คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ระงับข้อพิพาท

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 94 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 668/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความมีผลผูกพัน แม้จำเลยไม่ใช่คู่ความเดิม การตกลงโอนที่ดินเพื่อระงับข้อพิพาท
เดิมโจทก์ฟ้อง บ. เรียกที่ดินพิพาทคืนเพราะเหตุเนรคุณ ระหว่างพิจารณาในคดีดังกล่าว จำเลยซึ่งซื้อที่ดินมาจาก บ. (ก่อนที่ บ. จะถูกฟ้อง) ได้มาเจรจาและตกลงกับโจทก์ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลว่า จำเลยยินยอมจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทคืนโจทก์ และโจทก์สัญญาว่าจะไม่ทำนิติกรรมก่อให้เกิดภาระผูกพันตลอดไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ดังนี้ เมื่อพิจารณาบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 850 ประกอบข้อตกลงดังกล่าวแล้วจะเห็นได้ว่า จำเลยได้เข้าผูกพันตนโดยสมัครใจตกลงที่จะโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ อันเป็นการแสดงเจตนาที่มุ่งจะก่อนิติสัมพันธ์กับโจทก์ โดยโจทก์จะต้องไม่ทำนิติกรรมก่อให้เกิดภาระผูกพันในที่ดินพิพาทตลอดชีวิตของโจทก์ ซึ่งเป็นการกำหนดภาระหน้าที่ของคู่สัญญาต่อกันแล้ว แม้จำเลยจะมิได้เป็นคู่ความในคดีก่อน แต่จำเลยก็ได้ลงลายมือชื่อในฐานะคู่สัญญาไว้ในรายงานกระบวนพิจารณานั้นแล้ว ทั้งจำเลยเป็นผู้รับโอนที่ดินพิพาทมาจาก บ. ด้วย โจทก์จึงอาจฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนหรือเพิกถอนที่ดินพิพาทจากจำเลยต่อไปได้ จึงเป็นกรณีที่คู่สัญญาตกลงกันเพื่อระงับข้อพิพาทที่จะมีขึ้นในภายภาคหน้า อันเข้าลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 ส่วนที่ศาลกำชับให้โจทก์เตรียมพยานมาให้พร้อมสืบหากตกลงกันไม่ได้นั้นก็เป็นขั้นตอนการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลเท่านั้นเพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปโดยรวดเร็วไม่ชักช้า ข้อความดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยแต่อย่างใด จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2840/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความระงับข้อพิพาทละเมิด และผลกระทบต่อความรับผิดของนายจ้าง
เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้ทำบันทึกข้อตกลงกับตัวแทนของโจทก์ต่อหน้าพนักงานสอบสวนตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีว่า จำเลยที่ 1 ยินยอมตกลงชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 1 จะนำรถยนต์ของโจทก์ไปทำการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพเดิม อันเป็นการปฏิบัติการชำระหนี้อย่างหนึ่งของจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ โดยจำเลยที่ 1 ไม่จำเป็นจะต้องเสนอชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นจำนวนเงินที่แน่นอน ข้อเสนอของจำเลยที่ 1 ในการซ่อมแซมรถยนต์ของโจทก์ เมื่อตัวแทนของโจทก์ได้ตกลงยินยอมตามนั้น ย่อมถือว่าโจทก์ยอมรับค่าเสียหายในมูลละเมิดที่เกิดขึ้นแล้ว บันทึกข้อตกลงตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ผลแห่งสัญญาประนีประนอมยอมความนี้ทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างใด ๆ ในมูลละเมิดที่จำเลยที่ 1 กระทำขึ้นเป็นอันระงับไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 และความรับผิดของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างก็ย่อมระงับสิ้นไปด้วย เพราะไม่มีมูลหนี้ในมูลละเมิดระหว่างโจทก์กับลูกจ้างในอันที่นายจ้างจะต้องรับผิดต่อไปอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7864/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความกับการบังคับคดีที่ดิน: การยกที่ดินเพื่อระงับข้อพิพาท ไม่ใช่การให้โดยเสน่หา
โจทก์และจำเลยพิพาทกันเกี่ยวกับที่ดินพิพาท มีการเจรจาและทำใบยอมความกันต่อหน้าเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองว่า จำเลยตกลงยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โดยโจทก์จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง ดังนี้ การที่จำเลยตกลงยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ก็เพื่อระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินระหว่างโจทก์และจำเลย จึงหาใช่เป็นการให้โดยเสน่หาที่จะต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ แต่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ เมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายพิมพ์นิ้วมือจำเลย และมีพยานลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วย 2 คน โจทก์ย่อมฟ้องให้บังคับคดีจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1415/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความ: บันทึกตกลงช่วยเหลือค่าปลงศพและค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ถือเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความได้
แม้ว่าบันทึกตกลงช่วยเหลือค่าปลงศพที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์และจำเลยจะขึ้นต้นว่าเป็นการตกลงช่วยเหลือค่าปลงศพอย่างเดียวก็ตาม แต่ยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับค่าช่วยเหลือค่าปลงศพ และช่วยเหลือในเรื่องค่าซ่อมรถจักรยานยนต์อีกด้วย ทั้งยังมีข้อความระบุโดยชัดแจ้งว่าฝ่ายผู้เสียหายไม่ติดใจที่จะฟ้องร้องทางแพ่งอีก นอกจากนั้นในส่วนคดีอาญาได้ความว่า การตกลงค่าเสียหายนั้นคู่กรณีสมัครใจตกลงค่าเสียหายกันเอง และคู่กรณีไม่ประสงค์จะฟ้องร้องคดีกันอีก ประกอบกับในคำพิพากษาส่วนคดีอาญาระบุว่า "ฝ่ายผู้เสียหายได้รับชดใช้ค่าเสียหายเป็นที่พอใจ" บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงเข้าลักษณะสัญญาประนีประนอมยอมความที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทในมูลหนี้ละเมิดทั้งหมดซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นให้เสร็จไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 850

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 624/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของนายจ้างต่อละเมิดของลูกจ้าง และการระงับข้อพิพาทที่ไม่สมบูรณ์
คำฟ้องของโจทก์บรรยายไว้โดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบหรือหลงต่อสู้ จำเลยได้ให้การต่อสู้คดีอย่างถูกต้อง ส่วนค่าเสียหาย ค่าแรงและค่าอะไหล่แต่ละรายการจำนวนเท่าใดล้วนแต่เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบให้ปรากฏได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างซึ่งได้กระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอกเป็นเหตุให้ได้รับความเสียหายจนต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอก จึงเป็นกรณีที่บุคคลหลายคนจะต้องทำการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนจำต้องชำระหนี้สิ้นเชิง แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชำระหนี้สินเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 สำหรับกรณีของจำเลยก็เช่นเดียวกันถือว่าเป็นลูกหนี้ร่วมกับ ธ. ลูกจ้างผู้ทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยหรือ ธ. ลูกจ้างผู้ทำละเมิดคนใดคนหนึ่งได้โดยลำพังเพียงคนเดียวโดยไม่ฟ้อง ธ. ลูกจ้างผู้ทำละเมิดเป็นจำเลยด้วยก็ย่อมทำได้ ไม่ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
หลังเกิดเหตุรถยนต์สองคันชนกัน ป. พนักงานของจำเลยและ ธ. พนักงานขับรถยนต์โดยสารสาธารณะคันเกิดเหตุได้ทำหนังสือยินยอมรับผิดว่ารถยนต์ของจำเลยได้ชนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้โดยระบุความเสียหายที่เกิดขึ้นให้ไว้แก่เจ้าของรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยเพื่อนำไปตกลงค่าเสียหายต่อไป จึงเป็นเพียงหนังสือที่ออกให้เพื่อทราบความเสียหายและเพื่อแสดงความรับผิดชอบเบื้องต้นของจำเลยกับเจ้าของรถยนต์คู่กรณีเท่านั้น โดยไม่มีรายละเอียดหรือข้อตกลงที่แน่นอนเกี่ยวกับจำนวนเงินค่าเสียหายที่ต้องชำระ วิธีชำระอันจะทำให้ปราศจากการโต้แย้งกันอีก จึงมิใช่เป็นการระงับข้อพิพาทในมูลละเมิด มิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความอันจะทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างหลุดพ้นจากความรับผิดในมูลละเมิดแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1945-1946/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงอนุญาโตตุลาการสิ้นผลผูกพันเมื่อมีการตกลงระงับข้อพิพาทใหม่ต่อศาล และการแก้ไขอัตราแลกเปลี่ยนตามกฎหมาย
หลังจากที่มีข้อพิพาทตามสัญญาซื้อขายน้ำมันเชื้อเพลิงเกิดขึ้นแล้ว ทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้มีการตกลงกันใหม่เพื่อระงับข้อพิพาทด้วยการเสนอคดีให้ศาลไทยเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด ดังนี้ข้อตกลงเดิมที่ต้องเสนอให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้วินิจฉัยจึงสิ้นผลผูกพันไปแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ โดยไม่ต้องเสนอข้อพิพาทตามสัญญาดังกล่าวให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยก่อน
หนังสือมอบอำนาจที่ทำขึ้นในต่างประเทศซึ่งมีโนตารีปับลิกและเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศและการค้าของต่างประเทศรับรองและยังมีเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในประเทศนั้นรับรอง จึงเป็นหนังสือมอบอำนาจที่ได้ทำขึ้นโดยถูกต้อง ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 45 ประกอบมาตรา 26 และ ป.วิ.พ. มาตรา 47 วรรคสาม
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินบาทตามอัตราเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานคร ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่านั้นก่อนมีคำพิพากษา เป็นการกำหนดที่ไม่สอดคล้องกับ ป.พ.พ. มาตรา 196 วรรคสอง ที่ให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน ปัญหาข้อนี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 893/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความ: ผลผูกพันระงับข้อพิพาทเช็ค ยุติคดีอาญาได้
สัญญาประนีประนอมยอมความไม่จำเป็นต้องกระทำต่อหน้าศาลหรือต่อผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนเสมอไป อาจกระทำกันนอกศาลได้ เมื่อโจทก์และจำเลยสมัครใจได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเป็นหนังสือ และลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่าย โดยมีข้อความระบุว่าจะไม่เรียกร้องค่าเสียหายหรือดำเนินคดีทางแพ่งเกี่ยวกับสัญญาว่าจ้างอันเป็นมูลเหตุให้จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทอีก เป็นการระงับข้อพิพาทในมูลหนี้ที่สั่งจ่ายเช็คพิพาท สัญญาประนีประนอมยอมความจึงบังคับกันได้ตามกฎหมาย มีผลทำให้สิทธิเรียกร้องหนี้ตามเช็คที่โจทก์ยอมสละนั้นระงับสิ้นไปและโจทก์ได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น แม้สัญญาประนีประนอมยอมความจะมีข้อตกลงว่าหากจำเลยผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งยอมให้โจทก์ดำเนินคดีอาญาต่อไปทันที และเมื่อจำเลยชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้ว โจทก์ยอมให้หนี้ตามเช็คในคดีอาญาสิ้นผลผูกพันไปทั้งฉบับ โจทก์ตกลงว่าจะไปขอถอนฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้น ก็มิใช่เป็นเงื่อนไขบังคับก่อนที่เป็นผลให้มูลหนี้ระงับต่อเมื่อจำเลยปฏิบัติการชำระหนี้แก่โจทก์ครบถ้วนไม่ ดังนั้น มูลหนี้ที่ออกเช็คตามฟ้องจึงได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว คดีเป็นอันเลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 สิทธิที่โจทก์จะนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2245/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความ: การระงับข้อพิพาทโดยการแลกเปลี่ยนภาระหน้าที่และการบังคับตามสัญญา
บันทึกข้อตกลงในช่องข้อตกลงของคู่กรณีระบุให้ ส. (บุตรโจทก์)ขนย้ายครอบครัวออกจากบ้านเช่าภายใน 60 วัน ส่วนจำเลยยินยอมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 8021 เนื้อที่ 35 ตารางวา ให้แก่โจทก์ ดังนี้ จะเห็นว่าข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยดังกล่าวกำหนดให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายต่างมีภาระหน้าที่ต่อกันและเป็นการระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4719/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาและการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ การฟ้องคดีก่อนเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาร่วมค้ากับโจทก์ที่ 2 และที่ 3เพื่อเข้าประมูลงานโครงการออกแบบรวมก่อสร้างระบบน้ำเสียของกรุงเทพมหานคร เมื่อได้งานแล้วกิจการร่วมค้าได้ทำสัญญาจ้างให้ โจทก์ที่ 1 ให้ออกแบบ เขียนแบบ ให้คำปรึกษาและฝึกอบรมบุคลากร จำเลยที่ 1 ทำใบแจ้งหนี้เรียกเก็บเงินเป็นงวด ๆ ตามความก้าวหน้าของงาน เมื่อกรุงเทพมหานครอนุมัติใบเรียกเก็บเงินและจ่ายเงินให้ กิจการร่วมค้าแล้ว จำเลยที่ 1 มีหน้าที่นำเงินเข้าบัญชีของกิจการร่วมค้าจำเลยที่ 1 กลับร่วมกับจำเลยที่ 2 เปิดบัญชีให้จำเลยที่ 1 ควบคุม บัญชีแต่เพียงผู้เดียวโดยโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ไม่สามารถรู้เห็น จำเลยที่ 1เคยนำเงินส่วนที่เป็นผลงานของโจทก์ที่ 1 มาชำระให้โจทก์ที่ 1 ตามสัญญา แต่ต่อมาจำเลยที่ 1 หยุดชำระเงินดังกล่าว ขอให้จำเลย ทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย เงินที่จำเลยที่ 1และที่ 2 จะต้องชำระแก่โจทก์ที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยเป็นเงินที่โจทก์ที่ 1 มีสิทธิได้รับตามสัญญา ปัญหาว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิยึดถือเงินดังกล่าว หรือไม่ ขึ้นอยู่กับข้อตกลงที่กำหนดไว้ในสัญญา เมื่อสัญญากำหนด เรื่องการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการไว้ แต่โจทก์ทั้งสามนำคดี มาฟ้องโดยมิได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อนจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2157/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลผูกพันของสัญญาประนีประนอมยอมความ: การระงับข้อพิพาทจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างจะเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมหรือไม่ หรือจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่นั้น แม้บทบัญญัติของ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 จะกำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวไว้แตกต่างกัน และเป็นกฎหมายต่างฉบับกันก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องที่มีวัตถุประสงค์จะให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างในการได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากนายจ้างเช่นเดียวกันสำหรับกรณีที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์หรือศาลแรงงานไม่เห็นสมควรให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานอีก
การที่โจทก์นำสาเหตุจากการที่จำเลยเลิกจ้าง ไปยื่นคำร้องกล่าวหาจำเลยต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ และต่อมาโจทก์ได้นำเหตุแห่งการเลิกจ้างดังกล่าวไปฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นเงิน อีกจำนวนหนึ่ง พร้อมทั้งชำระเงินค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า แล้วโจทก์กับจำเลยได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยจำเลยยอมชำระเงิน 147,820 บาท ให้แก่โจทก์ โจทก์ตกลงรับเงินดังกล่าวและไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายและเงินอื่นใดจากจำเลยอีก ศาลแรงงานมีคำพิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยย่อมหมายความว่าโจทก์พอใจจำนวนเงินค่าเสียหายที่จำเลยชำระตอบแทนในการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้ว ซึ่งรวมทั้งโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งให้จำเลยชำระให้แก่โจทก์ด้วย แม้ภายหลังจากที่โจทก์และจำเลยได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อกันแล้ว คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะวินิจฉัยว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมและมีคำสั่งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ก็ตาม
เมื่อค่าเสียหายจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามที่โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาลแรงงาน ต่างมาจากเหตุแห่งการเลิกจ้างของจำเลยเดียวกัน ค่าเสียหายจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดังกล่าวย่อมอยู่ในความหมายของข้อความว่า ค่าเสียหายและเงินอื่นใดที่โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องจากจำเลย ที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความนั่นเอง ค่าเสียหายที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งให้จำเลยชำระแก่โจทก์ย่อมเป็นอันระงับสิ้นไปก่อนแล้วโดยผลของสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวโจทก์จึงไม่อาจนำมาฟ้องให้จำเลยรับผิดได้อีก
of 10