คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
พิพากษากลับ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 47 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5364/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องหย่าซ้ำ ประเด็นแยกกันอยู่ไม่เด็ดขาด ศาลฎีกาพิพากษากลับ
คดีก่อนศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับเหตุหย่าที่ว่าโจทก์จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่เกินกว่า 3 ปีนั้น แม้โจทก์จะกล่าวมาในฟ้องและจำเลยให้การปฏิเสธ อันเป็นประเด็นแห่งคดีแต่ในวันชี้สองสถานศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นเกี่ยวกับการหย่าไว้เพียงว่า จำเลยกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง อันเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าหรือไม่แต่เพียงประการเดียวเท่านั้นโดยโจทก์จำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านไว้ถือได้ว่าโจทก์จำเลยต่างสละสิทธิไม่ติดใจในประเด็นเกี่ยวกับเหตุหย่าที่ว่าโจทก์จำเลยแยกกันอยู่อีกต่อไป ฉะนั้น ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยประเด็นดังกล่าว ย่อมเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นเป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ฎีกาของจำเลยในส่วนนี้จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ดังนี้จึงถือไม่ได้ว่าในคดีดังกล่าวได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในประเด็นของเหตุหย่าที่ว่าโจทก์จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่เกินกว่า 3 ปีหรือไม่ โจทก์จึงนำเอาเหตุเพราะสมัครใจแยกกันอยู่เกิน 3 ปี มาฟ้องหย่าจำเลยเป็นคดีนี้ได้อีก ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2746/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทเรื่องเงินกู้: ศาลฎีกาพิพากษากลับให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยยืนยันจำนวนเงินกู้ที่จำเลยต้องรับผิด
โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระเงินกู้จำนวน 130,000 บาท ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยกู้เงินโจทก์จำนวน 130,000 บาท จริง แต่จำเลยได้ชำระเงินให้โจทก์ไปบางส่วนแล้ว คงเหลือต้นเงินที่จำเลยจะต้องรับผิดจำนวน 96,911.44 บาท และพิพากษาให้จำเลยชำระต้นเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ โจทก์ไม่อุทธรณ์โต้แย้งในส่วนที่ขาดไป ดังนั้น ต้นเงินที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์คงมีเพียง 96,911.44 บาท ตามที่จำเลยอุทธรณ์ ส่วนต้นเงินจำนวนที่ขาดไป 33,088.56 บาท ย่อมยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่อาจวินิจฉัยส่วนนี้ให้ได้ เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์คงฎีกาได้เฉพาะในส่วนต้นเงินจำนวน 96,911.44 บาท เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์ไปจำนวน 130,000 บาท มิใช่จำนวน 70,000 บาท ดังที่จำเลยนำสืบต่อสู้ ดังนั้น จำเลยจึงต้องรับผิดชำระต้นเงิน 96,911.44 บาท ตามจำนวนต้นเงินที่พิพาทกันในชั้นฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8902/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้าคล้ายคลึงกันจนสับสนได้ ศาลฎีกาพิพากษากลับ ห้ามใช้และจดทะเบียน
เครื่องหมายการค้าทั้งของโจทก์และจำเลยประกอบด้วยคำว่าZENTEL และ ZENTAB เป็นสาระสำคัญ ตัวอักษรต่างกันเพียง 2 ตัวสุดท้ายลักษณะการวางรูปแบบและขนาดตัวอักษรเหมือนกัน ส่วนเสียงเรียกขานก็แตกต่างกันเล็กน้อยเช่นกัน โดยใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกัน ทั้งสาธารณชนจำนวนมากมิได้มีความรู้ในภาษาอังกฤษหรือตัวอักษรโรมัน ย่อมยากที่จะสังเกตข้อแตกต่างของเครื่องหมายการค้าทั้งสองได้ ถือว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยคล้ายกับของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้ก่อนจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7664/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การดัดแปลงเครื่องชั่งเพื่อโกงน้ำหนัก และการใช้เครื่องชั่งที่ผิดกฎหมาย ศาลฎีกาพิพากษากลับ
จำเลยซึ่งเป็นพ่อค้าซื้อขายข้าวเปลือกต้องรู้เรื่องเครื่องชั่งเป็นอย่างดีการที่จำเลยนำเครื่องชั่งของกลางไปซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา ซึ่งเป็นเครื่องชั่งที่มีการแก้ไขดัดแปลงโดยถอดนอตเดิมออกแล้วใช้นอตอื่นใส่แทนในลักษณะหลวมเป็นผลให้ผู้ซื้อจะได้สินค้าที่มีน้ำหนักมากกว่าที่เครื่องชั่งแสดง เชื่อว่าจำเลยมีเจตนาดัดแปลงแก้ไขเครื่องชั่งของกลางเพื่อเอาเปรียบในทางการค้า
ระหว่างการพิจารณาของศาลมี พระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัดพ.ศ. 2542 ใช้บังคับให้ยกเลิก พระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด เดิมทุกฉบับตามพระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2542 ได้บัญญัติความผิดฐานกระทำการใด ๆ เพื่อให้เครื่องชั่งที่มีการให้คำรับรองแล้วแสดงน้ำหนักผิดไปจากที่ได้รับการตรวจสอบความเที่ยงไว้ในมาตรา 75 และการใช้เครื่องชั่งโดยรู้ว่าเป็นเครื่องชั่งที่ถูกแก้เปลี่ยนไว้ในมาตรา 76 และมีระวางโทษเป็นคุณกว่าโทษตามพระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 มาตรา 32 วรรคหนึ่งและวรรคสองตามลำดับ จึงต้องใช้กฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 วรรคหนึ่ง
ส่วนการที่จำเลยมีเครื่องชั่งซึ่งไม่ถูกต้องไว้ แม้จะเป็นเครื่องชั่งที่มีการแก้ไขลดเครื่องชั่งที่ได้ทำการให้คำรับรองจากทางราชการก็ตามแต่ตามพระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 มิได้บัญญัติความผิดในการมีเครื่องชั่งที่มีการแก้ไขลดดังกล่าวให้เป็นความผิดไว้โดยเฉพาะ จำเลยจึงมีความผิดฐานมีเครื่องชั่งซึ่งไม่ถูกต้องตามความประสงค์ไว้เพื่อใช้ในกิจการต่อเนื่องกับผู้อื่นและในพาณิชยกิจของจำเลยตามพระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 มาตรา 31เท่านั้น ดังนั้น แม้ตามพระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2542จะบัญญัติให้การมีเครื่องชั่งที่มีการให้คำรับรองแล้วแสดงน้ำหนักผิดไปจากที่ได้ตรวจสอบความเที่ยงเป็นความผิดตามมาตรา 76 ก็ตามก็ไม่อาจลงโทษได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2
สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466มาตรา 31 นั้น ได้มีพระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2542 บัญญัติความผิดฐานมีเครื่องชั่งโดยรู้ว่าเครื่องชั่งนั้นมีความเที่ยงผิดอัตราไว้ในมาตรา 79และมีระวางโทษเป็นคุณกว่าโทษตามมาตรา 31 จึงต้องใช้กฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 471/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฉ้อโกงจากการหลอกขายสร้อยทองปลอม ศาลฎีกาพิพากษากลับยืนตามศาลชั้นต้น
ตอนจำเลยนำสร้อยข้อมือของกลางมาขายฝากผู้เสียหาย จำเลยบอกว่าเป็นสร้อยข้อมือที่จำเลยสั่งทำเองโดยมีน้ำหนักมากกว่าปกติเพราะอาจมีการชุบเคลือบหนาไว้ แสดงว่าสร้อยข้อมือดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของจำเลยมาโดยตลอด ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยจะไม่รู้ว่าสร้อยข้อมือนั้นเป็นทองคำปลอมและจำเลยพูดจาหว่านล้อมหลอกลวงจนผู้เสียหายหลงเชื่อได้เป็นผลสำเร็จต่อมาเมื่อปรากฏว่าสร้อยข้อมือของกลางเป็นทองคำปลอม จำเลยกลับต่อสู้ว่าสร้อยข้อมือเป็นของภริยาจำเลยและจำเลยไม่ทราบมาก่อนว่าเป็นทองคำปลอมจึงเชื่อไม่ได้ส่วนการที่จำเลยใช้ชื่อตัวและชื่อสกุลตามความเป็นจริงในใบสัญญาขายฝาก หรือยอมให้ตรวจสอบสร้อยข้อมือในชั้นขายขาดโดยวิธีลนไฟนั้น เป็นเรื่องตามปกติวิสัยของผู้ที่มีเจตนาทุจริตที่ยอมกระทำทุกสิ่งทุกอย่างเพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์อันมิชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองโดยไม่คำนึงถึงผลร้ายอันจะเกิดขึ้นภายหลังว่าจะเป็นประการใด ทั้งการที่จำเลยยินยอมจ่ายเงิน 30,000 บาท แก่ผู้เสียหายโดยมีบุคคลทำหนังสือค้ำประกันเพื่อไม่เอาความแก่กันย่อมเป็นเหตุผลที่สนับสนุนว่าจำเลยกระทำความผิดเป็นอย่างดี พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานฉ้อโกง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2845/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พยานหลักฐานเพียงพอเชื่อได้ว่าจำเลยกระทำความผิดลักทรัพย์ ศาลฎีกาพิพากษากลับ
จ. ไม่เคยรู้จักผู้เสียหายและจำเลยมาก่อน ทุกครั้งที่ จ. ได้พบเห็นจำเลยก็ได้บอกกล่าวยืนยันตลอดมาว่า จำเลยเป็นคนร้ายลักกระเป๋าสตางค์ของผู้เสียหาย จ. กับจำเลยไม่เคยมีเรื่องโกรธเคืองกันมาก่อน จึงไม่มีเหตุที่จะเบิกความใส่ร้ายจำเลยโดยปราศจากมูลความจริง จ. เห็นการกระทำของจำเลยหลายครั้งหลายหนรวมทั้งที่มีอากัปกิริยาเป็นพิรุธ ซึ่งเชื่อว่าจดจำจำเลยได้แม่นยำไม่ผิดพลาด พยานหลักฐานโจทก์มีเหตุผลและน้ำหนักให้รับฟัง คำเบิกความของพยานโจทก์ระหว่างตัวผู้เสียหายกับ จ. ที่เบิกความแตกต่างกันไปบ้าง ถือว่าเป็นข้อแตกต่างในส่วนที่เป็นสิ่งประกอบเล็กน้อย แต่มิใช่เรื่องอันเป็นข้อสำคัญเกี่ยวกับการบ่งบอกหรือบ่งชี้ถึงลักษณะอาการของจำเลยโดยตรงหรือขัดกันระหว่างประจักษ์พยานโจทก์สองปากที่รู้เห็นรูปลักษณ์หรือวิธีการกระทำผิดของจำเลยที่แตกต่างกันหรือขัดกัน จึงไม่ถือเป็นข้อพิรุธอันน่าสงสัยและไม่ทำให้น้ำหนักของพยานหลักฐานโจทก์ที่รับฟังได้ต้องลดน้อยลง
โรงอาหารของมหาวิทยาลัยที่ซึ่งนักศึกษาหรือประชาชนอื่นใดผู้ที่เข้ามาติดต่อราชการกับมหาวิทยาลัยอันมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปนั่งรับประทานอาหารได้เป็นที่ซึ่งอยู่ภายในบริเวณรั้วของมหาวิทยาลัย แต่เป็นบริเวณนอกอาคารเรียนหรือนอกสถานที่ตั้งอันเป็นที่ปฏิบัติงานของราชการหรือข้าราชการตามปกติ การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(8) คงมีความผิดตามมาตรา 334

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2089/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ร่วมกันฆ่า, เป็นผู้ใช้, รับของโจร, มีอาวุธปืนเถื่อน, ศาลพิพากษากลับ
พยานโจทก์มีพันตำรวจโทสมหมาย กองวิสัยสุข เบิกความว่า หลังเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอโนนไทย ได้ออกหมายจับนายถ่ายแซ่จึง และจำเลยทั้งห้าเนื่องจากเป็นผู้ต้องสงสัย ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายถ่ายได้ก่อน นายถ่ายให้การรับสารภาพว่า นายถ่ายได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4ฆ่าผู้ตายทั้งสี่ เนื่องจากนายสมศักดิ์ผู้ตายจะให้จำเลยที่ 1 และที่ 5 ออกจากราชการระหว่างสอบสวนเจ้าพนักงานตำรวจจึงกันนายถ่ายไว้เป็นพยาน โจทก์มีนายถ่ายเป็นประจักษ์พยานเบิกความว่าในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้ชวนพยานไปฆ่านายสมศักดิ์เนื่องจากนายสมศักดิ์จะให้จำเลยที่ 1 รับผิดชอบในกรณีมีคนลอบวางเพลิงเผาโรงเรียนบ้านจานและยังจะไม่ให้จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นครูโรงเรียนบ้านจานขายของที่โรงเรียนบ้านจานอีกต่อไป โดยจำเลยที่ 1 นัดว่าจะไปรับพยานที่หน้าบ้านนางหลอดพี่สาวพยานเวลาประมาณ 21 นาฬิกา เมื่อถึงเวลานัด จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์มาหาพยานและบอกพยานว่าจำเลยที่ 1 จะล่วงหน้าไปก่อน ให้พยานรอจำเลยที่ 2 และที่ 4 จะขับรถยนต์มารับพยาน ต่อมาจำเลยที่ 4 ขับรถยนต์กระบะมามีจำเลยที่ 2 นั่งอยู่ที่กระบะท้ายแล้วจำเลยที่ 4 ได้ขับรถไปสมทบกับจำเลยที่ 1 ที่บริเวณวัดสระจระเข้ เมื่อไปถึงจำเลยที่ 4 หยิบอาวุธปืนเล็กกล อาร์ก้า 1 กระบอก ส่งให้พยาน จำเลยที่ 1 ที่ 2และพยานได้เดินไปซุ่มอยู่บริเวณรั้วบ้านนายสมศักดิ์จนถึงเวลาประมาณ 23 นาฬิกาทั้งสามจึงลอดรั้วลวดหนามเข้าไปในบริเวณบ้านนายสมศักดิ์ จากนั้นจำเลยที่ 1 ปีนขึ้นไปบนระเบียงชั้นสอง แล้วใช้ไขควงงัดหน้าต่างเข้าไปในบ้านและลงไปที่ชั้นล่าง พบผู้ตายทั้งสี่กำลังนอนหลับอยู่ จำเลยที่ 1 เดินมาเปิดประตูและรับอาวุธปืนจากพยานจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงบริเวณศีรษะผู้ตายทั้งสี่จนถึงแก่ความตาย ต่อจากนั้นจำเลยที่ 1 ที่ 2 และพยานได้ช่วยกันค้นหาทรัพย์สินภายในบ้านผู้ตาย พบกุญแจ 1 พวงวางอยู่บนโต๊ะรับแขก พยานได้ปลดสร้อยคอทองคำที่นางจิราภรณ์สวมอยู่ส่งให้จำเลยที่ 1และเอากุญแจบนโต๊ะรับแขกไปไขประตูโรงรถ มีรถยนต์กระบะและรถจักรยานยนต์ของนายสมศักดิ์จอดอยู่ในนั้น จำเลยที่ 2 พยายามติดเครื่องรถยนต์กระบะ แต่เครื่องยนต์ไม่ติด จำเลยที่ 1 จึงเข็นรถจักรยานยนต์ซึ่งมีกุญแจเสียบติดไว้มาติดเครื่อง แล้วขับรถออกไปหาจำเลยที่ 4 ซึ่งจอดรถคอยอยู่บริเวณวัดสระจระเข้ มีจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายส่วนพยานถืออาวุธปืนเดินมาสมทบ เมื่อมาถึงพยานได้ส่งอาวุธปืนให้แก่จำเลยที่ 4จำเลยที่ 4 เอาไปเก็บไว้ที่พนักพิงในรถยนต์กระบะ จำเลยที่ 4 สั่งให้พยานกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยกรถจักรยานยนต์ของนายสมศักดิ์ขึ้นรถยนต์กระบะ แล้วจำเลยที่ 4 ได้ขับรถยนต์กระบะตรงไปทางจังหวัดนครราชสีมา ส่วนจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายไปทางบ้านหนองกระสังข์ พยานจึงเดินไปดูลิเกที่บริเวณวัดสระจระเข้ หลังเกิดเหตุประมาณ 17 วัน เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมพยานวันรุ่งขึ้นเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้ เห็นว่า แม้คำเบิกความของนายถ่ายเข้าลักษณะคำซัดทอดของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดด้วยกันกับจำเลยที่ 2 ก็ตาม ก็ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามมิให้รับฟังพยานดังกล่าวแต่อย่างใดการจะเชื่อพยานได้หรือไม่ จะต้องดูว่าพยานเบิกความอย่างมีเหตุมีผลหรือไม่ ในเรื่องนี้นายถ่ายเบิกความถึงพฤติการณ์ในการกระทำความผิดเป็นขั้นเป็นตอน เริ่มตั้งแต่ขั้นตระเตรียมวางแผน ขั้นตอนการดำเนินการกระทำความผิด และขั้นตอนหลังเกิดเหตุแล้วโดยละเอียดสมเหตุสมผลไม่ปรากฏว่ามีพิรุธแต่ประการใด เมื่อฟังประกอบกับคำรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 ซึ่งให้การต่อพนักงานสอบสวนทันทีในวันที่จำเลยที่ 2 ถูกจับกุมนั่นเอง จำเลยที่ 2 ยังไม่มีโอกาสที่จะปรุงแต่ง อีกทั้งคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 มีรายละเอียดกล่าวถึงขั้นตอนการกระทำความผิดยากที่พนักงานสอบสวนจะปรุงแต่งขึ้นเอง เชื่อว่าจำเลยที่ 2 ให้การต่อพนักงานสอบสวนด้วยความสมัครใจ ทั้งยังนำชี้สถานที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพและมีการถ่ายรูปไว้ด้วย ปรากฏตามบันทึกการจับกุม บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 บันทึกการนำชี้สถานที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพและภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.33 จ.44จ.3 และ จ.2 ตามลำดับ การนำชี้สถานที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ก็ได้กระทำโดยเปิดเผยมีประชาชนมากมายมามุงดู ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าถูกบังคับขู่เข็ญให้รับสารภาพและแสดงท่าต่าง ๆ ประกอบคำรับสารภาพ จึงฟังไม่ขึ้น และที่จำเลยที่ 2 เบิกความอ้างฐานที่อยู่ไม่มีน้ำหนักที่จะหักล้างพยานโจทก์ได้ ศาลฎีกาเชื่อว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายที่ร่วมกระทำความผิดในคดีนี้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในความครอบครอง ร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในทางสาธารณะหมู่บ้าน โดยไม่มีเหตุอันควรและไม่ได้รับอนุญาต ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและร่วมกันลักทรัพย์ในเคหสถานในเวลากลางคืนโดยมีอาวุธ ปัญหาต่อไปว่าจำเลยที่ 4มีความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นฆ่าผู้ตาย ร่วมกันมีอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง ร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในทางสาธารณะ หมู่บ้าน โดยไม่มีเหตุอันสมควร และไม่ได้รับอนุญาต และรับของโจรหรือไม่ พยานโจทก์มีนายเสริมศักดิ์ กองดิน และนางดรุณี ทบวอ ซึ่งรับราชการครูอยู่ที่โรงเรียนเดียวกันกับจำเลยที่ 5 เบิกความว่า จำเลยที่ 4 เป็นสามีของจำเลยที่ 5เมื่อประมาณต้นปี 2536 จำเลยที่ 5 นำสิ่งของมาขายที่บ้านพักครูภายในโรงเรียนนายสมศักดิ์ในฐานะอาจารย์ใหญ่ได้ขอร้องให้จำเลยที่ 5 เลิกขายแข่งกับร้านสหกรณ์ของโรงเรียน จำเลยที่ 5 ไม่ยอมเลิก นายสมศักดิ์จะพูดกับจำเลยที่ 5 อีกครั้งเมื่อโรงเรียนเปิดเทอม แต่มาถูกฆ่าตายเสียก่อน นอกจากนี้พยานโจทก์มีจ่าสิบตำรวจพันธ์ศักดิ์ คล้ายนาค ซึ่งเคยทำงานร่วมกับจำเลยที่ 4 เบิกความว่า เมื่อต้นปี 2536พยานได้พูดคุยกับจำเลยที่ 4 และเคยถามจำเลยที่ 4 ว่ากลับบ้านบ่อยหรือไม่ จำเลยที่ 4 ตอบว่ากลับบ้านทุกสัปดาห์ เพราะจำเลยที่ 5 มีปัญหากับอาจารย์ใหญ่ อาจารย์ใหญ่จะเอาจำเลยที่ 5 ออก เมื่อฟังประกอบกับคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.43 ที่ว่า ประมาณเดือนพฤษภาคม 2536 จำเลยที่ 4 มาหาจำเลยที่ 1 ที่โรงเรียนบ้านจานและบอกจำเลยที่ 1 ว่าจะต้องจัดการเอาไว้ไม่ได้หรอกหมายถึงต้องฆ่านายสมศักดิ์ จำเลยที่ 1 ซึ่งมีเรื่องไม่พอใจนายสมศักดิ์ที่จะให้จำเลยที่ 1 รับผิดกรณีเกิดเหตุมีคนลอบวางเพลิงเผาโรงเรียนบ้านจานอยู่แล้ว จำเลยที่ 1จึงตอบตกลง จำเลยที่ 4 บอกว่าจำเลยที่ 4 จะเป็นผู้เอาอาวุธปืนมาให้ ในวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 4 มาที่บ้านพักครูที่จำเลยที่ 5 พักอยู่ นายถ่ายได้มาหาจำเลยที่ 1ที่บ้านพบจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงชวนให้นายถ่ายร่วมฆ่านายสมศักดิ์จำเลยที่ 1 ได้ไปหาจำเลยที่ 4 โดยจำเลยที่ 4 ว่า นายถ่ายมา จำเลยที่ 4 พูดว่า"จัดการเป็นไรปืนมีแล้ว" ให้จำเลยที่ 1 กลับไปรับประทานอาหารก่อน แล้วมาที่นี่ประมาณ 20 ถึง 21 นาฬิกา คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 แม้จะเป็นคำให้การของผู้กระทำความผิดด้วยกัน ก็ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามมิให้ศาลรับฟังแต่อย่างใด ดังนั้น คำให้การของจำเลยที่ 1 ในชั้นสอบสวนย่อมนำมาประกอบการพิจารณาได้ เมื่อคำเบิกความของนายเสริมศักดิ์ นางดรุณี และจ่าสิบตำรวจพันธ์ศักดิ์สอดคล้องกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 และเมื่อรับฟังประกอบกับคำเบิกความของนายถ่ายที่เบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 4 เป็นผู้ขับรถยนต์กระบะมารับพยานกับจำเลยที่ 2 ไปยังที่บริเวณวัดสระจระเข้ใกล้บ้านนายสมศักดิ์พร้อมมอบอาวุธปืนเล็กกล อาร์ก้า ให้แก่พยานเพื่อนำไปยิงนายสมศักดิ์ จำเลยที่ 4 คงคอยอยู่ที่นั่น เมื่อยิงผู้ตายทั้งสี่แล้ว พยานเป็นคนนำอาวุธปืนมาคืนให้แก่จำเลยที่ 4 จำเลยที่ 4 รับอาวุธปืนไปวางไว้ที่หลังพนักพิง จากนั้นจำเลยที่ 4 ได้บอกให้พยานกับพวกยกรถจักรยานยนต์ที่เอามาจากโรงรถบ้านผู้ตายขึ้นรถยนต์กระบะของจำเลยที่ 4จำเลยที่ 4 ก็ขับรถไปทางจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งก็ได้ความว่าจำเลยที่ 4 นำรถจักรยานยนต์ไปจอดทิ้งไว้ที่อื่นเพื่ออำพรางคดีพยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักมั่นคงฟังได้ว่า จำเลยที่ 4 คือคนร้าย พยานหลักฐานของจำเลยที่ 4 ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ การที่จำเลยที่ 4 มาหาจำเลยที่ 1 ที่โรงเรียนบ้านจาน และบอกจำเลยที่ 1 ว่า "จะต้องจัดการเอาไว้ไม่ได้หรอก" หมายถึงฆ่านายสมศักดิ์ ซึ่งจำเลยที่ 1 มีเรื่องไม่พอใจนายสมศักดิ์ที่จะให้จำเลยที่ 1 รับผิดกรณีเกิดเหตุลอบวางเพลิงเผาโรงเรียนบ้านจานอยู่แล้ว จึงทำให้จำเลยที่ 1 ตอบตกลงถือว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้ก่อให้จำเลยที่ 1 ตัดสินใจที่จะกระทำการฆ่านายสมศักดิ์และจำเลยที่ 4 รับว่าจะเป็นผู้พาอาวุธปืนมาให้ด้วย ในที่สุดจำเลยที่ 1 ที่ 2 และนายถ่ายได้นำอาวุธปืนที่จำเลยที่ 4 มอบให้ไปฆ่านายสมศักดิ์ บุตรและภริยาของนายสมศักดิ์ตามที่จำเลยที่ 4 ยุยงส่งเสริม จำเลยที่ 4 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และจำเลยที่ 4 ยังมีความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองและร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในทางสาธารณะ หมู่บ้าน โดยไม่มีเหตุอันสมควรและไม่ได้รับอนุญาต และการที่จำเลยที่ 4 นำรถจักรยานยนต์ที่จำเลยที่ 2กับพวกร่วมกันลักมาไปจอดทิ้งไว้ที่อื่น โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์อันได้มาจากการกระทำความผิด จำเลยจึงมีความผิดฐานรับของโจรด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8290/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยอมรับสัญญาเช่าซื้อของจำเลยเป็นหลักฐานได้ แม้สัญญาไม่ติดอากรแสตมป์ ศาลฎีกาพิพากษากลับ
หลังจากโจทก์ยื่นอุทธรณ์ โจทก์ได้จัดส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลย จำเลยได้รับสำเนาอุทธรณ์แล้วได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์โดยยอมรับว่าจำเลยได้ทำสัญญาเช่าซื้อต่อโจทก์จริง ดังนี้การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ย่อมไม่ต้องใช้สัญญาเช่าซื้อเป็นพยานหลักฐาน แม้สัญญาเช่าซื้อจะมิได้ปิดอากรแสตมป์ คดีก็ฟังได้ว่าจำเลยได้ทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6629/2539 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประเด็นการครอบครองที่ดิน: ศาลฎีกาพิพากษากลับเมื่อประเด็นการครอบครองไม่ชัดเจนและประเด็นข้อกฎหมายสำคัญมิได้ยกขึ้นว่ากันในศาลล่าง
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับเรียกค่าเสียหาย จำเลยให้การว่าจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาทโดยรับโอนการครอบครองมาจาก พ. โดยมีค่าตอบแทน แต่กลับให้การในตอนหลังว่า หากที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะนำคดีมาฟ้องเมื่อเกิน 1 ปีแล้ว นับแต่จำเลยเข้าครอบครองเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยหรือโจทก์แต่เป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยให้การปฏิเสธฟ้องของโจทก์โดยสิ้นเชิง คดีจึงคงมีประเด็นข้อพิพาทว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นชี้สองสถานและวินิจฉัยในประเด็นว่าโจทก์ฟ้องคดีเอาคืนซึ่งการครอบครองที่พิพาทเกิน 1 ปีหรือไม่ แล้วศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนจึงไม่ชอบและเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ เมื่อคดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยปัญหานี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4175/2539

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไถ่ถอนจำนองต้องชำระหนี้ทั้งหมด ห้ามชำระบางส่วน ศาลฎีกาพิพากษากลับ
จำเลยในคดีนี้ได้เป็นโจทก์ฟ้องบังคับยึดทรัพย์จำนองรวมถึงทรัพย์พิพาทในคดีนี้ให้บริษัทส.ชำระหนี้จำนองโดยการขายทอดตลาดรวมทั้งทรัพย์พิพาทตามที่บริษัทส.เป็นลูกหนี้อยู่ดังนั้นเมื่อโจทก์อยู่ในฐานะที่จะเป็นผู้ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทที่อาจจะต้องเสี่ยงภัยเสียสิทธิในการที่จะได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทหากปล่อยให้จำเลยบังคับคดีโดยการขายทอดตลาดโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะเข้าใช้หนี้ให้จำเลยแทนบริษัทส.ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา230 หนี้จำนองที่บริษัทส.มีต่อจำเลยในคดีนี้ยังมีเหลืออยู่อีกจำนวน5,396,629.37บาทแต่มีทรัพย์จำนองเป็นประกันในการชำระหนี้ที่ดินพิพาทแปลงนี้เหลืออยู่เพียงแปลงเดียวการที่จะบังคับให้จำเลยรับชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองจึงต้องเป็นการชำระหนี้ทั้งหมดที่บริษัทส. เป็นหนี้จำเลยอยู่คือจำนวน5,396,629.37บาทโจทก์จะบังคับให้จำเลยรับชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองเพียงจำนวน386,784.60บาทหาได้ไม่ทั้งนี้ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา716และ717วรรคหนึ่งโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับไถ่ถอนจำนองจากโจทก์ต่ำกว่าหนี้ที่จำเลยเป็นเจ้าหนี้อยู่ได้
of 5