันบังคับกันได้ และมิได้เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เพราะขณะทำสัญญาจำเลยที่ 2 ตกลงยินยอมเพื่อประกันความรับผิดในหนี้ของบริษัท ศ. ที่จะเกิดในภายหน้าไว้ล่วงหน้าด้วย ซึ่งย่อมมีผลบังคับกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 681 วรรคสอง
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ จึงเป็นกรณีที่ศาลต้องวินิจฉัยชี้ขาดว่าข้ออ้างของโจทก์ตามที่กล่าวในฟ้องนั้นมีมูลที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดตามกฎหมายหรือไม่ และไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ในส่วนที่เรียกดอกเบี้ยเกิน 5 ปี ขาดอายุความหรือไม่ และโจทก์ต้องบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์ที่บริษัท ศ. จดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ก่อนหรือไม่ เพราะจำเลยที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 552/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เอกสารปลอม สัญญาที่กรอกข้อความภายหลังเกินจริง ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย
จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ 20,000 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยแก่โจกท์ประมาณ 50,000 บาท เมื่อจำเลยที่ 1 หยุดชำระดอกเบี้ยดังกล่าว โจทก์จึงนำสัญญากู้เงินที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ และสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 พิมพ์ลายนิ้วมือไว้มากรอกข้อความในภายหลังเกินกว่าความเป็นจริง โดยจำเลยทั้งสองมิได้รู้เห็นยินยอมด้วยสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันจึงเป็นเอกสารปลอม ถือว่าการกู้ยืมเงินและการค้ำประกันคดีนี้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ โจทก์ไม่อาจฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4885/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างโดยกรรมการ/ตัวแทนที่มีข้อบกพร่องในการแต่งตั้ง ผลผูกพันจำเลยตามกฎหมาย
ป.พ.พ. มาตรา 1166 บัญญัติว่า บรรดาการซึ่งกรรมการได้ทำไปแม้ในภายหลังความปรากฏว่าการแต่งตั้งกรรมการคนนั้นมีข้อบกพร่องหรือบกพร่องด้วยองค์คุณควรแก่ตำแหน่งกรรมการ การมิได้ทำนั้นย่อมสมบูรณ์เสมือนดังว่าบุคคลนั้นได้รับการแต่งตั้งโดยถูกต้องและบริบูรณ์ด้วยองค์คุณของกรรมการ และตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 บัญญัติว่า นายจ้าง หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ และหมายความรวมถึง (1) ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้าง (2) ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลให้หมายความรวมถึงผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลและผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลให้กระทำการแทนด้วย การที่ พ. ซึ่งตามหนังสือรับรองที่เจ้าหน้าที่รับรองว่า พ. เป็นกรรมการคนหนึ่งของจำเลย มีอำนาจลงชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยมีผลผูกพันจำเลยได้บอกเลิกจ้างโจทก์ จึงเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจ แม้ว่าการแต่งตั้งจะมีข้อบกพร่องหรือในฐานะที่เป็นตัวแทนของจำเลย เมื่อจำเลยรับรองการแสดงเจตนาของ พ. ที่บอกเลิกจ้างโจทก์เป็นการแสดงเจตนาของจำเลย จึงมีผลเป็นการเลิกจ้างโจทก์ตามกฎหมายแล้ว
of 81