คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ร่วมลงทุน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 11 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4204/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในเครื่องหมายบริการ: การร่วมลงทุน, การออกแบบ, และการใช้สิทธิไม่สุจริต
โจทก์จ้าง ส. ออกแบบเครื่องหมายบริการพิพาทแทนบริษัท ฟ. เนื่องจากโจทก์เป็นผู้ร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 2 ในบริษัท ฟ. บริษัท ฟ. ซึ่งเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจึงมีสิทธิในเครื่องหมายบริการพิพาท แม้โจทก์จะเป็นผู้คิดค้นคำว่า LA FIESTA อ่านว่า ลา เฟียสต้า แต่เป็นการกระทำในระหว่างที่โจทก์เป็นผู้ร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 2 ในบริษัท ฟ. และการจ้างออกแบบเครื่องหมายบริการพิพาทก็เป็นการกระทำแทนบริษัท ฟ. บริษัท ฟ. จึงเป็นเจ้าของเครื่องหมายบริการพิพาทที่แท้จริง การที่ ป. ได้จดทะเบียนเครื่องหมายบริการพิพาทและต่อมาโอนให้แก่โจทก์ เป็นกรณีที่โจทก์ร่วมกับพวกนำเครื่องหมายบริการพิพาทไปขอจดทะเบียนแล้วโอนมาเป็นของโจทก์เพื่อฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1687/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อร่วมลงทุนแล้วยกเลิก ถือเป็นการขายตามกฎหมายภาษีอากร
บทบัญญัติ ป.รัษฎากร มาตรา 91/1 และมาตรา 91/2 หมายความว่า การประกอบกิจการการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรในราชอาณาจักรไทยต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 244 โดยคำว่า ขาย ในภาษีธุรกิจเฉพาะนั้นมีความหมายกว้างกว่าคำว่า ซื้อขาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 453 ซึ่งหมายถึงผู้ขายโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อโดยมีค่าตอบแทน แต่คำว่า ขาย ในภาษีธุรกิจเฉพาะนั้นนอกจากหมายถึงการซื้อขายตามมาตรา 453 แห่ง ป.พ.พ.แล้วยังหมายความรวมถึงการจำหน่าย จ่าย หรือโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามนิติกรรมสัญญาประเภทต่างๆ ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ด้วย
โจทก์กับ พ. ได้ทำสัญญาต่างตอบแทนเพื่อลงทุนก่อสร้างอาคารพาณิชย์ในที่ดินของ พ. โดยก่อนทำการก่อสร้าง พ. ได้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่โจทก์จำนวน 38 ส่วนใน 75 ส่วน ต่อมาโจทก์กับ พ. ตกลงยกเลิกสัญญาการร่วมลงทุนก่อสร้างอาคารพาณิชย์ดังกล่าว โจทก์จึงโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินจำนวน 38 ส่วนใน 75 ส่วนคืนให้แก่ พ. การที่โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวคืนให้แก่ พ. โดยไม่มีค่าตอบแทนก็ถือเป็นการขายตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/1 (4) แล้ว และที่ดินที่โจทก์ขายให้แก่ พ. นั้นเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่โจทก์มีไว้โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะประกอบกิจการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ จึงเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการ ซึ่งถือว่าเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/2 (6) ประกอบพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 244 มาตรา 3 (5) โจทก์จึงต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7498/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงร่วมลงทุนซื้อที่ดินจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วน การชำระบัญชีและการฟ้องเรียกเงินจากหุ้นส่วน
ข้อตกลงโครงการซื้อที่ดินระหว่างผู้เริ่มโครงการและผู้ลงทุนระบุว่าเป็นโครงการจัดหาซื้อที่ดินเพื่อขายเอากำไร โดยมีผู้ร่วมดำเนินการคือโจทก์ จำเลยและจำเลยร่วม โจทก์และจำเลยร่วมลงทุนเป็นเงิน ส่วนจำเลยเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อที่ดินและดำเนินการออกโฉนดที่ดินที่ซื้อได้ เมื่อขายที่ดินดังกล่าวได้แล้วให้จ่ายเงินคืนแก่ผู้ออกเงินพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันชำระเงินซื้อที่ดินจนถึงวันขายที่ดินได้ และจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่าง ๆ หากมีเงินเหลือซึ่งเป็นกำไรก็จะจัดการแบ่งกันในระหว่างผู้ร่วมกันดำเนินการทุกคน ดังนี้ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยและจำเลยที่ 2 จึงเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วน หาใช่เป็นสัญญาร่วมลงทุนไม่ และเมื่อห้างหุ้นส่วนดังกล่าวยังไม่เลิกกันตาม ป.พ.พ.มาตรา 1055, 1056 และ 1057จึงยังไม่ได้จัดการชำระบัญชีตามมาตรา 1061 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินที่ร่วมลงทุนในห้างหุ้นส่วนจากหุ้นส่วนคนอื่น ๆ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2170/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปลอมเอกสารหลักฐานการร่วมลงทุน: กรรมเดียวผิดหลายบท
แม้สัญญาจะร่วมกิจการและสัญญาวางมัดจำ กับหนังสือสำคัญรับเงินตามสัญญาดังกล่าว เป็นเอกสารคนละฉบับ แต่ก็เป็นเอกสารที่ทำขึ้นโดยมีเจตนาเดียวกันเพื่อเป็นหลักฐานว่าโจทก์ร่วมลงทุนน้อยกว่าที่ได้ร่วมลงทุนจริง การที่จำเลยปลอมสัญญาจะร่วมกิจการและสัญญาวางมัดจำ และปลอมหนังสือสำคัญรับเงินตามสัญญาดังกล่าว จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2583/2534 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้มีชื่อในโฉนดต้องรับผิดชอบภาษีจากการขายที่ดิน แม้มีการร่วมลงทุน
โจทก์มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดิน อันก่อให้เกิดเงินได้พึงประเมินแต่เพียงผู้เดียว และโจทก์เป็นผู้รับเงินได้พึงประเมินจากการขายที่ดินโฉนดดังกล่าว โจทก์จึงต้องเสียภาษีเงินได้ และภาษีการค้าโดยคิดจากจำนวนเงินที่ขายที่ดินได้ทั้งหมดตาม ป.รัษฎากร มาตรา 61 และมาตรา 87(1) ที่โจทก์อ้างว่าได้ร่วมลงทุนกับ ล. โจทก์ประสงค์จะสืบพยานต่อไปก็ไม่ทำให้โจทก์พ้นจากหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้และภาษีการค้าจากการขายที่ดินทั้งหมด ดังนี้ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งตัดพยาน จึงชอบแล้ว.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3644/2532 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการร้องสอดคดีของผู้ร่วมลงทุน: ผลกระทบจากการจดทะเบียนเช่าในราคาต่ำกว่ามูลค่าหุ้น
เมื่อโจทก์ฟ้องอ้างว่าได้เข้าหุ้นก่อสร้างอาคารร่วมกับผู้ร้องแล้ว หากโจทก์จะบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนการเช่าให้แก่ผู้เช่าในอัตราค่าเซ้งที่ต่ำกว่าค่าหุ้นที่ผู้ร้องลงทุนไป เมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนการเช่าตามฟ้อง ผู้ร้องต้องขาดทุน ผลของคำพิพากษาย่อมกระทบต่อสิทธิหรือส่วนได้เสียของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงได้ชื่อว่ามีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(2) ผู้ร้องชอบที่จะร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความในคดีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2264/2532

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การร่วมลงทุนแชร์น้ำมันที่ถูกหลอกลวง: จำเลยไม่มีส่วนรู้เห็นฉ้อโกง
โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มาสอบถามจำเลยที่ 7 ที่ 8 เพื่อประสงค์จะเล่นแชร์น้ำมันชาร์เตอร์เอง เพราะทราบข่าวจากผู้อื่นหาใช่จำเลยที่ 7 และที่ 8 เอาความเท็จไปพูดหลอกลวงโจทก์ทั้งสามแต่แรกไม่ การที่จำเลยที่ 7 ซึ่งเป็นหัวหน้าสายของบริษัทชาร์เตอร์ฯ จำเลยที่ 1 หาเงินมาลงทุนให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 8 สามีของจำเลยที่ 7 ได้พูดถึงฐานะของจำเลยที่ 1 ว่าเป็นบริษัทที่มั่นคง มีหลักทรัพย์เป็นพันล้านบาท มีกิจการน้ำมันและศูนย์การค้าใหญ่โตให้โจทก์ทั้งสามฟัง ก็เป็นการบอกเล่าตามข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองเชื่อตามคำโฆษณาของจำเลยที่ 1 ประกอบด้วย ทุนจดทะเบียนของจำเลยที่ 1 กำหนดไว้เป็นจำนวน 1,000ล้านบาท นับว่าเป็นจำนวนทุนที่มากพอสมควรที่สามารถทำให้ประชาชนทั่วไปเชื่อถือฐานะของจำเลยที่ 1 แม้แต่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นปัญญาชนมีการศึกษาดี ยังเชื่อถือถึงกับขวนขวายหาทางเข้าไปร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 1 ยังชักชวนโจทก์ที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรชายให้ร่วมเล่นแชร์รายนี้ด้วย นอกจากนี้จำเลยทั้งสองยังมีหลักฐานสัญญาการลงทุนกับจำเลยที่ 1 เป็นเงินประมาณ 4,550,000 บาท เมื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ล้ม จำเลยก็ไม่ได้รับผลประโยชน์ และต้นเงินที่ร่วมลงทุนคืน จำเลยที่ 7 และที่ 8 ไม่มีตำแหน่งใด ๆ ในบริษัทจำเลยที่ 1 หรือมีส่วนแบ่งจากจำนวนเงินที่ประชาชนนำมาร่วมลงทุน ต่อมาเมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์ฉ้อโกงประชาชนจำเลยที่ 7 และที่ 8 ก็ได้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเช่นเดียวกับประชาชนผู้ได้รับความเสียหาย เช่นนี้ การที่จำเลยที่ 1 ไม่จ่ายเงินที่ลงทุนคืนให้แก่โจทก์ทั้งสี่ จะสันนิษฐานเอาว่าจำเลยที่ 7และที่ 8 ได้กระทำผิดฐานฉ้อโกงหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1283/2501

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การร่วมลงทุนไถ่ที่ดินและสิทธิความเป็นเจ้าของร่วม
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยชวนออกเงินเข้าหุ้นคนละเท่าๆ กันไปไถ่ถอนที่ดินพิพาท เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้องและไม่ปรากฏว่าข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์เป็นอย่างอื่น ก็ต้องถือว่าโจทก์ออกเงินไปโดยประสงค์จะเป็นเจ้าของที่พิพาทตามส่วน โจทก์จึงเป็นเจ้าของที่พิพาทร่วมกับจำเลย การที่โจทก์จะได้เป็นทายาทของบิดามารดาจำเลยหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องวินิจฉัยในคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1710/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกสัญญาซื้อขายร่วมลงทุน และผลของการกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391
การที่คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมนั้น เป็นเพียงผลตามกฎหมายในกรณีเลิกสัญญาตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง เท่านั้น สภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์ เป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาที่ทำไว้กับโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย ไม่ได้รับชำระเงินตามสัญญาและไม่ได้รับการโอนคืนประทานบัตรรวมทั้งทรัพย์สินอื่นตามที่จำเลยทั้งสองตกลงว่าจะคืนให้ หากโจทก์ประสงค์ที่จะได้รับชำระเงินหรือทรัพย์สินสิ่งใดที่มีการโอนหรือส่งมอบตามสัญญาไปแล้วคืนเพียงใด อย่างไรหรือจำนวนเท่าใด ก็ชอบที่จะต้องระบุมาในคำขอท้ายฟ้องเพื่อศาลจะได้พิพากษาให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติและบังคับคดีได้โดยถูกต้อง โจทก์จะอ้างว่าเมื่อศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยทั้งสองกลับคืนสู่ฐานะเดิมแล้วโจทก์จะไปไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยทั้งสองตามรายละเอียดในสัญญาต่อไปโดยอาศัยคำพิพากษาดังกล่าวหาได้ไม่ คำขอของโจทก์ในลักษณะเช่นนี้จึงไม่มีสภาพเป็นคำขอบังคับที่ศาลจะพิพากษาให้ตามคำขอได้ ทั้งนี้ ไม่เกี่ยวกับว่าโจทก์จะเสียค่าขึ้นศาลในทรัพย์สินส่วนที่จะให้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมมาด้วยหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2162/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกู้ยืมเงิน vs. ร่วมลงทุน: การพิสูจน์ข้อเท็จจริงและผลกระทบต่อคำพิพากษา
แม้จำเลยให้การรับว่าได้รับเงินโอนจากโจทก์แล้วทั้งยี่สิบครั้งและพิมพ์คำว่า "ตกลง" ในโปรแกรมไลน์ (LINE) ตามที่โจทก์ให้พิมพ์ แต่การรับของจำเลยเป็นการรับตามที่ปรากฏในฟ้องเท่านั้น จำเลยยังมีข้อต่อสู้ว่าการโอนเงินดังกล่าวไม่ใช่เป็นการกู้ยืมเงินแต่เป็นการร่วมลงทุนประกอบธุรกิจออกแบบ ค้าขายเสื้อผ้า และส่งออกหน่อไม้ในลักษณะของการตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งยังไม่มีการชำระบัญชี โจทก์จึงยังไม่สามารถฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลย หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อของจำเลยซึ่งโจทก์อ้างว่าจำเลยเป็นผู้กู้ยืมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นพยานหลักฐานที่จะพิสูจน์ว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จริงหรือไม่ เมื่อการกู้ยืมเงินครั้งที่ 1 โจทก์อ้างเพียงสำเนาเอกสารที่ธนาคารออกให้เป็นหลักฐานว่า ธนาคารได้ทำการโอนเงิน 50,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของจำเลยเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2562 เท่านั้น ไม่มีข้อความในเรื่องการกู้ยืมเงิน ถือว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมครั้งที่ 1 เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อจำเลยผู้กู้ยืมมาแสดง ส่วนการกู้ยืมครั้งที่ 19 และครั้งที่ 20 ไม่ปรากฏข้อความที่จำเลยพิมพ์ตอบ "ตกลง" เพื่อตกลงการกู้ยืมเงินตามที่โจทก์อ้างว่าเป็นการกู้ยืมเงินครั้งดังกล่าวแต่อย่างใด ถือว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมครั้งที่ 19 และครั้งที่ 20 เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อจำเลยผู้กู้ยืมเป็นสำคัญมาแสดง โจทก์จึงฟ้องร้องให้บังคับคดีแก่จำเลยสำหรับการกู้ยืมครั้งที่ 1 ครั้งที่ 19 และครั้งที่ 20 ไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง
สำหรับการกู้ยืมเงินครั้งที่ 2 ถึงครั้งที่ 18 ซึ่งโจทก์ส่งข้อความถึงจำเลยในทำนองเดียวกันว่า "ช. จะจัดทำธุรกรรมให้ยืมเงินจำนวน (ระบุจำนวนเงิน) ให้แก่ ฐ. เพื่อใช้ลงทุนในธุรกิจ การกู้ยืมเงินนี้ไม่คิดดอกเบี้ยและยังไม่บังคับวันกำหนดชำระเงินคืน ลงวันที่... (พิมพ์ตกลงเพื่อยืนยัน)" ซึ่งจำเลยได้พิมพ์ข้อความว่า "ตกลง" ตอบกลับมาในโปรแกรมไลน์ (LINE) ซึ่งจำเลยรับว่ามีการส่งข้อความโต้ตอบเช่นนี้จริง การสนทนาทางโปรแกรมไลน์ (LINE) เป็นการส่งข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์หรือเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เมื่ออ่านข้อความสนทนาของโจทก์และจำเลยประกอบกันแล้วย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าโจทก์และจำเลยตกลงกันโดยโจทก์ให้จำเลยกู้ยืมเงินและจำเลยตกลงกู้ยืมเงินแต่ละครั้งตามจำนวนที่ระบุในโปรแกรมไลน์ (LINE) แม้ไม่มีการลงลายมือชื่อจำเลยไว้แต่เมื่อจำเลยยอมรับว่าส่งข้อความตอบตกลงการที่โจทก์จะให้กู้ยืมเงินจริง ข้อความสนทนาทางโปรแกรมไลน์ (LINE) จึงถือว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อของจำเลยผู้กู้ยืมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 มาตรา 7, 8, 9 โจทก์จึงฟ้องร้องให้บังคับคดีได้
of 2