คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ผู้บริหารแผน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 11 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4149/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักกลบลบหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ: เงื่อนไขช่วงเวลาเกิดหนี้ และการแจ้งความประสงค์แก่ผู้ทำแผน/ผู้บริหารแผน
การที่กฎหมายให้สิทธิเจ้าหนี้ขอหักกลบลบหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ตามมาตรา 90/33 นั้น เป็นระบบการจัดการทรัพย์สินในอันที่จะก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าหนี้ที่จะนำหนี้ที่ตนมีภาระต้องชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้อยู่แล้วในเวลาที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการไปหักกับหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้
มาตรา 90/33 ที่บัญญัติว่า "เจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการเป็นหนี้ลูกหนี้ในเวลาที่มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ" ย่อมหมายถึงในเวลาที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้นั้น ลูกหนี้และเจ้าหนี้ต่างเป็นหนี้ซึ่งกันและกัน มิได้หมายถึงช่วงระยะเวลาที่ลูกหนี้อยู่ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการ ฉะนั้น หนี้ที่เจ้าหนี้จะนำมาหักกลบลบหนี้ได้นั้น เจ้าหนี้ต้องเป็นหนี้ลูกหนี้ก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้จึงนำหนี้ดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องแก่ลูกหนี้ได้
ถ้าเจ้าหนี้เป็นหนี้ลูกหนี้หลังศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ และได้สิทธิเรียกร้องต่อลูกหนี้ภายหลังศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเช่นกัน เจ้าหนี้และลูกหนี้ย่อมสามารถนำหนี้ที่มีต่อกันมาหักกลบลบหนี้กันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 โดยหากเจ้าหนี้เป็นฝ่ายที่ขอหักกลบลบหนี้แล้วก็ย่อมทำได้โดยการแสดงเจตนาต่อผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนแล้วแต่กรณี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5414-5415/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจของผู้บริหารแผนและการจำกัดอำนาจผู้บริหารลูกหนี้หลังฟื้นฟูกิจการ
ผู้ร้องเป็นกรรมการผู้มีอำนาจดำเนินกิจการของลูกหนี้อยู่ในวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะผู้บริหารของลูกหนี้ตามบทนิยามใน พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/1 เมื่อศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แล้วอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของผู้บริหารลูกหนี้ย่อมสิ้นสุดลง ครั้นเมื่อศาลตั้งผู้ทำแผนแล้วอำนาจดังกล่าวและบรรดาสิทธิตามกฎหมายของผู้ถือหุ้นของลูกหนี้ ยกเว้นสิทธิที่จะได้รับเงินปันผลตกแก่ผู้ทำแผน และเมื่อศาลเห็นชอบด้วยแผนแล้ว สิทธิและอำนาจของผู้ทำแผนตกเป็นของผู้บริหารแผนนับแต่ผู้บริหารแผนได้รับทราบคำสั่ง ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติในมาตรา 90/20 วรรคหนึ่ง, มาตรา 90/25 และมาตรา 90/59 วรรคหนึ่ง ดังนี้ การที่ผู้บริหารแผนออกคำสั่งห้ามมิให้ผู้ร้องออกคำสั่งใด ๆ แก่พนักงานของลูกหนี้หรือติดต่อภายในพื้นที่ของลูกหนี้และห้ามผู้ร้องเข้าไปในสถานที่ทำงานหรือโรงงานของลูกหนี้เนื่องจากจะทำให้การบริหารงานมีเหตุขัดข้อง และก่อให้เกิดอุปสรรคในการทำงาน ผู้บริหารแผนย่อมมีอำนาจทำได้เช่นเดียวกับที่ผู้บริหารแผนไม่ให้ผู้ร้องใช้ทรัพย์สินต่าง ๆ ของลูกหนี้ก็เป็นอำนาจในการรวบรวมทรัพย์สินของผู้ทำแผนเพื่อนำทรัพย์สินของลูกหนี้มาไว้ในความอารักขาแห่งตนรวมทั้งเป็นการให้ผู้บริหารของลูกหนี้ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 90/21 วรรคสาม, มาตรา 90/24 วรรคสอง และ 90/59 วรรคสอง ส่วนที่ยังค้างอยู่
สำหรับเรื่องค่าตอบแทนของผู้ร้องนั้น ก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ การกำหนดค่าตอบแทนผู้บริหารของลูกหนี้ย่อมเป็นไปตามข้อบังคับของบริษัท หากข้อบังคับมิได้กำหนดไว้ การจ่ายค่าตอบแทนให้เป็นไปตามมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นตามกฎหมายบริษัทมหาชนจำกัด เมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนและข้อบังคับของลูกหนี้มิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น อำนาจดังกล่าวย่อมตกแก่ผู้บริหารแผนตามมาตรา 90/25 ประกอบมาตรา 90/59 วรรคหนึ่ง การที่ผู้บริหารแผนออกคำสั่งให้งดจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้บริหารของลูกหนี้เนื่องจากหมดอำนาจในการจัดกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ในระหว่างเวลาดังกล่าวจึงอยู่ในกรอบอำนาจของผู้บริหารแผนที่จะกระทำได้
ส่วนสถานะของผู้ร้องที่เป็นผู้บริหารของลูกหนี้นั้น แม้ว่าในระหว่างการฟื้นฟูกิจการอำนาจของผู้บริหารลูกหนี้ในการบริหารจัดการกิจการของลูกหนี้จะสิ้นสุดลงตามบทบัญญัติข้างต้น โดยมีผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนเป็นผู้ใช้อำนาจดังกล่าวแทน แล้วแต่กรณี แต่เมื่อคดีฟื้นฟูกิจการสิ้นสุดลงโดยการยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ หรือการยกเลิกการฟื้นฟูกิจการแล้ว อำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้กลับเป็นของผู้บริหารของลูกหนี้ตามบทบัญญัติมาตรา 90/74 หรือ 90/75 แล้วแต่กรณี และการที่ผู้ร้องเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของลูกหนี้ ถือว่าผู้ร้องเป็นผู้บริหารสูงสุดในการดำเนินธุรกิจจัดการกิจการของลูกหนี้อยู่ในวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการซึ่งถือเป็นการกระทำในฐานะผู้บริหารของลูกหนี้สิ้นสุดไปแต่อย่างใด เป็นแต่เพียงให้มีการพักการใช้อำนาจในการบริหารจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการเป็นการชั่วคราวเท่านั้น เช่นนี้ การที่ผู้บริหารมีหนังสือแจ้งข้อกำหนดต่าง ๆ ให้ผู้ร้องปฏิบัติ จึงมีผลบังคับได้เท่าที่ไม่กระทบถึงสถานะและสิทธิของผู้ร้องซึ่งยังดำรงสถานะเป็นผู้บริหารหรือประธานเจ้าหน้าที่บริหารของลูกหนี้ในการที่จะดำเนินการต่าง ๆ ตามที่กฎหมายล้มละลายได้ให้อำนาจและคุ้มครองไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1239/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการหลังศาลอนุมัติ: ผู้บริหารแผนมีอำนาจเสนอแก้ไขได้ แม้คณะกรรมการเจ้าหนี้มีอำนาจเสนอแนะ
เมื่อพิจารณา พ.ร.บ. ล้มละลาย ฯ มาตรา 90/63 วรรคหนึ่งและวรรคสามแล้วจะเห็นได้ว่าในการขอแก้ไขแผนหลังจากศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้วนั้น หากมีเหตุอันสมควรและมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการ รวมทั้งพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่ศาลใช้เป็นเหตุในการพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนนั้นได้เปลี่ยนแปลงไป ผู้บริหารแผนซึ่งเป็นบุคคลที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบจะต้องปฏิบัติและดำเนินการตามแผนให้สำเร็จลุล่วงไปเพียงผู้เดียวมีอำนาจที่จะเสนอขอแก้ไขแผนนั้นได้ โดยยื่นข้อเสนอนั้นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แล้วให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เสนอให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณา หากที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติยอมรับข้อเสนอขอแก้ไขแผนดังกล่าวนั้นตามมาตรา 90/46 แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องรายงานศาลเพื่อพิจารณาว่าจะเห็นชอบด้วยหรือไม่
การที่แผนปรับโครงสร้างหนี้ทางการเงินกำหนดว่าคณะกรรมการเจ้าหนี้มีอำนาจในการตกลงเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญหรือแก้ไขเอกสารปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เมื่อนำมาพิจารณาประกอบอำนาจของคณะกรรมการเจ้าหนี้ตามมาตรา 90/55 วรรคหนึ่ง และมาตรา 90/67 เห็นได้ว่า คณะกรรมการเจ้าหนี้มีอำนาจในการเสนอแนะและสอดส่องให้ผู้บริหารแผนดำเนินการปฏิบัติไปตามแผนแทนเจ้าหนี้ทั้งหลายเท่านั้น หาได้มีอำนาจในการที่จะเสนอขอแก้ไขแผนด้วยตนเองไม่ ตามที่แผนกำหนดให้คณะกรรมการเจ้าหนี้มีอำนาจในการตกลงเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญหรือแก้ไขเอกสารปรับโครงสร้างหนี้ ฯลฯ ก็หมายความเพียงว่า เมื่อเข้าเงื่อนไขในการขอแก้ไขแผนแล้ว คณะกรรมการเจ้าหนี้มีอำนาจในการเสนอเรื่องดังกล่าวให้ผู้บริหารแผนดำเนินการต่อไปตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย ฯ มาตรา 90/63 ได้ แต่ขณะเดียวกัน เมื่ออำนาจในการเสนอขอแก้ไขแผนนั้นเป็นอำนาจของผู้บริหารแผนโดยตรง ผู้บริหารแผนเองก็ย่อมมีอำนาจในการที่จะเสนอขอแก้ไขแผนตามที่กฎหมายกำหนดไว้เช่นกัน และเมื่อผู้บริหารได้ยื่นข้อเสนอขอแก้ไขแผนแล้ว การประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาข้อเสนอขอแก้ไขแผน การลงมติของที่ประชุมเจ้าหนี้จะต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย ฯ มาตรา 90/63
เมื่อมีเหตุจำเป็นต้องแก้ไขแผนให้เกิดความชัดเจนสามารถปฏิบัติได้และสอดคล้องกับความประสงค์ของเจ้าหนี้ ทั้งเจ้าหนี้เกือบทั้งหมดซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแก้ไขแผนได้ยอมรับข้อเสนอขอแก้ไขแผนนั้นแล้ว ชั้นพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผน ไม่มีเจ้าหนี้คัดค้าน ข้อเสนอขอแก้ไขแผนดังกล่าวไม่ขัดต่อ พ.ร.บ. ล้มละลาย ฯ มาตรา 90/58 กรณีจึงสมควรเห็นชอบด้วยข้อเสนอขอแก้ไขแผน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5844/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คุณสมบัติผู้บริหารแผน, การปรับโครงสร้างหนี้, และผลกระทบต่อผู้ค้ำประกันในคดีล้มละลาย
ในการพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการของศาล พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/57 บัญญัติว่า "ให้ศาลพิจารณาคำชี้แจงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และผู้ทำแผน รวมทั้งข้อคัดค้านของลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิออกเสียงตามมาตรา 90/30 ซึ่งไม่ได้ลงมติยอมรับแผน" ตามบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ศาลพิจารณาข้อคัดค้านของเจ้าหนี้ด้วยแต่มิได้บังคับว่าศาลจะต้องทำการไต่สวนคำร้องคัดค้านของเจ้าหนี้เสมอไป จึงย่อมอยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณาเห็นสมควรเป็นเรื่องๆ ไป เมื่อแผนฟื้นฟูกิจการ คำชี้แจงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และผู้ทำแผน รวมทั้งข้อคัดค้านของเจ้าหนี้มีข้อเท็จจริงและรายละเอียดชัดเจนเพียงพอแก่การพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้งดการไต่สวนจึงชอบแล้ว
แม้ช. จะมีฐานะเป็นกรรมการลูกหนี้และมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ด้วยก็ตามแต่เมื่อแผนฟื้นฟูกิจการได้จัดกลุ่มเจ้าหนี้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. เจ้าหนี้มีประกันรายใหญ่ คือบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน 2. เจ้าหนี้ไม่มีประกันรายย่อย คือ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) 3. เจ้าหนี้ไม่มีประกันในฐานะเจ้าหนี้เงินให้กู้ยืม คือ ช. และแผนได้กำหนดวิธีการชำระหนี้ให้แก่จเานี้ทั้งสี่กลุ่มโดยปรับลดภาระหนี้ดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 1.62 ส่วนภาระหนี้เงินต้นจะชำระโดยโอนหุ้นบริษัท ส. มูลค่าหุ้นละ 10 บาท และหุ้นบริษัท บ. มูลค่าหุ้นละ 18 บาท ชำระหนี้ส่วนหนึ่ง จัดสรรหุ้นกู้ไม่มีประกันของลูกหนี้ มูลค่าหุ้นละ 10 ชำระหนี้อีกส่วนหนึ่ง และจะทยอยชำระหนี้ส่วนที่เหลือด้วยเงินสดภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการโดยไม่มีดอกเบี้ย ตามแผนฟื้นฟูกิจการข้อ 6.2 ถึง 6.4 และเอกสารแนบท้ายหมายเลข 3 ถึง 6 ถือได้ว่าเจ้าหนี้ทุกรายได้รับการปฏิบัติชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้เท่าเทียมกัน ช. ไม่ได้รับผลประโยชน์พิเศษจากทรัพย์สินของลูกหนี้โดยทางตรงหรือทางอ้อม นอกจากประโยชน์ที่เจ้าหนี้จะควรได้รับในฐานะเป็นเจ้าหนี้เช่นเดียวกับเจ้าหนี้อื่น ดังนั้น ช. จึงชอบที่จะออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ตามพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 34 วรรคสาม ประกอบมาตรา 90/2 วรรคสอง
การที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดวิธีการชำระหนี้ โดยโอนหุ้นบริษัท ส. มูลค่าหุ้นละ 10 บาท และหุ้นบริษัท บ. มูลค่าหุ้นละ 18 บาท และจัดสรรหุ้นกู้ไม่มีประกันของลูกหนี้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้บางส่วน หากหุ้นดังกล่าวมีราคา ณ วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการต่ำกว่าราคาที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการอันจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่ครบจำนวนตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ แต่การโอนหุ้นและออกหุ้นกู้ดังกล่าวก็ไม่ทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดทั้งนี้เพราะแผนฟื้นฟูกิจการข้อ 6.6 ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า "ภายหลังการปรับโครงสร้างหนี้โดยการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์จำนองเพื่อชำระเงินต้นค้างชำระตามแผน เจ้าหนี้ตามแผนยังคงมีสิทะในทางจำนองและจำนำเหนือทรัพย์หลักประกันตามสัญญาเดิมและ/หรือสัญญาปรับโครงสร้างหนี้เพื่อประกันการชำระหนี้เงินต้นค้างชำระตามแผน ทั้งนี้การดำเนินการตามแผนฉบับนี้ไม่ถือว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ ดังนั้นตราบใดที่ลูกหนี้ไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ตามรายละเอียดที่กำหนดในแผน ภาระหนี้ของลูกหนี้ที่กำหนดในแผนที่มีต่อเจ้าหนี้แต่ละรายตามสัญญาเดิมยังไม่ระงับไป และหลักประกันเดิมของเจ้าหนี้ประเภทจำนอง จำนำ ค้ำประกันและหลักประกันประเภทอื่นๆ ของลูกหนี้ (ถ้ามี) ยังคงมีผลผูกพันลูกหนี้ บุคคลภายนอกและเจ้าหนี้" ซึ่งสอดคล้องตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 วรรคสองที่บัญญัติว่า "คำสั่งของศาลซึ่เห็นชอบด้วยแผนไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของบุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้ หรือผู้รับผิดร่วมกับลูกหนี้ หรือผู้ค้ำประกัน หรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ในหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนและไม่มีผลให้บุคคลเช่นว่านั้นต้องรับผิดในหนี้ที่ที่ก่อขึ้นตามแผนตั้งแต่วันดังกล่าว เว้นแต่บุคคลเช่นว่านั้นจะยินยอมโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย"
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/16 บัญญัติว่า "ในกรณีที่รัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ของการฟื้นฟูกิจการ รัฐมนตรีจะออกกฎกระทรวงที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนและการกำหนดคุณสมบัติของผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนก็ได้" ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2545 รัฐมนตรีได้ออกกฎกระทรวงว่าด้วยการจดทะเบียนและการกำหนดคุณสมบัติผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ พ.ศ. 2545 แล้วก็ตาม แต่มีบทเฉพาะกาลมิให้ใช้บังคับแก่บรรดาคดีที่มีการยื่นคำร้องของฟื้นฟูกิจการก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ดังนั้น ศาลจึงต้องพิจารณาคุณสมบัติของผู้บริหารแผนตามหลักกฎหมายทั่วไปและความเหมาะสมในกิจการแต่ละรายไปเมื่อพิจารณาเอกสารแนบท้ายแผนฟื้นฟูกิจการหมายเลข 8 ซึ่งระบุชื่อและคุณสมบัติของผู้ทำแผนตลอดจนผู้บริหารแผนและคณะทำงานของผู้บริหารแล้ว ผู้ทำแผนมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจรับเป็นผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน และให้คำแนะนำหรือการใด ๆ อันเกี่ยวเนื่องกับการฟื้นฟูกิจการของผู้อื่น และผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารแผนและคณะทำงานของผู้บริหารต่างมีความรู้ในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท มีประสบการณ์เป็นที่ปรึกษาทางการเงินประธานกรรมการและกรรมการในบริษัทต่างๆ หลายแห่งด้วยกัน จึงน่าเชื่อว่าผู้บริหารแผนและคณะทำงานของผู้บริหารแผนมีความรู้ ความสามารถและความชำนาญทางด้านการบริหารงานพอสมควรแล้ว แม้ผู้บริหารแผนและคณะทำงานของผู้บริหารแผนจะเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกับกรรมการของลูกหนี้ซึ่งทำให้ลูกหนี้ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ากรรมการของลูกหนี้บริหารงานหรือกระทำการทุจริตอันไม่ควารได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้บริหารแผน ข้ออ้างของเจ้าหนี้ที่ว่าผู้บริหารและคณะทำงานของผู้บริหารแผนเป้นบุคคลกลุ่มเดียวกับกรรมการของลูกหนี้จึงไม่เหมาะสมที่จะบริหารงานตามแผนต่อไปจึงยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังว่าผู้บริหารแผนและคณะทำงานของผู้บริหารแผนไม่อาจปฏิบัติการตามแผนผื้นฟูกิจการให้ประสบผลสำเร็จได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5844/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แผนฟื้นฟูกิจการ: ศาลยืนตามแผนเดิม แม้ผู้บริหารแผนเคยเป็นกรรมการบริษัทลูกหนี้
ในการพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ พระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/57 ระบุให้ศาลล้มละลายกลางพิจารณาข้อคัดค้านของเจ้าหนี้ด้วย แต่มิได้บังคับให้ต้องทำการไต่สวนคำร้องคัดค้านของเจ้าหนี้เสมอไป ย่อมอยู่ในดุลพินิจของศาลเป็นเรื่อง ๆ ไปฉะนั้น เมื่อศาลได้พิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ คำชี้แจงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และผู้ทำแผน รวมทั้งข้อคัดค้านของเจ้าหนี้ซึ่งมีข้อเท็จจริงและรายละเอียดชัดเจนเพียงพอแก่การพิจารณาแล้ว ศาลก็ชอบที่จะมีคำสั่งงดการไต่สวนได้
ลูกหนี้มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยเน้นการถือหุ้นในบริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อการจำหน่ายที่มีพื้นฐานในการประกอบธุรกิจที่ดีและให้ผลตอบแทนสูง โดยลูกหนี้เข้าถือหุ้นในบริษัทหลายรายซึ่งตามแผนฟื้นฟูกิจการแบ่งเจ้าหนี้ออกเป็น 4 กลุ่ม คือ เจ้าหนี้มีประกันรายใหญ่ เจ้าหนี้มีประกันรายย่อย เจ้าหนี้ไม่มีประกันในฐานะเจ้าหนี้ทางการเงินและเจ้าหนี้ไม่มีประกันในฐานะเจ้าหนี้เงินให้กู้ยืมซึ่งก็คือ ช. โดยแผนฟื้นฟูกิจการได้กำหนดวิธีการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทั้งสี่กลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้น แม้ ช. จะมีฐานะเป็นกรรมการลูกหนี้และมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ด้วยก็ตาม แต่ ช. ก็ไม่ได้รับผลประโยชน์พิเศษจากทรัพย์สินของลูกหนี้โดยตรงหรือโดยอ้อม นอกจากประโยชน์ที่เจ้าหนี้จะควรได้รับในฐานะเป็นเจ้าหนี้เช่นเดียวกับเจ้าหนี้อื่น ช. จึงชอบที่จะออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 34 วรรคสาม ประกอบมาตรา 90/2 วรรคสอง
การออกหุ้นกู้ไม่มีประกันของลูกหนี้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการเป็นการทำนิติกรรมกู้ยืมระยะยาวซึ่งมีหุ้นกู้เป็นตราสารที่ให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันว่าจะได้รับชำระเงินกู้คืนตามราคาเท่ากับมูลค่าที่ตราไว้เมื่อครบกำหนดอันเป็นการทำสัญญากู้ยืมใหม่เปลี่ยนแปลงมูลหนี้เดิมระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ แต่ก็ไม่ทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/60 วรรคสองส่วนหุ้นของบริษัทอื่นที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้ลูกหนี้โอนชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้นั้นหุ้นย่อมมีมูลค่าในการชำระหนี้ตามราคาที่ซื้อขายกันจริงในท้องตลาดหากหุ้นดังกล่าวมีราคา ณ วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการต่ำกว่าราคาที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการอันจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่ครบจำนวนตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ ผู้ค้ำประกันก็ยังคงผูกพันรับผิดชำระหนี้ส่วนที่ขาดไปนั้นแก่เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9160/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการพิจารณาเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ: ค่าตอบแทนผู้บริหารแผนและโอกาสสำเร็จ
ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนของศาลนั้น จะต้องพิจารณาด้วยว่าต้องบทบัญญัติพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/58 หรือไม่ และตามมาตรา 90/58 (1) ให้ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน เมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า แผนมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 90/42 โดยมาตรา 90/42 (7) ในแผนนั้นจะต้องมีรายการ ชื่อ คุณสมบัติ หนังสือยินยอมของผู้บริหารแผน และค่าตอบแทนของผู้บริหารแผน เช่นนี้ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผน ศาลจึงต้องพิจารณาถึงค่าตอบแทนของผู้บริหารแผนด้วยว่าค่าตอบแทนของผู้บริหารแผนนั้นเหมาะสมกับสภาพการงานที่ทำหรือไม่และจำนวนดังกล่าวสูงเกินสมควรหรือไม่
แผนมีโอกาสดำเนินการสำเร็จหรือไม่ แม้ว่ากฎหมายมิได้มีบัญญัติเงื่อนไขส่วนนี้ไว้โดยตรง แต่การที่กระบวนพิจารณาในการฟื้นฟูกิจการกำหนดไว้ว่าหลังจากที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับแผนด้วยมติพิเศษตามพระราชบัญญัติ
ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/46 แล้ว กฎหมายได้กำหนดให้แผนดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบจากศาลอีกขั้นตอนหนึ่งตามบัญญัติในส่วนที่ 8 เรื่อง การพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ กรณีจึงเป็นการกำหนดให้ศาลเข้ามามีบทบาทในทางธุรกิจเพื่อจะได้วินิจฉัยเพื่อจะได้วินิจฉัยตรวจสอบในการให้ความเห็นชอบด้วยแผนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และมอบให้เป็นดุลพินิจว่าสมควรให้ความเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่ ศาลจึงมีอำนาจที่จะพิจารณาถึงโอกาสความเป็นไปได้ในการดำเนินการตามแผนนั้นด้วย เพราะว่ากรณีไม่มีประโยชน์อันใดที่ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนเมื่อเป็นไปได้ว่าแผนนั้นไม่มีโอกาสดำเนินการสำเร็จได้หรือหากดำเนินการไปแล้วลูกหนี้ต้องประสบกับภาวะล้มละลายในที่สุด
ในการที่จะพิจารณาว่าค่าตอบแทนนั้นสมควรหรือไม่ เมื่อยังไม่มีกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับ เกี่ยวกับเรื่องนี้ใช้บังคับ กรณีจึงต้องพิจารณาถึงขนาดของกิจการ ความยุ่งยากในการดำเนินการ ปริมาณของบุคลากรที่จะต้องใช้ วิธีการในการฟื้นฟูกิจการ ตลอดจนชื่อเสียง ผลงาน ประสบการณ์ของผู้บริหารแผนนั้น รวมทั้งปัจจัยอื่น ๆ ประกอบกันตามแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แต่ละรายไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7786/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการมีฐานะเป็นนายจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เมื่อมีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้
โจทก์เป็นลูกจ้าง บ. จำเลยเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของ บ. ตามคำสั่งศาลแรงงานกลาง จำเลยเป็นผู้มีอำนาจในการจัดกิจการและทรัพย์สินของ บ. ลูกหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/59 ประกอบมาตรา 90/25 เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้ทำงานแทน บ. นายจ้างโจทก์ จำเลยจึงมีฐานะเป็นนายจ้างโจทก์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ในความหมายของคำว่า "นายจ้าง" ตาม (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11799/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟื้นฟูกิจการ: สิทธิของผู้บริหารแผนในการโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ แม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มิได้แจ้ง
เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว กฎหมายกำหนดหน้าที่ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องส่งสำเนาคำขอรับชำระหนี้ต่อผู้ทำแผน เพื่อให้ผู้ทำแผนดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ เมื่อผู้ทำแผนได้รับสำเนาคำขอรับชำระหนี้แล้วย่อมมีสิทธิขอตรวจและโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายใดต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ภายในกำหนดเวลา 14 วัน นับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/26 วรรคหนึ่ง และ 90/29 ทั้งนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หาจำต้องแจ้งให้ผู้ทำแผนมาตรวจและโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้อีกไม่ คดีนี้เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ไม่รับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ ผู้บริหารแผนก็ได้ยื่นคำคัดค้านคำร้องของเจ้าหนี้ ย่อมแสดงว่าผู้บริหารแผนทราบถึงมูลหนี้ตามคำขอรับชำระหนี้แล้ว เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งกลับคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ให้รับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ไว้ดำเนินการ ผู้บริหารแผนซึ่งได้รับโอนสิทธิและหน้าที่มาจากผู้ทำแผนตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/59 วรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิขอตรวจและโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ทันที โดยไม่มีความจำเป็นอันใดที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องแจ้งให้ผู้บริหารแผนทราบอีก การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ได้แจ้งให้ผู้บริหารแผนมาตรวจและโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ในภายหลัง จึงไม่ทำให้ผู้บริหารแผนเสียโอกาสในการตรวจและโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้การดำเนินกระบวนพิจารณาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1854/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำหน่ายคดีฟื้นฟูกิจการล้มละลายเมื่อศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟู
ศาลฎีกาอนุญาตให้ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลล้มละลายกลางที่มีคำสั่งให้ผู้ร้องพ้นจากตำแหน่งผู้บริหารแผนของลูกหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/67 ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาปรากฏว่า ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ซึ่งมีผลทำให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากการฟื้นฟูกิจการภายใต้การกำกับของศาลเข้าสู่สภาวะการดำเนินธุรกิจตามปกติ จึงไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ร้องดังกล่าวอีกต่อไป ศาลฎีกาให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความของศาลฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4650/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นคำร้องซ้ำในคดีฟื้นฟูกิจการ การดำเนินการขายหุ้นส่วนทุนที่ไม่โปร่งใส
ข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องทั้งสองกล่าวอ้างในคดีนี้เป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่และได้กล่าวอ้างแล้วขณะผู้ร้องที่ 1 ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 31 สิงหาคม 2548 เพียงแต่ในการยื่นคำร้องคดีนี้ผู้ร้องทั้งสองนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาวิเคราะห์คนละเชิงหรือเรียบเรียงข้อเท็จจริงด้วยถ้อยคำที่แตกต่างกัน โดยการยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 31 สิงหาคม 2548 ผู้ร้องที่ 1 เพียงผู้เดียวยื่นคำร้องในฐานะผู้บริหารของลูกหนี้ ส่วนคดีนี้ได้เพิ่มผู้ร้องที่ 2 เข้ามา แต่ผู้ร้องทั้งสองต่างอ้างสิทธิอย่างเดียวกันว่าเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นผู้บริหารของลูกหนี้ในวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ผู้ร้องที่ 2 จึงอยู่ในฐานะผู้บริหารของลูกหนี้เช่นเดียวกับผู้ร้องที่ 1 ตามบทนิยามแห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย ฯ มาตรา 90/1 ถือได้ว่าผู้ร้องทั้งสองเป็นคู่ความเดียวกันกับคู่ความในคดีเดิม แม้คดีนี้ผู้ร้องทั้งสองมิได้ระบุว่าขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกหรือเพิกถอนสัญญาซื้อขายหุ้นส่วนทุนตามแผนโดยใช้คำว่า ขอให้มีคำสั่งให้ผู้บริหารแผนดำเนินการตามแผนด้วยความสุจริตและยุติธรรม กับให้กำหนดราคาขายหุ้นส่วนทุนตามแผนให้ได้ราคาตลาดที่แท้จริงตามกฎหมาย เป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายและสูงกว่าราคาที่กำหนดไว้หุ้นละ 3.30 บาท โดยประมูลขายหุ้นให้แก่ผู้สนใจร่วมลงทุนตามหลักธุรกิจการค้าปกติ โปร่งใส เป็นธรรม ก็ตาม แต่การที่จะกำหนดราคาขายหุ้นส่วนทุนตามแผนให้ได้ราคาตลาดโดยประมูลขายหุ้นแก่ผู้สนใจร่วมลงทุนตามที่ผู้ร้องทั้งสองขอมาในคดีนี้ก็จะต้องยกเลิกหรือเพิกถอนสัญญาซื้อขายหุ้นส่วนทุนฉบับลงวันที่ 1 มิถุนายน 2548 เสียก่อน แสดงให้เห็นว่าผู้ร้องทั้งสองคดีต่างมีความประสงค์อย่างเดียวกันคือขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกหรือเพิกถอนสัญญาซื้อขายหุ้นส่วนทุนฉบับลงวันที่ 1 มิถุนายน 2548 ส่วนการจัดหาผู้ร่วมลงทุนและการดำเนินการขายหุ้นส่วนทุนตามแผน คำร้องทั้งสองฉบับได้กล่าวอ้างทำนองเดียวกันว่าผู้บริหารแผนไม่เปิดโอกาสให้มีการประมูลหรือแข่งขันเสนอราคาเพื่อให้ได้ราคาสูงสุด กำหนดราคาหุ้นที่จะซื้อขายต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีหลักเกณฑ์หรือวิธีการคำนวณ กลุ่มผู้ร่วมลงทุนหรือผู้ซื้อเป็นหน่วยงานของรัฐที่ผู้บริหารแผนเป็นผู้ถือหุ้นหรือมีอำนาจกำกับดูแล มีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ที่มีความเกี่ยวพันกับผู้บริหารแผน เป็นการดำเนินการที่ไม่โปร่งใส ไม่สุจริต ทำให้ลูกหนี้และผู้ค้ำประกันเสียหาย ดังนี้ ประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัยตามคำร้องทั้งสองฉบับจึงเป็นประเด็นเดียวกัน คือ ผู้บริหารแผนดำเนินการจัดหาผู้ร่วมลงทุนและทำข้อตกลงขายหุ้นส่วนทุนตามแผนโดยชอบหรือไม่ เมื่อศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นดังกล่าวตามคำร้องฉบับลงวันที่ 31 สิงหาคม 2548 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2548 แล้วการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้ต่อศาลล้มละลายกลางในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2548 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลาย ฯ มาตรา 14
of 2