คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
รับผิดร่วมกัน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 35 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7758/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหลอกลวงขอเงินชดเชยภาษีอากร, การโอนบัตรภาษีโดยไม่ชอบ, ความรับผิดร่วมกันของจำเลยในการชดใช้เงินและดอกเบี้ย
ศาลภาษีอากรกลางอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2541 โจทก์ต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 24 การนับเวลา ยื่นอุทธรณ์ 1 เดือน ต้องนับวันรุ่งขึ้นเป็นวันแรกตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/3 และสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งเดือนสุดท้ายอันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น ตามมาตรา 193/5 โจทก์ยื่นอุทธรณ์วันที่ 28 สิงหาคม 2541 จึงเป็นการยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 มิได้ส่งสินค้าตามใบขนสินค้าขาออกและแบบแสดงรายการการค้า 22 ฉบับ ออกไปนอกราชอาณาจักร แต่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการหลอกลวงโจทก์ โดยยื่นคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าที่อ้างว่าส่งออกตามใบขนสินค้าขาออกฯ ดังกล่าวจนเป็นเหตุให้โจทก์จ่ายเงินชดเชยในรูปของบัตรภาษีให้แก่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับโอนบัตรภาษีจากจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรในรูปของบัตรภาษีโดยอาศัยสิทธิของจำเลยที่ 1 ที่มิชอบด้วยกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรในรูปของ บัตรภาษี จำเลยที่ 3 ผู้รับโอนสิทธิต่อจากจำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้โอน จำเลยที่ 3 จึงได้รับสิทธิตามบัตรภาษีไปจากโจทก์โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ เงินชดเชย ค่าภาษีอากรที่จ่ายในรูปบัตรภาษีจึงเป็นลาภมิควรได้ จำเลยที่ 3 จะต้องคืนบัตรภาษีให้แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ต้องชดใช้ราคาแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406
จำเลยที่ 3 ให้การว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ขาดอายุความ เพราะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหม ทดแทน โจทก์ทราบเรื่องเมื่อเดือนกรกฎาคม 2534 แต่ฟ้องคดีวันที่ 5 สิงหาคม 2540 สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึง ขาดอายุความ จึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเพียงว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความตามมูลละเมิดหรือไม่เท่านั้น เมื่อคดีของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ฟังได้ว่าเป็นเรื่องสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ลาภมิควรได้ การที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในมูลหนี้ลาภมิควรได้สำหรับจำเลยที่ 3 ขาดอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 จึงเป็นการวินิจฉัยนอกเหนือจากคำให้การของจำเลยที่ 3 ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบ เรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้ง ศาลภาษีอากรฯ มาตรา 17, 29 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)
ที่จำเลยที่ 3 แก้อุทธรณ์ว่า เอกสารชุดคำขอที่โจทก์อ้างส่งเป็นเอกสารที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้รับบัตรภาษีและนำบัตรภาษีของโจทก์ไปใช้แล้วนั้น เป็นคำแก้อุทธรณ์ที่ขัดกับคำให้การของจำเลยที่ 3 จึงเป็นข้อที่มิได้ ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ มาตรา 29 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ 4 และที่ 5 ได้รับสิทธิตามบัตรภาษีไปจากโจทก์โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ เงินชดเชยค่าภาษีอากรที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 รับไปจากโจทก์ จึงเป็นลาภมิควรได้ จำเลยที่ 4 และที่ 5 จะต้องคืนบัตรภาษีให้แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ต้องชดใช้ราคาตามที่กำหนดไว้ในบัตรภาษีให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ได้สำแดงข้อความอันเป็นเท็จไว้ในใบขนสินค้าขาออกและแบบแสดงรายการการค้าว่าส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร แล้วจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าที่ส่งออกนั้น และโจทก์ได้จ่ายเงินชดเชยเป็นบัตรภาษีให้แก่จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ซึ่งเป็น ผู้รับโอนบัตรภาษีจากจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องคืนบัตรภาษีดังกล่าว หากคืนไม่ได้ก็ต้องชดใช้ราคาและตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ทำละเมิดหรือวันที่รับบัตรภาษี
แม้จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ไม่ได้ร่วมกระทำละเมิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่ตามพฤติการณ์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ได้รับโอนบัตรภาษีมาโดยสุจริต จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระ ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีให้แก่โจทก์นับแต่วันที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 จะต้องคืนทรัพย์สินนั้นหรือเวลาที่โจทก์เรียกคืนบัตรภาษีเพราะมูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องเป็นมูลหนี้ลาภมิควรได้ แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ได้รับหนังสือแจ้งจากโจทก์ให้คืนบัตรภาษีเมื่อใด ถือว่าโจทก์เรียกให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 คืนบัตรภาษีนับแต่วันฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4515/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจากการฉ้อโกง และการแก้ไขคำพิพากษาให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริง
จำเลยทั้งสองร่วมกันฉ้อโกงโจทก์ร่วมได้เงิน 700,000 บาท ไป ศาลก็ชอบที่จะสั่งให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวนนี้คืนให้แก่โจทก์ร่วมเพราะเมื่อร่วมกันกระทำความผิดก็ต้องร่วมกันชดใช้ การสั่งเช่นนี้เป็นการสั่งโดยคำนึงถึงความผิดทางอาญาของจำเลยทั้งสองเป็นสำคัญ ศาลอุทธรณ์จะสั่งยกคำขอของโจทก์ในส่วนนี้โดยคำนึงถึงคดีแพ่งที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลยที่ 2ระหว่างดำเนินคดีนี้ และเห็นว่าโจทก์และจำเลยที่ 2 ได้มีการยอมความกันแล้ว หากจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติ โจทก์ร่วมมีสิทธิขอให้บังคับในคดีแพ่งดังกล่าวได้ จึงไม่ถูกต้อง เพราะคดีแพ่งดังกล่าวโจทก์ร่วมฟ้องจำเลยที่ 2 คนเดียว มิได้ฟ้องจำเลยที่ 1 การที่ศาลอุทธรณ์ยกคำขอของโจทก์ในคดีนี้ที่ขอให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในการใช้เงินคืน ย่อมทำให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นความรับผิดไป และข้อเท็จจริงได้ความตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า จำเลยที่ 2 ยังไม่ยอมชำระหนี้ตามคำพิพากษาคดีแพ่ง ดังกล่าวและมีทรัพย์สินไม่เพียงพอแก่การบังคับคดีด้วย ย่อมไม่เป็นการยุติธรรมต่อโจทก์ร่วม ศาลฎีกาสมควรแก้ไขเสียใหม่ให้ถูกต้อง โดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดในเงินที่จำเลยทั้งสองจะต้องคืนแก่โจทก์ร่วมตามที่ทางพิจารณาได้ความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5585/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับผิดร่วมกันในสัญญาเหมาอาคาร แม้ผู้ทำสัญญาไม่ได้เป็นนิติบุคคล แต่ผู้ร่วมก่อการและผู้บริหารมีส่วนรู้เห็นและใช้ประโยชน์
แม้ในขณะที่โจทก์ทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างกับจำเลยที่ 2 ตามเอกสารที่พิพาท จำเลยที่ 1ยังมิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3ก็เป็นผู้ร่วมก่อการและกรรมการของจำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้ชำระเงินค่าจ้างก่อสร้างให้โจทก์หลังจากจำเลยที่ 2 ทำสัญญาแล้ว ประกอบกับจำเลยที่ 3เป็นผู้บริหารโรงแรมร่วมกับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3มีส่วนรู้เห็นร่วมกับจำเลยที่ 2 ทำสัญญาดังกล่าวกับโจทก์ด้วยและเมื่อโจทก์ส่งมอบอาคารให้แก่จำเลยทั้งสามในวันรุ่งขึ้นจำเลยทั้งสามก็ได้เปิดดำเนินกิจการโรงแรมในอาคารดังกล่าว จึงเป็นการที่จำเลยที่ 1 ยอมรับเอาสัญญาที่จำเลยที่ 2 ทำไว้กับโจทก์มาใช้ประโยชน์ในการดำเนินกิจการของตน จำเลยที่ 1 ย่อมต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าวร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย สำหรับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขตัวอาคาร จำเลยที่ 2เป็นผู้ตกลงกับโจทก์ให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขแบบแปลนเป็นอาคารโรงแรมเอง เมื่อโจทก์ก่อสร้างอาคารเสร็จจำเลยทั้งสามก็ได้ยอมรับมอบอาคารจากโจทก์ โดยดีและเปิดดำเนินกิจการเป็นโรงแรมเช่นนี้ จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาแก้ไข แบบแปลนอาคารดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 551/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดร่วมกันจากงานต่อเติมอาคารที่ทำให้เกิดความเสียหายต่ออาคารข้างเคียง
จำเลยที่2และที่3กับจำเลยที่4จ้างจำเลยที่1ต่อเติมอาคารของจำเลยที่2ซึ่งอยู่ในครอบครองของจำเลยที่3และอาคารของจำเลยที่4ทำให้อาคารโจทก์ได้รับความเสียหายโดยจำเลยที่2ที่3และที่4เป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำประกอบกับไม่ปรากฎแน่ชัดว่าความเสียหายของโจทก์เกิดขึ้นเพราะการกระทำของจำเลยคนใดจำเลยทั้งสี่จึงต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา428และมาตรา432วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4293/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หุ้นส่วนรับผิดร่วมกันในหนี้จากการว่าจ้างช่วง แม้ไม่มีมอบหมายโดยตรง หากเป็นการค้าขายปกติของห้าง
จำเลยทั้งสามเป็นหุ้นส่วนกัน มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันประกอบกิจการรับจ้างถมดิน ทราย และลูกรัง โดยมอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับผิดชอบส่งมอบงานและรับค่าจ้างถมดินด้วยและหุ้นส่วนทุกคนจะรับผิดชอบในกิจการดังกล่าวจนแล้วเสร็จการที่จำเลยที่ 1 ว่าจ้างช่วงให้โจทก์ถมดินในที่ดินบางส่วนซึ่งจำเลยที่ 1 ทำสัญญารับจ้างกับผู้ว่าจ้าง แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้รับมอบหมายจากผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นโดยตรง แต่กิจการที่จำเลยที่ 1 ทำไปนั้นก็เพื่อให้สามารถส่งมอบงานให้ผู้ว่าจ้างทันตามสัญญา จึงอยู่ภายในกรอบแห่งวัตถุประสงค์และความมุ่งหมายโดยตรงของการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนอันถือได้ว่าเป็นการจัดทำไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1050 ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนย่อมมีความผูกพันในกิจการที่ว่าจ้างนั้น และต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้อันได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะจัดการไปเช่นนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7311/2539 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงรับผิดร่วมกันจากการเช่าทรัพย์ และการเรียกร้องค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ในการเช่า
หนังสือที่จำเลยร่วมที่ 1 ได้ทำขึ้นมีข้อความว่า ตามที่จำเลยได้รับหมายเรียกจากศาลเพื่อดำเนินคดีในการใช้และมีโทรศัพท์มือถือพิพาทของโจทก์ไว้ในครอบครองโดยได้รับแจ้งจากโจทก์ให้นำเครื่องส่งมอบคืนและชำระหนี้ที่ยังคงค้างชำระอยู่นั้น จำเลยได้ส่งมอบคืนให้โจทก์แล้วตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2533โดยส่งคืนผ่านทางจำเลยร่วมที่ 1 และจำเลยร่วมที่ 2 เพื่อนำมอบให้แก่โจทก์หากมีการดำเนินคดีหรือเรียกร้องค่าเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใด จำเลยร่วมที่ 1จะเป็นผู้รับผิดชอบร่วม หนังสือดังกล่าวจึงเป็นคำเสนอของจำเลยร่วมที่ 1 ที่จะร่วมกับจำเลยรับผิดต่อโจทก์ การที่จำเลยนำสำเนาหนังสือนั้นมาแนบท้ายคำให้การของจำเลยและขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมที่ 1 เข้ามาเป็นจำเลยร่วมด้วยนั้นเป็นการสนองรับคำเสนอดังกล่าวของจำเลยร่วมที่ 1 ทำให้เกิดสัญญาระหว่างจำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 ซึ่งจำเลยร่วมที่ 1 ยอมร่วมกับจำเลยรับผิดต่อโจทก์ ดังนั้นเมื่อจำเลยต้องส่งมอบเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์พิพาทคืนโจทก์ หากส่งคืนไม่ได้ต้องใช้ราคา และต้องรับผิดใช้เงินค่าเช่าที่ค้างชำระกับค่าเสียหายในการที่โจทก์ต้องขาดประโยชน์จากเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์พิพาทนั้นให้แก่โจทก์ จำเลยร่วมที่ 1 จึงต้องร่วมกับจำเลยรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาระหว่างจำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 ดังกล่าวนั้นด้วย
ที่จำเลยร่วมที่ 1 ฎีกาว่า หากไม่สามารถคืนเครื่องวิทยุคมนาคมพิพาทให้โจทก์ได้ จำเลยร่วมที่ 1 ต้องใช้ราคาแทนเครื่องวิทยุคมนาคมพิพาทตามราคาทรัพย์เครื่องละไม่เกิน 15,000 บาท มิใช่ในราคา 97,000 บาทนั้น คดีนี้มีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ.มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยร่วมที่ 1ข้อนี้เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
จำเลยได้ตกลงชำระค่าเช่าเครื่องวิทยุคมนาคมพิพาทพร้อมอุปกรณ์ในอัตราเดือนละ 1,850 บาท กับค่าเช่าหมายเลขเครื่องวิทยุคมนาคมรวมค่าธรรมเนียมใบอนุญาตกรมไปรษณีย์โทรเลขเป็นรายเดือนในอัตราเดือนละ500 บาท ดังนั้น หากจำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองคืนเครื่องวิทยุคมนาคม และอุปกรณ์พิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์ย่อมสามารถนำเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์พิพาทนั้นไปให้บุคคลอื่นเช่าโดยได้รับค่าเช่าในอัตราดังกล่าวได้ การที่จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองไม่ส่งมอบเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์พิพาทคืนโจทก์ ย่อมทำให้โจทก์เสียหายขาดประโยชน์จากการนำเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์พิพาทไปให้บุคคลอื่นเช่าในอัตราค่าเช่าดังกล่าว ดังนั้น แม้โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าเครื่องวิทยุคมนาคมพิพาทแก่จำเลยแล้วโจทก์ก็มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในการที่โจทก์ต้องขาดประโยชน์จากการให้เช่าเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์พิพาทจนกว่าจะได้รับมอบเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์พิพาทคืนได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 27,338.27 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ เป็นการพิพากษาให้จำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 ร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายในการที่โจทก์ต้องขาดประโยชน์จากการนำเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์พิพาทไปให้ผู้อื่นเช่าใช้ตั้งแต่วันบอกเลิกสัญญาเช่าจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน27,338.27 บาท โดยให้จำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 ร่วมกันชำระดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าวซึ่งถึงกำหนดชำระแล้วนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จด้วย ส่วนที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเดือนละ 2,350 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์พิพาทคืนโจทก์หรือชดใช้ราคานั้น เป็นการพิพากษาให้ชดใช้ค่าเสียหายในการที่โจทก์ขาดประโยชน์จากการนำเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์พิพาทไปให้ผู้อื่นเช่าใช้นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จึงไม่ใช่เป็นการที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ใช้ค่าขาดประโยชน์และดอกเบี้ยซ้ำซ้อนกันอันเป็นการไม่ชอบแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4755/2539

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขนส่งทางทะเลหลายทอด: ผู้รับขนในต่างประเทศร่วมกับผู้ดำเนินการภายในประเทศมีหน้าที่รับผิดร่วมกัน
ผู้ขายสินค้าในต่างประเทศได้ว่าจ้างจำเลยที่2ผู้รับขนในต่างประเทศให้ขนส่งสินค้ามายังกรุงเทพมหานครจำเลยที่1เป็นผู้แจ้งกำหนดวันที่เรือจะเข้าให้ผู้รับตราส่งทราบติดต่อกรมศุลกากรกองตรวจคนเข้าเมืองกรมเจ้าท่าการท่าเรือแห่งประเทศไทยค้ำประกันความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องว่าจ้างบริษัทอื่นให้ขนถ่ายสินค้าจากเรือบรรทุกสินค้าลงเรือฉลอมเพื่อนำไปเก็บไว้ที่คลังสินค้าและออกใบสั่งปล่อยสินค้าให้แก่ผู้รับใบตราส่งเพื่อนำไปรับสินค้าการที่จำเลยที่2ซึ่งเป็นผู้รับขนในต่างประเทศไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยจึงย่อมไม่สามารถจะดำเนินการติดต่อและค้ำประกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องว่าจ้างบริษัทอื่นให้ขนถ่ายสินค้าจากเรือใหญ่ลงเรือเล็กและออกใบสั่งปล่อยสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่งเพื่อนำไปรับสินค้าได้การกระทำดังกล่าวเป็นขั้นตอนสำคัญในการรับขนทางทะเลจำเลยที่1จึงเป็นผู้ร่วมขนส่งกับจำเลยที่2อันเป็นการขนส่งโดยมีผู้ขนส่งหลายคนหลายทอดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา618แล้วหาใช่เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่2ไม่จำเลยที่1จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2253/2539

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดจากความประมาทเลินเล่อในการให้การเกี่ยวกับลายมือชื่อ ทำให้ถูกดำเนินคดีอาญา ผู้ให้การและนายจ้างต้องรับผิดร่วมกัน
จำเลยที่2มีตำแหน่งเป็นสมุห์บัญชีของจำเลยที่1ย่อมมีความชำนาญในการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของลูกค้ามากกว่าบุคคลธรรมดาการที่จำเลยที่2ไม่ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอแล้วให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าลายมือชื่อของผู้สั่งจ่ายเช็คคล้ายลายมือโจทก์ย่อมถือเป็นการยืนยันว่าลายมือชื่อของผู้สั่งจ่ายเช็คเป็นลายมือชื่อของโจทก์นั่นเองคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่2จึงเป็นเหตุโดยตรงที่ทำให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่โจทก์หาใช่เกิดจากดุลพินิจในการพิจารณาพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนตามลำพังไม่การกระทำของจำเลยที่2จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่2ให้การต่อพนักงานสอบสวนโดยลงลายมือชื่อเป็นพยานพร้อมประทับตราของจำเลยที่1กำกับไว้และเบิกความตอบคำถามค้านรับว่าตนให้การในฐานะที่เป็นพนักงานของจำเลยที่1ซึ่งจำเลยที่1ก็มิได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่นคำให้การของจำเลยที่2ดังกล่าวจึงเป็นการกระทำในตำแหน่ง หน้าที่ที่ได้รับแต่งตั้งและมอบหมายจากจำเลยที่1ฉะนั้นการที่จำเลยที่2ให้การต่อพนักงานสอบสวนจึงเป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่1จำเลยที่1จึงต้องร่วมกับจำเลยที่2รับผิดในความเสียหายต่อโจทก์ด้วย การที่จำเลยที่2ได้ให้การเป็นพยานต่อพนักงานสอบสวนจนเป็นเหตุให้โจทก์ถูกดำเนินคดีอาญาต้องถูกออกหมายจับและถูกควบคุมตัวย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่เสรีภาพและชื่อเสียงของโจทก์โดยตรงโจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับการชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้ซึ่งเมื่อพิเคราะห์ถึงระยะเวลาที่โจทก์ถูกจับและถูกควบคุมตัวจนถึงได้รับการประกันตัวเป็นเวลาเพียงประมาณ5ถึง6ชั่วโมงประกอบกับหลังเกิดเหตุถูกจับแล้วโจทก์ซึ่งเป็นนักธุรกิจก็ยังได้รับการประกาศเกียรติคุณรางวัลเกียรติยศนักธุรกิจดีเด่นแสดงให้เห็นว่าการที่จำเลยที่2กระทำละเมิดต่อโจทก์นั้นมิได้ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงนักที่โจทก์ขอค่าเสียหายเกี่ยวกับการเสื่อมเสียเสรีภาพ1,000,000บาทและเกี่ยวกับชื่อเสียงอีก1,000,000บาทนั้นสูงเกินไปเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายทั้งสองส่วนนี้ให้รวม300,000บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6629/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดร่วมกันในคดีละเมิดจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ และขอบเขตความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย
หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีที่แนบมาท้ายฟ้อง แม้จะเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องก็ตามแต่ก็เป็นเพียงรายละเอียดแห่งคำฟ้องเท่านั้น มิใช่สภาพแห่งข้อหาในคำฟ้องอันจะต้องแสดงไว้โดยแจ้งชัดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคหนึ่ง การที่หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ระบุว่ามอบอำนาจให้ฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวก โดยมิได้ระบุให้แจ้งชัดว่าเป็นจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย ก็หาทำให้ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมแต่ประการใดไม่ เพราะตามคำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยซึ่งรับสิทธิจากเจ้าของรถผู้เอาประภันภัยฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดจำเลยที่ 2 เจ้าของรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับ และจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยรถยนต์ดังกล่าวให้ร่วมกันรับผิดในมูลละเมิดที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 โดยประมาทเลินเล่อไปชนรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้โดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว และที่หนังสือมอบอำนาจระบุให้ฟ้องจำเลยที่ 1กับพวก ก็ย่อมหมายถึงมอบอำนาจให้ฟ้องผู้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 คือจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย ตามกรมธรรม์ประกันภัยที่จำเลยที่ 2 ทำไว้กับจำเลยที่ 3มีข้อตกลงว่าหากผู้เอารถไปใช้โดยความยินยอมของผู้เอาประกันภัยแล้ว ผู้รับประกันภัยต้องรับผิดด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันนี้ไปทำละเมิดต่อรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้โดยความยินยอมของจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2172/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย: ศาลมีอำนาจพิพากษาถึงจำเลยที่ไม่ฎีกา หากเป็นหนี้ที่ไม่สามารถแบ่งแยกได้
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างของ ว. ให้ร่วมรับผิด ใน ผลแห่งละเมิดที่ ว. ได้กระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1และฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 และ จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัย ให้ร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย แก่โจทก์ กรณีจึงเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจ แบ่งแยกได้แม้จำเลยที่ 2จะมิได้อุทธรณ์ฎีกา คงฎีกาขึ้นมาเฉพาะ จำเลยที่ 1 ที่ 3 แต่เมื่อศาลฎีกาฟังว่า ว. มิได้ขับรถโดยประมาท พิพากษายกฟ้องโจทก์ ก็ย่อมมี อำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 245 ประกอบด้วย มาตรา 247.
of 4