คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ผู้จำนอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 29 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7032/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกันและผู้จำนอง, การคิดดอกเบี้ย, อายุความค่าเบี้ยประกันภัย
ตามหนังสือให้ความยินยอมในการทำสัญญาประกันภัยของจำเลยทั้งสองจำเลยที่ 1 ยอมให้ธนาคารโจทก์ดำเนินการทำสัญญาประกันภัยหลักทรัพย์ที่เป็นประกันหนี้แทนจำเลยที่ 1 ซึ่งในการทำสัญญาหรือต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยที่ 1 ตกลงเป็นผู้ชำระค่าเบี้ยประกันภัยโดยให้โจทก์เป็นผู้ชำระแทน แล้วหักบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 หรือเรียกเก็บจากจำเลยทั้งสอง ฉะนั้น การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าเบี้ยประกันภัยที่ออกทดรองไปก่อน จึงเป็นการที่ตัวแทนเรียกเอาเงินที่ได้ทดรองจ่ายไปชดใช้จากตัวการ ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้ ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
สัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำกับโจทก์ระบุว่า จำเลยที่ 2 ยอมเข้าค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 จำนวน 400,000 บาท และสัญญาจำนองที่ดินของจำเลยที่ 2 ก็ระบุว่า จำเลยที่ 2 ตกลงจำนองที่ดินเป็นประกัน400,000 บาท จำเลยที่ 2 จึงมีความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองในต้นเงิน 400,000 บาท การที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในต้นเงิน 441,718.25 บาท จึงเป็นการพิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดมากกว่าที่จะต้องรับผิดตามกฎหมาย ปัญหานี้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6563/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจำนอง: การตีความเจตนาตามสัญญาที่ระบุชัดเจน และขอบเขตความรับผิดของผู้จำนอง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 171 ที่บัญญัติว่า ในการตีความการแสดงเจตนานั้น ให้เพ็งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรนั้น หมายถึง กรณีนิติกรรมที่ทำกันไว้มีข้อความไม่ชัดแจ้ง หรือมีข้อความขัดแย้งกันหรืออาจแปลความหมายได้เป็นหลายนัย แต่ถ้าข้อความในสัญญาชัดเจนแล้ว ย่อมไม่มีความจำเป็นอย่างใดที่จะต้องตีความการแสดงเจตนา
สัญญาจำนองพร้อมข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองมีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่าทำสัญญาจำนองเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 2 ที่มีต่อโจทก์ ดังนี้ จึงนำบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 171 มาบังคับให้ต้องสืบพยานบุคคลประกอบเพื่อตีความถึงเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญาหาได้ไม่ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) คดีจึงฟังได้ว่า สัญญาจำนองที่ดินพร้อมข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นการทำสัญญาจำนองเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 2 ที่มีต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 541/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิยึดทรัพย์สินชำระหนี้จากการจำนองเรือ แม้ขายทอดตลาดแล้วยังขาด หนี้เป็นหนี้สามัญผู้จำนองต้องรับผิด
เมื่อนำข้อตกลงในสัญญากู้ยืมที่ระบุว่า "ถ้าข้าพเจ้าล้มตายหรือหลบหายไปเสียข้าพเจ้ายอมให้เอาทรัพย์สมบัติของข้าพเจ้าขายทอดตลาดเงินต้นและดอกเบี้ยให้ท่านจนครบ" มาพิจารณาประกอบพระราชบัญญัติการจำนองเรือและบุริมสิทธิทางทะเลฯที่กำหนดว่า "ถ้าเอาเรือที่จำนองออกขายหรือขายทอดตลาดแล้วได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าเงินที่ค้างชำระแก่ผู้รับจำนอง... เงินยังขาดอยู่เท่าใดให้ถือว่าเป็นหนี้สามัญซึ่งผู้รับจำนองอาจเรียกร้องจากลูกหนี้ได้ แต่ถ้าผู้จำนองไม่ได้เป็นลูกหนี้จะเรียกร้องจากผู้จำนองไม่ได้" แล้ว เห็นชัดเจนได้ว่า เมื่อโจทก์ผู้รับจำนองนำเรือที่จำนองออกขายทอดตลาดแล้วไม่พอชำระหนี้ ส่วนที่ขาดอยู่จำเลยผู้จำนองยังคงต้องรับผิดเพียงแต่กฎหมายกำหนดให้เป็นหนี้สามัญไม่ใช่หนี้บุริมสิทธิ ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบได้
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161เป็นดุลพินิจของศาลที่จะกำหนดให้ผู้แพ้หรือผู้ชนะเป็นฝ่ายเสียค่าฤชาธรรมเนียมหรือให้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับก็ได้การที่โจทก์และจำเลยต่างอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 จะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีก็มิได้หมายความว่าจำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5553/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกกล่าวบังคับจำนองหลังผู้จำนองถึงแก่กรรม: ต้องแจ้งทายาทหรือผู้จัดการมรดกก่อนฟ้อง
ในกรณีเจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้รับจำนองประสงค์จะฟ้องบังคับจำนอง กฎหมายบังคับให้เจ้าหนี้ต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้จำนองซึ่งเป็นลูกหนี้ และต้องกำหนดเวลาอันสมควรเพื่อให้โอกาสผู้จำนองชำระหนี้จำนอง การบอกกล่าวจึงเป็นเงื่อนไขที่ผู้รับจำนองจะต้องกระทำให้ถูกต้องก่อน จึงจะฟ้องบังคับจำนองได้ การบอกกล่าวดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาที่ต้องมีผู้รับการแสดงเจตนา ซึ่งกฎหมายกำหนดคือผู้จำนองฉะนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ส. ผู้จำนองถึงแก่กรรมก่อนโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแม้จะมีผู้อื่นรับหนังสือนั้นไว้ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกกล่าวบังคับจำนองที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อ ส. ผู้จำนองถึงแก่กรรม มรดกรวมตลอดถึงสิทธิหน้าที่และความรับผิดย่อมตกทอดแก่ทายาทของ ส. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599,1600 ถ้ามีผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองแล้ว หากโจทก์ประสงค์จะบังคับจำนองต้องมีจดหมายบอกกล่าวแก่ผู้รับโอนล่วงหน้า 1 เดือนก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 735 ถ้ายังไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนอง แต่ ส. ผู้จำนองมีทายาทหรือผู้จัดการมรดก โจทก์ต้องบอกกล่าวเป็นจดหมายหรือหนังสือล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน แก่บุคคลดังกล่าวซึ่งเป็นเสมือนผู้รับโอนทรัพย์สินที่จำนอง จึงจะฟ้องบังคับจำนองได้ เมื่อโจทก์มิได้บอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นทายาทผู้จำนองก่อนฟ้อง และการที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3และที่ 4 ถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกกล่าวบังคับจำนองตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับจำนอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5328/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปลดจำนองเพื่อขอใบอนุญาตจัดสรรที่ดิน ไม่กระทบหนี้เดิม ผู้จำนองยังต้องรับผิดตามสัญญา
สัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันและหนังสือต่อท้ายสัญญาจำนองเป็นประกันระบุไว้ชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 2 จำนองที่ดินไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันหนี้การกู้ยืมเงินและหนี้สินอื่นซึ่งจำเลยที่ 2 และหรือจำเลยที่ 1 มีอยู่ต่อโจทก์ทั้งในเวลาที่ทำสัญญาและต่อไปในภายหน้า จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้ประกันด้วยทรัพย์คือ จำนอง สัญญาประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 จะยกเลิกเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงหลักประกันอย่างไรก็ได้
โจทก์และจำเลยที่ 2 ทำบันทึกข้อตกลงระงับจำนอง (ปลดจำนอง) ระบุไว้ชัดว่าทั้งสองฝ่ายตกลงกันให้ที่ดินที่จำนองไว้พ้นจากการจำนองไปเพื่อนำไปยื่นขอรับใบอนุญาตจัดสรรที่ดิน ทั้ง ๆ ที่โจทก์ยังมิได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 2 ดังนั้น ภาระหนี้สินที่จำเลยที่ 2 มีต่อโจทก์จึงยังคงมีอยู่ตามเดิมตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันและหนังสือต่อท้ายสัญญาจำนองเป็นประกัน โดยข้อตกลงแม้จะเป็นการปลดจำนอง ก็มีผลเพียงแต่ทำให้โจทก์ไม่สามารถบังคับชำระหนี้เอาจากที่ดินที่จำเลยที่ 2 นำมาจำนองเป็นประกันได้เท่านั้น แต่ภาระหนี้ในการประกันจำเลยที่ 2 และที่ 1 ยังคงมีอยู่ ซึ่งเป็นสัญญาอย่างหนึ่งที่จำเลยที่ 2 ต้องผูกพันชำระหนี้ให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5416/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมาย, สิทธิบังคับคดีจำนอง, ความรับผิดของผู้ค้ำประกันและผู้จำนอง
จำเลยที่ 2 และที่ 5 ให้การข้อ 2 ว่า จำเลยที่ 1ถึงที่ 5 ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ ไม่เคยกู้ยืมเงินโจทก์ และไม่เคยเข้าทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้เงินกู้ของจำเลยคนใดที่มีภาระจำต้องชำระหนี้แก่โจทก์ แม้จำเลยที่ 2 และที่ 5 จะมิได้ให้เหตุผลหรือรายละเอียดแห่งการปฏิเสธไว้แต่คำให้การของจำเลยที่ 2และที่ 5 ดังกล่าวก็ถือได้ว่าเป็นคำให้การที่ปฏิเสธคำฟ้องของโจทก์แล้ว ส่วนที่จำเลยที่ 2 และที่ 5 ให้การต่อไปในข้อที่ 9 ก็เป็นเพียงคำให้การที่หยิบยกข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายขึ้นต่อสู้ว่า หากจำเลยที่ 2 และที่ 5 ต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 2 และที่ 5 ก็ยังหลุดพ้นจากความรับผิดต่อผู้ให้กู้ โดยเหตุที่ผู้ให้กู้ได้ปล่อยให้ทรัพย์จำนองหลุดพ้น มิใช่เป็นคำให้การที่ยอมรับ หรือถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 5 รับว่าได้ทำสัญญาค้ำประกันตามเอกสารท้ายฟ้องโจทก์ คำให้การของจำเลยที่ 2 และที่ 5 จึงมิได้ขัดแย้งกันเอง หรือไม่ชัดแจ้งว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างในคำฟ้องของโจทก์ และต้องถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 5 ให้การปฏิเสธในเรื่องการทำสัญญาค้ำประกันตามเอกสารท้ายฟ้องซึ่งเป็นประเด็นที่โจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบให้ได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 5ทำสัญญาค้ำประกัน สัญญาค้ำประกันที่โจทก์นำสืบเป็นพยานหลักฐานยังมิได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ จึงไม่อาจใช้สัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานฟังว่า จำเลยที่ 2 และที่ 5 เป็นผู้ค้ำประกันตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 เป็นผลให้คดีโจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการค้ำประกันเป็นหนังสือที่จะฟ้องร้องให้จำเลยที่ 2 และที่ 5 รับผิดในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 ดังนี้คดีของโจทก์จึงไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือที่จำเลยที่ 2 และที่ 5 ได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญแสดง โจทก์จะฟ้องร้องให้บังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 และที่ 5 ให้รับผิดในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันไม่ได้ จำเลยที่ 2 และที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกัน แม้ตามสัญญากู้เงินจะมีข้อความว่าผู้กู้ได้กู้เงินจากโจทก์จำนวน 3,000,000 บาท และในขณะทำหนังสือสัญญานี้ผู้กู้ได้รับเงินไปครบถ้วนและเรียกร้อยแล้ว และตามคำฟ้องโจทก์และที่โจทก์นำสืบได้ความว่า ในวันที่ทำสัญญากู้ยืมจำเลยที่ 1 ได้รับเงินไปจากโจทก์เพียง 2,000,000 บาทและหลังจากนั้นในวันที่ 20 มิถุนายน 2526 จำเลยที่ 1ได้รับเงินไปอีก 1,000,000 บาท กรณีหาจำเป็นที่โจทก์ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้รับเงินจำนวน 1,000,000 บาท ในภายหลังอีกไม่ เพราะโจทก์มีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือในจำนวนเงิน 3,000,000 บาทที่จำเลยที่ 1 ลงชื่อเป็นผู้กู้ยืมมาแสดงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 แล้ว โจทก์ย่อมนำสืบพยานบุคคลถึงการรับเงินตามจำนวนที่ระบุในสัญญากู้เงินได้ จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้ยืมจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ส.ซึ่งมิได้เป็นบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินทุนหรือธุรกิจหลักทรัพย์และเป็นสถาบันการเงินตามพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523อันจะมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากผู้กู้ยืมได้เป็นพิเศษจึงต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654ที่ห้ามคิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 14 ต่อปี มาปรับแก่คดี เมื่อสัญญากู้เงินระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ส. ตามเอกสารหมาย จ.6 กำหนดดอกเบี้ยไว้ในอัตราร้อยละ19.5 ต่อปี เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 ข้อกำหนดอัตราดอกเบี้ยจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะเรียกดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินจากจำเลยที่ 1 และไม่มีสิทธิที่จะเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 5 ในฐานะผู้จำนองในอัตราเดียวกันด้วยได้ แต่โจทก์ยังมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยโดยเหตุผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่เวลาผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 แม้ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ส.ตกเป็นโมฆะใช้บังคับไม่ได้ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวนหนึ่งแก่โจทก์และโจทก์ได้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระดอกเบี้ยเสร็จสิ้นแล้วจึงนำมาชำระต้นเงิน ซึ่งชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 329 เช่นนี้ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์แล้ว แม้ดอกเบี้ยนั้นจะเกินอัตราตามกฎหมายตกเป็นโมฆะ ก็มีผลเท่ากับว่าจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยที่รู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีความผูกพันต้องชำระ ที่จำเลยที่ 5 อุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นรับฟังตารางคำนวณดอกเบี้ยเอกสารหมาย จ.13 มาวินิจฉัยเป็นคุณแก่ฝ่ายโจทก์ไม่ชอบ เพราะเป็นเอกสารที่ทำขึ้นลอย ๆ นั้น เมื่อศาลศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยในประเด็นที่จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1ได้ชำระดอกเบี้ยไปแล้วเพียงใดหรือไม่ โดยมิได้นำเอกสารหมาย จ.13 มาวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่โจทก์ ที่จำเลยที่ 5ฎีกาในข้อนี้ขึ้นมาอีก ศาลฎีกาจึงไม่จึงต้องวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 46/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความดอกเบี้ยและการรับผิดของลูกหนี้ร่วม, ผู้ค้ำประกัน, และผู้จำนอง
ตามสัญญาทรัสต์รีซีททั้ง 4 ฉบับ ข้อ 6 กำหนดไว้ว่า จำเลยที่ 1 ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ในจำนวนเงินที่คำนวณแล้วว่าต้องชำระแก่โจทก์โดยเริ่มนับจากวันทำสัญญานี้จนถึงวันที่โจทก์ได้รับเงินครบถ้วนจากจำเลยที่ 1 ข้อกำหนดดังกล่าวไม่ได้ระบุเวลาให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยและจะอนุมานจากพฤติการณ์ก็ไม่ได้ โจทก์ย่อมจะเรียกให้จำเลยที่ 1ชำระดอกเบี้ยได้โดยพลันนับแต่วันทำสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่งอายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันทำสัญญาทรัสต์รีซีทเช่นกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 169(เดิม) อายุความดอกเบี้ยค้างส่งเริ่มนับจากวันถัดจากวันดังกล่าวไปจนกว่าจะครบ5 ปี การที่จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยสำหรับสัญญาทรัสต์รีซีททั้ง 4 ฉบับ บางส่วนทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 (เดิม) โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายในกำหนด 5 ปี จึงไม่ขาดอายุความเรียกร้องดอกเบี้ย
จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันซึ่งยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม เหตุที่อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ลูกหนี้นั้น ย่อมเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันด้วย ตามป.พ.พ. มาตรา 692 ซึ่งเป็นข้อยกเว้นมาตรา 295 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 3 ผู้จำนอง แม้หนังสือต่อท้ายสัญญาจำนองระบุว่าให้รับผิดในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 รับสภาพหนี้ ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ย่อมไม่มีผลถึงจำเลยที่ 3 เพราะเป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยที่ 1ตาม ป.พ.พ. มาตรา 295 วรรคสอง จำเลยที่ 3 ผู้จำนองจึงต้องรับผิดในดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังไป 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 189 (เดิม) และมาตรา 745
จำเลยทั้งสามฎีกาว่า ในการผ่อนชำระหนี้ จำเลยทั้งสามมิได้กำหนดชำระหนี้รายใดไว้โดยเฉพาะ โจทก์ชอบที่จะเอาชำระหนี้ค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยก่อน แต่โจทก์เลือกการชำระหนี้เอาเองตามใจชอบจึงไม่ผูกพันจำเลยทั้งสามนั้น ประเด็นข้อนี้จำเลยทั้งสามไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้น และไม่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามป.วิ.พ. มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 46/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความดอกเบี้ยตามสัญญาทรัสต์รีซีท การสะดุดหยุดของอายุความ และความรับผิดของผู้ค้ำประกันและผู้จำนอง
ตามสัญญาทรัสต์รีซีททั้ง4ฉบับข้อ6กำหนดไว้ว่าจำเลยที่1ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ18ต่อปีในจำนวนเงินที่คำนวณแล้วว่าต้องชำระแก่โจทก์โดยเริ่มนับจากวันทำสัญญานี้จนถึงวันที่โจทก์ได้รับเงินครบถ้วนจากจำเลยที่1ข้อกำหนดดังกล่าวไม่ได้ระบุเวลาให้จำเลยที่1ชำระดอกเบี้ยและจะอนุมานจากพฤติการณ์ก็ไม่ได้โจทก์ย่อมจะเรียกให้จำเลยที่1ชำระดอกเบี้ยได้โดยพลันนับแต่วันทำสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา203วรรคหนึ่งอายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันทำสัญญาทรัสต์รีซีทเช่นกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา169(เดิม)อายุความดอกเบี้ยค้างส่งเริ่มนับจากวันถัดจากวันดังกล่าวไปจนกว่าจะครบ5ปีการที่จำเลยที่1ชำระดอกเบี้ยสำหรับสัญญาทรัสต์รีซีททั้ง4ฉบับบางส่วนทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา172(เดิม)โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายในกำหนด5ปีจึงไม่ขาดอายุความเรียกร้องดอกเบี้ย จำเลยที่2ผู้ค้ำประกันซึ่งยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมเหตุที่อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ลูกหนี้นั้นย่อมเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา692ซึ่งเป็นข้อยกเว้นมาตรา295จำเลยที่2จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่1 จำเลยที่3ผู้จำนองแม้หนังสือต่อท้ายสัญญาจำนองระบุว่าให้รับผิดในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมด้วยเมื่อจำเลยที่1รับสภาพหนี้ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงย่อมไม่มีผลถึงจำเลยที่3เพราะเป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยที่1ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา295วรรคสองจำเลยที่3ผู้จำนองจึงต้องรับผิดในดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังไป5ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา189(เดิม)และมาตรา745 จำเลยทั้งสามฎีกาว่าในการผ่อนชำระหนี้จำเลยทั้งสามมิได้กำหนดชำระหนี้รายใดไว้โดยเฉพาะโจทก์ชอบที่จะเอาชำระหนี้ค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยก่อนแต่โจทก์เลือกการชำระหนี้เอาเองตามใจชอบจึงไม่ผูกพันจำเลยทั้งสามนั้นประเด็นข้อนี้จำเลยทั้งสามไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้นและไม่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5753/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้รับจำนองในการรับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่ยึด แม้ผู้จำนองไม่เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา
เมื่อหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นหนี้ประธานถึงกำหนดหนี้ตามสัญญาจำนองอันเป็นหนี้อุปกรณ์ที่ว. และจำเลยทำไว้เป็นประกันหนี้ประธานดังกล่าว ย่อมถึงกำหนดเช่นกัน ทรัพย์ที่ว. และจำเลยสามีภริยามีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ได้จำนองไว้แก่ผู้ร้องเป็นประกันหนี้ของ ว. นั้น โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดออกขายทอดตลาดเพื่อเอาเงินชำระหนี้ที่จำเลยมีต่อโจทก์ แม้ ว. มิได้ถูกฟ้องหรือเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองก็มีสิทธิได้รับชำระหนี้จำนองเติมจำนวนทั้งสองว.และจำเลยในฐานะเจ้าหนี้จำนองจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3855/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบังคับจำนองจากผู้จำนองที่ดินเพื่อประกันการทำงานของลูกหนี้ แม้หนี้ขาดอายุความ
โจทก์ฟ้องบังคับจำนองแก่จำเลยที่ 2 ผู้จำนองที่ดินไว้กับโจทก์เพื่อเป็นประกันความเสียหายอันเกิดขึ้นแก่โจทก์ผู้รับจำนองจากการกระทำของจำเลยที่ 1 คดีจึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยในศาลชั้นต้นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องคือมีสิทธิบังคับจำนองแก่จำเลยที่ 2 ได้หรือไม่การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า แม้ฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่งแต่ก็หาตัดสิทธิโจทก์ในฐานะผู้รับจำนองที่จะบังคับชำระหนี้อันเกิดจากความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นตามสัญญาจำนองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 189(เดิม) และมาตรา 745ไม่นั้น เป็นการวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิบังคับจำเลยแก่จำเลยที่ 2ได้ จึงไม่เป็นการวินิจฉัยในประเด็นที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นแต่อย่างใด จำเลยที่ 2 ได้นำที่ดินตามฟ้องของจำเลยที่ 2 มาจำนองเป็นประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ไว้แก่โจทก์ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินและสัญญาว่าหากจำเลยที่ 1 ก่อความเสียหายขึ้นแก่โจทก์ จำเลยที่ 2ยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในวงเงินไม่เกิน 60,000 บาทจำเลยที่ 2 จึงมิใช่มีฐานะเป็นเพียงผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 เท่านั้นแต่เป็นผู้จำนองที่ดินตามฟ้องไว้แก่โจทก์เพื่อประกันหนี้ที่จำเลยที่ 1 อาจก่อให้เกิดขึ้นแก่โจทก์ด้วย ดังนั้นโจทก์ในฐานะผู้รับจำนองจึงมีสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้นั้นจากทรัพย์สินที่จำนอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 189(เดิม)(มาตรา 193/27 ใหม่)และมาตรา 745 ได้ไม่ว่าหนี้ที่ค้ำประกันนั้นจะขาดอายุความหรือไม่ จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ยอมผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1ด้วยการทำสัญญารับสภาพหนี้โดยจำเลยที่ 2 มิได้ร่วมรู้เห็นยินยอมด้วย จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงหลุดพ้นความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 700 ทั้งถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้แปลงหนี้ใหม่ โดยจำเลยที่ 2 ไม่รู้เห็นหรือยินยอมด้วยจำเลยที่ 2 จึงหลุดพ้นความรับผิด ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้เป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
of 3